ภาพวันนั้น-พื้นที่วันนี้ : 5 ปี “กระชับวงล้อม” กับความคืบหน้าคดี

เป็นเวลา 5 ปีสำหรับเหตุการณ์ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. “กระชับวงล้อม” พื้นที่การชุมนุมคนเสื้อแดง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเดือน พ.ค. (13 – 19 พ.ค. 53) ซึ่งมีพื้นที่การปะทะในวงกว้าง ตั้งแต่ ถนนราชปรารภ ถนนพระราม 4 วันนี้ร่องรอยกระสุนที่บ่งบอกถึงทิศทางการยิงยังคงปรากฏอยู่ให้เห็นบ้างตามพื้นที่ดังกล่าว แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว เช่น จุดที่ทหารประจำการปั๊มน้ำมันเอสโซ่ที่ ถนนราชปรารภ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ปัจจุบันก็กลายปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ และปั๊มน้ำมัน ปตท. ที่ถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดปะทะสำคัญ ปัจจุบันก็ปิดไปแล้ว รวมทั้งจุดใกล้เคียงอย่างสนามมวยลุมพินีและอาคารหน้าสนามมวย ซึงเป็นจุดปรากฏภาพทหารพลซุ่มยิ่งระวังป้องกันอยู่บนนั้นวันที่ 15 พ.ค.53 ปัจจุบันก็ถูกรื้อไปแล้ว แม้แต่อาคารของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โดยเฉพาะในส่งของ ZEN ที่ถูกเพลิงไหม้ไปเมื่อ 5 ปีก่อนก็กลับมาเหมือนเดิมแล้ว

รอยกระสุนบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่บริเวณสะพานลอยหน้าปาก ซ.งามดูพลี ถ.พระราม 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดปะทะสำคัญ

ภาพรอยกระสุนที่ยังคงหลงเหลือบริเวณสะพานลอยใกล้ปั้มเชลล์ ราชปรารภ 

รอยกระสุนที่ยังเหลืออยู่บริเวณเสาไฟฟ้า หน้าคอนโดเดอะคอมพลีท ใกล้ปั้มเชลล์ ราชปรารภ

อาคารของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โดยเฉพาะในส่วนของ ZEN เมื่อคืนวันที่ 19 พ.ค.58

ไม่เพียงสถานที่ที่มีการเปลี่ยนแปลง กระบวนการแสวงหาความจริงและกระบวนการยุติธรรม แม้จะมีหลายกรณีที่ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.150 ระบุทิศทางที่มาของกระสุนหรือผู้ลงมือกระทำให้เกิดการเสียชีวิตว่ามาจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของ ศอฉ. แล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าความเป็นไปได้ที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดจะยากมากขึ้น หลังจากเมือวันที่ 28 ส.ค. 57 ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เมื่อปี 2553 ทำให้เห็นมีผู้ถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บจำนวนมาก

โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม

อย่างไรก็ตามท่ามกลางภาพความตายที่ยังคงหลงเหลือในโลกไซเบอร์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เขียนทดลองนำภาพเหตุการณ์บางส่วนเมื่อ 5 ปีก่อนมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันเพื่อทบทวนความทรงจำและฉากความโหดร้ายที่สุดฉากหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยจะนำภาพสำคัญๆ ย้อนกลับไปถ่ายตามจุดต่างๆ ที่เกิดเหตุ พร้อมอัพเดทความคืบหน้าของคดีที่เกี่ยวข้องกับภาพ

ภาพที่ 1 (ดู Google Map จุดดังกล่าว)

ภาพที่ 1 ภาพร่างของอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รหัสทองหล่อ 016 หรือ มานะ แสนประเสริฐศรี วัย 22 ปี ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ กระสุนปืนทำลายสมอง ที่บริเวณปากซอยงามดูพลี หน้าธนาคารกสิกรไทย ถนนพระราม 4 ช่วงเวลาประมาณ 14.00 – 15.00 น. ของวันที่ 15 พ.ค.56 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ใกล้เคียง(ฝั่งตรงข้ามถนน)และต่อเนื่องกับเหตุการณ์  “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” 2 นาย ในภาพที่ 2 โดยนอกจากมานะแล้ว ใกล้ๆ กันซึ่งมองไม่เห็นในภาพจะมีร่างของพรสวรรค์ นาคะไชย ซึ่งเป็นผู้ถูกยิงที่มานะพยายามเข้าไปช่วยพร้อมถือธงที่เป็นสัญลักษณ์กาชาดเข้าไปด้วย ก่อนจะถูกยิงและเสียชีวิตทั้งคู่ โดยคดีของทั้ง 2 คนถูกรวมเป็นคดีเดียวกันและมีการเริ่มการไต่สวนการเสียชีวิตแล้ว (คลิกอ่านเพิ่มเติม)

นอกจากนี้ภาพดังกล่าวในวันที่ 20 พ.ค.53 ยังถูกพล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก นำไปใช้แถลงข่าวเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารในการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 19 พ.ค.53 เพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงถูกยิงจากการพยายามเข้าไปดับเพลิงที่เซ็นทรัลเวิลด์  ทั้งๆ ที่เป็นภาพที่ต่างสถานที่ ต่างเวลา โดยพล.ท.ดาว์พงษ์ แถลงว่า “จังหวะเวลาที่เรารอยังไม่เข้าในช่วงนั้น ผู้ที่อยู่ข้างในบางส่วนก็เริ่มเผาทำลาย ภายในก็เริ่มเผาตรงเซ็นทรัลเวิลด์ โรงแรมเซนทารา แกรนด์  ดับไปแล้วก็มาเผาใหม่ เราก็พยายามเอารถดับเพลิงเข้าไปในพื้นที่ พอรถดับเพลิงเข้าไปในพื้นที่ก็ถูกยิงออกมา ทำให้ไม่สะดวกในการเข้าไป  ก็ทำให้เกิดความสูญเสีย  แต่เราก็พยายามเต็มที่ที่จะพยายามนำรถดับเพลิงเข้าไป  แต่มีการต่อต้านอยู่ตลอดเวลา” (พล.ท.ดาว์พงษ์แถลงพร้อมนำภาพมานะ ซึ่งถูกยิงวันที่ 15 ตรงปากซอยงามดูพลีมาแสดงประกอบ คลิกดูคลิปดังกล่าว)

อย่างไรก็ตามทั้ง มานะและพรสวรรค์ การไต่สวนการตาย ศาลได้มีคำสั่งไปเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56 ว่า “ทั้งสองถึงแก่ความตาย เพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนชนิดร้ายแรงและมีความเร็วสูง ขณะอยู่บริเวณใกล้ปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ” (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ในภาพจะเห็นการล้อมกำแพงสีขาว ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสนามมวยลุมพินีและอาคารหน้าสนามฯ ที่ 2  “พลแม่นปืนระวังป้องกัน”  ประจำอยู่ในวันที่ 15 พ.ค.53

ภาพเมื่อ 3 ปีที่แล้วก่อนอาคารดังกล่าวถูกรื้อ

ภาพที่  2 (ดู Google Map จุดดังกล่าว)

ภาพ 2 : พื้นที่ที่เคยเป็นอาคารหน้าสนามมวยลุมพินี ซึ่งเป็นจุดที่ 2  “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเหตุการณ์ในวันที่ 15 พ.ค.53 เวลาประมาณ 14.00 น. บริเวณชั้น 2 อาคารหน้าสนามมวยลุมพินี กับประโยคที่มาพร้อมเสียงปืนว่า "ล้ม ล้ม แล้ว อย่า อย่า อย่า อย่าซ้ำๆ ปล่อย" พร้อมกับทหารอีกนายที่ยิงซ้ำ (คลิกดูวิดีโอคลิป)

โดย ณ ปัจจุบัน บริเวณดังกล่าวถูกล้อมด้วยกำแพงเพื่อก่อสร้าง ผู้เขียนจึงขอนำภาพจุดดังกล่าวขณะที่อาคารยังอยู่มาเพื่อเปรียบเทียบ

และเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 55พลแม่นปืนระวังป้องกันทั้งคู่ได้เข้าให้ปากคำกับ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนการเสียชีวิตเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าว โดย พ.ต.อ.ประเวศน์ ระบุว่าทหารทั้งสองให้การยอมรับว่าการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 15 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา เป็นการปฏิบัติหน้าที่บริเวณบ่อนไก่ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับหน่วย พร้อมแจ้งเตือน และในวันนั้นได้มีการลั่นไกปืนยิงขู่กลุ่มผู้ชุมนุม โดยกระสุนที่ใช้เป็นกระสุนยาง(อ่านรายละเอียด)

ภาพที่ 3

  (ดู Google Map จุดดังกล่าว)

ภาพที่ 3 : ถ่ายจากบริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ไปทางปั้ม ปตท.(ซึ่งขณะนี้รื้อไปแล้ว) เวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค.53 ในภาพมุมไกลจะเห็นคนกำลังหามร่างชายเสื้อขาว เขาคือนายเสน่ห์ นิลเหลือ คนขับรถแท็กซี่ วัย 48 ปี ถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนปืนลูกโดดเข้าที่บริเวณหน้าอกทะลุเส้นเลือดใหญ่และปอด โดยที่มาภาพเหตุการณ์จาก BKlinK ซึ่งจะเห็นภาพต่อเนื่องอีก 3 ภาพ และสามารถดูภาพจากฝั่งผู้ชุมนุมได้ที่ Masaru Goto รวมทั้งวิดีโอคลิปจังหวะเกิดเหตุ (ดู นาทีที่ 6.42 เป็นต้นไปจะได้ยินเสียงปืนดังขึ้น) ซึ่งคดีของเสน่ห์ยังไม่เข้าส่วนกระบวนการไต่สวนการเสียชีวิต

ภาพที่ 4 (ดู Google Map จุดดังกล่าว)

ภาพที่ 4 : ถ้าจะหาฉากช่วงสลายการชุมนุมที่คลาสสิคอย่างภาพยนตร์ ฉากนี้คงเป็นหนึ่งฉากที่ทั้งประทับใจ ลุ้นระทึกและสะเทือนใจ ผิดแต่ในภาพยนตร์นักแสดงไม่ตายจริง แต่ฉากนี้มีทั้งผู้ที่ตายและบาดเจ็บจริง ภาพผู้ชุมนุมพยายามเข้าช่วยเหลือถวิล คำมูล ที่ถูกยิงเวลาประมาณ 7.30 น. วันที่ 19 พ.ค.53 ตรงป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ ใกล้สี่แยกศาลาแดงถนนราชดำริ ถือเป็นศพแรกของวันนั้น โดยผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือหลายคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส(คลิกดูอัลบั้มภาพชุดเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ “หงส์ศาลาแดง” และคลิกดูภาพเคลื่อนไหว ) และไม่มีใครนำร่างถวิลไปส่งโรงพยาบาลได้ จนกระทั่งถูกหน่วยกู้ชีพที่มากับเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาทางศาลลาแดงนำร่างไป พร้อมกับร่างของชายถอดเสื้อไม่ทราบชื่อที่นอนเสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศีรษะบริเวณเต๊นท์ใกล้ร่างของถวิล (คลิกอ่านเรื่องของชายไม่ทราบชื่อ) โดยขณะเกิดเหตุทหารกำลังเข้าพื้นที่ดังกล่าวอย่างน้อย 2 ทาง คือ บริเวณแยกศาลาแดง ซึ่งอยู่ไม่ไกลไปทางด้านหลังป้ายแท็กซี่อัจฉริยะนั้น และทางด้านสวนลุมพินี ซึ่งอยู่ทางซ้ายของภาพ

ภาพเคลื่อนไหวขณะเข้าช่วยถวิลที่ถูกยิ่งบริเวณป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ

โดยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 18 มี.ค.54 สุเทพ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ได้ชี้แจงต่อรัฐสภากรณีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 19 พ.ค.53 ว่าชายดังกล่าวเสียชีวิตก่อนหน้าการปฏิบัติการของทหารเนื่องจากเลือดได้แห้งหมดแล้ว โดยนายสุเทพ ระบุว่า “.. มีคนเสียชีวิตจริงๆ 6 คน นับรวมคนที่เสียชีวิตมาก่อนตอนที่เราเข้าไปถึงตอน 7-8 โมงเช้า เห็นนอนอยู่แล้ว ที่ข้างเต๊นท์ที่สวนลุมพินีเลือดแห้งหมดแล้ว 2 คนด้วย.." (ดูวิดีโอคลิปอภิปรายดังกล่าวในนาทีที่ 1.25.12 ประกอบ)

สำหรับคดีของ ถวิล เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56 ศาลมีคำสั่งว่า “เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะ วิถีกระสุนมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าใครลงมือ” (อ่านรายละเอียด)

และคดีของชายไม่ทราบชื่อ ศาลมีคำสั่งเมื่อ 17 ก.พ.57 ระบุว่า “ผู้ตายคือชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ถึงแก่ความตายที่ถนนราชดำริ หน้าอาคาร สก. รพ.จุฬาฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 10.00 น. เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทะลุเข้ากะโหลกศีรษะทำลายเนื้อสมอง ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าถนนราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ” (อ่านรายละเอียด)

ศพของถวิล บริเวณ ป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ

ภาพชายไม่ทราบชื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเช้าวันที่ 19 พ.ค.53 ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ภาพที่ 5 (ดู Google Map จุดดังกล่าว)

ภาพที่ 5 : บริเวณหน้าคอนโดหน้าบ้านราชดำริ ถนนราชดำริ ภาพผู้ชุมนุมและอาสาสมัครพยายามช่วยเหลือนรินทร์ ศรีชมภู เสื้อขาวที่นอนอยู่ซึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิตช่วงสายของวันที่ 19 พ.ค.53  ซึ่งหนึ่งในอาสาสมัครที่เข้าช่วยเหลือนั้นคือมงคล เข็มทอง จากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง คนในวงกลมสีขาว และเขาก็เผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับผู้มีจิตอาสาอย่าง มานะ แสนประเสริฐศรี, บุญทิ้ง ปานศิลา รวมไปถึงอาสาพยาบาลที่ต้องจบชีวิตไปพร้อมๆ กับเขา อย่าง กมนเกด อัคฮาด และอัครเดช ขันแก้ว มงคลถูกยิงเสียชีวิตช่วงเย็นของวันเดียวกันที่วัดปทุมฯ 

สำหรับคดีของนรินทร์ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.57 ศาลมีคำสั่งว่า “เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงบริเวณศรีษะ กระสุนปืนทำลายสมองด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง วิถีกระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในการเข้าควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งไปทางแยกราชดำริ ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ” (อ่านรายละเอียด)

ส่วนมงคล นั้นรวมอยู่ในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ซึ่งรวมถึงอาสาพยาบาลอย่าง กมนเกด และอัครเดช ด้วย โดยศาลมีคำสั่งเมื่อ 6 ส.ค.56  ระบุว่า “ผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.”

อีกทั้ง ภายหลังการอ่านคำสั่ง ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า 1.เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร 2.ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน 3.การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ 4.กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว (อ่านรายละเอียด)

ภาพที่ 6

(ดู Google Map จุดดังกล่าว)

ภาพที่ 6 :  ภาพฟาบิโอ โปเลงกิ ช่างภาพชาวอิตาลีที่ล้มลงหลังถูกยิง และมีช่างภาพพยายามช่วยเหลืออยู่ บริเวณถนนราชดำริ ขาเข้า ตรงข้ามอาคารบริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ไม่ห่างจากจุดที่นรินทร์ถูกยิงที่อยู่อีกฝั่งของถนน ช่วงเวลา 10.45 น. ของวันที่ 19 พ.ค. โดยลักษณะบาดแผลที่ฟาบิโอถูกยิงนั้นกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอดตับ เสียโลหิตปริมาณมาก บาดแผลที่ 1 ลักษณะทางเข้าทะลุหลังด้านขวา ผ่านช่องซี่โครงด้านหลังขวา ทะลุปอดขวากลีบล่าง เฉียดกำบังลมและเนื้อตับฉีกขาด ทะลุเยื้อหุ้มหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาด ทิศทางจากหลังไปหน้า ขวาไปซ้าย ล่างขึ้นบนเล็กน้อย

ขณะที่ฟาบิโอถูกยิงได้วิ่งหลบกระสุนไปกับกลุ่มผู้ชุมนุมหันหลังให้แยกศาลาแดงซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ทหารกำลังเข้ามาทางนั้น และฟาบิโอหันหน้าไปทางสถานีรถไฟฟ้า BTS ราชดำริ คลิกดูภาพ(ภาพ 1ภาพ 2)อีกมุมจาก Masaru Goto คนสวมหมวกเหลืองเสื้อแดงที่เข้าช่วยฟาบิโอ และภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์จาก Bradley Cox  ประมาณนาทีที่ 1.12 (คลิกดู)

สำหรับคดีฟาบิโอ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 56  ศาลได้มีคำสั่งแล้วว่า “เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ” (อ่านรายละเอียด)

ภาพที่ 7 (ดู Google Map จุดดังกล่าว)

ภาพที่ 7 : ภาพเหตุการณ์ช่วงเที่ยงคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ราชปรารภในเหตุการณ์ทหารยิงสกัดรถตู้ นายสมร ไหมทอง ที่วิ่งเข้ามา ซึ่งถ่ายเป็นวิดีโอโดยนายคมสันต์ เอกทองมาก อดีตช่างภาพเนชั่นแชนเนล(Voice TV ได้มีการนำวีดีโอดังกล่าวมาเผยแพร่ในบางตอนด้วย สามารถคลิกดูได้ที่นี่) ในเหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากนายสมรจะได้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังเป็นเหตุให้นายพัน คำกอง(คลิกอ่านคำสั่งศาล) คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ(คลิกอ่านคำสั่งศาล) ที่อยู่บริเวณนั้นเสียชีวิตด้วย ซึ่งศาลได้มีคำสั่งแล้วว่าทั้งคู่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร

ภาพที่ 8 (ดู Google Map จุดดังกล่าว)

ภาพที่ 8 : บริเวณเสาเหล็กขาว-แดง หน้าไทยไพศาลเอนยีเนียริ่ง ถนนราชปรารภ เลยทางเข้าปั๊มเชลล์ประมาณ 10 เมตร ในภาพเป็นร่างของหน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล วัย 25 ปี บุญทิ้ง ปานศิลา ที่ถูกยิงเข้าที่คอด้านซ้ายทำลายเส้นเลือดแดงใหญ่นอนเสียชีวิตจมกองเลือด เวลา 19.36 น. ของวันที่ 14 พ.ค.53 ขณะขับมอร์เตอร์ไซด์เพื่อเข้าไปช่วยผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งคาดว่าเป็น กิตติพันธ์ ขันทอง(เสียชีวิตด้วย)

และวันรุ่งขึ้น(15 พ.ค.) รองผู้ว่า กทม. พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า "เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ยกมือขึ้นเพื่อบอกทหารว่าจะเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แต่ระหว่างนั้นมีคนวิ่งเข้าออกบริเวณดังกล่าว จึงเกิดความเข้าใจผิดขึ้น"  (คลิกดูวิดีโอคลิปที่ถ่ายจากอีกฝั่งของถนน)

สำหรับคดีของบุญทิ้งและกิตติพันธ์ ยังไม่มีการไต่สวนการเสียชีวิต 

ภาพ แม่ 'บุญทิ้ง-กิตติพันธ์' เหยื่อสลายชุมนุม 53 จุดเทียนรำลึกเพียงลำพังที่ราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.58 ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียด)

ภาพที่ 9 (ดู Google Map จุดดังกล่าว)

ภาพที่ 9 : ถูกถ่ายเมื่อเวลา 23.37 น. วันที่ 14 พ.ค.53 บริเวณปากซอยรางน้ำตัดกับถนนราชปรารภ ภาพรถกู้ชีพกำลังเข้าไปช่วยคนเจ็บที่อยู่บริเวณถัดไปไม่กี่เมตร (นอนเจ็บลำพังอยู่ปากซอยราชปรารภ 16) ซึ่งคนเจ็บคนดังกล่าวเสียชีวิตในเวลาต่อมา เขาคือ เหิน อ่อนสา โดยบาดแผลถูกกระสุนปืนลูกโดดเข้าบริเวณขาหนีบข้างซ้ายทำให้เส้นเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด และกระดูกต้นขาซ้ายหัก พบบาดแผลกระสุนปืนลูกโดดทางออกบริเวณด้านข้างของทิศทางจากหน้าไปหลัง ขวาไปซ้าย

และจากรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.- พ.ค.53 หรือ ศปช. อ้างถึงการสัมภาษณ์ผู้ถ่ายภาพนี้ว่า รถกู้ชีพคันดังกล่าวนี้ถูกทหารที่อยู่ในปั๊มเอสโซ่ปฏิเสธไม่อนุญาตให้เข้าไปเพื่อช่วยเหลือคนเจ็บ(ซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา) โดยขณะนี้คดีของเหินยังไม่มีการเข้าสู่การไต่สวนการตาย
ภาพเหิน ขณะนอนบาดเจ็บอยู่ มุมตรงข้ามปาก ซ.รางน้ำ
ภาพ ชายถอดเสื้อเข้ามาช่วยเหินในเวลาต่อมา
 
ภาพที่ 10 :  ช่วงสายวันที่ 15 พ.ค.53 บริเวณหน้าร้านกันสาดติดกับร้านไท่หยางตรงข้ามปั๊มเชลล์ ถนนราชปรารภ ในภาพจะเห็นชายเสื้อฟ้าที่นอนอยู่ใต้รถมอเตอร์ไซด์ เขาคือนายสุภชีพ จุลทรรศน์ คนขับรถแท็กซี่ วัย 36 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนลูกโดดความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิต และขยับไปด้านหน้าอีกประมาณ 10 เมตร จะมีร่างของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ เฌอ ถูกยิงด้วยกระสุนเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิตช่วงเวลาเดียวกัน นอกจาก 2 คนนี้ยังมีนายอำพล ชื่นสี ถูกยิงเข้าที่ช่องท้องเสียชีวิตและมีผู้บาดอีกหลายคน โดยจากรายงาน “ความจริงเพื่อความยุติธรรม : เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา – พฤษภา 53” ของ ศปช. หน้า 285 ระบุว่า เป็นจังหวะที่ผู้ชุมนุมพยายามเดินรุกเข้าไปบนสองฝั่งถนน จากด้านสามเหลี่ยมดินแดงมุ่งหน้าไปยังบริเวณปั๊มเอสโซ่(ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคาลเท็กซ์) ในช่วงเวลา 8.00 น. ของวันนั้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ก่อนที่จะถูกยิงสวนจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว ด้านคดีความของทั้ง 3 คนยังไม่มีความคืบหน้า
ภาพอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมุมใกล้ที่เห็นท่านร่างของ เฌอ นอนอยู่ ขณะที่มุมไกลจะเห็นเท้าของ สุภชีพ 
ภาพ 'หมุดเฌอ' ซึ่งถูกวางโดยพ่อแม่และเพื่อนของเขาเมื่อ 15 พ.ค.55 บริเวณที่เขาถูกยิง (อ่านรายละเอียด : กิจกรรม ประชาเฌอรำลึก ปักหมุด “เฌอถูกทหารยิงเสียชีวิตที่นี่”)
ภาพที่ 11 : ปากทางเข้าปั๊มเชลล์ราชปรารภ จุดที่นายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิง ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา และศาลได้มีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากกระสุนของ เจ้าหน้าที่ทหารแล้ว(คลิกอ่านคำสั่งศาล) ภาพเหตุการณ์นี้ถ่ายโดยนิค นอสติทช์ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน ในภาพจะเห็นนายชาญณรงค์ สวมเสื้อขาวนอนอยู่บริเวณกองยาง ซึ่งขณะนั้นเขาถูกยิงแล้ว
 
จากนั้นมีความพยายามช่วยเหลือชาณรงค์ ก่อนเสียชีวิต หลบทหารไปยังบริเวณสุขาของปั้มซึ่งอยู่ด้านหลังของปั้ม เพื่อนำร่างของเขาข้ามกำแพงไปหลบอยู่ในบ่อน้ำบ้านที่อยู่ติดกับปั้ม ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะมาพบตัว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : 2 นักข่าวเยอรมันให้การกรณีแท็กซี่ถูกยิงที่ราชปรารภ ยันกระสุนมาจากฝั่งทหาร)
ภาพชาญรงค์ ที่ถึงช่วยเหลือมาหลบบริเวณสุขาปั้มเชลล์ ถ่ายโดยนิค
คลิปที่มีการช่วยเหลือชาญณรงค์มาบริเวณสุขาปั้มเชลล์ ในภาพนาทีที่ 1.10 จะเห็นจังหวะที่นิคเดินเข้ามาถ่ายชาญณรงค์
 
ภาพที่ 12 เป็นช่วงเหตุการณ์เดียวกับที่ ชาญณรงค์ (ภาพ 11) ถูกยิง ในภาพคือไชยวัฒน์ พุ่มพวง (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เดชภพ) ช่างภาพอาวุโสของสำนักข่าวเนชั่น ซึ่งถูกยิงฝั่งตรงข้ามปั้มเชลล์ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเมื่อวันที่ 2 ก.ค.55 เขาได้เดินทางมายังศาลโดยใช้ไม้เท้า เบิกความในการไต่สวนการตายของชาญณรงค์(อ่านรายละเอียด)ด้วยว่า ตนได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายภาพในพื้นที่ในช่วงบ่ายของวันที่ 15 พ.ค.53 บริเวณถนนราชปรารภ ซึ่งมีลวดหนามของทหารเขียนว่า “แนวกระสุนจริง” ขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามตั้งบังเกอร์ห่างออกไป ช่วงที่มีการยิงทหารเริ่มเดินรุกคืบบนถนนทั้งสองฝั่ง แต่ตนไม่เห็นทหารบนสะพานลอย มีเสียงปืนดังมาจากแนวทหาร ผู้ชุมนุมไม่มีการตอบโต้ด้วยอาวุธ แต่มีการยิงพลุข่มขู่ ซึ่งไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ตนใส่ปลอกแขนที่มีคำว่า PRESS ชัดเจน แต่ก็ยังโดนยิงเข้าที่โคนขาขวา โดยเชื่อว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเดชภพยืนยันว่าไม่มีการประกาศเตือนล่วงหน้าจากทางเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ขณะที่นายณัฐพงษ์ พรหมเพชร ช่างภาพจากสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส เบิกความว่าอยู่ในบริเวณดังกล่าวเช่นเดียวกัน และได้ยินเสียงประกาศเตือนแว่วๆ จากทางเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้ามาเพราะเป็นเขตกระสุนจริง ประมาณ 1-2 ครั้ง
นาทีที่ 0.10 จะเห็นจังหวะที่ไชยวัฒน์ถูกยิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท