Skip to main content
sharethis

รับกระแสบอยคอตร้านสะดวกซื้อเครือข่ายบรรษัทยักษ์ใหญ่ ลองมาดูชีวิตพนักงานในอุตสาหกรรมนี้ผ่านวิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2551 พบ "แรงงานเยาวชนที่ทำงานในร้านสะดวกซื้อ" ร้อยละ 48.4 คิดว่าเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายมาก ร้อยละ 53.5 คิดว่าตนเองได้รับเงินค่าตอบแทนในการทำงานน้อยกว่าที่ควรได้รับ

ในเดือน พ.ค. 2558 นี้การรณรงค์บอยคอตร้านสะดวกซื้อเครือข่ายบรรษัทยักษ์ใหญ่เจ้าหนึ่งกำลังเป็นกระแสที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง แต่อีกประเด็นที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนักก็คือสภาพการจ้างงานในอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อ ว่าคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้จะมีชีวิตการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้ประชาไทจึงจะขอนำเสนอตัวอย่างงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่ทำการศึกษาแรงงานเยาวชนที่ทำงานในร้านสะดวกซื้อใน จ.เชียงใหม่ ว่าพวกเขามีปัญหาและอุปสรรคในการทำงานอย่างไรบ้าง

จากวิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลอาชีวอนามัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2551 เรื่อง "ปัจจัยด้านจิตสังคมในการทำงานและความเครียดจากการทำงานของแรงงานเยาวชนที่ทำงานร้านสะดวกซื้อ" (Psychosocial work factors and occupational stress among youth workers in convenience stores) โดย ดลฤดี เพชรขว้าง ซึ่งเป็นการศึกษาผู้ทำงานที่มีอายุ 18 – 24 ปีและทำงานร้านสะดวกซื้อที่อยู่ภายใต้ระบบบริหารเดียวกันในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,104 คน

โดยเมื่อโฟกัสมาที่กลุ่มตัวอย่างเป็นแรงงานเยาวชนที่ทำงานร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีตำแหน่งบริหารและมีประสบการณ์ในการทำงานร้านสะดวกซื้ออย่างน้อย 6 เดือน จากงานศึกษานี้จำนวนทั้งสิ้น 312 ราย แบ่งเป็น เพศชายร้อยละ 50.3 เพศหญิงร้อยละ 49.7 กลุ่มตัวอย่างมีอายุอยู่ในช่วง 18- 24 ปี โดยอายุของกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากที่สุด คือ อายุ 20 - 21 ปี (ร้อยละ 38.1) และอายุของกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนน้อยที่สุด คือ อายุ 24 ปี (ร้อยละ 11.2) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสโสด ร้อยละ 88.8 สำหรับสถานภาพสมรสคู่ มีร้อยละ 9.9 ระดับการศึกษากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.7 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและมีเพียงร้อยละ 1.9 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา โดยผู้วิจัยส่งแบบสอบถามจำนวน 326 ฉบับแก่ผู้จัดการฝ่ายบุคคลเพื่อนำไปมอบแก่ผู้จัดการสาขาแจกแบบสอบถามแก่กลุ่มตัวอย่าง ภายหลังจากการตรวจสอบความสมบรูณ์ของแบบสอบถามที่ได้รับคืนจากกลุ่มตัวอย่าง พบว่ามีความสมบรูณ์จำนวน 312 ฉบับหรือร้อยละ 95.7 ที่นำมาวิเคราะห์ทางสถิติ  

ผลการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการสัมผัสปัจจัยด้านจิตสังคมในการทำงานรายองค์ประกอบ ดังนี้ กลุ่มตัวอย่างรับรู้ว่าการทำงานมีข้อเรียกร้องจากงานระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.3) อำนาจในการควบคุมงานระดับสูง (ค่าเฉลี่ย 4.0) และแรงสนับสนุนทางสังคมระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 5.0) ดังนั้นผู้ที่ทำงานร้านสะดวกซื้อมีการสัมผัสปัจจัยด้านจิตสังคมในการทำงานอยู่ในระดับที่ไม่สูง แต่อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่น่าสนใจและนำมาพิจารณา ได้แก่ ร้อยละ 48.4 คิดว่าเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายมาก และร้อยละ 38.1 คิดว่าเป็นงานที่หนักมาก กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.5 คิดว่าตนเองได้รับเงินค่าตอบแทนในการทำงานน้อยกว่าที่ควรได้รับ ร้อยละ 60.9 คิดว่ามีโอกาสถูกทำร้ายร่างกาย และร้อยละ 50.7 คิดว่ามีโอกาสถูกทำร้ายจิตใจ ร้อยละ 12.5 ต้องเผชิญกับความขัดแย้งหรือไม่เป็นมิตรจากผู้บังคับบัญชาและร้อยละ 9.6 คิดว่าผู้บังคับบัญชาชอบใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ในกลุ่มที่มีการสัมผัสปัจจัยที่กล่าวมาควรได้รับการติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว

อนึ่ง ในด้านข้อจำกัดของการศึกษาในครั้งนั้น ผู้ศึกษาระบุว่าจากการศึกษาปัจจัยด้านจิตสังคมในการทำงานและความเครียดจากการทำงานของแรงงานเยาวชนที่ทำงานร้านสะดวกซื้อครั้งนี้ มีข้อจำกัดของการศึกษา คือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาไม่ได้เกิดจากการสุ่มเลือกแต่ได้จากการที่ผู้จัดการฝ่ายบุคคลแจกแบบสอบถามให้แก่ผู้จัดการสาขาเพื่อนำไปให้กลุ่มตัวอย่างที่ทำงานแต่ละสาขาตอบแบบสอบถาม ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับการศึกษาในครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาได้จากการที่ผู้จัดการสาขาเป็นผู้คัดเลือก จึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ากลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามจะเป็นตัวแทนที่ดีของประชากรที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ ดังนั้นการที่จะนำผลการศึกษาในครั้งนี้ไปอ้างอิงอาจต้องระมัดระวังถึงข้อจำกัดดังกล่าว

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับเต็มได้ที่: http://library.cmu.ac.th/digital_collection/etheses/fulltext.php?id=20964

 

ลักษณะการทำงานและปัจจัยอันตรายจากสภาพแวดล้อมในการทำงานของร้านสะดวกซื้อ

ลักษณะการทำงาน

- ร้านสะดวกซื้อเป็นสถานประกอบกิจการที่มีสถานที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน ให้บริการด้านการขายสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ซึ่งผู้รับริการสามารถซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด จากการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทำให้ต้องมีการจัดตารางเวลาการปฏิบัติงานให้แก่ผู้ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตารางเวลาดังกล่าว เรียกว่า กะการทำงาน โดยแบ่งกะการทำงานเป็น 3 กะๆ ละ 9 ชั่วโมง คือ เช้า (07.00 – 16.00 น.) บ่าย (15.00 – 24.00 น.) และดึก (23.00 – 08.00 น.) การเข้ากะการทำงานมีเวลาที่คาบเกี่ยวเพื่อให้ผู้ที่ทำงานมีเวลาในการผลัดเปลี่ยนกันในการรับ – ส่งหน้าที่ โดยไม่รบกวนการให้บริการแก่ผู้รับบริการ การทำงานในแต่ละกะการทำงานจะมีผู้ที่ทำงาน 2 - 3 คน ขึ้นกับช่วงเวลาที่ผู้รับบริการมาใช้บริการ เช่น กะการทำงานเช้าจะมีผู้ที่ทำงาน 3 คน ส่วนกะกลางคืนจะมีผู้ที่ทำงาน 2 คน เพราะช่วงเช้าเป็นช่วงเวลาที่มีผู้รับบริการมากกว่ากะกลางคืน ผู้ที่ทำงานจะมีหน้าที่หลัก คือ การให้บริการขายสินค้าแก่ผู้รับบริการโดยลักษณะการทำงานประกอบด้วย การต้อนรับผู้รับบริการ การคิดราคาสินค้า การเติมสินค้าและการติดราคาสินค้า การขายสินค้า การตรวจรับสินค้าและการทำความสะอาดร้าน เป็นต้น

- ในการเติมสินค้าและติดราคาสินค้า การจัดเตรียมสินค้าขึ้นชั้นวางสินค้าผู้ที่ทำงานจะก้มหยิบสินค้าจากกล่องบรรจุสินค้าที่วางอยู่บนพื้นแล้วนำสินค้าขึ้นจัดบนชั้นวางสินค้า ก่อนนำสินค้าขึ้นชั้นวางผู้ที่ทำ งานจะต้องติดราคาสินค้าด้วยเครื่องติดราคาสินค้า

- การขายสินค้า ผู้ที่ทำหน้าที่ขายสินค้าจะแนะนำและเสนอขายสินค้าที่มีในร้านให้แก่ผู้รับบริการ โดยผู้ที่ทำงานต้องจำสินค้ารวมทั้งชั้นวางสินค้าทุกชนิดในร้าน เพื่อที่จะให้ข้อมูลแก่ผู้รับบริการได้อย่างถูกต้อง

- การคิดราคาสินค้า การทำงานของผู้ที่ทำหน้าที่คิดราคาสินค้าจะต้องหยิบสินค้าบริเวณหน้าเคาน์เตอร์ด้วยมือขวา เพื่อนำมาคิดราคากับเครื่องคิดเงินที่ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือของผู้ที่ทำงานหลังจากนั้นจึงนำสินค้าใส่ถุงที่วางไว้ด้านซ้ายมือของผู้ที่ทำหน้าที่คิดราคาสินค้า ก่อนส่งให้ผู้รับบริการที่ยืนรอรับสินค้าอยู่หน้าเคาน์เตอร์

- การตรวจรับสินค้า ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจรับสินค้าต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้า โดยต้องตรวจทั้งชนิดและปริมาณให้ถูกต้องตามการสั่งซื้อ หลังจากนั้นจึงรับสินค้าจากรถขนส่งสินค้าและนำไปเก็บหลังร้าน ซึ่งกล่องที่บรรจุสินค้าจะมีน้ำหนักที่แตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้า การเคลื่อนย้ายกล่องบรรจุสินค้าเพื่อไปเก็บหลังร้าน กล่องที่มีน้ำหนักมากผู้ที่ทำงานจะใช้วิธีผลัก/ดันกล่องสินค้าจากหน้าร้านไปไว้หลังร้าน กรณีกล่องบรรจุสินค้าที่มีน้ำหนักไม่มากนักผู้ที่ทำงานจะยกกล่องบรรจุสินค้าด้วยมือทั้ง 2 ข้างแล้วนำไปเก็บไว้ด้านหลังร้าน

- การทำความสะอาดร้าน ผู้ทำหน้าที่ทำความสะอาดร้านจะทำความสะอาดพื้นโดยการใช้การม็อบแห้งหรือไม้ม็อบดักฝุ่นตามตารางการปฏิบัติงาน นอกจากนั้นผู้ที่เข้าทำงานกะกลางคืนยังต้องมีการใช้เครื่องขัดพื้นสำหรับทำความสะอาดด้วย ซึ่งขั้นตอนและวิธีการจะมีคู่มือการทำความสะอาดเป็นมาตรฐานให้ผู้ที่ทำงานปฏิบัติตาม

ผู้ที่ทำงานแต่ละคนจะมีตารางการปฏิบัติงานประจำกะ ตารางดังกล่าวมีการแบ่งหน้าที่และเวลาที่ชัดเจนว่าผู้ที่ทำงานแต่ละคนจะต้องทำงานอะไร เมื่อไร เช่น เติมน้ำร้อนในกาต้มน้ำไฟฟ้าเวลา 11.00 – 11.10 น. ทำความสะอาดร้านเวลา 15.00 – 15.20 น. เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะมีตารางเวลาในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน แต่สามารถปฏิบัติงานแทนกันได้ในกรณีที่ผู้ทำงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เช่น ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้บริการแก่ผู้รับบริการจึงทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ ผู้ที่ทำงานในกะการทำงานเดียวกันต้องปฏิบัติงานแทน การทำงานตามลักษณะดังที่ได้กล่าวมา ทำให้ผู้ที่ทำงานมีโอกาสสัมผัสปัจจัยอันตรายจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบผู้ที่ทำงานได้

ปัจจัยอันตรายจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน

จากลักษณะการทำงานของร้านสะดวกซื้อดังกล่าวข้างต้น ทำให้พนักงานมีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับปัจจัยอันตรายจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ทำงาน ปัจจัยอันตรายเหล่านั้น คือ ปัจจัยด้านกายภาพ (physical hazards) ปัจจัยด้านชีวภาพ (biochemical hazards) ปัจจัยด้านเคมี (chemical hazards) ปัจจัยด้านการยศาสตร์ (ergonomics) และปัจจัยด้านจิตสังคม (psychosocial hazards) เช่น

- ปัจจัยด้านกายภาพ (physical hazards) หมายถึง สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่มีอยู่ตลอดเวลาในการทำงานและก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่ทำงาน ได้แก่ แสงเลเซอร์จากเครื่องคิดเงินและคลื่นไมโครเวฟจากเตาอบอาหาร รวมทั้งความร้อนจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในการประกอบอาหาร เช่น ตู้อบขนมจีบ – ซาลาเปา แสงเลเซอร์จากเครื่องคิดเงินอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเรตินา กระจกตาเลนส์หรือจอรับภาพของดวงตาได้ นอกจากนั้นอาจทำให้ผิวหนังไหม้ถ้าได้รับการสัมผัสโดยตรง ผู้ที่ทำงานขายมีโอกาสสัมผัสคลื่นไมโครเวฟจากเตาอบขณะเตรียม / อุ่นอาหารให้ผู้รับบริการ การสัมผัสคลื่นดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดตา ร่างกายเมื่อยล้าและมีปัญหาในการนอนหลับ นอกจากนั้นยังทำให้ผิวหนังไหม้ ตาเป็นต้อกระจก อันตรายต่อระบบสืบพันธุ์และทำให้เสียชีวิตได้

- ปัจจัยด้านชีวภาพ (biochemical hazards) หมายถึง เชื้อโรคต่างๆ (infectious agent) เช่น แบคทีเรีย ที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมของการทำงาน โดยเชื้อโรคเหล่านั้นจะทำให้ร่างกายของผู้ที่ทำงานมีอาการเจ็บป่วย (วิทยา อยู่สุข, 2549) ผู้ที่ทำงานร้านสะดวกซื้อมีโอกาสได้รับเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ที่เจริญเติบโตในระบบเครื่องปรับอากาศ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ทำงานมีอาการของโรคภูมิแพ้และการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้

- ปัจจัยด้านเคมี (chemical hazards) หมายถึง สารเคมีที่เป็นสาเหตุให้ผู้ที่ทำงานเกิดอาการเจ็บป่วย สารเคมีดังกล่าวจะอยู่ได้ทั้งในรูปแบบก๊าซ / สารละลาย เนื่องจากตำแหน่งของร้านสะดวกซื้อมักจะตั้งอยู่ริมถนนในแหล่งชุมชน รวมทั้งอยู่ชั้นล่างของอาคารพาณิชย์มีสภาพที่แออัดไม่มีหน้าต่างและการระบายอากาศที่ดี ทำให้ผู้ที่ทำงานร้านสะดวกซื้อมีโอกาสได้รับสารเคมีจากการที่ผู้รับบริการเปิดประตูเข้า – ออกเพื่อมาใช้บริการ ทำให้ผู้ที่ทำงานมีโอกาสสัมผัสก๊าซคาร์บอนมอนน๊อคไซด์และโพลีไซคริก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์และฝุ่นละอองต่างๆ จากการจราจร รวมทั้งมีโอกาสสัมผัสสารเคมีจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ซึ่งมีส่วนประกอบของคลอรีนแอมโมเนีย แอลกอฮอล์และสารประกอบโซเวนท์ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวจะมีผลต่อเยื่อบุตา จมูกและคอ ทำให้เกิดอาการแสบและไอ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ผื่นแพ้หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จากการสัมผัสสารเคมีดังกล่าว

- ปัจจัยด้านการยศาสตร์ (ergonomics) หมายถึง ท่าทางในการทำงานที่ผิดปกติ ท่าทางที่ฝืนธรรมชาติ การทำงานที่ซ้ำซาก การทำงานที่ทำให้กล้ามเนื้อใช้งานหนักหรือมากชิ้นเกินไปสถานีในการทำงานออกแบบมาไม่เหมาะสม การทำงานที่ต้องมีการเคลื่อนไหวของร่างกายมากเกินไป เช่น การทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวมือตลอดเวลา ผลจากการทำงานดังกล่าวทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ การเจ็บป่วย การเมื่อยล้าส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เป็นต้น ผู้ที่ทำงานร้านสะดวกซื้อมีโอกาสได้รับปัจจัยอันตรายด้านการยศาสตร์จากการเคลื่อนย้ายลังบรรจุสินค้าที่มีขนาดใหญ่ จะทำให้มือและข้อมือเกิดความตึงตัวของกล้ามเนื้อและเอ็นมาก ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวเกิดการอักเสบหรือบาดเจ็บได้ รวมทั้งยังเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของหลังด้วย การเติมสินค้า การหยิบสินค้าขึ้นชั้นวางผู้ที่ทำงานจะก้มหยิบสินค้าจากพื้นและนำขึ้นชั้นวางสินค้า การกระทำดังกล่าวจะทำให้เกิดแรงกดลงบนหลัง ขาและคอ จะทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ จากการสำรวจผู้ที่ทำงานในร้านขายสินค้า พบว่า ร้อยละ 25 มีอาการปวดหลัง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการยกและเคลื่อนย้ายสินค้านอกจากนั้นการทำงานของร้านสะดวกซื้อผู้ที่ทำงานต้องเดินและยืนตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ทำให้เกิดอาการไม่สุขสบายของขา หัวเข่าและเท้าจากการที่ยืนทำงานเป็นเวลานาน

- ปัจจัยด้านจิตสังคมในการทำงาน (psychosocial hazards or psychosocial work factors) หมายถึงสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ผู้ทำงานต้องเผชิญหรือเกี่ยวข้องกับการทำงาน ได้แก่ ข้อเรียกร้องจากงาน (job demand) อำนาจในการควบคุมงาน (job control) และแรงสนับสนุนทางสังคม (social support) ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ทำงานเกิดความเครียดจากการทำงาน โดยความเครียดจะเกิดขึ้นเมื่อข้อเรียกร้องจากงานสูงแต่อำนาจในการควบคุมงานรวมทั้งแรงสนับสนุนทางสังคมของผู้ทำงานต่ำ การทำงานด้านการขายสินค้าจะเน้นความสำคัญของผู้รับบริการเป็นหลัก ทำให้ผู้ที่ทำงานต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้รับบริการตลอดเวลา จากรายงานการศึกษาความเครียดของผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้รับบริการ พบว่า ลักษณะงานดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับความเครียดของผู้ที่ทำงาน นอกจากนั้นยังมีรายงานการศึกษาในเรื่องความเครียดของผู้ที่ทำงานด้านการขายสินค้าที่สนับสนุนว่าผู้ที่ทำงานดังกล่าวมีความเครียดจากการทำงานโดยรายงานการศึกษาดังกล่าว พบว่า ผู้ที่ทำงานเพศหญิงมีความเครียดจากการทำงานสูงเป็น 10.67 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ทำงานด้านบริหารและผู้ที่ทำงานเพศชายมีความเครียดจากการทำงานสูงเป็น 1.54 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ทำงานด้านบริหาร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net