Skip to main content
sharethis

20 พ.ค.2558 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณี กสทช. ทำหนังสือหารือเรื่องการเลื่อนกำหนดระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล

โดย อสส. ระบุว่า กสทช.ไม่สามารถเลื่อนกำหนดเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 2 ให้แก่ผู้ชนะการประมูลได้ เนื่องจากประกาศ กสทช. มีการกำหนดหลักเกณฑ์การแยกชำระค่าธรรมเนียมไว้เป็นการตายตัว ไม่ได้เปิดช่องให้ กสทช.สามารถใช้ดุลยพินิจเลื่อนกำหนดระยะเวลาในการชำระงวดใดๆได้ นอกจากนี้กำหนดการชำระเงินค่าธรรมเนียมยังไม่ใช่นิติกรรมในทางแพ่งที่คู่สัญญาสามารถตกลงเลื่อนกำหนดระยะเวลาได้

อสส.ระบุด้วยว่า การจะเลื่อนกำหนดจ่ายค่าธรรมเนียมนั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขประกาศ กสทช.ให้สามารถเลื่อนได้ หรือออกประกาศ กสทช.ฉบับใหม่เพื่อผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียม

อย่างไรก็ตาม อสส. ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การแก้ไขหรือออกประกาศฉบับใหม่จะมีผลเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางรายหรือไม่ รวมทั้งจะเป็นการทำให้ผู้เข้าประมูลรายอื่นเสียเปรียบหรือไม่ นอกจากนี้อาจมีปัญหาข้อกฎหมายว่าการออกประกาศให้มีผลย้อนหลังไปถึงการประมูลที่เสร็จสิ้นไปแล้วนั้นจะสามารถกระทำได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ควรหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ชัดเจนก่อน

ทั้งนี้ กสทช.กำหนดให้ผู้ประกอบการทีวีดิทัลทั้ง 24 ช่อง จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมงวดที่ 2 ในวันที่ 24 พ.ค. 2558 รวมมูลค่ากว่า 8,124 ล้านบาท โดย บอร์ด กสทช. ชุดใหญ่ จะหารือเรื่องนี้เป็นวาระพิเศษ ในวันที่ 22 พ.ค.นี้

นอกจาก อสส.แล้ว กสทช.ยังได้ทำหนังสือหารือในเรื่องเดียวกันนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วย เนื่องจากเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายและการใช้อำนาจ กสทช. อันอาจส่งผลต่อการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการเผยแพร่ความเห็นของทั้งสองหน่วยงาน

 

หนังสือที่ อสส. ที่ส่งถึงเลขาธิการ กสทช.มีรายละเอียดดังนี้


ตามที่ กสทช.ได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ.2556 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่จนได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช.ดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เท่ากับราคาที่ชนะการประมูล แยกชำระเป็นรายงวดโดยกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 2 ในวันที่ 24 พ.ค.2558

ต่อมาผู้ชนะการประมูล ซึ่งปัจจุบันได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ (ผู้รับใบอนุญาตฯ) ได้มีหนังสือยื่นข้อร้องเรียนเพื่อขอให้ กสทช.เลื่อนกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ งวดที่ 2 ออกไปอีก 1 ปี โดยอ้างว่าอุตสาหกรรมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลไม่เติบโตตามที่คาดหมายอันเนื่องมาจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง รวมถึงการได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลไม่สามารถขยายโครงข่ายฯ เพื่อให้บริการในเขตพื้นที่ต่างๆ ตามที่กำหนดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนขาดความสนใจในการรับชมบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล อันส่งผลกระทบต่อเนื่องให้รายได้จากการให้บริการโฆษณาสินค้าและบริการไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ในช่วงที่เข้าร่วมการประมูล

สำนักงาน กสทช.จึงขอหารือว่า ในกรณีที่ กสทช.จะกำหนดให้มีการเลื่อนกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ.2556 นั้น จะสามารถดำเนินการได้โดยชอบด้วยกฎหมายและมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่า
 
1.ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ.2556 (ประกาศ กสทช.ฯ) ข้อ 10 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การแยกชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในงวดต่างๆ ไว้เป็นการตายตัว มิได้เปิดช่องให้ กสทช. สามารถใช้ดุลยพินิจเลื่อนกำหนดระยะเวลาการชำระในงวดใดๆ ได้ กอปรกับหลังจากที่ กสทช.ได้ดำเนินการประมูลไปแล้ว ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง โดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 80/2557 ลงวันที่ 9 ก.ค.2557 ให้เงินที่ได้จากการประมูลในกรณีนี้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน แทนการให้นำส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นกองทุนในสำนักงาน กสทช. เอง ดังบทบัญญัติเดิม

2.กำหนดการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในงวดต่างๆ ดังกล่าวในข้อ 1 เป็นไปตามประกาศ กสทช.ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายอนุบัญญัติของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หาใช่เป็นนิติกรรมในทางแพ่งที่คู่สัญญาอาจตกลงกันเลื่อนกำหนดระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมหรืออาจนำมาตรา 205 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวในข้อ 1 และ 2 กสทช.จึงไม่อาจเลื่อนกำหนดเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 2 ให้แก่ผู้ชนะการประมูลดังที่หารือได้ นอกจากจะได้มีการแก้ไขประกาศ กสทช. ให้สามารถเลื่อนได้ หรือออกประกาศ กสทช.ฉบับใหม่เพื่อผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามประกาศ กสทช.ฯ ฉบับดังกล่าวเสียก่อน แต่ทั้งนี้โดยที่การประมูลได้เสร็จสิ้นไปแล้ว การแก้ไขหรืออกประกาศฉบับใหม่ดังกล่าวจะมีผลเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางรายหรือไม่ รวมทั้งจะเป็นการทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในบรรดาผู้เข้าประมูลหรือไม่ กรณีเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ กสทช.พึงพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจมีปัญหาข้อกฎหมายว่าการออกประกาศให้มีผลย้อนหลังไปถึงการประมูลที่เสร็จสิ้นไปแล้วนั้นจะสามารถกระทำได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ควรจักได้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นที่ชัดเจนเสียก่อน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net