Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

หากมองอย่างผิวเผิน Game of Throne คงเป็นเพียงซีรีส์ทางโทรทัศน์อีกรายการหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการสู้รบเพื่อบรรลุเป้าหมาย การวางแผนหักหลังชิงบัลลังก์ และตัวละครที่ใส่เสื้อวับ ๆ แวม ๆ  (หรือไม่ก็ไม่ใส่) แต่ที่จริงแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้มีความหมายเชิงลึกมากกว่านั้นจากบทเรียนจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อเกี่ยวกับสันติภาพและความปลอดภัยสำหรับชีวิตในความเป็นจริง นักวิจารณ์จากสถาบันต่าง ๆ เช่น Fletcher School of Diplomacy, Foreign Policy, และ the Atlantic.com ได้เขียนออกมาแล้วว่า รายการของ HBO ซึ่งอ้างอิงจาก A Song of Fire and Ice ซีรีส์แฟนตาซีเรื่องเยี่ยมของ George R.R. Martin ช่วยอธิบายปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในโลกแห่งความจริงได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม เรื่องคู่ขนานเรื่องหนึ่งได้หลบหนีไปจากการวิเคราะห์ ได้แก่ การนำมังกรในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีลมหายใจเป็นเปลวเพลิงมาเปรียบเปรยกับอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งที่แต่งเป็นเรื่องแฟนตาซี เนื้อเรื่องกลับสอนให้เห็นถึงธรรมชาติที่อันตรายซึ่งมาพร้อมกับการบริหารจัดการตัวเปลี่ยนเกม (game-changing agents) เหล่านี้ รวมไปถึงแนวโน้มที่พวกมันอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ประโยชน์ในเชิงสัมพัทธ์ที่พวกมันให้กับเจ้านาย และแรงกดดันที่อาวุธเหล่านี้มีต่อกลุ่มคนที่ใช้อานุภาพของพวกมันได้อย่างมาก

“มังกรเป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้เพื่อการป้องปราม (the nuclear deterrent) และมี (Daenerys Targaryen หนึ่งในตัวแสดงนำหญิงที่ทำให้คนติดซีรีส์เรื่องนี้อย่างเหนียวแน่น) เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ครอบครองอาวุธดังกล่าว ในบางแง่มุม สิ่งนี้เองที่ทำให้เธอเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก” Martin ได้กล่าวไว้ในปี 2011 “แต่มันเพียงพอขนาดนั้นเชียวหรือ ? เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่ผมพยายามสำรวจ สหรัฐอเมริกาในขณะนี้มีความสามารถในการทำลายล้างโลกได้ด้วยฐานยิงอาวุธนิวเคลียร์ของตน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเราสามารถบรรลุเป้าหมายในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ ได้ อำนาจเป็นสิ่งลุ่มลึกกว่านั้น คุณสามารถมีอำนาจในการทำลายล้างได้ แต่มันไม่สามารถให้อำนาจในการปฏิรูป ให้อำนาจในการพัฒนา หรือให้อำนาจในการสร้างได้”

เตรียมพบกับสภาวะอันน่าหดหู่ หรือ ดังที่ตัวละครตัวหนึ่งเตือนอยู่ซ้ำ ๆ ในตอนแรกว่า “ฤดูหนาวกำลังมา” ได้ ณ บัดนี้

(โปรดระวัง Spoiler)

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมังกร

ก่อนที่จะเล่าต่อไป มาดูคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับมังกรกันเสียก่อน ในงานสร้างของ Martin “มังกรคือสิ่งมีชีวิตทิ่บินได้ และพ่นไฟได้มากพอที่จะละลายเหล็กหล้า ปูนคอนกรีต และเนื้อหนังมังสา” ผู้ที่ฝึกฝนมันสามารถขี่อสูรร้ายที่ตนฟูมฟักมาเพื่อเข้าสู่สมรภูมิรบได้ในฐานะเป็นอาวุธแห่งสงครามที่แทบไร้เทียมทาน มังกรจะไม่หยุดเจริญเติบโต “ตราบที่มันยังมีอาหารและอิสรภาพ” ไม่ต่างจากฐานจรวดนิวเคลียร์ที่ขนาดและความร้ายแรงสามารถเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตราบที่ยังมีงบประมาณเหลือเฟือ

ในท้องเรื่อง มังกรเคยสูญพันธ์ไปแล้วก่อนที่ Daenerys ซึ่งลี้ภัยอยู่จะได้รับอาวุธใหม่จากการค้นพบวิธีฟักไข่โบราณให้ออกมาเป็นมังกรจำนวนสามตัว เหมือนกับที่นักฟิสิกส์เรียนรู้ที่จะปลดปล่อยอำนาจจากพลังแห่งองค์ประกอบของจักรวาล และที่เหมือนกับอาวุธนิวเคลียร์มากอีกอย่างก็คือ มังกรไม่ได้ตัวผูกขาดการใช้ความรุนแรง ความตายและทรมานเกิดขึ้นเป็นขนาดมหึมาเมื่อใดก็ตามที่สงครามในลักษณะดั้งเดิม (conventional wars) สร้างความสูญเสียบนผืนแผ่นดิน เปลี่ยนให้ทหารหนุ่มกลายเป็นคนพิการ และทำให้ “smallfolk”[2] กลายเป็นความสูญเสียทีขนานตามกันมา

แต่ดังที่ Thomas Schelling นักทฤษฎีการทหารได้เขียนไว้ใน Arms and Influence การทำลายล้างอย่างรวดเร็วของมันทำให้อาวุธนิวเคลียร์ต่างจากอาวุธสงครามในลักษณะดั้งเดิม Shelling เสนอว่า “นี่คือความแตกต่างระหว่างอาวุธนิวเคลียร์และดาบปลายปืน ความแตกต่างไม่ใช่จำนวนผู้คนที่มันสามารถฆ่าลงได้ในที่สุด แต่เป็นความรวดเร็วที่มันสามารถจะฆ่าได้” เช่นเดียวกัน การทำลายล้างในขนาดมหึมาด้วยเปลวเพลิงมังกรทำให้มันเหมือนกับเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นใหญ่ที่บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ไว้ภายใน เรื่องนี้เป็นจริงอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายคือการนำอสูรติดปีกเข้าสู่สมรภูมิ เหมือนกับนักบินเครื่องรุ่น B-52 ที่บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ในภาพยนตร์เรื่อง Dr. Strangelove

ทั้งมังกรและอาวุธนิวเคลียร์ต่างก็ให้การป้องกัน (defense) แก่ผู้ครอบครองพวกมันในราคาย่อมเยา “บางประเทศอาจพบว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่ราคาถูกและปลอดภัยกว่า แทนที่จะแข่งขันกันสะสมอาวุธในลักษณะดั้งเดิมที่ทั้งบ่อนทำลายเศรษฐกิจและเป็นเรื่องอันตรายในทางการทหาร” Kenneth Waltz ได้เขียนไว้ใน The Spread of Nuclear Weapons ด้วยมังกรเพียงสามตัวและกำลังทหารที่น้อยกว่า 2,000 ราย Aegon Targaryen (the Conqueror) เคยนำเอาภาคพื้นทวีปเกือบทั้งหมดให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของตนมาแล้ว โดยไม่ต้องละลายทรัพย์สมบัติและเวลาไปกับการขับเคลื่อนไพร่พลและสร้างกองทัพเรือและสรรพาวุธ โครงการนิวเคลียร์เป็นที่ดึงดูดสำหรับผู้นำที่แสวงหาความคุ้มค่าด้วยราคาย่อมเยา หรือต้องการใช้เงินทุก “stag” ให้คุ้มค่าที่สุด ดังที่มันเป็นชื่อสกุลเงินที่ใช้เรียกในซีรีส์


มังกรสามตัวมีสามหัว

คำทำนายเกี่ยวกับอนาคต ที่ให้ไว้โดยปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงหรือมาจากความฝันที่เป็นปริศนา ส่งผลอย่างมากต่อชีวิตของตัวละครในซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตจากการนำทางของเบื้องบน หรือเป็นการหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ก็ตาม คำทำนายเหล่านี้ก็ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการกระทำของตัวละครและมีอิทธิพลต่อจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ที่ตามมาด้วย อย่างไรก็ตาม การตีความคำทำนายให้แม่นยำได้รับพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากบางครั้งข้อเท็จจริงกลับถูกมองข้ามไปอย่างไม่น่าให้อภัย ตัวอย่างเช่น ข่าวสารเกี่ยวกับการคืนชีพของมังกรกลับถูกมองข้ามไป เป็นต้น ในทางกลับกัน เรื่องซุบซิบนินทาที่เป็นเท็จกลับสามารถยอมรับได้อย่างผิด ๆ (และง่ายดาย) ว่าเป็นความจริงอันเที่ยงแท้ เหมือนกับรายงานข่าวกรองของรัฐบาลบุชเกี่ยวกับอาวุธทำลายล้างสูงในอิรักเป็นอย่างยิ่ง  

จากข้อสังเกตเดียวกัน ในนิมิตระหว่างการลี้ภัย Daenerys เมื่อครั้งเยาว์วัยได้รับการบอกเล่าว่า “มังกรมีสามหัว” คำกล่าวผลักดันให้เธอตีความว่า Aegon the Conqueror และน้องสาวของเขาเป็นคนที่ขี่มังกรสามตัวเข้าสู่สมรภูมิ สิ่งนี้ทำให้คิดถึงนิวเคลียร์ทั้งสามฐานของสหรัฐ ได้แก่ ฐานระบบนำส่งจรวดทางอากาศ ทางใต้น้ำ และทางภาคพื้นดิน สถานการณ์ด้านงบประมาณในปัจจุบันส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญเริ่มพิจารณาถึงการ “ตัดเล็มส่วนที่ไม่จำเป็นออก” อย่างไรก็ตาม มีกระแสต่อต้านสูงจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธนิวเคลียร์ที่ออกมาเตือนว่าฐานยิงอาวุธจะต้องมีสามฐานอยู่เสมอ เผื่อในกรณีที่ระบบล้มเหลวหรือโดนเปิดฉากโจมตีก่อนจนอาจทำให้เสียฐานใดฐานหนึ่งไป

วิธีการตีความนิมิตของ Daenerys อีกแบบหนึ่ง คือ ความจำเป็นในการแสวงหาพันธมิตรเพื่อแบ่งเบาภาระ ดังที่ Daenerys แสวงหาคนขี่มังกรมาเป็นแนวร่วมเพื่อช่วยเหลือเธอในการชิงบัลลังก์เหล็ก (Iron Throne) นักวางแผนกลยุทธ์ด้านการทหารของสหรัฐอเมริกาได้พยายามป้องปรามการรุกคืบในลักษณะดั้งเดิม (conventional aggression) ของสหภาพโซเวียตด้วยการทำงานกับกลุ่มพันธมิตรใน NATO อย่างใกล้ชิด ข้อตกลงร่วมด้านอาวุธนิวเคลียร์ การสร้างพันธมิตร และการสนับสนุนโครงการอาวุธนิวเคลียร์ให้แก่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ได้ช่วยให้สหรัฐอเมริกาสามารถประกอบมังกรสามหัวเพื่อเผชิญหน้ากับหมียักษ์อย่างสหภาพโซเวียตได้


การป้องปรามด้วยมังกร

การครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ไม่ได้ยังผลให้เกิดการป้องปราม[3] (deterrence) ที่มีประสิทธิภาพได้โดยอัตโนมัติ ผู้ครอบครองพวกมันจะต้องมีวิธีนำส่งอาวุธไปยังเป้าหมาย ทำให้มันระเบิดอย่างถูกที่ถูกเวลา สื่อสารเจตนาไปยังฝ่ายปรปักษ์ และป้องกันฐานยิงของตนจากการโจมตีด้วย 

หลังจากฟักไข่ มังกรของ Daenerys ทั้งอ่อนแอ บินได้ไม่ไกล และพ่นไฟได้ไม่มาก ช่วงที่ยังแบเบาะ มังกรของเธอดูเหมือนจะเป็นอาวุธนิวเคลียร์ในทางกลวิธี (tactical nuclear weapons) มากกว่าจะเป็นอาวุธที่เหมาะสมกับการปฏิบัติภารกิจในเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวคือ พวกมันสามารถนำเอามาใช้เพื่อการแสดงในท้องที่ได้เท่านั้น เช่น อยู่ภายในพื้นที่ปิด หากมังกรตัวน้อยของเธอยังไม่เติบโตและแข็งแกร่งขึ้น พวกมันจะสามารถถูกลักขโมยได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ตราบที่พวกมันสามารถรอดจากการเปิดฉากโจมตีครั้งแรก (First Strike) ได้ พวกมันก็สามารถป้องปรามความขัดแย้งได้ เหมือนกับที่ Waltz เคยเขียนเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็กไว้อย่างมาก เมื่อมังกรเติบโตขึ้น เกล็ดของมันจะแข็งแกร่งขึ้นจนสามารถป้องกันศรธนูได้ เหมือนกับที่ฐานยิงจรวดใต้ดินข้ามพื้นทวีป (intercontinental ballistic missile silos) ที่ถูกทำให้แข็งแกร่งขึ้นจนสามารถป้องกันทุกอย่างได้ ยกเว้นการระเบิดโดยตรงจากภาคพื้นดิน นี่เป็นบทเรียนที่รัฐครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็กต้องเรียนรู้

การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์มักมีลักษณะเป็นเครื่องป้องกันสงครามระหว่างรัฐที่ครอบครองนิวเคลียร์ด้วยกันอย่างน้อย 2 รัฐขึ้นไป แต่มโนทัศน์เรื่องการสร้างเสถียรภาพ เช่น การประกันอำนาจทำลายล้างระหว่างกัน (mutually assured destruction: MAD)[4] เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในโลกของ Martin เนื่องจากมีเพียงคนเดียวที่ได้ครอบครองมังกร Daenerys ได้ทำลายและขโมยทรัพย์สินจากหัวเมืองต่าง ๆ ซ้ำยังสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่คิดตั้งตนปรปักษ์กับเธออย่างต่อเนื่อง บรรพบุรุษของเธอ Aegon the Conqueror เป็นผู้ครอบครองมังกรแต่เพียงผู้เดียวในขณะที่เขามุ่งเป้าการรุกรานไปยังป้อมปราการหินขนาดมหึมา กำแพงปราสาทของป้อมถูกแผดเผาจนละลายด้วยเปลวเพลิงมังกรอันเข้มข้น และทุกวันนี้พวกมันได้กลายเป็นมรดกต้องคำสาป เหมือนกับพายุเพลิงที่ฉีกเมืองฮิโรชีมาและนางาซากิ เมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับการทำนุบำรุงแล้ว แต่ความเจ็บป่วยและโรคมะเร็งอันเป็นมรดกตกทอดของรังสียังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

กลุ่มผู้มองโลกในแง่ดีที่ขานรับอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาเป็นอิทธิพลในการสร้างเสถียรภาพ ยืนกรานว่า โดยธรรมชาติของมันแล้ว อาวุธเหล่านี้ทำให้บรรดาผู้นำที่มีเหตุมีผลของระบอบที่มีเสถียรภาพต่าง ๆ ต้องรักษาการควบคุมฐานยิงอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐไว้อย่างเข้มงวดและทำให้พฤติกรรมของมันปกติเรียบร้อย มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการถูกยิงสวนกลับ (retaliation) ได้ เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออาวุธนิวเคลียร์อยู่ในมือของผู้นำที่ไร้เหตุผล ประเทศที่ขาดเสถียรภาพ หรือ ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ? โชคดีสำหรับ Westeros ที่ “ราชาผู้บ้าคลั่ง” ของดินแดนดังกล่าวไม่มีมังกรเอาไว้รับใช้ เขาคำรามว่า “เผามันให้หมด” ขณะที่สั่งให้เผาบ้านเผาเมืองของเขาแทนที่จะสั่งให้ยอมแพ้ แสดงให้เห็นว่าภัยคุกคามจากการโดนยิงสวนกลับมีความหมายเพียงน้อยนิดต่อบางคนที่ตั้งใจจะใช้ความรุนแรงแบบฆ่าตัวตายกับประเทศของตัวเอง

Waltz เพิกเฉยต่อความกังวลเหล่านี้เพราะ “ในโลกแห่งอาวุธนิวเคลียร์ การกระทำด้วยวิธีก้าวร้าวอย่างอุกอาจนับเป็นเรื่องเสียสติ ภายใต้สภาวการณ์ต่าง ๆ จะมีนายพลสักกี่คนที่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของคนบ้า?” หนึ่งในตัวละครหลักของซีรีส์ Jaime Lannister พยายามบรรเทาใจของราชาผู้บ้าคลั่งซึ่งเป็นผู้สั่งการ แทนที่จะดำเนินการตามคำสั่ง แต่สำหรับการเปิดฉากวันสิ้นโลก การใช้นายพลขี้ประจบเพียงคนเดียวก็เพียงพอแล้ว

ผลกระทบของอาวุธดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ครั้งหนึ่ง นายพล Curtis Lemay อดีตหัวหน้าของกองบัญชาการยุทธศาสตร์ทหารอากาศแห่งสหรัฐ ฯ เคยกล่าวไว้ว่า “ตั้งแต่เย็นย่ำของคืนนี้ ไปจนถึงรุ่งเช้าของวันพรุ่ง สหภาพโซเวียตดูท่าแล้วจะไม่เหลือความเป็นมหาอำนาจทางทหาร หรือกระทั่งความเป็นชาติมหาอำนาจด้วยซ้ำ” หากเขาสามารถปล่อยคลังแสงนิวเคลียร์ของเขาได้ “เปลวไฟและหยาดเลือด (Fire and Blood) ” คำขวัญประจำตระกูล Targaryen สามารถเป็นป้ายประดับบ้านของตระกูล Lemay ได้อย่างไม่ยากเย็น

 


ที่มาภาพ: http://www.facebook.com/game-of-thrones-season-4-episode-one-two-swords

ข้อจำกัดของยุทธการมังกร

อาวุธนิวเคลียร์อาจช่วยป้องกันภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ (existential threats) ได้ แต่พวกมันก็มีข้อจำกัดเมื่อใช้ในปฏิบัติการทางทหารหรือเป้าหมายนโยบายต่างประเทศอื่น ๆ ดังที่ตัวละครอย่าง Tywin Lannister ได้พูดและครุ่นคิดอยู่กับตัวเองว่า “มังกรไม่เคยชนะสงครามเลยในรอบ 300 ปี กองทัพเอาชนะพวกมันได้มาตลอด”

แม้จะเป็นผู้ครอบครองมังกรทั้งสามตัวแล้ว Aegon the Conqueror ก็ไม่สามารถกดหัวราชอาณาจักรที่ต่อต้านขัดขืนให้คุกเข่าลงสยบยอมได้ อาณาจักรที่สมมติขึ้นใน Game of Throne ส่วนใหญ่มักมีสภาพแวดล้อมเป็น “เป้าหมายที่เหมาะสม” (target rich) เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากอาศัยอยู่ในปราสาทและพยายามดำเนินยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการนัดรบอย่างเป็นทางการในพื้นที่เปิด อย่างไรก็ตาม ราชอาณาจักร Dorne กลับมีภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยโขดหิน เนินภูเขา แห้งแล้ง และเป็นทะเลทราย โดยประกอบด้วยเมืองขนาดย่อม ประชากรกระจัดกระจาย และเต็มไปด้วยสถานที่หลบซ่อน ทำให้ต่อต้านยุทธการมังกรได้ดีกว่า หลังจากสงครามยืดเยื้อ Aegon จึงยอมหยุดความสูญเสียไว้เพราะกองทัพถูกลอบทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยนักสู้ผู้ต่อต้านที่ล่าถอยเข้าไปในพื้นที่ลึกลับได้ก่อนที่มังกรจะมาถึงเสมอ สันติภาพบังเกิดได้โดยการทูตเพียงอย่างเดียวเท่านั้นในหนึ่งศตวรรษต่อมา และภูมิภาคนี้ก็สามารถดำรงไว้ซึ่งขนบประเพณีและเสรีภาพได้มากกว่าดินแดนของราชอาณาจักรทั้งเจ็ด (Seven Kingdoms) ส่วนที่เหลือ  อันเป็นพื้นที่ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ในซีรีส์อุบัติขึ้น

ในลักษณะเดียวกัน ช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับปฏิบัติการที่ยืดเยื้อ เนื่องจากกองกำลังจรยุทธ์ (Guerrillas) ไม่ได้ถูกป้องปรามโดยคลังแสงนิวเคลียร์ของอเมริกา รายงานลับเมื่อปี 1967 ที่เขียนโดย the JASON Group[5] ระบุว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ถึงที่สุดแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดข้อได้เปรียบทางการทหารแต่อย่างใด เวียดนามเป็น “เป้าหมายที่ไม่เหมาะสม” (poor target) เนื่องจากมีเส้นทางการจ่ายเสบียงที่หยืดหยุ่นและทั่วถึงและกองกำลังที่กระจัดกระจาย การเข้าไปพัวพันในเวียดนามจบลงเมื่อ Paris Peace Accords ประกาศว่า “สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ทั้งหมดเคารพอิสรภาพ อำนาจอธิปไตย เอกภาพ และบูรณภาพแห่งดินแดนของเวียดนาม”

ที่เหมือนกันอย่างมาก คือ คำคุยโวโอ้อวดและความมั่นใจแน่วแน่ของ Daenerys ได้นำไปสู่การเข้ายึดเมืองโบราณแห่ง Meereen โดยใช้กำลัง ไม่มีใครกล้าคัดค้านราชินีองค์ใหม่ของตน มิเช่นนั้นจะต้องเจอกับไฟบันดาลโทสะของมังกร อย่างไรก็ตาม เมื่อเธอครองบัลลังก์ Daenerys ต้องพบกับความท้าทายและสถานการณ์ทางการเมืองที่ยากลำบาก โดยมังกรช่วยอะไรได้ไม่มากนัก แฟนคลับซีรีส์บางคนนำเรื่องการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนและความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศของ Daenerys มาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของอเมริกาในอิรักและการเสี่ยงภัยของสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน ในสภาพการณ์เช่นนั้น อาวุธนิวเคลียร์ไม่มีความเหมาะสมต่อการบรรลุเป้าหมายนโยบายต่างประเทศที่มีลักษณะเฉพาะแต่อย่างใด Daenerys จบเรื่องนี้ด้วยการอาศัยกองทัพเพื่อดำเนินการระงับความไม่สงบและใช้การทูตเพื่อบรรลุสันติภาพกับประเทศเพื่อนบ้านของเธออย่างยากลำบาก


คำสั่งและการควบคุม

เมื่อนายผู้คุมมังกรได้รับคำสั่งให้ควบคุมอสูรร้ายของตนด้วย “การหวดแส้ เป่าแตร และร่ายมนต์ดำ” ศูนย์สั่งการและควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา (The US Nuclear Command and Control) ก็ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่ซับซ้อนเพื่อ “วางแผน สั่งการ และควบคุม ปฏิบัติการอาวุธนิวเคลียร์ของกองกำลังทหารและกิจกรรมที่สนับสนุนปฏิบัติการดังกล่าว” เมื่อ Daenerys เสียมังกรตัวหนึ่งไปและขังอีกสองตัวที่เหลือไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่มีลักษณะเหมือนกับการปลดอาวุธฝ่ายตัวเองไปโดยดุษฎี (Unilateral disarmament) เนื่องจากเธอไม่สามารถควบคุมอาวุธของตนเองได้อีกต่อไป หากมังกรของเธอป่าเถื่อนเกินกว่าจะฟังแม่ของพวกมัน คู่ต่อสู้อาจเห็นว่าอาวุธของเธอลดคุณภาพลงจนถึงจุดที่เธอขาดความสามารถในการระบุเป้าหมายและพ่นไฟได้ มังกรไม่ได้ต้องการความแม่นยำในการโจมตีเป้าหมาย แต่เจ้านายของมังกรเป็นเจ้านายมังกรอยู่ได้ก็ต่อเมื่อพวกเขายังสามารถรักษาระบบการสั่งการและควบคุมเอาไว้อย่างเหนียวแน่นเท่านั้น

การรักษาความเหนียวแน่นดังกล่าวเป็นเรื่องยากเนื่องจากมีตัวละครบางคนพยายามควบคุมมังกรของ Daenerys เพื่อบรรลุความทะเยอทะยานทางภูมิยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของตนเอง ภาพยนตร์แอคชั่นของฮอลลีวู้ดมักเต็มไปด้วยแผนการของนักวิทยาศาสตร์ที่ผิดหวัง ผู้ก่อการร้าย ภาคส่วนของรัฐบาลที่ไม่ซื่อสัตย์ และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ถูกชี้นำไปในทางที่มิชอบ ที่พยายามเริ่มสงครามนิวเคลียร์โดยใช้ระเบิดของคนอื่นทั้งสิ้น

แต่กระนั้น มังกรก็เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกอิจฉาอยากได้มา แม้ว่าพวกมันจะเป็นสิ่งที่ยากต่อการครอบครองก็ตาม นายทาสใน Astapor เคยหวังว่าจะซื้อมังกรของ Daenerys หนึ่งตัว แลกกับกองทัพและทหารฝีมือเยี่ยม แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขากลับพบว่า “มังกรไม่ใช้ทาส” และการซื้อขายจึงหวนกลับมาส่งผลร้ายในที่สุด

จากข้อมูลของ John Mueller อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ Ohio ระบุว่าผู้จัดจำหน่ายอาวุธนิวเคลียร์มีแนวโน้มที่จะไม่ไว้ใจฝากระเบิดที่สูงค่าไว้กับกลุ่มที่ตนไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ อย่างน้อย ครั้งต่อไปหากใครต้องการซื้อมังกรไว้ใช้เป็นการส่วนตัว พวกเขาควรตรวจสอบดูเสียก่อนว่ามันมาพร้อมกับสวิตช์รักษาความปลอดภัย หรือมีอะไรที่ยับยั้งการใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตติดมาด้วยหรือไม่

บทเรียนข้อหนึ่งที่ Daenerys ควรเรียนรู้คือคุณค่าของการลงทุนกับความปลอดภัยของอาวุธนิวเคลียร์ ระหว่างที่อาศัยอยู่ในเมืองท่าโบราณแห่งหนึ่ง ปรปักษ์ของเธอผ่านระบบรักษาความปลอดภัยขั้นต่ำและขโมยเอามังกรของเธอไปได้ เมื่อปราศจากทีมสนับสนุนด้านนิวเคลียร์ในยามฉุกเฉิน เธอจึงต้องตระเวนอยู่ในเมืองเป็นเวลาหลายวันกว่าจะสามารถนำมันกลับบ้านมาได้ เธอสูญเสียการควบคุมมังกรอีกครั้งเมื่อมังกรตัวใหญ่ที่สุดของเธอหนีไป

Daenerys ยิ่งผิดหวังหนักขึ้นอีก เมื่อพบว่ามังกรยิ่งโหดร้ายกับเธอมากขึ้น เวลาที่ปัญหาภายในประเทศเบี่ยงเบนความสนใจของเธอไปจากพวกมัน Alyssa Rosenberg นักเขียนด้านวัฒนธรรมกระแสนิยมของหนังสือพิมพ์ Washington Post ได้เปรียบเทียบมังกรที่เที่ยวบินเล่นได้อย่างอิสระว่าเหมือนวัตถุที่วงจรปฏิกิริยานิวเคลียร์หละหลวมที่อาจระเบิดได้ทุกเมื่อ (loose fissile material) เมื่อพบกับสถานการณ์ในชีวิตจริงที่มีลักษณะเหมือนกัน ประธานาธิบดีโอบามาได้ริเริ่มจัดการประชุมเรื่องความมั่นคงด้านอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Security Summits) หลายครั้ง เพื่อสร้างความพยายามที่จริงจังและต่อเนื่องในการรักษาวัตถุนิวเคลียร์ที่เปราะบางซึ่งมีอยู่ทั่วโลก Daenerys ควรจะต้องตั้งชุดที่ปรึกษาขึ้นมาโดยมีแผนการในแบบเดียวกัน


พ่อแม่ภาคภูมิใจ

หลังจากยุคที่ไร้มังกรยืนยาวมากว่าศตวรรษ Daenerys จึงประกาศตนว่าเป็น “มารดาแห่งมังกร” Hugh Gusterson คอลัมนิสต์ของ Bulletin และผู้เขียนหนังสือเรื่อง People of the Bomb: Portraits of America’s Nuclear Complex รู้สึกประหลาดใจกับ “ความสิ้นไร้ถ้อยคำที่ใช้เปรียบเปรยกับความตาย ที่มาพร้อมกับความรุ่มรวยอย่างยิ่งของถ้อยคำที่ใช้เปรียบเปรยการเกิด” ซึ่งมีอยู่ในวัฒนธรรมที่อาวุธนิวเคลียร์กำลังถือกำเนิดขึ้น รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ Henry Stimson เคยแจ้ง Winston Churchill เกี่ยวกับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกด้วยข้อความที่เขียนว่า “เด็ก ๆ คลอดออกมาแล้วในสภาพที่น่าพึงพอใจ”

ความปลาบปลื้มปิติจากการได้เป็นพ่อแม่ของทั้งระเบิดนิวเคลียร์และมังกรค่อย ๆ จางหายไปเมื่ออำนาจการทำลายล้างของอาวุธเหล่านี้เริ่มเด่นชัดขึ้น เมื่อบิดาผู้โศกเศร้าบอกกับ Daenerys ว่ามังกรกินลูกของเขา เธอตกใจกลัวและพยายามขังบรรดาลูกมังกรของเธอไว้ในกรง นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ที่ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับโครงการ Manhattan เช่น Niels Bohr, Hans Bethe, และคนอื่น ๆ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับอันตรายของอาวุธนิวเคลียร์ และพยายามวิ่งเต้นเพื่อหยุดยั้งการใช้อาวุธที่พวกเขาเป็นคนสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงท้ายหนังสือเล่มล่าสุดของ Martin การแสวงหานิมิต (vision quest)[6] ของ Daenerys ดูเหมือนว่าจะโน้มน้าวให้เธอโอบรับธรรมเนียมนักสู้ของ Targaryen ไว้ หลังจากกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับมังกรที่เลี้ยงยากเลี้ยงเย็นของเธออีกครั้ง เธอจึงพุ่งเป้าไปยัง Westeros นักฟิสิกส์ชื่อว่า Edward Teller ไม่เหมือนกับเพื่อนร่วมงานของเขาในโครงการ Manhattan ได้พัฒนาระเบิดไฮโดรเจนที่ล้ำยุคยิ่งกว่าเดิมซึ่งมีชื่อว่า “The Super” ขึ้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาทดสอบระเบิดลูกนี้ที่แนวหินโสโครก Bikini ระหว่างอยู่ในปฏิบัติการ Castle Bravo ในปี 1954 ปรากฏว่าผลของการระเบิดร้ายแรงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ตอนแรกอย่างมีนัยยะสำคัญและกินพื้นที่เป็นรัศมีหลายไมล์ ต่อมา หลายคนต้องทรมานกับความเจ็บป่วยหรือกระทั่งเสียชีวิตจากรังสี รวมไปถึง สมาชิกกะลาสีซึ่งอยู่ในเรือประมงชื่อว่า Fukuryu Maru หรือที่แปลว่า มังกรผู้โชคดี

 

หากคุณคิดจะเล่นกับไฟ.....

อาวุธนิวเคลียร์และมังกรเป็นของอันตรายแม้ในยามสงบ Summerhall ปราสาทซากปรักหักฟังที่ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นบ้านพักในวันหยุดของครอบครัว Targaryens เป็นสถานที่แห่งโศกนาฏกรรมปริศนา ซึ่งเปรียบได้กับพัฒนาการของระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงแรก สมาชิกของครอบครัว Targaryen เคยปล่อยเปลวไฟหายนะซึ่งได้พรากชีวิตหนึ่งในบรรพกษัตริย์ของตนไป ระหว่างทำการทดลองเพื่อนำมังกรกลับมาสู่โลก

เช่นเดียวกัน รายงานของคณะกรรมธิการด้านพลังงานปรมานูแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า มีการปนเปื้อนรังสีโดยอุบัติเหตุระหว่างการทดลองนิวเคลียร์ถึง 26 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 รายจากอุบัติเหตุดังกล่าวช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1943 ถึง 1970 ในปี 1946 Louis Slotin นักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีส่วนรวมในโครงการ Manhattan ต้องทรมานจากการรับรังสีเข้าไปในปริมาณระดับถึงตายขณะที่กำลังคำนวณมวลสารอันตรายจำนวนมากที่ซึ่งปฏิกิริยานิวเคลียร์กำเนิดขึ้น ชื่อของเทคนิคที่ใช้สำหรับกระบวนการนี้เรียกว่า “การเขี่ยหางมังกร”

มังกรของ Daenerys ค่อนข้างมีชื่อเสียงสำหรับแฟนคลับผู้ติดตามหนังสือและซีรีส์ทางโทรทัศน์ ถ้าหากพวกเขาชื่นชมแนวคิดหลักเรื่องการต่อต้านสงครามอย่างเข้มข้นซึ่งแทรกซึมอยู่ใน Game of Throne พวกเขาก็ควรจะสงสารที่เธอต้องมาพบกับทางเลือกที่ยากลำบากมากกว่าที่จะรู้สึกตัณหากับผลจากกระทำของเธอ Martin กล่าวว่าเรื่องราวที่เขาแต่งไม่ได้เพียงแต่พยายามแสดงภาพประจักษ์พยานของเกียรติภูมิแห่งสงครามเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงผลพวงอันน่ารังเกียจของความรุนแรงด้วย ทั้งต่อศัตรู คนนอกที่ไม่รู้ประสีประสา และรวมไปถึงตนเองในท้ายที่สุด จากมุมมองเช่นนี้และการเปรียบเทียบกับอาวุธนิวเคลียร์ มังกรของเธอปรากฏขึ้นในฐานะเป็นตัวดำเนินเรื่องที่มีความละเอียดและประณีตมากกว่าที่หลายคนคิด แทนที่จะเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ “เท่ห์” (หรือร้อนแรง) เพียงอย่างเดียว พวกมันกลับเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนและสามารถเป็นภัยคุกคามต่อตัวละครตัวหนึ่ง ๆ หรือประชากรทั้งหมดได้ เมื่อหนังสือและรายการจบลงแล้ว คงไม่น่าแปลกใจถ้ามังกรของ Daenerys จะต้องพบกับจุดจบที่น่าเศร้า เช่นเดียวกับตัวละครอื่น ๆ ในซีรีส์ มังกรอาจโจมตีเจ้านายของมันอย่างฉับพลันได้ Daenerys อาจยอมเสียสละพวกมันเพื่อแลกกับสันติภาพก็ได้ หรือ มังกรอาจปลดปล่อยการทำลายล้างไปทั่ว Westeros ก็ยังได้ อาวุธนิวเคลียร์และมังกรอาจช่วยให้คน ๆ หนึ่งคว้าชัยได้ แต่พวกมันไม่ได้เป็นตัวการันตีเสถียรภาพและการปกครองที่สันติแต่อย่างใด

สงครามนิวเคลียร์บนโลกของเราจะทำให้เมืองต่าง ๆ ปกคลุมไปด้วยเปลวไฟในช่วงแรก และจากนั้นจึงตามมาด้วยฤดูหนาวหลังการระเบิดนิวเคลียร์เป็นระยะเวลานานกว่าชั่วอายุคน[7] นี่คือเพลงปิดฉากของน้ำแข็งและเปลวไฟ (A Song of Fire and Ice) ในชีวิตจริง.

 

อ้างอิง

[1] แปลจากบทความต้นฉบับชื่อว่า “Game of Thrones: The Dragons and nuclear weapon nexus” (http://thebulletin.org/game-thrones-dragons-and-nuclear-weapons-nexus7217) ที่จริงแล้ว Timothy Westmyer ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความชิ้นนี้ได้ใส่ลิ้งค์อ้างอิงไปถึงเว็บไซต์ที่น่าสนใจจำนวนมาก ผู้แปลได้เลือกเอาเชิงอรรถบางส่วนที่เห็นว่าจำเป็นต่อการเข้าใจเนื้อหามาสรุปใจความและใส่อ้างอิงไว้ รวมไปถึงเขียนขยายความศัพท์เฉพาะของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพิ่มเติมตามสมควร หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดูต้นฉบับได้เว็บไซต์ข้างต้น  – ผู้แปล

[2] คำว่า smallfolk เป็นคำที่ผู้แต่ง Game of Throne ใช้เรียกสามัญชนในดินแดนที่มีชื่อว่า Westeros – ผู้แปล

[3] การป้องปราม (deterrence) ในที่นี้ มีความหมายเฉพาะในทางวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึง การพัฒนาภาพลักษณ์หรือขีดความสามารถของประเทศเพื่อทำให้ประเทศอื่นที่อาจต้องการรุกรานหรือโจมตีล้มเลิกความตั้งใจของตนไป เพราะคิดว่าจะไม่ประสบชัยชนะหรืออาจพบกับความเสียหายเกินกว่าที่ประเทศผู้โจมตีจะจ่ายไหว – ผู้แปล

[4] Mutually Assured Destruction (MAD) หรือการประกันอำนาจทำลายล้างระหว่างกัน เป็นศัพท์เฉพาะของวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกคำหนึ่ง ที่ใช้เพื่อหมายถึงปรากฏการณ์ที่ตัวแสดงทางการเมืองแข่งขันกันสะสมอาวุธจนไปถึงจุดที่มั่นใจแล้วว่า “ฉิบหายทั้งคู่แน่นอน” ถ้าหากมีการเปิดฉากโจมตีกันเกิดขึ้น นักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบางสำนักเชื่อกันว่า สภาวะเช่นนี้ช่วยป้องปรามความขัดแย้งไม่ให้ยกระดับจนเกิดปะทุกลายเป็นสงครามได้ เนื่องจากตัวแสดงทั้งคู่กลัวความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง – ผู้แปล  

[5] ผู้เขียนบทความได้อ้างอิงถึงเว็บไซต์ที่บอกเกี่ยวกับรายละเอียดในเรื่องนี้ว่า The JASON Group คือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่รวมตัวกันอย่างลับ ๆ ตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลสหรัฐได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และนำไปสู่การตัดสินใจที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น การแนะนำให้ Bill Clinton ลงนามสนธิสัญญาห้ามทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อย่างครอบคลุม (Comprehensive Test Ban Treaty) เพราะเห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่จำเป็นต้องทดสอบอาวุธเพื่อรับประกันความแม่นยำของการโจมตีอีกแล้ว โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.nytimes.com/2006/04/16/books/review/16horgan.html?_r=1& -- ผู้แปล

[6] คำว่า Vision Quest ที่ผู้แปลแทนด้วยคำว่า “การแสวงหานิมิต” นั้นมีลักษณะเฉพาะเป็นอย่างยิ่ง เพราะเดิมทีแล้วหมายถึงพิธีกรรมของชาวอินเดียนในทวีปอเมริกา ในพิธีกรรมดังกล่าว ชายหนุ่มซึ่งเพิ่งย่างเข้าวัยเจริญพันธุ์ จะต้องแยกตัวไปจำศีล บำเพ็ญตบะหรือทรมานตัวเองเพื่อให้เทวดามาเข้าทรง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เทวดาที่เข้าทรงเป็นผู้นำทางและให้คำตอบเกี่ยวกับเป้าหมายของชีวิตแก่ชายหนุ่มที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ – ผู้แปล

[7] ผู้เขียนได้อ้างอิงถึงบทความวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่ง ที่ใช้ตัวแบบทฤษฎีในการคาดการณ์ว่า หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นอย่างรุนแรง จะทำให้เกิดหมอกหนาปกคลุมโลกและความอบอุ่นจากแสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องผ่านมายังโลกพื้นโลกได้ ต่อมา อุณหภูมิจะลดลงต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเป็นเวลานาน ทำให้โลกเข้าสู่ยุคเยือกแข็งในที่สุด โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.sciencemag.org/content/222/4630/1283.abstract – ผู้แปล 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net