ภาคสังคมอาเซียนหารือที่กัวลาลัมเปอร์: เมื่อเขื่อนใหญ่ ส่งผลกระทบข้ามรัฐในอาเซียน

นักสิ่งแวดล้อมไทย-มาเลเซีย-กัมพูชา เผยผลกระทบจากเขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - ชาวกัมพูชาหวั่นลาวสร้างเขื่อนดอนสะโฮงแล้วกระทบแหล่งประมงโตนเลสาบ ขณะที่ กสม.มาเลเซียเผยได้เรียกบริษัทสัญชาติมาเลเซียผู้สร้างเขื่อนมาให้ข้อมูล ขณะเดียวกันมีข้อเสนอจากเวทีให้อาเซียนบรรจุเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเสาหลักที่ 4 ประกันวิถีชีวิตประชาชน

24 เม.ย. 2558 - ในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF 2015) ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายนนั้น ในการประชุมหัวข้อย่อยเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่อาคาร UTM Space มีการหารือหัวข้อ "เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่: ภัยคุกคามข้ามพรมแดน และสิ่งรับผิดชอบร่วมกันของประชาคมอาเซียน" หรือ "Large Scale Hydropower Dams: Transboundary threat and common Responsibility of ASEAN community" โดยหารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการสร้างเขื่อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องกันแบบข้ามพรมแดน ระหว่างรัฐต่อรัฐในภูมิภาค

มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูวิถีชีวิตและธรรมชาติ

ปีเตอร์ คอลลัง เครือข่ายปกป้องแม่น้ำซาราวัก จากรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย

 

แผนแม่บทเชื่อมโยงพลังงานอาเซียน และซีรีย์สร้างเขื่อนขนานใหญ่

มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูวิถีชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า อาเซียนมีการเตรียมแผนพลังงาน ที่เรียกว่า "การศึกษาแผนแม่บทการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน" หรือ "ASEAN Interconnection Master Plan Study" โดยศึกษามาตั้งแต่ปี 2545 เพื่อวางแผนเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ โดยประเมินว่าในอนาคตอาเซียนต้องการพลังงาน 333,700 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นพลังงานจากถ่านหิน 59,340 เมกะวัตต์ นอกจากนี้เป็นพลังงานน้ำ ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ

มนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่า การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำโขงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่ากลัวมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงเริ่มต้นขึ้นเมื่อจีนสร้างเขื่อนแห่งแรกในแม่น้ำโขงเมื่อปี 2536 ทั้งนี้จีนสร้างเขื่อน 9 แห่งในแม่น้ำโขง ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 17,755 เมกะวัตต์ กักเก็บน้ำได้ 41,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในปัจจุบันมีเขื่อนหลายแห่งเกิดขึ้นในแม่น้ำโขงซึ่งรวมทั้งโครงการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในลาวตอนใต้

กรณีของเวียดนาม มีการสร้างเขื่อนยาลี ในแม่น้ำเซซาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยผลิตไฟฟ้าได้ 720 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามระหว่างการก่อสร้างในปี 2536-2544 ไม่มีการหารือสาธารณะ หรือการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

มนตรีย้ำว่า "การสร้างเขื่อนเป็นปัญหาระดับรัฐต่อรัฐ ประชาชนอาเซียนควรมีทางเลือกในเรื่องของแหล่งพลังงาน อนาคตของพวกเราไม่ควรอยู่ในกับดักความเชื่อเรื่อง "แหล่งพลังงานต้นทุนต่ำ" แบบผิดๆ ที่ละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคน"

 

ประสบการณ์ปกป้องแม่น้ำจากซาราวัก รู้ข่าวเพราะชาวเน็ตจีน

ปีเตอร์ คอลลัง จากเครือข่ายปกป้องแม่น้ำซาราวัก จากรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ในมาเลเซียตะวันออก คือที่ตั้งของรัฐซาราวัก และรัฐซาบาห์ บนเกาะบอร์เนียว เป็นพื้นที่ซึ่งประชากรเบาบางแต่เป็นแหล่งทรัพยากร รัฐบาลมาเลเซียมีแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยตั้งเป้าผลิตพลังงานจากรัฐทางตะวันออก 28,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานจากน้ำ 20,000 เมกะวัตต์ พลังงานจากถ่านหิน 5,000 เมกะวัตต์ และพลังงานจากแหล่งอื่น 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อขายพลังงานให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาะบอร์เนียว ส่วนที่เป็นของอินโดนีเซีย รวมทั้งเชื่อมโยงระบบสายส่งกลับมาที่ส่วนของคาบสมุทรมลายา

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในซาราวักก็คือ ประชาชนไม่รู้ว่าจะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในพื้นที่ บางโครงการประชาชนรู้ทีหลัง เพราะรัฐบาลลงโฆษณาเชิญชวนนักลงทุนในจีน แล้วมีคนนำมาโพสต์ในอินเตอร์เน็ต จนกระทั่งคนซาราวักไปเห็นในโลกออนไลน์ จนทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกแพร่กระจาย

ในรัฐซาราวักมีเขื่อนบากุน ในแม่น้ำราจัง ขนาด 2,400 เมกะวัตต์ สร้างแล้วเสร็จในปี 2544 มีผลทำให้ครัวเรือนนับหมื่นต้องอพยพจากพื้นที่สร้างเขื่อนไปอยู่ที่สุไหงอาซับ และวิถีชีวิตของประชาชนเหล่านั้นเปลี่ยน เพราะไม่สามารถทำกินในพื้นที่แห่งใหม่ได้ ในจำนวนคนที่อพยพกว่าครึ่งกลายเป็นคนที่ออกไปหางานทำนอกชุมชน อย่างไรก็ตาม ภาคสังคมในรัฐซาราวัก พยายามปกป้องไม่ให้มีการสร้างเขื่อนมูรุม โดยชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นชาวพีนัน ซึ่งเป็นกลุ่มคนพื้นเมือง เคยประท้วงปิดกั้นทางเข้าไปพื้นที่สร้างเขื่อนในปี 2555 เป็นเวลา 1 เดือน หลังจากที่พวกเขาได้เห็นเอกสารแผนการก่อสร้างเขื่อนที่รั่วไหลออกมา และขณะที่กำลังมีการดำเนินโครงการนี้ ชาวบ้านยังไม่ยอมลงนามเพื่อย้ายออกจากพื้นที่

 

ชาวกัมพูชาหวั่นเขื่อนดอนสะโฮง ก่อผลกระทบแหล่งจับสัตว์น้ำโตนเลสาบ

ด้านยุค เซ็งลอง จากแนวร่วมเพื่อรณรงค์ของชาวประมง (FACT) จากกัมพูชา กล่าวว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง กระทบโดยตรงกับโตนเลสาบของกัมพูชา ซึ่งเป็นทะเลสาบแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย เป็นหัวใจของชาวกัมพูชา เพราะเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโกด้วย ในฤดูน้ำหลาก โตนเลสาบจะเป็นแหล่งเก็บน้ำและเกิดพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามที่น้ำท่วมถึง รวมแล้วกินพื้นที่กว่า 63,000 เฮกเตอร์ โดยที่ร้อยละ 75 ของปลาน้ำจืดที่ชาวกัมพูชาจับได้มาจากโตนเลสาบแห่งนี้ และเป็นแหล่งอาหารของชาวกัมพูชากว่า 3 ล้านคน

ทั้งนี้ยุค เซ็งลอง แสดงความกังวลต่อการสร้างเขื่อนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่แม่น้ำโขงใกล้ชายแดนกัมพูชา อย่างเช่น เขื่อนดอนสะโฮงในลาว โดยกล่าวเสนอด้วยว่า สถานการณ์ก่อสร้างเขื่อนปัจจุบันในแม่น้ำโขงสำหรับชาวบ้าน ชาวบ้านก็เหมือนควายป่า ทุกชุมชนในอาเซียนจึงต้องรวมตัวกันเพื่อสู้กับเสือที่มีจำนวนน้อยกว่า

 

กรรมการสิทธิมาเลเซียเผยเคยเรียกบริษัทมาเลเซียผู้ก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงมาให้ข้อมูล

ด้าน เจมส์ เดวา นายะกัม กรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซีย ตอนหนึ่ง กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทที่ก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง คือบริษัทเมกะเฟิร์ส คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในมาเลเซีย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซียจึงเคยเรียกบริษัทมาสอบถาม นอกจากนี้อีกช่องทางหนึ่งที่พอทำได้ก็คือเชิญบริษัทที่จะก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวมาสู่โต๊ะเจรจาและให้ชาวบ้านที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบได้มีโอกาสสอบทางบริษัท

ทั้งนี้ กฤษกร ศิลารักษ์ ชาวบ้านจาก อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ได้สอบถามกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซียว่า "ผมเชื่อว่าการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบโดยตรง จึงคัดค้านการสร้างเขื่อนอย่างเต็มที่ และเคยยื่นเรื่องต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซีย จึงอยากทราบว่ามีกระบวนการคืบหน้าไปถึงไหน และเป็นไปได้ไหมที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซียจะร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทย ดำเนินการตรวจสอบการสร้างเขื่อนในลาว"

นอกจากนี้ชาวลาวคนหนึ่งได้เข้าร่วมการเสวนา (ขอสงวนชื่อ) ได้กล่าวเปรียบเทียบกระบวนการสร้างเขื่อนในไทยและลาวว่า การสร้างเขื่อนในพื้นที่ลาวเป็นเรื่องที่ยากต่อการตรวจสอบ ไม่เหมือนกับกระบวนการสร้างเขื่อนในพื้นที่ไทย

ทั้งนี้เจมส์ ตอบคำถามชาวบ้านจากโขงเจียมว่า ตัวแทนบริษัทที่มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซีย อธิบายถึงกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในการสร้างเขื่อนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะหาทางเชิญทั้งสองฝ่ายคือบริษัทที่ก่อสร้างเขื่อนกับชาวบ้านให้มาหารือกัน

 

ข้อเสนอให้ภาคประชาสังคมอาเซียนผลักดันอาเซียนมีวาระสิ่งแวดล้อมเป็น "เสาหลักสี่ 4"

การประชุมหัวข้อย่อยในวันเดียวกัน ยังมีการหารือเรื่อง "ข้อเรียกร้องให้อาเซียนมีเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม: อาเซียนจะมีหลักประกันต่อทรัพยากรและวิถีชีวิตโดยปราศจากเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่?" หรือ "A call on ASEAN environmental Pillar: Will ASEAN able to secure its resorces and livelihood without it?" โดย เปรมฤดี ดาวเรือง จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ประเทศไทย เสนอว่า ข้อเสนอให้สิ่งแวดล้อมเป็นเสาหลักที่ 4 ของ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ริเริ่มมาตั้งแต่การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนในปี 2552 และข้อเสนอดังกล่าวถูกเสนอผ่านแถลงการณ์ของภาคประชาสังคมอาเซียนเรื่อยมา ทั้งนี้การเสนอให้อาเซียนมีเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อมนับเป็นเรื่องสำคัญเพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในแต่ละประเทศทั้งสิ้น และในขณะที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่บริษัทที่ดำเนินโครงการกลับไม่สนใจ

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากประเทศไทย เสนอด้วยว่า ที่ผ่านมาประชาคมอาเซียนเน้นแต่เรื่อง เสาหลักประชาคมเศรษฐกิจ การดำเนินโครงการต่างๆ และมีการยึดที่ดิน การขับไล่ชุมชนออกจากพื้นที่โครงการ ล้วนเป็นเรื่องเพื่อดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น "พวกเราทราบดีว่า ในอาเซียนมีเสาหลัก เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ถ้าภาคประชาชนไม่ผลักดันให้เกิดเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม เราจะลำบากกันหมด ไม่ใช่แค่พ่อสมบัด สมพอน หาย พวกเราก็จะพลอยหายกันไปหมดด้วย"

"กรณีที่เกิดขึ้นในไทย โรงไฟฟ้าสร้างที่เขื่อนปากมูน สร้างแล้วชาวบ้านอยู่ไม่ได้ เหมืองทองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างแล้วชาวบ้าน ก็อยู่ไม่ได้ มาบตาพุด ชาวบ้านในพื้นที่ก็ต้องอพยพ ถ้าเราไม่หยิบยกสิทธิสิ่งแวดล้อมมาเป็นเรื่องใหญ่ เราจะไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ ที่เราทำมาหากินได้" นพ.นิรันดร์กล่าว และย้ำว่า รัฐในอาเซียนต้องปกป้อง ไม่ทำให้โครงการพัฒนาเกิดขึ้นจนทำร้ายประชาชน ธุรกิจต้องรับผิดชอบ ไม่ทำธุรกิจที่ทำร้ายประชาชน และรับผิดชอบต่อผลเสียหายที่เกิดขึ้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท