Skip to main content
sharethis

กสทช. เห็นชอบหลักการให้เลื่อนการจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลออกไป 1 ปี เหตุได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การขยายโครงข่ายดิจิตอลทีวีไม่เป็นไปตามแผน


22 เม.ย. 2558 เว็บไซต์ กสทช. รายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเลื่อนการชำระเงินค่าประมูลดิจิตอลทีวีว่า จากสถานการณ์ที่ผ่านมาการประกอบกิจการทีวีดิจิตอลได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การขยายโครงข่ายดิจิตอลทีวีไม่เป็นไปตามแผน รวมถึงคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวมที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับจากดิจิตอลทีวีซึ่งมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับจากค่าประมูลทีวีดิจิตอล ที่ประชุม กสทช. จึงได้เห็นชอบในหลักการให้เลื่อนการชำระเงินค่าประมูลออกไปได้ 1 ปี โดยให้นำข้อสังเกตของกรรมการ กสทช. ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ดังนี้

1. เลื่อนการชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลออกไป 1 ปี เฉพาะงวดที่ 2 เท่านั้น

2. หรือเลื่อนการชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลของทุกงวดออกไป 1 ปี

3. การคิดดอกเบี้ยระหว่างเลื่อนการชำระการประมูล โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย

4. ให้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการต้องทำการช่วยเหลือผู้บริโภคด้วย

ด้านสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวถึงมติในวันนี้ว่า นอกจากเงื่อนไขข้างต้นแล้ว ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมในการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องโฆษณาที่ไม่ขัดกฏหมายที่อาจต้องมีการลงนาม MoU ด้วย

สุภิญญา ระบุด้วยว่า มติเรื่องนี้เกือบไม่ผ่าน เพราะประธานงดออกเสียง และบอร์ดฝั่ง กทค. ส่วนหนึ่งไม่ร่วมพิจารณา แต่สุดท้ายก็ลงมติข้างมาก 7 เสียง โดยผู้ลงมติประกอบด้วยกรรมการ กสท. ฝั่งวิทยุ-โทรทัศน์ทั้ง 5 คน และได้เสียงจากบอร์ด กทค.อีก 2 คนคือ ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

สุภิญญา ระบุว่า มติผ่อนผันหนี้ก็เพื่อรักษาภาพรวมการเปลี่ยนผ่านของดิจิตอลทีวี ไม่ให้รายใหม่ล้มหายเร็วไป แต่ก็รักษาผลประโยชน์รัฐด้วยการให้ต้องจ่ายดอกเบี้ย เมื่อช่วยพยุงภาคอุตสาหกรรมให้เปลี่ยนผ่านได้ในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองและเก็บดอกเบี้ยให้รัฐแล้ว ก็รักษาประโยชน์คนดูด้วยเงื่อนไขคุ้มครองผู้บริโภค

ทั้งนี้ สุภิญญา ระบุว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ประกอบการร้องเรียนคือ การวางโครงข่ายล่าช้ากว่าแผน ส่งผลให้คนดูทีวีดิจิตอลน้อย อันนี้เป็นอีกปัจจัยปัญหาที่เกิดจากรัฐเอง ยกตัวอย่างกรมประชาสัมพันธ์วางโครงข่ายล่าช้าไป 1-2 ปี ทำให้เกิดสภาพการผูกขาดเรื่องโครงข่ายทีวี พอ กสทช.จะปรับก็ยากเพราะอ้างว่าเป็นหน่วยงานรัฐ ศาลก็ขอให้ กสทช. มาไกล่เกลี่ยกับกรมประชาสัมพันธ์ หาทางออกว่าจะไม่ปรับได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งจะนัดหารือกัน 8 พ.ค. นี้ อันนี้คือตัวอย่างว่าพอเป็นหน่วยงานรัฐที่ทำไม่ได้ตามแผนก็อ้างความเป็นหน่วยงานรัฐ  จึงเป็นอีกเหตุผลที่ กสทช.ผ่อนผันให้ทีวีเอกชนด้วย 1 ปี ทั้งนี้ กสทช. มีมติจะปรับกรมประชาสัมพันธ์ที่วางโครงข่ายล่าช้า แต่กรมประชาสัมพันธ์ก็ไปฟ้องศาล บอกว่าเป็นหน่วยงานรัฐมีเหตุผลทางการเมืองที่ทำล่าช้า

สุภิญญา ระบุว่า ในสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง รัฐออกมาตรการช่วยภาคเอกชนเช่นลดภาษีหรืออื่นๆได้ เรื่องนี้ กสทช.เสนอให้กระทรวงการคลังตัดสิน แต่คลังส่งมาให้ กสทช.เคาะ อย่างไรก็ตาม เรื่องผ่อนผันจ่ายยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 15 วัน ก่อน กสทช.จะลงมติสุดท้าย 20 พ.ค. ประกาศจะมีผลเมื่อลงราชกิจจานุเบกษา โดยระหว่างนี้ ฝ่ายต่างๆ สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ http://www.nbtc.go.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net