Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนนี้เป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าที่ฉันเริ่มปรับตัวกับที่นี่ได้ การปรับตัวได้ทำให้ตัวฉันกระเสือกกระสน (struggling) กับชีวิตที่นี่น้อยลง และเมื่อฉันต้องใช้ความพยายามในการใช้ชีวิตที่นี่น้อยลงมันทำให้ฉันมองอะไรรอบตัว สังเกตอะไรรอบๆ ตัว เผื่อจะมีอะไรที่ทำให้ฉันสนใจที่จะลงไปศึกษามันอย่างจริงจังมากขึ้นได้

วันหนึ่งฉันกับเพื่อนร่วมห้องจากราวันด้าตกลงกันว่าเราจะไปกินเบียร์กัน โดยมีเพื่อนซึ่งเป็นผู้หญิงชาวตุรกีไปด้วย เพื่อนชาวตุรกีพูดภาษาอังกฤษได้ดีทำให้ภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสื่อสารมากนัก (แต่อันที่จริงฉันพบว่าพอมีแอลกอฮอล์เข้าเลือดภาษาก็เป็นอุปสรรคน้อยลงอีกเหมือนกัน) เราเริ่มต้นการเดินทางเพื่อหาที่ดื่มอย่างสับสนและไร้ทิศทาง เนื่องจากย่านที่เราอยู่ค่อนข้างจะเป็นย่านที่ Conservative (เอาง่ายๆ ค่อนข้างจะเคร่งทีเดียว แต่อ่านดีๆ นะจ๊ะ conservative ไม่ได้เป็นอันเดียวกับ fundamentalism) เมื่อฉันถามเธอว่าเราจะไปที่ไหน เธอตอบว่ายังไม่รู้ ฉันถามว่าทำไมเราไม่ไปย่าน Aksaray (เป็นย่านการค้าอารมณ์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบ้านเรา) เนื่องจากที่นั่นเพื่อนของฉันเคยไปมาก่อนและบอกว่าที่นั่นมีสิ่งที่เรียกว่า “Pub” แต่เธอบอกว่า “ที่นั่นอันตราย” ฉันไม่เข้าใจนักกับคำว่า “อันตราย” ของเธอ เพราะสำหรับฉันแล้วเวลามืดทุกที่ก็อันตรายเหมือนๆ กันหมด

เราเดินไปทางแถวมหาวิทยาลัยซักพักเพื่อรอเพื่อนชาวเกาหลี ระหว่างทางเราแวะซื้อเบียร์ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ที่กิน (การกินแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะที่นี่ผิดกฎหมายคับ) จริงๆ แล้วเพื่อนสองคนที่ไปด้วยกันอยากจะกินที่สวนซักแห่งแต่ฉันปรามว่าเราทำเช่นนั้นไม่ได้ (อารมณ์แก่ที่สุดในนั้น) แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันแปลกใจคือ เมื่อซิ้อเบียร์เธอไม่ยอมพูดภาษาตุรกีกับเจ้าของร้านชายของชำและเธอบอกว่าเธอมาจากออสเตรีย ในเวลานั้นฉันได้เพียงแต่เก็บความสงสัยนี้เอาไว้ และคิดว่าจะถามเธอภายหลัง

ในที่สุดเพื่อนขาวเกาหลีก็มาและฉันพบว่าเพื่อนในหออีกสองซึ่งเป็นคนอังกฤษกับคนมองโกลเลียติดตามมาด้วย ซึ่งสำหรับฉันแล้วคืนนี้คงจะเป็นคืนที่น่าสนุกทีเดียว จนในที่สุดเราตัดสินใจเดินทางไปที่ย่าน Aksaray เราตัดสินใจจะไม่ไป “Pub” เดิมที่เพื่อนฉันเคยไปเราจะไปอีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งของถนน เมื่อฉันเห็นสถานที่แห่งนั้น “Pub” ในความหมายของคนที่นี่คงไม่ต่างจากความหมายทั่วไปคือ “สถานที่ซึ่งคนเข้ามาดื่มกิน พูดคุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดื่มแอลกอฮอล์” แต่เป็นที่น่าประหลาดใจ คือ ในสถานที่แห่งนั้นนอกจากบริกรแล้ว ไม่มีเพศ (Sex) หญิงเข้าไปนั่งกินเลย และเพื่อนชาวตุรกีของฉันก็เกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะเข้าไปอย่างมาก เมื่อเราเข้าไปนั่งได้ซักพักเราตัดสินใจที่จะย้ายร้านไปร้านเดิมเนื่องจากบรรยากาศดีกว่ามาก ระหว่างทางฉันถามเพื่อนชาวตุรกีว่าเธอเป็นอะไร

“ทำไมเธอถึงรู้สึกอึดอัดใจที่จะเข้าไปในร้านนั้นหละ” ฉันถามขณะที่เรากำลังเดินไปเพื่อย้ายร้าน

“โดยปกติแล้วผู้หญิงชาวตุรกีจะไม่เข้าผับ และผู้หญิงที่เข้าผับจะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี จะไม่มีใครให้ความเคารพนับถือต่อเธอ เวลาฉันมากับพวกเธอฉันเลยไม่พยายามพูดภาษาตุรกีเพราะฉันไม่อยากให้ใครรู้ว่าฉันเป็นคนตุรกี แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือฉันผมบลอนด์ ซึ่งมันทำให้ฉันเหมือนผู้หญิงรัสเซีย ซึ่งคนตุรกีมองว่าผู้หญิงรัสเซียใจง่ายซึ่งนั่นมันยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีกสำหรับฉัน”

เมื่อเราย้ายร้านและไปนั่งในชั้นใต้ดินซึ่งมันทำให้เธอรู้สึกสบายใจมากขึ้น ประกอบกับร้านนั้นบรรยากาศค่อนข้างอบอุ่นฉันก็ถามเธอเกี่ยวกับการที่เธอไม่ยอมพูดตุรกีที่ร้านขายของชำขณะซื้อเบียร์ ก็ได้คำตอบแบบเดียวกันว่าเธอไม่อยากให้ใครรู้ว่าเป็นคนตุรกี เพราะเธอไม่อยากถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี และเมื่อย้ายร้านแล้วสิ่งหนึ่งที่ฉันพบคือร้านดังกล่าวก็มีลักษณะคล้ายๆ กันคือ นอกจากบริกรและเพื่อนของฉันแล้วไม่มีผู้หญิงเข้าไปใช้บริการในผับดังกล่าวเลย

การใช้และการเข้าถึงพื้นที่ เป็นประเด็นสำคัญ “เกี่ยวกับมิติเพศภาวะ” เพราะพื้นที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจบอกตำแหน่งแห่งที่ของคนในสังคมนั้นๆ ว่าเขาหรือเธอควรจะอยู่ในพื้นที่ไหนและไม่ควรจะอยู่พื้นที่แบบใด และประการสำคัญหากเกิดการละเมิดกติกาทางพื้นที่แล้วมีการลงโทษทางสังคมแบบใด ในมุมมองของฉันจากการสังเกต สังคมรอบๆ และท่าที่ของเพื่อนชาวตุรกีทำให้เห็นการแบ่งแยกพื้นที่ตามเพศสภาพค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ

อีกประการหนึ่ง คือ การประกอบสร้างความกลัวเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งหากจะบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่โดยตัวมันเองมีอันตราย เช่น อาชญากรรม “ความกลัว” นี้ก็ควรจะเกิดกับทุกคนโดยไม่อิงตามเพศสภาพ แต่อะไรที่ทำให้ผู้หญิงเกิดความกลัวที่มากกว่าประเด็นนี้น่าสนใจว่าสังคมแห่งนี้ประกอบสร้างความกลัวสำหรับผู้หญิงขึ้นมาบนฐานคิดแบบใด

แต่การลงโทษทางสังคมในมิตินี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเพื่อนของฉันรู้สึกอึดอัดใจอย่างมากที่จะละเมิดกติกาทางสังคม ซึ่งความอึดอัดใจนี้มีลักษณะที่ซึมซ่านมาจากภายใน ซึ่งทำให้เธอตัดสินใจที่จะไม่เข้าผับ ไม่อยากพูดภาษาตัวเอง และสบายใจมากกว่าที่จะต้องติดต่อสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษ

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ฉันเล่ามาและสรุปในตอนท้ายนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น ซึ่งฉันอาศัยแต่เพียงการสังเกต พูดคุยกับเพื่อน และวิเคราะห์ตามแนวคิดทฤษฎีที่ร่ำเรียนมา ซึ่งสำหรับฉันแล้วฉันคิดว่าเพียงข้อมูลเท่านี้มันทำให้ข้อสรุปที่ออกมายังดูบี้แบน และไม่เห็นความแตกต่างหลากหลายและการซ้อนทับของอัตลักษณ์ของคนในสังคม ที่ทำให้พวกเขาหรือเธอตัดสินใจที่จะใช้หรือไม่ใช้พื้นที่ซึ่งเรียกว่า “Pub” ในประเทศตุรกี และคำถามต่อมาคือพื้นที่ซึ่งเรียกว่า Pub สามารถเป็นตัวแทนของพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ได้ด้วยหรือไม่? คำถามเหล่านี้ฉันอาจต้องทำความเข้าใจมากขึ้น และอ่านให้มากขึ้น (เมื่อเข้าใจภาษาตุรกีดีกว่านี้)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ผู้เขียนเป็นนักศึกษาปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net