'การบริหารท้องถิ่น' / 'องค์กรบริหารท้องถิ่น' คือ อะไร ? ทำไมร่างรัฐธรรมนูญจึงใช้คำนี้ ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ท่านทั้งหลายเมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับ ท่านหัวหน้าบวรศักดิ์ ฯ ในหมวด “การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น” แล้วสงสัยบ้างไหมครับว่า คำว่า “การบริหารท้องถิ่น” หรือ “องค์กรบริหารท้องถิ่น” สองคำนี้นี่ท่านได้แต่ใดมา ! ...ทั้งที่เรา/ท่านทั้งหลายก็ต่างเรียกคำ ๆ นี้ว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” “องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น” มาตั้งนานนมสมสมัยแล้ว  ผมเลยอดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นเพราะเหตุใดท่านผู้ร่างจึงได้รังเกียจเดียดฉันท์คำว่า “การปกครองท้องถิ่น”  มากมายถึงขนาดนั้น หรือว่าผมอคติมากจนทึกทักไปเองว่าผู้ร่างไม่พึงพอใจกับคำว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” ?  

อย่ากระนั้นเลย ! เมื่อผมดูในบันทึกสรุปเจตนารมณ์ของท่านผู้ร่างแล้วพบเหตุผลของการเปลี่ยนชื่อหมวด และเปลี่ยนชื่อเรียกของคำดังกล่าวว่า

“...ใช้ชื่อหมวด ๗ “การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น” ไม่ใช้คำว่า “การกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น” เนื่องจากมีเจตนารมณ์ ว่าหากมีการใช้คำว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” อาจทำให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งมีความรู้สึกเหมือนเป็นผู้ปกครองและมีอำนาจมากเกินไป ประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการให้มีลักษณะเป็นการบริหารความร่วมมือระหว่างรัฐ ท้องถิ่น ประชาชน และพื้นที่ จึงได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “การบริหารท้องถิ่น” แทน”

อืม ! พอผมอ่านเจตนารมณ์หรือเหตุผลของท่านผู้ร่างจบเท่านั้นแหละครับ อารามตกใจได้แต่อุทานว่า “อุ๊ต๊ะ” เป็นเอามากนะครับท่าน ! / หากใช้ตรรกะที่ว่า เมื่อใช้ คำว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” อาจทำให้ผู้ที่อยู่ใน ตำแหน่งมีความรู้สึกเหมือนเป็นผู้ปกครองและมีอำนาจมากเกินไป...” นั้นละก็ ท่านผู้ร่างคงต้องเปลี่ยนชื่อเรียกทุกชื่อที่มีคำว่า “ปกครอง” ใช้หมด เช่น “กรมการปกครอง” ก็ต้องเปลี่ยนเป็น “กรมการบริหาร” / “เจ้าพนักงานปกครอง” (ปลัดอำเภอ) ก็ต้องเปลี่ยนเป็น “เจ้าพนักงานบริหาร” / “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” ก็ต้องเปลี่ยนเป็น “กรมส่งเสริมการบริหารท้องถิ่น” / “การปกครองส่วนภูมิภาค” ก็ต้องเปลี่ยนเป็น “การบริหารส่วนภูมิภาค” / หรือแม้กระทั้ง  “วิชากฎหมายปกครองท้องถิ่น” ที่สอนกันอยู่ในคณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ก็คงต้องเปลี่ยนตามท่านไปใช้คำว่า “วิชากฎหมายบริหารท้องถิ่น”  แต่ผมพอจะดีใจอยู่บ้างที่ท่านผู้ร่างไม่ “อุตริ” เปลี่ยนชื่อ “ศาลปกครอง” เป็น “ศาลบริหาร” ไปด้วยเสียเลย !

ส่วนตัวผมเห็นว่าคำว่า “การปกครองท้องถิ่น” นั้น แท้จริงน่าจะใช้คำว่า “การปกครองตนเองของท้องถิ่น” หรือ “การปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น” ด้วยซ้ำไป เพราะคำว่า “การปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น” นั้น ไม่ได้มีความหมายหรือนัยยะที่หมายถึง ผู้ปกครองหรือผู้ใต้ปกครองอย่างที่ท่านผู้ร่างกำลังอ้างหรอกครับ แต่การปกครองส่วนท้องถิ่นความหมายหรือลักษณะที่สำคัญจริง ๆ คือ เป็น “สิทธิในการปกครองตนเอง” หรือ “สิทธิในการกำหนดเจตจำนงตนเอง” (Right to self-determination) ของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งสิ่งนี้มีความหมายและความสำคัญมากกว่าการเป็นผู้ปกครองหรือผู้อยู่ใต้ปกครองดังที่ท่านผู้ร่างยกอ้าง

กล่าวคือ การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็น การปกครอง ‘ตนเอง’ โดย ‘ตนเอง’ ไม่ใช่รูปแบบการปกครองที่ให้ “คนอื่น” มาปกครอง ดังนั้น ในความเห็นของผมการเปลี่ยนชื่อเรียก “การปกครอง(ตนเอง)ส่วนท้องถิ่น” มาเป็น “การบริหารท้องถิ่น” จึงมีนัยยะที่เป็นการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของ “หลักความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของท้องถิ่น” ลงไปอย่างมีนัยสำคัญ คือ การปกครองท้องถิ่นจะเป็นเพียงลักษณะของการ “บริหารจัดการ” เท่านั้น มิติในทางความรู้สึก (หรือจิตวิญญาณ) ที่ว่ารูปแบบการปกครองในลักษณะที่เป็นการปกครองของตนเองโดยตนเองจะลดน้อยลงไป

สุดท้าย ผมมีเกร็ดในทางประวัติศาสตร์เรื่องเกี่ยวกับถ้อยคำว่า “การปกครองท้องถิ่น” ในรัฐธรรมนูญมาเล่าให้ฟัง คือ ในตอนที่มีการร่าง รธน. 2517 (ซึ่งถือว่าเป็น รธน. ที่ดีฉบับหนึ่ง) ในร่างแรกที่ กมธ. ยกร่างเสนอให้สภานิติบัญญัติในขณะนั้นอภิปราย กมธ. ได้ใช้ถ้อยคำว่า “การปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น” ในร่าง รธน. แต่ปรากฏว่าถูกอภิปรายอย่างหนักจาก สนช. ท่านหนึ่งซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นว่า หากใช้คำว่า “การปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น” จะก่อให้เกิดความเข้าใจไปในทางที่ผิดเพี้ยนกับรูปแบบการปกครองของประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรมีการปกครองในลักษณะ ตำบล หมู่บ้าน มาช้านานตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ จนเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคในปัจจุบัน บลา ๆๆๆๆ ดังนั้น จึงขอให้ตัดคำว่า “ตนเอง” ออก เหลือเพียงคำว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” เมื่อที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางจนทำให้ในที่สุดประธาน สนช. ต้องขอให้ลงมติ เสียงส่วนใหญ่ในสภาลงมติเห็นว่า ควรตัดคำว่า “ตนเอง” ออก เหลือเพียงคำว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” มาจนถึงปัจจุบัน  (โปรดดูรายการการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 ครั้งที่ 66 14 กันยายน 2517) และจะกลายเป็น “การบริหารท้องถิ่น” ในอนาคต (ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ) !

เพียงแค่ผมศึกษาการใช้ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ ก็พอที่จะได้บทสรุปประการหนึ่งว่า เหตุที่การปกครองตนเองส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นเพียงแค่ “บอนไซ” ไม้ประดับให้กับรูปแบบการปกครองรัฐไทยเท่านั้น กลับไม่เจริญงอกงามหยั่งรากลึกในแผ่นดิน เพราะเหตุที่ว่าผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้โดยเฉพาะชนชั้นนำยังมีความไม่เข้าใจ (หรือแสร้งไม่เข้าใจ) ในรูปแบบการปกครองตนเอง และที่สำคัญคือหวาดระแวง “การปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่น” จนทำให้อำนาจต่าง ๆ นั้นไม่ถูกกระจายลงไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริงสักที อำนาจทั้งหลายกลับรวมศูนย์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่ส่วนกลางอย่างเข้มแข็งเช่นปัจจุบัน ดังนั้น ผมจึงยืนยันว่าต่อให้ชนชั้นนำทั้งหลายจะปฏิรูป ปฏิสังขรณ์ ประเทศนี้อย่างไรก็ตาม หากท่านละเลยที่จะ “พูด” และ “ทำ”ให้เกิดการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง สิ่งนั้นย่อมไม่อาจเรียกได้ว่า “การปฏิรูป” เพราะการปฏิรูปที่จะยั่งยืนที่สุดต้อง “ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นปกครองตนเอง”

 

 

.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท