3 กลุ่มชาติพันธุ์ขู่ไม่ยอมรับสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ หากรัฐบาลพม่าไม่ยอมรับสถานะ

ประชุมกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เมืองปางซาง เขตว้า - กองทัพตะอาง อาระกัน และโกก้าง ขู่ว่าจะไม่ยอมรับสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐบาลพม่าไม่ยอมรับสถานะ ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องทางการเมือง รวมทั้งยังคงปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ ขณะที่ผู้นำกองทัพสหรัฐว้าระบุจะลงนามสัญญาหยุดยิงได้ ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ร่างสมัยรัฐบาลทหาร

กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) สวนสนามเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีการก่อตั้งกองทัพ เมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา ทั้งนี้กองทัพอาระกันเป็น 1 ใน 3 กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงปะทะกับกองทัพพม่า ล่าสุดในการประชุมกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปางซาง เขตปกครองของกองทัพสหรัฐว้า ทั้งกองทัพอาระกัน กองทัพตะอาง และกองทัพโกก้างขู่ว่าจะไม่ร่วมลงนามสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ หากรัฐบาลพม่ายังไม่ยอมรับสถานะของกลุ่ม รวมทั้งยังปฏิบัติการทางทหารต่อต้านกลุ่มของพวกเขา (ที่มา: แฟ้มภาพ/YouTube/Rakhine Tatmataw)

 

6 พ.ค. 2558 - ในการประชุมของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ที่เมืองปางซาง เขตปกครองพิเศษของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค. นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค. สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่า กลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ซึ่งกำลังต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลพม่า ขู่ว่าจะปฏิเสธร่างเบื้องต้นของข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐบาลพม่าไม่ยอมรับข้อเรียกร้องทางการเมืองของพวกเขา รวมทั้งดำเนินการทางทหารต่อต้านพวกเขา

ท่าทีของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็ก 3 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta’ang National Liberation Army - TNLA) หรือดาระอั้ง กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) และกองทัพโกก้าง (Myanmar Democratic Alliance Army - MNDAA) ไม่เพียงสร้างความซับซ้อนให้กับการเข้าร่วมในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังสร้างความซับซ้อนให้กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกำลังเข้มแข็งอย่าง กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army - UWSA) ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลพม่าให้นับรวมกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในกระบวนการหยุดยิง

ตะบองจ่อ เลขาธิการของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) กล่าวในที่ประชุมของผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปางซางเมื่อวันจันทร์ (4 พ.ค.) ว่า กองกำลังของชาวตะอาง เชื่อว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การลงนามสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศจะไม่มีประโยชน์กับกลุ่ม

"มีปัญหาหลายประการในร่าง (สัญญาหยุดยิง) ผู้แทนจากทั้ง NCCT และ UWPC ลงนามในร่างสัญญาเบื้องต้น แต่ว่ามีหลายข้อในร่างที่เราไม่สามารถเห็นชอบได้" ตะบองจ่อ กล่าวกับผู้สื่อข่าวอิระวดี

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 มี.ค. คณะประสานงานการหยุดยิงทั่วประเทศ (NCCT) ของกลุ่มชาติพันธุ์ 16 กลุ่ม เห็นชอบในหลักการร่วมกับ คณะทำงานสันติภาพระดับสหภาพ (UPWC) ของรัฐบาลพม่า ในการร่างเนื้อหาสำหรับข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ

รัฐบาลกล่าวว่ามีความกระตือรือล้นที่จะลงนามในสัญญา อย่างไรก็ตาม คณะประสานงานการหยุดยิงทั่วประเทศ (NCCT) กล่าวว่า พวกเขาต้องนำเนื้อหาไปทบทวนกับผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์เสียก่อน

ในขณะที่ กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) เป็นผู้จัดการประชุมที่ปางซาง เมืองหลวงของเขตปกครองพิเศษว้า ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค. โดยเชิญผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งที่เป็นสมาชิกกลุ่ม NCCT และกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมาชิก NCCT เพื่อหารือเกี่ยวกับร่างสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศที่ได้มีการนำเสนอ

ตะบองจ่อ กล่าวในที่ประชุมว่า รัฐบาลพม่าพยายามแบ่งแยกกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยการปฏิเสธไม่ยอมรับสถานะของกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม คือดาระอั้ง อาระกัน และโกก้าง รวมทั้งยังคงปฏิบัติการทางทหาร ในขณะที่นับร่วมกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เข้าไว้ในสัญญาหยุดยิงระหว่างประเทศ

"รัฐบาลไม่ยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ที่เข้าร่วมการประชุมหารือทางการเมือง แม้ว่าพวกเขาจะต้องการลงนามในสัญญาหยุดยิง สิ่งนี้เป็นที่แน่ชัดว่า พวกเขาพยายามที่จะแบ่งแยกพันธมิตรระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งนี้เป็นเรื่องอันตรายมาก" ตะบองจ่อ กล่าว

ขณะที่ พลจัตวา ทุนเมียตหน่าย ผู้บัญชาการกองทัพอาระกัน (AA) กล่าวในที่ประชุมว่า ไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะสนับสนุนสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศนี้ ถ้ารัฐบาลพม่าปฏิเสธที่ยอมรับข้อเรียกร้องทางการเมืองของทางกลุ่ม แถมยังคงมีปฏิบัติการทางทหารต่อต้านกลุ่ม

"พวกเขา (กองทัพรัฐบาลพม่า) ต่อสู้กับกลุ่มของเรา รวมทั้งประชาชนชาวดาระอั้ง โกก้าง และอาระกัน พวกเขาตัดทางส่งความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย พวกเราไม่มีทั้งน้ำทั้งอาหาร สถานการณ์ขณะนี้ส่งผลกระทบต่อการเจรจาสันติภาพของพวกเรา" พลจัตวา ทุนเมียตหน่าย กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า ต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่าปี 2008 ซึ่งน่าจะทำให้มีส่วนสนับสนุนให้กระบวนการหยุดยิงทั่วประเทศประสบความสำเร็จ

สำนักข่าวอิระวดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กองทัพอาระกันเป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดเล็กในพื้นที่รัฐอาระกัน ทางตะวันตกของพม่า อย่างไรก็ตามได้เข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในพื้นที่ด้านเหนือของพม่า และในรอบไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พยายามที่จะแทรกซึมจากพื้นที่ตอนเหนือของพม่ากลับเข้าไปในปฏิบัติการในรัฐอาระกัน และมีการปะทะกับกองทัพพม่า ซึ่งทำให้มีพลเรือนหลายร้อยคนต้องอพยพ และมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน

ส่วนกองกำลังโกก้าง หรือ MNDAA ได้ต่อสู้กับกองทัพพม่ารอบใหม่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ในพื้นที่อำเภอเหลากาย ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ติดกับชายแดนจีน ขณะที่กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ได้ต่อสู้ร่วมกัน ขณะที่อิระวดีให้ข้อมูลว่า กองกำลังโกก้างปฏิเสธที่จะลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ

ทั้งนี้กองทัพอาระกัน (AA) และกองกำลังโกก้าง เป็นสมาชิกของคณะประสานงานการหยุดยิงทั่วประเทศ (NCCT) แต่รัฐบาลปฏิเสธที่จะยอมรับสถานะของกลุ่มดังกล่าว ขณะที่กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) เป็นสมาชิก NCCT เช่นกัน แต่ไม่ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงสองฝ่ายกับรัฐบาลพม่า ทั้งนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลพม่ายอมรับว่ากองกำลังตะอางเป็นสมาชิกของ NCCT หรือไม่

ขณะเดียวกับ ที่ปรึกษาของรัฐบาลคนหนึ่งในศูนย์สันติภาพเมียนมา (Myanmar Peace Center) เพิ่งกล่าวว่า รัฐบาลสามารถที่จะลงนามใน "สัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ" พร้อมๆ กับที่ต่อสู้กับกองกำลังโกก้าง

ประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า เฉพาะกลุ่ม NCCT ประกอบด้วยกองกำลังส่วนใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์ มีสมาชิก 16 กลุ่ม ได้แก่ (1) พรรคปลดปล่อยอาระกัน (Arakan Liberation Party) (2) สภาแห่งชาติอาระกัน (Arakan National Council) (3) กองทัพอาระกัน (Arakan Army) (4) พรรคแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front) (5) กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (Democratic Karen Benevolent Army)

(6) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party) (7) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) (8) สภาเพื่อสันติภาพของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA Peace Council) (9) สหภาพประชาธิปไตยละหู่ (Lahu Democratic Union) (10) กองทัพพันธมิตรแห่งชาติประชาธิปไตยพม่า (โกก้าง) (Myanmar National Democratic Alliance Army)

(11) พรรคมอญใหม่ (New Mon State Party) (12) องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (Pa-Oh National Liberation Organization) (13) แนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง (Palaung State Liberation Front) (14) พรรครัฐฉานก้าวหน้า (Shan State Progress Party) (15) องค์กรแห่งชาติว้า (Wa National Organiztion) และ (16) องค์กรแห่งเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Organization)

ข้อมูลจากอิระวดี ระบุว่า กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกำลังมากที่สุด คือมีกำลังพล 20,000 นาย และไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม NCCT เช่นเดียวกับ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา (NDAA) แต่ทั้งสองกลุ่มมีข้อตกลงหยุดยิงสองฝ่ายกับรัฐบาลพม่า และในรอบ 18 เดือนมานี้ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ขั้นตอนเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์

ขณะที่ไม่กี่วันมานี้ ผู้นำกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ได้มีความพยายามที่จะเพิ่มความสำคัญให้กับกระบวนการเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ โดยกล่าวว่า ควรนับรวมกองทัพอาระกัน (AA), กองกำลังโกก้าง (MNDAA) และกองทัพตะอาง (TNLA) เข้ามาด้วย และได้กล่าวแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสามกองกำลังเหล่านี้

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 พ.ค.) ประธานกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) เปา โหยวเฉียง กล่าวให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ซึ่งเป็นโอกาสที่ไม่บ่อยครั้งนัก โดยเขากล่าวว่า การนับรวมกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม และปฏิรูปรัฐธรรมนูญ จะเป็นเงื่อนไขสำหรับกองทัพสหรัฐว้า ในการสนับสนุนสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ

"ประเทศจะมีสันติภาพ ถ้ารัฐบาลสามารถเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคนในประเทศ รัฐบาลไม่สามารถที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนแต่เรื่องการทำงานด้านการพัฒนาเท่านั้น" เปา โหยวเฉียง กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ในกองบัญชาการของกองทัพสหรัฐว้า ในเขตปกครองพิเศษว้า ชายแดนจีน-พม่า

"หัวใจหลักคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นรวมทั้งพวกเราชาวว้า ก็จะลงนาม" เปา โหยวเฉียง กล่าวผ่านการแปลเป็นภาษาพม่า โดยโฆษกกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) อ่อง มิ้น

ทั้งนี้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่่ร่างในสมัยรัฐบาลทหารพม่า ได้รวมศูนย์อำนาจเหนือพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านอำนาจของรัฐบาลกลางและกองทัพพม่า ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องการเห็นพม่าที่กระจายอำนาจแบบสหพันธรัฐ มากกว่าให้พื้นที่ปกครองตนเองสำหรับพวกเขา

เปา โหยวเฉียง กล่าวด้วยว่า "หากหลังจากนี้ ไม่มีการสู้รบอีกต่อไป ประเทศจะมีสันติภาพและการพัฒนา จากนั้นพวกเรากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็จะสามารถสร้างเมืองที่ทันสมัยได้อย่างที่ชาวว้าได้ทำเอาไว้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท