Skip to main content
sharethis

วงเสวนา ‘พิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน ด้วยการป้องกันการทำผิด’ ชี้จะแก้ปัญหาเด็กทำผิด ต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่าย ความผิดของเด็กเป็นภาพสะท้อนสภาพสังคม โครงสร้างอำนาจแนวดิ่งในโรงเรียน การบังคับยัดเยียด ความรู้ ความจริง และความดี อาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2558 เวลา 9.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทรา แจ้งวัฒนะ วีระยุทธ สุขเจริญ อธิบดีกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนกล่าวเปิดงาน เวทีความร่วมมือเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานการพิทักษ์สิทธิเด็กด้วยการป้องกันการกระทำความผิด จากนั้นเป็นการฉายวิดีทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินโครงการของกรมพินิจ ฯ ในประเด็นของการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือมีปัญหา ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมผ่านกิจกรรมค่ายเยาวชน

วีระยุทธ สุขเจริญ: เด็กเหมือนผ้าขาว หนุนรัฐ,ชุมชน,วัยรุ่น แก้ปัญหาวัยรุ่น

วีระยุทธ สุขเจริญ อธิบดีกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้กล่าวในการเสวนาในประเด็นบทบาทและหน้าที่ของกรมพินิจ ฯ โดยเปิดประเด็นก่อนว่าเด็กและเยาวชนเป็นเสมือนผ้าขาว ที่ถูกแต่งแต้มด้วยสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ผนวกกับในสภาวะปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น หากไร้ภูมิคุ้มกัน เด็กและเยาวชนอาจจะพลาดพลั้งหลงผิด และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนร่วมที่จะต้องมีมุมมองต่อปัญหาในทิศทางเดียวกัน จึงจะนำไปสู่การค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันได้

ในประเด็นของหน้าที่ของกรมพินิจฯ วีระยุทธ กล่าวว่า หน้าที่ของกรมพินิจ ฯ ตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2553 ได้กำหนดหน้าที่ของกรมพินิจฯ ในเชิงป้องกันมิให้เยาวชนใต้การดูแลสร้างปัญหาให้แก่สังคม ดังนั้นกระทรวงพินิจฯ และสถานพินิจฯ จึงมีความมุ่งหมายให้เยาวชนได้รับการดูแลอย่างดีภายใต้กระบวนการที่รับผิดชอบ โดยแนวทางในการปฏิบัติของกรมพินิจฯ และสถานพินิจฯ ได้แก่การคัดแยกเยาวชนที่ศาลส่งมาเป็น 4 ประเภทได้แก่ เยาวชนที่ติดยาเสพติด, เยาวชนที่เกเร, เด็กแว้นกวนเมือง และเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน แต่ไม่เรียนและก่อปัญหาสังคม เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการในศูนย์ฝึกอบรม ที่จะจัดให้เป็นค่ายฝึกอบรมซึ่งจะมีความแตกต่าง โดยอิงตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ด้วยวิธีการที่ต่างกันไป เป้าประสงค์ของกิจกรรมนี้ก็คือการสร้างผลผลิตที่เรียกว่า 'เยาวชนต้นแบบ(Idol)' ผ่านค่ายฝึกอบรมและประสานกับภาคส่วนอื่นๆ ในการสร้างพื้นที่แสดงศักยภาพของเยาวชน เยาวชนต้นแบบจะกลายเป็นเยาวชนที่มีคุณค่า และประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งมีหน้าที่ไปช่วยเหลือและพัฒนาเยาวชนที่มีปัญหาโดยอาศัยช่องว่างระหว่างวัยที่ใกล้เคียงกันที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย และยังมีการผลักดันให้เกิดคลินิกปรึกษาแก่เยาวชนที่มีปัญหา, โครงการหนึ่งสถานพินิจ หนึ่งสถานศึกษา และเครือข่ายชุมชนที่ร่วมมือกับกลุ่มเยาวชนต้นแบบเพื่อที่จะทำการช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการดูแลและสอดส่องปัญหาเยาวชน และผลักดันให้มีโครงการ 'บำบัดฟื้นฟูแบบไร้รอยต่อ' อันมีหน้าที่ในการดูแลเยาวชนที่ออกจากกระบวนการไปแล้ว ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่ถูกทอดทิ้งจากสถาบันต่างๆ ในสังคม

วีระยุทธ ยังทิ้งท้ายอีกว่า แนวทางพัฒนาที่กำลังพัฒนานั้นมุ่งกระจายกระบวนการฟื้นฟูและบำบัดเยาวชนที่มีคุณภาพในทุกจังหวัด โดยมีกระบวนการแบ่งโซนแก่เยาวชนชัดเจนตามประเภทต่างๆ และให้การดูแลที่เหมาะสมในแต่ละประเภท และกล่าวให้มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในหน้าที่ของการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกทอดทิ้งจากสังคม

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ : สถิติการกระทำผิดของเด็กสะท้อนสภาพสังคม เราควรแก้ปัญหาจากต้นทาง

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองอธิบดีกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กรมพินิจเปรียบเสมือนดังกระจกสะท้อนสังคมไทย สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริง เห็นภาพลักษณ์ และปัญหาต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคม จำนวนตัวเลขของเด็กและเยาวชนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพครอบครัว  และสภาพสังคมว่าเป็นอย่างไร แม้ตัวเลขในเชิงสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่าน จะมีความคงที่ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย

ฉะนั้นทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือการแก้ปัญหาจากต้นทาง สหการณ์กล่าวต่อว่า การสร้างความร่วมมือที่ดีของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเกิดขึ้น การที่จะดูแลเด็กและเยาวชนจะเป็นเพียงเรื่องของกรมพินิจฯ อย่างเดียวไม่ได้ ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหา เพราะการที่เด็กแล้วเยาวชนก้าวเข้าสู่การดูแลของกรมพินิจฯ นั้นเท่ากับว่า ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว แล้วหน้าที่ของกรมพินิจฯ คือการทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นปรับตัว และกลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง การจะยุติปัญหาได้อย่างแท้จริงต้องมีการประสานความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเป็นพื้นที่เป็นบ้านหลังที่สองเข้าเด็กและเยาวชน ครูไม่ควรมีหน้าที่เพียงทำการสอนในเชิงเนื้อหาวิชาการเท่านั้น แต่ควรจะมีการสอนแล้วพัฒนาความคิด ทัศนคติ และจิตใจของเด็กด้วย ขณะเดียวกันการทำหน้าที่ของฝ่ายปกครองก็ไม่ควรเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ตัดสินถูกผิด ทำโทษ และเรียกพบผู้ปกครองเพียงเท่านั้น แต่ควรจะคิดหาวิธีป้องการที่จะไม่เด็กทำผิดอีก โดยอาศัยกระบวนการทางจิตวิทยา ไม่ใช่การทำโทษแต่เพียงอย่างเดียว

ชัชวาล ทองดีเลิศ: ปรับโครงสร้างสังคมและการศึกษา หวังแก้ปัญหาวัยรุ่นแปลกแยก

ชัชวาล ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา กล่าวในประเด็นปัญหาเด็กและเยาวชนว่ามีสาเหตุจากความผิดพลาดของโครงสร้างการศึกษาในปัจจุบันที่ไม่สอดคล้องกับฐานคิดของกลุ่มเป้าหมาย เด็กและเยาวชนมีความรู้สึกเบื่อหน่ายที่ถูกบังคับให้เรียนและยัดเยียดระเบียบวินัย ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือในครอบครัว วิธีการสอนและการสอบเข้าศึกษาต่อในปัจจุบันไม่ได้สอนแนวทางในการใช้ชีวิต อีกทั้งยังกล่าวถึงปัญหาของความไม่สอดคล้องกันระหว่างหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีรูปแบบตายตัว กับโรงเรียนทั่วประเทศที่มีลักษณะแตกต่างกัน อีกทั้งปัจจัยภายนอกที่มีความเย้ายวนและน่าสนใจกว่าสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนและพฤติกรรมการถูกประณามจากสังคมเมื่อทำผิดพลาดหรือล้มเหลว ทำให้เด็กและเยาวชนเบื่อหน่ายและมีแนวโน้มออกนอกลู่นอกทางไปจากกรอบที่ตนถูกบังคับ

ชัชวาล ได้เสนอแนวทางแก้ไขว่าทุกภาคส่วนที่มีเด็กและเยาวชนอยู่ในรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา, ศาสนา ,ภาครัฐและประชาสังคมควรมีแนวทางแก้ไขร่วมกัน โครงสร้างทางเศรษฐกิจและการศึกษาจะต้องถูกปรับแก้ในการสร้างตลาดให้แก่ทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับแนวทางที่เด็กและเยาวชนมีศักยภาพที่จะทำ เพื่อลดปัญหาการว่างงานและแนวโน้มที่กลุ่มคนว่างงานจะกลายมาเป็นปัญหาสังคม การทำให้เด็กและเยาวชนค้นพบตนเองนั้นถือว่าเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญ การจัดกระบวนการศึกษาให้เด็กและเยาวชนได้ค้นพบตนเองและศึกษาในสิ่งที่พวกเขาชอบ ให้เรียนรู้จากความผิดพลาด ทั้งยังได้พูดถึงการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างเด็กกับสมาชิกในสังคมที่ดูแลพวกเขาโดยแต่เดิมที่เป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง ให้กลายเป็นความสัมพันธ์แบบแนวราบ ที่เด็กและสมาชิกสังคมเช่น ผู้ปกครอง, ครู,พระสงฆ์ สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับ เคารพความแตกต่างในตัวแต่ละบุคคล เสริมสร้างความสัมพันธ์ในสถาบันสังคม และท้ายที่สุดเมื่อเด็กและเยาวชนเปิดใจรับฟัง และค้นพบตนเอง พวกเขาก็จะมีเส้นทางดำเนินชีวิตและความมุ่งมั่นที่จะบรรลุตามความฝัน และเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยน ปัญหาที่มีบ่อเกิดจากสภาพสังคมในปัจจุบันก็จะได้รับการแก้ไข

ทั้งนี้ ชัชวาลยังทิ้งท้ายว่า อยากให้ประเด็นปัญหาที่กล่าวไปนั้น กลายเป็นประเด็นสาธารณะเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความกังวลและมีส่วนร่วม และจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งยังขอให้ระบบสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆออกแบบหน้าที่และการทำงานร่วมกัน

เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์: พัฒนาคุณภาพระบบฟื้นฟูและดูแลวัยรุ่น รองรับสังคมสูงวัยของไทย

เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความเห็นในการเสวนาว่า มาตรการในระบบฟื้นฟูนั้นควรมีประสิทธิภาพที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด เน้นให้เด็กและเยาวชนออกมาดำเนินชีวิตต่อตามปรกติ การดูแลเด็กและเยาวชนนั้นเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่สำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งระบบยุติธรรมและระบบที่มีหน้าที่รับผิดชอบก่อนหน้า ภาคส่วนต่างๆควรมีเครื่องมือที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพในการดูแลเด็กและเยาวชนที่มีปัญหา ทั้งนี้ บุคลากรเองก็ต้องมีศักยภาพที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด โดยมีประเด็นที่เป็นห่วงในการดูแลเด็กและเยาวชนที่มีปัญหา ในเรื่องของหลักสูตรเนื้อหา ระยะเวลาของกระบวนการ และประสิทธิภาพของการวัดและประเมินผล และบทบาทขององค์กรภายนอกระบบราชการที่ในสังคมไทยมีบทบาทน้อย

เพ็ญพรรณกล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในสังคมไทยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในฐานะที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงวัย เพื่อให้ประเทศชาติมีทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net