Skip to main content
sharethis

ประธาน กมธ.ยกร่างฯ โต้ไม่ได้อยู่เบื้องหลังคำสั่ง คสช.ยุติสรรหา คปก.ยันไม่มีคุยเรื่องนี้  ขอมือกุข่าวให้หยุด ด้านนักวิจัย ชี้การให้คณะกรรมการรักษาการพ้นจากตำแหน่งและไม่ให้มีการสรรหาใหม่ ทำลายการมีส่วนร่วมของ ปชช.

16 ก.ค. 2558 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กล่าวถึงคำสั่งของคณะรักษาความเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ให้ยุติการสรรหาคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และให้กรรมการพ้นตำแหน่ง ความจริงพ้นตำแหน่งไปแล้วตามวาระ และอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อตามที่กรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายกำหนด ทำให้บุคคลจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดว่า กมธ.ยกร่างฯ มีการประชุมปรึกษากันในเรื่องนี้ ขอเรียนว่าไม่มีการพูดคุยกันในทางที่จะให้ยุบหรือให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะว่าใน กมธ.ยกร่างฯ ก็มีกรรมการอยู่คนหนึ่งคือ บรรเจิด สิงคะเนติ และมีผู้ไปสมัครอีก 2 คน กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ และ สุภัทรา นาคะผิว ตนก็เคยสมัครแต่ถอนตัว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุใดที่ กมธ.ยกร่างฯ จะไปคิดในทำนองที่ไม่ให้มีการสรรหาหรือยุบ แต่ถ้าจะดูการบัญญัติเรื่องการปฏิรูป กมธ.ยกร่างฯ เคยเขียนไว้ในมาตรา 282 (3) เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่เสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศพิจารณาหรือยก เลิกการปรับปรุงกฎหมาย หรือแล้วแต่กรณีการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระหรือขั้นตอนโดยไม่จำเป็น และร่างนี้ยังไม่ได้พิจารณากัน

“เพราะฉะนั้น การที่ไปลือ ไปกล่าวหา กมธ.ยกร่างฯ และผมว่าอยู่เบื้องหลังคำสั่งนี้จึงเป็นการไปทำการตรงกันข้ามกับความจริง ขอร้องคนที่ไปปล่อยข่าวอยู่ในเฟซบุ๊ก ไลน์ ให้ยุติการกระทำดังกล่าวลงเสีย โดยเฉพาะสุภาพสตรีคนหนึ่งที่เคยกล่าวหาผมมาโดยตลอด และผมไม่เคยตอบโต้เลย ถ้ายังกระทำการนั้นอยู่ก็ไปเจอกันที่ศาลอาญา ผมจะดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท” บวรศักดิ์กล่าว

บวรศักดิ์กล่าวว่า มีอีกคนหนึ่งไปลงข่าวในเฟซบุ๊ก ในไลน์ ว่า กมธ.ยกร่างฯ ลงมติให้อัยการสามารถที่จะดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจได้ซึ่งไม่เป็นความจริง อัยการบัญญัติให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น กมธ.ยกร่างฯ ได้นำความเห็นของอัยการมาพิจารณา และปรับแก้ให้บทบัญญัติว่าด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอัยการเป็นไปตามที่ กฎหมายที่อัยการบัญญัติ เพียงแต่กำหนดว่าประธานกรรมการนั้น ไม่ใช่อัยการสูงสุดอีกต่อไป แต่เป็นบุคคลซึ่งข้าราชการอัยการเลือกจากผู้ซึ่งเป็น เคยเป็น หรือไม่เคยเป็นอัยการสูงสุดก็ได้ และกำหนดบทบัญญัติที่ว่าด้วยการการห้ามอัยการไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคงเดิม ขอร้องผู้ให้ข่าวโดยไม่ถูกต้องว่าอย่าทำเลย ขอร้องให้ประชาชนอ่านข้อความที่ส่งทางโชเชียลมีเดียตามหลักกาลามสูตร ถ้าสงสัยอะไรจริงๆ ถามมาที่ กมธ.ยกร่างฯ จะได้รับคำตอบที่ถูกต้องแท้จริง

ด้านจุฑิมาศ สุกใส นักวิจัยอิสระ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทต่อกรณีดังกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้อาลัยอาวรณ์อะไรกับ คปก. ในฐานะบุคคล แต่ในฐานะช่องทางของการเสนอและพัฒนากฎหมายภาคประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่น่าโกรธแค้นมากๆ

จุฑิมาศ ชี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติให้มีการตั้ง "องค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระ เพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็น ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย" 

ข้อที่คปก. มาอุดช่องว่างกระบวนการนิติบัญญัติคือการเปิดให้กลุ่มผลประโยชน์ภาคประชาชนเข้ามาร่วมร่างกฎหมายอย่างเป็นระบบ มีการตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมาย และมีสำนักงานทำหน้าที่รับความคิดเห็นของประชาชนเข้ามาสู่กระบวนการร่างกฎหมาย ควบคู่ไปกับการทำวิจัยและ ศึกษาแนวปฏิบัติที่ดี ทำให้ร่างกฎหมายภาคประชาชนสามารถดำเนินไปได้โดยไม่พึ่งพิงแค่การล็อบบี้ในสภาหรือการทำงานแบบอนุกรรมการในรัฐสภาก็จะได้แค่ตัวแทนไม่กี่คนเข้าไปทำงานกับนักการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มีเวทีที่เน้นการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ จากที่เคยเห็นคือถ้าไม่ทวงถามก็อาจจะไม่มีการทำประชาพิจารณ์ด้วยซ้ำ ประสบการณ์ของผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และประเด็นนี้เราเห็นว่าเป็นประเด็นที่ถูกละเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังรัฐประหาร

จุฑิมาศ กล่าวต่อว่า ส่วนที่สองที่ชอบมากคือการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ การทำงานวิชาการช่วยฉุดวงจรการออกกฎหมายให้พ้นไปจากความร่วมมือของรัฐราชการ-นักการเมือง ที่อาจจะใช้พลังมโนกันไป เช่น การใช้โทษประหารชีวิตกับคดีทุจริตคอร์รัปชั่น จะมีผลเชิงป้องปรามจริงหรือ อันนี้ก็คิดว่าน่าจะหาบทความอ่านได้ในเว็บ การประเมินค่าว่าดีไม่ดีเราขอละเว้นไว้เพราะไม่ได้อ่านทุกเรื่อง แต่ในเชิงโครงสร้างเราว่ามันสำคัญ และหากได้รับการพัฒนาไปถึงขีดสุดก็จะถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของสังคมที่จะมีหลักยึดทางความรู้ที่เข้มแข็ง

จุฑิมาศ กล่าวต่อว่า ส่วนที่สามคือเรื่องความคิดเห็นทางกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นส่วนแสลงของรัฐบาลทุกสมัย รัฐต้องการเบรคหรือสัญญาณเตือนภัย และคนที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่กำลังจะมีผลต่อประชาชนในวงกว้าง ความคิดเห็นทางกฎหมายมีทั้งส่วนที่มาจากการจัดเวทีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและส่วนงานวิชาการที่เจ้าหน้าที่ไปค้นคว้าวิจัยมา เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนสภานิติบัญญัติให้เห็นประเด็นที่อาจจะหลงลืมไป และเป็นการเปิดประเด็นให้กับสาธารณชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ได้มาคิดต่อหรือเคลื่อนไหวต่อ ความคิดเห็นของ คปก. จะเอียงจะไม่เอียงก็วิจารณ์ได้ด่าได้ ยิ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นการเปิดโอกาสให้มีการถกเถียง หารือ ค้นคว้า เรื่องกฎหมายในวงกว้าง

"กฎหมายมีผลกระทบกับทุกคน ดังนั้นการตัดเบรค การตัดโอกาสมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งกฎหมายแรงงาน กฎหมายสาธารณสุข กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมายการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของประชากรชายขอบ ฯลฯ กฎหมายสำหรับ LGBT ฯลฯ การให้คณะกรรมการรักษาการพ้นจากตำแหน่งและไม่ให้มีการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่จึงเป็นการทำลายช่องทางการมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎหมายของประชาชนอย่างเป็นระบบ อย่าลืมว่าการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้น ก็ต้องมีการยกร่างเสนอไปด้วย ซึ่งกระบวนการนั้นควรเป็นกระบวนการเปิดที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งควรมีโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรมรองรับ การทำลายโครงสร้างนี้ก็คือการเปิดโอกาสให้สภานิติบัญญัติและเนติบริกรร่างกฎหมายอะไรก็ได้โดยประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วม ส่วนถ้าจะคัดค้านด้วยการชุมนุม ก็คงต้องขออนุญาตชุมนุม จะได้หรือไม่ได้ต้องลุ้นกัน" จุฑิมาศ ระบุ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net