เรียนเล่นเล่น #9 ‘โรฮิงญา’ มองข้อจำกัด ทางออกผ่านมิติกฎหมายและกลไกคุ้มครอง

ประชาไทจัดกิจกรรมเรียนเล่นๆ คาบที่ 9 โรฮิงญา: มองข้อจำกัด ทางออก ผ่านมิติกฎหมายและกลไกการปกป้องคุ้มครอง โดยมีวิทยากร ศิววงศ์ สุขทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรข้ามชาติ, วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ มูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล

5 มิ.ย.2558 ประชาไทจัดกิจกรรม เรียนเล่นๆ คาบที่ 9 โรฮิงญา: มองข้อจำกัด ทางออก ผ่านมิติกฎหมาย และกลไกการปกป้องคุ้มครอง

ศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ  

โรงฮิงญาเป็นใคร?

อาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าให้คำกำจัดความคนกลุ่มนี้ว่า พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์พร่ามัว

เท่าที่พบมีการอธิบายที่มาของพวกเขาอย่างน้อย 3 แนว คือ สืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าในศตวรรษที่ 7 - 8 ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ค่อนข้างหลวม, เป็นมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่อาระกันดั้งเดิมอยู่แล้ว ซึ่งโดยลักษณะพื้นที่ถูกกั้นกับพม่าโดยเทือกเขาอาระกันโยมา จึงใกล้ชิดกับจิตตะกอง เบงกอลตะวันตกมากกว่า, เป็นผู้อพยพมาจากแบงกอล อินเดียในสมัยอนาณานิคม เหล่านี้เป็นข้อถกเถียงเชิงวิชาการที่มีหลักฐานทั้งสามแบบ เถียงบนจุดยืนการเมืองต่างกัน เมื่อปะทะกับการเมืองภายในพม่าหรือในรัฐยะไข่เอง โรฮิงญาจึงได้กลายเป็นเหยื่อที่ทำให้ทุกคนสมประโยชน์ที่สุด แต่สิ่งที่เขาเป็นจริงๆ มั่นใจว่า คนจำนวนหนึ่งตั้งแต่รุ่นปู่ย่าเติบโตและตายในรัฐยะไข่ จนกระทั่งเนวินออกกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ซึ่งเป็นการกีดกันทางกฎหมายและใช้กำลังในพื้นที่จัดการกับพวกเขา

การอพยพมีพัฒนาการอย่างไร ?

โรฮิงญาไม่อาจนับเป็นพวกที่หนีภัยความรุนแรงเหมือนกะเหรี่ยง ไทใหญ่ เบื้องต้นที่สัมภาษณ์พวกเขาพบว่ามีลักษณะหนีมาตามธรรมชาติ ไม่ได้เตรียมพร้อมหรือวางแผนล่วงหน้า ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในปี 2012 พบว่าเรือผู้อพยพยลำไม่ใหญ่นัก จุคนได้ราว 70-80 คน แต่พอปี 2013-2014 เรือมีขนาดใหญ่ขึ้น กลายเป็น 200-300 คน จากเดิมที่พบเกยฝั่งแล้วเรือไทยไปช่วย ก็มาเป็นพบบนฝั่งมากขึ้นแถวสะเดา ปาดังเบซาร์ สิ่งเหล่านี้ชี้ว่าเริ่มมีขบวนการนำพาเขามาชัดเจนมากขึ้น เพราะไม่เคยมีจำนวนมากขนาดนี้มาก่อน อาจเป็นเพราะเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ด้วยในปี 2012 ที่คนธรรมดา คนในชุมนุมที่อยู่ร่วมกันฆ่าฟันไล่ล่ากันเอง ทำให้เกิดการอพยพจำนวนมาก ขณะที่พม่าก็จำกัดการเดินทางของคนกลุ่มนี้ไม่ให้ข้ามมาไทย และบังคลาเทศก็กีดกันมากขึ้น มันจุดประกายให้ขบวนการแรงงานผิดกฎหมายเห็นโอกาส มีการเอาเรือไปรับเองเลยและขบวนการตรงนี้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

ขบวนการที่ทำตรงนี้ไม่ยืนยันว่าเป็นขบวนการเดียวไหม แต่มันทำให้คนที่อพยพมามีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่หนีภัยความรุนแรง ตอนนี้พบว่ามีการชักจูงมาหรือหลอกลวงมาก็มี นอกจากนี้เราพบชาวบังคลาเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และพบโรฮิงญาน้อยลง กลายเป็นบังคลาเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มที่เรายังจำแนกไม่ได้เพราะโรฮิงญาที่เดินทางไปบังคลาเทศก่อนก็มี ทำให้ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติบังคลาเทศได้

ไม่ใช่ทุกคนโดนบังคับ และไม่ใช่ทุกคนสมัครใจ

พอเราจับกุมเรือลำใหญ่ได้ 400-500 คน พบว่าเป็นบังคลาเทศ 60% โรฮิงญา 40% ไม่ใช่ทุกคนโดนบังคับ และไม่ใช่ทุกคนสมัครใจ มันเหมือนคนไทยถูกหลอกเดินทางไปทำงานที่ซาอุฯ มันจึงมีปัญหาว่าจับกุมหรือช่วยเหลือได้แล้วจะจำแนกอย่างไร และกฎหมายไทยมีเพียงกฎหมายลักลอบหลบหนีเข้าเมืองและกฎหมายค้ามนุษย์เท่านั้น

ปี 2556-2557 แทบไม่มีการคัดกรองเหยื่อเลย โรฮิงญาทั้งหมดถูกจำแนกเป็นบุคคลหลบหนีเข้าเมืองหมด ปีนี้เราเจอกรณีที่ว่าเขาตั้งใจหนีมาแล้วโดนบังคับให้ลงเรือกลางทางเมื่อมาถึงไทยก็สภาพแย่มาก แต่ด้วยไม่มีขบวนการคัดกรองในตอนต้น ทำให้พวกเขาถูกขังไว้แบบหลบหนีเข้าเมือง ทำแบบเดียวกับแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ พม่า กัมพูชา ลาว คือผลักดันออกตามช่องทางธรรมชาติ กรณีโรฮิงญาที่ถูกผลักออกทางด้านจังหวัดระนองก็จะเข้าสู่กระบวนการนอกกฎหมายที่จะนำพากลับเข้ามาอีกครั้ง คนที่เราพบในปี 2557 บางคนถูกจับมากกว่า 1 ครั้ง บางคนโดน 4 ครั้ง กระบวนการแบบนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางข้ามไทยไปประเทศที่สามแพงขึ้นด้วย ตอนแรกค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 บาท ล่าสุดปีนี้บางคนบอกว่า 70,000-80,000 บาท บางคนจ่ายสองรอบแล้วก็ยังไม่ได้โดนปล่อยตัวไป

สำหรับการจำแนกคนเหล่านี้ ตอนแรกจำแนกเป็นบังคลาเทศกับพม่า องค์กรระหว่างประเทศเข้าถึงกลุ่มที่เป็นพม่า แต่คนกลุ่มบังคลาเทศซึ่งสุดท้ายบังคลาเทศก็ไม่รับนั้นหลุดออกจากความช่วยเหลือขององค์กรระหว่างประเทศเลย และยังถูกกักอยู่ ตม.ไทย

เขาอยากไปไหน?

กลุ่มคนที่อพยพมานี้พวกเขาไม่ได้อยากอยู่ประเทศไทย อยากไปอยู่ประเทศมาเลเซีย กลไกต่างๆ ที่เข้าไปสัมภาษณ์และเสนอประเทศที่สาม เช่น อเมริกา หรืออื่นๆ ให้เขาก็ไม่ใช่คำตอบ เพราะเขาต้องการไปมาเลเซีย บางคนถูกจำแนกเป็นเหยื่อ กำลังจะได้สถานะทางกฎหมายแต่เขาก็ไม่ยอมอยู่จนกระบวนการเสร็จสิ้น มีช่องทางก็จะหนีตลอด ทำให้เป็นปัญหามาโดยตลอด ยังไม่นับรวมว่าคนจำนวนมากถูกโยกย้ายจาก ตม.แห่งหนึ่งไปอีกแห่งและไปอีกแห่ง มันทำให้เช็คไมได้ คนที่ออกมาคือใคร คนที่เราติดตามอยู่ที่ตม.ไหนกันแน่  

การให้ยอมรับสถานะผู้ลี้ภัยได้เป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่กรณีที่มันยังไม่มี ตอนนนี้ที่ทำได้คือ เราหยุดยั้งคนที่ไปรับเขาเข้ามาได้

เราเองนี่แหละที่เอาเรือไปรับ (ขบวนการค้ามนุษย์)

ต้องยอมรับว่าเราเป็นประเทศต้นทาง เรือเราไปรับเขาออกจากบ้าน การบอกว่าเราเป็นเพียงกลางทาง เป็นแค่คำปลอบประโลมและโทษประเทศพม่า เรานี่แหละทำให้คนออกมามากกว่าเดิม

UNHCR ประเมินว่าปีที่แล้วมีโรฮิงญาอพยพประมาณ 50,000 คน ปีนี้มาแล้ว 25,000 ถ้าจับเรื่อยๆ ตัวเลขอาจถึงแสน และเป็นเรือเราเองที่ไปรับเขามาตลอด ถ้ามีการจับเกิดขึ้นก็ให้ขึ้นฝั่งไม่ได้ เรือครึ่งหนึ่งก็พยายามจะหันหัวเรือกลับแต่ก็เกิดการเรียกค่าไถ่อีก ถ้าไม่จ่ายก็กลับไม่ได้

เรือทั้งหมดถูกหยุดยั้งจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตอนตามข่าวเราดีใจในความเอาจริงเอาจังของตำรวจ มีการจับเจ้าของเรือพยายามไปถึงปลายทางที่ปาดังเบซาร์ แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้มันอาจจะใหญ่เกินว่าที่ทางตำรวจคิด แม้ว่าจะจับนายทหารระดับพลโทได้ ถ้าไม่มีกระบวนการนำผู้เสียหายที่ไปมาเลเซียแล้วกลับมาเป็นพยาน ไม่ดีลกับมาเลเซียอย่างจริงจัง โอกาสที่จะเอาผิดตำรวจทหารที่อยู่ในขบวน 70-80 คนคงเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมตัวเลขกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว ปีนี้น้อยกว่าปีก่อนๆ ตม.ก็มีการปรับปรุงสถานที่เพื่อรองรับแล้ว คงไม่มีการเสียชีวิตเหมือนสองปีที่ผ่านมา สำหรับบ้านพักของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เขาทำเกินกำลังมา 2 ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 3 เขามีหน้าที่ดูแลผู้หญิงและเด็กแล้วต้องมารับดูแลคนเหล่านี้ แรกๆ ก็เป็นไปด้วยดี แต่ยิ่งนานต่างคนต่างตึงเครียด ตอนนี้นางเอกกำลังมีปัญหา

ส่วนอนาคตผมคิดว่าก็คงเป็นเหมือนเดิม

มีการย้ายโรฮิงญาไป ตม.ต่างๆ เพื่ออะไร?

เป็นการพยายามแบ่งภาระของ ตม. สะเดาและปาดังเบซาร์ ในจังหวัดสงขลา เพราะสภาพใน ตม.ยิ่งกว่าเรือนจำอีก คนหลายสิบอยู่ในห้องแคบๆ ทั้งวันทั้งคืน ทำทุกอย่างในนั้น ตม.พยายามติดพัดลมระบายอากาศแต่ก็ยังไม่ช่วย สภาพกลิ่นก็แย่มาก ทำให้เขาพยายามแก้ปัญหาโดยส่งคนไปอยู่ ตม.พังงา ตม.ระนอง แล้วก็ยังมี มุกดาหาร อุบลราชธานี หนองคาย ไกลสุดที่เจอคือ เชียงราย นอกเหนือจากความแออัด คือการจัดการคนแต่ละกลุ่ม ในร้อยคนจะมีคนในขบวนการนำพาของกลุ่มค้ามนุษย์กี่คนเราไม่สามารถจำแนกได้ชัดเจน ทำให้เข้าไม่ถึงคนที่ควรเข้าเงื่อนไขผู้ลี้ภัย

ทำไมคราวนี้เป็นข่าวดัง ทั้งที่เขามาทุกปี ?

กอ.รมน.ส่วนย่อย 1 ระนอง มีรายงานการจับกุมโรฮิงญาทางทะเลตั้งแต่ปี 2549 แล้ว บางปีมีถึง 5,000 คน ผมพยายามหาคำตอบว่าก่อนปี 2555-2556 มีขบวนการค้ามนุษย์ไหม ถ้ามีมันต่างกันอย่างไรกับปัจจุบัน

ความเห็นของคนที่ทำเรื่องนี้มาก่อน เขาเห็นว่าเมื่อก่อนมันมีขบวนการนำพามาอยู่ แต่มันไม่มีความต้องการเยอะขนาดถึงขั้นว่าจะต้องบังคับมาเพื่อหาผลประโยชน์อย่างในปัจจุบัน หลังปี 2012 เป็นความต้องการที่จะออกจากรัฐยะไข่จำนวนมากจนคุ้มที่จะทำ

ถามว่าทำไมเป็นข่าวเยอะแบบนี้ เรื่องนี้คงต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปีนี้ตำรวจหัวไทรเอาจริงเอาจัง ผมเชื่อว่าเขาตั้งใจทำเพื่อคลี่คลายคดีที่หัวไทรโดยไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเตะอะไรอยู่ เลยนำสู่การพบศพที่เป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากของสถานการณ์ของปีที่ผ่านมา จริงๆ การตายมันเกิดในทะเลมากกว่ามากและหาตัวไม่ได้

วีรวิชญ์ : คราวนี้ดังเพราะเจอศพเยอะ แล้วไปเจอเรืออีก ลอยค้างกลางทะเลเลยไม่ใช่ประเด็นเฉพาะไทยแล้ว

ตอนเจอศพกระแสสังคมออกมาแบบบวกมาก สงสาร เห็นใจ อยากช่วย แต่อยู่ๆ เปลี่ยนเป็นตรงข้าม มันมีอะไรบางอย่างที่แทรกเข้าไปแล้วให้ข้อมูลบางอย่างกับสังคมที่น่าจะถูกวางแผนไว้แล้วเพื่อทำให้ความเห็นอกเห็นใจลดลง แล้วเปลี่ยนมันเป็นความกังวลและความเกลียดชัง อันนี้เป็นทฤษฎี แต่อยากให้ลองไล่ตามข่าวย้อนหลังดูอาจได้เห็นอะไร

บทบาท UNHCR น้อยไปไหม ?

วีรวิชญ์ : งบประมาณของ UNHCR ได้มาจากเงินประเทศต่างๆ รวมกัน ทุกปีที่ของบจากสหประชาชาติจะได้ต่ำกว่าที่ขอไปตลอด อย่างในประเทศไทย ปีที่แล้วใช้เงินประมาณ 60 ล้านเหรียญ ประเทศไทยได้เครดิตในการให้พื้นที่ผู้ลี้ภัยอยู่ ส่วนค่าดูแลประชาคมโลกเขาช่วยจ่ายให้

พองบฯ UNHCR น้อยก็ดูแลคนได้น้อยลง ขณะที่ช่วงที่ผ่านมามีปัญหาที่ซีเรียและอื่นๆ เงินก็ยิ่งถูกดึงไปส่วนนั้น ดังนั้นความช่วยเหลือในภูมิภาคเราที่ไม่ได้ร้อนแรงขนาดตะวันออกกลางก็ยิ่งลดลง ดูแลคนได้น้อยลง ประกอบกับคนที่อยู่ในค่ายเองก็ไม่ได้อยากอยู่ในค่าย อยากมีชีวิตปกติ อยากทำงาน อยากออกจากค็อกซ์บาซาร์ด้วย

ผู้ลี้ภัยภาพรวมทั่วโลกประมาณ 20 ล้าน สามารถส่งไปตั้งรกรากในประเทศที่สามประมาณ 1% ต่อปี ถ้ารอแต่ช่องทางนี้คงต้องใช้เวลาสักร้อยปี ดังนั้นช่องนี้ไม่ค่อย practical เท่าไร หลายประเทศเริ่มพูดว่าทำไมไม่ดูแลกันเองในภูมิภาคบ้าง ถ้าให้ UNHCR ดูแลผู้ลี้ภัยในประเทศไทย พิจารณาสถานภาพผู้ลี้ภัยอย่างรวดเร็วเลย จะแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา หลายคนบอกว่าประเทศไทยจะกลายเป็นทองเลย มันจึงยังเป็นปัญหาว่าควรจะทำให้ดีขึ้นดีไหม

ศิววงศ์ : สถานการณ์ที่บังคลาเทศ เขาท่าทีชัดเจนคือไม่รับใหม่ ที่อยู่เดิมก็ให้อยู่ไปแต่จะไม่ช่วยแล้ว สำหรับไทย การที่บอกว่าไม่ช่วยเพราะกลัวเป็นปัจจัยดึงดูดให้คนยิ่งเข้ามานั้นเป็นการพูดอย่างเหมารวมไปหน่อยโดยไม่จำแนกว่าคนที่มาบนเรือคือกลุ่มใดบ้าง ผู้หญิงเขามากันเองหรือเขาอยากไปหาพ่อเขาไหม จำนวนมากเป็นผู้อพยพทางเศรษฐกิจแต่ใช้เส้นทางเดียวกัน ถึงที่สุดเราคงต้องรับเพื่อมาจำแนก แต่ละกลุ่มมีแนวทางในการจัดการต่างกัน อย่างผู้ลี้ภัยชาวบังคลาเทศคงโดนขังอีก 1-2 ปี จนกว่าประเทศบังคลาเทศจะหาตั๋วเครื่องบินให้เขากลับได้ กลุ่มที่มีญาติอยู่แล้วก็ทำงานในประเทศที่สามที่ญาติเขาอยู่ มีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีทางออกก็สามารถทำบางอย่างได้ คือ ส่งกลับเมื่อสถานการณ์ทางบ้านเขาสงบหรืออนุญาตให้อยู่ที่นี่ได้ เฉพาะปีนี้ เหลือคนไม่มีทางออกจริงๆ ประมาณ 200-300 คนเท่านั้น เราก็ต้องเลือกว่าจะจ่ายวันละ 75 บาทหรือจะปล่อยให้เขาไปหาญาติหรือทำมาหากินได้ ถ้าจะทำแบบนี้รัฐก็ไม่ต้องประกาศก็ได้ถ้ากลัวว่าจะยิ่งดึงดูดคนมา

นอกจากนี้ในชาติอาเซียนมีปัญหาร่วมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทุกคนมีสถานะทางกฎหมาย ตรงนี้จะพิสูจน์สัญชาติอย่างไร แม้แต่ไทยเองก็ยังมีคนไร้สัญชาติ ตราบใดที่เรายังมีปัญหาพื้นฐานอย่างนี้แล้วไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหา ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการควบคุมคนได้ ถ้าคุณไม่ให้สถานะบางอย่างกับเขา คุณจะจัดการคนกลุ่มนี้อย่างไร แต่ว่าเราก็ยังมีความหวัง วิธีการที่ไทยใช้กับแรงงานข้ามชาตินั้นดี เราผ่อนผันให้เขาอยู่ในประเทศก่อน แล้วใช้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ แสดงให้เห็นว่าคนที่ทำนโยบายนี้มองเห็นปัญหานี้อยู่ การใช้แนวทางนี้เป็นพื้นฐานในการเขยิบไปยังกลุ่มผู้ลี้ภัยน่าจะเป็นประโยชน์

วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิไทยเพื่อคนที่มีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล

 

ปัญหาเรื่องโรฮิงญาไม่ใช่ปัญหาใหม่ในประเทศไทย โรฮิงญาเข้ามานานแล้ว  20-30 ปีก็มี ในอดีตบางคนได้บัตรสีต่างๆ หรืออาจไปอยู่ในค่ายผู้อพยพ แต่ไม่ได้ระบุตัวเองว่าเป็นโรฮิงญาเพราะกลัวมีปัญหา ส่วนกลุ่มที่เข้ามาใหม่นั้น กลุ่มแรกพบว่าหนีภัยมาจริงๆ ล่องเรือลำเล็กมาถึงบ้างไม่ถึงบ้าง ตอนแรกไม่ได้มีขบวนการนำพามาชัดเจน อาจเป็นเรือรับจ้างพาเข้ามา พอถูกจับก็ถูกส่งกลับพม่า พม่าก็ไม่รับ พอขังไว้ก็เป็นปัญหา ทั้งสหประชาชาติและต่างประเทศที่ประสบปัญหานี้ต่างเห็นว่า สุดท้ายก็ปล่อยจาก ตม. ดีกว่า เราไปส่งที่เกาะสอง รู้ว่าจะมีคนมารับเพื่อไปต่อ พอเป็นแบบนี้จึงเริ่มมีนโยบายใหม่ ใช้วิธีไม่จับ คิดใหม่ทำใหม่ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ใช้วิธีไม่ยุ่ง ออกมาจากรัฐยะไข่ บังกลาเทศ เราปล่อยหมดเพราะเรารู้ว่าสุดท้ายเขาจะไปมาเลเซีย

ขบวนการก่อนส่งต่อมาเลเซีย

พอรัฐไทยใช้นโยบายนี้ทำให้กลไกตลาดเติบโตรวดเร็ว เรือจากลำหนึ่งบรรทุกคน 70-80 คนกลายเป็นเรือลำใหญ่ที่บรรทุกคน 400-500 คน เพราะเราไม่อยากยุ่ง เห็นว่าช่วงหนึ่งเราไม่จับผู้อพยพทางเรือเลย เป็นระยะเวลานานมาก จากที่จะเข้าน่านน้ำมาเลเซียโดยตรงก็ไม่ให้เข้า แต่กลับให้เรือขึ้นฝั่งไทยแทน คำถามคือจะมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องไหม ถ้าไม่มีคงทำไม่ได้ นักการเมือง ท้องถิ่น ชาวบ้านรู้เรื่องไหม ผมไม่สามารถยืนยันได้ แต่มีรายงานว่าชาวบ้านได้รับค่าดูแล เพื่อเฝ้าไม่ให้คนอพยพทางเรือเหล่านี้หลบหนี

เมื่อชาวโรฮิงญาถูกส่งต่อจากฝั่งไทยไปถึงมาเลเซีย จะมีกระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ซึ่งอาจใช้กระบวนการมากกว่า 6 เดือน โดยทางการมาเลเซียจะผ่อนปรนให้อยู่ได้ เมื่อได้บัตรประจำตัว UNHCR เขาก็ให้ออกไปข้างนอก ตม. ทำให้ชาวโรฮิงญาสามารถหางานทำได้ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ทำให้ชาวโรฮิงญาสามารถทำงานในมาเลเซียได้เป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการมาเลเซีย

กระบวนการนี้ทำให้ชาวโรฮิงญามีโอกาสอาศัยในมาเลเซียมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กระบวนการพาชาวโรฮิงญาในระยะหลังนั้นใช้วิธีเก็บเงินคนลงเรือที่ปลายทาง เพราะตอนที่เขาเดินทางไม่ได้จ่ายค่าเดินทาง พอไม่จ่ายค่าเดินทางก็ต้องหาทางเก็บเงินปลายทาง

สามชาติมึนหมด

ขณะที่สถานการณ์ผู้อพยพทางเรือในปัจจุบัน ประเทศที่อยู่ในกระบวนการทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็มึนไม่รู้จะจัดการอย่างไร จนถึงล่าสุด เรื่องพอแดงขึ้น ทำให้เกิดการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา 17 ชาติ เมื่อ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่าผลการประชุมไม่ได้มีเรื่องบวกมาก แต่เป็นครั้งแรกที่มีการคุยอย่างจริงจัง และหวังว่าจะมีการคุยกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันยังไม่มีใครเห็นทางออกเรื่องนี้ ทั้งองค์กรระหว่างประเทศหรือประเทศที่ได้รับผลกระทบ แต่ประเทศหลักๆ คือพม่ากับบังกลาเทศต้องมีมาตรการอะไรสักอย่าง ไม่อย่างนั้นทุกประเทศที่เหลือก็หาทางออกไม่ได้

เรื่องสัญชาติคนโรฮิงญาอยู่ในพม่าและบังกลาเทศ สำหรับในพม่า นโยบายของเขาก็ขึ้นๆ ลงๆ บางกลุ่มได้รับการสำรวจ ได้รับการขึ้นทะเบียนและบัตร แต่บางกลุ่มก็ไม่ได้ ว่ากันว่ากลุ่มที่ได้นั้นใกล้ชิดกับทหารพม่าหรือกลุ่มธุรกิจพม่าที่ดูแลพื้นที่ตรงนั้น กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะมีสถานะดีกว่า แต่ทั้งขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียนต่างก็ยังไม่ได้สัญชาติ

ในบังกลาเทศ มีทั้งอยู่ในค่ายกับที่ไม่ได้อยู่ในค่าย ทั้งสองกลุ่มนี้บังกลาเทศก็ไม่ได้ให้สัญชาติและพยายามผลักดันกลับพม่า ทำให้คนสองกลุ่มมีปัญหาหลักคือเรื่องสัญชาติ

ปัญหาการไร้สัญชาติ

ในเรื่องสัญชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 อยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง ฯลฯ ทั้งหมดนี้พูดถึงการมีสัญชาติของคน สหประชาชาติอยากให้แต่ละรัฐชาติแก้ไขปัญหานี้ด้วย ถ้าแต่ละรัฐดำเนินการเรื่องนี้ก็จะไม่มีคนไร้สัญชาติ ประเทศไทยก็ผ่านกระบวนการนี้มาหลายทศวรรษทำให้คนไร้สัญชาติในไทยลดลงไปเรื่อยๆ แต่ยังมีอีกหลายแสนคน

ประเทศไทยใช้เวลาหลายสิบปีในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แต่พม่าถือว่ายังไม่ได้เริ่มกระบวนการนี้

กรณีชาวเขาในประเทศไทย กลุ่มกะเหรี่ยงที่อยู่ชายแดนไทย-พม่า เราใช้เวลา 30-40 ปีในการปรับทัศนคติ ปรับความคิดผู้นำ ข้าราชการ รวมถึงคนไทยส่วนกลางในการยอมรับคนเหล่านี้เป็นคนสัญชาติไทย คนเหล่านี้ถูกกระทำมานานจนปัจจุบันเราพอยอมรับว่าเขาเป็นคนมีสัญชาติไทย เป็นคนไทย แต่พม่ายังไม่มีขั้นตอนนี้

ผมได้คุยกับภาคประชาสังคมพม่า เขาก็เห็นปัญหา เขาเห็นว่าประเทศไทยใช้เวลาหลายทศวรรษ แต่ของเขายังตกลงกันไม่ได้เลยว่าจะมีสันติภาพหรือเปล่า แต่ปรากฏการณ์หนึ่งที่เป็นจุดร่วมในพม่า คือ ไม่อยากให้มีโรฮิงญาในพม่า ซึ่งเป็นเรื่องแปลก แต่ละกลุ่มทะเลาะถึงกับฆ่ากันตาย แต่พอเรื่องโรฮิงญากลับเห็นพ้องกัน หรือประเทศไทยเรื่องโรฮิงญาก็ทำให้เหลืองกับแดงที่ทะเลาะกันเห็นตรงกัน

ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายสัญชาติของพม่าก็ยังขัดกันอยู่ เพราะกฎหมายพม่ายังกันคนโรฮิงญาออกไป ต้องแก้ไขกฎหมายพม่าให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

ไทยต้องช่วยโรฮิงญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ

การช่วยเหลือผู้อพยพทางเรือ โดยเฉพาะการให้ผู้อพยพขึ้นฝั่ง ถือเป็นสิ่งที่ไทยต้องปฏิบัติ ตามที่ลงนามไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศด้วย อย่างเช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ซึ่งกฎหมายนี้ยังถือเป็นจารีตระหว่างประเทศด้วย นอกจากนี้ต้องระวังการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไทยลงนามไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ รวมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่ไทยลงนามเอาไว้ด้วย

ขณะเดียวกัน ไทยยังลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (CERD) ที่ในปีที่ผ่านมาคณะกรรมการเรียกร้องให้ไทยจัดทำรายงานพิเศษโดยเฉพาะกรณีปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งปีนี้ปัญหาก็ยังเหมือนเดิม เรายังคงเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติกับโรฮิงญา และปรากฏการณ์ทางโซเชียลมีเดีย นับเป็นการละเมิดอนุสัญญาดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ เพราะว่า CERD ไม่ยอมให้เราเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และรัฐไม่สามารถปล่อยให้มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ทั้งนี้เราไม่เห็นว่ารัฐบาลมีบทบาทในการหยุดยั้งกระแสสังคมในการต่อต้านกระแสเหยียดเชื้อชาติ ผมคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาส่วนหนึ่งและรายงานในฉบับต่อไปจะมีการหยิบยกเรื่องนี้มาอยู่ในรายงานด้วย

ข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยโดยรวม

ตอนนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาต (กสม.) มีคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มีหลายกระทรวงรวมทั้งภาคประชาสังคมประชุมร่วมกันเพื่อทำข้อเสนอแก้กฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อให้มีประเภทวีซ่าเพิ่มขึ้น คือ วีซ่าประเภทขอลี้ภัย ภายใต้แคมเปญ Treat them like a tourist ใน change.org

ทั้งนี้เพราะผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยดูแลตัวเองได้ หรือมีญาติส่งเงินมา หรือองค์กรต่างๆ ให้การสนับสนุนดูแล อยู่ได้ไม่ต่างกับนักท่องเที่ยว long stay เท่าไร รัฐจึงควรอนุญาตให้เขาอาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมายขณะที่ UNHCR ก็พิจารณาสถานภาพไปตามกระบวนการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท