Skip to main content
sharethis

กลุ่มแรงงานกัมพูชา-อินโดนีเซีย พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย สัมมนาการเมืองไทยหลังรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องอาเซียนเป็นภูมิภาคปลอดรัฐบาลทหาร-ปล่อยนักโทษการเมือง - นักสิทธิแรงงานออสเตรเลียชี้รัฐประหารทำให้ปัญหาของประชาชนเงียบเสียง - แรงงานอินโดนีเซียฉายภาพขบวนการแรงงานขยายตัวหลังพ้นระบอบซูฮาร์โต้ - "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" สไกป์ตำหนิบทบาทสหภาพแรงงาน-เอ็นจีโอหลายกลุ่มหนุนรัฐประหาร 2 ครั้งซ้อน

การประชุม "การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยและผลกระทบต่ออาเซียน" ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อการสัมมนากลุ่มย่อย ในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF 2015) ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมจากกลุ่มประเทศอาเซียนดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายนนี้

ผู้เข้าร่วมการประชุมจากหลายประเทศในอาเซียน ร่วมกันถ่ายภาพคู่กับป้ายผ้าเรียกร้องให้ปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" นักกิจกรรมแรงงานที่ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 โดยถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากบทความที่เผยแพร่ในนิตยสารที่เขาเป็นบรรณาธิการ ทำให้เขาถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 10 ปี ทั้งนี้แถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย และกลุ่มแรงงานจากกัมพูชา และอินโดนีเซีย เรียกร้องให้อาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน (ที่มาของภาพ: PSM)

 

23 เม.ย. 2558 - คณะผู้จัดการสัมมนาและผู้เข้าร่วมการประชุม "การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยและผลกระทบต่ออาเซียน" ได้ร่วมกันประณามรัฐบาลทหารไทย ที่ใช้อำนาจเข้าปกครองประเทศไทยโดยมิชอบ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั่วทั้งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

โดยเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF 2015) มีการสัมมนาหัวข้อย่อย "การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยและผลกระทบต่ออาเซียน" จัดโดย กลุ่มรณรงค์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย (ACT4DEM) พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) ศูนย์จัดการศึกษาทางกฎหมายสำหรับประชาชน (CLEC) ประเทศกัมพูชา และ ศูนย์ข้อมูลแรงงานซีดาน (LIPS) ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือต่อสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองในประเทศไทยและผลกระทบที่ตามมาต่อประชาชนอาเซียน

 

จรรยา ยิ้มประเสริฐ ตำหนิองค์กรพัฒนาเอกชน-สหภาพแรงงานกระทำผิดซ้ำหนุนรัฐประหาร 49 ยัน 57

ในการประชุม จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานชาวไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ได้อภิปรายด้วยระบบสนทนาออนไลน์เข้ามาในที่ประชุม ตอนหนึ่งกล่าวว่า สหภาพแรงงานไทยและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย เคยมีบทบาทในการปูทางไปสู่รัฐประหาร และเอ็นจีโอสายหลัก ไม่ได้ปกป้องหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีบทบาทมาจากการเป็นทหารที่มีตำแหน่งสำคัญ และต่อมาก็ทำรัฐประหารในปี 2557 โดยไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งทหารเข้ามาเกือบร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับการรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีนายทหารในคณะรัฐมนตรีประมาณร้อยละ 17 ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ได้แสดงให้เห็นสัญญาณใดๆ ว่า กองทัพจะทำให้เกิดประชาธิปไตย ขณะที่ในช่วงของการเมืองไทยสมัยใหม่ จรรยาอธิบายตอนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าในรอบ 67 ปีที่ผ่านมา ไทยปกครองด้วยรัฐบาลทหาร 39 ปี รัฐบาลพระราชทาน 5 ปี และรัฐบาลพลเรือน 23 ปี

ในเรื่องโครงสร้างทางสังคม จรรยากล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 2 ล้านคน คือข้าราชการและญาติที่เข้าถึงระบบสวัสดิการสังคม การรักษาพยาบาล ขณะที่ประชากรอีกกว่าร้อยละ 70 ไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคม ประชากรกำลังแรงงานในประเทศไทย 38 ล้านคน มีเพียงร้อยละ 27 ที่เข้าถึงระบบประกันสังคม และมีประชากรถึง 24 ล้านคน ที่ต้องจ้างงานตัวเอง และไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคม ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณางบประมาณปี 2538-2558 พบว่า มีค่าใช้จ่ายทางทหารเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา

ทั้งนี้จรรยา กล่าวสนทนาผ่านระบบออนไลน์ในช่วงท้ายของการประชุมอีกครั้ง หลังสัญญาณช่วงแรกขาดหาย โดยจรรยากล่าวว่า ปัญหาใจกลางหลักของไทยคือ มีกลุ่มที่ได้รับอภิสิทธิทั้งชนชั้นนำ ข้าราชการ กองทัพ ทั้งนี้งบประมาณกองทัพเคยมีสัดส่วนลดลงต่องบประมาณใช้จ่ายของรัฐในแต่ละปี แต่กลับเพิ่มขึ้นในปี 2549 จรรยากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากลุ่มแรงงานที่ต่อต้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นกลุ่มสหภาพแรงงาน ที่มีสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทย เพราะมีสมาชิกมากถึง 4.5 แสนคน แต่กลับไปร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยอ้างว่าเพื่อขจัดรัฐบาลที่เป็นเสรีนิยม ทั้งนี้จรรยาเสนอว่า ผู้นำแรงงาน องค์พัฒนาเอกชน ไม่ควรทำผิดซ้ำแบบที่มีสหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนเคยทำผิดที่ไปให้การสนับสนุนกระบวนการที่ทำให้เกิดการรัฐประหารทั้งในปี 2549 และ 2557 นอกจากนี้ในปี 2551 ยังมีองค์กรพัฒนาเอกชนหลายกลุ่มออกแถลงการณ์ทำนองเดียวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้รัฐบาลสมัยนั้นลาออก

"น่าเสียใจยิ่งที่พวกเขากลัวโลกาภิวัฒน์ ไม่สนับสนุนนโยบายเสรีนิยมใหม่ แต่หันไปร่วมมือกับกองทัพ ผิดกับกรณีอินโดนีเซียที่สามารถเรียกร้องประชาธิปไตย และต้านเสรีนิยมใหม่ไปพร้อมๆ กัน"

 

นักสิทธิแรงงานออสเตรเลียชี้รัฐประหารทำให้ปัญหาของประชาชนเงียบเสียง

จีแซล ฮานนา นักสิทธิแรงงานจากกลุ่ม Australia Asia Worker Links (AAWL) ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2557 เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในเอเชีย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกินความคาดหมาย และไม่ได้เกิดขึ้นเพราะลักษณะพิเศษของสังคมไทย สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจไทย ประเทศไทยไม่ใช่แห่งเดียวที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ยังมีกรณีอื่นที่เกิดขึ้นในโลก เช่น รัฐประหารอียิปต์ ผลของการรัฐประหาร ก็เพื่อหยุดไม่ให้ประชาชนพูดถึงปัญหาที่ตัวเองประสบ หยุดการรวมกลุ่มแรงงาน หยุดการเรียกร้องต่อนายทุนอุตสาหกรรม รวมทั้งหยุดการเรียกร้องประเด็นสิทธิมนุษยชนด้วย

ในส่วนของ AAWL ไม่สามารถเห็นด้วยกับรัฐบาลเผด็จการใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับแรงงานเราต้องการพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ในการเรียกร้องสิทธิ ทั้งนี้ในบังกลาเทศเมื่อหลายปีก่อน เกิดสถานการณ์น่าเศร้า ที่คนงาน 8,000 คนรวมตัวกันนอกโรงงาน บอกนายจ้างว่าไม่ต้องการเข้าไปทำงานเพราะในโรงงานอันตราย นายจ้างตอบว่าถ้าอย่างนั้นจะไม่จ่ายค่าจ้าง 1 เดือน คนงานซึ่งไม่มีทางเลือกจึงกลับเข้าทำงาน และโรงงานดังกล่าวก็พังทลายลงมาทำให้คนเสียชีวิต นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องเรื่องใดก็ตาม พวกเขาอาจประสบกับสิ่งเลวร้ายได้

ฮานนา เสนอให้คนไทยพยายามหาทางรวมกลุ่มกัน ขณะที่ต่างประเทศต้องสร้างความร่วมมือกับคนไทย ทั้งนี้ยังเสนอให้กดดันมหาอำนาจที่ส่งออกอาวุธให้ประเทศไทย มีทั้งสหรัฐอเมริกา สวีเดน เยอรมนี และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ เพราะสายการผลิตในปัจจุบัน ผลประโยชน์ของแรงงานในมาเลเซีย ออสเตรเลีย และไทย ก็เป็นเรื่องเดียวกัน โดยฮานนายังเสนอให้มุ่งจัดตั้งขบวนการแรงงานในประเทศไทยด้วย

 

แรงงานอินโดนีเซียฉายภาพขบวนการแรงงานอินโดนีเซียขยายตัวหลังพ้นระบอบซูฮาร์โต้

ส่วนชารีฟ จากศูนย์ข้อมูลแรงงานซีดาน (LIPS) ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ในสมัยที่ประเทศอินโดนีเซียอยู่ภายใต้ระบอบซูฮาร์โต แรงงานไม่สามารถนัดชุมนุม นัดหยุดงาน ในระหว่างปี 2516-2542 เป็นช่วงที่มีการใช้ระบบปัญจศีลในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ กระทั่งซูฮาร์โตถูกประชาชนโค่นลงจากอำนาจ จึงมีการรวมกลุ่มแรงงานขนานใหญ่

โดยอินโดนีเซียมีสหภาพแรงงานในปัจจุบันถึง 112 แห่ง จากเดิมในสมัยซูฮาร์โตมีเพียง 1 แห่งเท่านั้น ถือเป็นผลมาจากการปฏิรูปของชาวอินโดนีเซีย และไม่เพียงแต่มุ่งสถาปนาพื้นที่ประชาธิปไตย แต่ยังขยายลงไปสู่การทำงานกับเยาวชนด้วย ทั้งนี้บทบาทของแรงงานอินโดนีเซีย ไม่เพียงแต่ล้มรัฐบาลทหารเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังคงมีบทบาทผลักดันให้มีการปฏิรูปในอินโดนีเซีย

อนึ่ง จักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ ได้อภิปรายผ่านระบบออนไลน์ร่วมแสดงความคิดเห็นในการประชุมด้วย โดยตอนหนึ่งเขาเสนอว่า ประเทศในอาเซียนต้องทบทวนเรื่องหลักการไม่แทรกแซงภายใน และคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ขณะที่ ชูชุนไข สมาชิกของคณะกรรมการกลางพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) กล่าวว่า ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เราต้องเสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศปลอดรัฐบาลทหาร และปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

พรรคสังคมนิยมมาเลเซียแพร่แถลงการณ์เรียกร้องอาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร

โดยหลังการประชุม ในเว็บไซต์ของพรรคสังคมนิยมมาเลเซียได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ "เพื่ออาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร" ลงนามโดย กลุ่มชาวมาเลเซียเพื่อการสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มรณรค์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย (ACT4DEM) พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) ศูนย์จัดการศึกษาทางกฎหมายสำหรับประชาชน (CLEC) ประเทศกัมพูชา และ ศูนย์ข้อมูลแรงงานซีดาน (LIPS) ประเทศอินโดนีเซีย

โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่า "เสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทยถูกจองจำ ภายใต้รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และทำให้พื้นที่ประชาธิปไตยถดถอย วิกฤตในประเทศไทยไม่สามารถคลี่คลายได้ตราบใดที่กองทัพยังยึดอำนาจโดยร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม และชนชั้นนำตามขนบ โดยที่ไม่สนใจหลักประชาธิปไตยและทางเลือกของประชาชน วิธีการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทยเช่นนี้จะเป็นการปูทางให้นักลงทุนพากันสะสมผลประโยชน์อย่างหนักและขูดรีดเอากับพลเมืองมากขึ้น" แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุ

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้แสดงความสมานฉันท์ร่วมกับ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" นักกิจกรรมด้านแรงงานชาวไทย ซึ่งถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปี นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมเสวนายังร่วมแสดงจุดยืนต่อความยุติธรรม ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถูกบังคับใช้อย่างทารุณ

ในข้อสรุปของการสัมมนา ได้เสนอให้ภาคประชาสังคมอาเซียนเรียกร้อง 3 ประการได้แก่ "1. อาเซียนต้องเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร 2. อาเซียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดนักโทษการเมือง 3.อาเซียนต้องทบทวนหลักการ "ไม่แทรกแซงกิจการภายใน" เพื่อให้เสียงและทางเลือกของประชาชนสามารถขับไล่ทุกๆ รูปแบบของอำนาจเผด็จการ และสร้างความเข้มแข็งต่อการสมานฉันท์เพื่อประชาธิปไตยและสังคมที่มีความยุติธรรมทั่วทั้งภูมิภาค"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net