6 ปี ชุมชนเกษตรอินทรีย์บ่อแก้ว กับการทวงคืนผืนป่า แย่งความสุขจากประชาชน

เส้นทางการต่อสู้และการทวงคืนผืนดิน ภายหลังถูกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) แย่งชิงที่ทำกินไปปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส เมื่อปี 2521 ส่งผลให้คนในชุมชนบ่อแก้วหลายครอบครัวถูกอพยพจากที่ดินทำกินเดิม บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้าง ต่อมาผู้เดือดร้อนรวมใจกันยึดผืนดินกลับคืนในวันที่ 17 ก.ค.2552 พร้อมร่วมกันจัดตั้งชุมชนบ่อแก้วขึ้นมาอย่างเป็นแบบแผน

ล่วงมากว่า 6 ปี ที่คนในชุมชนบ่อแก้วร่วมกันพลิกฟื้นชีวิตและผืนดิน โดยไม่ได้ยึดติดกับการถือครองที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการการปฏิรูปที่ดินด้วยวิถีการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นเส้นทางสู่ความมั่งคงสร้างความยั่งยืนให้กับผืนดินและชีวิต เหล่านี้คือ เรื่องราวการดำเนินชีวิตของนักสู้เลือดเกษตรอินทรีย์ ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

ทุกวันที่ 17 ก.ค.ของปี ถือเป็นวันกำเนิดชุมชนบ่อแก้ว เป็นวันที่ตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ ของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) อาทิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ จะร่วมกันจัดงานบุญประจำปี ในวาระครบรอบ 6 ปีในปีนี้ ชุมชนและสมาชิกได้ร่วมกันออกแบบการจัดงานบุญพร้อมถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้

ปุ่น พงษ์สุวรรณ ชาวชุมชนบ่อแก้ว วัย 76 ปี เล่าว่า ‘สวนป่ายูคาลิปตัส’ นอกจากจะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่แล้ว ยังส่งผลทำให้ผืนดินที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับเสื่อมโทรม ภายหลังจากยึดที่กินทำกินเดิมกลับคืนมา ชุมชนบ่อแก้วได้ร่วมกันพลิกฟื้นผืนดินให้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ด้วยการคิดค้นแนวทางจัดการที่ดินไปสู่วิถีชีวิตเกษตรกรรมอินทรีย์ ถือเป็นรูปแบบการต่อสู้ด้วยวิธีการเข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ดินทำกินเดิม โดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นการแสดงให้สังคมเข้าใจว่าพืชเศรษฐกิจ เช่น ยูคาลิปตัส ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้นำเข้ามาปลูกโดยการยึดที่ดินทำกินของาวบ้านไปนั้น ไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชุมชน

ปุ่น เล่าอีกว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา ชุมชนได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม ทั้งในเรื่องการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ขณะเดียวกัน ได้เรียนรู้ว่า มีแต่การยืนหยัดต่อสู้อย่างอดทนเท่านั้น ที่จะฝ่าข้ามความอยุติธรรมไปสู่สังคมที่เป็นธรรมได้ เพราะนโยบายต่างๆ ที่รัฐโยนมาให้นั้น ล้วนแต่สร้างความสูญเสียและเกิดผลกระทบถึงขั้นความรุนแรงต่อชุมชน จนชุมชนล่มสลาย ฉะนั้น มีแต่ชุมชนเท่านั้นที่สามารถร่วมกันกำหนดอนาคตของตนเอง และร่วมกันบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไปสู่ความสมบูรณ์บนผืนดิน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ เป็นการสร้างความมั่งคงอาหาร ให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

“การกระทำของ ออป.ส่งผลกระทบให้พวกเราต่างตกอยู่ในสภาพกลายเป็นคนพลัดถิ่น ไร้ที่อยู่อาศัย จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจะพร้อมใจกันเข้ามายึดผืนดินทำกินเดิมกลับคืนมา พร้อมลงหลักปักฐานเข้าไปพลิกฟื้นบริเวณพื้นที่พิพาทให้สมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง และทุกวันที่ 17 ก.ค.จะถือเป็นจุดกำเนิดของชุมชน และทุกปีพวกเราจะร่วมจัดงานทำบุญที่สามารถร่วมกันทวงคืนผืนดินที่ทำกินเดิมกลับมาได้ และเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนที่สามารถทำให้การดำเนินชีวิตของชุมชนมีความเป็นอยู่ได้อย่างปกติสุขและยั่งยืน ตลอดจนสืบทอดไปถึงลูกหลานได้อีกต่อไป” ชาวชุมชนบ่อแก้ว วัย 76 ปี กล่าว

6 ปี สู่ความเข้มแข็ง ด้วยการบริหารที่ดินของชุมชนเพื่อชุมชน โดยชุมชนกำหนดอนาคตของตนเอง

ล่วงมาถึงวันครบรอบ 6 ปี (17 ก.ค.2558 ) ของการหวนคืนสู่ผืนดินทำกินเดิม ด้วยความพยายามของผู้ไม่ยอมจำนนต่อความไม่เป็นธรรม แม้จะถือเป็นวันแห่งความสำเร็จ ที่พวกเขาพร้อมใจกันเข้ามายึดพื้นที่ในบริเวณสวนป่าคอนสาร พร้อมลงหลักปักฐานในพื้นที่ทำกินเดิมของตนเองได้ ทว่า ความสำเร็จนั้นยังไม่สามารถหยุดอยู่ตรงที่ยึดที่ทำกินกลับคืนมาได้ เพราะระยะเวลากว่า 6 ปี พวกเขาได้กลับเข้าไปพลิกฟื้นบริเวณพื้นที่พิพาทให้สมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการก้าวไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์ ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการกำหนดชีวิตของพวกเขาเอง

ปัจจุบัน ชุมชนบ่อแก้วได้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับทำการผลิต ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อเลี้ยงชีพในระดับครอบครัว นอกจากพืชผักที่กินได้แล้ว ยังจัดตั้งโรงปุ๋ยหมัก ศูนย์เมล็ดพันธุกรรม รวมทั้งนำเศษจากซากพืช ผัก และจอกแหน ร่วมกันมาแปรเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชีวิตและสังคม เหล่านี้คือความงดงามบนวิถีการดำเนินชีวิตที่ยั่งยืน

แม้การเข้ายึดผืนดินและลงหลักปักฐานเป็นที่อยู่อาศัยและทำการผลิต แต่ก็ต้องเผชิญกับการถูกข่มขู่ คุกคามมาโดยตลอด แม้ชุมชนจะร่วมกันติดตามปัญหาของพวกเขามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้เข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหากับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ในการผลักดันเชิงนโยบายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ กระทั่งมีมติของหน่วยงานต่างๆ เป็นที่ตกลงร่วมกันว่า สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนจริง และให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร พร้อมทั้งนำพื้นที่มาจัดสรรให้กับชาวบ้าน โดยทุกขั้นตอนจะมี ออป.เข้าร่วมตรวจสอบด้วยทุกครั้ง แต่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางภาคปฏิบัติ

อาศัยอำนาจ ยุค คสช. คำสั่ง 64/57 ไล่รื้อชุมชนบ่อแก้ว

นิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้ว บอกว่า ชาวบ้านมักถูกเบียดขับให้กลายเป็นผู้บุกรุกมาโดยตลอด ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินเดิม เมื่อบุกเข้ามายึดที่ทำกินกลับคืนมาได้จัดตั้ง “ชุมชนบ่อแก้ว” ขึ้นมาอย่างมีระบบแบบแผน เพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ พร้อมกับประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว กระทั่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนในเวลาต่อมา

นิด บอกอีกว่า จากสวนป่ายูคาฯ บทเรียนจากนโยบายรัฐที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต มาถึงผลผลิตที่ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการที่ดิน ทั้งพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับพัฒนาชีวิต ช่วง 4 ปีแรก ชุมชนยังไม่มีทั้งน้ำใช้ในการบริโภคและไม่มีไฟฟ้า ด้วยความต้องการให้ผลผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์เติบโต ชาวบ้านจึงได้รวบรวมเงินกันจ้างช่างมาขุดเจาะน้ำบาดาล ระหว่างการขุดเจาะนั้น เจ้าหน้าที่ ออป.เข้ามาขับไล่ ทำให้ช่างต้องยุติ ต่อมาเมื่อ 26 ม.ค.2556 ชุมชนได้ทำการยื่นขอไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยคอนสารได้อนุมัติและดำเนินการติดตั้งวันที่ 28 ม.ค.2556 กลับถูกเจ้าหน้าที่ ออป.เข้ามาข่มขู่ ให้รื้อถอนและให้ออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ทำให้ต้องเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่อยมา กระทั่ง ช่วงวันที่ 11 –14 ก.พ.2556 ต้องไปปักหลักชุมนุม กิน นอน อยู่ที่ว่าการอำเภอคอนสาร จึงจะได้น้ำและไฟฟ้ามา เหล่านี้คือตัวอย่างที่ชุมชนต้องร่วมพลังกันต่อสู้ต่อกับความไม่เป็นธรรม โดยยังไม่รวมถึงการถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ และการถูกดำเนินคดีโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม

ประธานโฉนดชุมชน บอกต่อไปว่า แม้ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง แต่พวกเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติสุขอีกครั้ง แต่ทว่าช่วงหลังการรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นยุคแห่งความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพชีวิตและจิตใจอย่างที่สุด โดยเฉพาะมีการใช้คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ไล่รื้อชุมชนอกจากพื้นที่เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2557 แน่นอนว่าพี่น้องชาวบ้านย่อมหวาดผวา และรู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ต้องหวั่นเกรงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาไล่รื้อ การทำมาหากินขาดช่วง ชาวชุมชนต้องเดินทางไปยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กระทั่งมีมติให้ชะลอการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายต่อไป

“เห็นได้จากจำนวนพื้นที่ที่ถูก ออป.ยึดไปปลูกสร้างสวนป่ายูคาฯ กว่า 4,000 ไร่ ชุมชุนบ่อแก้วยื่นข้อเสนอนำร่องเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนเพียง 1,500 ไร่ แม้จะมีมติให้ยกเลิกสวนป่าฯ และส่งมอบที่ดินคืนให้กับผู้เดือดร้อน แต่ในภาคปฏิบัติกลับไม่ดำเนินการอย่างใด นอกจากพื้นที่ 86 กว่าไร่ ที่พวกเรายึดคืนมาได้ ขณะเดียวกัน ภาครัฐมักฉวยโอกาส หาจังหวะขับไล่พวกเราออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายในยุค คสช. แต่ถึงวันนี้ก็ยังคงสู้ต่อ เพราะหากถูกไล่ออกไปอีก พวกเราจะไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกินกันฉะนั้น ทางเลือกของพวกเรา คือ ยืนหยัด ต่อสู้ เพื่อให้ข้ามผ่านไปบนทางที่เป็นธรรมและเพื่อผืนดินที่ร่วมกันปกป้อง รักษา จะได้มีการสืบทอดงานบุญประเพณีประจำทุกๆ ปีของชุมชนบ่อแก้ว จาก 6 ปี สืบทอดถึง 10 ปี ยันตลอดไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน“ ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้วกล่าว

กล่าวได้ว่า แม้ชุมชนจะมีหลักฐานและข้อเท็จจริงในการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่า  รวมทั้งแนวทางดำเนินการแก้ไขมาก่อนหน้านั้น ทว่ารัฐยังไม่ปฏิบัติด้วยความเคารพในสิทธิของชุมชนเท่าที่ควร และไม่ยอมเปิดโอกาสให้มีความมั่นคงในที่ดินทำกิน นอกจากนี้ชุมชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ กลับถูกทำให้กลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นการคุกคามต่อสิทธิในการดำเนินวีถีชีวิตให้เกิดความเป็นอยู่ได้อย่างปกติสุข

จากผู้สูญเสียที่ดินทำกิน ตราบาปแห่งสวนป่ายูคาฯ ที่ผู้เดือดร้อนจากหลายครอบครัวต้องทนทุกข์กลายเป็นคนชายขอบของแผ่นดิน มาถึงการทวงผืนดินคืนกลับมา พร้อมร่วมใจกันพลิกฟื้นทั้งชีวิตและผืนดิน สร้างชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์ขึ้น ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชีวิตและสังคม ตามเจตนารมณ์ที่พวกเขาจะรักษาผืนดินไว้ให้มีความมั่งคงและยั่งยืนสืบไปสู่ลูกหลาน อันเป็นคำมั่นของเลือดนักสู้เกษตรอินทรีย์

บทพิสูจน์หัวใจ คสช.หยุดการแย่งความสุขไปจากประชาชน

ผ่านมาถึงช่วง คสช.ในยุคทวงคืนผืนป่า มีคำถามว่า รัฐตระหนักหรือไม่ว่า ชุมชนบ่อแก้วมีการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ด้วยวิถีชีวิต ความรู้ และภูมิปัญญาที่ผูกพันอยู่กับป่ามาแต่กำเนิด พวกเขาสามารถดำรงชีวิตและหาเลี้ยงชีพจากทรัพยากรในป่าได้อย่างยั่งยืน สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

คำถามต่อ คสช.ต่อมา คือ ควรหรือไม่ที่รัฐจะต้องเพิ่มความเข้าใจให้มากขึ้นถึงความเป็นมาของชุมชนบ่อแก้วว่าเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้น ชาวบ้านจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกมาตั้งแต่ต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน ตลอดจนครอบครัว และญาติพี่น้อง ทั้งในเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิชุมชน ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เพียงฝ่ายเดียวตลอดมา

ฉะนั้น ถือเป็นบทพิสูจน์หัวใจของรัฐบาล คสช. ด้วยการหยุดแย่งความสุขไปจากประชาชน เพราะคำสั่ง คสช. เช่น คำสั่งที่ 64/2557 ต่อด้วยแผนแม่บทป่าไม้ฯ และนโยบายทวงคืนผืนป่า ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านไปทั่วภูมิภาค ซึ่งต่างต้องตกอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคงมาโดยตลอด ต้องอยู่ในภาวะไม่แน่ใจและกลัวว่าจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เมื่อใดก็ได้

หากรัฐมองตามเงื่อนไขที่ระบุว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมมาก่อน เหล่านั้น จะถือว่าเป็นความโชคดีของชาวบ้าน ผืนดินอันน้อยนิดที่ทำเพียงการเกษตรจะได้มีความมั่นคง และแน่นอนว่า นั่นคือความปกติสุขในการดำเนินของประชาชนที่พวกเขาได้คืนกลับมาดังเดิม ถือเป็นความสุขตามเจตนารมณ์ของเลือดนักสู้เกษตรอินทรีย์ ที่พวกเขาจะสามารถรักษาผืนดินไว้ให้ได้โดยยั่งยืนสืบไปสู่ลูกหลาน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท