นิวยอร์กไทม์ลงลึกการประท้วง 'เปลี่ยนธง' ของชนพื้นเมืองในชิลี ช่วงฟุตบอลโคปาฯ

เมื่อการประท้วงด้วยการเปลี่ยนธงชาติเป็นธงประจำชนเผ่า 'มาปูเช' อาจจะดูเหมือนการแสดงอัตลักษณ์ธรรมดาๆ แต่การแสดงออกอย่างสันติเช่นนี้มี 'เบื้องหลัง' คือความคับแค้นจากการถูกกระทำโดยรัฐมาตั้งแต่ยุคสมัยที่ชิลียังเป็นเผด็จการทหาร

27 มิ.ย. 2558 สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์รายงานว่าที่เมืองเตมูโก ประเทศชิลี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีสนามกีฬาที่ใช้แข่งขันฟุตบอลโคปาอเมริกา มีคนประท้วงด้วยการแอบเปลี่ยนธงชาติของชิลีให้กลายเป็นธงประจำกลุ่มชาติพันธุ์มาปูเช กลุ่มชาติพันธุ์ชนพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในชิลี จนทำให้ต้องมีการเปลี่ยนธงกลับคืนและใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าธงไว้ 4 นาย

เมืองเตมูโกถือเป็น "เมืองหลวง" ของชาติพันธุ์มาปูเชซึ่งอาศัยอยู่ในท้องถิ่นนี้มาก่อนหน้านี้ชาวยุโรปจะเข้ามาเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ซึ่งชาวมาปูเชมองว่าการแข่งขันฟุตบอลโคปาอเมริกาถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะแสดงตัวตนของมาปูเชรวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ให้ชาวโลกได้รับรู้ ทำให้ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้าการจัดแข่งฟุตบอลนัดแรก ริคาร์โด เซลิส สมาชิกสภาเมืองเสนอข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการต่อนายกเทศมนตรีให้มีการตดธงกลุ่มชาติพันธุ์มาปูเชร่วมกับธงชาติชิลีที่ลานจัตุรัสใจกลางเมืองในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโคปาอเมริกัน

เซลิสไม่ได้เป็นชาวมาปูเชแต่ต้องการให้มีการยอมรับอิทธิพลของชาวมาปูเช อย่างไรตามข้อเรียกร้องของเซลิสถูกปฏิเสธจากนายกเทศมนตรีซึ่งอ้างว่าธงชาติชิลีเป็นตัวแทนของชาวชิลีทั้งประเทศอยู่แล้ว เซลิสกล่าวให้สัมภาษณ์ว่าการตัดสินใจของนายกเทศมนตรีถือเป็นเรื่องที่ผิดเพราะผู้คนในเมืองอื่นๆ ของชิลีจะบอกว่าเมืองเตมูโกเป็นเมืองที่มีชาวมาปเชอาศัยอยู่ ซึ่งเขาต้องการแสดงให้คนอื่นๆ เห็นว่ามีชาวมาปูเชอาศัยอยู่ในเมืองนี้ด้วยผ่านการแสดงออกในช่วงมหกรรมฟุตบอลโคปาอเมริกา

นิวยอร์กไทมืระบุว่าในวันที่มีการยื่นข้อเรียกร้องมีผู้คนที่ทั้งสนับสนุนและโต้แย้งผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งการโต้แย้งในเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างชาวมาปูเชกับชาวชิลีที่มีเชื้อสายยุโรป

เวนันซิโอ โคนนูปาน นักศึกษาอายุ 25 ปี เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิประสานวัฒนธรรมชิลี (Fundación Chile Intercultural) เพื่อส่งเสริมสิทธิของชาวมาปูเชและสร้างความเข้าใจประเด็นเรื่องชาวมาปูเชให้ประชาชนได้รับรู้ เขาเปิดเผยว่าปัญหาความไม่ลงรอยกันอย่างหนึ่งที่แย่ที่สุดคือปัญหาความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิที่ดินระหว่างกลุ่มชาวนาชิลีและบริษัทป่าไม้กับกลุ่มชาวมาปูเชผู้ต่อต้าน

ทั้งนี้ ยังมีการประท้วงอย่างสันติของกลุ่มชาวมาปูเชเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมาโดยมีผู้ประท้วงชาวมาปูเช 40 คน ทำการปิดถนนชั่วคราว ซึ่งถนนดังกล่าวเป็นถนนที่จะมีรถโดยสารของทีมชาติเปรูเดินทางผ่านทำให้ผู้เล่นของชาวเปรูต้องรอจนการประท้วงจบลงถึงจะเดินทางต่อไปได้ ผู้ประท้วงในวันนั้นไม่พอใจที่มีการสร้างสนามบินบนที่ดินของชาวมาปูเชโดยที่ไม่ได้รับค่าชดเชยอย่างเหมาะสม

โคนนูปาน กล่าวว่าการประท้วงของพวกเขาไม่ใช่เพื่อต้องการขัดขวางการแข่งขันโคปาอเมริกา ไม่ได้ต้องการตั้งเป้าโจมตีชาวเปรูหรือชาวชิลี พวกเขาแค่ต้องการเน้นย้ำถึงปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญ แต่ชาวชิลีบางคนก็มักจะคิดไปเกินจริงว่า "ชาวมาปูเชต้องการทำสงคราม ชาวมาปูเชจะเผาบ้านเผาเมืองเรา ชาวมาปูเชเป็นคนไม่ดี" สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขาจริงๆ คือรัฐบาล ไม่ใช่ชาวนาหรือประชาชนด้วยกัน

โคนนูปานผู้เป็นแฟนฟุตบอลตัวยงยังชี้ให้เห็นอนุสาวรีย์ที่จัตุรัสใจกลางซึ่งเขาบอกว่ามันเป็นอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงความสัมพันธ์หลายร้อยปีระหว่างชาวมาปูเชกับชาวสเปนแต่โคนนูปานและคนบางกลุ่มเห็นว่าอนุสาวรีย์นี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งอนุสาวรีย์ดังกล่าวมีรูปปั้นของนักผจญภัยชาวสเปนถือไม้กางเขน ผู้หญิงชนพื้นเมืองชั้นสูง ชาวนาที่ดูเป็นวีรบุรุษ ทหารชิลีถือปืนที่ดูสงบเสงี่ยม และนักรบถือหอกชาวมาปูเชที่ดูแปลกประหลาด

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าในช่วงที่มีความขัดแย้งทางวัฒนธรรม มีโรงนาชาวชิลีถูกจุดไฟเผา มีการใช้ความรุนแรงจากตำรวจต่อชาวมาปูเช ชาวมาปูเชพยายามเรียกร้องสิทธิต่อที่ดินที่ถูกยึดไป บางสว่นเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มากขึ้น หรือบางส่วนก้พยายามต่อสู้เพื่อเผยแพร่อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเช่นเรื่องภาษาถิ่น แต่ก็มีปัญหาคือชาวมาปูเชเหลือดินแดนดั้งเดิมของตนเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นและพวกเขาก็ไม่ได้รับการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในชิลีทำได้ยากมาก

ชาวมาปูเชได้รับผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิที่ดินในสมัยเผด็จการทหาร ออร์กุสโต ปิโนเชต์ ซึ่งปกครองชิลีตั้งแต่ปี 2516-2533 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการพยายามให้ความช่วยเหลือแก่ชาวมาปูเช แต่ความสัมพันธ์ของรัฐบาลชิลีกับชาวมาปูเชหลังจากนั้นก็ไม่คงเส้นคงวา เช่นในสมัยของประธานาธิบดี ริคาร์โด ลากอส ผู้สังกัดพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยก็เคยใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่ถูกประกาศใช้ในสมัยเผด็จการทหารต่อผู้นำชาวมาปูเช จนกระทั้งทำให้รัฐบาลชิลีถูกตัดสินลงโทษโดยศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกาในปี 2557

ในคำตัดสินดังกล่าวศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริการะบุว่า ทางการชิลีละเมิดหลักการตามกฎหมายและสิทธิตามหลักการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ (presumption of innocence คือหลักการที่ระบุว่าจำเลยจะยังคงบริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่ากระทำผิดจริง) ในการกล่าวหาว่าสมาชิกชุมชนมาปูเช 7 คนและนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 1 คนว่ากระทำความผิดฐานก่อการร้าย ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนฯ สั่งให้ทางการชิลียกเลิกคำตัดสินดังกล่าว และให้การเยียวยาทางการแพทย์และทางจิตใจต่อเหยื่อที่ถูกตัดสิน รวมถึงให้ทุนการศึกษาแก่ลูกๆ ของเหยื่อและให้การชดเชยอย่างเหมาะสมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพิจารณาคดี

เรียบเรียงจาก

Indigenous Group Plants Its Flag in Copa América, DAVID WALDSTEINJUNE, 24-05-2015
INTER-AMERICAN COURT OF HUMAN RIGHTS ORDERS CHILE TO ANNUL SENTENCES UNDER ANTI-TERRORIST LAW, IC Magazine, 31-08-2015

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท