Skip to main content
sharethis

ข่าวเจาะเยาวชน เพื่อสลายมายาคติว่าด้วย “ขอทาน” เป็นคนขี้เกียจ และเป็นส่วนหนึ่งของการค้ามนุษย์ พร้อมเผยมุมมองเชิงโครงสร้างของการพัฒนาที่เบียดขับคนจน และการกวาดล้าง “ขอทาน” ในฐานะสิ่งแปลกปลอม

ชื่อบทความเดิม : "กว่าจะมาเป็นขอทาน: กรณีศึกษาขอทานในจังหวัดพิษณุโลก"

สลายภาพมายาว่าด้วย “ขอทาน” เป็นคนขี้เกียจ และเป็นส่วนหนึ่ของกระบวนการค้ามนุยษ์

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การรณรงค์ของหน่วยงานเอ็นจีโอหลายแห่งในประเด็นขอทาน มักจะเป็นไปในแนวทางต่อต้านการค้ามนุษย์ มีการยกตัวอย่างกรณีลักพาตัวเด็กมาเป็นขอทาน การทำร้ายร่างกายตัดอวัยวะ และทำเป็นธุรกิจโดยการให้เด็กออกไปนั่งขอทานแล้วเอาเงินมาให้ผู้บงการ ทำให้สังคมส่วนใหญ่เข้าใจว่าขอทานมาจากการถูกบังคับ หรือการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี จากการสำรวจขอทานในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์และพูดคุยกับขอทานอย่างใกล้ชิด พบว่า ประเด็นขอทานไม่ใช่ประเด็นอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เนื่องจากขอทานในเมืองพิษณุโลก ไม่ใช่เรื่องของการค้ามนุษย์ แต่มาจากการเลือกของพวกเขาเองที่จะออกมาขอทาน เนื่องจากหมดหนทางอย่างอื่นแล้วในชีวิต

รายงานข่าวเชิงสืบสวนเป็นความพยายามที่จะบุกเบิก ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของคนที่กลายมาเป็นขอทาน เพื่อจะค้นหาคำตอบที่ซับซ้อนว่า พวกเธอเป็นใคร เดิมมีชีวิตอย่างไรและเคยทำอาชีพอะไรมาก่อนท่ามกลางการดูถูก และรังเกียจภายใต้วาทกรรมที่ว่า ขอทานเป็นคนขี้เกียจ ไร้ความสามารถ และเป็นขยะสังคม และถูกค้ามนุษย์ เหตุผลที่ผู้เขียนสนใจในเรื่องของ “ขอทาน” เพราะ จากการรณรงค์ของหน่วยงานเอ็นจีโอ และสื่อต่างๆที่มุ้งเน้นไปเพียงด้านเดียวคือขอทานมาจากแก๊งค้ามนุษย์ แทบจะไม่สื่อหรือการศึกษาในเชิงลึกเลยว่าทำไมขอทานจึงเกิดขึ้น และมาจากสาเหตุอะไร  ทั้งนี้คนส่วนใหญ่คิดว่า คนที่ออกมาขอทานถูกแก๊งค้ามนุษย์ บงการบ้าง เป็นผู้ที่มีความขี้เกียจรักสบาย แต่กลับไม่มีใครมองในปัญหาเชิงลึกเลยว่า เขามีกลไกอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายมาเป็นขอทาน เช่น การสูญเสียที่ดินทำกิน การถูกกีดกันออกจากทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาด้านการกระจายรายได้

จากการศึกษาขอทานในจังหวัดพิษณุโลกพบว่า ขอทานมาจากการเลือกที่จะเป็นขอทานเองแบบเสรีชน ไม่มีการบังคับหรือทำกันเป็นกระบวนการ ส่วนใหญ่ขอทานที่ผู้เขียนพบ เป็นขอทานที่เป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและหญิงชรา จากสถิติของขอทานในจังหวัดพิษณุโลกของสถานสงเคราะห์วังทอง ปัจจุบัน ขอทานที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์มีทั้งหมด 26 คน แบ่งเป็น ขอทานชายจำนวน 12 คน ขอทานหญิงจำนวน 14 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่19 กรกฎาคม 2557)

ขอทานที่พบในจังหวัดพิษณุโลก ส่วนหนึ่งเป็นคนในจังหวัดพิษณุโลกอยู่แล้ว อีกส่วนเป็นขอทานที่มาจากจังหวัดใกล้เคียง ขอทานจากต่างจังหวัดที่มาขอทานในเมืองพิษณุโลกที่พบบ่อย คือ ขอทานในจังหวัดพิจิตร เพราะเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองท่องเที่ยว และมีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก ส่วนใหญ่จะพบขอทานจากแหล่งท่องเที่ยว หรือในย่านเศรษฐกิจ เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) จังหวัดพิษณุโลก และตลาดต่างๆในเมืองพิษณุโลก

ความจำเป็นต้องขอทานจากความพิการทางสมอง

กุหลาบ ม่วงศรี “ยายแป้ว” อายุ 53 ปี เป็นขอทานที่เป็นคนเสียสติ ยายแป้วเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการกลายมาเป็นขอทานที่ไม่เกี่ยวกับความขี้เกียจหรือการค้ามนุษย์ เธอเป็นคนพิษณุโลกโดยกำเนิด พิการทางสมองตั้งแต่เด็ก มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน เธอเติบโตมาโดยมีแม่และญาติพี่น้องคอยดูแล ส่วนพ่อได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่เธอยังเด็ก และมีแม่คอยเลี้ยงดูเป็นหลัก แต่แม่เธอก็เสียชีวิตลงเมื่อไม่นานมานี้

เรณู ม่วงศรี หรือ “ป้าเรณู” ผู้เป็นน้องสาวได้รับผิดชอบดูแลยายแป้วเป็นหลักในปัจจุบัน มีอาชีพรับจ้างซ่อมผ้า มีรายได้พอประทังชีวิตด้วยค่าจ้างประมาณวันละ 200 บาท และเช่าบ้านอยู่ในราคา 1,500 บาทต่อเดือน

ยายแป้วเริ่มขอทานเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เพราะป้าเรณูไม่มีเงินให้ยายแป้วไปซื้อสุรา ป้าเรณูเล่าว่า เดิมทียายแป้วเป็นคนที่ติดสุรามาก เพราะเห็นคนอื่นกินแล้วจึงกินตามเขาทำให้ติดเป็นนิสัย  ทุกวันเธอจะต้องดื่มสุรา ถ้าวันไหนไม่ได้ดื่มจะอยู่ไม่ได้ เมื่อคนในครอบครัวไม่มีเงินให้ไปดื่มสุราได้ทุกวัน เธอจึงค่อยๆ ขอในละแวกแถวบ้านก่อน ตอนหลังเริ่มไม่ค่อยมีใครให้เงิน เธอก็เริ่มไปขอในตลาดจนกลายเป็นนิสัย อย่างไรก็ตามปัจจุบันเธอได้เลิกดื่มสุราแล้วมานานนับปี เพราะป่วยเป็นตับแข็ง เคยเกือบเสียชีวิตมาแล้วครั้งหนึ่ง และช่วงหลังๆ ได้เปลี่ยนมาสูบบุหรี่แทน

ยายแป้วไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นขอทาน เธอจะบอกกับตัวเองและคนอื่นเสมอว่า “แป้วไม่ได้เป็นขอทาน แป้วมาเดินเก็บค่าที่” สาเหตุที่คิดอย่างนี้ เพราะ เธอเชื่อฝังใจเสมอว่าคนที่ขอทาน คือคนที่นั่งขอ แต่เธอไม่ได้นั่งขอทาน เธอเดินขอทาน ถ้ามีคนให้เงินเธอจะเอาใบนางกวักที่เก็บมาจากหน้าบ้านให้เพื่อเป็นการตอบแทน

ยายแป้วตื่นเช้ามาต้องออกไปขอทานตามที่ต่างๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็นโดยในแต่ละวัน ป้าเรณูจะออกไปส่ง บางครั้งยายแป้วก็จ้างให้คนแถวนั้นออกไปส่งโดยจ้างครั้งละ 30 บาท บางครั้งก็ถูกโกงเงินค่ารถ เธอขอทานได้ประมาณวันละ 200-300 บาท แต่เงินส่วนใหญ่ก็หมดไปกับค่ารถที่ต้องจ่ายราววันละ 100 บาท  เพราะยายแป้วจะขอทานประมาณ 3 ที่ ในบ้างครั้งที่ยายแป้วอยากจะกลับบ้านก็จะวานให้คนแถวนั้นโทรศัพท์หาป้าเรณู เพื่อมารับกลับบ้าน

ในระหว่างการขอทาน ผู้เขียนได้สังเกตว่าเธอจะมีอารมณ์ร่าเริงสดใส และตะโกนทักทายผู้คนไปทั่วในระหว่างการขอทาน แต่ถ้ามีใครพูดถึงเรื่องสถานสงเคราะห์ เธอจะเกิดอาการหวาดระแวงทันที ป้าเรณูเล่าว่า ยายแป้วเคยถูกตำรวจจับไปส่งที่สถานสงเคราะห์ 3-4 ครั้งแล้ว สาเหตุที่เธอไม่อยากไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์ เพราะเธอคิดเสมอว่าคนที่ไปอยู่ในสถานสงเคราะห์คือ คนบ้า หรือมีแต่คนบ้าเต็มไปหมด เธอบอกว่าเธอไม่ใช่คนบ้าจะให้ไปอยู่ในนั้นได้อย่างไร  ถ้าให้ไปอยู่ในนั้นเดี๋ยวก็บ้าเหมือนกันไปหมด นอกจากนั้นเธอยังเคยถูกทำร้าย ทั้งถูกขโมยเงินไป ทั้งเคยถูกลากไปข่มขืนจนท้อง และต้องทำแท้งในภายหลัง แต่เธอก็ยังคงออกมาขอทานตามถนนดังในปัจจุบัน

ป้าเรณูมองว่า แม้ยายแป้วจะเป็นคนที่พิการทางสมองตั้งแต่เด็ก มีอาการทางจิตมาตั้งแต่เกิด  แต่เธอก็ไม่เคยทำให้ตัวเองเป็นภาระของญาติพี่น้อง แม้ต้องอาศัยอยู่กับน้องสาว แต่ก็ได้ช่วยน้องสาวออกค่าน้ำ ค่าไฟเป็นบางครั้ง

ภาพบ้านเช่าของยายแป๋ว

อีกกรณีหนึ่งที่การขอทานถูกผลักดันจากความยากจน และอาการป่วยทางร่างกายในช่วงวัยสูงอายุคือ น้ำผึ้ง ขันทิพย์  หรือ “ยายน้ำผึ้ง” อายุ 74 ปี เธอเป็นอัลไซเมอร์ในช่วงท้ายของชีวิต หลังจากที่ผ่านการทำอาชีพมาแล้วมากมาย เธอเคยมีสามีทั้งหมด 4 คน สามีคนแรก เป็นทหาร มีลูกด้วยกันหนึ่งคน พอเลิกกับสามีคนแรก เธอไปทำงานค้าขายอยู่ที่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และเจอกับสามีคนที่สอง ซึ่งมีอาชีพค้าขายเหมือนกัน อยู่กินด้วยกันมีลูกชายหนึ่งคน และไปรับลูกบุญธรรมมาอีกหนึ่งคนเป็นผู้หญิง พอเลิกกับสามีคนที่สอง เธอก็เจอสามีคนที่สามซึ่งมีอาชีพเป็น “แมงดา” ฉายา “ป๋าเปียก” และพากันย้ายไปอยู่ที่ จังหวัดปราจีนบุรี แล้วยายน้ำผึ้งก็เปลี่ยนตัวเองมาเป็นแม่เล้า พอเลิกกับสามีคนที่สาม ก็เจอกันสามีคนที่สี่ ผู้คนเรียกว่า “ตาทม” ซึ่งเป็นแมงดาแถบปราจีนบุรีเหมือนกัน ตอนหลังยายน้ำผึ้งก็เลิกกับสามีคนที่สี่ แล้วกลับไปอยู่กับลูกชายและลูกบุญธรรม และได้ทำมาหากินด้วยการปิ้งไก่ค้าขายแถวซ่องในเมือง

หลังจากนั้น เมื่อเธอเริ่มป่วยเป็นอัมพฤกษ์และอัลไซเมอร์เมื่ออายุได้ราว 60 ปี เธอตัดสินใจออกมาอยู่บ้านเช่าที่เป็นกระท่อมไม้หลังเล็กๆ คนเดียว โดยมีลูกสาวจากสามีคนแรกช่วยดูแล เมื่ออาการป่วยของยายน้ำผึ้งดีขึ้น เธอก็ไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ จึงเริ่มออกมาขอทานในตลาดทุกๆ เช้าโดยนั่งสามล้อ โดยจ้างสามล้อไปรับไปส่ง ครั้งละ 30 บาท

ป้าเตือน ลูกสาวของยายน้ำผึ้งกล่าวว่า ไม่มีใครในครอบครัวมาดูแลแม่มากนัก แม้เธอจะไม่อยากให้แม่ออกไปขอทาน แต่ก็เข้าใจว่าการออกไปขอทานทำให้แม่ได้ออกไปข้างนอก และไปเจอผู้คนบ้าง

ยายน้ำผึ้ง เป็นคนที่สู้ชีวิตมาตลอด จนกระทั่งเป็นอัลไซเมอร์ อยู่บ้านคนเดียวไม่ได้จึงกลายมาเป็นขอทาน ความจริงแล้วเธอไม่ต้องออกมานั่งขอทานก็ได้ เพราะบ้านของเธอก็มีอยู่ ทีวีก็มีดู เสื้อผ้ามีใส่ อาหารไม่ขาดแคลน แต่ด้วยความแก่ชราด้วยเป็นอัมพฤกษ์และอัลไซเมอร์ จึงไม่สามารถไปทำอาชีพอื่นใดได้ อีกท่านลูกหลานก็ไม่ได้มาดูแล จึงทำให้เธอกลายมาเป็นขอทาน ทั้งๆ ที่ผ่านการประกอบอาชีพมาแล้วตลอดชีวิต

ภาพบ้านของยายน้ำผึ้ง

ยายน้ำผึ้ง

ดิ้นรนสุดฤทธิ์ ในการหาดำรงชีพบนการกีดกัน

กรณีถัดมาในจังหวัดพิษณุโลก คือ จำนง วงศ์สาหร่าย หรือ  “ยายจำนง” ถูกโกงที่ดินตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงไม่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เธอได้ดิ้นรนหาทางเลือกต่างๆในการดำรงชีวิต จนกระทั่งตาบอด และไม่สามารถทำอะไรได้มากแล้วหลังจากนั้น

เนื่องจากครอบครัวของเธอไม่มีที่ดินทำกิน จึงต้องเช่าที่ปลูกบ้านเช่าแถวแยกประตูมอญในเมืองพิษณุโลก เมื่อถูกไล่ที่ ยายจำนงก็ต้องรื้อออก และย้ายที่อยู่ใหม่ไปเรื่อยๆ อีกสามครั้ง ครั้งสุดท้าย ครั้งที่ห้า เจ้าของที่เกิดความสงสารจึงให้อาศัยโดยไม่คิดเงิน

เธอเล่าว่า เดิมทีนั้น รับจ้างทำงานทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นล้างจาน ขัดสวมวัด แล้วก็มาเป็นแม่ค้าทำขนมไทย หรือรับของมาขายอีกต่อหนึ่ง

ยายจำนง มีลูกทั้ง 5 คน เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน เหลือ 3 คน ลูกคนที่หนึ่งมีอาชีพรับจ้างเล่นระนาดตามงานต่างๆ บางครั้งก็ได้เงินบ้าง บ้างครั้งก็ไม่ได้เงิน ลูกคนที่สอง เป็นผู้หญิง ยายจำนงเล่าว่า เมื่อได้แต่งงานไปมีครอบครัวแล้วลูกสาวคนนี้ก็ไม่เคยกลับมาเยี่ยมบ้านเลยแม้สักครั้ง ส่วนลูกคนที่สาม คนนี้ชื่อ ติ่ง มีอาการป่วยทางจิตมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากตอนเด็กไปเจอกลุ่มวัยรุ่นแกล้ง แล้วทำให้ตกใจ ติ่งกลัวจนเสียสติส่งผลให้กลายมาเป็นคนเสียสติจนถึงทุกวันนี้ ตอนนี้ติ่งอายุ 30 ปี ติ่งจะมีอาการบ้าคลั่งตลอดเวลา และตาบอดเห็นแต่แสงรางๆ

ปัจจุบันยายจำนงจึงต้องออกไปขอทานทุกวันในตอนเช้าออกไปขอทานประมาณ หกโมงเช้า และกลับบ้านราวๆ แปดโมงเช้า ยายบอกโดยเฉลี่ยขอทานได้บางวัน 100 บาท บางวันก็ได้ไม่ถึง 100 บาท เพราะยายไปขอทานแค่ที่เดียว เพราะต้องรีบกลับมาดูแลเรื่องอาหารเช้าให้ติ่ง ลูกชายที่เสียสติ ถ้าติ่งหิวข้าวจะคลั่งหนักทำให้ไปรบกวนเพื่อนบ้าน ยายจำนงมีพี่สาวอีกหนึ่งคนชื่อจำเนียร วงศ์สาหร่าย มีอาการป่วยเดินไม่ได้

“ถ้าดิฉันมีที่ดินก็คงไม่จนกันอย่างงี้หรอก ตั้งแต่เกิดมาโดนไล่ที่มาแล้ว 5 ครั้ง พอจะลืมตาอ้าปากได้ ก็โดนไล่ ที่เป็นแบบนี้ไม่ใช่ว่าขี้เกียจ แต่สู้ชีวิตกันมาจนไม่รู้จะสู้ยังไงแล้ว ทำงานทุกอย่างรับจ้างเอย ขายของเอย เก็บผักบุ้งตามนามาขายบ้าง เมื่อก่อนผักบุ้งมันกำละแค่ สลึงเดียว ไม่ใช่ว่าแพงมาก แล้วต้องเลี้ยงคนในครอบครัวอีก ถ้าดิฉันมีที่ดินนะ ไม่จน อย่างไงก็ไม่จน เพราะมีที่ดินยังมีบ้าน ยังมีที่ปลูกผัก ถ้าไม่ทำอะไร ปลูกผักขายยังได้เลย” ยายจำเนียรกล่าว

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่ว่ายายจำนงถูกโกงที่ดินแล้วจะมาเป็นขอทานเลย ถูกไล่ที่ดินมาแล้ว 5 ครั้ง เขายังต่อสู้ชีวิตมาเรื่อยๆ ตอนหลังสู้ไม่ไหว เพราะตัวเองมาพิการทางสายตา และด้วยอายุเริ่มมากขึ้น ส่งผลให้ทำงานไม่ได้ และมีภาระที่ต้องเลี้ยงดู 2 ชีวิต คือ ลูกชายที่พิการสมองและพิการทางสายตา และพี่สาวที่เดินไม่ได้ เพราะป่วยเป็นอัมพฤกษ์ และตาเริ่มมองไม่ค่อยเห็น

ภาพยายจำนง

ภาพยายจำนง กับติ่ง

กรณีสุดท้ายที่ผู้เขียนได้ลงไปเก็บข้อมูลอย่างใกล้ชิด คือ กำพร้า อ่านคำเพชร หรือ “ยายกำพร้า” ปัจจุบันอายุ 84 ปี และมีอาการทางจิต ก่อนที่จะมาเป็นขอทาน ยายกำพร้าเป็นเกษตรกรและรับจ้างเกี่ยวข้าวมาก่อน เดิมทีมีไร่มีนา เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย และทำนา พอเลิกกับสามี ครอบครัวจึงแตกสลาย ยายกำพร้ามีลูก 3 คน

ต่อมาน้องชายของยายกำพร้าได้นำที่ดินไปขายเพื่อเอาเงินไปทำงานเป็นแรงงานที่เวียดนาม จากนั้นไม่นาน เธอก็เริ่มมีอาการทางจิตที่เกิดจากความเครียดอยู่ๆก็นั่งหัวเราะ บางทีอยู่ๆ ก็ร้องไห้ บางทีก็เอามีดไล่ฟันคนอื่น ตอนหลังลูกสาวของยายกำพร้าเห็นแล้วสงสารแม่ จึงเอามาอาศัยอยู่ด้วยเพื่อจะได้ดูแล อย่างไรก็ตาม อาการก็ยังคงหนักขึ้น จึงส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ เมื่ออาการดีขึ้นจึงกลับมาอยู่บ้านอีกครั้ง ตอนนั้นยายกำพร้ายังรับจ้างเกี่ยวข้าวได้ จนอายุประมาณ 60 กว่า แต่เมื่อเทคโนโลยีถูกนำมาช่วยในการเกี่ยวข้าวมากขึ้น ทำให้เธอไม่มีงาน และได้กลายมาเป็นขอทานในตลาดจากนั้นมา

“หลังจากที่ไม่มีงานทำ แม่เขาก็เลยรับเอาพวกกล้วยที่อยู่ในสวนกับผักบุ้งไปขายในตลาด พอมีคนเห็นแกไปนั่งขายของอยู่คนเดียวก็มีแต่คนสงสาร เริ่มแรกให้เงินเกินบ้าง ให้เงินและไม่เอาของบ้าง จนกระทั่งมีคนพูดว่า ไม่ต้องเอาของมาขายแล้วก็ได้ มานั่งเฉยๆ เดี๋ยวก็มีคนให้ หลังจากนั้นยายกำพร้าเลยไปนั่งขอทานตั้งแต่นั้น” ลูกสาวของยายกำพร้ากล่าว

ยายกำพร้า กับลูกสาว

จากทั้ง 4 กรณี ทำให้เราได้เห็นปัจจัยที่สำคัญในการกลายมาเป็นขอทานในจังหวัดพิษณุโลก คือ 1.ทั้งสี่กรณีล้วนแต่เป็นหญิงชรา ซึ่งประสบอาการเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาการตาบอด ป่วยทางจิต หรืออัลไซเมอร์ 2.ทุกคนล้วนผ่านการขยันขันแข็งและการสู้ชีวิตมาทุกรูปแบบ 3.ต่างขาดแคลนทรัพยากร ที่สำคัญคือที่ดิน 4.แต่ละคนต่างมีสมาชิกครอบครัวที่ต้องช่วยเหลือดูแล 5.เลือกที่จะออกมาขอทานเอง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าขอทานซึ่งเป็นคนขี้เกียจ งอมืองอเท้า จึงเป็นแค่มายาภาพ และคำกล่าวที่ว่าขอทานเป็นเครื่องมือของกระบวนการค้ามนุษย์จึงอาจ “เหมารวม” ขอทานไปโดยปริยาย

ขอทาน บนโครงสร้างความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาประเทศ

ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ทำให้มีคนจนจำนวนมาก เฉลี่ยร้อยละ 13.15 (8.8 ล้านคน)ทำให้มีประชากรอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ จึงทำให้ยังมีประชากรอีกหลายชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มาเป็นขอทาน

“ขอทาน” เป็นวาทกรรมอันเป็นผลผลิตของแนวคิดการพัฒนาที่แตกต่างกัน และเป็นผลผลิตของยุคสมัยที่แตกต่างกัน จากแนวคิดการพัฒนากระแสหลัก มองว่าขอทานเป็นผลผลิตของการขาดความรู้ความสามารถ รวมถึงความขี้เกียจในการปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรีได้ ดังนั้นคนที่ไม่มีความรู้ ความสามารถ ทั้งนี้เชื่อว่าขอทาน คนไร้บ้านเป็นความบกพร่องของปัจเจก ในมุมมองแบบนี้ขอทานจึงเป็นคนที่ขี้เกียจ

เป็นไปได้หรือไม่ หากจะมองว่าคนยากจนเกิดจากการพัฒนาบนความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเกิดจากการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงของมนุษย์ ทำให้ประชาชนประสบกับความยากจน การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ทำให้คนจำนวนหนึ่งถูกกีดกันออกจากทรัพยากร ขอทาน จึงเป็นผลผลิตของการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม

อดีตผู้อำนวยการสถานสงเคราะห์เด็กและคนไร้ที่พึ่ง กระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ไม่ประสงค์ออกนาม) ให้ความคิดเห็นว่า ขอทานเกิดจาก ความบกพร่องของโครงสร้างของการพัฒนาประเทศที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งถูกกีดกันออกจากทรัพยากรทำให้สูญเสียที่ดินทำกิน อาจจะเกิดจากการแปลงที่ดินให้เป็นสินค้า จนเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การที่คนส่วนใหญ่คิดว่าขอทานเป็นความบกพร่องของปัจเจก เลยทำให้คนหลงลืมปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาของการกระจายรายได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ของการแย่งชิงทรัพยากร

ในขณะเดียวกัน รศ.สุทธิชัย ยังสุข อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มองว่าขอทานเกิดจากความบกพร่องของปัจเจกบุคคล ไม่มีความสามารถในการดำรงชีพ หรือเกิดความแตกแยกในครอบครัวที่ไม่สามารถดูแลกันได้

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ผู้หนึ่งที่ทำงานคลุกคลีในประเด็นดังกล่าว เห็นตรงกันกับกรณีศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก โดยเขามองว่า ขอทานที่พบในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการออกมาขอทานเองแบบเสรีชนมากกว่าการค้ามนุษย์ แต่ถ้ามีแก๊งค้ามนุษย์เกิดขึ้น จะพบในกลุ่มของการค้าประเวณี สำหรับเขาเอง ไม่เคยพบขอทานที่เป็นแก๊งค้ามนุษย์ในจังหวัดพิษณุโลก

สังคมไทยในประวัติศาสตร์มองขอทาน

ในอดีต เมื่อประมาณ 200 กว่าปี ขอทานจัดอยู่ในพวกเดียวกับคนพิการ ผู้สูงอายุ คนบ้า จากค้นพบหลักฐานขอทานครั้งแรกในกฎหมายตราสามดวง ในส่วนพระไอยการลักษณรับฟ้อง พบว่ารัฐไทยไม่ให้สิทธิกับกลุ่มคนวิกลจริต พิการ และขอทาน ในการเรียกร้องหรือเป็นพยานด้านกฎหมาย

“...ประกาศพระราชบัญญัติ ศุภมัศดุ ๑๘๙๙  ห้ามมิให้รับฟ้องไว้บังคับบันชานั้น มีในหลักอินทพาธ ๗ [จำพวก] คือคนพิกลจริตบ้าใบ้ ๑ คน เสียจักษุทังสองข้างมิได้เหน ๑ คนเสียหูทังสองข้างมิได้ยิน ๑ เปนง่อยเปลี้ยเดิรไปมามิได้ ๑ เปนคนกยาจกถือกระเบื้องกะลาขอทาน ๑ เปนคนสูงอายุศมหลงใหล ๑ เดกต่ำอายุศมเอาถ้อยคำมิได้ ๑ เป็น ๗ จำพวก คน ๗ จำพวกนี้ถ้ามาฟ้องร้องเรียน อย่าเพ่อฟังก่อน ให้เปนตระลาการไต่สวนผู้เปนสักขิญานรู้เหน ถ้าสมดั่งมันกล่าวจริง จึ่งให้รับไว้บังคับบันชาโดยกล่าว ถ้าหมีสม ท่านว่าอย่าให้รับคดีนั้นไว้บังคับบันชาเลย”

หลักฐานชิ้นแรกของไทยมองว่าขอทานจัดอยู่ในประเภทกลุ่มวิกลจริต อย่างไรก็ตามนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่าขอทานจริงๆแล้วเป็นเรื่องของการตอบแทนกันในสังคม จากความเชื่อบาปบุญคุณโทษ ซึ่งคนให้ทานจะได้บุญตอบแทน

ถ้าถือขอทานเป็นอาชีพ ก็ยังเป็นอาชีพที่บริสุทธิ์กว่าอาชีพอื่น เพราะไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นหรือเบียดเบียนน้อยที่สุด ดังนั้นขอทานจึงเป็นอาชีพของนักบวชของเกือบทุกศาสนาของเอเชีย

ในประเด็นศาสนา ความหมายของขอทานยังรวมถึงไปถึงพระหรือเณร “ภิกษุ” แปลว่าเป็นผู้ขอ ดังที่ในพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้ว่า พระที่จริงแล้วก็คือผู้ขอ แต่พระขอในนามของศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้คิดว่า การขอทาน คือ ความบกพร่องในการพัฒนา แต่เป็นเรื่องของศีลธรรม ให้และรับ หรือ การพึ่งพาอาศัยกันของคนในสังคม เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธจึงเชื่อในเรื่องของการทำบุญ ทำทาน ทั้งนี้ในแง่ของเวลาและสิ่งของที่ตอบแทนกลับ นั้นคือ “บุญ” ที่ได้รับกลับไปหรือ “ตั๋ว” ขึ้นสวรรค์ เป็นต้น

ฉะนั้นขอทานในอดีต จึงเป็นสถาบันของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขอทานไม่ใช่ความบกพร่องของปัจเจก ดังที่กระบวนทัศน์การพัฒนาของการพัฒนาสมัยใหม่มอง และไม่ใช่เหยื่อของโครงสร้าง แต่กลับกลายเป็นตัวแสดงตัวสำคัญ ในโครงสร้างความสัมพันธ์ต่างตอบแทน ดังที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวว่าขอทานเป็นเรื่องของสังคมที่จะสะท้อนการที่คนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

การกวาดล้างขอทานของรัฐไทยยุคแรก

รัฐบาลในยุคของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการควบคุมขอทานขึ้นเป็นครั้งแรก จะเห็นได้จาก พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช 2484 ห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทาน ในมาตรา 6 ระบุไว้ว่าการขอทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิได้ทำงานอย่างใด หรือให้ทรัพย์สินใดตอบแทน และมิใช่เป็นการขอกันในฐานญาติมิตรนั้น ให้ถือว่าเป็นการขอทาน การขับร้อง การดีดสีตีเป่า การแสดงการเล่นต่างๆ หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันนั้น เมื่อมิได้มีข้อตกลงโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเรียกเก็บค่าฟังค่าดู แต่ขอรับทรัพย์สินตามแต่ผู้ฟังผู้ดูจะสมัครใจให้นั้น ไม่รับฟังเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้ทำการขอทานตามบทบัญญัติ และในมาตรา 7 ได้ระบุไว้ว่า เมื่อปรากฏจากการสอบสวนว่า ผู้ใดทำการขอทาน และผู้นั้นเป็นคนชราภาพหรือเป็นคนวิกลจริต พิการ หรือเป็นคนมีโรค ซึ่งเป็นคนมีโรค ซึ่งไม่สามารถประกอบการอาชีพอย่างใด และไม่มีทางเลี้ยงชีพอย่างอื่น ทั้งไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดู ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์

จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484 นี้ได้สะท้อนให้เห็นภาพความพยายามของรัฐในการจัดระเบียบกับผู้ทำการขอทาน ด้วยวิธีการ “กำจัด” ออกไปจากพื้นที่ทางสังคมและ “จำกัด” พื้นที่การใช้ชีวิตให้อยู่ได้เพียงในสถานสงเคราะห์ต่อมาในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ ต้องการพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัย หลังจากรัฐประหาร พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ได้ออกคำสั่งว่าอันธพาลในเขตพระนครต้องถูกจับกุมและนำมาอบรม รวมถึงโสเภณี คนขี่สามล้อ และขจัดขอทาน เพื่อให้เกิดความสะอาดและความสวยงามของบ้านเมือง ตามทัศนะคติของ จอมพลสฤษดิ์

จะเห็นว่า เมื่อมองการขอทานผ่านมุมมองของพระพุทธศาสนา จะเป็นเรื่องของการให้และรับ แต่เมื่อรัฐได้ก้าวเข้าสู่รัฐสมัยใหม่มากขึ้นทำให้เกิดความต้องการที่จะจัดระเบียบสังคม นำมาสู่ความเข้มงวด จึงได้มีคำสั่งให้ขจัดขอทานออกจากพื้นที่ในเมืองหลวง

ไม่ว่าขอทานจะเป็นเรื่องกระบวนการค้ามนุษย์ หรือเป็นเรื่องของความขี้เกียจ หรือเป็นผลผลิตของโครงสร้างที่กีดกันเอารัดเอาเปรียบ ปรากฏการณ์ประเด็นของขอทานเป็นไปในด้านหนึ่งด้านใด การที่จะมาเป็นขอทานไม่ได้มาจากความขี้เกียจเพียงอย่างเดียว หากแต่มันมาจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การขาดแคลนทรัพยากร เช่น ที่ดิน การศึกษา การไม่มีสวัสดิการสังคมที่ดีพอมารองรับ หรือการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม เป็นต้น

ถึงแม้ในปัจจุบันมีหน่วยงานจากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในกลุ่มของคนเร่รอน ขอทาน และคนไร้ที่พึ่ง การสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 11 แห่ง ทั่วประเทศแล้ว  ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่อยากเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ ถึงแม้ในสถานสงเคราะห์จะมีบริการด้านปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม ผู้เขียนเคยมีโอกาสไปสัมภาษณ์คนที่เคยอยู่ในสถานสงเคราะห์ เขาบอกว่าไม่อยากเข้าไปอยู่ในนั้น เพราะเขารู้สึกว่าต้องสูญเสียอิสระ เขาเป็นคนที่ชอบเที่ยวมีความสุขในแบบนี้มากกว่าการที่อยู่ในกฎระเบียบ และต้องไปเจอกับคนที่เสียสติเป็นส่วนใหญ่ อีกอย่างเขายังมีครอบครัวที่คอยดูแลช่วยเหลือ หรือบางคนที่เขาไม่อยากอยู่ก็หนีออกจากสถานสงเคราะห์ก็มี

ผู้เขียนคิดว่าคนที่ควรจะเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ คือ คนที่ไม่มีญาติพี่น้อง หรือญาติพี่น้องปฏิเสธไม่ดูแล รวมถึงคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การที่จะเอาคนเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ควรเป็นวิธีสุดท้าย หรือเอาคนเร่รอน ขอทาน คนไร้ที่พึ่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์แล้วฝึกอาชีพ สอนทักษะการใช้ชีวิตภายนอกแล้วปล่อยให้เขาออกมาใช้ชีวิตรอบนอกเพื่อให้พวกเขาอยู่ในสังคมได้ และคนที่เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก็ควรที่จะให้เขาพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของรัฐที่จะเอาเงินงบประมาณจำนวนมากมาแบกรับคนที่อยู่ในสถานสงเคราะห์

รัฐควรที่จะมาแก้ไขการขอทานจากรากเหล้าของปัญหาความยากจน และปัญหาการกระจายรายได้ ควรลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่คนจำนวนหนึ่งถูกกีดกันออกจากทรัพยากร โดยมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ด้วยการให้การศึกษาอย่างทั่วถึง ซึ่งต้องเป็นการศึกษาที่มีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ทั้งเด็กต่างจังหวัดและเด็กในเมือง รวมไปถึงคุณภาพครูผู้สอน สถานที่ ตำราเรียน ฯลฯ ซึ่งในระยะยาวแล้วการศึกษาจะเป็นตัวที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะหากทุกคนได้รับการศึกษาก็จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ ทำให้ทุกคนมีรายได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดช่องว่างระหว่างรายได้คนจนกับคนรวยได้

นอกจากนี้ ยังควรปรับปรุงระบบภาษี ในปัจจุบันประเทศไทย มีการเก็บภาษีตามฐานภาษีคือ การเก็บภาษีจากฐานของรายได้ การเก็บภาษีจากฐานการบริโภค ซึ่งการเก็บภาษีจากทั้ง 2 ฐานนี้อาจจะไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยได้ เนื่องจากหากพิจารณาจากสัดส่วนของการบริโภคต่อรายได้ ของคนจนนั้นมากกว่าคนรวย เพราะคนจนต้องใช้เงินในการบริโภคสูงเมื่อเทียบกับรายได้เนื่องจากไม่มีเงินออม หากรัฐบาลทำการขึ้นภาษีชนิดนี้ จาก 7% ไปเป็น 10% ในปีงบประมาณ 2558 ผู้ที่ได้รับภาระมากที่สุดคือคนจน ซึ่งจะไม่ได้ช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำแล้วยังจะเป็นการซ้ำเติมคนจนอีกด้วย

แต่ก็ยังมีภาษีอีกชนิดหนึ่งที่ประเทศไทยไม่ได้นำมาเก็บ นั่นก็คือ การเก็บภาษีจากฐานความมั่งคั่ง เป็นการเก็บภาษีจากความมั่งคั่งที่มีอยู่โดยใช้ บ้าน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ เป็นตัววัดผ่านการประมาณเมินค่า ซึ่งการเก็บภาษีชนิดนี้จะสามารถสะท้อนความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวยได้ดี การเก็บภาษีจึงจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้จากคนรวยไปยังคนจนได้

ที่สำคัญ การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ รัฐจำเป็นต้องให้ประชาชนคนจนได้รับการรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐาน มีคุณภาพ รวมไปถึงการเข้าถึงตัวยาที่ดีที่ใช้ในการรักษา

ผลของการพัฒนาประเทศ ทำให้มีคนจนเป็นจำนวนมาก ส่งให้มีประชากรบางส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ เราจะพบว่าคนยากจนเกิดจากการพัฒนาบนความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม  จึงทำให้ยังมีประชากรอีกหลายชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายมาเป็นขอทาน  ซึ่งขอทานที่พบในจังหวัดพิษณุโลกส่วนหนึ่งมาจากการถูกกีดกันออกจากทรัพยากร สูญเสียที่ดินทำกินทำให้พวกเธอต้องกลายมาเป็นขอทาน แต่จากการรณรงค์ของหน่วยงานเอ็นจีโอ ขอทานจะเป็นเรื่องของการค้ามนุษย์  อย่างไรก็ดีไม่ว่าขอทานจะเป็นเรื่องของการค้ามนุษย์ หรือเป็นเรื่องของความขี้เกียจ หรือเป็นผลผลิตของโครงสร้างที่กีดกันเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม สำหรับผู้เขียนแล้ว การที่คนจะเปลี่ยนชีวิตให้กลายมาเป็นขอทานไม่ได้ ไปในด้านหนึ่งด้านใด แต่มีปัจจัยหลายๆอย่างที่ทำให้พวกเธอต้องกลายมาเป็นขอทาน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ ศาสตร์. 2548. พิมพ์ครั้งที่ 2.

ธรรมะไทย, เวสสันดรชาดก. [ออนไลน์].เข้าถึงจาก : http://www.dhammathai.org/chadok/legend10.php). (วันที่ค้นข้อมูล : 15 มิถุนายน 2557)

พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช ๒๔๘๔

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2556. ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม 2556

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน. (2551). เสียงสะท้อนถึง “พ.ร.บ. คนขอทาน พ.ศ. ..., ใน จดหมายข่าวการเมือง เรื่องคนพิการ.

ฉบับที่ 13 ตุลาคม-พฤศจิกายน 2551 ปี 2.

 

ณัฐนรี โค้ววรรณศรี ผู้เขียน เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร

รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการทุนเพื่อทำข่าวสืบสวนสอบสวน กลุ่มเยาวชน มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net