Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



เมื่อเดือนปีแรกหลังรัฐประหารครั้งทันสมัยที่สุด นักเสรีนิยมชาวไทยยุค2014ชูหนังสือ 1984ขึ้นมาเทียบเคียงกับการย้อนอดีตให้ทันสมัยที่สุดเท่าที่จะนึกถึงได้ หลักฐานของการได้รับความนิยมตามสมควรคือการไล่จับเด็กที่ถือหรืออ่านหนังสือเล่มนี้ในที่สาธารณะ ไปจนถึงภาพใบหน้าBig Brotherที่ถูกดัดแปลงเป็นแบบไทยๆลงไปโดยนักวาดนิรนาม

นิยายน่าเศร้าเรื่องนี้จบลงด้วยปัจเจกชนหนึ่งหน่วยใดๆถูกทำลายให้ย่อยยับ ด้วยพลังอำนาจของการจ้องมองภายหลังการขอคืนพื้นที่ปริมณฑลสาธารณะไปอย่างเบ็ดเสร็จ มันบรรยายอย่างละเอียดถึงการถูกรุกคืบจากพื้นที่สาธารณะ จนกลืนกินความเป็นส่วนตัวให้หมดสิ้นเป็นคนๆไป ยิ่งเป็นปัจเจก...ยิ่งบังอาจเป็นส่วนตัว...เจ้าก็จะถูกคุกคาม


หลังจากการเพียรกินแซนวิช การอ่านหนังสือในที่สาธารณะ การปรากฏใบหน้าและร่างกายหน้าหอศิลป์ในวันสำคัญ มิถุนา 2015 กลุ่มนักศึกษาสิบกว่าคนกับผู้คนนิรนามหลักร้อยได้ตะโกนบอกเราด้วยภาพหน้าสน.ปทุมวันว่า มนุษย์หนึ่งหน่วยสามารถกลายร่างเป็นปริมณฑลสาธารณะได้อย่างไร

บนการมองพวกเขาและพวกที่ไม่ใช่พวกเขาผ่านยูทูปหลายสิบคลิป บวกกับภาพรายงานข่าวสมัครเล่นตลอดวันคืนแห่งการจ้องมอง ทั้งจากผู้ที่เอาใจช่วยบ้างไม่ช่วยบ้าง ว่าทหารหาญจะรวบเด็กเหล่านี้กันเมื่อไหร่ อย่างไร คลิปไหนจะน่าทึ่งหรือก่ออารมณ์แบบใดแก่เรา...ข่าวร้ายของคสช.ก็คือในปี2015นั้น Big Brotherกับสมุนproxyทั้งหลายก็กำลังถูกจ้องมองกลับ จากผู้คนนิรนามที่ไม่อาจรู้จำนวนที่แน่นอน(เพราะทำโพลไม่ได้) ด้วยว่าปีที่เขียน1984นั้นโลกไอทียังไม่ถือกำเนิด 1984น่ะเด็กๆเขาหยิบขึ้นมาอ่านประชดเท่านั้นแหละ แต่เขากำลังเขียน2015กันขึ้นมาใหม่ ...เขารู้ว่าไม่เพียงแต่Big Brotherที่จ้องมองเขาอยู่...

ช่วงเวลาที่เรามองเด็กนักศึกษาทั้ง 14 คน กับกลุ่มคนที่รายล้อม เราได้เข้าไปสู่ปริมณฑลสาธารณะเดียวกันกับเขาเหล่านั้น เพราะพวกเขากำลังพูดกับสิ่งที่อยู่ในใจเราไปพร้อมๆกับมนุษย์อีกหลายร้อยคนที่เรามองเห็นได้เป็นตัวตน เมื่อนั้นก็คือปริมณฑลสาธารณะได้ก่อกำเนิด

ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด...เราเรียกมันว่าเสรีภาพ

นักคิดท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ในช่วงสิ้นหวังว่า ไม่มีหรอกไอ้การแบ่งพื้นที่เป็นส่วนตัว-สาธารณะในสังคมโบราณน่ะ มันเพิ่งมาเกิดเอาตอนที่มนุษย์เปลี่ยนเป็นสังคมสมัยใหม่ตอนที่รู้จักเสรีภาพนั่นแหละ ปริมณฑลสาธารณะที่ทันสมัยที่สุดของเหล่าผู้รัฐประหารก็คงมีเพียง ทีวี วิทยุ และสถานที่สัญญลักษณ์ทางการเมืองที่มีรูปร่างทางกายภาพที่แน่นอนที่เข้ายึดคืนได้ด้วยแผงเหล็กสีเหลืองบวกกับอำนาจที่มาพร้อมกับการพกอาวุธขู่ให้กลัว วิทยุนั้นผู้เขียนไม่ทราบว่าเขายึดไหมเพราะไม่ได้ฟังมาหลายปีแล้ว หากได้ไปยึดไว้แล้วเราชาวเมืองคงไม่ค่อยรู้สึกสูญเสียอะไรไปให้เจ็บใจเท่าไรนัก จะมีก็ทีวีที่เสียฟีลไปตอนดูกีฬาถ่ายทอดสดเป็นพักๆ ส่วนสถานที่สาธารณะถ้าไม่ไปยึดห้างสรรพสินค้าเราก็จะรู้สึกกันน้อยมาก เพราะหอศิลป์เรานั้นก็น่าหลับจนเกินจะอยากไปชม มันคึกคักน่าไปก็ตอนไปคอยจ้องมองการบุกจับเด็กๆของพวกท่านนั่นแหละ ว่ามันจะน่าดูหน้าไม่อายกันได้แค่ไหน

รัฐประหารที่ยึดพื้นที่สมัยใหม่เพื่อกลับไปสู่ยุคก่อนสมัยใหม่ หรือทำให้พื้นที่หมดความเป็นสาธารณะด้วยตะแกรงและแผงกั้น เป็นความพยายามที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดและถูกคุกคาม เพราะกริยาการใช้อำนาจที่เขาเอาความเป็นสาธารณะออกไปจากสถานที่อันคุ้นเคย หากแต่โลกยุคหลังสมัยใหม่นั้น ปริมณฑลสาธารณะลอยห่างออกไปจาการยึดติดกับกายภาพพื้นที่ ความหมายของสถานที่ล้อเล่นไปมากับกายภาพบนพื้นที่และบนเวลาที่สั้นลง สารของเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่อนุสาวรีย์หรือหอศิลป์ตลอดเวลา แต่มันก็ไม่ได้หายไปไหน สารของมันกลับมาตอกย้ำเราเมื่อท่านนำแผงกั้นไปล้อมไว้เป็นเดือนราวกับประจานตัวเอง และกลับมาย้ำกับเราเป็นครั้งคราวทุกครั้งที่มีผู้กล้าถูกจับเพราะเพียงเดินผ่านไปบอกว่าเราต้องการมัน ทุกครั้งที่ท่านกล่าวว่าเรายังมีมันไม่ได้ ท่านก็ได้กล่าวไปพร้อมๆกันว่าเพราะเรามีมันอยู่ตลอดเวลาท่านจึงยังต้องหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา

26 มิถุนา 2558 ทันทีที่เด็ก14คนถูกส่งเข้าเรือนจำท่านก็ได้หักหาญก็เอามันไปจากหลายใบหน้านิรนามที่ไม่รู้จำนวน...

ภาพและเสียงจากเซียนการเมืองผู้ผ่านตุลาและพฤษภาต่างตักเตือนบ้างคาดหวังบ้างถึงการลุกฮือแบบ14ตุลา เพลงและบทกวีที่มีอายุกว่า 40 ปีใช้ปลอบประโลม ซีกสมคบคิดสร้างนิยายแผนซ้อนแผนเบื้องหลัง ขู่สำทับด้วยภาพนองเลือดในอดีต 3-4 ครั้งหลัง ตุลาและพฤษภาวนเวียนมาใช้ขู่-ใช้สร้างความหวังตลอดความขัดแย้ง10ปีที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงคือทั้งในโศกนาฏกรรมและชัยชนะ(ปลอมๆ)ที่เราเคยผ่าน ล้วนมีความเงียบเป็นองค์ประกอบสำคัญให้การเล่าเรื่องราวเหล่านั้นราบรื่นขึ้นในการเล่าสู่กันฟัง ไปจนถึงการไม่เล่ามันทั้งโครงเรื่องทิ้งไว้เพียงเศษชิ้นส่วนภาพที่ปิดบังไม่ได้อย่าง 6 ตุลา เราไม่เคยเห็นฮีโร่เสกสรร-ธีรยุทธแบบเรียลไทม์ เรามีแทบจะภาพเดียวที่เศร้าสุดขีดของจารุพงศ์ ทองสินธุ์อยู่ในหัว เราบางคนเท่านั้นที่รู้จักดีถึงช่วงชีวิตกดทับในระหว่างทางความอัปยศทางการเมืองไทยระลอกแล้วระลอกเล่า เขาเหล่านี้อยู่ในความเงียบในห้วงเวลาของผลกระทบที่กระทำกันเป็นสิบๆปีขึ้นไป เมื่อเขาเล่าผู้รับฟังได้เพียงแต่เงียบ ตบไหล่แล้วจากไปเพื่อพูดเฉพาะสิ่งที่เขาพูดได้เท่านั้น

เครื่องมือเดิมๆในการจัดการความขัดแย้งเพื่อความสงบคือ การจัดการกำราบเสียงให้เงียบลง มันไม่เป็นเพียงการจับเด็กเข้าคุกเพื่อปิดภาพและเสียงของเขาต่อสาธารณะ ความเงียบที่น่ากลัวอยู่รอบๆตัวเราหลังคืนการจับกุม คำถามอยู่ที่นอกคุก สังคมไทยกำลังปฏิบัติการเลือกสรรว่าจะพูดหรือจะเงียบถึงเรื่องราวชั่วโมงที่ผ่านมาอย่างไรดี?

ในทุกวีรกรรมทางประวัติศาสตร์ไทยเราทั้งต้อนรับและยอมจำนนให้กับความเงียบ มันเป็นเนื้อหาของสิ่งที่เราเขียนและเล่าเพื่อความราบรื่นแบบเดียวกับที่นักเขียนทำกับโครงสร้างของนิยาย หรือแบบเดียวกับที่เหล่านักเคลื่อนไหวอายุ50upใช้มันในฐานะจังหวะทางการเมือง

...ส่วนเด็ก14คนกำลังเขียน 2015กันขึ้นมาใหม่...ไม่รอขนบการเขียนสังคมเพื่อความราบรื่นในนิยายการต่อสู้...ต้องไม่มีความเงียบ...

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net