'ปาตานีที่มีอธิปไตยและจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ' ปาฐกถา Prof.Zam วิสัยทัศน์ปาตานี 2020

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2558 เว็บไซต์ Deep South Watch เผยแพร่ปาฐกถาพิเศษ Professor Dr. Kamarulzaman Askandar จาก University Malaysia Sabah (UMS) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานใน Southeast Asia Conflict Studies Network (SEACSN) หัวข้อ Arah Tuju Patani (ทิศทางปาตานี) ในงานเสวนาวิสัยทัศน์ปาตานี/ชายแดนใต้ 2020 ครั้งที่ 3 : ทิศทางปาตานี/ชายแดนใต้ Wawasan Patani 2020 3rd : Arah Tuju Patani โดยวิทยาลัยประชาชน ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ในงานมีตัวแทนภาคประชาสังคมและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่เข้าร่วมงานอย่างคับคั่งเมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา
 
 
 
ทิศทางอนาคตปาตานีจะไปทางไหน?
 
Prof Dr. Kamarulzaman เริ่มปาฐากถาด้วยการกล่าวว่ากลุ้มใจที่ต้องมาพูดในประเด็น Arah Tuju Patani 2020 หรือทิศทางปาตานีในปี ค.ศ. 2020 ในขณะที่ตนไม่ใช่คนปาตานี โดยเป็นคนมลายูสิงคโปร์แต่ไปเติบโตที่ประเทศมาเลเซีย แต่คงเป็นเรื่องปกติที่ตนเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความหวังในอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับปาตานีและตนคิดว่าพอจะเข้าใจประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่ปาตานี แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม
 
ประเด็นที่ต้องพูดในวันนี้คือ ทิศทางอนาคตปาตานีที่จะขอพูดในประเด็นกระบวนการสร้างสันติภาพและจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ อิสรภาพมีหลากหลายความหมาย แต่วันนี้จะพูดแค่เพียงประเด็นจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพเท่านั้น เพราะนี่คือเป้าหมายสุดท้ายของวิสัยทัศน์ปาตานีในมุมมองของตน ถ้าจะพูดถึงทิศทางของปาตานี คำถามคือปลายทางจะไปทางไหน เหมือนกับถ้าเราขับรถเราจะมีทิศทางและปลายทางที่เราจะไปอย่างชัดเจน ในมุมมองของตนทิศทางปาตานี คือ ปาตานีที่สงบสุข (patani yang sejahtera) มีอธิปไตย (berdaulat) และมีจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ (berjiwa merdeka)
 
ที่กล่าวสามข้อข้างต้นเพราะมีความสัมพันธ์กับอิสรภาพ อิสรภาพในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ตนขอยกคำพูดของ Malcolm X นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนที่สนับสนุนฝ่ายผิวสีที่อเมริกา โดยที่เขาไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อชาวผิวสีอย่างเดียว แต่เคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาค เขากล่าวว่า “เราไม่อาจแยกสันติภาพออกจากอิสรภาพได้ เพราะไม่มีใครที่จะมีภาวะสันติภาพได้หากปราศจากอิสรภาพ” และจะนำไปสู่คำถามว่าที่ว่าอะไรคือความหมายของคำว่าอิสรภาพ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองประเด็นหลักๆ นั่นคือ อิสรภาพจากความกลัวและอิสรภาพจากความปรารถนาหรือพูดอีกอย่างก็คืออิสรภาพจากความขาดแคลนนั่นเอง
 
เมื่อพูดถึงความกลัว คำถามแรกเลยก็คือทำไมเราถึงกลัว เรามักจะกลัวไปกับทุกเรื่อง ทั้งที่เราควรจะกลัวแค่เพียงพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น (ในฐานะมุสลิม) แต่ในโลกปัจจุบันเรากลับกลัวไปหมด เรากลัวความไม่ยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา เรากลัวด่านตรวจบนท้องถนนที่มีอยู่เต็มไปหมด เรากลัวที่จะออกจากบ้านในตอนกลางคืน เรากลัวการแสดงความเห็นทางการเมืองเพราะคิดว่าเมื่อแสดงความเห็นออกไปแล้วกลัวจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนขบวนการ เป็นต้น เราจำเป็นที่จะต้องสลัดตัวเองออกจากความกลัวเหล่านั้น เพราะนั่นคือสิทธิของเราที่จะทำให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องหวาดกลัวต่อสิ่งเหล่านั้น เพื่อที่เราจะได้ใช้สิทธิที่ควรจะใช้โดยปราศจากความหวาดกลัวว่าจะมีคนมาจับตัวเราหรือทำไม่ดีต่อเรา
 
ประเด็นต่อมา คือ อิสรภาพจากความปราถนาที่เมื่อเรามองไปยังสังคมของเราที่ไม่มีความรุ่งเรืองในด้านเศรษฐกิจ อาคารบ้านเรือน หรืออื่นๆ เรายังคงขาดแคลนในหลายๆ อย่าง คำถามคือ ทำไมเราถึงขาดแคลน ทำไมเศรษฐกิจถึงไม่ดี ทำไมผู้คนถึงยังไม่มีบ้านอาศัย คำถามเหล่านี้จำเป็นเพราะหากเมื่อไหร่ที่เราสามารถสลัดตัวเองออกจากความกลัวต่อความขาดแคลนได้เราจะพบกับอิสรภาพ อิสรภาพมีหลากหลายแบบไม่ว่าจะเป็นอิสรภาพทางการเมือง อิสรภาพทางพื้นที่ อิสรภาพทางด้านอำนาจและอิสรภาพทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งเราต้องการอิสรภาพทางด้านจิตวิญญาณ อย่างมาเลเซียที่แม้ว่าเป็นรัฐที่ได้รับเอกราชมานานแล้ว แต่บางครั้งตนยังไม่ได้รู้สึกว่าตนเองได้มีอิสรภาพที่แท้จริง เพราะยังขาดแคลนอีกหลายสิ่งหลายอย่าง และยังขาดอิสรภาพหรือเสรีภาพในอีกหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ปาตานีที่ตนมองว่ายังขาดแคลนปัจจัยอีกหลายๆ ด้านที่จะเรียกได้ว่ามีเอกราชเพราะยังขาดอิสรภาพ
 
บทกวีกับการจัดการความขัดแย้งปาตานี และข้อเรียกร้องของหะยีสุหลง
 
Prof Dr. Kamarulzaman ได้อ่านบทกวีของ Latiff Mohidin ค.ศ. 1976 ชื่อเรื่อง Songsang มีเนื้อหาและใจความว่า
 
Maafkan aku
kalau aku sering saja
berlaku songsang
 
Terutama
di perayaan tahun
seperti hari ini
 
Apabila semua orang
telah sedia duduk
aku bangun berdiri
 
Apabila orang
bangun bertepuk
aku duduk
 
Apabila orang
ghairah berbincang
aku tidur
 
Apabila orang
melepaskan merpati
aku tabur padi
 
Orang lain
telah merdeka
aku belum
 
Maafkan aku
kalau aku sering saja
berlaku songsang
 
Aku hanya
ingin
mengingatkan
 
Latiff Mohidin
Kota Bharu, Nov 1976.
 
“อภัยให้ฉันด้วย ถ้าฉันปฏิบัติตรงกันข้ามกับผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเฉลิมฉลองประจำปีดังเช่นวันนี้ เมื่อคนอื่นทั้งหมดเขานั่งลง ฉันยืนขึ้น เมื่อผู้คนพากันยืน ฉันนั่งลง เมื่อผู้คนเสวนาถกเถียงกัน ฉันนอนหลับ เมื่อผู้คนปล่อยนกพิราบให้โบยบิน ฉันได้โรยข้าวเปลือก คนอื่นได้รับอิสรภาพ แต่ฉันยัง ฉันขอโทษ ถ้าฉันปฏิบัติต่างจากผู้คน ฉันเพียงแต่จะย้ำเตือนความทรงจำ” (แปลโดยผู้เรียบเรียง)
 
โดยเขาอธิบายว่า Songsang คือการกระทำที่ตรงกันข้ามกับผู้คนทั่วไป ในบทกวีข้างต้นมีคำว่า merdeka ที่มีความหมายไปในทางอิสรภาพ ดังที่ตนได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่ามีอิสรภาพจากความกลัวและอิสรภาพจากความปรารถนา เมื่อเขากล่าวว่าคนอื่นได้รับเอกราชแต่เขายัง แสดงว่าเขากำลังดิ้นร้นเพื่อให้หลุดพ้นจากสิ่งที่กดทับเขาอยู่ คำถามก็คือ การที่คนเราเห็นต่างหรือปฏิบัติตัวต่างจากผู้คนหรือต่างจากรัฐเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่? หรือเป็นสิ่งที่ต้องห้ามหรือไม่? ตกลงใครต่างจากใคร เราต่างจากคนที่กดทับเราอยู่หรือคนที่กดทับเราอยู่ต่างจากเรา เพราะสิ่งที่เราต้องการมักจะตอบสนองต่อสิ่งที่เรายังไม่มีหรืออะไรที่เราควรจะมีสำหรับตัวของเราเอง นั่นก็คือการเรียกร้องความยุติธรรม การเรียกร้องความรุ่งเรือง การเรียกร้องอธิปไตย และการเรียกร้องจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ เมื่อมีคนพูดว่าเราเป็นคนเห็นต่าง เราก็สามารถพูดได้ว่าเขาก็เห็นต่าง และเมื่อมีคนถามว่าทำไมเราถึงไม่ตามเขา เราก็สามารถพูดได้ว่าทำไมเขาถึงไม่ตามเรา ทำไมต้องเป็นเราฝ่ายเดียวที่จะต้องตามเขา ทั้งที่บนแผ่นดินนี้ทุกคนมีอธิปไตยเหมือนกันหมด
 
Prof Dr. Kamarulzaman ยังได้อ่านบทกวีของ Usman Awang เรื่อง Kurang Ajar  โดยเนื้อหาและมีใจความมว่า
 
Sebuah perkataan yang paling ditakuti
Untuk bangsa kita yang pemalu
 
Sekarang kata ini ku ajarkan pada anakku;
Kau harus menjadi manusia kurang ajar
Untuk tidak mewarisi malu ayahmu
 
Lihat petani-petani yang kurang ajar
Memiliki tanah dengan caranya
Sebelumnya mereka tak punya apa
Kerana ajaran malu dari bangsanya
 
Suatu bangsa tidak menjadi besar
Tanpa memilik sifat kurang ajar
 
คำบางคำเป็นคำที่น่ากลัวสำหรับประเทศชาติที่ขี้อายอย่างบ้านเรา
ปัจจุบันคำๆ นี้ ฉันได้สอนให้กับลูกฉันว่า "เธอต้องเป็นคนที่หน้าด้าน" เพื่อไม่สืบทอดความขี้อายของพ่อ
ดูสิ เกษตกรที่หน้าด้านนั้น ครอบครองที่ดินด้วยวิธีการนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยครอบครองอะไรเลย เพราะมาจากบทเรียนขี้อายของประเทศชาติเขา
ประเทศชาติจะไม่ยิ่งใหญ่ ถ้าไม่มีนิสัยหน้าด้าน (แปลโดยผู้เรียบเรียง)
 
สิ่งที่ Latiff Mohidin กล่าวไว้ใน Songsang และ Usman Awang กล่าวใน Kurang Ajar สะท้อนสามประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งที่บางท่านเคยได้ร่ำเรียนมา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งในปัจจุบัน และพฤติกรรมของแต่ละบุคคลในภาวะความขัดแย้ง รวมไปถึงทัศนคติที่มีต่อความขัดแย้งและแนวโน้มของความขัดแย้ง หากมีทัศนคติในทางลบพฤติกรรมก็จะลบไปด้วย กลับกันหากมีทัศนคติด้านบวกทุกอย่างก็จะบวกด้วย
 
เราสามารถพิจารณาถึงความใกล้เคียงของสองบทกวีข้างต้นดังกล่าวและพิจารณาดูว่าเกี่ยวข้องกับการจัดการความขัดแย้งอย่างไร หากเราเอาสิ่งนี้เป็นตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้เราก็จะไม่มีรู้สึกแปลกใจ และหากประชาชนชาวปาตานีปฏิบัติตัวแตกต่างหรือหน้าด้านเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เพื่อให้เกิดความสงบสุข เพื่อให้มีอำนาจอธิปไตย และกู้จิตวิญญาณเพื่อให้เป็นคนที่มีจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ เราไม่อาจกล่าวได้ว่าสิ่งนี้เป็นความผิด เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่ต้องการกอบกู้ในสิ่งที่ขาดหายและต่อต้านในสิ่งที่ขัดขวางทิศทางไม่ให้เราเดินไปข้างหน้า คำถามก็คือทิศทางปาตานี 2020 จะเดินไปทางไหนเพื่อที่จะนำพวกเราไปสู่ความรุ่งเรืองของสังคมเรา ให้มีจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ และเพื่อลูกหลานของเรา หากเราไม่ดำเนินการใดๆ เราก็จะมีตราบาปต่อลูกหลานของเรา ดังนั้นเราจึงต้องคิดว่าจะทำเช่นไร
 
ข้อเรียกร้องข้างต้นไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ใหม่ และประเด็นปัญหาปาตานีก็ไม่ใช่ประเด็นใหม่ เพราะต้นตอของปัญหาเกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1786 ตอนที่ปาตานีพ่ายแพ้และตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสยาม และหมดสิ้นอำนาจอธิไตย ซึ่งข้อเรียกร้องหรือความต้องการในปัจจุบันก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ กี่มากแล้วที่บรรพบุรุษของเราเสียสละในอดีตเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่คิดว่าจำเป็นสำหรับเราในวันนี้ เราเองก็ควรที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องเพราะยังไม่ได้รับในสิ่งที่ควรจะได้ หากยังไม่ได้อีกก็ไม่เป็นไรพยายามและหาทางกันต่อไป และอะไรคือสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ซึ่งไม่น่าจะลำบากยากเย็นมากนัก เพราะเราต้องการสังคมที่สงบสุข และจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ
 
ในอดีตหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์มีข้อเรียกร้อง 7 ข้อที่พวกเราทราบกันดี เช่น ภาษามลายูในโรงเรียน ให้ภาษามลายูเป็นหนึ่งในภาษาทางการ เรื่องการใช้ภาษีในพื้นที่ มีศาลชารีอะห์ เป็นต้น สิ่งที่ท่านขอเป็นไปไม่ได้หรือที่จะเกิดขึ้น ยากมากนักหรือที่จะช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ท่านขอ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ในสิ่งที่ท่านขออย่างครบถ้วน พวกเราจึงจำเป็นที่จะต้องสานต่อข้อเรียกร้องเหล่านั้น เราไม่ควรที่จะอายในการเรียกร้องในสิ่งที่เราควรจะได้แม้บางครั้งเราจะหน้าด้านไปบ้างก็ตาม
 
เราจะไม่บรรลุถึงสันติภาพหากจิตวิญญาณของเราไม่มีอิสรภาพ
 
ย้อนไปสู่สิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าจะพูดในประเด็นกระบวนการสร้างสันติภาพและจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ กล่าวคือ เราจะไม่บรรลุถึงสันติภาพหากจิตวิญญาณของเราไม่มีอิสรภาพ และเมื่อกลับไปดูกระบวนการสร้างสันติภาพที่เริ่มโดยรัฐบาลไทยตั้งแต่ปี 2556 กับกลุ่มของอุซตาซฮัซซัน ตอยยิบ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ มีบางคนบอกว่าการพูดคุยครั้งดังกล่าวนั้นไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่นัก หรือบางคนบอกว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพ สำหรับตนแล้วไม่เป็นไรถึงกระบวนการพูดคุยครั้งดังกล่าวดูจะอ่อนแอแต่ก็คือจุดเริ่มต้น แต่เราต้องมาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการสร้างสันติภาพหลังจากนั้น สำเร็จหรือไม่สำเร็จอย่างไร เราควรประเมินอยู่ตลอดเวลา
 
แน่นอนว่ากระบวนการสร้างติภาพย่อมมีอุปสรรค คำถามคืออะไรบ้างที่เป็นอุปสรรค อันดับแรกเลยก็คือ ส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหาทางด้านการเมืองการปกครอง นอกจากนั้นเรารู้หรือไม่ว่าเราจะได้อะไรจากกระบวนการสร้างสันติภาพที่จะเกิดขึ้น ประชาชนชาวปาตานีจะได้รับความยุติธรรมหรือไม่ หรือเราจะมีโอกาสได้รับความรุ่งเรืองหรือไม่ หรือเราเพียงแค่ต้องการลดเหตุการณ์ความรุนแรงเท่านั้น แล้วสิ่งนี้เรียกว่าสันติภาพหรือไม่ แล้วผู้ที่จะร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นตัวแทนของชาวปาตานีจริงหรือไม่ ที่สำคัญชาวปาตานีเองมีความเป็นเอกภาพหรือไม่ มีกี่กลุ่มในปาตานี วันนี้เราพูดทิศทางปาตานีในลักษณะนี้ ในขณะที่กลุ่มอื่นอาจพูดถึงทิศทางปาตานีในลักษณะอื่น เปรียบเสมือนกับเมื่อเราผูกเชือกที่ม้าหลายตัวเมื่อเราตบมือให้มันวิ่งมันจะวิ่งคนละทางจนเชือกดึงกันไปมา เพราะเราไม่ได้ผูกเชือกในทิศทางเดียวกัน
 
ประชาชนปาตานีมีศักยภาพพอที่สร้างสันติภาพได้ด้วยตัวเอง
 
วันนี้ยังมีการใช้ความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย คำถามคือแล้วใครคือเหยื่อจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คำตอบก็คือพวกเราทุกคนตกเป็นเหยื่อในครั้งนี้ ในขณะที่ฝ่ายที่สามไม่ใช่ผู้ไกล่เกลี่ยแต่เป็นผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น ในขณะที่ทุกท่านมีศักยภาพมากพอที่จะขับเคลื่อนในเรื่องนี้ และทุกๆ ความท้อแท้ให้เก็บเป็นบทเรียนเพื่อที่เราจะเดินต่อไป เพราะตนเชื่อว่าทุกท่านมีศักยภาพและศักยภาพก็มาจากตัวของพวกท่านเอง อย่างศักยภาพที่พวกท่านสามารถดำเนินการจนมีวิทยาลัยประชาชนในวันนี้ได้ เพราะนี่คือตัวเลือกหนึ่งที่สามารถเลือกใช้แทนการใช้ความรุนแรงได้
 
ตนขอย้ำว่าทุกท่านมีศักยภาพ ประชาชนทุกคนมีศักยภาพ มีทฤษฎีหนึ่งที่มีใจความว่า การที่เราจะเปลี่ยนผ่านหรือแก้ไขปัญหาบางอย่างได้จะต้องถึงระยะที่เรียกว่า “ภาวะอันเจ็บปวด” เสียก่อน แต่ตนไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้แม้มันจะถูกต้องก็ตาม เพราะเกิดคำถามว่าจำเป็นหรือที่ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับความเจ็บปวดถึงจะเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปได้ จากอดีตจนถึงทุกวันนี้ยังเจ็บไม่พออีกหรือ เราควรพอแล้วเพราะประชาชนปาตานีมีความทุกข์ทรมานมามากพอแล้ว ที่สำคัญเมื่อเรานึกถึงลูกหลานของเรา เราควรมอบสิ่งดีๆ ให้กับอนาคตของพวกเขา
 
แม้เราจะลำบากในวันนี้ก็เพื่อที่จะให้ลูกหลายของเราอยู่ดีมีสุขในวันหน้า โดยปราศจากความกลัวใดๆ เราจึงจำเป็นที่จะต้องค้นหาช่องทางที่เป็นด้านบวกอย่างกรณีการดำเนินงานของวิทยาลัยประชาชน หรือมหาวิทยาสงขลานครินทร์เองก็ตาม หรือการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคมอย่างศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Wacth) และอื่นๆ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนคือศักยภาพและศักยภาพจะยิ่งเข้มแข็งหากเรามีความเป็นเอกภาพ และจะยิ่งเข้มแข็งหากเรามีวิสัยทัศน์แต่ต้องเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหารหรือระดับรากหญ้าจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน ข้างในประเทศกับข้างนอกประเทศก็ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน และนี้คือหนึ่งในวิธีที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชาติพันธุ์หนึ่งๆ ได้ และนี่ไม่ใช่โจทย์สำหรับตัวเราคนเดียวแต่เป็นโจทย์สำหรับหนึ่งชาติพันธุ์ที่ต้องการความรุ่งเรือง ต้องการมีอธิปไตย และต้องการมีจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท