Skip to main content
sharethis

แม้ว่าการบริจาคสิ่งของให้ผู้ประสบภัยจะเป็นความปรารถนาดีอย่างหนึ่งแต่ก็อาจจะยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยและคนทำงานช่วยเหลือมากขึ้น ทั้งเป็นการเพิ่มภาระ สร้างอุปสรรคในการลำเลียงและของบริจาคจำนวนมากไม่สามารถใช้กับสถานการณ์นั้นๆ ได้

28 เม.ย. 2558 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์นำข่าวเก่าที่เผยแพร่ในช่วงหลังเหตุแผ่นดินไหวเฮติกลับมาเผยแพร่อีกครั้งเพื่อเป็นการเตือนให้ผู้ที่ต้องการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศเนปาลให้บริจาคเป็นเงินดีกว่าบริจาคเป็นสิ่งของ

สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ยกตัวอย่างบทเรียนจากคนทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตั้งแต่สมัยสึนามิปี 2547 โดยระบุว่าสิ่งที่ตามมาจากคลื่นยักษ์ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากกลับเป็นคลื่นยักษ์ของสิ่งของต่างๆ ที่แม้จะหวังดีแต่ก็เป็นการเข้าใจผิดเพราะของหลายอย่างเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้คนไม่ได้จนทำให้ต้องถูกกองเอาไว้เฉยๆ ตั้งแต่ตุ๊กตาหมี ยาที่ใช้แล้ว ยาคุมกำเนิด หรือแม้แต่คัมภีร์ศาสนา ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นในการลำเลียงเครื่องใช้ที่มีประโยชน์ต่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจริงๆ

กลุ่มเภสัชกรไร้พรมแดน (Pharmaciens Sans Frontieres) เคยทำการศึกษาในเรื่องสิ่งของบริจาคเกี่ยวกับภัยสึนามิในอินโดนีเซียปี 2547 พบว่า ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจะไม่ได้เรียกร้องให้บริจาคยาแต่ก็ได้รับยาจำนวน 4,000,000 กก. เมื่อเทียบกับจำนวนนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิในครั้งนั้น จะแบ่งให้แต่ละคนได้ราวมากกว่า 1.8 กก. ต่อ 1 คน ประกอบด้วยยาปฏิชีวนะที่ใช้ได้หลายปี แต่ก็มียาจำนวนมากที่แม้แต่คนทำงานสาธารณสุขก็ดูไม่ออกว่าเป็นยาอะไรและบางชิ้นก็ระบุชนิดยาไว้ด้วยภาษาที่คนในพื้นที่อ่านไม่ออก

โกลบอลโพสต์ระบุอีกว่าสิ่งของจำนวนมากที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เหล่านี้ยังกลายเป็นการเบียดบังพื้นที่ในโรงพยาบาลซึ่งเต็มไปด้วยผู้ป่วย อีกทั้งการที่ไม่มีห้องปรับอากาศทำให้สิ่งของบางส่วนที่ถูกเก็บไว้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ทำให้ยาจำนวนมากถูกเผาทำลายในที่สุดเพราะถ้าเอายาไปฝังอาจจะทำให้เกิดปัญหารั่วไหลปนกับน้ำจนเกิดปัญหาสุขภาวะตามมาได้

"แน่นอนว่าผู้บริจาคแค่มีความพยายามจะช่วยเหลือ แต่เจตนาดีแบบผิดที่ผิดทางจะยิ่งทำให้การประสบภัยเลวร้ายลงกว่าเดิม" โกลบอลโพสตระบุ

โกลบอลโพสต์เสนอว่าแทนที่จะส่งสิ่งของควรส่งเงินช่วยเหลือให้กับกลุ่มให้ความช่วยเหลือที่มีชื่อเสียงไว้ใจได้ดีกว่า

ทางด้านสำนักข่าวเดอะการ์เดียน มีรายงานในประเด็นคล้ายกันโดยเพิ่มเติมการเตือนในเรื่องอื่นๆ เช่นหน่วยงานที่ต้องการเข้าไปให้ความช่วยเหลือควรมีความพร้อมและดูแลตัวเองได้เพราะไม่เช่นนั้นจะยิ่งเป็นการเพิ่มภาระในทางที่กลุ่มนักช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเรียกว่า "ภัยพิบัติที่สอง" (the second disaster) เว้นแต่ถ้าเป็นคนทำงานมืออาชีพที่ได้รับการรับรองแล้วก็สามารถเข้าร่วมกับองค์กรนานาชาติเพื่อที่เขาจะจัดการถูกว่าจะให้ทำงานในส่วนไหน

เดอะการ์เดียนเห็นด้วยกับเรื่องที่ควรจะบริจาคเงินเข้าไปมากกว่าการส่งสิ่งของเช่นกัน โดยระบุว่า ในระยะสั้นเนปาลมีความต้องการเงินอย่างมาก ส่วนเรื่องความช่วยเหลืออื่นๆ ในระยะยาวคือเรื่องการช่วยสร้างเนปาลที่ยั่งยืนขึ้นมาใหม่โดยอาจจะมีการใช้แรงงานอาสาสมัครจากต่างชาติ ทั้งนี้เดอะการ์เดียนยังระบุเตือนในบทความอีกว่า "ขอให้จำไว้ว่าเรื่องภัยพิบัตินี้ไม่ใช่เรื่องของตัวคุณ"

"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความรักของคุณที่มีต่อประเทศหรือประชาชนในประเทศนั้น ความรู้สึกผิดหรือความรู้สึกไม่สามารถช่วยอะไรได้อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะจัดการ ตัวคุณอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นที่ต้องการในตอนนี้ แต่ก็อย่าเพิ่งรีบไปที่นั่น อย่างน้อยก็ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ประเทศกำลังซวนเซ เว้นแต่ว่าคุณเป็นมืออาชีพที่ได้รับการรับรองที่มีทักษะวิชาชีพให้นำไปใช้ได้" เดอะการ์เดียนระบุในบทความ

ทางด้านสำนักข่าวซีเอนเอนเปิดเผยรายชื่อองค์กรที่เชื่อถือได้ในการส่งเงินให้ความช่วยเหลือกรณีแผ่นดินไหวในเนปาล ได้แก่ สมาคมกาชาดเนปาล (www.nrca.org) ซึ่งเป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือเหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนี้ และยังมีองค์กรอื่นๆ อีกดังนี้

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net