Skip to main content
sharethis

เสวนา "โรฮิงญา รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ และความหวัง" ที่ศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดุลยภาค ปรีชารัชช อธิบายประวัติศาสตร์การเมืองในรัฐอาระกัน ตั้งแต่ยุคก่อนอาณานิคม ถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยชี้ว่าประเด็น “โรฮิงญา” ถูกทำให้เป็นชายขอบของกระแสต่อสู้ในพม่า และถูกจัดลำดับอยู่ในช่วงชั้นล่างสุดในระบบสังคม-การเมืองพม่า

เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (24 พ.ค.) ที่ห้อง 301 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาหัวข้อ "โรฮิงญา รัฐ ชาติ ประวัติศาสตร์ และความหวัง" จัดโดย โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภาหน้าโดม วิทยากรประกอบด้วย ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อาลี อะหมัด สมาคมโรฮิงญาสากลแห่งประเทศไทย

ดุลยภาค ปรีชารัชช ได้อภิปรายด้วยการนำเสนอผ่านบันทึกวิดีโอ โดยผู้จัดงานเปิดเฉพาะช่วง 30 นาทีแรกในส่วนที่เป็นการอธิบายความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตัวเองว่า “โรฮิงญา” โดยดุลยภาคอภิปรายว่า ที่มาของการอธิบายในทางวิชาการมีอยู่ 3 แนวทาง แนวทางแรก อธิบายว่าชาวโรฮิงญาอยู่ในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิม สืบความเป็นมาได้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยชาวโรฮิงญาได้อยู่ในดินแดนจิตตะกอง เบงกอล อาระกัน เป็นนักเดินเรือชาวอาหรับ มาขึ้นบกและตั้งรกรากที่บริเวณปัจจุบันคือรัฐอาระกันหรือยะไข่ นักวิชาการที่เสนอทฤษฎีนี้เช่น อับดุล การีม ซึ่งเป็นวิชาการด้านจิตตะกองศึกษา

ขณะที่นักวิชาการบางราย อธิบายว่าชาวโรฮิงญาเป็นเชื้อเครือวงศ์วานมาจากอินโด-อารยัน หรือนักวิชาการบางรายก็นำเสนอว่าชาวโรฮิงญาเป็นลูกผสม เป็นทั้งชาวเบงกาลี อาหรับ ปาทาน คือมีพื้นเพค่อนไปทางอนุชมพูทวีป

แนวทางที่สอง ระบุว่าชาวโรฮิงญาเข้ามาในรัฐอาระกันในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึง 17 เดิมเป็นมุสลิมกลุ่มหนึ่งในพม่าที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กามาน ต่อมาช่วงอาณานิคมอังกฤษ อังกฤษชนะพม่าในสงครามครั้งที่ 1 ใน ค.ศ. 1824 ถึง1826 ทำให้มีคลื่นผู้อพยพมาจากดินแดนจิตตะกอง ซึ่งติดกับรัฐอาระกัน เข้ามาเป็นแรงงาน โดยสะพานด่านหน้าก็คือรัฐอาระกัน โดยนักวิชาการประวัติศาสตร์พม่า ให้น้ำหนักเป็นพิเศษว่าต้นสายของชาวโรฮิงญามาจากภายนอก ขณะที่เมื่อเช็คสำมะโนประชากรที่อังกฤษ ในยุคจักรวรรดินิยมอังกฤษก็มีจำนวนประชากรมุสลิมเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัฐอาระกันในช่วงนี้จำนวนมาก

แนวทางที่สาม อธิบายการอพยพเข้ามาของประชากรราวๆ ค.ศ. 1971 ซึ่งเป็นช่วงแห่งการสถาปนารัฐบังกลาเทศ เลยทำให้มีระลอกคลื่นผู้อพยพเข้ามาในรัฐยะไข่

ดุลยภาคกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้การเมืองเรื่องเขียนประวัติศาสตร์อรรถาธิบายความเป็นมาของชาวโรฮิงญาจะให้คำอธิบายต่างกันไป แต่สายที่อธิบายด้วยการใช้สำมะโนประชากร มีน้ำหนักกว่า อย่างไรก็ตาม คำอธิบายเรื่องประวัติศาสตร์การอพยพเช่นนี้มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพม่าและบังกลาเทศ

โดยเมื่อย้อนไประหว่าง ค.ศ. 1784 ถึง 1785 ในสมัยพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าในยุคที่ส่งกองทัพมาทำสงคราม 9 ทัพกับกรุงเทพมหานคร สามารถผนวกอาณาจักรยะไข่ และนำพระพุทธรูป “มหามัยมุนี” จากรัฐอาระกันกลับไปประดิษฐานที่มัณฑะเลย์ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในรัฐอาระกันมีการผสมผสานระหว่างชุมชนพุทธมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเกณฑ์แรงงานมุสลิมจากรัฐอาระกัน เข้าไปทำงานในพม่าตอนบนด้วย

โดยช่วงเวลานี้เอง ทำให้อาณาจักรยะไข่ มีการผสมปนเประหว่างประชากรที่เป็นชาวพุทธกับประชากรมุสลิม และยังทำให้กองทัพพม่าสามารถขยายอิทธิพลมาถึงดินแดนชายทะเล ซึ่งเราอาจเคยได้ยินวีรกรรมในการทำสงครามของ “มหาพันธุละ” แม่ทัพเอกของพม่า ที่นำกำลังพลข้ามแม่น้ำนัก ไปโจมตีดินแดนอ่าวเบงกอล ถึงค็อกบาซาร์ และจิตตะกอง ซึ่งสร้างความหวั่นไหวให้ชนชั้นนำของเบงกอล และนำมาสู่ชนวนสงครามอังกฤษ-พม่า ครั้งที่ 1 (The First Anglo-Burmese War) ในเวลาต่อมา โดยประวัติศาสตร์ส่วนนี้มีผลบ่มเพาะมูลเหตุชาตินิยม และสร้างความระแวงระหว่างบังกลาเทศและพม่า

ในขณะที่ในยุคประวัติศาสตร์เรียกร้องเอกราช นอกจากขบวนการชาตินิยมของพม่าแล้ว ขบวนการเรียกร้องเอกราชของกลุ่มโรฮิงญาก็ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และดำเนินการมาจนถึงสมัยรัฐบาลนายพลเนวิน ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ส่งผลกระทบต่อโลกทัศน์ชนชั้นนำพม่า หรือรวมทั้งสังคมของชาวพม่า ทำให้เกิดหวาดระแวง

โดยเมื่อย้อนไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่ออังกฤษล่าถอยจากพม่า หลังการบุกของญี่ปุ่น อังกฤษได้เกณฑ์มุสลิมในอาระกันมาเป็นกองกำลังป้องกันพื้นที่ซึ่งกำลังล่าถอย ส่วนกองทัพญี่ปุ่น ได้จัดตั้งคนยะไข่ ซึ่งนับถือพุทธ ดังนั้นคนทั้งสองกลุ่มจึงเกิดการต่อสู้เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่มหาอำนาจดังกล่าว และต่อมาจะทำให้เกิดการเข่นฆ่าระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้หลังการติดอาวุธ ทำให้เกิดหน่ออ่อนพื้นฐานของพลังปฏิวัติ กินเวลาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1945 จนถึง ค.ศ. 1988 ในยุคที่ระบอบเนวินล่มสลาย ช่วงเวลานี้เอง เป็นช่วงของการกำเนิดองค์กรการเมืองการทหารของนักรบโรฮิงญา

โดยในรัฐอาระกัน มีการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองมากมาย โดยมีทั้งฝ่ายของชาวพุทธและชาวมุสลิม ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญ โดยกลุ่มขั้วทางการเมืองในรัฐยะไข่มีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่อยากเจรจากับอังกฤษ กลุ่มที่ฝักใฝ่พรรคสันนิบาตต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPFL) ของนายพลออง ซาน ผู้เรียกร้องเอกราชของพม่า และบิดาของออง ซาน ซูจี ขณะที่อีกกลุ่มอยากตั้งรัฐอิสระของมุสลิม โดยกลุ่มโรฮิงญาก็อยากเข้าร่วมฝ่ายนี้

โดยการเข้าไปเกี่ยวโยงในขบวนการชาตินิยมพม่า ทำให้มีการขยายฐานเสียงของกลุ่มการเมืองในพม่าเข้ามาในรัฐยะไข่ โดยพม่าในสมัยนั้นก็มีการก่อตัวของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่งต่อมาแตกออกเป็นสองกลุ่ม คือพรรคคอมมิวนิสต์ธงขาว นำโดยตะขิ่นตันทุน ซึ่งรวมกับพรรค AFPFL ก่อนที่ต่อมาจะแยกตัว และพรรคคอมมิวนิสต์ธงแดงที่แยกออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ธงขาว นำโดยตะขิ่นซอ

โดยพรรคคอมมิวนิสต์ธงขาว ต่อมาจะเคลื่อนไหวบริเวณป่าเขาใกล้เทือกเขาพะโค ไปทางตอนบนของพม่า พื้นที่ใกล้ๆ กับเนปิดอว์ปัจจุบัน ส่วนตะขิ่นซอ ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ธงแดง สายที่นิยมแนวทางทร็อตสกี้ ได้เคลื่อนไหวอยู่ที่เทือกเขาอาระกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ในรัฐอาระกัน จะเห็นได้ว่าเกิดการแตกออกเป็นการเมืองหลายกลุ่ม ในรัฐอาระกันมีการวางกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ธงแดง ในพื้นที่เทือกเขารัฐอาระกัน และเทือกเขาจิตตะกอง โดยกลุ่มการเมืองของโรฮิงญาก็เริ่มมีการเคลื่อนไหว

ส่วนชาวยะไข่ ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ เดิมก็ต่อต้านรัฐบาลพม่าไม่ต่างจากชาวโรฮิงญา โดยได้รับการฝึกทางทหารจากกองกำลังแห่งอิสรภาพคะฉิ่น ในรัฐคะฉิ่น และกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ส่วนกองกำลังอีกกลุ่มคือชาวโรฮิงญา มีการก่อตัวของกองกำลังติดอาวุธ โดยในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1947 ถือเป็นวันกำเนิดกองทัพมุสลิมอาระกัน ที่รัฐยะไข่ เป้าหมายคือปฏิวัติเรียกร้องเอกราช ต่อต้านทางการพม่า และต่อต้านชุมชนพุทธในรัฐอาระกัน ผู้นำกลุ่มคือ จาวา ฮุสเซน โดยกลุ่มนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์อินเดียด้วย

ต่อมาพม่าส่งกองกำลังทหารเข้ามาปฏิบัติการ และฝ่ายโรฮิงญาไม่สามารถต้านทานกองทัพพม่าได้ และต่อมามีการตั้งกองกำลังขนาดใหญ่ของชาวโรฮิงญาในปี ค.ศ. 1963 ในนาม “กองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญา” มีผู้นำคือ มูฮัมหมัด จาฟา เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และเคยทำงานที่สถานทูตพม่าประจำอียิปต์ด้วย ถือเป็นปัญญาชนปฏิวัติของขบวนการ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการเมืองของชาวโรฮิงญาอีก 5-6 กลุ่มด้วย โดยเป้าหมายของแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน บ้างอยากปฏิวัติตั้งรัฐอิสลามใหม่ บ้างขอแค่มีเขตปกครองพิเศษ บ้างต้องการสิทธิทางศาสนา

แต่แนวคิดของของกลุ่มการเมืองชาวโรฮิงญาจะเอนเอียงไปทางทิศตะวันตก คือไม่ใช่พม่า แต่เป็นปากีสถาน-บังกลาเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่โมฮัมหมัด อาลี จินนา ผู้นำเรียกร้องเอกราชให้กับปากีสถานเคลื่อนไหวเพื่อแยกปากีสถานออกจากอินเดีย ฝ่ายการเมืองของชาวโรฮิงญาก็ไปสานสัมพันธ์ด้วย ขณะที่ไม่ได้เน้นสานสัมพันธ์กับนายพลออง ซาน ทำให้คนพม่าไม่พอใจ

อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนของการต่อสู้ทางการเมือง เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1978 เมื่อรัฐบาลทหารของนายพลเนวิน ได้เปิดปฏิบัติการ “นาคามิน” หรือนาคราช เพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่บริเวณเทือกเขาอาระกัน และสามารถจับกุมแนวร่วมได้หลายพันคน โดยคนที่ได้รับผลกระทบก็ข้ามไปอยู่ที่ค็อกบาร์ซาร์ ในบังกลาเทศ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การปฏิวัติปลดปล่อยของชาวโรฮิงญาย่นระย่อ แม้ภายหลังจะฟื้นกำลังกลับมา ก็ไม่สามารถมีกองกำลังที่มีขนาดใหญ่เท่า กองทัพรัฐฉาน (SSA) กองกำลังแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) หรือกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA)

ทั้งนี้นายพลเนวิน ไม่พอใจมุสลิมในรัฐยะไข่ โดยในช่วงเวลาที่นายพลเนวินมีอำนาจ ยังดำเนินนโยบายชาตินิยมขับไล่สิ่งที่เขานิยามว่าเป็น “นายทุนต่างชาติ” คือชาวจีนและชาวอินเดีย แต่ช่วงเวลานั้นการก่อตัวและพัฒนาการของบังกลาเทศ ยังทำให้มีกลุ่มประชากรอพยพเข้ามาในรัฐอาระกัน นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติการของคอมมิวนิสต์ที่ทำให้เนวินหวาดระแวง ดังนั้นในปี ค.ศ. 1962 หลังเนวินทำรัฐประหาร ก็มีข่าวลือว่าจะมีรัฐประหารเนวิน และหาว่าจะเป็นกลุ่มโรฮิงญา ที่สนับสนุนโดยบังกลาเทศ ทำให้นายพลเนวินหวาดระแวงบังกลาเทศ จึงเป็นที่มาของปฏิบัติการนาคามินดังกล่าว

โดยดุลยภาคเสนอข้อคิดว่า กรณีโรฮิงญาในบริบทของการเมืองชาติพันธุ์ และบริบทของแนวคิดสหพันธรัฐนิยมในพม่า ถือว่าประเด็นของโรฮิงญาถูกทำให้เป็นชายขอบของกระแสการต่อสู้ทางการเมืองในพม่า และถูกจัดลำดับอยู่ในช่วงชั้นล่างสุดในระบบสังคม-การเมืองพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net