ผู้ประกอบการเกาะลันตา ออกแถลงการณ์ คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา ออกแถลงการณ์ คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ขอนายกฯ ยุติโครงการ ชี้ถ่านหินส่งผลต่อต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หวั่นทำลาย ประมง และการท่องเที่ยวพัง ขอ 3 ปี ให้รัฐหนุนพลังงานหมุนเวียน

17 ก.ค. 2558 เมื่อวานนี้กลุ่มผู้ประกอบการธุระกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา ได้ออกแถงการณ์ ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ขอให้ยุติโครงการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน ที่จังหวัดกระบี่ โดยชี้ว่าในกระบวนการผลิตนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพมากมาย อีกทั้งหวั่นผลกระทบต่อเนื่องทั้งในเรื่องการทำประมง และผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทั้งนี้เห็นได้ยกบทเรียนจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งได้มีการทยอยประกาศยกเลิก และปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินดวยเหตุผลทางมลพิษที่เกินควบคุม อย่างไรก็ตามทางกลุ่มได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลว่า ขอเวลา 3 ปี และขอให้รัฐบาลสนับสนุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พร้อมชี้ภาคใต้สามารถพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเป็นหลักได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน โดยแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้

00000

แถลงการณ์ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา

วันที่ 16 กรกฎาคม 2558

เรื่องข้อเสนอให้มีการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่

เรียนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี

ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ขนาด 800 เมกะวัตต์ และใช้เส้นทางเรือขนส่งถ่านหินผ่านน่านน้ำฝั่งอันดามันตั้งแต่สตูล ตรังมาที่กระบี่ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลของอันดามันที่สำคัญตลอดแนว อันดามันใต้เสี่ยงกับการสร้างผลกระทบทั้งด้านการประมง ท่องเที่ยว ผลกระทบกับแหล่งดำน้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน กระทบระบบนิเวศน์โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำกระบี่

มีข้อมูลชี้ชัดถึงผลกระทบจากถ่านหินมากมายเช่นงานศึกษาของคณะกรรมการร่วม ระหว่างรัฐบาล(IPCC) ซึ่งสนับสนุนโดยสหประชาชาติและงานวิจัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกชี้ว่าถ่าน หินเป็นภัยต่อโลกทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่ใช้ถ่านหินมาก่อนได้ทะยอยประกาศยกเลิก และปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเหตุผลทางด้านมลพิษที่เกินการควบคุมแก้ไข และไม่มีเทคโนโลยีใดจัดการกับมลพิษถ่านหินได้ หากนำถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในพื้นที่อันดามันจะเกิดผลกระทบ หลายด้านโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวการประมงและเศรษฐกิจของประเทศ

จากกรณีเรือสินค้าล่มที่เกาะภูเก็ตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ลูกเรือและสินค้าแช่แข็งจำนวนมากลอยมาติดชายหาดเกาะลันตาทั้งที่ระยะทางห่างกันร่วมร้อยกิโล แต่เส้นทางขนส่งถ่านหินห่างจากเกาะลันตาเพียงสิบกว่ากิโลเมตร เมื่อเกิดอุบัติเหตุเรือล่มจะไม่สามารถแก้ปัญหาถ่านหินลอยมาเกยหาดชายหาดลันตา ตอกย้ำว่าการศึกษาผลกระทบเพียงหนึ่งกิโลเมตรด้านซ้ายและขวาของเส้นทางเดิน เรือขนถ่านหินไม่สอดคล้องกับผลกระทบที่จะเกิดจริง ก่อนหน้านั้นเรือน้ำมันเตาก็เคยสร้างปัญหาน้ำมันรั่วในบริเวณท่าเรือมาแล้ว เรือขนยิบซั่มก็เคยเสียเกยตื้นบริเวณหาดคลองโขงของเกาะลันตา หรือปัญหาเรือขนส่งจมบริเวณจังหวัดตรังพร้อมๆกันหลายลำเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่าน มาจนฝูงพะยูนตรังต้องย้ายถิ่นมาหากินฝั่งกระบี่ หรือปัญหาเรือขนถ่านหินล่มแถวบางปู ทั้งหมดยืนยันว่าความเสี่ยงผลกระทบจากการขนส่งถ่านหินทางทะเลมีสูงมาก

สิ่งสำคัญจากงานวิจัยของเกาะลันตาจังหวัดกระบี่พบว่านักท่องเที่ยวร้อยละ 87 จะไม่กลับมาเที่ยวยังจังหวัดกระบี่อีกเลยจากการสำรวจจากนักท่องเที่ยว 37 ประเทศจำนวน 624 คน ซึ่งจะกระทบการท่องเที่ยวทั้งอันดามันที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละกว่า 3 แสนล้านบาท มีธุรกิจต่อเนื่องกว่า 100 ธุรกิจเป็นแหล่งการจ้างงานขนาดใหญ่ของประเทศ

แม้ปัจจุบันกำลังไฟฟ้าพร้อมใช้ในภาคใต้มีสำรองมากกว่า 50% ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เสี่ยงต่อผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวของอันดามันแต่ในอนาคตเพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตามีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีดังนี้

1. เราสามารถมีไฟฟ้าใช้จากเชื้อเพลิงของจังหวัดเราเอง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าถ่านหิน ในช่วงที่พลังงานไฟฟ้าสำรองยังมีสูงมากเช่นปัจจุบันจังหวัดกระบี่ขอเวลา 3 ปี เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน 100 ปอร์เซ็นต์โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนการขยายระบบโครงข่ายสายส่งและให้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนของ จังหวัดกระบี่เข้าสู่สายส่งไฟฟ้าได้เป็นลำดับแรกรวมถึงการเร่งออกใบอนุญาต โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงงานปาล์ม หากไม่สามารถทำได้ รัฐบาลจึงค่อยมาพิจารณาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดต่อไป

2. ภาคใต้สามารถพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเป็นหลักได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เป็นพลังงานที่สร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่นโรงงานน้ำมันปาล์มของจังหวัดกระบี่ที่ผลิตไฟฟ้าทั้งจากน้ำเสียของโรงงาน จากใยปาล์ม,กะลาปาล์มผลิตและขายไฟฟ้าเข้าสู่สายส่ง โดยยังมีศักยภาพการผลิตได้มากกว่านี้แต่ติดปัญหาเรื่องสายส่งไม่รองรับ

การผลิตไฟฟ้าจากน้ำเสียในโรงงานปาล์มเป็นการจัดการปัญหาของกลิ่นเหม็นที่กระทบชุมชนรอบโรงงานหรือการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เป็นการแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่มีปัญหาตลอด เฉพาะจังหวัดกระบี่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้เคยประเมินศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดของจังหวัดกระบี่ว่ามีกว่าพันเมกะวัตต์ ขณะที่จังหวัดกระบี่วันนี้ใช้ไฟฟ้าเพียง 120 เมกะวัตต์

ปัจจุบันโรงงานปาล์มจำนวน 11 โรงได้ผลิตไฟฟ้าแล้วและ 6 โรงกำลังดำเนินการอีก15 โรงยังไม่ได้ผลิต ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าของโรงงานปาล์มหากพัฒนาการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ จะผลิตไฟฟ้าเพิ่มได้อีกจำนวนมากและเป็นการจัดการมลพิษที่เกิดจากโรงงานปาล์มได้ด้วย

การตัดสินใจเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของความมั่นคงด้านไฟฟ้าและบรรลุการรักษา สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนไปพร้อมกันสามารถทำได้ตามข้อ เสนอข้างต้นและเป็นการประกาศต่อชาวโลกว่าเราจะมุ่งสู่เป้าหมาย Andaman Goes Green ซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้มาเยือน รวมทั้งสร้างคุณค่าและมูลค่ามหาศาลต่อประเทศชาติ

จึงเรียนมายังท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดพิจารณา

ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท