Skip to main content
sharethis

สุรเดช บรรยาย ยูโทเปีย วรรณกรรมภาพฝันถึงสังคมอันดีงาม ทรงพลังต่อการเปลี่ยนแปลงโลกแห่งความจริง ส่วนดิสโทเปีย สะท้อนปัญหาของความสมบูรณ์ที่ต้องการการจัดการ ชี้ทั้งสองเกิดจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์

ภาพจาก Bacc

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2558 เวลา 13.00 น. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) จัดบรรยายเปิดค่ายวรรณกรรมสร้างสรรค์ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “วรรณกรรมดิสโทเปีย” โดยมีวิทยากรคือ สุรเดช โชติอุดมพันธ์ อาจารย์ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าเรื่องต้นกำเนิดยูโทเปียและดิสโทเปีย - แนะนำนวนิยายน่าอ่าน โดยมีผู้ร่วมงานราว 70-80 คน

สุรเดชเริ่มต้นการบรรยายหัวข้อ “วรรณกรรมดิสโทเปีย” โดยอภิปรายถึงคำว่า ‘ยูโทเปีย’ (Utopia) ซึ่งเป็นชื่อหนังสือนิยายของ โทมัส มอร์ อธิบายถึงสังคมหรือโลกในอุดมคติที่ทุกคนในสังคมไม่มีทรัพย์สมบัติและทุกคนเท่าเทียม ยกตัวอย่างคือ ทุกคนทำอาชีพคล้ายๆกัน เช่น อาชีพงานไม้, ถลุงโลหะ, ก่อสร้าง ฯลฯ ทุกคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เรียบง่ายเหมือนๆกัน แต่อย่างไรก็ตาม สังคมอุดมคติในแบบของโทมัส มอร์ นั้น ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นส่วนตัวที่ไม่พึงประสงค์ เพราะทุกๆคนต้องใช้ชีวิตในส่วนร่วม ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวใดๆ ทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับเนื้อหาในนวนิยายยูโทเปีย เดอะ นิว แอตแลนติส (The New Atlantis) ของฟรานซิส เบคอน ซึ่งเล่าถึงเกาะแห่งหนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศเปรู สถานที่ซึ่งจินตนาการถึงการศึกษาที่ดี ทุกคนมีศรัทธาในศาสนา เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ สุรเดชกล่าวว่า จากนิยายเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าฟรานซิส เบคอน เติบโตมาในช่วงศตวรรษที่17 ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ยุคนีโอ คลาสสิค ทุกคนเริ่มเห็นความสำคัญของเหตุผลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และการสถาปนาขึ้นมาของความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์

สุรเดชกล่าวว่า ในแง่หนึ่ง เดอะ นิว แอตแลนติส ได้ทำให้ในโลกแห่งความจริง เช่น ในประเทศอังกฤษเปลี่ยนไป เพราะมีกลุ่มปัญญาชนเกิดขึ้น เช่นเดียวกับนวนิยายยูโทเปียของโทมัส มอร์ โดยจุดกำเนิดของยูโทเปียนั้น เกิดขึ้นมาในยุคแห่งวิทยาศาสตร์ที่มีความเชื่อมั่นในความก้าวหน้าทางวิทยาการและเหตุผลนิยม สังคมได้หลุดออกจากยุคกลางและยุคคลาสสิค ดังนั้นในแง่หนึ่ง ยูโทเปีย สามารถอธิบายโดยรากศัพท์ได้ว่า

ยู (U) อาจหมายถึงคำว่า ดี (Good) หรือ ไม่มี (No) ก็ได้

โทเปีย (Topia) หมายถึง สถานที่ (Place)

ภาพจาก Bacc

ดังนั้นจึงสามารถอธิบายยูโทเปียได้ 2 ความหมาย คือ สถานที่ที่ดี หรือ สถานที่ที่ไม่จริง ซึ่งยูโทเปีย มีนิยามคือการสร้างสรรค์โดยการใช้ภาษา การสร้างสรรค์ของชุมชนหรือสังคมของมนุษย์ที่ สถาบัน จารีต มนุษย์ ถูกจัดการหรือออกแบบให้สมบูรณ์แบบมากกว่าโลกความเป็นจริงของผู้เขียนเอง

สุรเดชกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นมาของยูโทเปีย ก็ทำให้เกิดความหมายตรงกันข้ามหลายคำ แต่คำที่มีการใช้มากที่สุดคือ ดิสโทเปีย (Dystopia) ซึ่งทำให้เราเห็นยูโทเปียที่ซ่อนนัยเชิงลบของความไม่เชื่อในโลกสมบูรณ์แบบ การพยายามควบคุมจัดการสิทธิเสรีภาพ หรือการจัดการที่มากเกินไป ซึ่งจะนำไปสู่มิติเชิงลบได้

ประเด็นที่น่าสนใจที่ทำให้เปลี่ยนจากยูโทเปียเป็นดิสโทเปีย สุรเดชกล่าวว่า มีประเด็นที่น่าสนใจคือ เกิดขึ้นจากวิทยาศาสตร์ สังเกตจากทั้งโทมัส มอร์ หรือ ฟรานซิส เบคอน เอง ทุกคนเชื่อในตรรกะทางวิทยาศาสตร์และมองวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่นำสังคมไปสู่การก้าวหน้า แต่อย่างไรก็ตามใน ศตวรรษที่ 19 วิทยาศาสตร์ผลักดันให้เกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งสะท้อนวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่เราเริ่มเห็นคือ วิทยาศาสตร์อาจจะไม่ได้ดีเสมอไป ด้านมืดที่แฝงอยู่ที่สำคัญคือ การใช้วิทยาศาสตร์สร้างอาวุธ ทำให้เกิดสงครามโลก หรือการใช้วิทยาศาสตร์ในการสร้างอาวุธในการล่าอาณานิคม เพื่อผลิตและนำผลสำเร็จกลับมาสู่ประเทศแม่ วิทยาศาสตร์ทำให้เกิดการครอบงำในหลายมิติของสังคมเช่นกัน ดิสโทเปียจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นการเสียดสีสังคม และโต้กลับยูโทเปียซึ่งอธิบายถึงสังคมที่สมบูรณ์แบบ

สุรเดชได้แนะนำนิยายและภาพยนตร์ดิสโทเปียที่น่าสนใจ โดยกล่าวว่า ดิสโทเปียไม่ใช่แค่เรื่องราวของการที่รัฐครอบงำสังคมเพียงเท่านั้นตามความเข้าใจของคนทั่วไป แต่ยังมีอีกหลายบริบท ทั้งวิทยาศาสตร์, เพศ หรือการที่มีเสรีภาพมากเกินไป

ดิสโทเปียจากการเกิดขึ้นของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ภาพยนตร์ Metropolis, 1926 ของ Fritz Lang

ซึ่งเป็นภาพยนตร์ดิสโทเปียในยุคแรกๆ เล่าถึงเมืองแห่งหนึ่งซึ่งคนมีเงินอยู่บนดิน กรรมาชีพอยู่ใต้ดิน ซึ่งคอยทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้คนบนดินมีชีวิตที่มีความสุข วันหนึ่งมาเรีย ผู้หญิงจากใต้ดินได้ลุกขึ้นมารวมคนใต้ดินเพื่อต้องการต่อรองคนบนดินเพื่อที่จะทำให้พวกจนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่คนด้านบนกลับไม่พอใจ สร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาปลอมเป็นมาเรียเพื่อก่อกวนโลกด้านล่าง

สุรเดชกล่าวว่า ดิสโทเปียในเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงมิติความกลัวเทคโนโลยี คนที่มีเทคโนโลยีจะสามารถควบคุมทุกอย่างได้

ภาพยนตร์ The Matrix โดย 2 พี่น้อง Wachowski ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในโลกดิสโทเปีย มนุษย์ทุกคนถูกให้กำเนิดและโอบอุ้มโดยรัง โดยถูกใส่โปรแกรมให้จินตนาการเห็นภาพความจริง สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าเราประสบอยู่จริงหรือเราอยู่อีกโลกหนึ่งกันแน่

“มันมีความกลัวหรือความกังวลว่า เทคโนโลยีจะมาควบคุมเรา จนถึงระดับที่ว่าเรากลายเป็นทาสของเครื่องจักร”

“บางครั้งเราคิดว่าเราวบคุมมือถือของเรา แต่เราต้องมานั่งดูมันตลอดเวลา จริงๆ แล้วใครควบคุมใครกันแน่ ดิสโทเปียในที่นี้จึงเปิดในเห็นถึงมิตินี้ และเปิดให้เห็นถึงการต่อสู้หรือความกังวลให้ชัดขึ้น” สุรเดช กล่าว

ดิสโทเปียจากการวิพากษ์อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐเผด็จการ

Brave New World โดย Aldous Huxley เรื่องราวของโลกที่รัฐควบคุมการกำเนิดของแต่ละคน เมื่อเกิดขึ้นมา รัฐจะแบ่งกลุ่มเด็กเป็น 5 กลุ่ม 2 กลุ่มแรกจะเติบโตเป็นชนชั้นนำก็จะปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ แต่ 3 กลุ่มหลังต้องทำงานพื้นฐาน ไม่ใช่พลเมืองในแง่สมอง รัฐจึงต้องฉีดสารตัวหนึ่งให้กับคนกลุ่มหลังนี้เพื่อสร้างความพึงพอใจต่อสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่ ไม่ตั้งคำถามต่องานที่เขาทำ และไม่มีความคิดเชิงวิพากษ์ในโลกใบนี้ มีแต่เรื่องบันเทิงต่างๆเพื่อไม่ให้คนตั้งคำถาม เมื่ออายุ 60 ปีจะถึงอายุขัยที่ทุกคนต้องตายโดยที่ทุกคนจะไม่เสียใจ เพราะทุกคนไม่มีพันธะต่อใครและชีวิตมีแต่ความสุขมาตลอด เพราะรัฐควบคุมให้ทุกคนอยู่กันเป็นปัจเจกมาตลอด

1984 โดย จอร์จ ออร์เวล เล่าถึงโลกที่รัฐพยายามควบคุมเราในทุกเรื่อง ทั้งนอกร่างกายและในร่างกาย (ความคิด) รัฐสามารถทำให้เราหายไปจากประวัติศาสตร์ได้โดยการลบคนๆนี้ออกไป รัฐพยายามสร้างและควบคุมความจริงตลอดเวลา และมีการสอดส่องความคิด ซึ่งกระทำโดย Thought Police หรือ ตำรวจความคิด ซึ่งดูแลไปถึงความคิดนอกเหนือการกระทำของคนในสังคม หากใครคิดกบฏจะถูกส่งไปยังห้อง 101 แดนซึ่งลงโทษนักโทษทางความคิดอย่างรุนแรงที่สุด

ดิสโทเปียที่สังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ ครอบงำคน

The Stepford Wive, 1972 โดย Ira Levin

เล่าเรื่องจินตนาการในโลกอนาคตซึ่งสามี-ภรรยาคู่หนึ่งย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองหนึ่ง ผู้หญิงทุกคนในเมืองเพอร์เฟ็กต์หมดเลย แต่จริงๆแล้วผู้หญิงทุกคนเป็นหุ่นยนต์ไม่ใช่มนุษย์ แต่ถูกผู้ชายไปซื้อหาบริการมา นางเอกในภายหลังจะถูกเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์แต่สุดท้ายก็หนีออกมาได้

The Handmaid’s Tale, 1985 โดย Margaret Atwood

นวนิยายวิพากษ์โลกอนาคตที่หน้าที่ของผู้ชาย-ผู้หญิงถูกแยกโดยสิ้นเชิง ในโลกที่ผู้ชายมีหน้าที่ปกครองและผู้หญิงให้กำเนิด เมื่อผู้หญิงบางคนไม่สามารถให้กำเนิดได้ ก็จึงต้องมีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ให้กำเนิดบุตรแทน

ดิสโทเปียจากจิตใจมนุษย์

Lord of the Files, 1954 โดย William Golding

เรื่องราวของเด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งโดยสารเครื่องบิน ซึ่งได้ตกลงที่เกาะแห่งหนึ่ง เด็กๆจึงต้องอยู่ร่วมกัน จากที่เคยรักกัน นานวันเข้ากลับทะเลาะกันและลุกขึ้นมาสู้และเข่นฆ่ากัน

นวนิยายเรื่องนี้ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์เป็นสัตว์กระหายสงคราม มนุษย์มีแรงกระตุ้นในการทำความรุนแรงต่างๆมากมาย แม้กระทั่งการฆ่ากันเอง ในตอนท้ายแม้ว่าจะมีคนมาช่วยเด็กๆเอาไว้ได้ แต่ความบริสุทธิ์ของเด็กๆก็ได้ถูกทำลายไปเนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมา

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net