Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพเลนจักรยานภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร[1]

 

ถ้ากล่าวถึงมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ในช่วงเวลานี้เห็นจะหนีไม่พ้นกระแสที่เป็นผลมาจาก "นโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว" (green university) ของทางมหาวิทยาลัย ที่ล่าสุดมีผลให้นิสิต หรือ บุคลากรของมหาวิทยาลัยห้ามใช้รถจักรยานยนต์ในช่วงเวลา 08.00 - 17.00 น. โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป

ปัญหาจึงมีอยู่ว่าทางมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในเรื่องของการขนส่งภายใน ถึงกับขนาดที่ออกประกาศงดใช้รถจักรยานยนต์ได้เชียวหรือ อีกทั้งรถไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยจะสามารถอุดช่องโหว่ของความเดือดร้อนของนิสิต(ที่ในอนาคตจะต้องเกิด)ได้จริงหรือ และจะจัดการกับการเดินทางของนิสิตที่อยู่หอนอก(ซึ่งส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์)ให้สามารถมาเรียนโดยไม่เกิดความเดือดร้อนได้อย่างไร จุดจอดรถนอกมหาวิทยาลัยมีเพียงพอและปลอดภัยหรือไม่ จะไม่สร้างความเดือดร้อนต่อชุมชนภายนอกมหาวิทยาลัยอย่างไร นี่คือตัวอย่างของปัญหาที่ทางมหาวิทยาลัยจะต้องให้คำตอบ พร้อมทั้งตั้งคำถามต่อตนเองด้วยว่าแท้จริงแล้วมหาวิทยาลัยมีความพร้อมจริง ๆ ในเรื่องนี้หรือเปล่า

เป้าของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย และจั่วหัวก็คือตัวของอธิการบดี ที่ได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวที่ถือว่าแทบจะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งที่นิสิต หรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยยังไม่เคยได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือของเรื่องดังกล่าวนี้เลย อีกทั้งไม่ต้องไปพูดถึงหลักประชาธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีการทำประชาพิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวเลยแม้แต่นิดเดียว หรือประชาธิปไตยของผู้บริหารคือการออกสิทธิ์ออกเสียงที่จำกัดตัวอยู่ภายในกลุ่มผู้บริหารแต่เพียงเท่านั้น

ทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่าองค์การนิสิต สภานิสิต หรือผู้นำนิสิตต่าง ๆ กลับไม่มีความกระตือรือร้นที่จะออกมาเป็นผู้นำในการต่อต้านหรือแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายดังกล่าวนี้เลย ทั้งที่องค์กรหรือผู้นำเหล่านั้นควรที่จะเป็นส่วนแรกที่สัมผัสได้ถึงความเดือดร้อน เพราะเนื่องจากเขาเป็น ตัวแทนในการปกป้องผลประโยชน์ของมวลนิสิต แต่สิ่งที่เห็นนั้นกลับตรงกันข้าม คงมีแต่เสียงเงียบของเหล่าตัวแทนนิสิตที่เงียบเสียยิ่งกว่า "เป่าสาก"

อย่างไรก็ดีการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่เป็นผลกระทบ ส่วนใหญ่แบบนี้ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นง่าย ๆ ถ้าหากว่า "โครงสร้างของขบวนการนิสิตนักศึกษา"มีความเข้มแข็ง นี่จึงเป็นจุดอ่อนของมหาวิทยาลัยไทยในยุคหลังรุ่น 14-6 ตุลา ที่ขบวนการของนิสิตนักศึกษาอ่อนพลังลงไป และโครงสร้างของขบวนการถูกแทรกแซงด้วย "กลุ่มอำนาจ"ทั้งภายในและภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย กลุ่มตัวแทนนิสิตไม่ว่าจะเป็นทั้งองค์การหรือสภาก็ต่างก้าวเดินตาม(น้อมนำ)ต่อนโยบายของผู้บริหารทั้งสิ้น ดังนั้นผลประโยชน์ส่วนใหญ่จึงไปตกอยู่กับผู้บริหารมากกว่านิสิตในมหาวิทยาลัย และการดำเนินนโยบายต่าง ๆ โดยไม่สนใจเสียงของนิสิต จนเป็นกลายเป็นการเดินตามผู้บริหารของนิสิตไปอย่างเคยตัว

บทความชิ้นดังกล่าวนี้ต้องการที่จะนำเสนอข้อด้อยหรือจุดบกพร่องที่ทำให้ขบวนการนิสิตนักศึกษานั้นโดนลดทอนความแข็งแกร่งลงอีกทั้งยังถูกแทรกแซงจนไร้สิ้นพลัง และสุดท้ายพื้นที่มหาวิทยาลัยก็ถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่"ไม่มีนิสิต"การไม่มีนิสิตนี้ไม่ใช่เป็นการไม่มีนิสิตในรูปของบุคคล แต่เป็นการที่ไม่มีนิสิตอยู่ในกลไกและโครงสร้างต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย นิสิตจึงไม่สามารถก้าวขึ้นมามีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งสำคัญในวาระต่าง ๆ ได้ ถึงแม้ทางมหาวิทยาลัยอาจจะเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้มีการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกวางที่ทางไว้ให้ และต้องไม่ไปกระทบกับนโยบายของคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย

การทำให้มหาวิทยาลัยไม่มีนิสิตหรือการทำให้นิสิตไม่เป็นนิสิตคือความสำเร็จในการที่จะก้าวมาช่วงชิง "อำนาจนำ" (hegemony)ในการเป็นผู้กำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวนี้ถูกตั้งอยู่บนความล้มเหลวของระบบการศึกษา ที่นิสิตนั้นไม่สามารถที่จะมีส่วนร่วมหรือโต้แย้งสิ่งต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีผลกับชีวิตของพวกเขาได้ สอดคล้องกับคำกล่าวเปรียบเปรยที่เคยได้มีการกล่าวกันไว้ว่ามหาวิทยาลัยเป็นเสมือนโรงเลี้ยงเด็กและเป็นสนามเด็กเล่นให้กับลูกหลานของชนชั้นกลาง[2] และเหล่านิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรนั่นเองที่ไม่ต่างกับเด็กในโรงเลี้ยงเด็กขนาดใหญ่ที่ถูกทำให้ไม่โต

ดังนั้นความเดือดร้อนที่จะได้รับจากนโยบายดังกล่าวนี้ควรที่จะทำให้เหล่านิสิตควรจะสำนึกตนเองและตื่นรู้เสียทีว่าตนเองคือนิสิต เป็นปัญญาของสังคมที่ได้เสียภาษีทุกบาททุกสตางค์ให้พวกท่านได้เล่าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งนี้ ควรจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิและเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัย เพราะการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัยก็ถือเสมือนการช่วยในการสอดส่องดูแลงบประมาณของมหาวิทยาลัยที่มาจากภาษีของประชาชนด้วยเช่นกัน

ภาพแผนที่แสดงพื้นที่บริเวณของนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว
พร้อมทั้งแสดงถึงจุดจอดรถและเส้นทางการเดินรถไฟฟ้า ซึ่งสุดท้ายแล้วคำถามจึงเกิดขึ้นว่าจุดจอดรถ
และจำนวนของรถไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการของนิสิตจริงหรือไม่ในทางปฏิบัติ
[3]

 

การเมืองของนิสิตที่ไม่มี "นิสิต"

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว ที่ได้สร้างกระแสความไม่พอใจของนิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัย แต่ในขณะเดียวกันเรากลับไม่เห็นบทบาทของเหล่าองค์การนิสิตหรือสภานิสิตรวมทั้งผู้นำนิสิตทั้งหลายในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการต่อต้านนโยบายของมหาวิทยาลัยเลย หากจะกล่าวว่าพวกเขาเหล่านั้น "ขี้ขลาด" หรือ "ไร้ศักยภาพ" ก็คงจะไม่ถูกต้องนัก

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กล่าวได้ว่าขบวนการนิสิตนักศึกษาอ่อนกำลังลงไปเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้ขบวนการนิสิตนักศึกษาถูกแทรกแซงจากกลุ่มอำนาจทั้งภายในและภายนอก ตัวอย่างของกลุ่มอำนาจภายในมหาวิทยาลัยได้แก่กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารคณะ หัวหน้าภาควิชาจนถึงเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งกลุ่มอำนาจดังกล่าวนี้จะเข้าแทรกแซงขบวนการนิสิตนักศึกษาจากภายใน กล่าวคือกลุ่มอำนาจดังกล่าวนี้สามารถที่จะใช้อำนาจจากหน้าที่ในการกดดันขบวนการนิสิตนักศึกษา ให้นิสิตไม่กล้าที่จะคิดแหกกรอบที่ได้ถูกวางไว้ ซึ่งถ้าเกิดการแหกกรอบขึ้น การดำเนินงานต่าง ๆ ของนิสิตอาจจะมีปัญหาได้ อีกทั้งด้วยโครงสร้างทางสังคมไทยที่ต้องเคารพผู้ที่อาวุโสก็ส่งผลให้การดำเนินงานต่าง ๆ ของกลุ่มองค์การ สภา และเหล่าผู้นำนิสิตดำเนินไปอย่างไม่เป็นอิสระ

เช่นเดียวกันกับกลุ่มอำนาจนอกมหาวิทยาลัยที่ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ ของนิสิตนักศึกษาขาดความเป็นอิสระในตัวเอง ซึ่งกลุ่มอำนาจภายนอกนี้ได้แก่อำนาจจากรัฐบาลไปจนถึงนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งทำให้การดำเนินงานหรือการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของนิสิตนักศึกษานั้นถูกจำกัดตัวไม่ให้ไปกระทบต่อกลุ่มอำนาจดังกล่าวซึ่งมีทั้งอำนาจนำและอำนาจครอบงำ (domination)ในสังคม

กลุ่มอำนาจทั้งสองนี้ได้เข้าแทรกแซงขบวนการนิสิตนักศึกษาไทยตลอดมาหลัง 2519 และถ้าจะกล่าวกันตามตรงแล้วมหาวิทยาลัยนเรศวรก็เป็นมหาวิทยาลัยในยุคสมัยหลัง 2519 โดยถูกสถาปนาในปี 2533 ถ้าไม่นับรวมยุคที่เป็นวิทยาลัยวิชาการแล้วก็จะมีอายุได้ 25 ปี แน่นอนว่าขบวนการนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรอาจจะไม่มีประสบการณ์ร่วมกับนิสิตนักศึกษาในสมัย14-6 ตุลา (ไม่นับรวมคณาจารย์) การสร้างมหาวิทยาลัยท่ามกลางความอ่อนแอของขบวนการนิสิตนักศึกษาภายในประเทศไทยย่อมส่งผลต่อขบวนการนิสิตภายในมหาวิทยาลัยนเรศวรด้วย อาจกล่าวได้ว่าสถานที่ของมหาวิทยาลัยหรือในเรื่องของวิชาการอาจจะมีความก้าวหน้าและสมบูรณ์แบบแต่อุดมการณ์ของความเป็นนิสิตนักศึกษากลับอ่อนแอและบอบบางจนถูกทำให้ไร้พลังในตนเอง

อย่างไรก็ตามเราจะเห็นได้ว่าภายในมหาวิทยาลัยก็ยังมีการเลือกตั้งผู้นำนิสิต มีการตั้งพรรคการเมือง มีการหาเสียงประกาศนโยบายต่าง ๆ ของเหล่าสมาชิกพรรคและผู้นำนิสิตภายในมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวางทั้งด้วยการโฆษณาอย่างเป็นหลักแหล่งและด้วยสื่อออนไลน์ กล่าวได้ว่ามีการเมืองของนิสิตเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เมื่อมีการเมืองเกิดขึ้นแน่นอนว่าย่อมต้องมีการแข่งขันกันในเรื่องของนโยบายต่าง ๆ แต่ทำไมกลับไม่มีการตอบโต้นโยบายของมหาวิทยาลัยที่ทำให้นิสิตได้รับผลกระทบ หรือกล้าที่จะประกาศนโยบายที่แตกหักกับมหาวิทยาลัยหรือคณะผู้บริหาร ทั้งที่ผู้นำนิสิต องค์การ หรือสภามีการเลือกตั้งอยู่ทุกปี แต่ทำไมกลับไม่มีใครที่จะยืนอยู่ข้างนิสิตจริง ๆ อย่างเต็มตัว อาจจะมีขัดใจอยู่บ้างแต่ก็คงไม่กล้าแตกหัก

การแทรกแซงของกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมานั้นก็ส่งผลในเรื่องดังกล่าวนี้อยู่ด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้แนวคิดจากบทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง การเมืองมวลชนกับกระฎุมพี (2)[4]และได้นำแนวคิดจากบทความชิ้นดังกล่าวนี้มาปรับใช้กับการมองการเมืองของนิสิตภายในมหาวิทยาลัย โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวว่าประชาธิปไตยนั้นจำเป็นต้องเป็นการเมืองมวลชน แต่ขณะเดียวกันการเมืองมวลชนไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยเสมอไป ชนชั้นนำอาจจะเลือกให้มีการเมืองมวลชนเกิดขึ้นแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการเมืองดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่ชนชั้นนำได้มีการเปิดพื้นที่ให้มวลชนได้เคลื่อนไหวเพื่อที่จะใช้ในการรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มตน แต่ขณะเดียวกันชนชั้นนำก็พยายามที่จะควบคุมและขัดขวางพัฒนาการของการเมืองมวลชนไม่ให้เติบโตไปสู่ประชาธิปไตย เพราะการเมืองมวลชนแบบประชาธิปไตยอาจทำลายระเบียบทางสังคมที่คุ้มกันผลประโยชน์ของชนชั้นนำ[5]

จากคำกล่าวของนิธิ หากเรานำเอากรอบการอธิบายดังกล่าวนี้มาจับภาพการเมืองของนิสิตภายในมหาวิทยาลัย ก็จะพอเห็นภาพลาง ๆ ของการเมืองที่ถูกควบคุมไว้ของนิสิต ให้มีการเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ทางมหาวิทยาลัยหรือคณะผู้บริหารพอใจ แน่นอนว่าคณะผู้บริหารเลือกที่จะให้มีการเคลื่อนไหวของการเมืองนิสิตอยู่ในระดับการเลือกตั้งแต่เพียงเท่านั้น อีกทั้งนโยบายก็ต้องเป็นเรื่องที่ส่งเสริมกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยกล่าวได้ว่าหน้าที่ของกลุ่มองค์กรผู้นำนิสิตเหล่านี้ได้ถูกจัดที่ทางเอาไว้เรียบร้อยแล้ว หากเกินไปกว่านี้อาจจะเกินหน้าที่ของตนและคงไม่เป็นที่ยอมรับหากไปกระทบต่อระเบียบต่าง ๆ ซึ่งคุ้มกันผลประโยชน์ของคณะผู้บริหาร

ขณะเดียวกันการดำเนินงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องให้นิสิตนั้นได้มีส่วนร่วมเพื่อเป็นการโฆษณาหรือสร้างความมั่นใจว่านโยบายที่ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการนั้นมาจากความเห็นชอบของนิสิตและเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับคณะผู้บริหาร แต่อย่างไรก็ตามนิสิตจะเข้าไปมีส่วนร่วมในนโยบายต่าง ๆ มากไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะหน้าที่ดังกล่าวนี้จะเป็นของคณะผู้บริหารและองค์การหรือผู้นำนิสิต นิสิตจะถูกใช้เป็นฐานล่างในการดำเนินนโยบายของทางมหาวิทยาลัยเท่านั้น การที่องค์การหรือผู้นำนิสิตได้เข้าไปมีส่วนร่วมในนโยบายของมหาวิทยาลัยก็จริง แต่จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่ากลุ่มดังกล่าวนี้ได้ถูกทำให้ไร้พลังและขาดความเป็นอิสระมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

นี่จึงเป็นการเมืองนิสิตที่กล่าวได้ว่ามีนิสิตเคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่ถูกกำหนดเอาไว้ ขาดอิสระในตัวเอง จึงไม่เป็นการเกินเลยไปหากจะกล่าวว่าสุดท้ายแล้วกระบวนการต่าง ๆ นี้เป็นการเมืองของนิสิต ที่ “ไม่มีนิสิต” อยู่ใจกลางความสำคัญ คณะผู้บริหารต่างพึงพอใจในการเมืองดังกล่าวเพราะจะไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน อีกทั้งยังเป็นการบั่นทอนความสนใจการเมืองของนิสิตไปในตัวด้วย เพราะสุดท้ายแล้วการเลือกผู้นำนิสิตก็เป็นการเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย การตอบสนองต่อความต้องการของนิสิตเป็นสิ่งที่ไม่พึงหวังหรือหวังได้ยากตั้งแต่ก่อนจะลงมือเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ

เราจะเห็นได้ว่าเมื่อการดำเนินนโยบายมหาวิทยาลัยในเรื่องของมหาวิทยาลัยสีเขียวของคณะผู้บริหารโดนต่อต้านอย่างหนักจากสื่อออนไลน์ของกลุ่มนิสิตและบุคลากร ก็ได้มีการใช้นิสิตให้เข้ามาเคลื่อนไหวอยู่ในนโยบายดังกล่าวนี้ด้วย โดยอ้างว่าหนึ่งในจุดประสงค์นั้นก็เพื่อลดอุบัติเหตุของนิสิตจากการใช้รถจักรยานยนต์ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในเรื่องของการซื้อรถและค่าน้ำมัน[6] นี่จึงเป็น “เสมือน” การทำเพื่อนิสิตโดยแท้ แต่อย่างไรก็ตามคณะผู้บริหารคงจะลืมไปว่ารถยนต์นั้นก็สามารถที่จะก่ออุบัติเหตุและใช้น้ำมันได้เช่นเดียวกันกับรถจักรยานยนต์

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องให้นิสิตนั้นได้มีส่วนร่วมเพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับคณะผู้บริหารในการดำเนินนโยบาย ก็ได้มีการประกาศให้นิสิตนั้นได้ทราบถึงจุดประสงค์ของนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวผ่านเว็บไซค์ของมหาวิทยาลัย และมีการให้นิสิต “ร่วมลงชื่อสนับสนุนนโยบาย” อีกด้วย นี่จึงเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจถ้าทางคณะผู้บริหารจะแย้งในเรื่องดังกล่าวนี้ ก็ควรที่จะมีการเปิดให้ “ร่วมลงชื่อผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย” เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจ และใช้ผลการลงชื่อดังกล่าวนี้เป็นตัวตัดสินใจในการดำเนินนโยบาย อีกทั้งยังจะเป็นการประกันได้ด้วยว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรแห่งนี้มีการเมืองที่เป็นการเมืองนิสิตที่เป็นของนิสิตอย่างแท้จริง ไม่ใช่อย่างที่บทความชิ้นนี้กล่าวอ้างแต่อย่างใด


เมื่อไม่มี "นิสิต"ในมหาวิทยาลัย

เมื่อการเมืองของนิสิตกลับไม่มีนิสิตอยู่ในใจความสำคัญ การปกป้องผลประโยชน์เหล่านั้นก็ถูกละเลย และมีการละเมิดสิทธิ์ของนิสิตอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งนิสิตเองก็ไม่สามารถที่จะเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองได้อย่างมีพลังมากนัก เพราะเนื่องจากนิสิตถูกทำให้กลายเป็นเพียงแค่เด็กที่ต้องทำตามและเชื่อฟังผู้ใหญ่ อุดมการณ์ของนิสิตนักศึกษาเป็นเพียงแค่ภาพของอดีตที่สามารถเปิดดูได้ตามหนังสือประวัติศาสตร์ 14-6 ตุลา ไม่มีความแข็งแกร่งใด ๆ แม้แต่ที่จะคิดปกป้องสิทธิของตนเอง

หากเรายังจำได้ดีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวไม่ใช่นโยบายแรกที่ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยมัดมือชก ย้อนไปเมื่อประมาณ 5 เดือนที่แล้ว ผู้บริหารก็ได้ผลักดัน(บังคับ)ให้ร้านค้าภายในมหาวิทยาลัยขายน้ำดื่มที่ผลิตโดยมหาวิทยาลัย (NU drink) เท่านั้น ซึ่งมีราคาสูงกว่าน้ำดื่มทั่วไป ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในกลุ่มนิสิต มีการนำเรื่องดังกล่าวไปแพร่กระจายตามสื่อออนไลน์ซึ่งได้รับคำวิจารณ์ถึงการผูกขาดของคณะผู้บริหารอย่างมากมาย นี่จึงเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงการทำอะไรตามอำเภอใจของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี เพราะเนื่องจากถึงจะรู้ว่าจะต้องเกิดความไม่พอใจ แต่ก็คงจะไม่มีใครที่จะกล้าก้าวขึ้นมาต่อต้านอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ต้องไปกล่าวถึงผู้นำนิสิตต่าง ๆ ซึ่งสงบเสงี่ยมอยู่ตลอดเวลา เป็นการสะท้อนว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่มีนิสิตอยู่เกือบจะสมบูรณ์แบบ

ภาพการประกาศบังคับให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย
ต้องขายน้ำดื่มที่เป็นของมหาวิทยาลัยเท่านั้น
[7]

เมื่อคณะผู้บริหารสามารถที่จะครองอำนาจนำในการนิยามหรือกระทำการต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยไว้ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยก็สามารถที่จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามผลประโยชน์ของคณะผู้บริหารด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว ที่คณะผู้บริหารได้มีการอนุญาตให้นิสิตหญิงสามารถใส่กางเกงแทนการใส่กระโปรงในการเรียนในมหาวิทยาลัยได้[8]ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วเครื่องแบบนิสิตนั้นไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์อะไรมากนัก ชุดนิสิตสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายดายภายในพริบตาเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของคณะผู้บริหารและให้เกิดความพอใจในหมู่นิสิตต่อนโยบายดังกล่าวนี้

น่าแปลกใจว่าเมื่อมีการรณรงค์ในเรื่องของชุดนิสิตว่าควรใส่ตามความสมัครใจ กลุ่มคนเหล่านี้กลับอ้างความเหมาะสมหรือความศักดิ์สิทธิ์อย่างโหมกระหน่ำ แต่พอมาถึงวันนี้ความศักดิ์สิทธิ์ตรงนั้นได้หายไปไหน หรือความศักดิ์สิทธิ์นั้นก็คือผลประโยชน์ของคณะผู้บริหารที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาเมื่อสมควร

 

สรุปและข้อเสนอแนะ

เมื่อมหาวิทยาลัยถูกทำให้เป็นพื้นที่ที่ไม่มีนิสิต มหาวิทยาลัยก็ไม่ต่างไปจากบ่อน้ำที่บำบัดความกระหายส่วนตัวของกลุ่มอำนาจต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยได้ถูกนำมาใช้แสวงหาผลประโยชน์ได้เป็นอย่างดี ทั้งที่รายได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากภาษีประชาชน การไร้ซึ่งอุดมการณ์ของนิสิตนักศึกษาได้ทำให้การป้องกันการล่วงละเมิดการบำบัดความกระหายส่วนตัวของกลุ่มอำนาจเหล่านั้นหละหลวมและไร้พลัง อีกทั้งนิสิตเองยังกลายเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิเสียเองอีกด้วย

อีกทั้งเหล่าบรรดาผู้นำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งฝ่ายเชียร์ ฝ่ายวินัย ฯลฯ ที่ท่านร้องตะโกนต่อนิสิตใหม่ว่าให้รักกันช่วยเหลือกันเมื่อเจอกับความยากลำบาก ในวันนี้เพื่อน พี่ หรือรุ่นน้อง ของท่านกำลังที่จะต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิ์ครั้งใหญ่ท่านจะทนนิ่งดูดายได้เชียวหรือ หรือสุดท้ายแล้วกิจกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายของท่านก็ไม่ต่างอะไรจากความศักดิ์สิทธิ์ของคณะผู้บริหารที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตามผลประโยชน์แก่ตัวท่านเอง ไร้ซึ่งอุดมการณ์หรือความศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ อย่างแท้จริง

ถึงคณะผู้บริหารหากท่านกำลังจะกล่าวว่าหากไม่พอใจกับนโยบายของมหาวิทยาลัยก็ให้ลาออกไปศึกษาที่อื่นที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตนเองได้ ซึ่งนี่ก็ถือว่าถูกต้องเช่นกันแต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด ท่านอย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งมาจากภาษีประชาชน ซึ่งทุกคนนั้นก็ถือว่าเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยนี้เช่นกัน ดังนั้นท่านจึงอย่าหลงลืมตัวว่ามหาวิทยาลัยเป็นของพวกท่านแต่อย่างเดียว และเมื่อทุกคนนั้นก็ถือว่าตนเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย การตัดสินใจนั้นอาจจะยากลำบากเพราะเนื่องจากต่างคนต่างความคิด ดังนั้นการเลือกตั้งหรือการทำประชาพิจารณ์จึงเกิดขึ้นไงครับ การรับฟังความเห็นซึ่งกันและกันให้มากขึ้นน่าจะสร้างบรรยากาศที่ดีในมหาวิทยาลัยมากกว่านโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวเสียอีก

ถึงนิสิตในเวลาข้างหน้านี้ท่านกำลังเผชิญกับความยากลำบากกับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยโดยที่ท่านนั้นไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจ การที่มหาวิทยาลัยนั้นถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่"ไม่มีนิสิต" อยู่ในกลไกและโครงสร้างต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ทำให้สุดท้ายแล้วท่านจึงกลายเป็นผู้เสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกท่านที่จะต้องดึงเอานิสิตให้กลับมาอยู่ในมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มแรกด้วยการเติมคำว่านิสิตในหัวใจของพวกท่านก่อน พึงตระหนักได้เสียทีว่าพวกท่านนั้นถูกฝึกมาเพื่อเป็นปัญญาของสังคม ถ้าสิทธิของตัวท่านเองยังปกป้องไม่ได้ วันข้างหน้าสังคมจะหวังพึ่งท่านได้อยู่หรือ เราต้องสร้างอุดมการณ์ของขบวนการนิสิตนักศึกษาที่แข็งแกร่งขึ้นมาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะนำพาสังคมไทยออกจากความวุ่นวายและปัญหาต่าง ๆ ที่โหมกระพือขึ้นมาในช่วงเวลา ณ ขณะนี้

ผู้เขียนเชื่อว่าหากนิสิตและบุคลากรต่าง ๆ ปล่อยให้นโยบายดังกล่าวนี้ผ่านไปได้ เชื่อว่าวันข้างหน้าท่านก็จะต้องเจอนโยบายทำนองนี้อยู่เรื่อย ๆ โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของพวกท่านเลย พื้นที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็จะกลายเป็น“มหาวิทยาลัย”ที่ไม่มี “นิสิต” ตลอดไป

 

 

เชิงอรรถ

[1]ภาพจาก Facebook : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=807667709288294&set=pb.100001352175437.-2207520000.1432629729.&type=3&theater.

[2]เสกสรรค์ ประเสริฐกุล,การประกาศจุดยืน-ข้อเสนอแนะต่อขบวนประชาธิปไตย,http://www.prachatai.com/journal/2013/10/49233.

 [3]ภาพจาก พรรณงาม ลักษณ์สุชน, ม.นเรศวร จัดระเบียบจราจร ลดอุบัติเหตุ ส่งเสริมการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์,http://www.nu.ac.th/th/green_university.php.

[4]นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองมวลชนกับกระฎุมพี (2), มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 34 ฉบับที่ 1766 (20-26 มิถุนายน 2557),หน้า 30

[5]เรื่องเดียวกัน หน้า 30

[6]พรรณงาม ลักษณ์สุชน, ม.นเรศวร จัดระเบียบจราจร ลดอุบัติเหตุ ส่งเสริมการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์,http://www.nu.ac.th/th/green_university.php.

[7]ภาพจาก  Facebook : https://www.facebook.com/ newsfriedporkwitheggs /posts/396158930561432.

[8]เรื่องเดียวกัน.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net