Skip to main content
sharethis

การร่วมงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ 3 องค์กรที่ทำงานบนพื้นที่ออนไลน์ iLaw ประชาไท ไทยพับลิก้า และ 1 องค์กรด้านการศึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในเว็บไซต์ประชามติ www.prachamati.org ได้ก่อตัวขึ้นคู่ขนานไปกับการให้ความเห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ภายใต้สถานการณ์อันไม่อาจรู้แน่ชัดว่า จะมีการให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญด้วยการลงประชามติหรือไม่

ในประเทศที่พยายามเรียกตัวเองว่าเป็น ประเทศประชาธิปไตย หรือพยายามให้กลับเข้าสู่ระบอบ “ประชาธิปไตย” การมีส่วนร่วม และการให้พื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ไม่อาจขาดหายไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความเห็นในเรื่องกติกาสูงสุด ที่ประชาชนจะต้องใช้ร่วมกันทั้งประเทศ

กล่าวอย่างไม่เกินจริง การรวมตัวเป็นเว็บประชามติครั้งนี้ ก็คือการเพิ่มอีกหนึ่งช่องให้ประชาชนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่สภาปฏิรูปแห่งชาติจะลงมติรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต่อไปในวันที่ 6 ส.ค. 2558

ประชาไทสัมภาษณ์ สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและคณะบรรณาธิการ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ประชามติ ถึงความเป็นมาเหตุใดไทยพับลิก้าได้เข้ามาร่วมกับเว็บประชามติ ความคาดหวังกับการรวมตัวครั้งนี้ รวมทั้งความเห็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

 

“ตัวโปรเจคเองก็ต้องเรียกว่ามาถูกที่ถูกเวลา ตอนนี้คงไม่มีอะไรใหญ่กว่าเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งแต่ละวันเราก็ยังไม่รู้แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วจะมีการทำประชามติหรือไม่ คนหนึ่งก็พูดอย่างหนึ่ง อีกคนก็พูดอย่างหนึ่ง ทั้งที่มันเป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วกระทบคนทุกคน”

ประชาไท : ไทยพับลิก้าเข้ามาร่วมทำงานกับพันธมิตรองค์กรในพื้นที่ออนไลน์ ในนามเว็บประชามติได้อย่างไร

มองในมุมของคนทำข่าว จริงๆ แล้วในส่วนของ ไทยพับลิก้า ตั้งแต่ก่อตั้ง เราก็พยายามจะคุยกับสำนักข่าวออนไลน์อื่นๆ และรวมทั้งคนที่ทำงานในพื้นที่ออนไลน์เหมือนกัน ก็พยายามที่จะสร้างแนวร่วมบางอย่างตั้งแต่วันแรก ในหน้าเกี่ยวกับเรา(ไทยพับลิก้า) ก็จะใส่ชื่อ ประชาไท TCIJ สำนักข่าวอิศรา iLaw และ Thai Netizen เราก็บอกว่านี่เป็นองค์กรพันธมิตร แต่ว่าหลังจากนั้นก็ไม่เคยได้ร่วมงานกันอย่างเป็นทางการ

เราเป็นส่วนหนึ่งของกระแสคนที่อยากจะทำข่าวในพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งจริงๆ แล้วในตอนก่อตั้งไทยพับลิก้า เราคิดว่าในกลุ่มองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ออนไลน์ น่าจะมีการทำอะไรร่วมกันมากกว่านั้น คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่เรียกได้ว่าเป็นการช่วยเหลือกันในฐานะพันธมิตร คือ การแชร์ข่าวของกันและกัน เช่น ประชาไททำข่าวอะไรซึ่งมันสอดคล้อง หรือเชื่อมโยงกับประเด็นที่เราทำ ก็สามารถที่อ้างอิงถึงได้ หรือถ้ามีประเด็นอะไรที่ประชาไท เห็นว่างานที่คนอื่นทำ แล้วเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ก็สามารถนำมาลง ช่วยเผยแพร่ แล้วก็อ้างอิงถึงเจ้าของงานชิ้นนั้น ซึ่งตรงนี้เป็นระดับที่เรียกว่าเป็นพื้นฐานของการเป็นพันธมิตรกัน

แต่ว่าก็ยังมีอีกระดับหนึ่งซึ่งลึกลงไปกว่านั้น ก็คือการไปทำอะไรร่วมกันเลย อย่างเช่นตอนก่อตั้งไทยพับลิก้า ก็ได้มีการคุยกันว่า เราจะทำข่าวด้วยวิธีไหนบ้าง แล้วแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ICIJ (International Consortium of Investigative Journalists) ซึ่งก็เป็นเหมือนแนวร่วมนักข่าวสืบสวนสอบสวนของต่างประเทศ ซึ่งใช้วิธีหาข้อมูลลับ อย่างเช่น กรณีบัญชีลับเกาะเคแมน แล้วเขาก็อาศัยเครือข่ายของนักข่าวสืบสวนสอบสวนของหลายๆ ประเทศช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งต่างคนก็ต่างวิเคราะห์ไปตามความถนัดของตนเอง หรือพื้นที่ที่ตนเองอยู่ ซึ่งเราก็เคยคุยกันว่าแนวทางลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เราอยากทำ เช่น มีบรรณาธิการของแต่ละสำนักข่าวมาคุยกันว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่เราจะสามารถทำข่าวเป็นซีรีย์ในลักษณะนี้ เพื่อที่ impact จะได้เยอะกว่าการที่เราทำคนเดียว

เราคิดว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของวงการสื่อออนไลน์ไทย พอมันผ่านมา 4- 5 ปี ที่จริงประชาไทก็ถือเป็นพี่ใหญ่เพราะอยู่มาตั้ง 10 ปี แล้ว มันก็จะมีความแตกต่างกันในแง่ของความถนัด และมีความสนใจค่อนข้างชัด เช่น ไทยพับลิก้า ก็จะเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องนโยบายของรัฐที่เชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจ ส่วนประชาไท ก็จะทำเรื่องทางการเมือง เรื่องสิทธิ TCIJ ก็จะเด่นในเรื่องของชุมชน ประเด็นที่เป็นโจทย์เรื่องการพัฒนาท้องถิ่น อย่างอิศรา ก็จะโดดเด่นเรื่องการขุดคุ้ยบัญชีทรัพย์สิน การวิเคราะห์บัญชี ไม่ว่าจะเป็นอะไรต่างๆ ที่เป็นเรื่องทางธุรกรรม

ฉะนั้นสำนักข่าวต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ออนไลน์ มันก็มีความถนัดที่แตกต่างกัน ความสนใจก็แตกต่างกัน ก็เลยคิดว่าถ้ามันมีลักษณะของประเด็นอะไรที่ มองเรื่องเดียวกัน แต่มองกันหลายมุม ก็คงจะดี ทั้งหมดนี้คือ Idea ที่ยังไม่เคยเป็นรูปธรรม เพราะว่าพอถึงเวลา ทุกคนก็ต่างยุ่ง แล้วก็เหมือนกับว่าไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ ว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร และก็เข้าใจว่าธรรมชาติของนักข่าวแต่ละคน เขาก็สามารถเดินไปตามโจทย์ที่ตัวเองทำ ตามโจทย์ที่ตัวเองสนใจ ก็คงไม่ได้มาคิดเรื่องพวกนี้เท่าไหร่

ทีนี้ เป๋า (ยิ่งชีพ อัชฌานนท์) จาก iLaw มาเล่า Idea เรื่องเว็บประชามติ เราก็คิดว่าตรงนี้มันเป็นโอกาสที่จะได้ให้ไทยพับลิก้าเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานร่วมกับพันธมิตร อย่างที่บอกเราก็มองทั้ง ประชาไท และ iLaw เป็นพันธมิตรในเชิงอุดมการณ์ในการใช้พื้นที่ออนไลน์ ในการสร้างสรรค์ การนำเสนอข่าว ทีนี้ iLaw เขาไม่ได้เพียงแต่นำเสนอเนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาก็มีความพยายามที่จะสร้างการมีส่วนร่วม โดยที่ผ่านมาก็มีการให้คนเข้ามาโหวต เปิดรับความคิดเห็น ซึ่งในเว็บของเขาก็จะมีการถามว่าคุณคิดอย่างไร ทั้งกับเรื่องกฎหมาย ทั้งเรื่องประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม คือด้วยการทำงานลักษณะนี้ของ iLaw การที่เขาเป็นเจ้าภาพของเว็บประชามติ ก็ดูเหมาะสมแล้ว เพราะเขาถนัดในเรื่องสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งในส่วนไทยพับลิก้าก็ไม่ได้ถนัดในเรื่องนี้ ก็รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่จะได้มาทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดไว้นานแล้ว นี่ก็เป็นเหตุผลที่หนึ่ง

ส่วนเหตุผลที่สอง คือตัวโปรเจคเองก็ต้องเรียกว่ามาถูกที่ถูกเวลา ตอนนี้คงไม่มีอะไรใหญ่กว่าเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งแต่ละวันเราก็ยังไม่รู้แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วจะมีการทำประชามติหรือไม่ คนหนึ่งก็พูดอย่างหนึ่ง อีกคนก็พูดอย่างหนึ่ง ทั้งที่มันเป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วกระทบคนทุกคน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนก็ยังให้ทำประชามติ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เป็นการทำแบบมัดมือชก แต่ว่าอย่างไรก็ตามก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าประชามติขึ้น ซึ่งเราคิดว่าตอนนี้ ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่คิดว่าเป็นเครื่องมือที่มาถูกเวลา คือถ้าคนเห็นว่ามีช่องทางนี้ (เว็บไซต์ประชามติ) อาจจะดูไม่เป็นทางการ แต่ด้วยความที่มันเป็นช่องทางให้คนได้แสดงออกจริงๆ การมีอยู่ก็ดีกว่าไม่มี แล้วเราก็ค่อนข้างชอบวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังเหมือนกัน อย่างแรกคือ สามารถตอบโจทย์การมีส่วนร่วมในพื้นที่ออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ประเด็นมันซับซ้อน จนสร้างความสับสนในบรรดาผู้ใช้

ในการทำงานร่วมกันเราก็จะมีการแบ่งงานกันทำ อย่างในส่วนของไทยพับลิก้า ก็จะมีหน้าที่หนึ่งคือการตั้งโจทย์ตั้งประเด็น ซึ่งถึงเป็นเรื่องสำคัญ เราก็ต้องตั้งโจทย์ให้ชัด และทำให้คนสนใจ ซึ่งในส่วนนี้ก็เป็นสิ่งที่นักข่าวทำกันอยู่แล้ว เพราะเวลาทำงานเราก็ต้องเลือกวิธีการนำเสนอที่คนจะสนใจ เลือกประเด็นที่คนสนใจ เราก็คิดว่ามันสอดคล้องกับงานที่ทำ ทีนี้พอเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญถ้าเป็นปกติ ไม่ช้าก็เร็วเราก็ทำเรื่องซีรีย์เรื่องนี้อยู่แล้ว แล้วด้วยความถนัดที่เรามี ในรัฐธรรมนูญก็ประเด็นทางเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่เรื่องงบประมาณ เรื่องท้องถิ่น อำนาจท้องถิ่น เรื่องการปฏิรูป

ซึ่งก็เป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะได้ใช้พื้นที่นี้ ไม่เพียงแค่นำเสนอข่าวเพียงประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการนำเสนอในทางที่เชื้อเชิญโดยตรง และเปิดช่องทางให้คนอ่าน เข้ามาแสดงความเห็นว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ฉะนั้นทั้งหมดโดยดีไซน์ของโครงการมันช่วยได้ทั้งการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้คนได้เห็นชัดเจนมากขึ้น ในทางที่สื่อกระแสหลักอาจจะมีข้อจำกัด หรืออาจจะไม่ได้สนใจที่จะทำทุกประเด็น

โดยการออกแบบที่เราวางไว้ก็จะพยายามทำให้มันมีความรอบด้าน คือว่าทุกประเด็นเราก็จะไปรวบรวมเสียง หรือเหตุผลที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย กับประเด็นในรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะให้คนตัดสินใจว่า เขาคิดอย่างไร ในเรื่องการให้ข้อมูลแบบนี้คิดว่าเป็นรูปแบบที่ดี และในเรื่องการมีส่วนร่วมเองก็ชัดเจน เพราะว่าเป้าหมายคือ ทุกๆ เรื่องที่เอาขึ้น คนจะต้องโหวตได้ และเมื่อเกิดการมีส่วนร่วมมันก็จะนำไปสู่ประโยชน์บางอย่าง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เห็นว่า ประเด็นเหล่านี้คนคิดอย่างไร

เหตุผลสุดท้ายคือ ในตัวประเด็นต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกลจากงานของไทยพับลิก้า สมมติว่าโปรเจคนี้ เป็นโปรเจคที่ตั้งขอบเขตไว้ให้เน้นเฉพาะประเด็นประชามติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เรื่องศาล เราก็อาจจะรู้สึกว่า ไม่ถนัด เพราะที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ทำข่าวสอบสวนอะไรที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้มาก อันนี้ยกตัวอย่างเฉยๆ นะ ในความเป็นจริงเราก็ทำเรื่อง ป.ป.ช. มาเยอะ แต่หมายความว่า ถ้าตัวโปรเจคเองมีขอบเขตที่วางไว้แคบ และเป็นประเด็นที่เราไม่ถนัด ไม่เคยทำมาก่อน ก็อาจจะทำให้รู้สึกว่า เราจะต้องไปสร้างองค์ความรู้กันใหม่ ทำประเด็นใหม่ๆ จนอาจจะทำให้ไม่มีเวลาทำงานของตัวเอง

ฉะนั้นมองในแง่ของตัวนักข่าวเอง ในเมื่อตัวประเด็นไม่ได้ไกลจากประเด็นข่าวที่ทำ หรือนโยบายของเว็บไทยพับลิก้า ก็จะเป็นโอกาสของนักข่าวเองที่จะได้พัฒนา เพราะสิ่งหนึ่งที่เราคุยกันตลอดในทีม แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมคือ เราไม่ได้เป็นหนังสือพิมพ์นะ เราทำข่าวในพื้นที่ใหม่ แต่ว่าในทีมเราก็มีนักข่าวอาวุโสมานั่งรวมกับนักข่าวรุ่นใหม่ ซึ่งถ้าดูจากวิธีเขียน วิธีนำเสนอก็ค่อนข้างเป็นหนังสือพิมพ์อยู่มาก ฉะนั้นโอกาสแบบนี้มันก็จะเป็นการพัฒนาตัวนักข่าวเอง ให้เข้ามาเห็นพลังของการนำเสนอในแบบของ new media ว่าไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกรอบเดิมๆ ในการเขียนข่าว คิดว่าหลักๆ ก็มีสามเหตุผล ซึ่งคิดว่าเราพร้อมที่จะสนับสนุน และเข้ามามีส่วนตรงนี้

ประชาไท : นี่ถือเป็นครั้งแรกหรือเปล่า ที่สื่อออนไลน์ รวมทั้งองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ออนไลน์ เข้ามาทำงานร่วมกันในลักษณะนี้

คิดว่าเป็นครั้งแรก เพราะว่าที่ผ่านมามันเป็นการร่วมมือกันแบบหลวมมาก เช่นเอาข่าวมาแชร์กัน  แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เข้ามาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม แล้วก็คาดว่าในอนาคตจะได้มีโอกาสแบบนี้อีก

ประชาไท : ถ้าพูดถึงประเด็นการถกเถียง เราเชื่อว่าเมื่อเปิดเว็บนี้ขึ้นมาจะเป็นการสร้างพื้นที่ให้คนมาถกเถียง แลกเปลี่ยนกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีมุมมองที่เชื่อว่า คนที่จะเข้ามาในเว็บประชามติ หรือคนที่จะสนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็จะคนประเภทที่สนใจการเมืองเป็นทุนเดิม อาจจะไม่ได้สร้างพื้นที่การถกเถียงที่กว้างขึ้นกว่าที่เคยมีมา

เราคิดว่าประเด็นมันอยู่ที่วิธีการนำเสนอของเราเองด้วย แล้วก็ประเด็นที่เลือกมา จริงๆ แล้วมันอยู่ที่การตั้งโจทย์เหมือนกัน เช่นว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีการยุบรวมกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้ากับผู้ตรวจการฯ คนทั่วไปก็อาจจะรู้สึกว่ามันเกี่ยวอะไรกับเขา เขาอาจจะไม่มีความเห็นเรื่องนี้ ไม่สนใจ จะอย่างไรก็แล้วแต่ คือถ้าอยากให้คนรู้เรื่องนี้ จะถามแบบนี้ตรงๆ ไม่ได้ อาจจะต้องคิดต่อว่ารวมกันแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ก็จะต้องตั้งคำถามที่มาจากข้อมูลในลักษณะนี้แทน ฉะนั้นความท้าทายก็คือวิธีการตั้งคำถาม เพราะบางทีสิ่งที่เราอยากรู้จริงๆ กว่าจะไปถึงจุดๆ นั้น อาจจะต้องตั้งเป็นซีรีย์คำถาม อาจจะต้องถามประมาณว่า 5 คำถาม จนถึงจุดสุดท้ายมันถึงจะได้

มันก็เป็นความท้าทาย แต่มองอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นโอกาสของนักข่าว ที่จะได้คิดวิธีการนำเสนอ เพราะข้อดีของดิจิตอล คือทุกอย่างมันรวดเร็ว และมีสถิติเก็บไว้หมด คุณตั้งคำถามแบบไหน มีคนเข้ามาตอบกี่คน ภายในเวลาเท่าไหร่ นักข่าวก็จะได้เรียนรู้ไปด้วย ประเด็นไหนที่คนสนใจเยอะ เป็นเพราะอะไร ก็สามารถกลับมาวิเคราะห์กันได้

และเราไม่เชื่อว่าคนที่เข้ามามีส่วนร่วมจะมีแต่ฮาร์ดคอร์ เพราะว่าผลกระทบกว้างขวางมาก มันมีแม้กระทั่งหน้าที่พลเมือง มันอยู่ที่ว่า เราจะสามารถนำเสนอได้ดีเพียงใด

ประชาไท : ความคาดหวังของไทยพับลิก้าในการเข้ามาร่วมทำงานครั้งนี้คืออะไร

ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการ อย่างแรกเราคาดหวังให้ตัวนักข่าวของเรา เขามีส่วนร่วมจริงๆ และอยากให้มองว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง แล้วก็ได้เรียนรู้กลไกเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวแบบใหม่ ที่พ้นไปจากการทำข่าวแบบเดิมๆ

เราจะเคยเห็นว่า ในสื่อกระแสหลักอย่างในทีวีก็จะมีการนำเสนอประเด็นข่าว แล้วก็จะถามกลับมาที่ผู้ชมว่าคิดอย่างไรให้ส่ง SMS ตอบกลับไป ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร การถามความเห็นคนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ มันก็มีคนทำมาเยอะ แต่ถามว่าการทำแบบนั้นในสื่อกระแสหลักมันกลายเป็นเรื่อง Gimmick มากกว่าหรือไม่ แล้วมันก็จบไปอาจจะไม่นำไปสู่อะไร แล้วอีกอย่างหนึ่งคือมันมีข้อจำกัดเรื่องว่าเวลาคือถ้าคุณไม่ได้ดูทีวีในช่วงนั้นก็ไม่สามารถที่จะมีส่วนร่วมได้ แต่ว่าเว็บไซต์ประโยชน์ของมันก็คือ ถ้าในทางเทคนิคเว็บไม่ล่ม ข้อมูลมันยังคงอยู่ตลอด สมมติเราตั้งคำถามผ่านไปสองสัปดาห์ คนก็ยังมาตอบเรื่องนี้ได้อยู่ ถ้าเกิดเราไม่ปิดการให้แสดงความเห็น

ฉะนั้นเราคิดว่า โดยตัวมันเองมันก็เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ไม่ใช่แค่เป็น Gimmick หรือหาข้อมูลมาเขียนข่าวแล้วก็จบไป แต่ว่าสุดท้ายมันจะกลายเป็นข้อมูลที่มีความหมาย ถ้ามีคนมาใช้มากพอมันก็จะเป็นสิ่งที่บอกอะไรได้พอสมควรว่าคนในสังคมคิดอย่างไร

ความคาดหวังที่เรามีก็มี 2 ระดับ หนึ่งก็คือความคาดหวังในตัวนักข่าวเอง ในอีกระดับก็คือ ความคาดหวังในตัวข้อมูล ซึ่งสุดท้ายก็อาจจะสามารถนำไปขยายผลด้วยวิธีอื่นๆ ต่อไป

ประชาไท : มองกลับมาที่สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ประกอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากถึงที่สุดแล้วมีการทำประชามติขึ้นมาจริงๆ จะเรียกได้ว่าเป็นทางออกจริงจากวิกฤตทางการเมืองได้หรือไม่

เราคิดว่า มันอยู่ที่เงื่อนไขของการทำประชามติ คือเรามีบทเรียนไม่ถึง 10 ปี จากการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ส่วนตัวเราคิดว่าการทำประชามติในครั้งนั้นเป็นการมัดมือชก คือกติกามันไม่ดี ก่อนอื่นเลยก็คือว่า กระแสในตอนนั้นฝ่ายที่เป็นรัฐบาลก็เรียกร้องว่า ให้มีการมาลงประชามติเพื่อให้ประเทศเดินหน้า มันก็บอกเป็นนัยๆ ว่า ถ้าคุณไม่รับประเทศจะเดินหน้าไม่ได้ ก็เป็นการสร้างความคิดแบบหนึ่ง ซึ่งก็ถูกสนับสนุนด้วยการที่เขาไม่ให้ตัวเลือก ฉะนั้นถ้ารอบนี้จะให้มีการทำประชามติจะต้องไม่มีการมัดมือชก เช่น คนที่ตั้งใจจะกาไม่รับ ก็ต้องมีอีกช่องหนึ่งที่จะบอกว่า คุณอยากให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหนในการเดินหน้าต่อ เช่น จะกลับไปใช้ รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550

ฉะนั้นประชามติมันอยู่ที่การออกแบบ เราคิดว่าการทำประชามติอย่างที่เคยทำมาแค่นั้นอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เป็นทางออก แต่ต้องไปดูที่เงือนไขของการทำประชามติ คือพูดง่ายๆ คุณทำให้ตัวเลือกรับ หรือไม่รับมีความหมายเท่ากันหรือไม่ หากว่าเลือกไม่รับ แล้วไม่ได้บอกว่าจะทำอะไรอย่างไรต่อ ถ้าไม่บอกมันก็แน่นอนเป็นนัยๆ ว่าถ้าไม่รับแล้วมันจะเกิดอะไร มันก็มีรูปร่างเป็นประชามติที่มัดมือชก คือคนถูกกดดันให้ไปรับ คราวนี้ถ้าจะมีมันก็ควรเป็นการทำประชามติที่เป็นธรรม

“เราคิดว่าการทำประชามติมันไม่ใช่เรื่องขั้วการเมืองแน่นอน เราคิดว่าประเด็นนี้ต้องทำให้ชัด และก็หวังว่าเว็บประชามติจะทำให้คนมองว่า มันใช่เรื่องของคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง แต่ว่ามันเป็นเรื่องของกติกาพื้นฐาน ไม่ว่าคุณจะชอบใคร ไม่ชอบใคร มันควรจะทำประชามติเพราะว่านี่คือกติกาสูงสุด ทุกคนควรจะมองแบบนี้

ประชาไท : เป็นไปได้ยากหรือไม่ ที่จะมีประชามติในลักษณะนี้

ก็ไม่รู้เหมือนกัน ส่วนหนึ่งเราก็เข้าใจความรู้สึกของคนที่เขาปลง แต่ว่าถ้าเราปลงแล้วเราไม่คิดจะทำอะไรเลย มันก็คงไม่มีทางอะไรเลย ไม่มีทางที่จะมีประชามติ เราคิดว่ามันคล้ายๆ กับการเลือกตั้ง เวลาเราเลือกตั้งเราคงเคยรู้สึกว่าตัวเลือกไม่น่าเลือกเลย แล้วก็นอนอยู่บ้าน โอเคนั่นก็เป็นทางเลือกหนึ่งของคุณ แต่ว่าถ้าทำอย่างนั้น ก็ต้องรู้ตัวว่า คุณยอมเสียสิทธิไป ฉะนั้นคนที่เขาชนะการเลือกตั้งไปทำอะไร การที่คุณไปด่าเขามันก็อ่อนลง ก็คุณไม่ได้ไปใช้สิทธิ เราคิดว่ามันก็คล้ายๆ กัน หมายความว่าสุดท้ายมันก็ต้องพยายามให้ถึงที่สุดก่อน

เราคิดว่าการทำประชามติมันไม่ใช่เรื่องขั้วการเมืองแน่นอน เราคิดว่าประเด็นนี้ต้องทำให้ชัด และก็หวังว่าเว็บประชามติจะทำให้คนมองว่า มันใช่เรื่องของคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง แต่ว่ามันเป็นเรื่องของกติกาพื้นฐาน ไม่ว่าคุณจะชอบใคร ไม่ชอบใคร มันควรจะทำประชามติเพราะว่านี้ คือกติกาสูงสุด ทุกคนควรจะมองแบบนี้ เมืองไทยแตกแยกเสียจนประเด็นต่างๆ มันถูกมองว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นของเสื้อแดง ประเด็นนี้เป็นประเด็นของเสื้อเหลือง ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องขั้วทางการเมือง แต่เป็นเรื่องที่ว่าในฐานะประชาชนเราควรจะแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เราคิดว่า การทำประชามติ ไม่เห็นว่ามันจะเป็นประเด็นเสื้อแดง หรือเป็นประเด็นเสื้อเหลืองอย่างไร แต่เป็นเรื่องที่เราอยากจะแสดงให้เห็นว่าเราคิดเห็นอย่างไรต่อกติกาที่เขาเขียน ซึ่งถ้าเป็นสมัย 10 ปีก่อน ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ตัวเว็บไซต์ยังไม่ค่อยแพร่หลาย มันก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เขารู้ว่าเราคิดเห็นอย่างไร เราก็คงต้องรอให้เขาจัดเวทีแล้วออกไปแสดงความคิดเห็น แต่ว่าตอนนี้มันไม่ได้จำเป็น เพราะตอนนี้เราก็มีเฟซบุ๊ก มีทวิตเตอร์ สามารถแสดงความคิดเห็นได้ มันก็เป็นเรื่องที่ง่ายมาก

ประชาไท : คิดว่า เว็บประชามติ จะทรงพลัง หรือส่งผลสะเทือนมากน้อยเพียงใด

คิดว่าสุดท้ายจำนวนคนก็สำคัญ ถ้าเราสามารถดึงดูดให้คนจำนวนมาก ได้มองเห็นความสำคัญแล้วก็ตื่นตัว เพราะสิ่งที่เรียกร้องอยู่นี้มันน้อยมาก เราแค่ต้องการให้คุณบอกมาว่าเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คือเราไม่ได้กำลังนั่งทำรัฐธรรมนูญภาคประชาชน นี่เป็นอะไรที่เล็กน้อยมาก พลังมันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประชาชนมาแสดงความคิดเห็น เพราะมันมีความหมายในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเรามาแสดงร่วมกันในพื้นที่ร่วมกัน ที่มันชัดเจนว่านี่เป็นไปเพื่อเป้าหมายที่จะแสดงผลลัพธ์ให้เห็นว่าเราคิดอย่างไร มันก็จะยิ่งมีพลัง และยิ่งแสดงออกกันเยอะๆ ก็จะมีความหมายสำหรับทุกคนที่มีอำนาจตัดสินใจ เพราะว่าไม่ว่าเขาจะมาอย่างไร ทุกคนก็ต้องอ้างประชาชนอยู่ดี

เราคิดว่าก็มีตัวอย่างที่ชัดเจนอยู่เหมือนกันคือ ที่เรารวมตัวต่อต้านกฎหมายดิจิตอล ร่างแรก ซึ่งตอนแรกก็มีคนที่คิดว่าไม่มีทางหรอกนี่มันเป็นวาระเรื่องความมั่นคง แต่ว่าสุดท้ายสิ่งที่เราทำคือการแคมเปญรณรงค์ออนไลน์ก็ทำให้เห็นว่า มันหยุดได้ในแง่ที่ว่าเขาก็ทบทวน ซึ่งเราคิดว่านั่นขนาดแค่เป็นตัวกฎหมาย แม้จะส่งผลกระทบมากก็ตาม แต่ว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญ คือชุดกฎหมายนั้นเขายังหยุดทบทวนเลย แล้วทำไมเราถึงจะไม่สามารถผลักดันเรื่องประชามติได้ ทั้งที่มันใกล้ตัวกว่าเยอะ

ประชาไท : นั่นหมายความว่า หากตัวผลโหวต ในเว็บประชามติออกมา ก็จะมีการเอาผลไปยื่นให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

จริงๆ แล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่โดยตัวเว็บของมันจริงๆ แล้ว อย่างหนึ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือ อยากจะเชิญชวนสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือ หนังสือพิมพ์ ก็อยากให้เอาข้อมูลตรงนี้ไปใช้ เพราะมันเป็นประโยชน์ต่อการทำข่าวอยู่แล้ว สมมติคุณเป็นสื่อทีวีแล้วกำลังทำข่าวเรื่องประชามติอยู่ ก็สามารถที่จะอ้างอิงได้ว่าข้อมูลจากเว็บประชามติจากวันที่เท่านี้ มีผู้มาเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้เท่าไหร่ จากจำนวนไหร่ เราก็คิดว่ามันก็เป็นแหล่งข้อมูลสาธารณะ ในตัวมันเองแค่นี้ก็มีประโยชน์แล้ว แต่ว่าสุดท้ายจะเอาไปผลักดันหรือทำอะไรต่อไป ก็ต้องรอดูว่าเมื่อถึงเวลาจะเป็นอย่างไรต่อไป

ประชาไท : แต่ว่าขณะเดียวกันทางฝ่าย กมธ. ยกร่างก็ได้มีการสุ่มตัวอย่างความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 พันคน โดยก็มีคำถามมาให้ประชาชนตอบ

เราคิดว่าก็เป็นเรื่องที่ดี และเห็นด้วยกับแนวทางนั้น อันที่จริงเพื่อที่จะให้มีความหมายมากไปกว่านั้น ก็ควรที่จะมีการเปิดเผยผลของการสุ่มเหล่านั้นด้วย รวมทั้งเปิดเผยคำถามที่ใช้สุ่มถามประชาชน เพราะว่าเราในฐานะประชาชนซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกสุ่ม ก็อยากรู้ว่าเขาถามอะไรบ้าง

ประชาไท : แล้วการสุ่มแบบนี้ มันสามารถบอกอะไรได้จริงหรือ

คือมันต้องถามว่าเป้าหมายของการสุ่มคืออะไร การสุ่มมันก็มีหลักวิชาทางสถิติอยู่ว่า พื้นที่เท่านี้ถ้ามีประชากรอยู่ทั้งหมด X คน ควรจะสุ่มกี่คน เพื่อที่จะพูดได้ว่ามันเป็นตัวแทนของคนทั้งหมดได้ ฉะนั้นเราก็คิดว่ามันก็ไม่ได้เสียหายมันก็มีหลักวิชาการอยู่ แต่ว่าประเด็นคือ 1 พันคนทุกจังหวัดก็อาจเป็นตัวเลขที่น้อยมากมันก็อาจจะไม่ได้มีความหมายอะไรเลย เพราะว่าจังหวัดที่เล็กๆ ก็มีคนเป็นหลักแสน แล้วพันคนจากหลักแสนก็เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ จะสามารถพูดได้แค่ไหนว่า 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวแทนของคนทั้งหมด

ประเด็นที่สำคัญคือ เป้าหมายของการสุ่มคืออะไร ถ้าถามไปเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ เราคิดว่าอย่างไรอันนี้ก็ดี และเป็นแนวทางที่ควรทำ แต่ว่าถ้าบอกว่าเป้าหมายของการสุ่มเพียงแค่เอาไปยืนยันตัวร่างรัฐธรรมนูญ แล้วบอกว่าผลออกมาแล้วไม่ต้องมีหรอกประชามติ ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะสุดท้ายประชามติสำหรับเรื่องใหญ่ขนาดนี้มันไม่ควรสุ่มไง มันควรจะถามทั้งประเทศ ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าเจตนาของเขาคืออะไร

ประชาไท : ถ้าวิเคราะห์ว่าอย่างไรก็ตาม คสช. ก็ไม่ยอมให้มีประชามติ และรัฐธรรมนูญก็มีหน้าตาไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แล้วสุดท้ายมันก็ผ่านไปได้ คิดว่าจะเป็นเงือนไขความขัดแย้งในอนาคตหรือไม่

เราคิดว่าไม่มีทางจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน แน่นอนขนาดแค่ร่างแรก ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขนาดนี้ แล้วคนที่อยู่ในวงการการเมือง หรือนักการเมืองเองก็พูดเหมือนกัน ในลักษณะที่ว่ามันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา

ในส่วนตัวเราก็ยังไม่ได้อ่านครบทั้งหมด แต่ก็เข้าไปดูในส่วนที่เราสนใจเช่น เรื่องสมัชชาคุณธรรม กลายเป็นว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเท่าไรนัก คือเขาคงจะมีวิธีคิดว่า เราต้องการควบคุมคนเลวเราก็เลยต้องไปตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา ที่เราเชื่อว่าเป็นคนดี เพื่อให้ขึ้นมาควบคุมคนเลว ซึ่งเราก็จะมีคำถามเหมือนเดิมว่า คนพวกนี้จะเป็นคนดีจริงไหม ใครเป็นคนบอก และใครเลือกคนพวกนี้มา แล้วจะรู้ได้ไงว่าดีหรือไม่ดี  แล้วต่อไปองค์กรพวกนี้มีปัญหาจะต้องทำอย่างไร ต้องไปตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาควบคุมคนพวกนี้อีกทีหรือไม่

แล้วองค์กรในลักษณะนี้ก็ยิ่งจะทำให้ประชาชนมีอำนาจน้อยลง แทนที่จะไปทำเรื่องที่มันดีกว่านี้ อย่างเช่นเรื่องการตรวจสอบ ก็มีการพูดกันเยอะว่านักการเมืองมีช่องทางในการทำอะไรแย่ๆ แล้วเราไม่ได้มีช่องทางตรวจสอบ เราว่าแทนที่จะไปสร้างกลไกที่ใช้เรื่องจริยธรรมมาควบคุมนักการเมือง วิธีที่มันง่ายกว่านั้นก็คือ คุณก็บอกเลยว่ารัฐต้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างให้เป็นสาธารณะ ไม่ต้องรอให้ประชาชนไปขอ ก็บอกมาเลยว่าต้องการให้รัฐเป็นรัฐเปิด ต่อไปนี้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างต้องเปิดเผยไปเลย และต้องเป็นไปในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย มันก็มีอะไรแบบนี้ ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามแก้ปัญหาด้วยความโปร่งใส ทำให้ทุกคนสามารถเป็นหูเป็นตาได้ง่ายขึ้น

ประชาชนเมื่อรู้ข้อมูล เห็นความไม่ชอบธรรมก็สามารถที่จะไปยื่นเรื่องให้กับองค์กรที่ทำเรื่องการทุจริตได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตั้งองค์กรอะไรขึ้นมาควบคุม เพราะว่าองค์กรผู้ควบคุมสุดท้ายก็จะมีปัญหาแน่นอน เพราะคนก็จะถามก็ว่า แกเป็นใคร แล้วก็มาจากไหน มาได้อย่างไร ฉันไม่ได้เลือกแกมา

“ถ้าเราไม่พูดอะไรเลยในฐานะประชาชน เดี๋ยวก็จะมีใครเอาเราไปอ้างว่าเราคิดเห็นอย่างไร ถ้าเราไม่อยากให้มีใครเอาเราไปอ้างเราก็ต้องแสดงความเห็นออกมาเองในสาธารณะ”

ประชาไท : ตอนนี้คิดว่า ผู้มีอำนาจเดินไปไกลเกินกว่าจะฟังเสียงประชาชนแล้วหรือไม่

ไม่คิดว่าไกลเกินไป ไม่มีอะไรที่สายเกินไปหรอก ในแง่หนึ่งถ้าดูรัฐบาลที่ผ่านมาในช่วง 10 เดือน ก็มีหลายจุดที่เขายอมปรับ ยอมหยุด เช่น เรื่องกฎหมายดิจิตอล และเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ฉะนั้นมันก็เป็นไปได้หมดแหละ และยิ่งเรื่องการเรียกร้องเรื่องประชามติมันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นกฎหมายที่ใช้ร่วมกัน ไม่ควรที่จะมานั่งคิดว่า แกเป็นเสื้อสีนั้นสีนี้ ทุกคนก็ควรที่จะมองเห็นว่า ถ้าเราไม่พูดอะไรเลยในฐานะประชาชน เดี๋ยวก็จะมีใครเอาเราไปอ้างว่าเราคิดเห็นอย่างไร ถ้าเราไม่อยากให้มีใครเอาเราไปอ้างเราก็ต้องแสดงความเห็นออกมาเองในสาธารณะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net