คนทำงานเอาไหม? ข้อเสนอตั้ง ‘ธนาคารแรงงาน’ ของ สปช.

เมื่อ สปช. หยิบข้อเสนอเก่ามาปัดฝุ่น ผลักดันการจัดตั้ง “ธนาคารแรงงาน” ส่งเสริมการออมและให้คนงานเข้าถึงแหล่งทุน ลักษณะเป็น “ธนาคารเฉพาะกิจ” ที่ให้ คนงาน รัฐบาล และกองทุนประกันสังคมถือหุ้น

สถาบันที่ตั้งต้นด้วยทุนของคนงานมีให้เห็นอยู่ทั่วโลก เช่น โกลเด้น ไพรด์ เซฟวิง แอนด์ โลน (Golden Pride Savings and Loans) สถาบันการเงินที่มีต้นกำเนิดมาจากสหภาพแรงงานคนงานทำเหมืองในประเทศกานา ส่วนที่ประเทศไทย สปช. เสนอจัดตั้ง “ธนาคารแรงงาน” ส่งเสริมการออมและให้คนงานเข้าถึงแหล่งทุน

ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ครั้งที่ 40 วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2558 ที่จะถึงนี้ จะมีการพิจารณาวาระปฏิรูปที่ 37 : ปฏิรูปแรงงานของ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีการเสนอเรื่อง "การจัดตั้งธนาคารแรงงาน" อยู่ด้วย

โดยการเสนอให้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารแรงงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นธนาคารของรัฐแห่งใหม่ให้ เพื่อการส่งเสริมการออมและการพัฒนาตนเองของแรงงานอันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการจัดเก็บฐานข้อมูลด้านแรงงานที่ถูกต้องและสมบูรณ์ให้เป็นศูนย์บริการครบวงจรของประเทศที่เป็นระบบและมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ในรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุว่าแนวคิดในการจัดตั้งธนาคารแรงงานในประเทศไทยเกิดมาจากข้อเสนอและข้อเรียกร้องของคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และองค์การแรงงาน เมื่อปี 2548 ซึ่งต่อมาในปี 2549 สำนักงานประกันสังคมได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยบริษัทที่ปรึกษาได้เสนอผลการศึกษาและจากการสำรวจข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิสรุปได้ว่า การจัดตั้งธนาคารแรงงานเป็นนโยบายระดับชาติ รัฐบาลควรจัดงบประมาณดำเนินการ ไม่ควรใช้เงินกองทุนประกันสังคมเนื่องจากต้นทุนสูง

ในปี 2550 พบว่าในระดับชุมชนนั้นก็มีการดำเนินงานในรูปแบบของธนาคารแรงงานบ้างแล้วคือ "ธนาคารแรงงานบ้านบัว" ต.บ้านเดื่อ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ แต่เป็นรูปแบบธนาคารแรงงานที่มีการสะสมและแลกเปลี่ยนกำลังแรงงานของสมาชิก โดยพัฒนารูปแบบมาจากประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างการลงแขกเกี่ยวข้าว

 

ธนาคารแรงงาน ต.บ้านบัว อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนการวิจัยโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่สมดุลตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชัยภูมิ (พ.ศ.2550-2553) ในพื้นที่ 17 จังหวัด จังหวัดชัยภูมิ เป็นหนึ่งใน 17 จังหวัดซึ่งมีนายสมโภชน์ หมู่หมื่นศรี อดีตผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาอำเภอเมืองชัยภูมิ เป็นหัวหน้าโครงการ กระบวนการทำงานเน้นการจัดการเรียนรู้ของชาวบ้านโดยใช้บัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน การสร้างเศรษฐกิจพอเพียงในระดับหมู่บ้านชุมชน เน้นการผลิตเพื่อการบริโภคภายใน โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง เพื่อแก้ปัญหาความยากจน สุขภาวะ และปัญหาอื่นๆ ของพื้นที่

จังหวัดชัยภูมิดำเนินการในพื้นที่ 12 ตำบล โดยบ้านบัว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีนวัตกรรมชุมชนเกิดขึ้น จากการต่อยอดการดำเนินการในพื้นที่ นายเสนอ นราพล กำนันตำบลบ้านบัว ผู้ก่อตั้ง “ธนาคารแรงงานบ้านบัวหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านบัว” เปิดเผยว่าที่มาของการก่อตั้งธนาคารแรงงาน มีจุดเริ่มต้นจากการเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งกิจกรรมหลักที่ต้องสนับสนุนให้ชุมชนได้ดำเนินการ คือ การจดบัญชีรับ-จ่าย ครัวเรือน ซึ่งที่บ้านบัว หมู่ 1 เมื่อปี 2550-51 ที่ผ่านมานั้น มีคนจดบัญชีเพียงแค่ 9 รายเท่านั้น แต่ก็เป็น 9 รายที่มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะมีการนำข้อมูลค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และแรงงานหายากมาตั้งวงพูดคุยกัน ประกอบกับข้อมูลครัวเรือนของตำบลบ้านบัว จำนวน 600 ราย นั้น ค่าจ้างแรงงานเป็นอันดับที่ 5 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด 22 รายการ จากการหารือ และได้ข้อสรุปว่าจะกลับไปใช้วิธีลงแขกแบบรุ่นพ่อแม่ โดยมาช่วยกันทำงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงาน แต่ใช้แรงงานของตนแลกเปลี่ยนกัน

ธนาคารแรงงานบ้านบัว จึงเกิดขึ้น โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 12 ราย และขยายเป็น 40 รายในปัจจุบัน ระบบการบริหารจัดการของธนาคารแรงงาน มีการสรรหาบุคคลากรมาบริหารจัดการ โดยได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกลงมติให้กำนันเสนอ นายนราพล เป็นประธาน และนางหนูทัด บริบูรณ์ เป็นผู้จัดการ ซึ่งหน้าที่ของผู้จัดการจะต้องเป็นคนวางระบบ จัดสรรแรงงานให้ลงตัวกับวันและเวลาที่กำหนด โดยกิจกรรมจะเกิดขึ้นอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงฤดูดำนำ (เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) และช่วงฤดูเกี่ยวข้าว (เดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม) ผู้จัดการธนาคารแรงงานจะมีบทบาทในการวางตัวบุคคลและคอยติดตามประสานงานกับทางสมาชิก เพื่อให้ระบบการวางงานเป็นไปได้โดยไม่ติดขัด

ผลที่ได้รับจากการจัดตั้งธนาคารแรงงาน

- ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และลดต้นทุนในการจ้างแรงงาน และ สามารถนำผลต่างของการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนแรงงาน มาปรับลดหนี้สิน ทำให้สมาชิกสามารถทำได้ถึงขั้นการตั้งเป้าการลดหนี้ให้เหลือศูนย์ได้
- ทุกครอบครัวที่เป็นสมาชิกธนาคารแรงงานมีความรักความผูกพันฉันท์ญาติพี่น้อง
- สมาชิกสามารถทำการเกษตรในนาไร่ทันเวลาตามฤดูกาล สมาชิกแต่ละคนมีที่นาเฉลี่ยโดยอยู่ที่ 5-10 ไร่ ต่อ 1 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มากนักทำให้การจัดระบบวันและเวลาง่ายในการหมุนเวียนแรงงานมีความง่ายกว่าชุมชนที่มีพื้นที่นาจำนวนมาก

การขยายผล ขณะนี้ได้ขยายธนาคารแรงงานออกไปอีก 2 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านบัว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ โดยประยุกต์หลักการเป็นแต่ละคนจะได้รับค่าจ้างวันละ 100 บาท โดยแต่ละคนจะห่อข้าวไปกินเอง ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานโดยทั่วไปอย่างต่ำวันละ 150 – 250 บาท / วัน จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มครัวเรือนเล็กๆ จนมาถึงการก่อตั้งกลุ่มเป็นธนาคารแรงงานของบ้านบัว ทำให้เห็นภาพของการรู้จักตัวตน และเป็นบทพิสูจน์ของการพึ่งพาตนเอง ไม่รอคอยการแก้ไขปัญหาจากภายนอก เป็นการแก้ไขปัญหาของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

ที่มาข้อมูล: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

ปี 2554 คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศว่า "รัฐควรจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยขายพันธบัตรให้แก่กองทุนประกันสังคม และนำเงินมาปล่อยกู้ให้แก่คนงานเพื่อให้แรงงานสามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อผ่อนคลายภาระหนี้สินนอกระบบของแรงงานซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่จำกัดวงเงินกู้และมีส่วนบังคับการออมด้วย"

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุว่าการพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดตั้งธนาคารแรงงานที่สามารถเป็นไปได้ และตรงตามความต้องการของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริงแล้วนั้น ต้องเป็นธนาคารเฉพาะกิจหรือธนาคารพิเศษเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้สะดวก และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

แนวทางการดำเนินงาน

ในเรื่องแหล่งที่มาของเงินลงทุนของธนาคารนั้นคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่าผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายมีจำนวน 39 ล้านคน โดยเป็นแรงงานในระบบ 18 ล้านคนและแรงงานนอกระบบประมาณ 21 ล้านคน ภารกิจหลักของธนาคารแรงงานและโครงสร้างการบริหารเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายจะต้องดำเนินการด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง ธนาคารแรงงาน โดยให้เป็นธนาคารแรงงานของรัฐที่ตั้งขึ้นเป็นธนาคารเฉพาะกิจหรือธนาคารพิเศษ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย และเพื่อเป็นกลไกในการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

2. กำหนดจำนวนหุ้นเพื่อการลงทุนในธนาคารแรงงาน โดยกฎหมายบัญญัติให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิ์ซื้อหุ้นธนาคารแรงงานได้ก่อน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ และกองทุนประกันสังคมร่วมลงทุนถือหุ้นในธนาคารแรงงานด้วย

3. จัดโครงการให้บริการสินเชื่อจากธนาคารแรงงาน โดยให้ผู้ใช้แรงงานทั่วไปได้ใช้บริการสินเชื่อตามกรอบวัตถุประสงค์ของธนาคาร ทั้งนี้ให้มีบุคคลร่วมค้ำประกัน 3 คน

4. รายได้จากการให้สินเชื่อ ให้จัดสรรตามกรอบภารกิจของธนาคาร ดังนี้
- จ่ายเป็นผลประโยชน์ตอบแทนผู้ลงทุน
- จ่ายเป็นค่าบริหารจัดการของธนาคาร
- จ่ายค่าบริการให้นายจ้างหักเงิน ณ ที่จ่ายของผู้กู้ส่งธนาคาร

5. ผู้ใช้แรงงานทุกคนสามารถกู้เงินจากธนาคารแรงงานเพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะอาชีพ การสร้างอาชีพเสริมให้กับครอบครัวตามเกณฑ์

6. ธนาคารแรงงาน สามารถให้สินเชื่อเพื่อการจัดสร้างฐานเศรษฐกิจอย่างอื่นของผู้ใช้แรงงานได้แก่
- สินเชื่อสนับสนุนสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ
- สินเชื่อเพื่อการศึกษา การเรียนรู้สาขาต่าง ๆ
- สินเชื่อเพื่อการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน
- สินเชื่อเพื่อการสร้างศูนย์ประชุมสัมมนาและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
- สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ปัจจัย 4) ของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว
- สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานไทย (ก่อนและหลังเกษียณ)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท