Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ภาพประกอบจาก
เครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยา จังหวัดสงขลา

มาหมัด อามีนเป็นเด็กหนุ่มชาวโรฮิงญา อายุไม่มาก เขาบอกว่าประมาณ 16-17 ปี อาจจะมากหรือน้อยกว่า ก็ไม่มีใครยืนยันได้ มีเด็กชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ไม่ทราบอายุตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองเกิดวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร หรือ แม้แต่ปีอะไร ชาวโรฮิงญารุ่นใหม่ที่เกิดในประเทศเมียนมาร์จำนวนมากไม่มีเอกสารยืนยันการเกิดของตน ไม่มีโอกาสได้เรียน ภาษาของชาวโรฮิงญาหลงเหลือเพียงแค่ภาษาที่ใช้ในการพูดเป็นหลัก การอ่านและเขียนจึงจำเป็นต้องใช้ภาษาพม่า การเรียนจึงอาจเป็นทางเดียวที่จะรับรู้เรื่องราวโลกภายนอก แต่การที่ต้องใช้ภาษาเขียนพม่า เรื่องราว บันทึก ประวัติศาสตร์ของตนจึงค่อย ๆ สูญหาย ความทรงจำที่พวกเขามักนึกถึงจึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่สืบทอดมาหลายร้อยปี แต่ความลำบากในชีวิต การอพยพครั้งแล้วครั้งเล่าจากบ้านเกิดสู่ดินแดนอื่น ๆ ที่พวกเขาไม่คุ้น

ชาวโรฮิงญา รุ่นพ่อและแม่ของอามีนหลายคนเคยมีเอกสารยืนยันสถานะบุคคลของตน หลายคนมีบัตรประชาชน มีทะเบียนบ้าน เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และพรรคการเมืองของชาวโรฮิงญาก็เคยเกือบมีจะผู้แทนของตนไปนั่งในสภาผู้แทนในกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงในขณะนั้น แต่การปกครองภายใต้ระบอบทหาร อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ประชาชน และการปกครองก็ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมาย แม้ชาวโรฮิงญาจะมีเอกสารที่ยืนยันว่าพวกเขาเป็นพลเมืองของเมียนมาร์เช่นเดียวกับคนกลุ่มชาติพันธ์ุอื่น ๆ ในเมียนมาร์ แต่เป้าหมายทางการเมืองของทหารก็ชัดเจน คือการขจัดพลังทางการเมืองที่ต่อต้านทหาร หรือเป็นพันธมิตรของกลุ่มการเมืองของพลเรือนในเมียนมาร์ ก็รวมถึงชาวโรฮิงญา

การปฏิบัติการกวาดล้างผู้อพยพจากบังคลาเทศเริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 1972 รัฐบาลทหารของนายพลเนวิน เริ่มปฏิบัติการที่เรียนกว่า "Operation King Dragon" กวาดล้างผู้ที่เชื่อได้ว่าเป็นผู้อพยพจากบังคลาเทศ ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 200,000 คน อพยพหนีเข้าไปในบังคลาเทศ พร้อมกับการสูญเสียเอกสารแสดงสถานะของตน การอพยพเกิดขึ้นอีกหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง

ผมเจออามีน ในวันที่ผมไปเยี่ยมกาลัมที่หาดใหญ่ ในกลางปี 2557 กาลัมบอกผมว่ามีชาวโรฮิงญาหลายคนที่หนีออกมาจากสถานที่กักขังของขบวนการนอกกฎหมาย บางคนก็เคยถูกจับมาแล้วในปี 2556 ตอนนี้อยู่ที่บ้านหลังหนึ่งในหาดใหญ่ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในภาคใต้เช่าไว้สำหรับให้ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีออกมาได้มาอยู่เพื่อที่จะได้สัมภาษณ์ สอบถามข้อมูลเพื่อจับขบวนการนอกกฏหมาย อามีนเป็นหนึ่งในชาวโรฮิงญาประมาณ 6-7 คนที่อยู่ในบ้านหลังนั้น

กาลัม เล่าเรื่องของ อามีน ให้ผมฟัง พร้อม ๆ กับเรื่องของชาวโรฮิงญาอีกหลายคนในบ้านหลังนั้น ครอบครัวของอามีนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ของอำเภอบ๊อกตอว์ (Pauktaw Township) ในรัฐยะใข่ ประเทศเมียนมาร์ พ่ออามีน ชื่ออาซิม แม่ชื่อนูจาฮัด แม่ของเขาถูกยิงตายในเหตุการณ์ความรุนแรงในปี ค.ศ. 2012 พร้อมกับพี่ชายอีกคน จากพี่น้องทั้งหมด 5 คน อามีนเป็นเป็นคนรองสุดท้อง ความรุนแรงในหมู่บ้านของเขา ไม่ได้ทำให้เขาสูญเสียแม่ และพี่ชายเท่านั้น ครอบครัวของเขากลายเป็นคนไร้บ้านทันทีที่หมู่บ้านโดนเผาทำลาย เจ้าหน้าตำรวจของเมียนมาร์อ้างความไม่ปลอดภัยห้ามไม่ให้พวกเขากลับบ้านเพื่อเก็บทรัพย์สิน และเอกสารของพ่อ พวกเขาถูกนำตัวไปพักยังสถานพักพิงชั่วคราวที่รัฐบาลจัดให้ ชีวิตในค่ายพักพิงชั่วคราวค่อย ๆ กลายเป็นค่ายกักกันชาวโรฮิงญา เมื่อความช่วยเหลือจากภายนอกต้องผ่านกระทำผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจของเมียนมาร์ ข้าวจากหลายร้อยกระสอบ เหลือเพียงแค่ข้าวไม่ถึงกิโลสำหรับครอบครัวเขาใน 1 วัน

อามีน หนีออกมาจากกักกันของรัฐบาลเมียนมาร์เดินทางออกมาจากรัฐยะใข่ ประเทศพม่าทางเรือ ถูกนำมาพักอยู่บนเกาะในพื้นที่ระนองประมาณ 15 วัน แล้วถูกนำมาพักอยู่กับนายหน้าประมาณ 2 เดือนในสวนยางแต่ไม่ทราบพื้นที่ จนกระทั่งหนีออกมาจากค่ายกักขังของนายหน้าในสวนยาง จนมาเจอชาวบ้านในตำบลคลองแงะ อำเภอสะเดาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น

อามีน กลายเป็นผู้อพยพในประเทศเมียนมาร์ ประเทศบ้านเกิดของตน เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นชาวเบงกาลี กลุ่มคนที่อยู่อาศัยในประเทศบังคลาเทศในปัจจุบันเนื่องจากความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมทั้งศาสนา ภาษา และการแต่งกาย รัฐบาลทหารของเมียนมาร์ไม่เคยยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "โรฮิงญา" แม้ว่าพวกเขาจะเคยได้รับสัญชาติในภายหลังที่ประเทศเมียนมาร์ได้รับเอกราชเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธ์อื่น ๆ ในเมียนมาร์

ระหว่างที่ผมนั่งคุยกับอามีน โดยที่กาลัมคอยช่วยแปลให้ หลายคำที่ผมคุ้นหูและเดาความหมายได้บ้าง "นาม" คือชื่อ ซึ่งก็ใกล้เคียงกับ "Name" ในภาษาอังกฤษ และอื่นๆ แต่ไม่เพียงแค่คำในภาษาอังกฤษที่ถูกหยิบยืมเข้ามาใช้และเป็นส่วนหนึ่งของภาษาโรฮิงญา คำในภาษาพม่าหลายคำก็ถูกหยิบยืมเข้ามาในช่วงเวลาภายหลังที่พม่าเข้ามามีอิทธิพลเหนืออาระกันทั้งในช่วงก่อนและหลังอาณานิคม ความสับสนของผมเกี่ยวกับภาษาโรฮิงญา ทำให้ผมย้อนกลับไปครั้งหนึ่งก่อนที่ผมจะมาเจออามีน เรา หมายถึงผมและเพื่อนร่วมงานในองค์กรได้มีโอกาสสัมภาษณ์ หาข้อเท็จจริงระหว่างการเดินทางของชาวโรฮิงญาที่เข้ามาก่อนหน้าอามีน ล่ามที่เข้ามาช่วยเรา นอกจากจะพูดโรฮิงญาได้แล้ว ก็ยังสามารถพูดได้ภาษาอูรดู เบงกาลี เฉพาะภาษาอูรดู ก็เป็นภาษาหลักที่ชาวมุสลิมตอนเหนือในอินเดียใช้กัน นับตั้งแต่ในยุคสมัยที่ราชวงศ์โมกูลของอินเดียมีอำนาจเหนือราชอาณาจักรทั้งหลายตังแต่ตะวันออกสุดของอินเดียจนถึงปากแม่น้ำใหญ่ของเบงกอล ซึ่งต่อภาษาอูรดูก็ได้พัฒนาออกมาเป็นเบงกาลี และบางส่วนก็เพี้ยนเป็นสำเนียงจิตตะกอง และโรฮิงญา ซึ่งทำให้ภาษาโรฮิงญากลายเป็นภาษาที่ผ่านการผสมผสานภาษาของผู้คนจำนวนมาที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับอารกัน

หากเราสืบเชื้อสายทางกายภาพของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "โรฮิงญา" คงสามารถสืบสาวย้อนกลับไปได้ไกลและอาจจะครอบคลุมถึงกลุ่มคนต่าง ๆ ที่อยู่อาศัยอยู่ในเส้้นทางการค้าทางทะเลตั้งแต่พ่อค้าชาวอาหรับ-เปอร์เซีย คนพื้นเมืองในอินเดียและหมู่เกาะ จนถึงชาวมาลายูและคนพื้นเมืองบนหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก็คงรวมถึงผู้อพยพจากอนุทวีปอินเดียทีเข้ามาทำงานในพม่าภายใต้รัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษ แต่ก็ไม่คงสามารถที่จะสรุปว่าเป็นการอพยพเข้าไปในพม่าของคนอินเดียเท่านั้น ระหว่างการรุกรานอาระกันของกองทัพพม่า ชาวอาระกันจำนวนมาก็อพยพหนีสงครามเข้าไปในเบงกอล ของอินเดียเมื่ออังกฤษชนะสงครามกับราชสำนักพม่าในครั้งที่หนึ่ง ชาวอาระกันทั้งพุทธและมุสลิมที่เคยหนีพม่าออกไปก็กลับเข้ามาพร้อม ๆ แรงงานจากอินเดียและเบงกอลอังกฤษ

โรฮิงญา จึงเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ และพัฒนาอัตลักษณ์ของตนขึ้นมาพร้อม ๆ กับสำนีกชาตินิยมในเมียนมาร์และปากีสถานตะวันออก หรือบังคลาเทศในปัจจุบัน ที่ความบังเอิญทางประวัติศาสตร์ของอาระกันเคยอยู่ภายใต้ราชสำนักพม่าในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่อังกฤษจะเข้ามาปกครองพม่า เมื่อภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ รัฐอาณานิคมทั้งหลายต่างเรียกร้องเอกราช รวมถึงเมียนมาร์ อินเดีย ก่อนที่ชาวมุสลิมจะขอแยกออกมาเป็นปากีสถาน และต่อมาชาวบังคลาเทศขอแยกปากีสถานตะวันออกออกมาเป็นบังคลาเทศ อาระกันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพม่าสมัยใหม่ที่เรียกกันว่า เมียนมาร์ ในปัจจุบัน และชาวโรฮิงญา จึงกลายเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุในเมียนมาร์ที่เคยเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในการปกครองตัวเองเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นๆ ในเมียนมาร์ แต่ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความขัดแย้งในประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ุโรฮิงญา และชาวยะใข่ที่อยู่ในรัฐยะใข่ กับชาวพม่าแท้ ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศเมียนมาร์ ทำให้ชาวโรฮิงญามักตกเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหา ความยากลำบากที่เกิดขึ้นต่อชาวยะใข่จากชาวพม่าหรือการเมืองระดับชาติของเมียนมาร์ ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่เป็นคู่แข่งกับชาวยะใข่ในการเมืองภายในรัฐยะใข่

“โรฮิงญา” หรือ “โรฮิงจา” หรืออะไร ก็คงเป็นเรื่องของราชบัณฑิต แต่การให้ความสำคัญกับ “คำ” ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ( สมช.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดูจะเป็นอะไรที่ไม่เข้าเสียเลย และไม่ได้ช่วยให้พวกเราเข้าใจในสภาพปัญหาที่ประเทศนี้กำลังเผชิญ ปัญหาของผู้อพยพทางทะเลที่อาจพูดได้อย่างเต็มปากว่า มีความรุนแรงเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงแต่การอพยพจากแอฟริกาเข้าสู่ยุโรปผ่านทะเลเมดิเตอรเนียน ที่หลายเดือนที่ผ่านมามีผู้อพยพเสียชีวิตหลายพันคนจนทำให้ยุโรปต้องเปลี่ยนจากภารกิจป้องกันและปรามขบวนการการค้ามนุษย์เป็นภารกิจกู้ภัย ช่วยเหลือผู้อพยพจำนวนมากแทน

 

 

ปล.ผมกลับมาพบอามีนอีกครั้งในสถานคุ้มครองแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา ซึ่งทำให้ผมรู้จักมากขึ้นเกี่ยวกับชีวิตของอามีน ความลำบากที่เขาที่เคยเจอ และสภาพที่เขากำลังเผชิญในประเทศของผม ที่ผมช่วยอะไรเขาได้ไม่มาก

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ศิววงศ์ สุขทวี  เป็น ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net