เข้าถึงเอดส์ ชี้ 14 ปี บัตรทอง งบรายหัวขยับเพิ่มสมเหตุสมผล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ชี้ช่วงเริ่มโครงการอัตรา 1,200 บาทต่อคน เป็นอัตราต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะต้องจูงใจพรรคการเมืองร่วมผลักดันโครงการ แถมขาดประสบการณ์ดำเนินโครงการ ไม่ทราบตัวเลขงบฯชัดเจน จึงต้องปรับเพิ่มภายหลัง เพื่อให้ครอบคลุมการรักษาทุกโรค ระบุกรณีเปรียบเทียบอัตราเพิ่มงบบัตรทองกับเงินเฟ้อ ต้องบวกเงินเดือน ขรก.ที่ปรับเพิ่มต่อเนื่อง

26 เมษายน 2558 นิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชี้ 14 ปี บัตรทอง งบรายหัวขยับเพิ่มสมเหตุสมผล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เหตุช่วงเริ่มต้นโครงการปี 2545 ด้วยอัตรา 1,200 บาทต่อคน เป็นอัตรางบต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะต้องจูงใจพรรคการเมืองร่วมผลักดันโครงการ แถมขาดประสบการณ์ดำเนินโครงการ ไม่ทราบตัวเลขงบชัดเจน จึงต้องปรับเพิ่มเติมภายหลัง เพื่อให้ครอบคลุมการรักษาทุกโรค ดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง พร้อมระบุกรณีเปรียบเทียบอัตราเพิ่มงบบัตรทองกับเงินเฟ้อ ต้องบวกเงินเดือน ขรก.ที่ปรับเพิ่มต่อเนื่อง

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีการวิเคราะห์งบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีการปรับเพิ่มงบประมาณที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ว่า ประเด็นนี้ต้องอธิบายว่าในช่วงแรกเริ่มต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เป็นการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณในระบบสาธารณสุข โดยกระจายงบประมาณในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวได้เริ่มต้นอัตรา 1,200 บาทต่อคน เป็นการเริ่มต้นงบประมาณที่ต่ำมาก ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้น โดยต้องทำให้พรรคการเมืองตอบรับและผลักดัน และไม่เห็นว่าเป็นภาระงบประมาณเกินไป จนนำมาสู่นโยบายประชานิยมในยุคนั้น เพราะไม่เช่นนั้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้คงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงได้กำหนดตัวเลขงบประมาณที่พอเป็นไปได้โดยคำนึงถึงคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งต้องบอกว่าเป็นช่วงของการโปรโมชั่น

“การเสนอตัวเลข 1,200 บาทต่อคนในยุคเริ่มต้น 30 บาท แม้ว่าจะเป็นอัตราที่ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ต้องบอกว่าเป็นความฉลาดของคนที่ผลักดันระบบในยุคนั้น เพราะหากใช้ตัวเลขงบประมาณที่สูงมากๆ การเมืองก็จะเกิดความหวาดระแวง ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เกิดขึ้นและดำเนินมาถึงขณะนี้ ซึ่งทำให้ประชาชนทั้งประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ประกอบกับขณะนั้นทุกคนยังไม่มีประสบการณ์การดำเนินโครงการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงไม่รู้ว่าต้องใช้งบประมาณชัดเจนเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ ซึ่งต่อมาภายหลังจากที่ได้มีการดำเนินโครงการในแต่ละปีจึงเห็นข้อมูลและได้มีการปรับงบประมาณเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบโดยเฉพาะหน่วยบริการดำเนินไปได้โดยไม่ประสบปัญหา แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ปล่อยให้มีการปรับเพิ่มงบประมาณจนสูงเกินไป ที่ต้องควบคู่กับประสิทธิภาพและคุณภาพบริการ ควบคลุมสิทธิการรักษาทุกโรค รวมถึงโรคค่าใช้จ่ายสูง ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง โดยประมาณว่าน่าจะอยู่ที่ 3,000 บาทต่อคน โดยอัตรานี้ยังเป็นงบประมาณประเทศยังจ่ายได้ ดังนั้นการเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวจาก 1,200 บาท ในปี 2545 จนขยับล่าสุดอยู่ที่ 3,028 บาท ในปี 2559 ที่ ครม.ได้อนุมัติ จึงเป็นการเพิ่มที่สมเหตุสมผล อีกทั้งเมื่อดูภาพรวมในงบประมาณภาครัฐค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอยู่ที่ร้อยละ 14 แสดงว่าการขยับเพิ่มยังทำได้ เพราะยังไม่เกินร้อยละ 15 

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ในการเพิ่มขึ้นของงบประมาณ หากจะอ้างอิงเงินเฟ้อก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ลืมว่างบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นงบที่รวมเงินเดือนบุคลากรในระบบสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นประมาณปีละร้อยละ 10 ซึ่งแตกต่างจากงบในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ขณะที่งบเหมาจ่ายรายหัวกลับเพิ่มปีละไม่ถึงร้อยละ 10 เช่นเดียวกับเงินเดือนที่ปรับเพิ่ม

“ตอนนี้หากเราคุมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3,000 บาทต่อคน หรือไม่ให้เกินร้อยละ 15 เป็นงบประมาณที่เพียงพอและสามรถขยับเพิ่มขึ้นได้อีกโดยไม่ต้องพูดถึงการร่วมจ่ายด้วย และแม้จะบอกว่ารัฐบาลเป็นผู้แบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชนถึงร้อยละ 80 แต่ก็เป็นเงินที่มาจากงบประมาณแผ่นดินร้อยเปอร์เซ็น ประชาชนเป็นผู้จ่ายภาษี จึงเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมในการนำเงินภาษีเหล่านี้มาคืนให้กับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแม้แต่ในรัฐธรรมนูญยังระบุไว้ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดบริการสุขภาพอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว  

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า จากที่มีการวิเคราะห์การเพิ่มขึ้นของงบเหมาจ่ายรายหัวโดยพยายามชี้ให้เห็นภาระงบประมาณที่อาจเป็นปัญหานั้น สะท้อนให้เห็นว่ามีนักวิชาการส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ในรายละเอียด ทำให้ไม่เข้าใจ และมีส่วนหนึ่งที่มองไม่เห็นชาวบ้านต่อปัญหาการเข้าถึงการรักษา และคิดว่าเมื่อชาวบ้านเจ็บป่วยเล็กน้อยก็จะไปใช้บริการในหน่วยบริการ ซึ่งหากดูอัตราการใช้บริการรักษาพยาบาลตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเหมือนกับในหลายประเทศ เพราะการหาหมอแต่ละครั้งประชาชนต้องเสียทั้งค่าเดินทาง ค่ากิน และยังต้องหยุดงานเพื่อรับการตรวจ แถมยังต้องรอเป็นเวลานาน การหาหมอด้วยการป่วยเล็กน้อยจึงอาจไม่คุ้มค่า ทั้งนี้อัตราการรับบริการผู้ป่วยในขณะนี้เฉลี่ยที่ 1.5 ครั้งต่อคนต่อปี และผู้ป่วยนอก 3 ครั้งต่อคนต่อปี ถือว่าเป็นตัวเลขไม่มาก ดังนั้นที่ผ่านมาที่มักมีการระบุว่า ประชาชนมักเลือกไปหาหมอแม้เจ็บป่วยเล็กน้อยๆ จึงควรวิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ 

“ในการกำหนดนโยบายประเทศ ผู้บริหารต้องฟังข้อมูลที่หลายหลาย โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง  ไม่ใช่ข้อมูลที่มาจากความเห็นและความรู้สึก หากเป็นแบบนั้นประเทศก็อาจมีปัญหา ซึ่งในด้านการบริหารระบบสุขภาพของประเทศ นายกรัฐมตรี ครม. และ รมว.สาธารณสุข ควรเลือกบริหารบนข้อเท็จจริง ไม่เช่นนั้นจะนำประเทศไปผิดทาง ซึ่งหากดูงบประมาณเหมือนเป็นเม็ดเงินที่มาก แต่เมื่อดูสัดส่วนงบประมาณ และดูสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมและปรับเพิ่มต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าเป็นการบริหารที่ใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก” นายนิมิตร์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท