Skip to main content
sharethis

ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากฮาร์วาร์ด ชี้ ระบบการเลือกตั้งนั้นไม่ได้สะท้อน การทุจริตทั้งองคาพยพของระบบการเมือง แต่เกี่ยวพันกับกฎหมายที่เปิดกว้างให้ตรวจสอบ การตื่นตัวของประชาชน และวัฒนธรรมทางการเมือง

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2558  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Corruption and Democracy” ณ ห้องเรียนรวม LT.1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนายแมทธิว สตีเฟนสัน ศาสตราจารย์วิชากฏหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นวิทยากรรับเชิญ

สตีเฟนสัน กล่าวว่าในระบบการเมืองแบบรัฐธรรมนูญนั้นมีเรื่องของผลประโยชน์เกี่ยวพันอยู่มากมาย แต่ละระบบการเมือง  กฎหมายรัฐธรรมนูญ และระบบการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าไปบริหารประเทศของแต่ละประเทศ มักลักษณะแตกต่างกันออกไป ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยง หรือช่องทางการคอร์รัปชันที่แตกต่างกันออกไปด้วย ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญ และพฤติกรรมการคอร์รัปชันในระบบนั้นๆ

กรอบการต่อต้านการทุจริต ปะทะ บริบททางการเมืองและสังคมที่เอื้อต่อการคอร์รัปชัน

สตีเฟนสันกล่าวว่า ในทางทฤษฎีแล้ว ตัวกฎหมายควรถูกออกแบบให้ยับยั้งการคอร์รัปชัน อย่างเช่น การให้อำนาจประชาชนในการเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองที่กระทำการทุจริต นอกจากนั้น ความตื่นตัวของประชาชนในเรื่องคอร์รัปชัน และความสามารถของสื่อมวลชนในการเข้าถึงข้อมูลการคอร์รัปชันก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน การให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะว่าหากปล่อยให้ผู้คนขวนขวายหาข้อมูลทางด้านนี้เอง มักไม่ค่อยได้ผลนักเนื่องจากประชาชนมีพื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน

วัฒนธรรมการเมืองเองก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ควรได้รับการพิจารณาเมื่อพูดถึงการต่อต้านคอร์รัปชัน ฐานคิดของพลเมืองที่แตกต่างกันในแต่ละระบบการเมือง จะสร้างทัศนคติต่อการคอร์รัปชันที่แตกต่างกันไป สตีเฟนสันกล่าวถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนอกเหนือจากประวัติการคอร์รัปชัน ยกตัวอย่างเช่น ความพึงพอใจส่วนตัวของผู้ลงคะแนนเสียง, เชื้อชาติ, ศาสนา หรือความชอบในนโยบายของพรรคนั้นๆ ที่เอาชนะใจผู้ลงคะแนนเสียง ให้เลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ แม้จะรู้ดีว่าพวกเขามีประวัติการทุจริต สตีเฟนสัน ยกตัวอย่างการสำรวจในประเทศบราซิล ที่ประชาชนไม่แคร์หากนักการเมืองคอร์รัปชัน ถ้าพวกเขาทำหน้าที่ของพวกเขาได้ดีก็แล้วไป

สตีเฟนสันพูดถึงลักษณะของการคอร์รัปชันที่แตกต่างกันไปตามลักษณะเงื่อนไขเวลา ระบอบการเมืองแบบไม่ผูกขาดที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านผู้นำบ่อยๆ มักจะทำการทุจริตแบบฉาบฉวย รับเอาผลประโยชน์เฉพาะหน้า และดึงเข้าภาคเอกชนให้ได้มากที่สุด เพราะมีความยั่งยืนกว่าตัวนักการเมืองที่จะมาแล้วก็ไปอย่างเช่นการสัมปทานเหมือง หรือทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในระยะยาว ส่วนผู้นำที่ได้อยู่ในตำแหน่งอย่างยาวนาน มักจะกระทำทุจริตในแบบสมรู้ร่วมคิด และค่อยๆ กระทำไปพร้อมๆ กับการสร้างรายได้เข้ารัฐ

สตีเฟนสันยังได้พูดถึงการจัดอันดับของประชาธิปไตย และการคอร์รัปชันผ่านดัชนีชี้วัดต่างๆ ว่าความเป็นประชาธิปไตยกับการคอร์รัปชันนั้นไม่ค่อยมีความเกี่ยวพันไปในทางเดียวกันนัก ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ไม่ได้หมายความว่าจะมีอัตราการคอร์รัปชันต่ำ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องความแม่นยำในการจัดทำดัชนี เพราะประชาชนผู้ทำแบบสำรวจอาจใช้ทัศนคติส่วนตัวตัดสินว่าประเทศของตนคอร์รัปชันหรือไม่ ถ้าหากเขารู้สึกดีกับประเทศของตน ก็อาจจะเขียนไปว่าไม่มีการคอร์รัปชัน ในทางกลับกัน หากเขามีทัศนคติที่ไม่ดีกับประเทศ ก็อาจจะเขียนไปว่ามีการคอร์รัปชันเยอะ ซึ่งแท้ที่จริงเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับปัจจัยอีกมากมายหลายประการ

การเอาตัวรอดของคอร์รัปชันภายใต้ระบบเลือกตั้ง

สตีเฟนสันชี้ให้เห็นแนวโน้มของลักษณะการคอร์รัปชันที่จะแตกต่างออกไปตามระบบการเลือกตั้ง ในที่นี้ เขาได้ยกตัวระบบการเลือกตั้งขึ้นมาแบบสามกรณี ได้แก่ ระบบบัญชีรายชื่อแบบปิด(ผู้ออกเสียงเลือกแค่พรรค) และระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด(ผู้ออกเสียงเลือกพรรคและคน) และระบบผสม (มีทั้งแบบสัดส่วนและบัญชีรายชื่อ) ว่า จะส่งผลให้พฤติกรรมการทุจริตแตกต่างออกไป โดยระบบบัญชีรายชื่อแบบปิด จะมีแนวโน้มที่ผู้ลงคะแนนเสียงจะพิจารณาการลงคะแนนโดยตัวพรรค ทำให้การทุจริตจะเลื่อนลงไปอยู่ในระดับบุคคลแทน เพราะหากกระทำทุจริตในระดับพรรค ก็จะเสื่อมเสียชื่อเสียงและตัดโอกาสการได้รับเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ในขณะที่ระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิดนั้น การทุจริตระดับบุคคลจะเกิดขึ้นยากกว่า เพราะประชาชนจะหันไปเลือกคนอื่นแทนถ้าทราบว่าผู้แทนที่พวกเขาเลือกไปนั้นกระทำทุจริต และตัวระบบผสมนั้น จะต้องพิจารณาจากหลายตัวแปรในระบบการเมือง ก่อนที่จะประเมินความเสี่ยงของการคอร์รัปชันขึ้นมา

จากผลการสำรวจ สตีเฟนสันได้กล่าวว่า ผู้ลงคะแนนเสียงมีแนวโน้มที่จะเลือกผู้สมัครรายเดิม เนื่องจากการแข่งขันในระบบการเลือกตั้งนั้นมีพรรคใหญ่ไม่กี่พรรค ทำให้ประชาชนมีทางเลือกไม่มาก และพวกเขาก็ไม่อยากให้เสียงของเขาหายไปกับผู้สมัครที่คิดว่าถึงอย่างไรก็คงไม่ชนะการเลือกตั้ง ดังนั้น การที่ทางเลือกจะเพิ่มมากขึ้นในระบบการเลือกตั้งนั้นเป็นไปได้ยากกว่าการทำให้ระบบการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยลดการคอร์รัปชันในระยะยาว

สุดท้าย สตีเฟนสันกล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งนั้นไม่ได้สะท้อนถึงการทุจริตทั้งองคาพยพของระบบการเมือง แต่ว่าการศึกษาและวิจัยก็ทำให้พวกเราได้ทราบว่ามีรูปแบบความเสี่ยงของการทุจริตแบบใดบ้างจากโครงสร้างทางกฎหมายที่เป็นอยู่ และหวังว่าการผลการวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการอุดช่องโหว่ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

คำถามจากผู้เข้าฟังการบรรยาย

สามารถแยกแยะการทุจริตตรงๆกับการกระทำเชิงทุจริต เช่นในโครงการประชานิยมได้หรือไม่

เป็นเรื่องที่แยกยาก เพราะว่าในโลกของความเป็นจริงมี ‘พื้นที่สีเทา’ ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือผิดในทางข้อเท็จจริงไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่มันยังมีพื้นที่ที่เป็นสีดำ ก็คือผิดไปจากตัวกฎหมายจริงๆ หรือการกระทำทุจริตจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่งานวิจัยนี้ให้ความสนใจ ซึ่งแน่นอนว่ามันมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยสตีเฟนสันยกตัวอย่างว่า ความแตกต่างระหว่างสัญญาที่ว่า เลือกผมสิ แล้วผมจะสร้างถนนให้ กับ ผมจะให้เงินคุณนะ แล้วคุณต้องเลือกผม

แล้วในกรณีของล็อบบี้ยิสต์ล่ะ ประเทศไทยมีภาพจำของล็อบบี้ยิสต์ที่ไม่ค่อยสวยงาม และมักถูกโยงไปเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชัน

นี่ก็ถือเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกันกับการที่สินบนในประเทศหนึ่ง ถูกมองว่าเป็นของกำนัลในอีกประเทศหนึ่ง การล็อบบี้ก็เช่นเดียวกัน จริงๆแล้วการล็อบบี้นั้นเป็นการเข้าถึงข้อมูล หรือการโน้มน้าวจูงในให้เกิดผลทางการเมืองตามที่ต้องการ แต่มันมามีปัญหาเมื่อพวกเขาใช้วิถีทางที่ผิดกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

คิดอย่างไรกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมเป็นระบบแต่งตั้ง

ในมุมหนึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่อำนาจกระจายไปสู่ผู้อยู่อาศัยและมีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ที่ตนเองอาศัย ทำให้ประชาชนและหน่วยการปกครองมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ตัวผู้ดำรงตำแหน่งก็จะมีพันธะผูกพันกับประชาชนมากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน การคอร์รัปชันในระดับนี้อาจไม่ได้รับการสนใจ เพราะสื่อกระแสหลักมักจะสนใจประเด็นระดับชาติมากกว่า อีกปัญหาหนึ่งก็คือ กระบวนการยุติธรรมระดับจังหวัดที่อาจจะเล็กเกินไปสำหรับดูแลและควบคุมการทุจริตในพื้นที่ และเป็นเส้นทางให้นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้ที่ไม่ได้มีภาพลักษณ์ของผู้นำในวัฒนธรรมการเมืองไทย ได้มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ เช่นทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net