Skip to main content
sharethis

ในที่สุดสื่อก็เปิดเผยบันทึกลับที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ส่งถึงรัฐมนตรีหลายกระทรวงเพื่อแสดงพระประสงค์ในหลายประเด็นหลังจากศาลอนุญาตให้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ นับเป็นชัยชนะของเสรีภาพทางข้อมูลข่าวสาร และทำให้ราชวงศ์อังกฤษมีความโปร่งใสมากขึ้น


ภาพโดย Dan Marsh 
(CC BY-SA 2.0)


14 พ.ค. 2558 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า มีการเปิดเผยบันทึกลับการล็อบบี้ระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงจำนวน 27 ฉบับแล้ว หลังจากมีการต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนานนับ 10 ปี

บันทึกลับทั้ง 27 ฉบับดังกล่าวถูกส่งให้รัฐบาลอังกฤษสมัยนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ช่วงปี 2547-2548 มีชื่อเรียกว่า "บันทึกแมงมุมดำ" (black-spider memos) ตามลักษณะลายมือของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ โดยก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดของอังกฤษเคยพยายามปิดกั้นไม่ให้มีการเผยแพร่บันทึกลับดังกล่าวนี้แต่ก็มีการตัดสินจากศาลด้านเสรีภาพข้อมูลข่าวสารในเวลาต่อมาว่าการพยายามปิดกั้นดังกล่าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ร็อบ อีวาน นักข่าวเดอะการ์เดียนเรียกร้องต่อศาลให้มีการเปิดเผยบันทึกเหล่านี้ต่อสาธารณชนได้ จนในที่สุดศาลสูงสุดของอังกฤษก็ตัดสินให้มีการเปิดเผยบันทึกแมงมุมดำได้

ในบันทึกแมงมุมดำ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงแสดงพระประสงค์ต่อประเด็นต่างๆ หลายประเด็นจากรัฐบาลโทนี แบลร์ ตั้งแต่การเรียกร้องให้พัฒนายุทโธปกรณ์ให้กองทัพในการสู้รบสงครามอิรัก ประเด็นเรื่องยาสมุนไพรทางเลือก ประเด็นเรียกร้องให้กำจัดตัวแบดเจอร์เพื่อป้องกันโรค ไปจนถึงล็อบบี้ให้มีการแต่งตั้งคนโปรดของพระองค์เพื่อปราบปรามซูเปอร์มาร์เก็ตที่ปฏิบัติไม่ดีต่อชาวนา และเสนอให้ผู้ช่วยส่วนพระองค์เป็นผู้สรุปแผนการสร้างโรงพยาบาลใหม่แก่รัฐบาล

เดอะการ์เดียนระบุอีกว่าที่ทางการอังกฤษพยายามลงทุนถึงมากกว่า 400,000 ปอนด์ เพื่อสู้คดีให้มีการปกปิดบันทึกเหล่านี้น่าจะเป็นเพราะบันทึกเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงมีความสนพระทัยในประเด็นที่แคบมาก เช่นการเรียกร้องให้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมในยุคนั้นจัดการประเด็นเรื่องการตกปลาพาทาโกเนียนทูธฟิชอย่างผิดกฎหมาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามจดหมายเหล่านี้ยังเผยให้เห็นอีกว่ารัฐมนตรีไม่เพียงแค่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์อย่างแข็งขัน แต่ยังแสดงความคิดเห็นตอบกลับว่าการแทรกแซงรัฐบาลของพระองค์เป็นเรื่องน่าเคารพ เช่นที่แบลร์ตอบกลับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในจดหมายฉบับหนึ่งระบุว่า "กระหม่อมให้คุณค่าและตั้งตาคอยพระดำริของพระองค์เสมอมา อาจจะด้วยประเด็นเรื่องเกษตรกรรมโดยเฉพาะ" ขณะที่เลขาธิการกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษในยุคนั้นระบุตอบจดหมายเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในทำนองว่าเขาภูมิใจที่ได้เป็นข้ารับใช้พระองค์

เดอะการ์เดียนระบุอีกว่าไม่เพียงแค่ยุคที่พรรคแรงงานเป็นรัฐบาลเท่านั้น เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ยังพยายามมีอิทธิพลกับรัฐบาลอังกฤษในยุคสมัยที่พรรคอนุรักษ์นิยมเป็นรัฐบาลโดยตั้งแต่ปี 2553 มีการประชุมระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับคณะรัฐมนตรีอังกฤษ 87 ครั้งแล้ว ซึ่งเดอะการ์เดียนระบุว่าในปัจจุบันคนอังกฤษกำลังมองว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์พยายามแสดงออกด้านการแทรกแซงการปกครองอย่างโจ่งแจ้งมากกว่าพระราชินิอลิซาเบธผู้เป็นประมุขของอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่านับตั้งแต่เดอะการ์เดียนเรียกร้องให้มีการเปิดเผยบันทึกต่อประชาชนรัฐบาลอังกฤษก็เปลี่ยนแปลงกฎหมายเสรีภาพข้อมูลข่าวสารให้เข้มงวดขึ้นโดยระบุ "ข้อยกเว้นโดยสิ้นเชิง" ต่อกรณีเรียกร้องข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระราชินีและรัชทายาท

พอล ฟลิน ส.ส. พรรคแรงงาน ระบุว่าจดหมายที่ถูกเปิดโปงนี้ทำให้เห็นเรื่องราวของการล็อบบี้ยังคงมีอยู่ในกลุ่มระดับสูงของอังกฤษซึ่งผู้พยายามล็อบบี้มีการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์และเป็นความคิดเห็นที่ไม่ควรให้ความเชื่อถือแต่กลับทำเป็นเรื่องจริงจังและเป็นเรื่องเร่งด่วนทั้งที่ไม่ควรจะเป็น

ทางด้านเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แสดงความกังวลพระทัยว่าหลังการเปิดโปงจดหมายถึงรัฐมนตรีของพระองค์แล้วจะทำให้ความสามารถในการแสดงพระประสงค์ต่อประเด็นต่างๆ ได้น้อยลง โฆษกของพระองค์ยังกล่าวอีกว่าจดหมายของพระองค์เป็นแค่การแสดงความเป็นห่วงต่อประเด็นต่างๆ และไม่ได้มีจุดประสงค์ทางการเมืองหรือมีความลำเอียงทางการเมือง

ในเรื่องนี้อลัน รัสบริดเจอร์ หัวหน้ากองบรรณาธิการของเดอะการ์เดียนกล่าวว่าพวกเขาต่อสู้ในคดีนี้เพราะเชื่อว่าราชวงศ์อังกฤษควรมีความโปร่งใสเทียบเท่าบุคคลอื่นๆ ในเรื่องของการพยายามสร้างอิทธิพล และแม้ว่าอัยการจะเคยอ้างว่าต้องปิดกั้นไม่ให้บันทึกรั่วไหลไปสู่สาธารณชนเนื่องจากอาจจะทำให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ถูกมองว่าไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองแต่ตัวเขาคิดว่าควรจะมีการเผยแพร่เนื้อหาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเอง

คำตัดสินของศาลในครั้งนี้นอกจากจะเป็นชัยชนะของเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้ว ไมเคิล มีเชอร์ อดีตเลขาธิการกระทรวงสิ่งแวดล้อมผู้เคยได้รับจดหมายจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ยังกล่าวอีกว่าการเปิดเผยจดหมายเหล่านี้จะช่วยทำให้ประชาชนเลิกสงสัยในกระบวนการ และตัวเขาเองมองว่าจดหมายจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เป็นแค่การแสดงพระดำริของพระองค์เท่านั้นไม่ใช่การ "ล็อบบี้" แบบที่บางคนกล่าวหา


เรียบเรียงจาก

Prince Charles's 'black spider memos' show lobbying at highest political level, The Guardian, 13-05-2015
http://www.theguardian.com/uk-news/2015/may/13/prince-charles-black-spider-memos-lobbying-ministers-tony-blair

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net