Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘บางแสนรามา’ ซึ่งเป็นกิจกรรมของนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และโทรทัศน์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โพสต์แถลงการณ์งดจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ประจำปีเนื่องจาก  “เนื้อหาของภาพยนตร์บางเรื่องเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ” ก่อนหน้านั้น 1 วัน ( 22 เม.ย.) ทางเพจยังระบุว่าจะจัดกิจกรรมฉายหนังอยู่โดยจะลดจาก 2 วันเหลือเพียง 1 วัน โดยให้เหตุผลว่า “เกิดเหตุขัดข้อง ไม่สามารถจัดตามกำหนดเดิมได้”

รายงานข่าวแจ้งว่า เหตุที่ไม่สามารถจัดงานได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารเห็นป้ายประชาสัมพันธ์งานจึงได้ติดต่อมายังคณะและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการเพื่อแจ้งว่างานครั้งนี้ยังไม่ได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารและวัฒนธรรมจังหวัด ทางทหารยังขอให้งดการฉายภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประเด็นเขาพระวิหาร โดยผู้กำกับ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ด้วย เพราะอาจกระทบความมั่นคง ทางอาจารย์และคณะนิสิตผู้จัดงานได้เห็นพ้องกันที่จะงดฉายภาพยนตร์ดังกล่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองล่วงหน้าด้วยการงดฉายหนังสั้นอื่นๆ บางเรื่องด้วยเพราะเกรงจะเกิดปัญหาระหว่างการจัดฉาย นอกจากนี้ทางทีมงานยังส่งหนังสั้นของนักศึกษาให้เจ้าหน้าที่ทหารตรวจสอบก่อนตามที่ได้ร้องขอมา ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งแถลงการณ์ฉบับแรกที่ขอเปลี่ยนโปรแกรมการฉายจาก 2 วันเป็น 1 วัน อย่างไรก็ตาม ในวันต่อมา (23 เม.ย.) เจ้าหน้าที่ทหารติดต่อกลับมาอีกครั้งและขอให้งดจัดงานทั้งหมดโดยไม่แจ้งเหตุผล

แถลงการณ์ฉบับสอง


แถลงการณ์ฉบับแรก 

งานบางแสนรามาเป็นการจัดฉายภาพยนตร์ขนาดสั้นและขนาดยาว ปีนี้นับเป็นครั้งที่สองที่มีการจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในนามของภาควิชานิเทศศาสตร์ ก่อนหน้านี้ ‘บางแสนรามา’ ถือเป็นพื้นที่กลางของนิสิตนักศึกษาที่สนใจด้านภาพยนตร์แวะเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาจัดฉายภาพยนตร์และจัดเสวนา เป็นกิจกรรมภายในกลุ่มเล็กๆ จัดต่อเนื่องมาหลายต่อหลายครั้งตลอด 3 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่ม

สำหรับกิจกรรมบางแสนรามาในปีนี้ที่ล่มไปนั้นประกอบด้วยหนังสั้นของนักศึกษาทั้งของม.บูรพา และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ส่งผลงานร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ ม.ธรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมแล้วราว 30 เรื่อง ปิดท้ายด้วยภาพยนตร์ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมด้วยว่าการงดจัดงานอย่างกระทันหันครั้งนี้ทำให้ทีมงานต้องทำการคืนค่าตั๋วทั้งหมดแก่ผู้ที่ซื้อตั๋วไป คืนเงินสปอนเซอร์ทั้งหมด รวมทั้งเสียค่าปรับให้กับบริษัทที่ติดตั้งระบบเสียงที่ได้จัดเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี คณะผู้จัดแจ้งว่าจะพยายามจัดงานนี้อีกครั้งแต่ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ “เพราะหนังทุกเรื่องสมควรได้ฉาย”

คอลิด มิดำ อาจารย์คณะดนตรีและการแสดง ม.บูรพา ในฐานะผู้เคยเข้าร่วมชมภาพยนตร์ที่นิสิตจัดฉายในปีก่อนและเตรียมเข้าร่วมชมในครั้งนี้ กล่าวว่า การเข้ามาใช้อำนาจทั้งในระบบการศึกษาและงานศิลปะถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ควรบันทึกไว้ และในฐานะของผู้ชม การไม่ได้ดูก็ถือว่าเสียโอกาส ในความเป็นจริงเมื่อดูแล้วตนเองอาจจะรู้สึกไม่ชอบก็ได้ แต่อย่างไรก็ควรได้ดูก่อน ในสถาบันการศึกษาเมื่อนิสิตนักศึกษาจัดทำโครงการแบบนี้นับเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุน แต่เหตุที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามว่ากิจกรรมนี้ผิดอะไร

“มันแย่ตรงที่ว่าเราเป็นสถาบันการศึกษา สถาบันอุดมศึกษา แล้วเราไม่ให้เด็กคิด เรามาตัดสินแทนเด็กว่า อันนี้ดีอันนี้ไม่ดี เข้ามาใช้อำนาจแบบนี้ เข้ามาข่มขู่ให้กลัว ตอนนี้มันเกิดความกลัวจริงๆ ขนาดที่ว่าเด็กก็ไม่กล้าพูด เราก็ไม่กล้าที่จะกระโตกกระตากอะไร อาจารย์ที่โดนก็ไม่กล้าที่จะพูดอะไร ทุกคนต้องสงบปากสงบคำ ทั้งที่เหตุการณ์นี้มันผิดปกติ” คอลิด กล่าว

อนุวัชร์ อำนาจเกษม นิสิตม.บูรพา เจ้าของหนังสั้น 4 เรื่องที่เตรียมฉายในกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้มีโอกาสฉายหนังของตัวเองและไม่ได้ดูหนังของคนอื่นๆ

“งานครั้งนี้มันคงไม่ได้มีคนมามากมายอะไร แต่มันจะฉายหนังพวกผมที่ทำกัน ได้ดูกันกับเพื่อน กับรุ่นน้อง และได้เผยแพร่ให้คนอื่นๆ ดูด้วย มหาลัยอื่นๆ เขาก็มีงานประเภทนี้กันทั้งนั้น ภาพยนตร์ของเด็กมันควรจะได้ฉาย ถ้าเรื่องไหนมีปัญหาฉายไม่ได้ก็เอาเรื่องนั้นออก นี่เอาออกแล้วทำไมฉายเรื่องอื่นๆ ไม่ได้อยู่ดี รู้สึกเฟล มันเป็นความตั้งใจของเรา” อนุวัชร์กล่าว

ด้านนนทวัฒน์ นำเบญจพล เจ้าของผลงานฟ้าต่ำแผ่นดินสูงให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า รู้สึกงงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากหนังของเขาผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการภาพยนตร์ทุกขั้นตอน มีการนำเข้าฉายในโรงภาพยนตร์มาแล้ว ที่ผ่านมามีการนำไปฉายให้นักศึกษาในสถาบันต่างๆ ดูหลายที่ ส่วนใหญ่เป็นคณะรัฐศาสตร์และนิเทศศาสตร์ ยังไม่เคยพบว่ามีปัญหาอะไร

“ผมก็งงๆ เรื่องนี้มันผ่านเซ็นเซอร์ ฉายโรง คนเขาดูกันหมดแล้ว ล่าสุด มช. Southeast Asia Study เขาก็เพิ่งจัดฉายไปเมื่อสองเดือนก่อน ไม่มีปัญหาอะไร ผมก็สงสัยว่าเขาโฟกัส อะไร ยังไง เห็นน้องๆ เล่าว่าทหารเขาไม่สนว่าจะผ่านเซ็นเซอร์แล้วหรือเปล่า เขาว่านั่นมันยุคนั้น ยุคนี้มันคนละยุคกัน” นนทวัฒน์กล่าว

“ถ้ามันเป็นภัยต่อความมั่นคงจริง ฉายมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านประเทศชาติคงล่มจมไปแล้ว แต่ก็เห็นยังอยู่ดีอยู่ เนื้อหาของหนังไม่ได้ยุยงเลย ฟังก์ชั่นของมันผลิตมาเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้คนที่อยู่ชายแดน หนังนำเสนอการปรองดอง ให้ปัญหามีทางออก มีทางแก้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องเลวร้ายอะไร” นนทวัฒน์กล่าว

“มันน่าเสียใจที่น้องๆ เขาจัดฉายหนัง อุตส่าห์รวบรวมกันมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ น่าจะเป็นการพัฒนาความรู้ด้านต่างๆ ได้อย่างดี การที่เขาไม่ได้ฉายมันก็บั่นทอนกำลังใจ บั่นทอนแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ๆ ในการที่จะสร้างสรรค์ผลงานในอนาคต” นนทวัฒน์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net