Skip to main content
sharethis

นักวิจัยด้านชีววิทยาและกายวิภาคพยายามศึกษาเรื่องโปรตีนและเอนไซม์ของหมีที่จำศีล เพื่อหาว่าจะทำอย่างไรให้คนที่ขยับเขยื้อนร่างกายได้น้อย เช่นนักบินอวกาศ จะยังสุขภาพดีอยู่ได้ โดยไม่เสี่ยงโรคเกี่ยวกับกระดูก

10 ก.ค. 2558 นักบินอวกาศเป็นผู้ที่มีโอกาสประสบปัญหาภาวะการสูญเสียมวลกระดูกเนื่องจากการเดินทางเป็นระยะเวลายาวนานโดยไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากพอ ทำให้นักวิจัยพยายามศึกษาหาวิธีการป้องกันปัญหานี้ด้วยการศึกษาว่าทำไมเวลาหมีจำศีลแล้วถึงสามารถรักษามวลกระดูกของตัวเองเอาไว้ได้

ตามปกติแล้วถ้าหากมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ มีกิจกรรมที่ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันน้อยลง ก็อาจจะเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้เนื่องจากร่างกายจะตอบสนองโดยการลดกระบวนการการสร้างกระดูกและปล่อยแคลเซียมออกมามากขึ้น ทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกและเพิ่มความเสี่ยงต่อการแตกหรือร้าวของกระดูกได้

ซึ่งนักบินอวกาศผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในภาวะสุญญากาศเป็นเวลานานก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกบาง (Osteopenia) ที่มาจากการสูญเสียมวลกระดูก เช่นนักบินอวกาศในสถานีอวกาศเมียร์จะสูญเสียมวลกระดูกโดยเฉลี่ยร้อยละ 1-2 ต่อเดือน ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดสำหรับนักบินอวกาศได้ และถึงแม้จะมีข้อเสนอให้ออกกำลังกายขณะอยู่ในช่วงปฏิบัติหน้าที่แต่ก็มีการสัมฤทธิ์ผลที่จำกัด ทำให้นักวิจัยหันมาศึกษาระบบชีวภาพในร่างกายของสัตว์เช่นการจำศีลของหมีดำเพื่อดูว่าพวกมันทำอย่างไรถึงอยู่นิ่งๆ เป็นเวลานานได้โดยไม่สูญเสียมวลกระดูก

เมแกน แม็คกี-ลอว์เรนซ์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านชีววิทยาเกี่ยวกับเซลล์และกายวิภาคจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียรีเจนท์ส สหรัฐฯ ระบุว่าเธอต้องการศึกษาว่ากระบวนการทางโปรตีนและเอนไซม์ต่างๆ ในตัวหมีสามารถช่วยลดภาวะการสูญเสียมวลกระดูกได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาหมีตัวเมีย 13 ตัวในช่วงระหว่างปี 2549-2552 โดยการสำรวจตัวอย่างจากเลือดและกระดูกของหมีในช่วงก่อนและหลังการจำศีลโดยมีการวัดระดับเอ็นไซม์และฮอร์โมน

นักวิจัยพบว่าในช่วงที่หมีจำศีลจะมีการเพิ่มขึ้นของโปรตีนที่เรียกว่า CART ถึง 15 เท่า โปรตีนตัวนี้เป็นตัวทำให้จำนวนธาตุกระดูกถูกสลายไปในกระแสเลือดลดลง นอกจากนี้ ระดับการสร้างเซลล์กระดูกของหมีในช่วงจำศีลยังลดลงจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.15 เนื่องจากมีการลดระดับเอ็นไซม์ 2 ตัวชื่อ BSALP และ TRACP ซึ่งเป็นตัวที่ช่วยในการสร้างเซลล์กระดูกใหม่

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้กระดูกของหมียังคงแข็งแรงอยู่ได้แม้จะผ่านการอยู่นิ่งๆ เป็นเวลานาน เพราะร่างกายของพวกมันลดระดับการสูญเสียมวลกระดูกแทนการสร้างมวลกระดูกใหม่

การศึกษาในแง่นี้ไม่เพียงแต่ใช้หาทางช่วยเหลือนักบินอวกาศที่ต้องเดินทางเป็นเวลานานเท่านั้น แม็คกี-ลอว์เรนซ์ กล่าวอีกว่ามันยังมีประโยชน์ในการใช้เป็นแนวทางรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกเรื้อรังได้ด้วย


เรียบเรียงจาก

Hibernating bears could hold the key to long-distance space travel, The Guardian, 09-07-2015
http://www.theguardian.com/science/2015/jul/09/hibernating-bears-could-hold-the-key-to-long-distance-space-travel

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net