ประจักษ์ ก้องกีรติ : ศิลปะในการพูดความจริงกับอำนาจ(ที่ไม่ศิวิไลซ์)

วันที่ 27 มิถุนายน 2558  ณ สวนเงินมีมา มูลนิธิ เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อศิลปะในการพูดความจริงกับอำนาจ(ที่ไม่ศิวิไลซ์) โดยประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาส 70 ปี สุชาติ สวัสดิ์ศรี มีผู้เข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้อย่างคับคั่งท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเข้มข้นอันเนื่องมาจากการจับกุมนักศึกษาและนักกิจกรรม 14 คนเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน สถานที่เดียวกันกับการจัดงานเสวนาครั้งนี้

ประจักษ์ ก้องกีรติ : ศิลปะในการพูดความจริงกับอำนาจ(ที่ไม่ศิวิไลซ์)

งานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือ The Art of Truth-Telling about Authoritarian Rule   ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยการรวมมาจากทั่วโลกว่าสังคมที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเข้มข้น  ประชาชนที่อยู่ภายใต้สังคมแบบนั้นเขามีวิธีการอย่างไรในการท้าทายอำนาจในการที่จะพูดความจริง แม้ในที่มันมืดที่สุด และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพมากที่สุด  จริงๆ ในเล่มนี้มีบทบทหนึ่งที่เขียนโดยอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลเขียนในกรณี 6 ตุลา ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเอาจากประสบการณ์ทั่วโลกที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอมาถ่ายทอดให้พวกเราฟัง ไม่ว่าจะเป็นอาร์เจนตินา เซอร์เบีย แอฟริกาใต้ เตรียมไปเตรียมมาผมก็เอาทิ้งหมด เพราะก็รู้สึกว่าเราจะไปพูดถึงกรณีต่างประเทศทำไม เพราะว่ากรณีของสังคมไทยที่มีประสบการณ์ที่เข้มข้นที่สุดสังคมหนึ่งที่ตกอยู่ภายใต้เผด็จการแล้วก็คนพยายามจะท้าทายและพูดความจริงกับอำนาจตลอดมา ตั้งแต่ปี 2475 ฉะนั้นกรณีตัวอย่างก็จะเป็นของไทยเป็นหลักซะมากกว่า เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาก็ขอเริ่มเลยละกัน

อำนาจกลัวความจริง อำนาจจึงพยายามทำให้เรากลัวที่จะพูดความจริง การพูดความจริงในสังคมที่ค่อนข้างศิวิไลซ์นั้น อาจจะเป็นเรื่องปกติหรือเป็นเรื่องสามัญในทุกโมงยาม มันผ่านไปโดยไม่มีใครสังเกต ไม่มีใครเดือดร้อน แต่การพูดความจริงในสังคมที่เป็นอำนาจเผด็จการและไร้อารยะ การพูดความจริงเป็นเรื่องไม่ธรรมดาสามัญ เป็นเรื่องท้าทาย กระทั่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของชีวิต 

การพูดความจริงในสังคมอำนาจนิยมเป็นเรื่องอันตรายเสมอ และในสังคมที่ตกอยู่ภายใต้การกดขี่อย่างเข้มข้น การพูดความจริงถูกพูดอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ มันก็ต้องถูกพูดผ่านศิลปะ หรือไม่ก็พูดอย่างมีศิลปะ สังคมเผด็จการพยายามทำให้ผู้คนเชื่อง สยบยอม เซ็นเซอร์ตัวเอง และอยู่อย่างยอมจำนนโดยปราศจากความฝัน

สังคมถูกกักขังให้อยู่กับความกลัว ความงมงาย และการข่มขู่ ในสังคมเผด็จการผู้คนอยู่กับความเท็จ ความลวง และการโฆษณาชวนเชื่อจนสูญเสียสามัญสำนึกที่จะตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายคนจำนวนมากยังห่อหุ้มและกังขังตัวเองไว้ในความเกลียดชัง สังคมที่เลิกฝัน และจินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่าแล้วก็คือสังคมที่ไร้ซึ่งอนาคต มันคือสังคมที่ตายแล้ว สังคมเช่นนี้มิใช่อะไรอื่น หากคือสังคมที่ขุดหลุมฝังตัวเองอย่างสมัครใจ แต่ในความมืดมืดก็มีคนที่พยายามจุดไฟให้สว่าง เพื่อแหวกออกไปจากความมืดมนเสมอไม่เพียงเพื่อเอาตัวรอดเพียงลำพัง แต่เพื่ออนาคต และความอยู่รอดของสังคมที่พวกเขาและเธออาศัยอยู่ และเรากำลังพูดถึงคนธรรมดาสามัญ ที่ไม่ใช่ผู้นำทางการเมืองหรืออัศวินขี่ม้าขาว ซึ่งบ่อยครั้งประวัติศาสตร์ก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นเพียงวีรบุรุษจอมปลอม

การพูดความจริงโดยคนสามัญ ภายใต้สังคมเผด็จการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งในไทยและต่างประเทศท่ามกลางสภาวะที่คนในสังคมส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอย่างเซื่องซึม สยบสยอม ว่านอนสอนง่าย รับฟังโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ เป็นพลเมืองที่ดีของท่านผู้นำ เรากลับพบตลอดประวัติศาสตร์ว่ายังมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่กล้าลุกขึ้นมาอย่างอาจหาญผ่านช่องทางต่างๆ ที่พวกเขาและเธอพึงทำได้ ในการที่จะพูดความจริงต่อสังคมที่ยังสยบต่ออำนาจอันที่ไม่ชอบธรรม ที่ย้ำเตือนถึงความไม่ปกติอันเป็นไปทุกชั่วขณะ พวกเขาช่วยกร่อนเซาะอำนาจอันไม่ชอบธรรม และเปิดโปงให้เห็นความเปลือยเปล่าของการเผด็จอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำ  คนธรรมดาสามัญเหล่านี้คือวีรชนนิรนาม ที่เรื่องราวของพวกเขาและเธอมักไม่ได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ไว้ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ของรัฐและชนชั้นนำ  รวมไปถึงประวัติศาสตร์กระแสรองด้วย

ในบางครั้งประวัติศาสตร์กระแสรองก็เต็มไปด้วย master narrative ด้วยเรื่องเล่าที่จะต้องมีฮีโร่และวีรบุรุษซึ่งเป็นคนเด่นดัง มองไม่เห็นการต่อต้านท้าทายอำนาจโดยคนสามัญธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เสียงที่ถูกทำให้เงียบที่มีความสำคัญเสมอเพราะมันเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงความหวาดกลัวของผู้ถืออำนาจ ความที่ถูกเซ็นเซอร์ในบางสังคมซึ่ง ก็กองโตเป็นภูเขา ก็กลายเป็นประจักษ์พยานของอำนาจในการปิดกั้นมนุษย์ไปสู่การเป็นมนุษย์เต็มขั้น ที่มีสิทธิในการตัดสินใจเองได้

การพูดความจริงกับอำนาจเผด็จการ เป็นศิลปะอันสร้างสรรค์ของประชาชน ผมชอบประโยคหนึ่งที่นักเขียนคนหนึ่งเขาเขียนไว้ ตัวของนักเขียนเป็นนักกิจกรรมที่ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ “เราจะพบการต่อต้านอำนาจอย่างสร้างสรรค์และมีศิลปะ เฉพาะในสังคมเผด็จการเท่านั้น” เพราะในสังคมประชาธิปไตยปกติ การพูดความจริงเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้    สื่อมวลชนก็ทำได้ นักเขียนก็ทำได้ ประชาชนก็ทำได้ เพราะสิทธิเสรีภาพเต็มไปหมด จนกระทั่งการพูดความจริงเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นอะไร เพราะฉะนั้นมีแต่สังคมเผด็จการนั่นแหละที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ในการต่อต้านอำนาจงอกเงยขึ้นมา ในตัวอย่างของประเทศต่างๆ เราจะพบว่าคนสามัญธรรมดาใช้ช่องทางมากมายในการที่จะพูดความจริงกับอำนาจ เช่น ข้อความที่ถูกพ่นในกำแพง เสียงดนตรีที่ดังบนท้องถนน บทกวีที่ถูกเขียนทั้งในหนังสือและในห้องน้ำ การ์ตูนที่ถูกวาด เรื่องตลกที่เล่าขาน บทละครที่ถูกเล่น จดหมายที่ถูกเขียน กระทั่งการเสียดสี ภาพยนต์ หรือกระทั่งอนุสาวรีย์ที่รำลึกถึงอดีตหรือเชื่อมต่อกับความทรงจำในอดีต

8 หลักการพูดความจริงต่ออำนาจ

ส่วนต่อมาคือ หลักการพูดความจริงกับอำนาจ ซึ่งมีตัวอย่างจากทั่วโลก ซึ่งแบ่งหมวดหมู่ไว้ 8 ประเภทหลักๆ ไว้ ศิลปะในการต่อสู้กับโฆษณาชวนเชื่อนั้นมีอยู่มากมาย ผมเลือกมาแค่ส่วนหนึ่งและหวังว่าในอนาคตการต่อสู้ของสามัญชนจะได้รับการบันทึกโดยนักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง

เรื่องเล่าและงานเขียน

การเขียนหรือการไม่เขียนก็คือพูดความจริงกับอำนาจอย่างหนึ่ง นี่คือบทบรรณาธิการที่ลือลั่น และใช้เวลาเขียนสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ ขึ้นชื่อตอนต้นว่าจดหมายเปิดผลึกถึงหัวหน้าคณะปฏิวัติ ขึ้นต้นว่าเรียนหัวหน้าปฎิวัติและใส่จุดไปตลอดสองหน้า ซึ่งเป็นงานเขียนที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ลงท้ายด้วยว่า ขอแสดงความนับถือเป็นอย่างยิ่ง คนเขียนหรือคนไม่เขียนก็คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี  

อย่างไรก็ตามการควบคุมความคิดอย่างเข้มงวด ได้สร้างผลกระทบข้างเคียงให้แก่ผู้นำรัฐคือ เกิดอาการอ่อนไหวต่อข้อมูล และทัศนะที่แตกต่างไปจากแหล่งข้อมูลของรัฐ ยิ่งมีวาทกรรมที่เผยแพร่ตรงข้ามกับรัฐบาลมากเท่าไร ก็จะมีการโต้ตอบและควบคุมกับทัศนะอันแตกต่างนั้นมากขึ้น ทั้งพยายามยืนกรานคำอธิบายของตนว่าถูกต้อง หักล้างให้รู้กันอย่างกว้างขวางว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร พฤติกรรมที่แสดงออกทำให้เห็นว่ารัฐบาลเผด็จการทหารปรับตัวช้า หรือไม่ยอมปรับตัวกับทัศนะที่แตกต่าง อันนี้พูดถึงอดีตนะครับ พูดถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์

แต่แล้วการควบคุมความจริงก็ต้องเผชิญกับปัญหาก็คือ แหล่งข้อมูลข่าวสารทางเลือกที่เกิดขึ้นโดยนักศึกษาและปัญญาชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและทัศนะที่แตกต่างไปจากรัฐ กระทั่งได้ก่อตัวเป็นอุดมการณ์ที่ต่อต้านรัฐที่เกิดขึ้นมาได้ ในบรรดาหนังสือที่มักจะพูดถึงมีอยู่หลายเล่ม สำหรับผมหนังสือที่มีความแหลมคมก็คือหนังสือ ภัยเขียว ในสมัยนั้นมีหนังสือ ภัยเหลืองที่ต่อต้านญี่ปุ่น ภัยขาวต่อต้านจักรวรรดิอเมริกา ส่วนภัยเขียวก็คืออำนาจเผด็จการทหาร หลังจากถกกันและสรุปความคิดกันก็ตระหนักกันได้ว่าภัยที่ร้ายแรงที่สุดและเป็นหัวใจของปัญหาทั้งปวงก็คือ ภัยเผด็จการทหารนั่นเอง ในหนังสือเล่มนี้โจมตีรัฐบาลของถนอม ประภาสอย่างตรงไปตรงมา และกราดเกรี้ยว อย่างที่ไม่มีนักเขียนหรือหนังสือพิมพ์ใดๆ กล้าเขียนเลย    

งานศิลป์

ข่าวลือ

ข่าวลือ ในสังคมเผด็จการเป็นสังคมที่มีข่าวลือเยอะแยะมากจนผิดปกติ เพราะว่าสังคมปิดกั้นมาก ไม่ให้ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนได้ ไม่ให้คนมีสิทธิเสรีภาพ สื่อก็ถูกจำกัดสิทธิในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สังคมแบบนี้จึงมีข่าวลือกระจายไปทั่ว แต่ในบางครั้งข่าวลือก็กลายเป็นอาวุธของผู้ไร้อำนาจ ในการที่ประชาชนใช้เพื่อบั่นทอนความชอบธรรมของระบอบเผด็จการทหาร ที่มันน่าสนใจก็คือภายหลังประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนพูดไม่ได้ในสภาวะที่ยังไม่มีสิทธิเสรีภาพ เช่นในช่วงที่ซูฮาโต้ปกครองอินโดนีเซียถึง 31 ปีจนไม่สามารถทำอะไรได้เลย จนกระทั่งช่วงท้ายของการปกครองเริ่มมีกลุ่มนักศึกษาที่คล้ายกับขบวนการนักศึกษาของไทยเริ่มตีพิมพ์วารสารใต้ดิน แล้วก็เผยแพร่ข้อมูลจำนวนหนึ่ง ซึ่งบางอย่างก็เป็นเพียงแค่ข่าวลือที่ได้ยินมาอีกทอดหนึ่ง  ซึ่งเรามารู้อีกทีหลังจากที่ซูฮาโตหมดอำนาจแล้ว และมาขุดคุ้ยในภายหลัง  โดยข่าวลือจะค่อยๆบ่อนเซาะทำลายความชอบธรรมของอำนาจเหล่านี้ไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับรัฐบาลของณรงค์-ถนอม-ประภาส ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา  แต่มีข้อควรระวังสำหรับข่าวลือคือ มีลักษณะที่เป็นดาบสองคม  ข่าวลือบางลักษณะกลับมีผลในการทำลายการต่อสู้ของประชาชน เพราะเราไม่มีพลังเราคิดว่าเราทำอะไรไม่ได้ เราต่อสู้ไม่ได้ เราก็ได้แต่ผลิตข่าวลือและเชื่อในข่าวลือนั้น เป็นการผลิตขึ้นมาเพื่อปลอบใจตนเอง 

เพลง บทเพลงมีทั้งที่เป็นลักษณะขำขัน และเป็นบทเพลงเพื่อปลุกพลังให้ประชาชนฮึกเหิม

จูบเย้ยจันทร์(โอชา)

ได้ยินผู้คนร้องเพลงไหม

ภาพเคลื่อนไหว ทั้งในรูปแบบ ภาพยนตร์ สารคดี คลิปวิดีโอ

มีหลายกลุ่มพยายามนำเสนอความจริงให้สังคมได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคืนความจริง กลุ่มพลเมืองโต้กลับ กลุ่มพลเมืองเสมอกัน 

 1 ปีหลังรัฐประหาร โดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ

ภาพเคลื่อนไหวจะถูกบันทึกไว้อย่างรอบด้านถ้าไม่ถูกตัดตอนไป จะทำให้เห็นภาพที่เจ้าหน้าที่เข้ามาทำร้ายนักศึกษาก่อน และนักศึกษาเพียงคนเดียวก็โดนรุมจากเจ้าหน้าที่ 7-8 คนทั้งในและนอกเครื่องแบบ ภาพเหตุการณ์นี้สื่อบางสำนักเลือกตัดเป็นภาพนิ่งไปในตอนที่นักศึกษาที่ชื่อโรม กำลังจิกหัวเจ้าหน้าที่อยู่ ซึ่งความจริงคือการป้องกันตัวจากเจ้าหน้าที่  บางครั้งสิ่งที่เรียกว่า moving image ก็ช่วยบันทึกความจริงอีกด้านให้เราเห็น

 ปากคำจากนักศึกษาที่ถูกทำร้ายกรณีหน้าหอศิลป์

อารมณ์ขัน

อารมรณ์เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้พูดกับผู้มีอำนาจ แต่ไม่ใช่วิธีเดียว อารมณ์ขำเป็นวิธีที่ทรงพลังเพราะเป็นเหมือนการดึงอำนาจที่ลอยอยู่บนฟ้าลงมาอยู่บนดิน อำนาจที่แข็งแกร่ง แตะต้องไม่ได้  ท้าทายไม่ได้กลายเป็นเรื่องที่ตลกชวนหัวได้ ทำให้อำนาจดูน่ากลัวน้อยลง กระทั่งทำให้อำนาจดูสามัญธรรมดา นั่นคือสิ่งที่อารมณ์ขันทำได้ และเปิดเผยความกลวงเปล่าของอำนาจให้เห็น

มีนักเขียนของเซอร์เบียนามปากกาโคแรค เป็นนักเขียนการ์ตูนที่คอยยั่วล้ออำนาจของมิโรเซวิชผู้นำเผด็จการ มีผลทำให้คนจำนวนมากในสังคมเผด็จการของเซอร์เบียที่ทั้งสยบยอมและหวาดกลัวต่อตัวผู้นำเผด็จการและพวกพ้อง ซึ่งดูน่าเกรงขามและยากที่จะโค่นล้ม โดยโคแรคได้ทำให้ภาพของผู้นำเผด็จการเซอร์เบียกลายเป็นภาพที่เป็นผู้กระหายต่ออำนาจและหมกหมุ่นอยู่กับอำนาจความมั่นคงของตนเองและครอบครัว โดยโคแรคพยายามฉายให้เห็นถึงความบ้าบอและไม่ลงร่องลงรอยของมิโรเซวิช กระทั่งชี้ให้เห็นถึงความขี้ขลาดตาขาวไม่ได้เหมือนกับภาพของความองอาจกล้าหาญที่แสดงออกมาให้เห็น และชี้ให้เห็นถึงลักษณะของความหวาดระแวงและพารานอยด์ตลอดเวลา

ในสังคมไทยหลังรัฐประหาร มีกลุ่มคนต่างๆหลายกลุ่มมากมายที่พยายามต่อสู้กับอำนาจด้วยการใช้อารมณ์ขันเช่นงานฟุตบอลประเพณี ทั้งภาพแปรอักษรและขบวนการล้อการเมือง ที่น่าสนใจคือเพียงแค่ขบวนการล้อการเมืองและการอักษรที่เต็มไปด้วยการเสียดสีถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปคุกคาม ยึดกุมป้ายผ้าทั้งหมด ผมอ่านข่าวนี้แล้วสะเทือนใจมากตรงที่ว่าบ้านเมืองเราถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ละคร หรือการแสดง

ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม  เป็นการแสดงที่ทรงพลังในรูปแบบหนึ่งของสังคมเผด็จการในการที่จะท้าทายอำนาจ  เช่นงานแสดงของกลุ่ม B-Floor เรื่องบางละเมิดซึ่งนำมารีสเตจอีกครั้ง ในงานนี้ปรากฏว่า นอกจากรัฐบาลทหารจะกลัวล้อการเมืองของนักศึกษาแล้ว ถึงกับไปดูละคร และเข้าไปคุกคามคณะละคร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จะต้องส่งบทละครให้แก่ทหาร ซึ่งปกติจะกังวลแค่งานเขียน หนังสือ การชุมนุมประท้วงเท่านั้น แต่อันนี้เป็นครั้งแรกของการละคร ที่เป็นพื้นที่ของศิลปะที่เต็มไปด้วยการตีความที่ยาก แม้แต่คนดูด้วยกันเอง แต่รัฐก็พยายามเข้าไปแทรกแซง ควบคุม ที่น่าสนใจคือศิลปินนำสิ่งที่ถูกคุกคามและเซ็นเซอร์มาเป็นฉากหนึ่งของละคร มาเป็นฉากเปิดของละครล้อเลียนกลับเพื่อให้เห็นว่าถูกคุกคามอย่างไร

การแสดงยังปรากฏตัวไม่ใช่แค่ในโรงละครเท่านั้น แต่ยังปรากฏตามท้องถนน และพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ กินแซนด์วิช หรือการรวมกลุ่มในพื้นที่สาธารณะเพื่อแสดงสัญลักษณ์ที่ทั่วโลกส่วนใหญ่รับรู้ คือสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจ และนำมาปรับใช้ในบริบทของไทย  จนกระทั่งความพยายามของคนไทยนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเจ้าของสัญลักษณ์นี้มีการตั้งแคมเปญรณรงค์ให้คนทั่วโลกสนับสนุนการต่อต้านอำนาจของไทย 

การเชื่อมต่อความทรงจำกับอดีตของสังคม

ไม่ว่าจะเป็นอดีตของการต่อต้านอำนาจรัฐที่เคยมีมาในสายตาประวัติศาสตร์ หรืออดีตที่ถูกหลงลืมไปแล้ว แต่ประชาชนในปัจจุบันรื้อฟื้นแล้วพยายามให้ความหมายใหม่ เช่นกลุ่มกวีไปยืนอ่านบทกวีรำลึกที่หมุดคณะราษฎร 2475 การรำลึกเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475ในบริบทหลังรัฐประหารไม่ใช่การรำลึกอดีตอีกต่อไป แต่เป็นการรำลึกปัจจุบัน คือการมีบทสนทนากับปัจจุบัน ให้คนในสังคมเห็นว่าการการปฏิวัติเมื่อปี 2475 ยังไม่เสร็จสิ้นเป็นหน้าที่ของคนปัจจุบันที่จะต้องเติมจิ๊กซอว์ให้เต็ม ดังรูปของคุณกฤช เหลือลมัย   การเชื่อมต่อกับอดีตมีความสำคัญเสมอ เพราะทำให้คุณมีรากเหง้าที่มา มีพลังมากขึ้น

สุดท้ายการก้าวข้ามผ่านสังคมเผด็จการด้วยความจริง ความกล้าหาญ และความหวัง สังคมเผด็จการทิ้งซากปรักหักพังให้กับสังคมเสมอเมื่อมันลาจากไป ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่รัฐกดขี่ประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการทำลายหลักนิติรัฐ ทำลายความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันทางสังคม คนธรรมดาสามัญพูดความจริงไม่ใช่เพียงกับอำนาจ แต่พูดความจริงกับตนเอง กับมิตรสหาย และคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จักที่ยังพอมีใจเปิดกว้างพร้อมจะรับฟัง เราบอกเล่าความจริงเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่มีสิทธิเสรี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความรักจะได้เติบโตงอกงาม ที่ความเป็นคนจะได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียม ที่การใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงผู้คนอย่างตามอำเภอใจจะถูกประณาม สังคมที่ประชาชนจะไม่ต้องถูกรับและยัดเยียดให้เป็นอาชญากรในความผิดที่พวกเขาไม่ได้ก่อ และการพูดความจริงจะไม่ถูกเย้ยหยัน และความฝันในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีกว่าจะไม่ถูกทำให้แตกสลายย่อยยับด้วยอำนาจอันหยาบกร้าน ที่ ณ แห่งนั้นคนไทยจะลุกขึ้นยืนตัวตรงพร้อมๆกันและเชิดหน้าได้อย่างอาจหาญในฐานะเจ้าของประเทศที่แท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท