Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


“...สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการเมืองในช่วง 10 ปี หลังที่ระบอบทักษิณเข้ามา...”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, “มาร์คซัด! ระบอบทักษิณทำชาติขัดแย้ง ชี้รอให้ตายไปเองมากกว่ายอมให้ชนะระบบยุติธรรม,” มติชนออนไลน์, (18 พ.ค. 2558). 

ผีตนหนึ่งหลอกหลอนเมืองไทยมาเกือบ 2 ทศวรรษ คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่านี่คือผีทักษิณ เป็นผี “ทุนสามานย์” “ขายชาติ” “ล้มเจ้า” มีความพยายามไล่ผีตนนี้ด้วยการรัฐประหาร 2 ครั้ง (พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557) การเดินขบวนขับไล่บนท้องถนน 2 ครั้งใหญ่ (ม็อบเสื้อเหลืองและม็อบ กปปส.) เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เสร็จสิ้น ได้ใช้และฉีกไปแล้ว 1 ฉบับ (รธน. ฉบับปี พ.ศ. 2550) และกำลังอยู่ระหว่างการร่างใหม่อีก 1 ฉบับในปัจจุบัน แต่ผีตนนี้ยังไม่หายไปจากสังคมไทย
หรือปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทักษิณ?

นอกจากคำว่าทักษิณแล้ว คำอีกคำหนึ่งที่ชนชั้นนำไทยและเครือข่ายหวาดผวาก็คือ “ประชานิยม” อันที่จริงแล้วอาจจะกล่าวได้ว่าภายหลังการต่อสู้ทางการเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2535 จนได้ประชาธิปไตยที่ขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจและการเมืองให้แก่ภาคเอกชนและคนชั้นกลางอย่างถาวรแล้ว ประเด็นปัญหาการเมืองไทยที่สำคัญมักห้อมล้อมเกี่ยวพันกับสิ่งที่เรียกว่า “ประชานิยม”

ประชานิยมคืออะไร? เป็นปัญหาอย่างไร?

ประชานิยมมักถูกประนามในฐานะนโยบายที่ใช้งบประมาณจำนวนมากมุ่งเอาใจประชาชนโดยหวังที่จะได้รับคะแนนเสียงหรือความนิยมโดยไม่เกิดผลิตภาพและเป็นภาระทางงบประมาณหรือถ้าใช้ถ้อยคำตามเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี พ.ศ. 2557 มาตรา 35 วงเล็บ 7 ก็คือนโยบายที่ “มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”  รัฐบาลที่มิใช่รัฐบาลเครือข่ายทักษิณมักปฏิเสธว่านโยบายของตนเองนั้นมิใช่นโยบายประชานิยมแม้ว่าจะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เช่น เช็คช่วยชาติ 2,000 บาทของรัฐบาลอภิสิทธิ์หรือมาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ของรัฐบาลประยุทธ์ เป็นต้น ซึ่งรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ได้ออกมาอธิบายว่านโยบายที่คล้ายคลึงกันนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมิได้หวังคะแนนเสียงจึงมิใช่ประชานิยม (“หม่อมอุ๋ยแจงทุกข้อครหาเหตุใดแจกเงินชาวนาไม่ใช่ประชานิยม,” ไทยรัฐออนไลน์, 3 ต.ค. 2557,  เข้าถึงเมื่อ 18 พ.ค. 2558)

การประเมินนโยบายของรัฐบาลชุดต่าง ๆ ว่าเป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่จากรูปแบบ การใช้งบประมาณ หรือเจตนารมณ์ของรัฐบาลจึงไม่สามารถแยกนโยบายแบบประชานิยมจากนโยบายที่ไม่ใช่ประชานิยมได้ดีนัก เพราะรูปแบบและการใช้งบประมาณมักจะคล้ายคลึงกันในขณะที่การประเมินจากเจตนารมณ์นั้นไม่สามารถวัดได้แน่ชัดว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐบาลคืออะไร

วิธีการหนึ่งที่น่าจะช่วยทำให้เข้าใจลักษณะสำคัญของนโยบายประชานิยมได้นั่นคือการประเมินประชานิยมจากมุมมองเรื่องอำนาจ โดยพิจารณาใน 3 ประเด็น คือ หนึ่ง ที่มาของอำนาจ สอง การส่งอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย และสามการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจ

เมื่อพิจารณาจากประเด็นเรื่องอำนาจแล้วจะเห็นได้ว่านโยบายของ 3 รัฐบาลที่ปฏิเสธว่าไม่ใช้นโยบายประชานิยม คือรัฐบาลสุรยุทธ์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลประยุทธ์นั้นมีลักษณะร่วมกันคือ ที่มาของอำนาจนั้นไม่ยึดโยงกับประชาชนเนื่องจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กระบวนการกำหนดนโยบายกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มเล็กซึ่งได้แก่ผู้มีอำนาจในรัฐบาล ข้าราชการ นักธุรกิจ เทคโนแครตและชนชั้นนำที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ  และเป้าหมายของการดำเนินนโยบายนั้นมุ่งรักษาหรือพยายามฟื้นฟูโครงสร้างทางสังคมแบบเดิมเอาไว้มากกว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

เรื่องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้เองที่เป็นแก่นสำคัญของนโยบายประชานิยม นั่นคือนโยบายประชานิยมมักทำให้เกิดการ “เกลี่ยผลประโยชน์” ไปสู่ประชาชนในวงที่กว้างมากขึ้น นโยบายจำนวนหนึ่งสามารถเพิ่มอำนาจประชาชนในระบบตลาดและในระบบการเมือง เช่น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับมาตรการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลประยุทธ์แล้ว ชาวนาในโครงการจำนำข้าวสามารถสะสมทุนเพื่อเลื่อนสถานะทางสังคมหรือนำไปลงทุนในการศึกษาบุตรหลาน ทำให้ชาวนามีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้น (นิธิ เอียวศรีวงศ์, “เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการจำนำข้าว,” มติชน, 5 พ.ย. 2555, น.6) ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มราคาผลผลิตหรือการเพิ่มอำนาจของชาวนาในการกดดันเชิงนโยบาย การได้รับเงินช่วยเหลือของมาตรการหลังนี้จึงไม่ได้เพิ่มอำนาจชาวนาในระบบตลาดหรืออำนาจการเมืองในการเลือกนโยบาย

เราอาจเรียกนโยบายที่มีรูปแบบคล้ายประชานิยมแต่ไม่ใช่ประชานิยมเช่นนี้ได้ว่าเป็นนโยบาย “ประชาสงเคราะห์” ที่ช่วยตกแต่งนโยบายแบบ “บริษัทและชนชั้นนำนิยม” ให้ดูมีจริยธรรมมากขึ้น โดยเป้าหมายไกลสุดของนโยบายมักมีไว้เพียงเพื่อต่อลมหายใจผู้ด้อยโอกาส ไม่มีความพยายามที่จะเพิ่มอำนาจประชาชนทั้งในระบบตลาดและในระบบการเมือง ลดโอกาสประชาชนในการเลื่อนสถานะของตนเอง นโยบายเช่นนี้ต่างหากที่ทำให้ประชาชนตกอยู่ในสภาพ “ผู้ขอ” อยู่เรื่อยไปมากกว่าจะเป็นผลของนโยบายประชานิยมตามความเห็นของเทคโนแคตจำนวนหนึ่ง

เมื่อประชานิยมทำให้ประชาชนชั้นล่างมีทางเลือกและโอกาสที่มากขึ้นในระบบตลาด ประชานิยมจึงทำให้ค่าจ้างแรงงานและราคาผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วยเพราะแรงงานราคาถูกทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในภาคเกษตรส่วนหนึ่งกลายมาเป็นผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย แม้พวกเขาอาจจะยังทำการเกษตร แต่ก็เป็นการทำการเกษตรในฐานะผู้ประกอบการมิใช่ในฐานะเกษตรกรส่งผลให้ทุนใหญ่และผู้บริโภคมีต้นทุนแพงขึ้นในการประกอบการและการดำรงชีวิตเมื่อเทียบกับในอดีต และที่สำคัญคือประชานิยมยังทำให้มือของประชาชนกลุ่มล่างเข้ามีส่วนในการจัดสรรทรัพยากรของประเทศมากขึ้นผ่านมือที่หย่อนบัตรลงหีบเลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้ประชานิยมจึงเป็นปัญหาสำหรับชนชั้นนำและเครือข่าย

พวกเขาเกลียดกลัว “ประชานิยม” เสียยิ่งกว่าทักษิณ การที่ประชาชนเห็นประโยชน์โดยตรงของการเมือง เข้ามามีส่วนแบ่งอำนาจในการกำหนดจัดสรรทรัพยากรของประเทศ ทำให้เกิดการโยกย้ายทรัพยากรส่วนหนึ่งซึ่งแต่เดิมเคยถูกรวบดึงจัดสรรใช้เป็นประโยชน์แก่คนในวงจำกัดไปสู่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ทำให้ทิศทางนโยบายเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายและผลประโยชน์ของพวกเขา ดังที่อดีตประธานทีดีอาร์ไอเคยกล่าวไว้ในทำนองว่านโยบายประชานิยมนี้ “เบียดบังงบประมาณในส่วนอื่นที่นำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ” (นิพนธ์ พัวพงศกร, การเสวนา“ทีดีอาร์ไอชวนคิด-ชวนคุยข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “การสร้างวินัยทางการเงินและการคลัง” , เข้าถึงเมื่อ 17 มี.ค. 2557)

คาถาและเครื่องรางไล่ผีทักษิณของชนชั้นนำและเครือข่ายไม่ว่าจะเป็น “ทุนสามานย์” “ขายชาติ” “ล้มเจ้า” “กปปส.” “รัฐประหาร” “รัฐธรรมนูญฉบับปรองดอง” ฯลฯ โดยเนื้อแท้แล้วถูกใช้เพื่อขับ “ประชาชน” ให้พ้นเวทีการเมืองมากกว่าที่จะใช้ไล่คนอย่างทักษิณ

นิทานเรื่องผีทักษิณจึงจะยังถูกยกมาเล่าหลอกเรื่อยไปจนกว่าเจ้าบ้านจะอ่อนใจทิ้งบ้านให้หมอผีครอบครอง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net