เก็บประเด็น: 'สื่อใหม่' ต้องกำกับ? อย่างไร? โดยใคร?

16 มิ.ย. 2558 มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ร่วมกับ กสทช. จัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นและระดมความคิดจากองค์กร สภาวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง ในเรื่องกรอบระยะเวลาและกรอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของสื่อใหม่ในยุคหลอมรวม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย “สำรวจภูมิทัศน์และอนาคตของการจัดการสื่อในยุคหลอมรวมข้ามพรมแดน” เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่โรงแรมเอทัส โฮเตล แอนด์ เรสซิเดนท์

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ตและตัวแทนจากกลุ่มผู้วิจัย นำเสนอว่า การกำกับกันเองของกิจการสื่อใหม่ของไทย ควรเป็นไปเพื่อการคุ้มครองสิทธิพลเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ประกันการเข้าถึงโดยคนทุกกลุ่ม ปกป้องพื้นที่การสื่อสารสาธารณะและส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจระหว่างสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยได้ชี้ 5 ประเด็นที่ควรพิจารณาเพื่อให้การกำกับกันเองบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1.ส่งเสริมให้มีการแข่งกันกิจการ ตั้งข้อสมมติฐานว่า “การคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีที่สุดคือการเปิดแข่งขันเสรีมากที่สุด” โดยเน้นให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งรายเล็กรายใหญ่จากไทยและต่างประเทศ

2.ส่งเสริมทักษะและความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและประชาชนในถิ่นห่างไกล ในด้านการตรวจสอบข้อมูล ที่มาและความถูกต้องกับเรื่องการขอข้อมูลกฎหมาย

3.การใช้ทรัพยากร การจัดสรรคลื่นความถี่ ควรมีการปรับปรุง

4.คุณภาพบริการ ควรมีมาตรการกำหนดเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรม มีมาตรฐานขั้นต่ำของบริการและนิยามที่ชัดเจน โดยมีกลไกการร้องเรียนที่เป็นรูปธรรม

5.ควรให้โอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน แบ่งเป็นสองส่วน
หนึ่งคือปรับปรุงโอกาสในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้คนทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงและใช้งานสื่อใหม่
สองคือ ปรับปรุงโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในสองด้าน  ในด้านความหลากหลายของเนื้อหา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความหลากหลายของความเป็นเจ้าของสื่อ  (เกี่ยวโยงกับข้อ1.) และด้านการปิดกั้นเนื้อหา ซึ่งไทยมีกฎหมายและประกาศหลายฉบับที่มีหน้าที่กำกับเนื้อหา เช่นพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, มาตรา112 ของประมวลกฎหมายอาญา และประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งทั้งหมดนี้มีความซ้ำซ้อน สับสน ดังนั้น กฎหมายสื่อไม่ควรกำหนดเนื้อหา แต่บังคับใช้ตามกฎหมายทั่วไปให้โดยให้ศาลตัดสิน

และมีข้อเสนอเบื้องต้นว่า
-ควรปรับข้อกำหนดกฎหมายการประกอบกิจการสื่อเพื่อเอื้อให้มีการแข่งขันเสรีมากขึ้น
-ควรสร้างมาตรฐานทางเทคโนโลยี
- ผู้มีอำนาจกำกับควบคุมสื่อควรกำกับผังรายละเอียดแต่ไม่ลงรายละเอียดในเนื้อหา เนื่องจากความคลุมเครือในมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ว่าด้วยเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคง

จากนั้นจึงเปิดการพูดคุยเสวนา กับกลุ่มผู้ประกอบการสื่อและนักวิชาการด้านการสื่อสาร ซึ่งมีการสนทนาในประเด็นต่างๆ  ดังนี้

ว่าด้วยลักษณะของสื่อใหม่ พรมแดนที่พร่าเลือนและผลกระทบที่ตามมา
กลุ่มผู้วิจัยได้ใช้กรอบทัศนะของ Henry Jenkins ในการวิจัย ที่กล่าวว่าสื่อใหม่ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นการหลอมรวมที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงถึงทั้งประเภทของสื่อ อุตสาหกรรมสื่อ การตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภค  และได้ให้คุณสมบัติของสื่อใหม่ทั้งหมด 8 ประการ ได้แก่

  • มีปฏิสัมพันธ์ได้ง่าย( Interactivity)
  • สื่อสารสองทาง (Two-way communication)
  • ติดตามตัว (Mobility+Compactable)
  • เป็นดิจิทัล (Digitalization)
  • ดัดแปลงเปลี่ยนรูปได้ (Convertibility)
  • เชื่อมต่อกันได้ (Connectivity)
  • ใช้ได้ทุกที่ (Ubiquity)
  • รวดเร็ว (Speed of Communication)
  • ไร้พรมแดน (Convergence of boundaries)

อย่างไรก็ดี มีผู้ที่ทักท้วงว่า คำว่า “สื่อใหม่” ในการวิจัยนี้ยังเป็นคำที่ต้องอาศัยการตีความที่ชัดเจน  และขอบเขตพรมแดนของสื่อใหม่ยังเป็นสิ่งที่ส่งผลกับทั้งในแง่การประกอบกิจการสื่อและกฎหมาย  ดังที่อาทิตย์แสดงความไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา15  ที่เจ้าของ เว็บไซต์จะต้องรับผิดหากมีการนำเข้าข้อมูลเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย โดยกล่าวว่า ในความเป็นจริงที่มีการอัปโหลดข้อมูลจำนวนมหาศาล จึงไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทั่วถึง พร้อมเสนอว่าควรเอาผิดหากเจ้าของเว็บไซต์ปล่อยให้มีเนื้อหานั้นอยู่หลังจากถูกแจ้งเตือนมากกว่า โดยในวงเสวนามีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ด้านภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง ยกตัวอย่างกรณีเว็บไซต์ YouTube ที่หากมีคนนำเนื้อหาที่ผิดกฎหมายไทยอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งกฎหมายไทยไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะพรมแดนของ YouTubeและสื่อใหม่นั่นไม่มีอีกต่อไป

นอกจากนี้ ประเด็นที่เป็นที่พูดถึงคือ สื่อใหม่นั้นข้ามพรมแดนระหว่างสื่อมืออาชีพกับสื่อพลเมือง   ที่หลายคนมีความเห็นว่าต้องจัดแบ่งให้ชัดเจนว่าจะกำกับดูแลอย่างไร   ชลิดา เอื้อบำรุงจิตจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) อธิบายถึงธรรมชาติที่เปลี่ยนไปของผู้ผลิตเนื้อหาในสื่อ ผ่านสื่อภาพยนตร์ว่าเทคโนโลยีและทุนการผลิตไม่สามารถแบ่งแยกมืออาชีพกับมือสมัครเล่นได้อีกต่อไป มีแต่การได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เท่านั้นที่ยังเป็นตัวแบ่งแยกอยู่ 

ด้านสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิทยุและโทรทัศน์ไทย ผู้จัดการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า หากไม่แยกแยะสื่อพลเมืองออกมา แล้วมีกระบวนการกำกับดูแลจะสุ่มเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมาก

ว่าด้วยการกำกับดูแลกันเองของกิจการสื่อ
การกำกับดูแลกันเองของสื่อเป็นประเด็นหลักที่ผู้วิจัยอยากเสนอและรับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการ  โดยอาทิตย์เสนอผลการศึกษาว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการกำกับดูแลตามช่องทางของสื่อ กล่าวคือ สื่อหนังสือพิมพ์มีวิธีการกำกับดูแลอย่างหนึ่ง สื่อโทรทัศน์อย่างหนึ่ง จึงไม่มีมาตรฐาน  และนำเสนอว่าการกำกับดูแลอาจมีได้หลายรูปแบบ ทั้งกำกับดูแลกันเองในองค์กร กำกับดูแลโดยหน่วยงานกลาง เช่นสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชน หรือกำกับดูแลโดยรัฐ ซึ่งองค์กรอาจหมายถึง กสทช.ก็ได้

พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอให้มีการแบ่งการกำกับดูแลออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจนไปเลย คือการกำกับดูแลโครงสร้าง กับการกำกับดูแลเนื้อหา 

ด้านชูวัส ฤกษ์ศิริสุข รองผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนชี้ว่า สื่อใหม่และการหลอมรวมสื่อนั้นสร้างลักษณะใหม่บางประการ ที่ทำให้สังคมต้องมาคุยเรื่องกลไกการกำกับกันใหม่ และเสนอกลไกให้ประชาชนตรวจสอบผ่านทางระบบคอลเซ็นเตอร์ ที่ปัจจุบัน เกิดขึ้นแล้วในสื่อโทรคมนาคม ซึ่งสามารถทำงานได้จริงและเป็นกลไกที่มีราคาถูก

ชูวัสยังแสดงทัศนะว่า การกำกับดูแลกันเองของกิจการสื่อนั้นมีอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี มีผู้ตั้งคำถามว่ากลไกที่มีอยู่นั้นมีประสิทธิภาพจริงหรือ

ด้านสุวรรณา กล่าวว่าประเทศไทยไม่เคยมีการกำกับดูแลกันเองเกิดขึ้นเลย โดยให้ความเห็นว่า การกำกับดูแลกันเองของสื่อนั้นต้องเป็นไปเพื่อ 1.คุ้มครองเสรีภาพสื่อซึ่งก็คือการคุ้มครองเสรีภาพประชาชน และ 2.คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันการกำกับดูแลเป็นไปเพื่อการคุ้มครองเสรีภาพสื่อเท่านั้น และยังขาดกลไกให้การกำกับดูแลกันเองของสื่อมีประสิทธิภาพบรรลุผลทั้งสองข้อที่กล่าวได้ 

สุวรรณายังกล่าวถึงองค์ประกอบสามประการของการกำกับดูแลคือ  1.องค์กรที่มากำกับดูแลนั้นต้องมีอำนาจกำกับ  2. กระบวนการกำกับต้องอยู่บนความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ ว่าจะนำไปสู่การวินิจฉัยตัดสินที่เป็นธรรม หมายความถึงกรรมการที่มากำกับดูแลนั้นต้องมีที่มา มีส่วนร่วมและมีความคงเส้นคงวา ซึ่งอาจต้องเขียนระเบียบสำหรับคณะกรรมการด้วย และ 3.สภาพบังคับ ทำอย่างไรให้เจ้าของสื่อยินยอมรับการกำกับดูแลโดยไม่ลาออกจากสมาชิกภาพองค์กรสื่อนั้นๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกกำกับดูแล

จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงกล่าวถึงแรงจูงใจในการกำกับดูแลกันเอง  โดยยกตัวอย่างสื่อจากสหราชอาณาจักร ที่ใช้การกำกับดูแลกันเองเพื่อที่จะได้ไม่มีกฎหมายกำกับดูแลที่เข้มงวดจากรัฐบาล 

ด้านบูรพา เล็กล้วนงาม บรรณาธิการจากPeace TV เสนอให้มีผลตอบแทน เช่นสื่อกำกับดูแลกันเองเพื่อให้ไม่ต้องมีกฎหมายที่เข้มงวด หรือให้ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบเอง ว่าถ้าสื่อนี้อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช.หรือสภาวิชาชีพ ก็แสดงว่าเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือ อีกประเด็นหนึ่ง ตั้งคำถามว่า หากมีผู้มากำกับดูแลกิจการสื่อ องค์กรนั้นจะเป็นใคร

อาทิตย์นำเสนอการกำกับดูแลที่นอกเหนือจากเพียงกสทช.หรือสภาวิชาชีพ โดยยกตัวอย่างประเทศอังกฤษที่มีองค์กร Ofcom (The Office of Communications) เป็นกรรมการกลางกำกับดูแลในส่วนโครงสร้าง แต่ในส่วนของเนื้อหาเป็นหน้าที่ของ Department for Culture, Media and Sport ซึ่งเปรียบเทียบได้กับกระทรวงวัฒนธรรมของไทย เป็นต้น

ด้านจอมพล มองว่าสิ่งที่ยังไม่ถูกพูดถึงคือ การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการกำกับดูแลกันเอง กำกับดูแลโดยรัฐ หรือกำกับดูแลร่วมกัน

ว่าด้วยการส่งเสริมให้มีการแข่งขันเสรี การเข้ามาของต่างประเทศ และความลำบากของเจ้าของสื่อรายเล็กๆ
ข้อเสนอที่ต้องการให้มีการส่งเสริมการแข่งขันเสรีที่กลุ่มผู้วิจัยได้เสนอมานั้น มีเสียงตอบรับทั้งทางบวกและลบจากกลุ่มผู้ประกอบการ  มีผู้ที่แสดงความกังวลถึงกลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่จากต่างชาติ ที่อาจส่งผลต่อการมีอิทธิพลต่อสังคมไทย  และการที่ผู้ประกอบกิจการสื่อหน้าใหม่รายเล็กๆ จะเอาตัวรอดยากขึ้นหากมีการแข่งขันจากทั้งในและต่างประเทศ 
อย่างไรก็ดี มีผู้สนับสนุนการเปิดให้มีการแข่งขันเสรี ธีรัตถ์ รัตนเสวี จาก Voice TV กล่าวว่าการให้สื่อต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ย่อมหมายถึงเนื้อหาที่หลากหลายขึ้น และทุนที่มีมากขึ้น ในประเด็นที่ว่าความกังวลเรื่องการเข้ามาครอบงำ เขามองว่าการเข้ามาของเจ้าของกิจการสื่อต่างชาติก็ยังอยู่ภายใต้กฎหมายของไทย

ด้านอาทิตย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ความเป็นเจ้าของสื่อของต่างชาตินั้นสามารถกำหนดได้ด้วยข้อกฎหมายที่กำหนดอัตราส่วนผู้ถือหุ้น ว่าจะต้องเป็นในประเทศกี่เปอร์เซ็นต์ และเป็นต่างชาติได้กี่เปอร์เซ็นต์ โดยข้อกฎหมายนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่สามารถกำหนดร่วมกันได้อยู่

ว่าด้วยข้อบกพร่องขององค์กร กฎหมาย และความสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมือง
อีกประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันก็คือ มีผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของผู้จะเป็นผู้กำกับดูแล  และสภาพจำกัดของสถานการณ์ทางการเมืองอาจทำให้ไม่เกิดการกำกับเนื้อหาสื่อที่มีประสิทธิภาพได้ โดยบูรพาตั้งคำถามถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับเนื้อหาสื่อที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ  เพราะมองว่าเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงในปัจจุบันนั้นหมายถึงความมั่นคงของรัฐบาลเท่านั้น เขาเสนอว่าควรหาโมเดลที่สื่อมีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริงก่อนที่จะหาโมเดลสำหรับการกำกับดูแลของสื่อ 

ทั้งนี้มีผู้ออกความเห็นเชิงวิพากษ์ในลักษณะเดียวกันเกี่ยวกับการถ่ายทอดรายการคืนความสุข ให้คนในชาติ ที่ทุกช่องต้องออกอากาศโดยไม่ได้รับผลตอบแทน

ในส่วนของโครงสร้าง สุวรรณา ชี้ข้อบกพร่องขององค์กร กสทช. โดยยกตัวอย่างการดูแลทั้งเนื้อหาและโครงสร้างของวิทยุโทรทัศน์ แต่เมื่อมาถึงกิจการโทรคมนาคม กสทช.กลับบอกว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สุวรรณากล่าวว่าควรจะตั้งโจทย์ใหม่ ว่าใครกำกับดูแลอะไรบ้างให้ชัดเจน

อาทิตย์ระบุว่า โครงการวิจัย “สำรวจภูมิทัศน์และอนาคตของการจัดการสื่อในยุคหลอมรวมข้ามพรมแดน”  จะยังดำเนินการศึกษาต่อและจะจัดเป็นเวทีใหญ่เพื่อนำเสนอข้อมูลผลการศึกษาจากเอกสารและเวทีเสวนารับฟังข้อคิดเห็นทั้งหมดต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท