พลังของนิสิตหายไปเพราะถูกแทรกแซงจาก ‘อำนาจ’ หรือ นิสิตแทรกแซงตัวเองให้พลังของตัวเองหายไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย Green University[1] ของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้ประกาศการใช้จักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัยตามเวลาที่กำหนดภายในงานเขียนของ ศาสตร์ ราชพฤกษ์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้มีการพาดพิงถึงอำนาจในตัวของ ‘นิสิต’ ที่ขาดหาย พร่าเลือนไปภายในยุคหลัง 14 และ 6 ตุลา (ที่หมายถึงเหตุการณ์การลุกฮือของนักศึกษาในยุคเผด็จการ) โดยอ้างว่า ‘ขบวนการนิสิต/นักศึกษา’ นั้นหมดพลัง เพราะการแทรกแซงจากทั้งภายใน (ผู้บริหาร อาจารย์ และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย) รวมถึงจากภายนอก ที่เขียนไว้ถึงรัฐบาลกลางของประเทศและรัฐบาลท้องถิ่น ที่ได้สร้าง ‘อำนาจนำ’ (Hegemony) เอาไว้เพื่อกดทับอำนาจในกลุ่มนิสิตไม่ให้ออกมาแสดงพลังได้อย่างเต็มที่เท่าที่ควร จนกลายเป็นการ ‘เล่นตามน้ำ’ ต่อผู้มีอำนาจภายในองค์กรไปเรื่อยๆ

ผู้เขียนไม่ค่อยจะเห็นด้วยสักเท่าใดกับการจะกล่าวเช่นนี้ของ ศาสตร์ ราชพฤกษ์ ที่มองถึงความอ่อนแอของพลังของ (ตัวแทนและ) นิสิตที่เป็นผลมาจากการ ‘แทรกแซง’ ของอำนาจภายนอกและภายใน ของผู้มีอำนาจทั้งหลาย ที่ไม่ต่างอะไรไปกับการมุมมองของนักคิด Marxism รุ่นเก่าในสังคมอุตสาหกรรม (Industrial Capitalism) ที่ชอบมองว่าเครื่องจักรนั้นมักจะเป็นสิ่งที่ลดทอนคุณค่าและความสำคัญของความเป็นมนุษย์ภายในตัวแรงงาน (Dehumanisation) และกล่าวโทษว่า ‘เครื่องจักร’ คือ เทคนิคการเอาเปรียบชนชั้นแรงงานเพื่อเสาะหามูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value) ซึ่งเป็นการมองโลกแบบบนลงล่าง (Top-Down) จนอาจจะได้ข้อสรุปที่พลาดในมิติบางมิติไป หรือหากร้ายที่สุดก็คือ ได้ข้อสรุปจากการมองโดยใช้มุมมองเดียวกับของฝ่ายที่เชื่อว่ากำลังเป็น ‘ผู้ครองอำนาจนำ’ โดยผลลัพธ์ที่ได้จากมุมมองดังกล่าวก็คือ นิสิต คือ ภาคส่วนของผู้ด้อยอำนาจ และความเป็นชายขอบ ภายในสนามแห่งการต่อสู้ขัดแย้ง เพราะนิสิตได้ถูกแทรกแซงจาก ‘อำนาจ’ ไปเรียบร้อยจนเปลี้ยเสียแล้ว เช่นนี้ การต่อรอง ต่อสู้หรือขัดขืน ก็คงจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ หรือสำเร็จขึ้นมาอย่างสวยงามตามอุดมการณ์ที่หลายๆคนเคยเชื่อมั่น เกี่ยวกับพลังของนิสิตและนักศึกษา

การตีความถึง ‘อำนาจ’ ภายในสังคมหรือภายในสนามต่างๆว่าถูกบรรจุอยู่ ณ ที่แห่งใดที่แห่งหนึ่งอย่างตายตัว และมั่นคงตลอดเวลานั้น ผู้เขียนคิดว่าอาจจะไม่ถูกต้องเท่าใดนัก ผู้เขียนขอยอมรับว่าได้รับและชอบจะหยิบยืมอิทธิพลแนวคิดมาจากนักคิดหลายๆท่านในสำนักฝรั่งเศส มาใช้อยู่พอสมควร เกี่ยวกับวิถีการมอง ‘อำนาจ’

สำหรับอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่มิใช่ทรัพย์สมบัติถาวรที่ใครจะ ‘ถือ’ หรือ ‘ครอบครอง’ ไว้ได้ตลอดเวลาอย่างมั่นคง แต่อำนาจเป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้ในทุกๆสถานการณ์โอกาสของระบบความสัมพันธ์และการปะทะระหว่างกันของตัวแสดง (Agent/Actor) อำนาจจึงสามารถเกิดขึ้นได้ในตลอดเวลา และไม่มีใครสามารถปิดกั้นการต่อต้านหรือการรวบรวมพลังขึ้นมาต่อสู้ของผู้อื่นได้ 

เมื่ออำนาจสามารถอยู่กับสิ่งที่ราชพฤกษ์เสนอว่า กลุ่มอำนาจ ‘ภายใน’ และ ‘ภายนอก’ ได้ อำนาจก็สามารถที่จะอยู่ในกำมือของนิสิตได้เท่าๆกัน หากนิสิตหรือนักศึกษามีความเพียรที่จะสร้างขึ้น แต่เมื่อนิสิตทั้งหลายได้พากันเชื่อว่า พวกตนนั้น หมดพลัง จากสนาม จนไม่มีปัญญาสู้ต่ออำนาจของกลุ่มผู้บริหารหรือ ‘คนอื่นๆที่ไม่ใช่นิสิต’ เพราะพวกเขาเข้ามาแทรกแซงนิสิตจนหมดพลัง หมดแรง จนไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้แล้ว (ไม่ว่าจะแสดงออกผ่านระบบอาวุโส เช่น การเชื่อฟังผู้หลัก ผู้ใหญ่ หรืออุดมการณ์ในอดีตช่วง 14-6 ตุลา ที่นิสิตทั้งหลายในยุคนี้ไม่มีประสบการณ์ได้สัมผัสนอกจากในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์) ในทางหนึ่งก็เป็นที่เห็นชัดเจนแล้วว่า ‘พลัง’ และ ‘อำนาจ’ ของนิสิตที่พึงมี ส่วนหนึ่งมันก็มาจากการพากันเชื่อร่วมกัน (Collective Behavior) ว่าตัวเองไม่มีพลังและอำนาจ ผลลัพธ์ก็เป็นดังที่ปรากฏ คือ นิสิตทั้งหลายได้จองจำตัวเองให้อยู่ในสถานะของ ‘นิสิตที่เชื่อง’ ที่ไม่ใช่เชื่องต่อผู้ใหญ่หรือระบบอาวุโสความเกรงใจใดๆ หากแต่เป็นการเชื่อในสิ่งที่อุปทานหมู่ที่ถูกสร้างขึ้น (เช่น ความเชื่อที่ว่า นิสิตถูกอำนาจแทรกแซงจากทั้งภายนอกและภายใน ดั่งที่เห็นในงานของศาสตร์ ราชพฤกษ์ หรือ แนวคิดต่างๆที่รับเอามาจากแนวคิดประเภทความครอบงำ – Hegemony ในงานเขียนประเภท Marxism จารีต) จนมันกลายเป็น ‘เงา’ ที่ตามมาและพัฒนาขึ้นมาเป็นกรงขังตัวเองของเหล่านิสิตที่จะลังเลอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่มีพลังและอำนาจ 

เมื่อเป็นเช่นนี้พลังและอำนาจจึงไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะอำนาจจากผู้ใหญ่หรือผู้บริหารฝ่ายต่างๆ แต่ก็เพราะมาจากฝ่ายนิสิตเองที่สร้าง ‘อุดมการณ์ความไม่มีอำนาจ’ ของความเป็น ‘นิสิตยุคหลัง 14-6 ตุลา’ ว่าตัวเองไม่มีประสบการณ์จริงๆ และคงไม่มีทางรวบรวมกำลังพลขึ้นสร้างการ ‘เปลี่ยนแปลง’ ได้เหมือนอย่างในอดีตที่เคยเป็น ทั้งงานเขียนและความเชื่อพื้นฐานต่างๆ ได้สถาปนา ‘ความรู้สึกลังเล’ ที่นำมาสู่ข้อสงสัยในพลังและอำนาจของตนเองว่ามีเพียงพอจริงหรือไม่ และเกิดเป็นความเชื่อขนาดใหญ่ร่วมกันขึ้นมาว่า นิสิตไม่มีพลังเพียงพอที่จะลุกขึ้นต่อรองต่อต้านเหมือนในครั้งอดีต (ในรูปแบบเดียวกับการสร้าง Propaganda ขึ้นมาชวนเชื่อตัวเอง)

ผู้เขียนเลยเกิดข้อสงสัยว่า กลุ่มอำนาจต่างๆเป็นผู้แทรกแซงเข้ามาผลักนิสิตออกจากการเมืองในมหาวิทยาลัย หรือ ฝ่ายนิสิตเองที่แทรกแซงตัวเองแล้วปล่อยให้ตนเองหลุดออกจากพื้นที่ของการเมืองในมหาวิทยาลัย กันแน่



[1]  สืบเนื่องจากบทความ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557 ของศาสตร์ ราชพฤกษ์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท