หอการค้าอีสานคาดครึ่งหลังปี58 กำลังซื้อลดกว่า60% ส่งออกลบ 2% ซัมซุงโคราชเลิกจ้าง 1,400 คนงาน

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ทวิสันต์ โลณานุรักษ์ เลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2558 ว่า ในระยะนี้เศรษฐกิจทั้ง 4 ด้านของไทย ถือว่าอยู่ในช่วงขาลงอย่างรุนแรง ได้แก่ 1.ด้านกำลังการซื้อ ซึ่งขณะนี้ไม่มีเลย ต่อให้สินค้า หรือของต่างๆ มีราคาถูกอย่างไร เมื่อกำลังซื้อไม่มีก็ขายไม่ได้ ซึ่งจากการประเมินของหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่ากำลังการซื้อลดลงกว่า 60 - 80% ต้นปีถือว่าแย่แล้ว แต่พอมาช่วงปลายปีกลับมีแนวโน้มจะแย่กว่าอีก เพราะมีสัญญาณเตือนหลายอย่าง เช่น ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และภาวะเงินฝืด จึงทำให้รัฐบาลต้องขยายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปก่อน 2.ด้านการลงทุน ซึ่งขณะนี้มีการชะลอการลงทุนกันเป็นจำนวนมาก เช่นที่จังหวัดนครราชสีมา เซ็นทรัล กรุ๊ป และแสนสิริ ก็ได้ชะลอการลงทุนก่อสร้างห้างสรรพสินค้า และโครงการคอนโดมิเนียมไปก่อนจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว 3.ด้านงบประมาณ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในงบขาดดุลอยู่ เพราะรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ถ้าขาดดุลมากๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ ดังนั้นการที่รัฐบาลจะนำโครงการใหญ่มาช่วย เช่น โครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามองอีกแง่มุมหนึ่งเงินที่นำมาลงทุนเราก็ต้องไปกู้มาอีกทีหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งรัฐบาลต้องพิจารณาให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ท่วมหัวเหมือนประเทศกรีซ 4.ด้านการส่งออก ซึ่งขณะนี้การส่งออกกำลังแย่ โดยเฉพาะเมืองที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมากๆ เช่นจังหวัดนครราชสีมา จะมีปัญหามาก เพราะเมื่อการส่งออกติดลบ ก็จะมีการลดไลน์การผลิต และเลิกจ้างงาน ทำให้คนตกงานจำนวนมาก

ทวิสันต์กล่าวว่า ส่วนการส่งออกปัจจุบันติดลบ 2% ตัวเลขอาจจะดูน้อย แต่ในความเป็นจริงตามหลักเศรษฐกิจการส่งออกต้องเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้กลับสวนทางด้วยการติดลบ ทำให้โรงงานต่างๆ ลดไลน์การผลิตลง และเลิกจ้างงานคนจำนวนมาก เช่น บริษัทซัมซุง ภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี มีการปิดไลน์การผลิตเกือบ 100% ทำให้ต้องปลดพนักงานออกนับพันคน ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีงานรองรับ เมื่อไปรวมกับนักศึกษาที่จบออกมาใหม่ ก็จะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล กลายเป็นปัญหาสังคมอีกมากมาย โดยจะเห็นว่าระยะหลังๆ มานี้จะมีอาชญากรรม ลักเล็ก ขโมยน้อยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

(ที่มา : มติชนออนไลน์, 16 ก.ค.58)

จัดหางานโคราช เผยซัมซุงเลิกจ้าง 1,400 คนงาน

17 ก.ค.58 พงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือชี้แจงจากบริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ว่า ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวน 1,400 คนไปเมื่อวันที่15ก.ค. และเริ่มมีพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทยอยยื่นแบบขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแล้วเกือบ 500 คน ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมสถานที่และเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งเพื่อคอยอำนวยความสะดวกให้กับอดีตพนักงานและคาดว่าในสัปดาห์จะเดินทางมาเพิ่มเติมอีกในสัปดาห์หน้า

(ที่มา : โพสต์ทูเดย์, 17 ก.ค.58)

คนงานเผยช่วงปีที่ผ่านมายอดสั่งผลิตลด จนปิดโรงงาน

อาทิตย์ เรไร อายุ 28 ปี อดีตช่างเทคนิค ของบริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า โรงงานแห่งนี้ เป็นโรงงานผลิตมอเตอร์ฮาร์ดดิสก์ คอมพิวเตอร์ เพื่อป้อนส่งโรงงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา ยอดการสั่งผลิต มีจำนวนลดลงเกือบหมด ทำให้ทางผู้บริหารโรงงาน ประกาศปิดกิจการ และมีการลดจำนวนพนักงานลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนทำงานที่โรงงานแห่งนี้มานานกว่า 8 ปี เมื่อถูกเลิกจ้าง ก็ได้รับค่าชดเชยจากโรงงานตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้พนักงานส่วนใหญ่พอใจกับการชดเชยหลังถูกเลิกจ้าง ส่วนหลังจากนี้ ตนคงจะต้องหาสมัครงานกับบริษัทอื่นๆ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวต่อไป

(ที่มา : มติชนออนไลน์, 17 ก.ค.58)

ผู้ว่าแบงก์ชาติ เผยเศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำกว่า3%

17 ก.ค.58 ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา"National Agenda on Competitiveness :The Way Forward" ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นอาจส่งผลกระทบให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2558 เสี่ยงโตต่ำกว่าประมาณการที่ระดับ 3% ทั้งนี้ หากจะเร่งผลักดันให้จีดีพีเติบโตได้เต็มศักยภาพ 4-5% ภาครัฐจะต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนงบประมาณในการลงทุนโดยรวมให้ได้อยู่ที่ระดับ 26% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด จากปัจจุบันการลงทุนภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ 22% ซึ่งหากมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้มากขึ้น

ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบ 6 ปี ที่ 34.18 บาทต่อดอลลาร์ นั้น มองว่าส่งผลดีต่อภาคการส่งออกในระยะสั้น โดยจะช่วยให้ภาคการส่งออกมีรายได้ในรูปเงินบาทเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทไม่น่ากังวลเนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า คู่แข่งยังอยู่ในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาคในส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลขณะนี้เกิดจากภาคเอกชนไม่ลงทุนและราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจึงส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงและเกิดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

"การถือครองพันธบัตรของต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทยยังมีสัดส่วนน้อย อย่างไรก็ตามในอนาคตความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนยังมีอยู่ เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยในต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนจึงควรระมัดระวังกับความอ่อนไหวของค่าเงิน" ประสาร กล่าว

ในส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงของไทย คาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปีหน้าภายหลังโครงการรถยนต์คันแรกเริ่มจะหมดไป ขณะที่เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงนั้น ไม่ได้กระทบกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จนทำให้การขยายตัวของสินเชื่อติดลบ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัวได้ 5-6% ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 3% โดยสาเหตุที่สินเชื่อยังไม่ขยายตัวเพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีการออกหุ้นกู้จากอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ

(ที่มา : มติชนออนไลน์, 17 ก.ค.58)

เผย 9 เดือนแรกรัฐเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณ 3.9%

17 ก.ค.58 กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57 – มิ.ย.58) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,631,274 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 65,582 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.3

ทั้งนี้ เป็นผลจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย จำนวน 60,501 42,269 32,669 และ 17,781 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.7 7.3 29.1 และ 22.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีน้ำมัน การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมายจำนวน 43,057 25,387 และ 15,800 ล้านบาท หรือร้อยละ 87.8 23.4 และ 16.6 ตามลำดับ

“การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2558 กลับมาขยายตัวอีกครั้งเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในประเทศขยายตัวกว่าร้อยละ 7 สะท้อนให้เห็นว่าในประเทศยังมีการบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา และจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเป็นอย่างมาก” กฤษฎา กล่าว

(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 17 ก.ค.58)

ก.ไอซีทีเล็งตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดิจิตอลจูงใจนักลงทุน

17 ก.ค.58 พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัล การส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ดิจิตอล และการส่งเสริมเนื้อหาดิจิทัล เปิดเผยว่า การส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิตอลและการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิตอลที่ส่งผลต่อทุกภาคเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าและแข่งขันในโลกสมัยใหม่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดมาตรการและสิทธิประโยชน์เฉพาะด้านที่จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นนำจากต่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่สำคัญ คือ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มการค้า บริการ และการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์ในอาเซียนและระหว่างภูมิภาคเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น ประเทศไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากโอกาสดังกล่าว

พรชัย กล่าวว่า กระทรวงไอซีที โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้าเสนอกรอบแนวคิดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดิจิตอล โดยมีวัตถุประสงค์สร้างระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมการบริการดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม เป็นศูนย์กลางการบริการดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนและเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสู่สากล ดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในประเทศ และเป็นการสร้างโอกาสการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการและให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลำดับต่อไป

ทั้งนี้ ลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษดิจิตอล ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์พิเศษด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การลงทุน ภาษี และแรงงาน มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีเสถียรภาพรองรับการพัฒนาและให้บริการดิจิตอล มีทรัพยากรที่ทันสมัย เอื้อต่อการทำงานและรองรับนักพัฒนานวัตกรรมจากทั่วโลก มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันระหว่างนักลงทุน ผู้ประกอบการ นักพัฒนา และชุมชน มีระบบสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการดำเนินธุรกิจครบวงจรสำหรับนักลงทุนและพัฒนาทั่วโลก และมีศูนย์ทดสอบรับรองการผลิตและบริการที่ได้มาตรฐานในระดับสากล เป็นต้น

(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 17 ก.ค.58)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท