Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนาวิชาการ 70  ปี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เมื่อศิลปะเป็นมีบทบาทเป็นฝ่ายกระทำ กับความเปลี่ยนแปลงเรื่องศิลปะของพระมหากษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่สวนเงินมีมา มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป จัดงานเสวนา ในหัวข้อ อาเศียรวาทสดุดี จิตวิญญาณของศิลปะในรัชกาลที่ 9  โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี สุชาติ สวัสดิ์ศรี ทั้งนี้ภายในงานหนาแน่นไปด้วยเพื่อนพ้องทั้งในแวดวงนักเขียน กวี และนักวิชาการ

 

ธนาวิ โชติประดิษฐ: อาเศียรวาทสดุดี จิตวิญญาณของศิลปะในรัชกาลที่ 9

ในช่วงต้น ธนาวิ ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า อาเศียรวาทสดุดี ว่าคือการบูชาถวายพระพร ในส่วนศิลปะอาเศียรวาทสดุดีนั้นหมายถึงศิลปะที่ทำหน้าที่โฆษณา ชวนเชื่อ สรรเสริญ และต้องมีหน้าที่ชอบธรรมกับผู้ปกครองช่วยเสริมอำนาจและบารมี และรักษาภาพที่เป็นอยู่

ธนาวิ กล่าวว่าการบูชาถวายพระพร การให้เกรียติ การถวายพระเกียรติกลายมาเป็นปรากฏการทางศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 และเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่มากเมื่อเทียบกับวรรณกรรมจริงๆแล้วศิลปะไม่ใช่เครื่องสะท้อนสังคม แต่ศิลปะยังมีบทบาทมากกกว่านั้น คือเป็น กลไก (mechanism) เป็นบทบาทบางอย่างของสังคม มีบทบาทเป็นฝ่ายกระทำ (active)ให้สิ่งที่อยู่ในนั้นแสดงออกไปทางสังคมด้วย คือทำปฏิกิริยากับตัวบุคคลที่เข้าไปดู

ธนาวิ กล่าวต่อไป ในเชิงประวัติศาสตร์นั้น ทัศนศิลป์ หรืองานศิลปะในเชิงอาเศียรวาท ไม่ได้เป็นของเก่าที่มีมาแต่โบราณ แต่เป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่  ทั้งนี้สิ่งที่มีมาแต่โบราณจริงๆนั้นคืองานอาเศียรวาทที่อยู่ในวรรณกรรมซึ่งสุจิตต์ วงศ์เทศ ได้เคยอธิบายไว้ว่า  วรรณกรรมเทิดพระเกียรติเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยากล่าวคือการแต่งวรรณกรรมประเภทนี้เป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธ์อย่างหนึ่งของราชสำนัก  เป็นการบูชากษัตริย์เปรียบดังมหาเทพที่อวตาลลงมาปกครองอาณาจักรเนื่องจากความเชื่อที่ว่ากษัตริย์คือสมมุติเทพ

ธนาวิ ตั้งข้อสังเกตไปว่า ทัศนศิลป์ที่เป็นเชิงอาเศียรวาท กลับไม่ปรากฏในสยาม จนกระทั้งมีการติดต่อกับตะวันตกในศตวรรษที่ 20 เพราะว่าในสมัยโบราณมีความเชื่อที่ว่าการทำภาพเหมือนของคนที่มีชีวิตอยู่เป็นเรื่องต้องห้าม เพราะถ้ามีภาพเหมือนหรือรูปเหมือนของคนที่มีชีวิตอยู่จะทำให้อายุสั้น จนกระทั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ในยุคเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ จึงได้เปลี่ยนแปลงความคิดตรงนี้ไป  เพราะฉะนั้นรัชกาลที่ 4 เป็นกษัตริย์สยามพระองค์แรกที่ มีการถ่ายภาพ และยอมให้ช่างฝรั่งสร้างประติมากรรมเป็นรูปปั่นเล็ก รูปเหมือนของพระองค์เอง และยอมให้ช่างไทยในพระชาสำนักเขียนภาพของพระองค์ด้วย ซึ่งตรงนี้ได้กลายมาเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้กระบวนทัศน์ของภาพเหมือนเปลี่ยนไป  สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำเป็นคนเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดและวัฒนธรรม

ธนาวิ กล่าวต่อไปว่า นอกจากเหตุผลด้านความเชื่อที่ว่าการถ่ายภาพจะเป็นลางร้ายข้างต้นแล้ว  เนื่องจากว่าพระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่อยู่ในลำดับชั้นสูงสุด เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เห็น นอกเสียจากจะเป็นเชื้อพระวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ถึงจะสามารถมองเห็นได้ ราษฎร พสกนิกรไม่สมารถที่จะมองหน้าพระมหากษัตริย์ได้ ถ้าเมื่อไรพระมหากษัตริย์เสด็จผ่านเหล่าพสกนิกรจะต้องก้มหน้าลงไป สิ่งนี้ตอกย้ำว่าอำนาจของกษัตริย์เป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลเกินไป ไม่สามารถจับต้องได้แต่ในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับพสกนิกรเปลี่ยนไป คือ จากไม่มีภาพ เป็นมีภาพ จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ท่านมีการว่าจ้างช่างในยุโรปมาเขียนภาพบุคคลเหมือนจริง (portrait)  หรือท่านเสด็จไปให้จิตกรเขียนภาพเองที่ยุโรป แล้วก็เอาภาพถ่ายของเจ้านายพระองค์อื่นไปด้วย เพื่อให้ช่างในยุโรปเขียนภาพขึ้นมาแล้วเอามาตกแต่งพระราชวัง แต่ในส่วนนี้จะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปเมื่องานศิลปะที่แสดงแสนยานุภาพ มาอยู่ในพื้นที่สาธารณะกรณีพระบรมรูปทรงม้า เป็นอนุสาวรีย์ในพื้นที่สาธารณะของไทยแห่งแรก คือเป็นรูปของรัชกาลที่ 5 อยู่บนหลังม้า  เป็นงานที่สร้างขึ้นมาเพื่อจะเทิดพระเกียรติคนที่เป็นแบบ  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจากพระมหากษัตริย์ที่อยู่ไกล จับต้องไม่ได้ มองเห็นไม่ได้ เกินกว่าคนธรรมดาจะมองเห็น แต่กลายมาเป็นมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนมองเห็นได้ว่า นี้คือเจ้าของประเทศ นี้คือเจ้าของชีวิต

ธนาวิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2430 มีการพิมพ์หนังสือที่เหล่าบรรดาราษฎรสามารถเอาสิ่งนี้กลับบ้านได้ จะเห็นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพิมพ์ภาพถ่ายได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในการเผยแพร่พระราชอำนาจออกไป

“จากสิ่งที่เตะต้องไม่ได้ กลายมาเป็นสามารถครอบครองได้จากภาพถ่าย สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้พระราชอำนาจลดลง แต่การที่แพร่ขยายออกไปมากขึ้น กลายเป็นวิธีการขยายอำนาจในอีกรูปแบบหนึ่งสื่อ Mass หรือการพิมพ์ซ้ำอะไรหลายๆไม่ได้ทำให้อำนาจของสิ่งนั้นลดลง แต่กลับเปลี่ยนแปลงวิธีการและวิธีการแพร่ขยายต่างหาก”ธนาวิ กล่าว

ธนาวิกล่าวว่าการถูกมองเห็นกลายมาเป็นกลไกที่สำคัญของการสสถาปนาทั้งอำนาจของผู้ปกครองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความชอบธรรม รวมทั้งเป็นการทำให้ความชอบธรรมนั้นดำรงอยู่  อีกอย่างหนึ่งเราจะเห็นว่ามันจะมีกฎเกณฑ์บางอย่างของภาพอยู่ ไม่ใช่ว่าใครจะไปถ่ายรูปแล้วในขบวนเสด็จแล้วนำมาเผยแพร่ได้ แต่จะมีหน่วยงานที่ทำการคัดเลือกภาพเหล่านี้อยู่ หมายความว่าภาพลักษณ์ก็เป็นสิ่งที่ถูกคัดกรองมา คือไม่ใช่ว่ารูปอะไรก็ได้ที่ถูกนำมาเผยแพร่ มีการคิดมาแล้ว เลือกมาแล้วว่ารูปอะไรจะถูกเผยแพร่

วิธีการที่ต้องปฏิบัติต่อภาพ มีทั้งในแง่ของกฎหมายและกฎทางวัฒนธรรม ในแง่ของวัฒนธรรมที่ผูกกับความเชื่อว่า อย่างเช่นที่ว่าการที่ไม่สามารถเหยียบลงบนเงินที่มีรูปของในหลวงได้ แม้จะไม่ใช่ตัวจริงแต่จะไปเหยียบไม่ได้ เพราะบางคนอาจจะมองว่าไม่ดี เป็นบาป

ศิลปะ กับอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่สถาบันกษัตริย์

ธนาวิ ตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีของรัชกาลที่ 9 นั้นงานศิลปะแบบอาเศียรวาทสดุดีเริ่มต้นเมื่อทศวรรษที่ 2520 เป็นทศวรรษแห่งการดำรงตำแหน่งของ พลเอก เปรม ติณสูณสูลานนท์ จากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลานาน และเป็นทั้งองคมนตรีด้วยจึงเป็นทศวรรษที่มีการสร้างและเผยแพร่อุดมการณ์กษัตริย์นิยม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ ในส่วนของศิลปะนั้น ในปี 2525 เป็นช่วงที่มีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ200 ปี ฉลองทั้งการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ และการตั้งราชวงศ์จักรี จึงมีคณะอนุกรรมการด้านพระมากษัตริย์ ได้จัดโครงการสร้างสรรค์ภาพจิตกรรมเฉลิมพระเกียติของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักกรี เป็นงานแรกที่มีการเชิญศิลปินชื่อดังจำนวนมากให้มาทำภาพเฉลิมพระเกียติ จำนวนทั้งหมด 110 ซึ่ง 80 ภาพ จาก 110 ภาพนั้นต่อมาก็มีการพิมพ์แจกด้วย

“มันมี step ของมันอยู่ว่าเมื่อคุณมีงานจิตกรรม ต่อมา คุณต้องนำงานจิตกรรมนั้นเพื่อให้มันเผยแพร่ออกไป และทำให้งานนั้นคงอยู่ชั่วกาลนาน”ธนาวิกล่าว

ธนาวิกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้แล้วในปีเดียวกัน มีธนาคารกสิกรไทยได้จัดงานประกวด พู่กันทองฉลองกรุงรัตนโกสิทร์ 200 ปี เน้นในการเฉลิมพระเกียติพระมหากษัตริย์นอกจากนี้ยังมีการจัดนิเวศศิลป์ (Land Art) เทิดพระเกียรติ ภายใต้โครงการนิทานแผ่นดิน 9 ชิ้น เป็นโครงการจัดโดย พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นการเชิญศิลปินที่มีชื่อสียง 9คน ให้มาสร้าง Land Art 9 ชิ้น เพื่อให้เกิดศิลปะเฉลิมพระเกียรติ 

“เดิมที นิเวศศิลป์ หรือLand Art เริ่มต้นในอเมริกาในทศวรรษที่ 1960 เดิมเป็นการเคลื่อนไหวของศิลปะที่เกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านการเป็นพาณิชย์หรือการค้างานศิลปะซึ่งไปค้านกับการทำงานศิลปะที่เป็นวัตถุที่สามารถซื้อขายได้ แต่ Land Artในไทยไม่ได้สื่อความหมายในลักษณะดังกล่าว แต่เป็นว่า Land Art ในไทยกลายเป็นเป็นการสนับสนุนสถาบันในไทยคือสถาบันพระมหากษัตริย์” ธนาวิกล่าว

ทั้งนี้ นิเวศศิลป์ทั้ง 9ชิ้น 9 ศิลปิน  9 จังหวัดประกอบไปด้วย

1.ดินน้ำลมตะวันพลังงานจากผักหญ้า หมินเวียนเปลียนกลับมารักษาโลกเรา โดย โดย นภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ณ แปลงเกษตรสาธิต ไบโอดีเซลบางจาก จ. นครนายก

2.ทรัพย์ในดินงอกงาม สินในน้ำล่ำค่า อนุบาลเผ่าพันธุ์ปลารักษาป่าชายเลน  โดย ไพโรจน์ วังบอน บ้านเบร็ด ในจ. ตราด

3. ดินก่อกำเนิดปวงชีวิต น้ำหล่อเลี้ยงลิขิตสรรพสิ่งสองปัจจัยล่ำค่าที่แท้จริง คือรากฐานสำคัญยิ่ง ธ ทรงวางโดย ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

4.น้ำสาด ปลาสุขสันต์ กังหันชัยพัฒนา แหล่งน้ำล้วนล่ำต่า คือ มรรคราแห่งชีวิต โดย อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ เกาะยอ จ. สงขลา

5.ฝนหลวงห่วงใยไพร่ฟ้า ร่มเย็นทั่วหล้า ผาสุกทั่วแผ่นดิน โดย กมล ทัศนาญชลี สนามกีฬากรมทหารราบที่ 11 กรุงเทพมหานคร

6. พระเมตตาหยังรากลึกหนักหนา พระกรุณาธิคุณแผ่ไพศาล ดุจร่มใบให้ร่มเย็นยั่งยืยนาน พระบรมโพธิสมภารปกแผ่นดิน โดย ทวี รัชนีกร โรงแรมพันตา จ. ภูเก็ต

7.ข้าวเขียวชอุ่มเต็มนา ฝนฟ้าน้ำท่าสมบูรณ์ผลผลิตค้ำจุลปวงประชา โดย ปัญญา วิจินธนสาร ณ นาข้าวตำบลเมืองเก่า จ. สุโขทัย

8. ทำการใดไม่ท้อถอย ตามรอยพระยุคลบาท พระมหาชนกนาถ มหาราชแห่งความเพียร โดย สุริยานามวงศ์ ณ ไร่เชิญตะวันวัดป่าวิมุตตยาสัย จ. เชียงราย

9.ธรรมชาติรังสรรค์สมดุล ผู้คนดินฟ้าเกื้อกูล พูลสุขอย่างพอเพียง โดย ลาครินทร์ เครืออ่อน ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ธนาวิกล่าวสรุปว่า งานศิลปะแบบอาเศียรวาทเป็นงานอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยเน้นย้ำความมีชีวิตดีของคนไทย ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ ซึ่งทุกอย่างวนเวียนอยู่ตลอดเวลาและสรุปได้ด้วยพระบรมราโชวาทที่ว่า “ เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”  ซึ่งคำกล่าวนี้ไม่ได้เป็นเพียงคำกล่าวเชิงสัญลักษณ์แต่เป็นจริงในสำนึกของประชาชน โดยความสามารถของเหล่าบรรดาสื่อทั้งหลาย ถึงงานศิลปะจะไม่เป็นสื่อกระแสหลัก แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นในกระบวนการนี้ และจะเห็นว่าไม่ใช่เพียงภาครัฐอย่างเดียว แต่เป็นภาคเอกชนด้วย อย่างเช่น รางวัลพู่กันทอง ที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต่างพร้อมใจกันทำงานอาเศียรวาทนี้

“งานโฆษณาชวนเชื่อทำงานได้ดีที่สุดเมื่อมันตอกย้ำความเชื่อความคิดที่มีอยู่แล้วในสังคม ไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่ว่า มันทำงานได้อย่างเต็มที่เมื่อมันมีเชื้ออะไรบางอย่างของสังคม และเป็นกลไกที่ทำให้เรา เป็นเราอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”ธนาวิกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net