Skip to main content
sharethis
"พุทธะอิสระ" ยื่นหนังสือให้แก้ไขร่างรธน. ม.151 ม.156 ม.157 ที่เกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระบุไม่เห็นด้วยเพราะแสดงถึงอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา รวมถึงนายกที่มีผิดไปจากจารีตประเพณีการปกครองของประเทศซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้าน "บวรศักดิ์" พร้อมปรับลดจำนวนมาตราในร่าง รธน. โบ้ยบอก จนท.พิมพ์ผิด ปมร่างรธน. แยกพนักงานสอบสวนออกจาก ตร.
 
 
(ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย)
 
25 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ยื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 151 มาตรา 156 มาตรา 157 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการตรากฎหมายลักษณะดังกล่าว เพราะแสดงถึงอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา รวมถึง นายกรัฐมนตรี ที่มีผิดไปจากจารีตประเพณีการปกครองของประเทศ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
พระพุทธอิสระ ยังเสนอแนวทางปฏิรูปพุทธศาสนา อีก 14 ข้อ อาทิ ตรวจสอบทรัพย์สินของวัด เจ้าอาวาส และพระสงฆ์ทุกรูป ไม่เว้นแม้แต่กรรมการมหาเถรสมาคม ตรวจสอบพฤติกรรมของมหาเถระสมาคม กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในพระพุทธศาสนา ให้มีความผิดทั้งแพ่งและอาญา คัดสรรคณะสงฆ์จากส่วนภูมิภาคที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาปกครองคณะสงฆ์สูงสุดในส่วนกลาง เป็นต้น
 
ขณะที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า บทบัญญัติในมาตราดังกล่าว ได้เขียนเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีต ไม่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและเป็นไปตามธรรมเนียมประเพณี ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยืนยันไม่ได้มีการลดพระราชอำนาจแต่อย่างใด
 
 
"บวรศักดิ์" พร้อมปรับลดจำนวนมาตราในร่าง รธน.
 
นอกจากนี้สำนักข่าวไทยยังรายงานว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้ตัดจำนวนมาตราในร่างรัฐธรรมนูญ ออกไป 20-30 มาตรา ว่า กรรมาธิการยกร่าง พร้อมรับฟังความเห็น ซึ่งต้องดูความชัดเจนในคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จาก คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน ว่าประเด็นใดต้องการให้ปรับลด  แต่อยากให้ทุกฝ่ายดูที่ความเหมาะสมและความจำเป็นที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมากกว่าที่จะดูจำนวนมาตรา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฎิรูปและการสร้างความปรองดอง หากจะให้นำบางเรื่องบัญญัติไว้ในกฎหมายลูก ก็สามารถทำได้  แต่ก็กังวลว่าอาจจะเกิดความล่าช้า อย่างที่เคยเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2550
 
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ดำเนินการตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้อย่างดีที่สุด จึงไม่ขอแสดงความเห็นว่าควรจะมีการขยายเวลาการเลือกตั้งออกไป ตามข้อเรียกร้องของพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปถามความเห็นจากพรรคการเมืองที่เสนอ เพราะหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต้องไปแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อน เพราะขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้
 
 
โบ้ย บอก จนท.พิมพ์ผิด ปม ร่างรธน.แยกพนักงานสอบสวนออกจาก ตร.
 
ด้านมติชนออนไลน์รายงานว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงบทบัญญัติในมาตรา 282(8) ที่กำหนดให้แยกพนักงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า เนื่องจาก กมธ.ปฏิรูปกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช.ส่งข้อเสนอแนะแนวทางปฏิรูปตำรวจมาให้ล่าช้า และเมื่อส่งมาก็มีมา 2 ความเห็น คือ เสนอให้พนักงานสอบสวนมีอิสระในการทำงาน แต่ไม่แยกออกจากสตช.กับ เสนอให้แยกงานสอบสวนออกจาก สตช.โดยความเห็นดังกล่าวที่ส่งมาลงนามโดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฏหมายฯ ซึ่งยืนยันว่า ในส่วนนี้ กมธ.ยกร่างฯ มีมติเห็นว่า พนักงานสอบสวนควรมีอิสระแต่ต้องไม่แยกออกจาก สตช. ซึ่งในการพิจารณาในวันดังกล่าว ตนกับนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขาฯ กมธ.ยกร่างฯ ติดภารกิจไม่อยู่ในที่ประชุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่พิมพ์เนื้อหาร่างในที่ประชุมอาจไม่มีความชำนาญ จึงเขียนผิดมติ กมธ.ยกร่างฯ และอาจเป็นความผิดพลาดของตนที่ไม่ได้อ่านทวนอีกครั้ง หลังจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ จะนำกลับไปแก้คำผิดให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ต่อไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net