Skip to main content
sharethis

15 มิ.ย.2558 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES: Freidrich Ebert Stiftung) ร่วมกับกลุ่มสภาหน้าโดม จัดงานเปิดตัวหนังสือ “คำและแนวคิดในประชาธิปไตยสมัยใหม่ (Glossary of Concepts and Terms In Modern Democracy)” ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ พร้อมทั้งมีการหยิบยกสาระในหนังสือบางส่วนมาอภิปราย โดย ร.ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้จัดทำหนังสือร่วมกับ FES และ โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในคณะบรรณาธิการ

สิริพรรณ กล่าวถึงที่มาของหนังสือ ว่ามีที่มาจากความต้องการที่จะรวบรวมความหมายของคำ และแนวคิดต่างๆเกี่ยวกับประชาธิปไตยของไทยและตะวันตก ทั้งยังกล่าวว่าจะเขียนเอาไว้ใน Wikipedia เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงในวงกว้าง ถือเป็นการคืนกำไรเพื่อสังคม เพราะอย่างไรหนังสือเองก็ทำไว้แจกฟรีอยู่แล้ว

วัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้มีไว้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า (Sourcebook) อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ต้องการผูกขาดการให้นิยามคำใดๆ และไม่ได้ใช้เป็นเครื่องมือตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือผิด เพียงแต่มุ่งหาต้นกำเนิดของคำ ซึ่งส่วนมากมีที่มาจากตะวันตก เพราะตัวแนวคิดมาจากตะวันตก แต่ในตะวันตก คำนิยามเหล่านี้ก็เป็นที่ถกเถียงและไม่ได้มีนิยามเดียว จึงให้กรอบการอธิบายว่าเป็น ‘อรรถธิบาย’ ไม่ใช่การนิยามเสียทีเดียว

สิ่งที่สำคัญที่ FES ตระหนักก็คือ ในสังคมไทยมีการใช้คำเหล่านั้นอย่างไม่เข้าใจ หรือเข้าใจอย่างผิดๆ นำมาสู่การเถียงกันไม่รู้เรื่อง พูดกันคนละนิยาม อยู่ในสังคมที่รียกว่า ‘มโน Politics’ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องหา ‘ราก’ ของคำ เพื่อให้การถกเถียงอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้เป็นพจนานุกรมที่จะบอกแต่นิยามศัพท์เสียทีเดียว แต่ยังพยายามเชื่อมโยงคำต่างๆทั้งในแง่ของที่มา และที่ถูกใช้ในบริบทสังคมไทย รวมถึงเชื่อมคำบางคำในหนังสือไว้ด้วยกันอีกด้วย

สิริพรรณ ยังกล่าวอีกว่า มีคำบางคำที่พวกเราไม่ค่อยคุ้นเคย ดังที่ FES ยกขึ้นมาไว้ในหนังสือเล่มนี้ เพราะมีเจตนารมณ์ที่จะทำให้พื้นที่ของการถกเถียงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในสังคมไทย แต่ต้องการให้เห็นว่า ในโลกตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นแล้ว เขากำลังพูดถึงเรื่องอะไรบ้าง จึงมีบางคำที่เราไม่คุ้นเคย แต่ก็ควรค่าแก่การถกเถียงและพิจารณาในสังคมไทย โดยหนังสือจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่; ตัวแสดงและบทบาททางการเมือง, วัฒนธรรมการเมืองและประชาธิปไตย, สิทธิและความเป็นธรรมทางสังคม, การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ

โสรัจจ์ กล่าวเสริมให้เห็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ว่า หนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์เมื่อเราต้องการทราบความหมายของคำๆนั้น หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็น ‘encyclopedia’ คือเป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้ ทำให้มีพื้นความรู้ในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็น ‘glossary’ ที่มีหน้าที่อธิบายคำ เป็นกึ่งกลางระหว่าง encyclopedia กับ dictionary เพื่อปูพื้นความรู้ให้ผู้อ่าน และอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ในสภาวะทางการเมืองเช่นนี้ เป็นเรื่องหลีกไม่พ้นที่จะมีการเปรียบเทียบความหมายของคำในตำรากับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ซึ่งก็สะท้อนถึงเหตุผลของการมีหนังสือเล่มนี้

โสรัจจ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า การเขียนอธิบายแยกเป็นคำๆ ทำให้ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านได้ ไม่ต้องอ่านเรียงบทตั้งแต่ต้นถึงจะเข้าใจ อีกทั้งการพูดคุยกันในชีวิตประจำวัน ใช้ภาษาเป็นหลัก ทางหนึ่งที่จะทำให้คำต่างๆในหนังสือเล่มนี้เข้าไปอยู่ในการพูด การอภิปราย หรือการใช้ภาษาของมนุษย์ในสังคมโดยทั่วไป ก็คือเปลี่ยนสภาพจากคำที่ฟังดูแปลกประหลาด เป็นคำธรรมดาๆที่เราใช้กันอยู่ตามปรกติ และไม่ยึดความหมายคนละความหมายกัน อันจะเกิดขึ้นเมื่อคำเหล่านั้นแปลกแยกไปจากชีวิตเรา สิ่งที่ควรทำให้เกิดขึ้นก็คือ ทำยังไงให้คำเหล่านี้เป็นคำที่ใช้กันโดยธรรมชาติ ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องการบรรยากาศที่เปิด และถกเถียง อภิปรายเกี่ยวกับการเมืองกันมากขึ้น

โสรัจจ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยประเด็นเกี่ยวกับรากฐาน คือถ้าเราจะเข้าใจความหมายของคำอย่างตรงกัน ก็จำเป็นจะต้องอยู่บนพื้นฐานความรู้เดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น โจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยฝังรากอยู่ในวัฒนธรรม เรามักจะมีการถกเถียงว่า ประชาธิปไตย มาจากตะวันตก ทำให้คนในสังคมตะวันออกหรือสังคมที่ไม่ใช่ตะวันตกรู้สึกว่า ประชาธิปไตยเป็นอะไรที่แปลกแยกไปจากวัฒนธรรมของตน ซึ่งจริงๆนักวิชาการหลายท่านกล่าวว่าไม่เป็นอย่างนั้น เพราะในสังคมโบราณตะวันออกบางสังคม ก็มีลักษณะของการหาข้อตกลงร่วมด้วยการประชุม ด้วยการใช้เหตุผล และอำนาจไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่คนๆเดียวก็มี ประชาธิปไตยเองก็มีจุดตั้งต้นได้จากรากเหง้าของวัฒนธรรมของเราเองเหมือนกัน

‘Fourth Sector (ภาคส่วนที่สี่)’ 

จากนั้นจึงเป็นการหยิบยกคำบางคำจากหนังสือขึ้นมาอภิปราย โดยคำแรกที่ยกมาคือ ‘Fourth Sector (ภาคส่วนที่สี่)’ สิริพรรณ อธิบายว่า  เราเคยได้ยินภาคส่วนแรก(ส่วนรัฐบาลที่มีหน้าที่บริการ) ภาคส่วนที่สอง(ส่วนเอกชนที่เน้นกำไร)และสาม(ประชาสังคมที่ไม่แสวงผลกำไร)มาแล้ว ล่าสุด ในตะวันตกมีแนวคิดคำว่า ภาคส่วนที่สี่ ที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวของพื้นที่ และตัวแสดงทางการเมืองในประชาธิปไตยสมัยใหม่ พื้นที่ของการควบรวม ขับเคลื่อนเข้าหากันระหว่างสามภาคส่วนแรก ซึ่งแต่เดิมมีลักษณะต่างคนต่างทำ ใจความสำคัญก็คือ การเน้นเป้าหมายเพื่อสังคม (Social Benefit)โดยรวมผ่านวิธีการทางธุรกิจ ได้แก่การมีเจ้าของร่วม, ธรรมาภิบาลทางธุรกิจ, ให้ค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม, ผู้ลงทุนมีผลกำไรที่เหมาะสม, รับผิดชอบต่อสังคมและสภาพแวดล้อม และมีความโปร่งใส เพื่อทำให้การดำเนินการเพื่อให้ประโยชน์แก่สังคมขับเคลื่อนไปได้อย่างยั่งยืนเพราะมีเงินทุนสนับสนุน การกระทำแบบนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้สภาวะแวดล้อมของการแยกกันอยู่แยกกันทำ รัฐบาลจะไม่สามารถจัดการภาคเอกชนที่เน้นจะเอากำไรแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งประเทศไทยยังแยกพื้นที่ของรัฐบาลและธุรกิจอย่างชัดเจน

สัมพัทธนิยมเชิงวัฒนธรรม (Cultural Relativism)

คำที่สอง ได้แก่ สัมพัทธนิยมเชิงวัฒนธรรม (Cultural Relativism) เป็นคำที่ สิริพรรณ หยิบขึ้นมา ด้วยเหตุผลว่าปัจจุบันมีการไหลของวัฒนธรรมสูงมาก โดยให้คำอธิบายของคำนี้ว่า เป็นแนวคิดที่มองว่า ไม่มีวัฒนธรรมไหนที่สมบูรณ์แบบ แต่ละวัฒนธรรมมีพลวัตของมันที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมการแต่งกายแบบไทย ในช่วงสมัยหนึ่ง การแต่งกายแบบไทย ถ้าย้อนกลับไปจะเห็นว่า หญิงไทยแต่งกายแบบเปลือยท่อนบนมาก่อน จนสมัยจอมพล ป. แล้วจึงเปลี่ยนมาใส่ท่อนบนให้มิดชิด แถมยังให้ใส่หมวกอีกด้วย

สิริพรรณ กล่าวต่ออีกว่า ในสังคมไทย เหมือนจะยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่ง สังคมไทยเป็นสังคมที่กดทับวัฒนธรรมของคนกลุ่มน้อย ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่นการล้อเลียนวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเช่นการล้อเลียนคำพูดโดยตัวเราเองกลับกลายเป็นคนที่กดทับวัฒนธรรมคนอื่น และเรามักจะมีมุกตลกเสียดสีประเภทนั้นกับประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่าเรา และในทางกลับกันเราจะยกย่องประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมดีกว่าเรา

นอกจากนี้ แนวคิด สัมพัทธนิยมวัฒนธรรมยังมองว่า สิ่งที่เป็นสากล(Universal) ไม่ใช่จะดีเสมอไป เราจะเอาวัฒนธรรมสากลมาตัดสินวัฒนธรรมอื่นๆได้ในขอบเขตขนาดไหน เช่นแนวคิดสิทธิมนุษยชนสากล ที่มักจะมีการปะทะทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมกลุ่มย่อยที่มีมากหลายในโลกนี้ เช่นการปะทะกันระหว่างสิทธิสตรีในสิทธิมนุษยชนสากล กับวัฒนธรรมที่กระทำกับสตรีในหลายวัฒนธรรมเช่นการขลิบอวัยวะเพศ หรือการคลุมถุงชน เป็นต้น

ความเสมอภาค (Equality) 

สิริพรรณ ต่อการอภิปรายไปถึงคำที่สามที่หยิบยกขึ้นมา คือคำว่า ความเสมอภาค (Equality) ที่เหมือนจะเป็นคำที่ใช้ง่ายเข้าใจง่าย  แต่คนเข้าใจผิดเยอะ ว่าเสมอภาค แปลว่า เหมือนกัน จริงๆแล้ว เสมอภาคไม่ได้แปลว่าต้องเหมือนกัน เพราะมนุษย์มีความต่างในหลายมิติ จริงๆความเสมอภาคคือสิ่งที่ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันจากรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหน้ากฎหมาย (Equality before the law)

อีกคำหนึ่งสั้นๆที่ใช้อย่างไม่เข้าใจความหมายคือคำว่า การดื้อแพ่งของพลเมือง หรืออารยะขัดขืน (Civil Disobedience) เวลาเราพูดถึงคำนี้ไม่ว่าจะจากกลุ่มไหนก็ตาม ไม่ว่าจะ นปช. หรือพันธมิตรฯ ล้วนอ้างว่าการเคลื่อนไหวของพวกเขาคือCivil Disobedience มีการอ้างไปถึงมหาตมะ คานธี, สัตยานุเคราะห์ อย่างไรก็ตาม เวลาเราจะพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเป็น Civil Disobedience หรือไม่นั้นต้องดูสองเกณฑ์ หนึ่ง การละเมิดกฎหมายนั้นต้องเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สอง การยอมรับผลจากการละเมิดกฎหมายนั้นๆด้วย ซึ่งสังคมไทยมีน้อยเหลือเกินที่ยอมรับผลจากการละเมิดกฎหมาย

CSR (Corporate Social Responsibility)

สิริพรรณพูดถึงคำสุดท้ายที่หยิบยกขึ้นมา ได้แก่คำว่า CSR (Corporate Social Responsibility)  กล่าวว่า เราเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่โฆษณา CSR เหลือเกิน แต่ความหมายที่แท้จริงของ CSR คือมันไม่ใช่แค่การจัดการกุศล ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้ เก็บขยะ เอาผ้าห่มไปให้ แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญของเป้าหมายการทำ CSR คือจะต้องรับผิดชอบคนในองค์กร, ผู้ถือหุ้นและสังคมและสภาพแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่ภายในโครงสร้างองค์กรของบริษัทเอง คุณปล่อยมลพิษลงในสังคมเท่าไหร่ คุณก็ต้องมีวิธีจัดการกับสิ่งเหล่านั้น อย่างเช่นปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ต ที่พอมีปัญหา ต้องโทร. ไปบอกบริษัทแถมยังเสียค่าโทร. สามบาท บริษัทไม่เคยคืนเงินสามบาทนั้นให้เรา แถมเวลาที่อินเตอร์เน็ตตัดไปหลายชั่วโมง ก็ไม่มีการชดใช้ส่วนนั้นคืนให้เรา CSR ในต่างประเทศจัดทำหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ลูกค้าติดต่อได้ฟรี เพราะบริษัทเป็นผู้บกพร่องในการให้บริการ จริงๆควรเป็นบริษัทด้วยซ้ำที่ส่ง SMS บอกลูกค้า ดังนี้คือ CSR ที่แท้จริง ไม่ใช่ลูกค้าโทรไปบอกแถมยังเสียค่าโทรศัพท์อีก

จากปัญหาข้างต้น จึงเชื่อมโยงไปที่คำว่าภาคส่วนที่สี่ ที่ภาคเอกชนเน้นกำไร รัฐบาลก็ไม่เข้ามาดูแล ดังนั้น ถ้าจะให้บริษัทเหล่านี้รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น จะต้องเกิดการเคลื่อนที่ของแต่ละภาคส่วนเพื่อสร้างแรงกดดันให้ภาคเอกชนซึ่งใหญ่มากในขณะนี้ ให้มารับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในหนังสือก็พยายามเชื่อมโยงระหว่างคำเอาไว้เช่นนี้

จากนั้นเป็นช่วงตอบคำถามชิงรางวัลและเปิดฟลอร์ตั้งคำถาม โดยมีคำถามดังต่อไปนี้

ต่อคำถามที่ว่าใช้เส้นแบ่งคำว่าประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างไร โสรัจจ์ ตอบว่า สมัยใหม่เกิดขึ้นพร้อมการถดถอยของอิทธิพลของศาสนา ความจริงมาจากคำสอนทางศาสนา มาสู่การค้นหาความจริงผ่าน การศึกษา เหตุผลและประสบการณ์ส่วนตัว ในยุโรปเริ่มต้นเมื่อ 300 ปีที่แล้ว ในทางประชาธิปไตย อาจจะมองการปฏิวัติอังกฤษ สงครามกลางเมืองอังกฤษเป็นเส้นแบ่ง ในปี 1688 เมื่ออำนาจเด็ดขาดอยู่ที่ตัวรัฐสภา ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยสมัยใหม่ก็ได้ เมื่อเทียบกับประชาธิปไตยสมัยเอเธนส์

สำหรับคำถามถึงนิยามคำว่า 'ประชาธิปไตย' เพราะในหนังสือไม่ระบุไว้ ซึ่งเป็นคำถามที่ถูกยกไปตอบเป็นประเด็นปิดท้ายงาน โสรัจจ์ ตอบว่า คือการปกครองโดยทุกคน ของทุกคน ประชาชนปกครองตัวเอง

ขณธที่ สิริพรรณ อธิบายเพิ่มเติมว่า ประการแรกที่คิดว่าสำคัญคือเสรีภาพในการแสดงออก เพราะมันคือสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่เลือกคำว่าเสมอภาค เพราะคิดว่าในสังคมประชาธิปไตย เสมอภาค ยากกว่าเสรีภาพ เสรีภาพในการแสดงออกต้องมาก่อน และประการที่สองคือ ระบบตรวจสอบถ่วงดุล ถ้าไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ต่อให้ผู้นำดีแค่ไหน อำนาจเบ็ดเสร็จจะนำมาซึ่งการทุจริต ประการสุดท้ายคือคำว่า การเลือกตั้ง จริงๆแล้วอยากใช้คำว่าการมีส่วนร่วมทางการเมือง ประชาธิปไตยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม การเลือกตั้งเป็นเพียง ความต้องการขั้นต่ำสุดเท่านั้น แต่จะไม่มีก็ไม่ได้

นอกจากสามอย่างที่ควรมีแล้ว ยังต้องมีอีกสามเงื่อนไข คือ หนึ่ง กติกาที่ให้สถาบันทางการเมืองหลักๆในสังคมมีปฏิสัมพันธ์และตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ สอง ต้องมีตัวแทนของประชาชน ที่ผ่านมาประเทศไทยพรรคการเมืองไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ พรรคการเมืองเป็น necessary evil เป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่ชอบ แต่ก็จำเป็นต้องมี พรรคการเมืองต้องเข้มแข็ง และความเข้มแข็งของพรรคการเมืองมาจากประชาชน ฐานคิดที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอเพื่อระงับอำนาจพรรคการเมืองนั้นไม่ถูก และสุดท้าย วัฒนธรรมทางการเมือง สังคมทุกสังคม ถ้าตัวแสดงหลักและประชาชนในสังคมไม่มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ต่อให้ร่าง รัฐธรรมนูญดีแค่ไหน ถ้าสังคมไม่ตระหนักว่าประชาธิปไตยคือกติกาเดียวที่มี ก็จะย้อนกลับไปสู่เงื่อนไขของการไม่เป็นประชาธิปไตย สังคมจะต้องเปลี่ยนก่อน วัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยต้องเกิดขึ้นในสังคมเสียก่อน

 

หมายเหตุ: หากหน่วยงานใดมีความประสงค์จะขอหนังสือเป็นจำนวนมาก สามารถติดต่อไปที่มูลนิธิ ฟรีดริค เอแบร์ท ผ่านช่องทาง e-mail: info@fes-thailand.org โดยระบุชื่อและที่อยู่ของหน่วยงานและจำนวนเล่มที่จะขอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net