เสวนา “สันติวิธี สิทธิชุมชนกับขบวนการนักศึกษาไทย” ที่เชียงใหม่

วิพากษ์แนวคิดสันติวิธี สิทธิชุมชน ขบวนการนักศึกษาและแวดวงศิลปินไทยโดยนักวิชาการด้านสังคมวิทยา กฎหมาย ศิลปะ และมานุษยวิทยา ยศ  สันตสมบัติ วราภรณ์ เรืองศรี สมชาย ปรีชาศิลปกุล เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ทัศนัย เศรษฐเสรี

6 ก.ค.58 ที่ห้องประชุมชั้น 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางหลักสูตรบัณฑิตศึกษาด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สันติวิธี สิทธิชุมชนกับขบวนการนักศึกษาไทย” โดยผู้จัดระบุว่ากิจกรรมมีที่มาจากปรากฏการณ์กลุ่มดาวดิน ที่เป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานด้านชุมชนและทรัพยากร ก่อนพัฒนาไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านรัฐประหาร จึงเป็นที่น่าสนใจในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ในทางวิชาการในครั้งนี้

งานเสวนามีวิทยากรเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ยศ  สันตสมบัติ คณะสังคมศาสตร์, วราภรณ์ เรืองศรี คณะมนุษยศาสตร์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์, ทัศนัย เศรษฐเสรี คณะวิจิตรศิลป์ และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากคณะสังคมศาสตร์

คำถามถึงรากฐานความเชื่อในสังคม 4 ประการ
ยศ  สันตสมบัติ กล่าวว่าตนขอตั้งข้อสังเกตผ่านคำถาม 3-4 ข้อ ข้อแรกคือในทั่วโลก เราเคยมองว่าการเมืองเป็นเรื่องการแข่งขันเพื่อได้มาซึ่งอำนาจในการตัดสินใจต่อ Public affair แต่เมืองไทยการเมืองกลายเป็นเรื่องศีลธรรม เรื่องได้คนดีมาปกครอง เรื่องทำอย่างไรจะกีดกันไม่ให้คนเลวเข้ามาในวงการเมือง ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันกันเพื่อให้ได้อำนาจอย่างชอบธรรม

ข้อที่สอง อำนาจคืออะไรในสังคมไทย โดยปกติ ธรรมกับอำนาจไปด้วยกัน แต่ดูเหมือนว่าคนไทยจะมองว่าอำนาจคือธรรม ใครมีอำนาจคือมีธรรมะ มีความชอบธรรม มันแปลว่าบ้านเราทั้งเศรษฐกิจและการเมืองกลายเป็นเรื่องการแผ่ส่วนบุญจากส่วนกลางออกไปหรือไม่

ข้อที่สาม สังคมไทยนั้นเชื่อเรื่องความเท่าเทียมจริงหรือไม่ ตนรู้สึกสังคมไทยเป็นสังคมที่เหยียดผิว เหยียดชนชั้น เหยียดเพศอย่างมาก มีการเหยียดกันเป็นทอดๆ คำถามคือสังคมนี้เชื่อเรื่องความเท่าเทียมจริงหรือไม่ ถ้าคิดว่าเท่ากันจริง ตะวันตกมันมีฐานว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์มาเท่ากัน แต่บ้านเราควรจะคิดบนฐานอะไร

ข้อที่สี่ เรามักจะมองการเมืองว่ามันพัฒนาไปข้างหน้า เราติดกับดักของการมองแบบเส้นตรงหรือเปล่า ทั้งที่การเมืองไทยมันแกว่งไปแกว่งมาไปเรื่อยๆ ระหว่างขั้วประชาธิปไตยกับเผด็จการ คำถามคือเราจะยังมองแบบเส้นตรงอยู่หรือไม่
ยศกล่าวต่อว่าตั้งแต่เข้ามาสอนหนังสือ ขบวนการนักศึกษามันตายไป ตั้งแต่หลัง 6 ต.ค.19 ช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบก็ไม่ได้โงหัวขึ้นมานัก ช่วงปี 2535 นักศึกษาก็ไม่ใช่พลังหลัก พลังนักศึกษาจำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่ทำให้มันเกิดขึ้นมา เช่น เหตุการณ์แบบนี้ที่ชาวบ้านถูกลิดรอนสิทธิ

เวลาเรามองถึงสิทธิทางการเมือง เรามักจะมองไปที่รัฐและทหารเป็นหลัก แต่เรามักลืมมองทุนไป หลังจากช่วงรัฐบาลเปรม ทุนสามารถเช้าไปบุกทะลวงกลไกของรัฐและกลไกทางการเมืองได้ จำได้ว่าช่วงต้นทศวรรษ 2530 พรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งเสนอโครงการไล่คนออกจากป่า เพื่อเอาไปให้บริษัทเกษตรปลูกยูคาลิปตัส ก็ยังไม่มีใครกล้าทำ จนกระทั่งรัฐประหารปี 34 ทหารมาทำโครงการจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรผู้ยากไร้ (คจก.) โดยไม่มีใครคัดค้านทหารเลย ตอนนั้นตนทำเรื่องพรบ.ป่าชุมชนอยู่ จึงได้ไปคุยให้ข้อมูลกับทหาร บอกว่าทำโครงการแบบนี้ไม่ได้ แต่ก็พบว่าเป็นไปได้ยากที่จะใช้หลักการคุยกับทหารได้ เขาฟังอย่างเดียวว่านายสั่งมาอย่างไร เราจึงไม่ใช่แค่สู้กับทหาร แต่สู้กับกลไกรัฐ และทุนด้วย
ยศกล่าวว่าคำถามที่ตนสนใจคือกระบวนการที่ต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองขึ้นมาใหม่ ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงว่าจะสร้างได้อย่างไร จะเริ่มต้นจากตรงไหน เวลานักศึกษาเห็นชาวบ้านเดือดร้อน และไปพูดแทน มันก็กลายเป็นกระบวนการที่ไปเหยียบตีนทุน และกลไกของรัฐบางส่วนด้วย แล้วทหารเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ มันจึงเป็นเรื่องของทั้งสิทธิและอำนาจ

ความรู้นอกห้องเรียน อคติต่อนักศึกษาทำกิจกรรมการเมือง กับความย้อนแย้งของสิทธิชุมชน
วราภรณ์  เรืองศรี กล่าวทบทวนประสบการณ์การทำกิจกรรมนักศึกษาช่วงทศวรรษ 2540 ของตนเอง ทำให้เข้าใจว่าความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เราไม่ได้มาจากในห้องเรียนแน่ๆ ไม่มีอาจารย์สอนเรื่องนี้ แต่ได้มาจากนอกมหาลัย ว่าผู้คนเขาทุกข์ใจเรื่องอะไรกัน เขาเรียกร้องอะไรกัน มีความขัดแย้งอะไรกัน ทำให้เข้าใจว่าสิทธิมันได้มาจากการต่อสู้ ไม่มีใครมาประเคนให้ ทุกวันนี้ แม้มีพูดเรื่องสิทธิชุมชนในห้องเรียน แต่คำถามคือนักศึกษาจะเข้าใจเรื่องนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ได้ไปคลุกคลีหรือสัมผัสกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

ประเด็นที่สอง คือทัศนะต่อนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทางการเมือง พบว่ามีทัศนะด้านลบมาโดยตลอด ว่ามีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังแน่ๆ มองว่านักศึกษาไม่สามารถจะคิดวิเคราะห์ปัญหาสังคมได้ เป็นพวกอ่อนไหวชักจูงได้ง่าย คำถามคือทัศนะอันนี้บอกอะไรเราบ้าง อย่างแรก คือผู้นำในบ้านเมืองนี้ต้องการจะยกปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองลอยห้อยอยู่บนอากาศ เช่น ที่คสช.บอกว่าดาวดินไม่ได้เคลื่อนไหวเพราะสิทธิชุมชนหรอก แต่ต้องจับเพราะออกมาต่อต้านรัฐบาล

ช่วงทศวรรษ 2540 แม้เราบอกว่ารัฐบาลช่วงนั้นมันแย่อย่างไร แต่ในช่วงนั้นยังมีเวทีของการวิพากษ์วิจารณ์ ของการถกเถียงในประเด็นปัญหาต่างๆ ทหารตำรวจไม่ได้เดินมาจับเรา แต่สิทธิชุมชนในบริบทของการรัฐประหาร กลับถูกปิดพื้นที่หมดเลย พร้อมจะใช้วิธีการต่างๆ เพื่อลัดขั้นตอนอนุมัติโครงการต่างๆ โดยไม่มีช่องทางใดให้ตรวจสอบ

รัฐบาลคสช. ยังต้องการให้แยกความรู้ออกจากการเมือง อาจารย์ที่ลงชื่อให้ปล่อยนักศึกษา 14 คนถูกเรียกไปพูดคุย แล้วมีคำถามหนึ่งน่าสนใจคือพวกคุณสอนอะไรกัน เอาเรื่องการเมืองไปสอนนักศึกษาหรือไม่ คำถามคือหลักสูตรประวัติศาสตร์ที่ทหารตำรวจเรียนเขาเรียนอะไรกัน ระดับอุดมศึกษาเขาต้องสอนประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งหลัง 2475 มา ถ้าเราพูดว่ารัฐบาลเผด็จการ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ผู้นำมาจากทหาร จะเป็นไปได้อย่างไรที่การศึกษาอุดมศึกษาไม่พูดเรื่องการรัฐประหาร เป็นไปได้อย่างไร ถ้าพูดให้แรงกว่านั้น จริงๆ แล้วผู้ร้ายในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ใช่พม่ามาตั้งนานแล้ว แต่เป็นกลุ่มที่ใช้อำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วอ้างผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ประเด็นที่สามคือความยอกย้อนของสิทธิชุมชน จำได้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ท่อก๊าซไทยมาเลย์ที่ไปลงพื้นที่สมัยเป็นนักศึกษา ชี้หน้าถามว่าคุณอยู่เชียงใหม่มาทำอะไรที่นี่ เขาต้องการจะบอกว่าคุณไม่ใช่คนในท้องถิ่น มีสิทธิอะไรมาพูดถึงสิทธิชุมชนของคนที่นี่ คำถามคือเวลาพูดถึงสิทธิชุมชนมันสถิตติดที่หรือไม่ คุณไม่มีสิทธิพูดเรื่องนี้นอกสถานที่หรือ ความยอกย้อนอีกอย่าง คือเรากำลังอยู่ในสังคมที่คุยกันไม่รู้เรื่อง เหมือนเราอยู่กันคนละโลกหรือเปล่า จำได้ว่าตอนเรียนได้ไปเขียนสกู๊ปสารคดีเรื่องปัญหาสวนส้มที่อำเภอฝาง มีการพูดถึงประเด็นสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ความยอกย้อนคือในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน คอลัมน์เศรษฐกิจ เพื่อนอีกคนทำสัมภาษณ์เจ้าของสวนส้มในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เหมือนเรากำลังอยู่ในสังคมเดียวกัน แต่คุยกันคนละเรื่อง

วราภรณ์ทิ้งท้ายว่าความเจ็บปวดอีกเรื่องคืออาจารย์ที่สอนเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ ปีกลายได้มาเป็นแกนนำเป่านกหวีด และโจมตีเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่ภายใต้รัฐบาลนี้ คำถามคืออาจารย์ทำอะไรอยู่ แล้วเสรีภาพมีหรือไม่ สรุปคือความขัดแย้งทางการเมืองมันไม่สามารถแขวนไว้บนอากาศได้ แต่มันทะลุทะลวงไปทุกรูขุมขนแล้ว และมันยังสายเกินไปที่ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์จะกลับมาเป็นพระเอก

ตุลาการอำนาจนิยม กับการประเมินอารยะขัดขืนของดาวดิน
สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่าตอนนี้เวลามีปัญหาสักอย่าง พล.อ.ประยุกต์หรือใครต่อใครในรัฐบาลมักจะตอบว่าทำตามกฎหมาย หรือผมตามทำรัฐธรรมนูญ แต่การอ้างอิงถึงกฎหมายตอนนี้คือกลายเป็นกฎหมายที่คุณเขียนขึ้นเอง การพูดลักษณะนี้โดยไม่ได้ถูกค้านหรือไม่มีความเห็นต่างเลย มันสะท้อนความเข้าใจเกี่ยวกับการรัฐประหาร อำนาจ และความชอบธรรมบางด้าน

สมัย 2490 เกิดรัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรก ตอนนั้นคณะรัฐประหารต้องเขียนแถลงการณ์ชี้แจงว่าที่เราทำตอนแรกอาจจะผิดรัฐธรรมนูญ แต่พอทำสำเร็จแล้วมันไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป หลังจากนั้นเคยมีคนโต้แย้งเรื่องความชอบธรรมของคำสั่งคณะรัฐประหาร พอมาถึงทศวรรษนี้ ชนชั้นนำในสังคมพูดกันบนฐานว่าคำสั่งคณะรัฐประหาร รวมถึงรัฐธรรมนูญ มีความชอบธรรม

อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ จาก 2490 ถึง 2558 สถาบันตุลาการมีกระบวนการกลายเป็นสถาบันอำนาจนิยมเพิ่มมากขึ้น สถาบันตุลาการมีบทบาทสำคัญมาต่อเนื่อง แต่กลับไม่ถูกจับตามอง และพ้นไปจากการกำกับของสังคม ในแง่นี้ตนจึงสนใจกระบวนการคลี่คลายตัวไปเป็นอำนาจนิยมของสถาบันตุลาการว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ประเด็นที่สอง การเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน มีข้อสังเกตการณ์คนที่สนใจเรื่องอารยะขัดขืน Civil Disobedience คือ จอห์น รอลส์ (John Rawls) เตือนว่าเรื่องนี้มันจะใช้ได้ในสังคมที่เป็นธรรม หรือมีความเป็นธรรมอยู่พอสมควร แต่ในสังคมสองประเภทคือในสังคมเผด็จการ และสังคมที่มีการแบ่งแยกอย่างลึกซึ้ง อารยะขัดขืนจะมีปัญหา ไม่ค่อยประสบผลในการเอาไปใช้

ในสังคมไทย การพูดถึงอารยะขัดขืนหลังปี 2540 คำนี้ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไร การเคลื่อนไหวต่างๆ เคลื่อนมาสู่สิ่งที่เรียกว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่กลุ่มดาวดินทำ เป็นการทำให้นิยามของการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้อิงกับกฎหมายลายลักษณ์อักษรมันกลับมา

ข้อสังเกตสุดท้าย คือในสังคมไทยเคยใช้เครื่องมือแบบนี้มาในการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการหรืออำนาจนิยม เช่นในตอนพฤษภา 35 ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมสูง ถ้าเทียบกับปัจจุบัน รัฐบาลชุดนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยสนับสนุนอยู่ สิ่งที่ต้องคิดและทำความเข้าใจมากขึ้นคือลำพังการพูดเรื่องเสรีภาพดูจะไม่พอ อาจต้องเสนอประเด็นที่ผนึกรวมเอาคนกลุ่มต่างๆ ที่มากกว่านี้ มันมีคำตอบอะไรที่ทำให้เขาเห็นทางที่จะเดินทางไปมากกว่านี้ เราจะต้องคิดถึงภาวการณ์อันนี้เพื่อขยับประเด็นให้มากขึ้น

สี่ปัจจัยวิเคราะห์ขบวนการนักศึกษา กับความเปลี่ยนแปลงของขบวนนักศึกษาไทย
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ กล่าวว่าตนได้ยินเพื่อนคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของนักศึกษา แต่เห็นว่าดาวดินมันเชยๆ มาก ดูเหมือนขบวนการนักศึกษารุ่นเก่า พวกเพื่อชีวิต ไม่ค่อยทันสมัย ส่วนเพื่อนอีกคนหนึ่งบอกว่า เขาไม่มาร่วมกิจกรรมเพราะเป็นขบวนการที่เสี่ยง มีคนน้อย แล้วทำไมพวกอาจารย์ถึงไม่ Active แต่ปล่อยให้นักศึกษาจำนวนน้อยไปเคลื่อนไหว
เก่งกิจกล่าวถึงหนังสือเกี่ยวกับเปรียบเทียบขบวนการนักศึกษาในเอเชีย หนังสือตั้งคำถามว่าขบวนการนักศึกษาจะเป็นขบวนการที่ถาวรและต่อเนื่องได้ไหม เขาตอบว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะมีเวลาแค่ 4 ปีในมหาลัย แต่ลักษณะพิเศษของขบวนการนักศึกษาคือมันเป็นส่วนเติมเต็มให้กับช่องว่างหรือสุญญากาศที่ขบวนการอื่นๆ ถูกทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะนักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีเวลา ยังไม่ต้องทำมาหากิน และมีการศึกษาในเชิงวิพากษ์มากกว่าเด็กมัธยม

หนังสือเล่มนี้เสนอปัจจัยสี่อย่างในการทำความเข้าใจขบวนการนักศึกษาทั่วโลก คือ หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาในแต่ละยุคสมัย ขบวนการนักศึกษาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นภายใต้การขยายตัวของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ แต่ก็ยังเป็นคนส่วนน้อยที่เข้ามาเรียนได้ จนช่วงทศวรรษ 1960-70 คนชั้นกลางระดับล่างเข้าสู่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แล้วคนกลุ่มนี้มีบทบาทในการต่อสู้กับเผด็จการทหารทั่วเอเชีย โดยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลความคิดจากฝ่ายซ้าย จนทศวรรษ 80 เป็นต้นมา ภายใต้การเกิดขึ้นของมหาลัยเอกชน โรงเรียนเทคนิคต่างๆ ขบวนการนักศึกษาขยายตัวไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มาคนชั้นล่างมากขึ้น และประเด็นเรื่องชุมชน ทรัพยากร สิทธิมนุษยชน การปฏิรูปการเมือง กลายเป็นประเด็นขับเคลื่อนสำคัญ

ปัจจัยที่สอง คืออัตลักษณ์ของนักศึกษา ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย ในฟิลิปปินส์ นักศึกษาไม่ได้นิยามตัวเองในฐานะที่เป็นขบวนการนักศึกษา แต่เป็นขบวนการประชาชน แต่ในไทยยุคหนึ่ง นักศึกษานิยามตัวเองเป็นขบวนการนักศึกษา เป็นคนละส่วนกับขบวนการอื่นๆ แต่คำถามคือขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันมองตัวเองอย่างไร นิยามตัวเองอย่างไร เป็นประเด็นที่อาจจะต้องวิเคราะห์มากขึ้น

ปัจจัยที่สาม คือการเปลี่ยนแปลงของระบอบการเมืองมีผลต่อขบวนการนักศึกษา โดยถ้าการเมืองเป็นประชาธิปไตยมากๆ ขบวนการนักศึกษาจะไม่เป็นขบวนการที่เป็นเอกเทศจากขบวนการอื่นๆ นัก แต่ในระบบเผด็จการ ขบวนการนักศึกษาจะโดดเด่นออกมา เพราะจะเข้ามาเติมเต็มในจังหวะที่ขบวนการอื่นๆ ยังไม่สามารถออกมาได้

ปัจจัยที่สี่ คืออิทธิพลของความคิดและขบวนการอื่นๆ ในโลก ที่มีผลต่อขบวนการนักศึกษา ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ที่อิทธิพลฝ่ายซ้ายมีความสำคัญ มาถึงยุค 80 ที่เป็นยุค New Left ที่ไม่ได้อยู่ในอิทธิพลแบบพรรคคอมมิวนิสต์อีก และยังมีแนวคิดแนวชุมชน แนวศาสนาเข้ามาด้วย และยุค 90 หนังสือเรียกว่าเป็นยุคการพัฒนาประชาธิปไตย ขบวนการนักศึกษารับแนวคิดที่หลากหลาย โดยเฉพาะแนวคิดเสรีนิยม

เก่งกิจกล่าวต่อว่า ตนอยู่ในยุคที่ขบวนการนักศึกษาอยู่ใต้การเมืองภาคประชาชน ทศวรรษ 2540 มีคนตั้งข้อสังเกตว่านักศึกษาจะมีอยู่สองสายใหญ่ๆ ได้แก่ สายเมือง นักศึกษาที่อยู่ในกทม.ต่างๆ พวกนี้จะไม่ได้มีมวลชนชาวบ้านของตัวเอง แต่ไปร่วมกิจกรรมตามที่ต่างๆ หรือมีประเด็นวาระอะไรก็จะออกไปเคลื่อนไหว ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มนักศึกษาชนบท สนใจเรื่องชาวนา เรื่องทรัพยากรและสิทธิชุมชน กลุ่มนี้จะปรามาสว่านักศึกษาจากกทม.ไม่เคยกินนอนกับชาวบ้าน แต่ก็จะถูกวิจารณ์ว่าสนใจแต่ประเด็นเดียว ไม่สนใจประเด็นการเมืองระดับชาติ

แต่การเมืองของขบวนการนักศึกษาค่อยๆ เปลี่ยนไปหลังปี 2549 และเด่นชัดขึ้นในหลัง 2553 โดยมีลักษณะเป็นจุดจบของสิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชน ที่เคยถูกมองว่าเป็นอิสระจากรัฐ เป็นพลังประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ทั้งหมดถูกสั่นคลอน แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงการปกป้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทั้งบริบทสำคัญในทศวรรษนี้คือการเกิดขึ้นของโซเชียลเน็ทเวิร์ค ที่ทำให้การรวมกลุ่มมีความแตกต่างออกไปจากก่อนหน้านี้

ข้อสังเกตประเด็นสุดท้าย คือขบวนการนักศึกษาหลายปีที่ผ่านมา มีลักษณะที่ข้ามพรมแดนระหว่างเมืองกับชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ และมีลักษณะข้ามประเด็นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกลุ่มดาวดินที่มีฐานเรื่องทรัพยากร มาเคลื่อนไหวการเมืองระดับชาติ
ข้อเสนอตอนนี้ คือที่ผ่านมาเรายังติดอยู่กับการแบ่งขั้วระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่างอย่างรุนแรง เราจำเป็นต้องแสวงหาแนวร่วมกับกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ออกมาแสดงออก การพูดเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยอาจจะไม่พอ อาจจะต้องมีรูปธรรมของประชาธิปไตย เราไม่ค่อยได้พูดถึงการเมืองของการออกแบบการอยู่ร่วมกันในระบบประชาธิปไตย ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นทิศทางที่ทำให้เราขยายผู้สนับสนุนได้มากขึ้น

วงการศิลปะไทยกับการเป็นศัตรูของเสรีภาพ
ทัศนัย เศรษฐเสรี กล่าวถึงวัฒนธรรมการจัดแสดงนิทรรศการในวงการศิลปะของเมืองไทย มีส่วนอย่างยิ่งในการตอกย้ำพลังทางศีลธรรมในการเมืองไทย โดยทำให้มันเป็นศัตรูกับความคิดเรื่องเสรีภาพ โดยเราต้องพิจารณาวงการศิลปะในฐานะชุมชนทางสังคมแบบหนึ่งที่มีการปฏิสัมพันธ์กัน ต้องสามารถศึกษาได้ จึงเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และไม่ใช่พื้นที่บริสุทธิ์ ตัวศิลปะจึงไม่เคยบริสุทธิ์

วงการศิลปะไทยไม่เหมือนกับชุมชนศิลปะในที่อื่นๆ คือมีภาพที่เหลื่อมซ่อนกัน หนึ่ง มีลักษณะเป็นวงการปิด ที่มีผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ที่รู้เรื่องศิลปะ มีผู้สนับสนุน-ผู้ชมเฉพาะ ที่เข้ามาเอื้อประโยชน์และสิทธิต่างๆ ให้กลุ่มคนแคบๆ ของเขาเอง ขณะเดียวกันมันก็เป็นสังคมเปิด ที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมของสังคมภายนอก ระบบคุณค่า และการยอมรับจากสังคมภายนอก วงการนี้จึงทั้งปิดและเปิดในตัวเอง

ตั้งแต่ก่อตั้งม.ศิลปากร เวทีของศิลปะสมัยใหม่ที่สำคัญก็คือการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ มีศิลปินแห่งชาติ และหอศิลป์แห่งชาติ ก็เป็นเวทีสำคัญที่พวกเด็กบ้านนอกจะได้ไปชุบตัว โดยช่วงแรกๆ ของวงการ ใครจะถูกเรียกว่าศิลปินได้ ต้องถูกโยงเข้ากับเวทีศิลปกรรมแห่งชาติ

ช่วงหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ภายใต้การปฏิรูปสื่อ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ประเด็นสิทธิชุมชนต่างๆ ทำให้วงการศิลปะไทยเต็มไปด้วย “เสือหวัง” เกิดแนวร่วมกลุ่มศิลปินแห่งประเทศไทย มีการเรียกร้องหอศิลป์ร่วมสมัย ทำให้เกิดหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ หรือ Bacc ซึ่งใช้เวลาเกือบสิบปี เสร็จปี 2551

วงการศิลปะต้องการจะพิงพึ่งโครงสร้างความสัมพันธ์ของอำนาจเก่า เช่น ทหาร เจ้านาย นายทุนเก่า ทำให้เกิดโครงสร้างการอุปถัมภ์ ส่งผลต่อรูปแบบวัฒนธรรมการจัดแสดงแบบไทยๆ ทำให้ศิลปะไม่ได้ทำหน้าที่ตัวแทนสิทธิเสรีภาพ อิสรภาพในการแสดงออก ทำให้ไม่น่าแปลกที่ Bacc จะเอาแผงเหล็กมากั้น ไม่ให้คนแสดงออก

เดือนมิ.ย.53 หลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดง ความคิดเรื่องสันติวิธีถูกบิดเบือนอย่างสำคัญที่ Bacc ภายใต้นิทรรศการ “ฝันถึงสันติภาพ” เป็นงานที่จัดเอาศิลปินทั้งประเทศมาร่วม โดยพยายามสะท้อนแนวคิดเรื่องสันติภาพที่เชื่อว่าจะเยียวยาสังคม และคิดบวกต่ออนาคตที่จะเกิดขึ้น ทั้งที่คนเพิ่งตาย 90 กว่าศพ นิทรรศการศิลปะกลายเป็นการกลบเกลื่อนความรุนแรงในสังคม สวมรอยมันและยกระดับให้ดูสง่างาม ไม่มีปัญหา

หลังรัฐประหาร 57 ไม่กี่วัน เกิดโครงงานสำคัญที่ Bacc ชื่อ “มนต์เสน่ห์ไทย” โดยให้ศิลปินไปตีความโบราณวัตถุของคลังกรมศิลปากร มาทำงานชิ้นใหม่ แล้วนำมาจัดแสดงคู่กัน ต่อมางานถูกนำมาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการคืนความสุข โดยที่ศิลปินสายก้าวหน้าหลายคน แทบไม่รู้ว่าตนเองถูกผนวกงานไปเป็นส่วนหนึ่งของการคืนความสุข

ทัศนัยสรุปเรากำลังอยู่ภายใต้ระบบที่ศีลธรรมและจริยธรรมบางอย่างซึ่งมันกดทับเรา วงการศิลปะหลังปี 49 ก็มีส่วนตอกย้ำ ทำให้ความเผด็จการของอำนาจมีลักษณะที่ขลัง น่าชื่นชม และทำให้ผู้คนในสังคมสละทิ้งซึ่งอิสรภาพเสรีภาพของตนโดยไม่รู้ตัว เราจึงจำเป็นต้องยืนยันว่าศิลปะเป็นพื้นที่ทางสังคมประเภทหนึ่ง และจำเป็นจะต้องถูกตรวจสอบจากภายนอก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท