Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

จากกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศรับผู้สมัครงาน โดยกำหนดคุณสมบัติเจาะจงผู้สำเร็จการศึกษาจาก 14 มหาวิทยาลัย นำไปสู่การตอบโต้จากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยการยกเลิกการทำธุรกรรมทุกประเภทกับธนาคารไทยพาณิชย์ และเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางประเด็นหนึ่งในโลกออนไลน์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับมาตรการการรับสมัครงานของธนาคาร กลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงให้เหตุผลกันไปมากมาย ผู้เขียนเมื่อได้ยินข่าวนี้ก็ไม่เห็นด้วยต่อวิธีการรับสมัครงานของธนาคารไทยพาณิชย์เช่นกัน เพราะรู้สึกเป็นห่วงนักศึกษาของตัวเองและเห็นว่าวิธีการดังกล่าวมันเป็นวิธีการคัดเลือกจากป้ายชื่อสถาบันการศึกษามากกว่าการพิจารณาดูความสามารถรายบุคคล ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสของเด็กที่อาจมีความสามารถสูง แต่ไม่ได้จบจากสถาบันการศึกษาในรายชื่อเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง  

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เขียนแล้ววิธีการประกาศรับสมัครงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่ได้ทำให้รู้สึกขุ่นมัวได้เท่ากับความคิดเห็นจำนวนหนึ่งที่มีการถกเถียงประเด็นนี้ตามหน้าเฟซบุ๊กของหลายคนในช่วงนี้ เพราะทางธนาคารเองก็แสดงออกชัดเจนว่า“เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด” ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับแล้วว่าวิธีการดังกล่าวที่ประกาศไปในช่วงแรกนั้นไม่ถูกต้อง แต่ในกลุ่มที่แสดงตนว่าปัญญาชนก้าวหน้าจำนวนหนึ่ง ยังคงให้เหตุผลอย่างแปลกประหลาดในการสนับสนุนวิธีการดังกล่าวของธนาคารไทยพาณิชย์ในการรับสมัครงาน ดังเช่น “วิธีการรับสมัครงานที่ระบุสถาบันการศึกษาเฉพาะแบบที่ธนาคารประกาศถือเป็นปกติของสังคมทุนนิยมที่องค์กรเอกชนใดๆก็มีสิทธิ์ประกาศคัดเลือกคนทำงานตามที่องค์กรต้องการได้”, “การประกาศรับสมัครงานของไทยพาณิชย์แบบนี้ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปสมัคร เพราะถึงไปสมัครเขาก็ไม่เอาอยู่ดี”, “แทนที่อธิการบดีกลุ่มม.ราชภัฏจะออกมาตอบโต้โดยวิธีการยกเลิกธุรกรรมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ควรออกมายอมรับความจริงแล้วเอาเวลาไปพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพจะดีกว่า” เป็นต้น

ผู้เขียนเห็นว่า ในการถกเถียงทั้งหมดสามารถแบ่งแยกประเด็นหลักๆได้เป็น 2 ประเด็น นั่นคือ 1. วิธีการรับสมัครงานของธนาคารไทยพาณิชย์ และ 2.คุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏ ซึ่งจุดเริ่มต้นของปัญหาครั้งนี้จนทำให้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏออกมาตอบโต้โดยการประกาศยกเลิกธุรกรรมกับธนาคารนั้น เป็นผลมาจากความไม่พอใจวิธีการรับสมัครงานของธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหลัก แต่ทว่ากลุ่มผู้ให้เหตุผลสนับสนุนธนาคารไทยพาณิชย์ พวกเขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการตอบโต้ของที่ประชุมอธิการบดีม.ราชภัฏ ได้อ้างเหตุผลถึงคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ไม่มีคุณภาพ จนเป็นสาเหตุหลักสำคัญให้ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศรับสมัครงานลักษณะนั้นขึ้นมานั่นเอง ดังที่กล่าวไปก่อนนี้แล้วว่า ใครจะเห็นว่าวิธีการตอบโต้ของที่ประชุมอธิการบดีกลุ่มม.ราชภัฏเหมาะสมหรือไม่ก็มีสิทธิถกเถียงได้ สำหรับผู้เขียนไม่มีความเห็นต่อเรื่องนี้โดยตรง แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนมีประเด็นอยากแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ให้เหตุผลข้างต้นในสองประเด็นหลักดังกล่าวที่เกี่ยวพันกัน จากจุดยืนของคนในสถาบันการศึกษาท้องถิ่นดังต่อไปนี้   
 

1. ประเด็นปัญหาวิธีการรับสมัครงาน

ประการแรก จากการให้เหตุผลของกลุ่มผู้ที่ให้เหตุผลสนับสนุนธนาคารไทยพาณิชย์ ดูเหมือนพวกเขาไม่เห็นว่า “วิธีการรับสมัครงาน” ลักษณะนี้เป็นปัญหาแต่อย่างใด โดยอ้างว่าวิธีการแบบนี้เป็นวิธีการปกติของการรับสมัครงานในสังคมทุนนิยมเสรีที่องค์กรธุรกิจเอกชนถือสิทธิ์เต็มที่ที่จะประกาศรับสมัครด้วยวิธีการระบุชื่อสถาบันการศึกษาอย่างเจาะจงตามที่ต้องการ สำหรับผู้เขียนแล้ว การอ้างเหตุผลดังกล่าวให้ความสำคัญต่อมิติทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีเป็นหลัก โดยมองที่คุณภาพของสินค้าหรือบัณฑิตและมาตรฐานการผลิตหรือสถาบันการศึกษาที่จะตอบสนองต่อประโยชน์สูงสุดขององค์กรในโลกทุนนิยมเสรีเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงมิติอื่นๆในการอยู่ร่วมกันในสังคมเลย  ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่อธิการบดีกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏดำเนินการยกเลิกการทำธุรกรรมกับธนาคารไทยพาณิชย์ก็ย่อมเป็นสิทธิ์ชอบธรรมเช่นกันตามหลักคิดของลัทธิทุนนิยมเสรีแบบเดียวกันนี้ เพราะพวกเขาก็คงเห็นว่าธนาคารไทยพาณิชย์ไม่มีประโยชน์ต่อการผลิตบัณฑิตในฐานะสินค้าที่ป้อนสู่ตลาดแรงงาน จึงหันไปทำธุรกรรมกับธนาคารอื่นที่อาจเป็นประโยชน์กว่าหรืออย่างน้อยก็เลือกปฏิบัติน้อยกว่าต่อสินค้าที่พวกเขาผลิต หากเราเห็นว่าวิธีการรับสมัครงานนี้เป็นความชอบธรรมตามเหตุผลของเศรษฐกิจทุนนิยมที่ควรให้ความสำคัญที่สุดแล้วล่ะก็ สังคมเราก็คงจะมีแต่การต่อสู้แข่งขันใครชนะก็อยู่รอดใครแพ้ก็ตายตามกลไกตลาดเสรีไป และฝ่ายที่เห็นว่าการเปิดรับสมัครงานของธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ใช่ปัญหาเพราะเป็นเรื่องปกติของโลกทุนนิยมเสรี พวกเขาก็ไม่ควรจะโจมตีวิธีการที่อธิการบดีกลุ่มม.ราชภัฏใช้ดำเนินการตอบโต้ในครั้งนี้ด้วยเพราะมันก็ fair game อยู่แล้วภายใต้กติกาของเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีแบบที่พวกเขาอ้าง  

ประการที่สอง การอ้างว่า “การประกาศรับสมัครงานโดยการระบุสถาบันอย่างเฉพาะเจาะจง จะช่วยให้ผู้สมัครงานไม่ต้องเสียเวลาไปสมัครงานโดยเปล่าประโยชน์ด้วย เพราะถึงไปสมัครเขาก็อาจจะคัดออกทีหลังอยู่ดี” การพูดแบบนี้เท่ากับเป็นการยอมรับว่าชื่อสถาบันการศึกษาถือเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานสินค้าหรือบัณฑิตที่จะเข้าไปทำงานเป็นหลัก แม้ว่าองค์กรที่เปิดรับสมัครงานจะมีสิทธิ์ใช้วิธีการดังกล่าวได้ แต่ก็เป็นวิธีการที่อาจส่งผลกระทบต่อการให้ความหมายทางสังคมแก่สถาบันการศึกษาอื่นๆที่ไม่อยู่ในรายชื่อไปโดยปริยาย ผู้เห็นด้วยกับวิธีการแบบนี้ ไม่ได้มองในอีกแง่ว่าวิธีการรับประกาศสมัครงานดังกล่าว อาจส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติจากการติดป้ายฉลากหรือการตีตราทางสังคม (social label) จากการยอมรับเพียงแค่ชื่อของสถาบันการศึกษามากกว่าการวัดความสามารถของตัวบุคคล ซึ่งก็เป็นค่านิยมที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยให้ผลิตซ้ำเข้มขึ้นขึ้นไปอีก แม้ว่าในการประกาศของธนาคารไทยพาณิชย์จะไม่ได้ใช้วาทกรรมในเชิงลบว่า “ไม่รับ” สถาบันการศึกษาหนึ่งใดโดยตรง แต่การระบุ “รับเฉพาะ” บัณฑิตจาก 14 สถาบันก็อาจส่งความหมายในมุมกลับที่ทำให้สังคมเข้าใจถึงการ “ไม่รับ” บัณฑิตสถาบันอื่นๆ ที่ไม่อยู่ใน 14 สถาบัน ซึ่งกลายเป็นการวาทกรรมที่ตอกย้ำค่านิยมวิธีคิดเกี่ยวกับชั้นสถาบันการศึกษาที่มีปัญหาอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้นไปอีก  ดังที่ปรากฏตัวอย่างในความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ที่ออกมาจำนวนมากในช่วงนี้ จากเหตุผลที่อ้างว่าถึงจะเปิดรับสมัครอย่างกว้างขวาง แต่สุดท้ายทางธนาคารก็อาจจะคัดออกอยู่ดีสู้ประกาศระบุสถานบันการศึกษาเจาะจงไปตั้งแต่แรกเลยดีกว่านั้น เมื่อพิจารณาแง่นี้แล้วจะเห็นความแตกต่างระหว่างการประกาศรับสมัครงานโดยระบุชื่อสถาบันการศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจงกับการไม่ระบุ คือ อย่างน้อยที่สุดการไม่ระบุชื่อสถาบันการศึกษาใดเฉพาะก็ไม่ได้ไปตอกย้ำค่านิยมการแบ่งแยกความสามารถคนจากป้ายฉลากชื่อสถาบันการศึกษาโดยทันทีจากการส่งความหมายด้านกลับของวิธีการประกาศแบบเจาะจง ซึ่งอาจถูกตั้งคำถามได้ง่ายๆว่าบัณฑิตที่จบสถาบันการศึกษาที่ไม่ถูกระบุชื่อเหล่านั้นไม่มีคุณสมบัติเพียงพอหรือ? ทั้งๆที่หลักสูตรในสถาบันการศึกษาเหล่านั้นก็ได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตรจากหน่วยงานตรวจสอบรับรองมาตรฐานการศึกษาเดียวกัน จึงสามารถเปิดการเรียนการสอนผลิตบัณฑิตออกมาได้   

ประการที่สาม แม้ว่าวิธีการรับสมัครเข้าทำงานแบบระบุชื่อสถาบันเฉพาะเจาะจงจะสามารถกระทำได้ในองค์กรบริษัทเอกชน แต่อาจไม่ใช่วิธีการที่เคารพหลักความเสมอภาคเท่าเทียมเท่าใดนัก หากพิจารณาจากบทบัญญัติในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดปีพ.ศ. 2550 (ซึ่งถูกฉีกไปเรียบร้อยแล้วโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.) ในหมวดที่ 3 มาตรา 30 ว่าด้วยความเสมอภาคได้กล่าวว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม”[ii]

ดังนั้นหากการประกาศรับสมัครแบบจำกัดคุณสมบัตินี้กระทำโดยหน่วยงานรัฐ และรัฐธรรมนูญยังคงไม่ถูกฉีกไปก่อน การกระทำลักษณะนี้ย่อมจะเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติอย่างแน่นอน ดังที่เขียนไว้ในหมวดที่ 3 ส่วนที่ 1 บททั่วไป ในมาตรา 26 ว่า “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” อย่างไรก็ตามธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีสถานะเป็นหน่วยงานเอกชนจะเข้าข่ายหรือไม่ ผู้เขียนไม่ใช่นักกฎหมายมหาชนที่มีความสามารถเพียงพอจะตีความได้ แต่ถึงที่สุดแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้การใช้วิธีรับสมัครงานแบบนี้ ย่อมไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนควรยึดถือร่วมกันเพื่อการอยู่ร่วมสังคมอย่างปกติสุข ไม่เกิดการแบ่งแยกกีดกันในทางปฏิบัติมากขึ้น แล้วในฐานะผู้อยู่ร่วมกันในสังคมที่มีกฎเกณฑ์กติกาเดียวกัน เราไม่ควรส่งเสริมวิธีการที่เหมาะสมกว่าที่เปิดกว้างและเคารพหลักความเสมอภาคพื้นฐานด้วยหรอกหรือ?    

 ประการที่สี่ ผู้เขียนขอสมมติว่าหากมีบัณฑิตที่กำลังงานสมัครงาน 2 คน คนแรกเป็นบัณฑิตที่จบจาก 14 สถาบันการศึกษาที่มีชื่อตามประกาศ ซึ่งอาจไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อนเลย เมื่อเรียนจบมาก็ได้เกรดเฉลี่ยต่ำสุดที่เพียงพอกับคุณสมบัติในการสมัครงานครั้งนี้พอดี กับบัณฑิตอีกคนที่เรียนจบมาจากกลุ่มม.ราชภัฎหรืออื่นๆ ซึ่งตั้งใจเรียนมากจนจบมาได้รับปริญญาเกียรตินิยมและอาจเคยมีประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับสมัครนี้มาก่อนแล้วด้วย ระหว่างบัณฑิตสองคนนี้หน่วยงานควรจะเลือกรับใครโดยทันทีเลยหรือไม่ หรือควรจะต้องมีการพิจารณาทดสอบคุณสมบัติความเหมาะสมกับตำแหน่งงานจริงๆเสียก่อน แต่หากเราเห็นด้วยกับการประกาศรับสมัครแบบเจาะจงเลือกตามป้ายฉลากชื่อสถาบันการศึกษานี้  นั่นย่อมหมายความว่าบัณฑิตจากกลุ่มม.ราชภัฏที่มีประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถสูงก็จะถูกปิดโอกาสในการสมัครงานไปทันที โดยที่พวกเขาไม่มีแม้กระทั่งโอกาสในการสมัครงานเพื่อนำเสนอความสามารถของตนต่อผู้ประกอบการเลย เราจะสามารถฟันธงแบบเหมารวม (stereotype) ได้เลยหรือไม่ว่า บัณฑิตจากสถาบันกลุ่มม.ราชภัฏทุกคน ย่อมจะมีความสามารถด้อยกว่าบัณฑิตที่จบมาจากสถาบันการศึกษาที่มีรายชื่อระบุทั้ง 14 แห่งทุกคน? แน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งย่อมมาจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อคุณภาพของบัณฑิตที่จบจากสถาบันการศึกษาด้วย แต่นั่นย่อมไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการยอมรับว่าวิธีการรับสมัครงานแบบนี้เป็นสิ่งที่ชอบธรรม หากสังคมเห็นว่าการรับคนเข้าสมัครงานควรจะพิจารณาจากความสามารถและประสิทธิภาพการทำงานเป็นหลักแล้ว ก็ยิ่งไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องประกาศรับสมัครงานแบบติดป้ายฉลากเจาะจงสถาบันการศึกษาโดยตรงเลย และในทางกลับกันก็อาจทำให้สังคมตั้งคำถามต่อไปได้ว่าวิธีการรับสมัครดังกล่าวนั้น มีการใช้ความสัมพันธ์พิเศษในระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีรายชื่อกับธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยหรือไม่
 

2. ประเด็นปัญหาคุณภาพการศึกษา

ในเรื่องของคุณภาพการศึกษา ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ฝ่ายสนับสนุนธนาคารไทยพาณิชย์ใช้อ้างถึงจนกลบประเด็นปัญหาที่เกิดจาก “วิธีการรับสมัคร” แบบมีอคติทางสังคมลงไปหมด ผู้เขียนไม่ได้หูหนวกตาบอดจนไม่รับรู้ว่าสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่ถูกจัดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นสองนั้น มีปัญหาในเรื่องมาตรฐานคุณภาพการศึกษาอยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงของประเทศที่สามารถผลิตบัณฑิตได้อย่างมีมาตรฐานใกล้เคียงกันได้มากกว่า และเป็นสิ่งที่กลุ่มมหาวิทยาลัยท้องถิ่นเอง ก็ควรยอมรับและเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น แต่เราก็คงไม่อาจจะเหมารวมได้ว่าบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ดีไปทั้งหมดได้แน่นอน และก็คงไม่มีประโยชน์อะไรหากจะทำเพียงก่นประณาม โดยไม่พยายามทำความเข้าใจขอบเขตของปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาในสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง รวมไปถึงข้อจำกัดของการพัฒนาการศึกษา ซึ่งอาจมีปัจจัยที่มากไปกว่าการพัฒนาการศึกษาในสถาบันการศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้ลำพังในทันทีได้

ประการแรก ผู้เขียนเห็นว่าก่อนที่จะใช้วิธีการวิจารณ์แบบเหมารวมจากชื่อสถาบันการศึกษาในทันที ควรต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งมีจุดมุ่งหมายในการก่อตั้งขึ้นมาแตกต่างกันไป การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นกลุ่มราชภัฏนั้น เริ่มต้นจากการเป็นวิทยาลัยครูที่ผลิตครูเป็นหลัก แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นสถาบันราชภัฏในปีพ.ศ. 2538 จากนั้นได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏอีกครั้งในปีพ.ศ. 2547 นั่นเท่ากับว่าเพิ่งจะมีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยก็เพียงช่วง 10 กว่าปีมานี้เอง เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยมีชื่อของประเทศที่มีระยะเวลาดำเนินการเป็นเวลานานหลายสิบปี บางแห่งก็มากกว่า 100 ปีไปแล้ว และโดยบทบาทหน้าที่หรือพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้กำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นเป็นหลัก เน้นด้านการเรียนการสอนขยายโอกาสให้ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนการพัฒนาบุคคลากรด้านการศึกษาที่ยังคงทำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นวิทยาลัยครู ดังที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏปี 2547 หมวดที่ 1 บททั่วไป มาตรา 7 ความว่า “ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายถอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู”[iii]  บทบาทหน้าที่ที่เป็นพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นอาจจะมีจุดเน้นแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยหลักที่เน้นการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาสร้างองค์ความรู้เป็นหลัก  ทั้งนี้หากพิจารณาบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่สืบเนื่องมาจากสมัยที่ยังเป็นวิทยาลัยครู ก็จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งก็ยังคงทำหน้าในการผลิตครูที่ได้อย่างโดดเด่นมีประสิทธิภาพมาจนถึงปัจจุบัน         

เมื่อมีการเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยปิดที่มีชื่อเสียงของประเทศกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันมากและยังมีพันธกิจหลักและขอบเขตของการพัฒนาที่เติบโตมาแตกต่างกัน เมื่อจะประเมินคุณค่าก็ควรคำนึงถึงเงื่อนไขการก่อเกิด เป้าหมาย ขอบเขต ข้อจำกัดต่างๆเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏเพิ่งจะยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยภายใต้พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏปี พ.ศ. 2547 หรือเพียงแค่ 11 ปีที่ผ่านมานี้เอง แน่นอนว่าการที่ยกระดับขึ้นเป็นองค์กรมหาวิทยาลัยของม.ราชภัฏในหลายแห่งย่อมมีปัญหาอยู่มากทั้งในการจัดโครงสร้างและการบริหารองค์กรที่สลับซับซ้อนขึ้น ตลอดจนปัญหาจากวัฒนธรรมองค์กรราชการแบบเก่าที่ตกค้างฉุดรั้ง (cultural lag) ทำให้เกิดสภาวะการเปลี่ยนแปลงช้า จนส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายควรเข้าใจยอมรับ และต้องพัฒนาปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนและระบบสนับสนุนให้สอดรับกับฐานะ “มหาวิทยาลัย” หรือสถาบันการศึกษาระดับสูงให้มากขึ้นตามไปด้วย  

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีอยู่ทั้งหมด 40 แห่งทั่วประเทศ แม้จะมีโครงสร้างการบริหาร เป้าหมายและพันธกิจร่วมกัน แต่ภายใต้บริบทในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันก็ย่อมส่งผลให้มหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งมีจุดเด่นและข้อจำกัดแตกต่างไปด้วยเช่นกัน พื้นที่บางแห่งมีศักยภาพในการผลิตบัณฑิตได้มากและมีบทบาทต่อสังคมสูงเมื่อเปรียบเทียบกับอีกพื้นที่ที่อาจจะเต็มไปด้วยสถาบันการศึกษาจำนวนมากที่มีการแข่งขันมากกว่า บางพื้นที่มีการเน้นการผลิตบัณฑิตบางสาขามากเป็นพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมท้องถิ่น ขณะที่บางพื้นที่อาจจะไม่มีผู้เรียนในสาขาวิชาเดียวกันนั้นเลยก็ได้ ทรัพยากรและความสามารถในการพัฒนาเพิ่มศักยภาพทางการศึกษาจึงแตกต่างกันไปด้วย การเหมารวมว่าเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏโดยมองว่าเหมือนกันหมดทุกที่ ก็อาจเป็นการติดป้ายฉลากแบบเหมารวม ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เกิดความเข้าใจสภาพปัญหา การศึกษาของสถาบันการศึกษาในแต่ละท้องถิ่นได้มากนัก

ประการที่สอง นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนใหญ่ มีพื้นเพมาจากท้องถิ่นหลายอำเภอทั้งในและนอกจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง หลายคนที่ผมรู้จักครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีนัก พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นเกษตรกรหรือทำงานรับจ้างตามโรงงาน หลายคนจึงต้องกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในการเรียนทุกเทอม จำนวนไม่น้อยต้องดิ้นรนหางานทำในระหว่างเรียนโดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนในการทำงานพิเศษ เมื่อถึงเวลาปิดเทอมก็จะเข้าโรงงานหารายได้พิเศษเป็นค่าเทอมหรือค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่างๆ ที่จำเป็น เช่น “ค่าโดยสาร” เนื่องจากไม่มีระบบขนส่งมวลชนราคาถูกและมีประสิทธิภาพเพียงพอ พวกเขาต้องเดินทางระหว่างบ้านและมหาวิทยาลัยโดยเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป-กลับเกือบหรือมากกว่าร้อยบาทต่อวัน และหากย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่เด็กเหล่านี้เรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา ก็ไม่มีโอกาสจะเรียนกวดวิชาเพื่อช่วยเพิ่มคะแนนสะสม อันหมายถึงโอกาสในการเลือกเรียนในสถาบันการศึกษามีชื่อเหมือนกับเด็กอื่นๆที่มีฐานะดีและอยู่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่

จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ อาจจะพออธิบายได้ว่าเด็กนักศึกษาจากท้องถิ่นต่างจังหวัดจำนวนมาก อยู่ในฐานะเสียเปรียบในโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในเมืองใหญ่ที่มาจากครอบครัวมีฐานะดีหรือมีความพร้อมในการเรียนอย่างเต็มที่ และยังได้รับบริการต่างๆจากการพัฒนาของรัฐอย่างเพียบพร้อมอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเด็กในเมืองและชนบทตั้งแต่พื้นฐานนั่นเอง แน่นอนว่ามีเด็กนักศึกษาจากชนบทจำนวนไม่น้อยที่สามารถผลักดันตัวเองจนประสบความสำเร็จในการสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ แต่มีเด็กในท้องถิ่นอีกจำนวนเท่าไหร่ที่ถูกทิ้งไว้จากระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออก เด็กๆเหล่านี้บางคนก็อาจไม่มีความพร้อมที่จะเรียนตามแบบแผนปกติเพราะต้องทำงานไปด้วยระหว่างเรียน หรือไม่สามารถเดินทางเข้าไปเรียนในหัวเมืองใหญ่ห่างไกลครอบครัวได้ด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพสูง และยังมีค่าบำรุงการศึกษา ค่าหน่วยกิตรวมเป็นเงินหลายหมื่นบาทต่อเทอม ซึ่งนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการเรียนในสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นหลายเท่า การเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏจึงเป็นช่องทางหนึ่งของนักศึกษาและประชาชนในท้องถิ่นต่างจังหวัด ที่จะเพิ่มโอกาสทางการศึกษาพัฒนาความรู้ของตนให้สูงขึ้นได้ ซึ่งบทบาทในการให้การศึกษาแก่ผู้ไร้โอกาสทางสังคมนี้ ได้ถูกระบุเอาไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏปีพ.ศ. 2547 มาตรา 9 เช่นกัน ดังความว่า “มหาวิทยาลัยจะปฏิเสธการรับผู้สมัครผู้ใดเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือยุติ หรือชะลอการศึกษาของนักศึกษาผู้ใดด้วยเหตุผลเพียงว่าผู้นั้นขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริงเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาต่างๆแก่มหาวิทยาลัยมิได้”[iv]

แน่นอนว่าคุณภาพการศึกษานั้นเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอนให้มีคุณภาพเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะออกไปทำงานตอบสนองต่อสังคมได้ แต่ทว่าก่อนที่จะพิพากษาว่าใครมีหรือไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่ ก็ควรที่จะทำความเข้าใจเงื่อนไขหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆเหล่านี้ของพวกเขาด้วย ไม่ควรใช้เพียงอคติจากชื่อสถาบันการศึกษาในการเลือกปฏิบัติด้วยความชอบธรรม ซึ่งยิ่งเป็นการกดทับนักศึกษาในท้องถิ่นต่างจังหวัดที่มีโอกาสทางสังคมน้อยอยู่แล้วให้อยู่ในสภาพเป็นชายขอบยิ่งกว่าเดิมเสียอีก ทั้งๆที่พวกเขาก็ได้ผ่านการเรียนตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมาตรฐานคุณภาพหลักสูตรมาแล้วเหมือนกันก็ตาม

ประการที่สาม ในประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะโยนปัญหาไปให้กับระบบการศึกษาหรือปัจจัยภายนอกที่เป็นนามธรรมโดยที่สถาบันการศึกษาในฐานะองค์กรนิติบุคคลหนึ่งๆจะไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ หากแต่เห็นว่าปัญหาคุณภาพการศึกษามันมีมิติที่ลึกกว่าสิ่งที่ปรากฏเห็น ซึ่งเกี่ยวโยงกันกับภาคส่วนอื่นของสังคมด้วย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมดของรัฐที่ควรต้องร่วมรับผิดชอบกับปัญหาดังกล่าวนี้ร่วมกัน ปัญหาของคุณภาพการศึกษาเกี่ยวข้องแยกไม่ออกจากปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาทั้งระบบที่ส่งผลถึงกันด้วย เช่น ระเบียบวิธีปฏิบัติต่างๆที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษา การจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่ไม่เท่าเทียมก็ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาระบบการเรียนการสอนและบัณฑิตแตกต่างกัน การประกันคุณภาพภายนอก การกำกับควบคุณมาตรฐานหลักสูตร เป็นต้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากข้อปฏิบัติหลายอย่างที่ถูกกำหนดมาจากหน่วยงานติดตามกำกับคุณภาพการศึกษากลับไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้มากไปกว่าเพียงการสร้างภาระทางเอกสาร ซึ่งไม่อาจแน่ใจได้ว่าพิธีกรรมเอกสารเหล่านี้จะช่วยให้คุณภาพการศึกษาพัฒนาขึ้นได้จริงหรือ? นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกมาก ซึ่งไม่สามารถจัดการได้เฉพาะภายในสถาบันการศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่ง เพราะมันเป็นปัญหาเชิงระบบการศึกษาโดยรวมตั้งแต่การศึกษาระดับพื้นฐานสืบเนื่องมาถึงระดับอุดมศึกษาด้วย

ดังนั้นปัญหาคุณภาพการศึกษาจึงเป็นปัญหาที่ใหญ่โตมากเกินกว่าจะแก้ไขเฉพาะในองค์กรสถาบันหน่วยงานแห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะได้ แต่ต้องจัดการแก้ปัญหาทั้งระบบ และผู้ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดควรต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วย ตั้งแต่บุคลากร ครู อาจารย์ นักการศึกษา ข้าราชการและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ทว่าภายหลังที่การรับสมัครงานของธนาคารไทยพาณิชย์กลายเป็นเรื่องร้อนประเด็นขึ้น พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กลับออกมากล่าวว่า “ผมไม่ได้บอกว่ามหาวิทยาลัยไหนดีหรือไม่ดี แต่เมื่อธนาคารออกประกาศมาเช่นนั้น เราต้องมองย้อนกลับมาดูสถาบันของเราเองด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยทุกแห่งไม่ว่ามหาวิทยาลัยใดก็ต้องปรับปรุงพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยตลอดเวลา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด เพราะหากมหาวิทยาลัยมีการปรับปรุงจนมีความโดดเด่นแล้ว หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆก็จะให้ความสำคัญและยอมรับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนั้นเข้าทำงานเอง”[v] จากคำพูดดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นว่ารมว.กระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ก็มองว่าปัญหาคุณภาพการศึกษาเป็นปัญหาเฉพาะในสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งเท่านั้น ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาทั้งหมด รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ในความรับผิดชอบของท่านด้วยเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่ง ก็คงจะต้องจัดการปัญหาภายในองค์กรตัวเองกันตามลำพังต่อไปภายใต้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่อย่างจำกัดและระเบียบข้อบังคับต่างๆจากการควบคุมของหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนมีส่วนสร้างปัญหาต่อคุณภาพการศึกษาในท้องถิ่นด้วยเช่นกันต่อไป

ประการสุดท้าย จากที่กล่าวมาในประเด็นปัญหาคุณภาพการศึกษานี้ ผู้เขียนได้พยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวมันซับซ้อนและมีมูลเหตุปัจจัยมากมายไปกว่าเพียงจะมองว่าเป็นปัญหาเฉพาะในสถาบันการศึกษาด้านเดียวได้ และมิอาจมองแบบเหมารวม แต่ท้ายที่สุดแล้ว สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏ ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่โดยตรงต่อผลผลิตทางการศึกษาที่ออกไปจากตนเองได้อยู่ดี และควรต้องยอมรับว่าคำวิพากษ์วิจารณ์และมุมมองที่สังคมมีต่อตนเองนั้นก็มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ล้าหลัง ซึ่งบางแห่งอาจจะยังไม่สามารถปรับตัวต่อการพัฒนาองค์กรที่เติบโตขึ้นได้ ก็ย่อมทำให้ระบบการทำงานของหน่วยงานภายในต่างๆ ขาดประสิทธิภาพตามไปด้วย ตลอดจนปัญหาด้านบุคคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนที่อาจจะยังทำหน้าที่ไม่ตอบโจทย์ต่อพันธกิจของสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นตามขอบเขตเป้าหมายของตนเอง ไม่มีการกำหนดให้ชัดเจนและมีมาตรฐานที่เพียงพอ และที่สำคัญคือการพัฒนาระบบสนับสนุนการเรียนการสอนยังคงต้องทำให้มีคุณภาพขึ้นกว่าเดิม ไม่สามารถหยุดนิ่งกับที่หรือค่อยๆ ปรับตัวเปลี่ยนแปลงช้าๆ สบายๆ แบบระบบราชการเก่าๆ อย่างที่เคยเป็นในอดีตไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

หากมหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งได้พัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนานักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ พัฒนาองค์ความรู้และการบริการวิชาการต่างๆ แก่ท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงแล้ว ผู้เขียนก็เชื่อว่าผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์คุณภาพการศึกษาของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งได้อย่างแน่นอน ซึ่งในระยะยาวก็ยังมีความหวังที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติในด้านลบที่หน่วยงานองค์กรหรือสังคม ได้เคยติดฉลากเอาไว้จากชื่อของสถาบันให้ยอมรับและเข้าใจบทบาทข้อจำกัดต่างๆ ได้เช่นกัน

 

ส่งท้าย     

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ขอย้ำว่าผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบที่สถาบันการศึกษาท้องถิ่นอย่างมหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏควรจะต้องยอมรับและนำข้อวิจารณ์ต่างๆไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาภายในมหาวิทยาลัยของตัวเองให้ดีขึ้น กระนั้นผู้เขียนยังเห็นว่าวิวาทะข้อถกเถียงที่ปรากฏอยู่ทั่วไปยังมีลักษณะตัดสินแบบเหมารวม ไม่แยกระหว่างปัญหาของการรับสมัครงานและปัญหาคุณภาพการศึกษาออกจากกัน และในการวิจารณ์ถึงคุณภาพการศึกษาของสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นก็ยังขาดการทำความเข้าใจมูลเหตุของปัญหาและรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าจะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้มากกว่าการตัดสินคุณค่าความสามารถของคนจากป้ายชื่อสถาบันการศึกษาเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในด้านหนึ่งการเกิดข้อขัดแย้งทางสังคมขึ้นมานี้ ก็อาจจะมีข้อดีตรงที่ช่วยกระตุ้นให้ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหาคุณภาพการศึกษา ได้หันมาสนใจที่จะทำความเข้าใจและหาหนทางแก้ไขปัญหาการศึกษามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏเอง แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าการจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพการศึกษานั้น มีความสลับซับซ้อนมากกว่าการโยนให้สถาบันการศึกษาเฉพาะแห่งเป็นผู้รับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียวได้ ถึงแม้ว่าสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งก็สมควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักก็ตาม ซึ่งปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ดำรงอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรยอมรับและแก้ไข และไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการเลือกปฏิบัติต่อบัณฑิตหรือนักศึกษา ซึ่งกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งจากการถูกปิดโอกาสในการสมัครงาน และการถูกปิดฉลากให้ความหมายแบบเหมารวม ราวกับว่าผู้ที่เรียนจบมาจากสถาบันการศึกษาเหล่านี้ล้วนเป็นบุคคลไม่มีคุณภาพไปทุกคน  

นอกเหนือจากที่เราควรคำนึงถึงคุณภาพการศึกษาเป็นหลักแล้ว ผู้เขียนอยากเรียกร้องให้สังคมทำความเข้าใจบริบทพื้นฐานของนักศึกษาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในต่างจังหวัดด้วย แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่หลายคนก็มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่าเด็กจำนวนมากที่อยู่ในเมือง ซึ่งมีความพร้อมด้านครอบครัวและได้รับโอกาสในการศึกษามากกว่าโดยหวังว่าสังคมจะมองเห็นปัจจัยเงื่อนไขอื่นๆ นอกเหนือไปจากการมองบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาที่กลายเป็นเพียงสินค้าแรงงานเพื่อตอบสนองต่อการผลิตในระบบทุนนิยมเสรีเท่านั้น ผู้เขียนหวังว่าสังคมจะใจกว้างที่จะประเมินคุณค่าตัดสินใครอย่างเป็นธรรมและเปิดโอกาสให้แก่พวกเขามากขึ้น ก่อนที่ตีตราติดป้ายฉลากวัดคุณค่ามนุษย์จากชื่อสถาบันการศึกษาโดยยกคุณค่าสูงส่งให้มนุษย์บางสถาบันที่ได้รับความนิยมตามระบบค่านิยมแบบไทยๆ ซึ่งมักวัดประเมินคุณค่าของคนจากวุฒิการศึกษา เกรดเฉลี่ย หรือสถาบันการศึกษาที่จบเป็นหลัก เพราะนอกจากจะไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจของเพื่อนมนุษย์ที่อาศัยอยู่ร่วมสังคมเดียวกันแล้ว การตัดสินคุณค่าจากชื่อสถาบันการศึกษายังเป็นกดทับสร้างความเป็นอื่นต่อนักศึกษาในท้องถิ่นจากการตัดสินอย่างอำมหิตเลือดเย็น ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำปัญหาให้มากขึ้นไปกว่าเดิมและไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นได้เลยแม้แต่น้อย.

 




[i] อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

[ii] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, กรุงเทพ: 2555, หน้า 28.

[iii] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547,หน้า 2.

[iv] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547, หน้า 3.

          [v] เดลินิวส์, “บิ๊กเข้” ชี้ถึงเวลากลุ่มราชภัฏต้องทบทวนตัวเอง, วันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2558.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net