ชำนาญ จันทร์เรือง: เข้าใจรัฐสภาสหราชอาณาจักรอย่างง่ายๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

<--break- />เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2015 (2558) ที่ผ่านมามีการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักร ซึ่งก็เป็นที่ทราบผลกันแล้วว่าพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ของนายเดวิด คาเมรอน ได้รับชัยชนะได้เสียงข้างมากคือ 331 เสียงซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด 650 คน แต่ผมมีข้อสังเกตว่าการรายงานข่าวของสื่อมวลชนทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งนั้นส่วนใหญ่จะใช้การรายงานว่า “การเลือกตั้งอังกฤษ” ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการเลือกตั้งของทั้งหมดสหราชอาณาจักรซึ่งประกอบไปด้วย อังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือและเวลส์ ที่สำคัญก็คืออังกฤษเองนั้นไม่มีสภานิติบัญญัติเป็นของตนเองแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือและเวลส์ที่ต่างก็มีสภานิติบัญญัติทำหน้าที่ในการออกกฎหมายลำดับรองเป็นของตนเองต่างหากเป็นการเฉพาะ

 

องค์ประกอบรัฐสภาสหราชอาณาจักร (The United Kingdom Parliament หรือ The Westminster Parliament)

1) สภาสามัญ (House of Commons)

คือสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาสามัญหรือที่เรียกว่าสภาล่างนี้ประกอบไปด้วยสมาชิก 650 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตๆ ละหนึ่งคน (Single Constituency) โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละเขตเลือกตั้งจะเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งตามหลัก the winner takes all นั่นเอง โดยไม่มีระบบบัญชีรายชื่อหรือ party list แบบบ้านเราแต่อย่างใด วาระของสภาสามัญมีอายุกำหนดคราวละไม่เกิน 5 ปี แต่นายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้พระมหากษัตริย์ยุบสภาก่อนครบวาระและให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดก็ได้ แต่ปัจจุบันทำได้ค่อนข้างยากเพราะ Fixed Term Parliament Act ปี 2011 (2554) กำหนดไว้ว่าต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาสามัญ 2 ใน 3 ขึ้นไป และสภาฯอาจมีวาระมากกว่า 5 ปีก็ได้ หากมีความจำเป็นต่อประเทศชาติหรือเกิดภาวะฉุกเฉิน

2) สภาขุนนาง (House of Lords)

คือวุฒิสภา ซึ่งในอดีตสภาขุนนางมีอำนาจมากกว่าสภาสามัญ แต่ในปี 1911 (2454) ได้มีการแก้ไขไม่ให้สภาขุนนางแก้ไขร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน แต่มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบยืนตามสภาสามัญเท่านั้น ต่อมาเมื่อปี 1999 (2542) กำหนดให้สมาชิกสภาขุนนางที่สืบฐานันดรศักดิ์ไม่อาจสืบทอดสมาชิกภาพให้แก่ทายาทได้อีกต่อไป และในปี 2005 (2548) ได้มีการออก Constitutional Reform Act แก้ไขอำนาจหน้าที่ที่แต่เดิมสภาขุนนางทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศ (final court of appeal) เปลี่ยนไปเป็นอำนาจของศาลฎีกา (Supreme Court of United Kingdom) ซึ่งเปิดทำการครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2009 (2552) จึงเป็นการแยกอำนาจตุลาการออกมาอย่างเด็ดขาดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันสภาสามัญมีสมาชิก 755 คน ซึ่งแบ่งได้เป็น

2.1 ขุนนางสืบฐานันดรศักดิ์โดยการเลือกตั้งภายใน (Elected Hereditary Peers) จำนวน 92 คน

2.2 ขุนนางตลอดชีพ (Life Peers) จำนวน 614 คน การแต่งตั้งเป็นไปเพื่อให้รางวัลสำหรับบุคคลทีทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ เช่น บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือประธานสภาสามัญ เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปก็มาจากการเสนอของพรรคการเมืองต่างๆ นั่นเอง

2.3 ขุนนางโดยตำแหน่งที่เป็นนักบวชสมณศักดิ์ (Archbishops and Bishops) จำนวน 26 คน

 

สภานิติบัญญัติลำดับรองในสหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักรได้มีปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองโดยมีการโอนอำนาจ (Devolution) ในด้านนิติบัญญัติให้แก่สกอตแลนด์ เวลส์และไอร์แลนด์เหนือให้มีอำนาจในการตัดสินใจด้านนิติบัญญัติบางส่วนในฐานะสถาบันนิติบัญญัติลำดับรอง ซึ่งการโอนอำนาจนิติบัญญัติของสหราชอาณาจักรนี้ไม่ได้มีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ (federal state) เช่น สหรัฐอเมริกาที่แยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลของมลรัฐต่างๆ อย่างชัดเจน แต่ในส่วนของสหราชอาณาจักรนั้นยังสามารถแก้ไขหรือเพิกถอนกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภาสกอตแลนด์ เวลส์หรือไอร์แลนด์เหนือได้เช่นเดียวกับการแก้ไขหรือเพิกถอนพระราชบัญญัติอื่นๆ

1) รัฐสภาสกอตแลนด์ (The Scottish Parliament)

เป็นผลมาจากการลงประชามติในวันที่ 11 กันยายน 1997 (2540) เรื่องการโอนอำนาจให้สกอตแลนด์จนมีการตราพระราชบัญญัติสกอตแลนด์ ปี 1998 (2541) ที่กำหนดให้มีการจัดตั้งรัฐสภาสกอตแลนด์และจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 6 พฤษภาคม 1999 (2542) โดยรัฐสภาสกอตแลนด์ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 129 คน โดย 73 คนมาจากการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ส่วนอีก 56 คน มาจากการเลือกตั้งโดยระบบเสริมสมาชิก (Addition Member System) ซึ่งเป็นระบบผสมระหว่างระบบเสียงส่วนใหญ่กับระบบสัดส่วน

2) สภาไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Assembly)

จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงเบลฟาสต์ (Belfast Agreement) เมื่อ 10 เมษายน 1998 (2541) ซึ่งนำไปสู่การยุติความรุนแรงที่มีมานานกว่า 30 ปี โดยมีการตราพระราชบัญญัติไอร์แลนด์เหนือ ปี 1998 (2541) และมีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 1998 (2541) โดยสภาไอร์แลนด์เหนือมีสมาชิกจำนวน 108 คน

3) สภาแห่งเวลส์ (The National Assembly for Wales)

เป็นผลมาจากการลงประชามติในปี 1997 (2540) เรื่องการโอนอำนาจให้แก่เวลส์ จึงมีการตราพระราชบัญญัติ The Government of Wales Act 1998 (2541) ซึ่งมีผลให้มีการจัดตั้งสภาแห่งเวลส์ขึ้น โดยสภาแห่งเวลส์นี้ประกอบไปด้วยสมาชิก จำนวน 60 คน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

เป็นที่น่าสังเกตว่าสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือและเวลส์ต่างก็มีสภาที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายลำดับรองและมีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมฝ่ายบริหารที่เป็นของตนเอง แต่อังกฤษนั้นไม่มีแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่สื่อมวลชนและผู้คนทั้งหลายเรียก “การเลือกตั้งสหราชอาณาจักร” ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2015 (2558) ว่าเป็น “การเลือกตั้งอังกฤษ” จึงไม่ถูกต้อง

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการที่สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือและเวลส์มีสภาเป็นของตนเองนั้นเป็นผลที่มาจากการลงประชามติของประชาชนและการพยายามแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ โดยหลักการให้สิทธิแก่ประชาชนในการจัดการตนเอง (Self Governing) ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เรียกว่า Self Determination Right หรือสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง ที่คนเชียงใหม่หรือคนในสามจังหวัดภาคใต้และในหลายๆ จังหวัดพยายามขับเคลื่อนอยู่นั่นเอง

--------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท