สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 16-22 ก.ค. 2558

ภาคอุตสาหกรรมขาดแรงงาน สศอ.คาดอีก 5 ปีต้องการ 3 แสนคน
 
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ว่าในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมประเทศไทยมีจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 6,184,926 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพ 1,102,464 คน และแรงงานฝ่ายผลิต 5,082,462 คน โดยแรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด 957,998 คน รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยางและพลาสติก 571,607 คน และอุตสาหกรรมยานยนต์ 519,220 คน โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝ่ายผลิต ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมไทยก็ขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าจะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามากว่าล้านคนแล้ว ก็ยังขาดแรงงานอยู่ 34,717 คน อุตสาหกรรมที่ขาดแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตภัณฑ์โลหะต่างๆ ขาดแรงงาน 6,482 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 6,421 คน และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 4,538 คน โดยแรงงานที่ยังขาดแคลนส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทมีฝีมือ
 
ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ พบว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 3 แสนคน เมื่อพิจารณาด้านอายุของแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทยจะพบว่า แรงงานสูงอายุส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ สะท้อนว่าในอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานประเภทดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ
 
นายอุดม กล่าวว่า แม้ว่าในภาพรวมประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานของคนไทยก็เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากคนไทยนิยมเรียนในระดับปริญญาตรี มากกว่าระดับอาชีวศึกษา ที่เป็นกลุ่มที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการสูงสุด ทำให้ผู้ที่จบปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาก ส่วนแรงงานในระดับ ปวช.-ปวส. มีอัตราการว่างงานน้อยที่สุด นอกจากนี้ ภาคบริการก็มีส่วนสำคัญในการดึงดูดแรงงานออกจากภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมี่ค่าจ้างสูงกว่า โดยในปี 2556 ภาคบริการมีค่าจ้างเฉลี่ย 17,623 บาท/เดือน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีค่าจ้างเฉลี่ย 10,968 บาท/เดือน
 
สำหรับปัญหาแรงงานภาคอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่จะถูกภาคบริการดึงดูดแรงงานเท่านั้น แต่ยังเกิดปัญหาการโยกย้ายแรงงานไปโรงงานอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันมากที่สุด รองลงมา คือปัญหาค่าจ้างแรงงานสูงส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิต แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานภาคอุตสาหกรรมโยกย้ายไปสู่ภาคบริการ อีกทั้งปัญหาอื่นๆ เช่น แรงงานลาออก เพื่อไปเรียนต่อ หรือทำกิจการส่วนตัว แรงงานไม่มีความอดทน แรงงานไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน แรงงานไม่มีความพร้อมในการทำงานไม่คุ้มค่ากับค่าจ้างที่ได้รับ และปัญหาการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
 
(แนวหน้า, 17/7/2558)
 
จัดหางานโคราชยันซัมซุงยังไม่ปิดกิจการ แต่ปรับลดคนงาน 2 รอบ 1.5 พันคน เหตุยอดซื้อหด
 
นายพงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เกี่ยวกับข้อเท็จจริงกรณีการลดคนงานของ บริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด โรงงานผลิตมอเตอร์ฮาร์ดดิสก์ คอมพิวเตอร์ เพื่อป้อนส่งโรงงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา มีพนักงานอยู่ประมาณ 2,500 คน นั้น ขณะนี้ได้รับแจ้งจากทางบริษัทเกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าของบริษัทที่มียอดลดลง เนื่องจากลูกค้าเปลี่ยนแปลงรูปแบบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิคส์ เมื่อการสั่งซื้อสินค้าลดลงบริษัทจึงมีความจำเป็นในการลดจำนวนคนงานลงด้วย โดยรอบแรกในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางบริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานสมัครใจลาออก ซึ่งมีจำนวนกว่า 500 คน และได้รับเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ โดยทั้งหมดได้มีการมายื่นแบบฟอร์มเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานไปจนเสร็จสิ้นแล้ว และรอบนี้ เป็นรอบที่ 2 ที่ทาง บริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานสมัครใจลาออกอีกครั้ง เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 58 ผ่านมา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-17 ก.ค. 58 มีคนงานของซัมซุงเข้ามายื่นเอกสารเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานไปแล้วกว่า 1,000 คน
 
"เราได้รับการประสานงานจากบริษัทซัมซุง ว่าโรงงานที่โคราชยังไม่มีการปิดกิจการ เป็นการลดพนักงาน เนื่องจากยอดการสั่งการผลิตลดลง บริษัทกำลังหาออร์เดอร์เพิ่ม หากมีออเดอร์เข้ามาเพิ่มก็จะประกาศรับพนักงานเข้ามาเพิ่ม ขณะนี้บริษัทยังคงดำเนินงานและยังมีคนงานทั้งส่วนฝ่ายการผลิต และฝ่ายสำนักงานอยู่ประมาณ 1,000 คน"
 
ในส่วนของจัดหางานจังหวัดนครราชสีมาได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้พนักงานบริษัทได้รับทราบเกี่ยวกับการมาขึ้นทะเบียนการว่างงาน และประสานให้บริษัทในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาที่ยังขาดแรงงานอยู่มารับสมัครแทน เพื่อไม่ให้เกิดการว่างงาน รวมทั้งการแนะแนวอาชีพอิสระ และการฝึกอาชีพให้กับทุกคนตามความสมัครใจ
 
ด้านนายวิทยา โยธารินทร์ รองประธานชมรมบริหารแรงงานและพัฒนาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย "ประชาชาติธูรกิจ" ว่า จากกรณีการลดพนักงานของซัมซุงในครั้งนี้ ตนคิดว่าเกิดจากปัญหาค่าแรงขั้นต่ำเนื่องจากขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศเวียดนามค่าแรงถูกกว่าเมืองไทย และมีแรงงานมากกว่าไทยด้วย การลดพนักงานของซัมซุงครั้งนี้ ทำให้เกิดทั้งผลดี และผลเสีย ผลดีคือ ตลาดแรงงานมีคนให้เลือกเพิ่มขึ้น ยังมีโรงงานหลายแห่งที่ยังเปิดรับสมัครพนักงาน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งประเทศยังขาดแรงงานทั้งระบบอีกกว่า 3-4 แสนคน ทำให้แรงงานออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมโรงงานรายอื่นๆ ได้ ส่วนผลเสีย คือทำให้เศรษฐกิจโคราชแย่ลง แรงงานบางส่วนก็อาจจะมีการย้ายถิ่นไปจากนครราชสีมาด้วย
 
ด้านผู้บริหารของบริษัทซัมซุงประจำโรงงานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ตนไม่สามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นได้ ต้องสอบถามไปยังส่วนกลางซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ตนและผู้บริหารคนอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ ได้ทั้งสิ้น  ส่วนประเด็นการยื่นเอกสารของแรงงานที่เกี่ยวกับการประกันการว่างงานนั้น ต้องสอบถามไปยังจัดหางานจังหวัดโดยตรงเอง
 
(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 17/7/2558)
 
ทีดีอาร์ไอเสนอตั้ง “สภาประกันสุขภาพแห่งชาติ” คุม 3 กองทุน กันงบ 0.5% บริหารจัดการ
 
ทีดีอาร์ไอ เสนอตั้ง “สภาประกันสุขภาพแห่งชาติ” คุมการบริหาร 3 กองทุน “ข้าราชการ-ประกันสังคม-บัตรทอง” ให้อำนาจกำหนดสิทธิประโยชน์ ระงับ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล กันเงินร้อยละ 0.5 จากงบประกันสุขภาพทั้งหมดมาบริหารจัดการ
       
(17 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีการเผยแพร่เอกสารสรุปร่าง พ.ร.บ.ใหม่ตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เสนอโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยสาระสำคัญในเอกสารระบุว่า มีการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องชื่อเรียก แต่เพื่อรองรับการตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่รวมการบริหารระบบสุขภาพ 3 กองทุนภาครัฐเข้าด้วยกัน คือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการฝ่ายละ 6 คน ส่วนกรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ รพ.เอกชน รพ.มหาวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ จะมีการกันเงินร้อยละ 0.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้านประกันสุขภาพทั้งหมดของปีงบประมาณนั้นมาใช้ในการบริหารจัดการ
       
นอกจากนี้ มีอำนาจในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐาน (กลาง) สำหรับระบบประกันสุขภาพ โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมเจรจา กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน (กลาง) ของระบบประกันสุขภาพแก่ผู้ให้บริการ รวมถึงเกณฑ์การจัดสรรการรักษาส่วนบุคคล (personnel cost) โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมเจรจา นอกจากนี้ ยังมีอำนาจในการกำหนดบทลงโทษในกรณีที่กองทุน หรือผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่กรรมการมีมติ โดยสามารถระงับ หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการสถานพยาบาล รพ.เอกชน หรือมหาวิทยาลัยเอกชนได้ หรือเข้าไปดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนได้ ส่วน รพ.รัฐ หรือมหาวิทยาลัยของรัฐให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และตามระเบียบข้าราชการพลเรือน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17/7/2558)
 
พนักงานซัมซุง โคราช ทยอยขนของออกจากห้องเช่าภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี
 
วันที่ 18 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานภายหลังจากที่มีพนักงาน บริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ นครราชสีมา จำกัด ตั้งอยู่ภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี เลขที่ 555 ม.6 ต.หนองระเวียง อ.เมือง จ.นครราชสีมา กว่า 500 คน เดินทางมาเพื่อยื่นแบบฟอร์มรายงานตัวเพื่อขอรับประโยชนทดแทนกรณีว่างงาน ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากทางบริษัทฯได้มีการประกาศเลิกจ้างพนักงาน จำนวนกว่า 1,300 คน โดยให้มีผลเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ตามที่มีการเสนอข่าวไปแล้วนั้น
 
ล่าสุดวันนี้(18ก.คง58) นายปิยะชาติ  ไชยศาสตร์  อดีตช่างเทคนิค บริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ นครราชสีมา จำกัด หนึ่งในพนักงานที่ถูกประกาศเลิกจ้าง และแฟนสาวต่างช่วยกันเก็บชุดทำงานของบริษัทซัมซุง ที่เคยใช้ส่วนในการทำงานตามปกติของทุกวัน รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ โต๊ะเครื่องแป้ง และชั้นวางทีวี เพื่อย้ายออกจากหอพักรายเดือนที่บริเวณด้านหน้าบริษัทซัมซุง ไปหาห้องเช่าใหม่ในเขตตัวเมืองนครราชสีมา หลังจากที่ถูกประกาศเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา  อีกทั้งก็เพื่อใกล้กับที่ทำงานที่ตนเองจะหาสมัครงานใหม่ในเขตตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังที่ทำงานและที่พัก
 
ด้านนางสาวหยาดนภา  อรุณใหม่ อายุ 22 ปี อดีตพนักงานบริษัทซัมซุงฯ ตำแหน่ง indirect เปิดเผยว่า ตนเองได้ทำงานอยู่ที่บริษัทซัมซุงนามานกว่า 3 ปี  โดยตนเองได้เงินค่าชดเชยที่ถูกให้ออกจากงานเงินเป็นจำนวนเงินกว่า 120,000 บาท ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่ยอมรับได้และเงินจำนวนนี้ตนเองก็จะต้องนำไปใช้หนี้ที่ค่าบัตรเครดิต ปิดค่างวดรถจักรยานยนต์ และส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้ใช้จ่ายในช่วงที่ยังหางานใหม่ทำ  อีกทั้งตนเองก็จะต้องย้ายออกจากห้องเช่าที่อยู่ใกล้กับบริษัทซัมซุงฯ เพื่อมาหาเช้าห้องพักในตัวเมืองนครราชสีมา แทน เพื่อที่จะสะดวกสบายในการเดินทางไปทำงานในที่ใหม่ให้ใกล้กับที่พัก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย นางสาวหยาดนภาฯกล่าว
 
ด้านนายวิทยา โยธารินทร์ รองประธานชมรมบริหารแรงงานและพัฒนาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากกรณีการลดพนักงานของซัมซุงในครั้งนี้ ตนคิดว่าเกิดจากปัญหาค่าแรงขั้นต่ำเนื่องจากขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศเวียดนามค่าแรงถูกกว่าเมืองไทย และมีแรงงานมากกว่าไทยด้วย การลดพนักงานของซัมซุงครั้งนี้ ทำให้เกิดทั้งผลดี และผลเสีย ผลดีคือ ตลาดแรงงานมีคนให้เลือกเพิ่มขึ้น ยังมีโรงงานหลายแห่งที่ยังเปิดรับสมัครพนักงาน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งประเทศที่เปิดรับมากกว่า 3-4 แสนคน ทำให้แรงงานออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมโรงงานรายอื่นๆ ได้ ส่วนผลเสีย คือทำให้เศรษฐกิจโคราชแย่ลง แรงงานบางส่วนก็อาจจะมีการย้ายถิ่นไปจากนครราชสีมาด้วย                                             
ขณะที่ด้านผู้บริหารของบริษัทซัมซุงฯ โรงงานประจำจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ตนไม่สามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นได้ ต้องสอบถามไปยังส่วนกลางซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ตนและผู้บริหารคนอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ ได้ทั้งสิ้น
 
นายธรรมราช อาษาสุวรรณ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนฝ่ายนโยบายและแผนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย ความเคลื่อนไหวการลงทุนด้านอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมาว่า ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีโรงงานอุตสาหกรรมรวมกว่า 2,640  โรงงานซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าในเดือนมิถุนายน 2558 มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเลิกกิจการไปแล้วประมาณ 20 โรงงาน  โดยสาเหตุของการปิดกิจการเกิดจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชลอตัวไม่มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา อีกทั้งปัญหาค่าเเรงของประเทศไทยที่เเพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและแรงงานก็หายากมากขึ้นทำให้นักลงทุนบางรายย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีการลงทุนถูกกว่าไทย
 
(ข่าวสด, 18/7/2558)
 
เพิ่มสิทธิลงทุนตั้งโรงงาน 3 จังหวัดชายแดนใต้
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ว่านอกเหนือจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อจูงใจผู้ประกอบการแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังได้มอบหมายนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดหาพื้นที่เพื่อการจัดตั้งโรงงานหรือการประกอบกิจการที่เหมาะสมให้กับนักลงทุน เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในการประกอบการ จูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่มากขึ้น 
 
“นายกฯ มองว่า นอกจากการมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์มากเป็นพิเศษแล้ว ยังมีปัจจัยด้านความมั่นคงที่ผู้ประกอบการจะคำนึงร่วมด้วย จึงสั่งการให้หน่วยในพื้นที่พิจารณาจัดหาพื้นที่ราชพัสดุ หรือพื้นที่ใกล้เขตหรือหน่วยทหาร เพื่อสร้างความอุ่นใจให้แก่ผู้ประกอบการอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือจากการวางกำลังรักษาความปลอดภัยในพื้นที่อย่างเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง โดยท่านนายกฯ คาดหวังว่า การขยายการลงทุนในพื้นที่จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนในท้องถิ่น และเพิ่มขนาดเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ ซึ่งประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่แก่ท้องถิ่นโดยมีรัฐคอยสนับสนุน”
 
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่นายกฯ เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย จากเดิมกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ให้เปลี่ยนเป็นมีเงินขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 500,000 บาท และอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาทมาใช้ในโครงการได้ รวมถึงอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในทุกพื้นที่ และได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด คือยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี
 
(บ้านเมือง, 18/7/2558)
 
แบงก์รัดเข็มขัด คุมเข้มรับพนักงานใหม่-ชะลอขยายสาขา
 
นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง รองกรรมการผู้จัดการ สายงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปี 2558 ธนาคารชะลอการรับบุคลากรใหม่จากปี 2557 มีการรับพนักงานใหม่ประมาณ 5,000 กว่าคน แต่ปีนี้น่าจะรับเพิ่ม 3,000 กว่าคนเท่านั้นจากหลายปัจจัยทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวช้า ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมถึงชะลอการขยายสาขาใหม่เพิ่ม สอดคล้องกับการขยายช่องทางดิจิทัลมากขึ้นด้วย
 
ทั้งนี้ นโยบายในการรับบุคลากรจะพิจารณารับเฉพาะในสายงานที่มีความจำเป็นทั้งในตำแหน่งใหม่หรือตำแหน่งทดแทนบุคลากรเดิม โดยเฉพาะในตำแหน่งที่เกี่ยวเนื่องกับการแนะนำสินค้า และบริการยังรับจำนวนมากเช่นเดิม ขณะที่ตำแหน่งที่เกี่ยวเนื่องกับระบบปฏิบัติการหลังบ้าน หรืองานซ่อมบำรุงในบางจุด อาจไม่ได้รับเพิ่มขึ้น หากลาออกอาจพิจารณาไม่รับเพิ่มได้ และเน้นการพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
 
"โจทย์ของแบงก์ปีนี้ไม่ได้เร่งรับคนเพิ่มมาก แต่จะเร่งพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเพิ่มการอบรมความรู้มากขึ้น แต่ไม่มีนโยบายฟิกซ์เรื่องคน การรับคนใหม่ต้องเป็นไปตามสถานการณ์ เช่น เดิมเร่งขยายสาขาตอนนี้เปิดน้อยลง และการเติมคนที่ผ่านมาก็เติมตามการขยายสาขา แต่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี การเปิดสาขาต้องชะลอทั้งหันไปเน้นช่องทางดิจิทัลมากขึ้น" 
 
อย่างไรก็ตามปีนี้ การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อีกด้านการแย่งบุคลากรที่มีความสามารถก็ยังรุนแรงโดยเฉพาะบุคลากรระดับกลางถึงผู้บริหารระดับบน ปัจจุบันธนาคารมีบุคลากรทั้งสิ้น 22,000 คน มีค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ประมาณ 40% ของค่าใช้จ่ายซึ่งไม่สามารถปรับลดสัดส่วนลงได้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและเงินเดือนก็ปรับขึ้นทุกปี
 
ด้านนางกนกไพ วงศ์สถิตย์พร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า นโยบายการรับพนักงานใหม่ปีนี้ยังรับเพิ่มเดือนละ 30-40 คน แต่มีความระมัดระวังและปรับเปลี่ยนนโยบายให้เข้าสถานการณ์มากขึ้น โดยดูต้นทุนมากขึ้น เพราะการจ้างงานเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ขององค์กร อีกด้านก็ต้องปรับกระบวนการทำงาน เพราะปัจจุบันมีธนาคารในมือถือ มีเทคโนโลยีที่ทำให้ใช้คนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันซีไอเอ็มบี ไทย มีพนักงานประมาณ 4,370 คน อายุ 20-40 ปี 61% ที่เหลืออายุ 41-60 ปีขึ้นไป
 
ขณะที่นายวิธพล เจาะจิตต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายบริหารทรัพยากรบุคคล ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มบุคลากรใหม่มากขึ้น ภายหลังการควบรวมกิจการกับบริษัททุนภัทร โดยเหตุผลในการรับคนใหม่ คือ 1.ตลาดยังมีการซื้อคนเก่ง ทำให้อัตราการลาออกสูงถึง 16-18% 
 
2.การปรับจุดยืนขององค์กรที่หันมาเน้นกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง (Wealth) จากเน้นลูกค้ารายย่อยอาจทำให้มีพนักงานมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างและ 3.ช่วงที่ผ่านมาได้ปิดสาขาในทำเลที่ไม่ค่อยดีไป 24 แห่ง เน้นเปิดสาขาในห้างมากขึ้น จากสิ้นปีที่แล้วมีอยู่ 76 สาขา ตั้งเป้าไว้ที่ 90 สาขา รวมถึงเตรียมขยายศูนย์บริการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารยังต้องรับบุคลากรใหม่เข้ามามากขึ้น
 
"เรามีผู้บริหารและพนักงาน 3,800-4,000 คน ยังยืนยันว่าต้องรับเพิ่มแม้เศรษฐกิจจะไม่เอื้อ เพราะตั้งแต่ปี 2555 มีการปรับโครงสร้างองค์กร ทำให้ต้องการกำลังคนเข้ามาเติมเต็มให้ครอบคลุมในหลายจุด"
 
นางสาวอนุตตรา พานโพธิ์ทอง ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แผนรับพนักงานใหม่ปีนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ และเป็นไปตามแผนธุรกิจระยะกลางของธนาคารปี 2558-2560 ที่มุ่งขับเคลื่อนธนาคารและบริษัทในเครือเป็น กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ด้วยความแข็งแกร่งจากเครือข่ายและความเชี่ยวชาญระดับโลกของมิตซูบิชิยูเอฟเจไฟแนนเชียลกรุ๊ป (MUFG)
 
กลยุทธ์สำคัญคือการดำเนินธุรกิจและการให้บริการที่ใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะขับเคลื่อนโดยพนักงานที่เป็นทรัพยากรสำคัญ ดังนั้นกระบวนการสรรหาและพัฒนาบุคลากร รวมถึงการเสริมสร้างความผูกพันต่อองค์กร จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจึงเปิดโอกาสให้พนักงานเดิมและพนักงานใหม่เข้ามาพัฒนาความเป็นมืออาชีพในองค์กรที่ก้าวสู่เวทีโลก ด้วยผลตอบแทนที่แข่งขันได้ในอุตสาหกรรม
 
ขณะที่นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารยังคงมีความต้องการรับพนักงาน และไม่ได้ลดการรับแต่อย่างไร เพียงเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี เนื่องจากพนักงานถือเป็นทรัพยากรที่ตลาดเงินยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการแข่งขันจากการเข้ามาเปิดสาขาของแบงก์ต่างชาติในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการดึงพนักงานส่วนนี้มากขึ้น
 
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความต้องการพนักงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะพนักงานประจำเคาน์เตอร์ และพนักงานประเมินและปล่อยสินเชื่อ เพื่อรองรับการเปิดสาขาใหม่ ๆ ของธนาคาร
 
"ตอนนี้ไม่ได้หยุดรับ และไม่ถึงกับต้องลดค่าใช้จ่าย เพราะโดยปกติตลาดเงิน พนักงานแบงก์ก็ยังขาดคนอยู่ ตอนนี้ก็รับต่อเนื่อง"
 
ทั้งนี้ จากบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด คาดการณ์ผลประกอบการกลุ่มแบงก์ 10 แห่ง ช่วงไตรมาส 2/2558คาดเหลือกำไรสุทธิเพียง 4.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.4% จากไตรมาสที่ผ่านมา และลดลง 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุใหญ่จากการเพิ่มค่าใช้จ่ายสำรองหนี้เพื่อรองรับหนี้เสีย และสินเชื่อที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษ (ค้างชำระ 1-3 เดือน) ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อยังเติบโตแบบเบาบาง โดยคาดว่า 6 เดือนแรก สินเชื่อเติบโตเพียง 3.5% หลังจากไตรมาส 2/2558 สินเชื่อขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าเพียง 0.8% โดยส่วนใหญ่เป็นการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ เป็นสินเชื่อระยะสั้นประเภทเงินทุนหมุนเวียน 
 
(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 18/7/2558)
 
ดีเดย์ 18 สิงหา รับสมัครกองทุนการออมฯ มีบำนาญใช้ตอนเกษียณ
 
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)ว่า ขณะนี้การจัดเตรียมระบบรองรับใกล้สมบูรณ์พร้อมให้บริการแล้ว โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้รับสมัครสมาชิกรายแรกของกองทุนด้วยตัวเอง ในวันที่ 18 ส.ค.นี้
 
ทั้งนี้ กองทุนการออมแห่งชาติเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรืออยู่นอกระบบบำเหน็จ บำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบแล้ว ซึ่งคาดว่ามีอยู่กว่า 30 ล้านคน ได้ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ โดยรัฐจะช่วยจ่ายสมทบให้ส่วนหนึ่ง และเมื่อผู้ออมมีอายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือนตลอดชีพ ถือเป็นการสร้างหลักประกันให้กับชีวิตในยามที่ไม่มีรายได้ประจำ และเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
 
สำหรับผู้สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีประมาณ 3,500 สาขาทั่วประเทศ โดยใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น
 
“ผู้ที่ยิ่งออมเร็ว ออมในอัตราสูง ก็จะได้รับเงินบำนาญมากขึ้นตามสัดส่วน อาทิ ออมเดือนละ 1,000 บาท เท่ากัน หากเริ่มออมตั้งแต่ อายุ 20 ปี เมื่อเกษียณจะได้รับเงินบำนาญพร้อมเบี้ยเลี้ยงชีพ รวม 7,000 บาทเศษต่อเดือน แต่หากเริ่มออมอายุ 30 ปี จะได้เงินบำนาญ 4,441 บาทต่อเดือน ขณะที่เริ่มอายุ 40 ปี จะได้ 2,646 บาท เป็นต้น โดยผู้สนใจจะสมัครเข้าร่วมกองทุน สามารถศึกษาตารางอัตราผลตอบแทนได้ที่ธนาคาร ทั้ง 3 แห่ง”
 
ส่วนผู้ที่มีระยะเวลา หรือจำนวนเงินออมน้อย เช่น อายุ 50 ปี ออมเดือนละ 500 เมื่อคำนวณแล้วจะได้เพียง 455 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าต่ำกว่ากอช. จะใช้เงินกองทุนจ่ายสมทบ ให้เป็นเงินดำรงชีพเดือนละ 600 รวมกับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 รวมรับเดือนละ 1,200 บาท จนกว่าเงินในบัญชีจะหมด จากนั้นได้รับเพียงเบี้ยยังชีพ
 
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิก กอช. เปิดกว้างตั้งแต่ช่วงอายุ 15-60 ปี ครอบคลุม ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป คนขับรถแท็กซี่ แม่บ้าน สถาปนิก แพทย์ ทนายความ ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างชั่วคราว นักการเมือง (ส.ส.) นักการเมืองท้องถิ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ฯลฯ โดยสมาชิกต้องไม่อยู่ในระบบบำเหน็จ บำนาญภาครัฐ หรือภาคเอกชนหรือกองทุนตาม กฎหมายอื่น ซึ่งได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้างอยู่แล้ว โดยส่งเงินสะสมขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี โดยเงินที่สะสมนี้จะได้รับดอกเบี้ยด้วย
 
สำหรับการสมทบจากภาครัฐจะเพิ่มตามสัดส่วนอายุ ได้แก่ สมาชิกอายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี รัฐสมทบร้อยละ 50 ของเงินสะสม แต่สูงสุดไม่เกิน 600 บาทต่อปี ,อายุ 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี รัฐสมทบให้ร้อยละ 80 แต่สูงสุดไม่เกิน 960 บาทต่อปี และอายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐสมทบร้อยละ 100 แต่สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี โดย ปกติ กอช.จะรับสมาชิกเฉพาะผู้มีอายุ 15-60 ปี และให้ออมเงินจนอายุ 60 แต่เฉพาะในหนึ่งปีแรกที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกได้ และกำหนดให้ผู้สมัครที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีสิทธิออมกับกองทุนได้ 10 ปี นับจากวันที่เป็นสมาชิก ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินสมทบจากรัฐอย่างเต็มที่ เช่น หากอายุ 55 สมัครกองทุนในปีนี้สามารถออมได้ 10 จนถึงอายุ 65 ปี
 
(ไทยรัฐออนไลน์, 18/7/2558)
 
โรงงานโคราชทยอยปิดตัวร่วม 20 แห่ง กรอ.ยันตัวเลขเปิด-ปิดรง.ยังปกติ
 
นายธรรมราช อาษาสุวรรณ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนฝ่ายนโยบายและแผนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยความเคลื่อนไหวการลงทุนด้านอุตสาหกรรมใน จ.นครราชสีมา ว่า ปัจจุบันนครราชสีมามีโรงงานอุตสาหกรรมรวมกว่า 2,640 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าในเดือนมิถุนายน 2558 มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเลิกกิจการไปแล้วประมาณ 20 โรงงาน สาเหตุของการปิดกิจการเกิดจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวไม่มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา อีกทั้งปัญหาค่าเเรงของประเทศไทยที่เเพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และแรงงานก็หายากมากขึ้น ทำให้นักลงทุนบางรายย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีการลงทุนถูกกว่าไทย
 
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรณีบริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ นครราชสีมา จำกัด ถือเป็นหนึ่งในโรงงานขนาดใหญ่ได้ปิดกิจการลง จากการตรวจสอบโรงงานอื่นๆ ที่ทยอยปิดกิจการหลังจากนี้ แม้เบื้องต้นยังไม่มีตัวเลขในมือ แต่ในเชิงสถิติพบว่าการเปิดและปิดโรงงานในช่วงเวลานี้ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ใกล้เคียงกับ 1-2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีแนวโน้มการเปิดหรือปิดด้านใดด้านหนึ่งเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ในส่วนของโรงงานที่ปิดกิจการ จากการตรวจสอบก็พบว่าส่วนใหญ่เป็นปัญหาของเครื่องจักรที่ใช้ทำงานภายในโครงงานเก่าและเสื่อมสภาพ การเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่จึงไม่คุ้มค่ากับการดำเนินธุรกิจต่อ อีกทั้งบางส่วนยังขอปิดกิจการโดยให้เหตุผลว่าลูกหลานไม่ยอมรับช่วงงานต่อ
 
"ผมตรวจสอบแล้วในช่วงนี้ นอกจากซัมซุงแล้วยังไม่มีโรงงานขนาดใหญ่แห่งอื่นยื่นเรื่องมาขอปิดกิจการกับทาง กรอ. แต่ก็วางใจไม่ได้ เพราะบางครั้งโรงงานก็ปิดตัวเองลงทันทีโดยไม่แจ้งแก่เรา" นายพสุกล่าว
 
นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ดูแลรับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีอยู่ 5,000 โรงงาน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึงตอนนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 3 โรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือที่ลดจำนวนพนักงานลง คิดเป็นจำนวนรวมกันราว 800-1,000 คน แต่ไม่ได้ปิดกิจการลงแต่อย่างใด เหตุผลที่ลดจำนวนพนักงานลงมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้โรงงานต้องปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าบางรายการ เช่น ฮาร์ดดิสก์ให้ตอบสนองต่อตลาดที่มีการใช้แท็บเล็ตเพิ่มขึ้น 
 
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวถึงกรณีโรงงานบริษัทซัมซุงฯที่นิคมอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมาลดจำนวนพนักงานว่า จะไม่กระทบความเชื่อมั่นการลงทุนต่อเอกชนรายอื่นๆ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีในวงการอุตสาหกรรมว่าซัมซุงจะย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางรายการไปยังเวียดนามซึ่งซัมซุงมีฐานการผลิตที่ใหญ่อีกแห่งที่นั่นประกอบกับเวียดนามมีสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากสหภาพยุโรปที่จะทำให้ซัมซุงผลักดันการส่งออกสินค้าไปยังประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ได้มากขึ้นอีกทั้งเวียดนามยังเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) จะทำให้ซัมซุงส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกทีพีพี ซึ่งมีแต่ประเทศรายใหญ่ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้การที่ซัมซุงย้ายฐานการผลิตบางส่วนจากไทยไปเวียดนามก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะค่าแรงงานเวียดนามถูกกว่าไทยมาก
 
(มติชนออนไลน์, 19/7/2558)
 
อุตสาหกรรมสั่งจับตาสถานะโรงงานใหญ่ทั่วประเทศ หวั่นซ้ำรอยซัมซุงปลดแรงงานนับพัน จักรมณฑ์ ยังโลกสวย มองการย้ายฐานเข้า – ออกเป็นเรื่องปกติ
 
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบการดำเนินกิจการของโรงงานขนาดใหญ่ว่า มีสถานะเป็นอย่างไร เพื่อติดตามว่า จะมีโรงงานขนาดใหญ่ เลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับบริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ โรงงานผลิตมอเตอร์ฮาร์ดดิสก์ คอมพิวเตอร์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ที่เลิกจ้างพนักงานกว่า 1,400 คน หากพบว่า โรงงานใด เริ่มมีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือ จะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทัน หรือโรงงานใด ต้องการปลดพนักงาน เพราะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน จะได้หาสถานที่รองรับพนักงานได้ เนื่องจากขณะนี้ไทย ยังขาดแคลนแรงงานมีฝีมืออยู่
 
“ได้ให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบสถานการณ์ภาพรวมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เบื้องต้นได้รับรายงานว่า การปลดพนักงาน เป็นแผนที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากตลาดต่างประเทศชะลอตัว แต่ยอมรับว่า การปลดพนักงานครั้งนี้ ค่อนข้างมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึงแรงงานที่ถูกเลิกจ้างถือเป็นแรงงานที่มีฝีมือ ดังนั้นคาดว่า จะย้ายไปอยู่โรงงานอื่นได้ไม่ยาก เพราะโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกัน และมีฐานการผลิตใหญ่กว่ายังขยายการลงทุนในไทย อาทิ ดับบิวดี มีการติดประกาศรับสมัครพนักงานในพื้นที่โคราชด้วย"
 
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การปลดพนักงานของบริษัทซัมซุง กระทรวงอุตฯ รับทราบมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งการย้ายฐานเข้า-ออกเป็นเรื่องปกติ โดยซัมซุง มีแผนการย้ายโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางตัวไปประเทศเวียดนามอยู่แล้ว ส่วนพนักงานที่โดยปลด คาดว่า จะมีงานใหม่ให้ทำเร็ว ๆ นี้ เพราะเป็นกลุ่มแรงงานฝีมือที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งอื่นนั้น ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใด มาสัญญาณจะย้ายฐานการลงทุน แต่ต้องการขยายการลงทุนในไทยเพิ่มด้วย เช่น บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์เปอเรชั่น (ดับบลิวดี) บริษัทอิเล็กทรอนิกส์อันดับต้นๆ ของโลก และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่นครราชสีมา
 
(เดลินิวส์, 20/7/2558)
 
ธุรกิจลดต้นทุนกระทบแรงงานถึงต้นปี 2559
 
ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่าจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ทั้งการส่งออกลดลง และกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรม ต้องกำลังการผลิตลง ล่าสุดปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกร มีรายได้ลดลง ยังทำให้ต้องภาคอุตสาหกรรม กำลังทบทวนลดกำลังการผลิต หลังจากที่มีการลดกำลังผลิตมาแล้วเหลือประมาณ 57% การลดกำลังการผลิต จะส่งผลประทบโดยตรงต่อการจ้างงาน นอกเหนือจากที่มีการลดการจ้างนอกเวลา หรือโอทีมาแล้ว
 
นายธนิตกล่าวว่า ในวันพฤหัสนี้ สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยจะหารือกัน เพื่อหามาตรการรับมือ เพราะเท่าที่ประเมินเบื้องต้นภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จะส่งผลต่อการจ้างงานจนถึงไตรมาสแรก 1 ปีหน้า
 
ทั้งนี้ อัตราการว่างงานได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล เดือนเมษายน 2558 ของกระทรวงแรงงานพบว่า อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.9% หรือคิดเป็น 3.24 แสนคน จากที่ปีที่แล้วอยู่ประมาณ 0.7%
 
(NOW 26, 20/7/2558)
 
ชี้แนวโน้ม บ.ไอทีทยอยปลดพนักงาน
 
สืบเนื่องจากบริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ โรงงานประกอบกิจการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ หรือ ฮาร์ดดิสก์ คอมพิวเตอร์ จังหวัดนครราชสีมา ประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวน 1,367 คน หลังประสบปัญหายอดคำสั่งผลิตทั้งในและต่างประเทศลดลง โดยคงเหลือพนักงานในสายการผลิตนี้เพียง 1,500 คน โดยยืนยันยังไม่ยกเลิกกิจการ
 
นายปฐม อินทโรดม ที่ปรึกษาสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันหลายบริษัทไอทีชั้นนำได้มีการปรับตัวเพื่อให้ทันต่อกระแสและความนิยมของผู้บริโภค อย่างกรณีของบริษัทซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ เป็นการผลิตฮาร์ดดิสก์ คอมพิวเตอร์ ปัจจุบันไม่ใช่ยุคเฟื่องฟูของคอมพิวเตอร์พีซีแล้ว เพราะผู้บริโภคมีความต้องการใช้งานอุปกรณ์ไอทีที่พกพาสะดวก และนิยมเก็บข้อมูลในฮาร์ดดิสก์น้อยลง ทำให้ธุรกิจคลาวด์เติบโต  และหลายบริษัทหันไปผลิต โซลิดสเตตไดร์ฟ (Solid State Drive) หรือ SSD ที่มีน้ำหนักเบาและมีประสิทธิภาพดีกว่าฮาร์ดดิสก์ ทำให้หลายบริษัทต้องปรับตัว ทั้งการลดการผลิต ลดจำนวนพนักงาน หรือแม้กระทั่งปิดกิจการ เพื่อนำเงินลงทุนไปทุ่มกับกิจการอื่นที่มีแนวโน้มจะทำกำไรได้มากกว่าในอนาคต
 
นอกจากนี้ประเทศจีนยังถือเป็นอีกหนึ่งฐานการผลิตที่สำคัญที่หลายบริษัทไอทีให้ความสนใจ และว่าจ้างให้จีนผลิต เพราะจีนถือว่าได้เปรียบในเรื่องของความพร้อมของบุคลากร ในแง่ของการวิจัยพัฒนา และด้านแรงงานการผลิต
 
ในช่วงครึ่งปีแรกหลายบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ก็ได้ปรับลดจำนวนพนักงานอย่าง ไมโครซอฟท์ ที่ปลดพนักงานในฟากของบริษัทโนเกียที่ไมโครซอฟท์ซื้อกิจการมานั้นถึง 7,800 คนทั่วโลก ชาร์ป ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ประสบปัญหาขาดทุนราว 6 หมื่นล้านบาท ได้ปลดพนักงานทั่วโลกไปอีก 4,900 รวมถึงแบล็คเบอร์รี่ (บีบี) และโซนี่ ก็ปรับลดพนักงานในสายผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนเช่นกัน
 
(ไทยรัฐออนไลน์, 20/7/2558)
 
คาดอีก 5 ปี อุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 290,604 คน
 
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และแนวโน้มในช่วงต่อไปว่า เมื่อย้อนไปในปี 2557 ประเทศไทยมีจำนวนกำลังแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 38.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (นับจากปี 2547) กำลังแรงงานไทยได้เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7.64 ทั้งนี้ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อัตราผู้มีงานทำหรือสัดส่วนผู้มีงานทำต่อกำลังแรงงานได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2547 มีสัดส่วนผู้มีงานทำต่อกำลังแรงงานคิดเป็นอัตราร้อยละ 97.23 และได้เพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 98.35 ในปี 2557
 
ขณะเดียวกัน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานหรือสัดส่วนผู้ว่างงานต่อกำลังแรงงาน ก็ได้ปรับตัวลดลง จากอัตราร้อยละ 2.07 เป็นร้อยละ 0.95 สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ตลาดแรงงานของไทยปรับตัวดีขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในปัจจุบัน พบว่าตลาดแรงงานไทยในปี 2557 ได้เริ่มประสบปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.17 เมื่อเทียบกับปี 2556 ขณะเดียวกันก็มีจำนวนผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 2.18 เมื่อเทียบกับปี 2556 และจากสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีการขยายตัวทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น
 
สำหรับในภาคอุตสาหกรรม ในภาพรวมมองว่าประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้วมีจำนวนผู้ว่างงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจ้างงานแรงงานต่างชาติภายในประเทศเพิ่มขึ้น ปัญหาดังกล่าวสะท้อนถึงโครงสร้างและค่านิยมการศึกษาของไทยที่ไม่ตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากคนไทยนิยมเรียนสูงขึ้น หากพิจารณาจำนวนผู้ว่างงานแบ่งตามระดับการศึกษา ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานั้น กำลังแรงงานไทยนิยมเรียนสูงขึ้นในระดับปริญญาตรีขึ้นไป แต่กลับมีสัดส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่กำลังแรงงานในระดับ ปวช.-ปวส. มีอัตราการว่างงานน้อยที่สุด นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ทำให้ขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม เป็นเพราะว่าค่าจ้างภาคบริการดึงดูดแรงงานมากกว่า ซึ่งในปี 2556 ภาคบริการมีอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 17,623 บาท/เดือน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 10,968 บาท/เดือน อีกทั้งประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) และในปี 2573 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)
 
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 6,184,926 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพ 1,102,464 คน และแรงงานฝ่ายผลิต 5,082,462 คน โดยแรงงานจะอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด ประมาณ 957,998 คน รองลงมาเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง จำนวน 571,607 คน และ 519,220 คน ตามลำดับ
 
ทั้งนี้ แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝ่ายผลิต ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมไทยก็ขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งยังขาดอยู่ประมาณ 34,717 คน อุตสาหกรรมที่ขาดแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากโลหะประดิษฐ์ ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 6,482 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกายรวมทั้งการตกแต่งและย้อมสีขนสัตว์ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่ยังขาดแรงงานฝ่ายผลิตอยู่ประมาณ 6,421 คน และ 4,538 คน ตามลำดับ โดยแรงงานที่ยังขาดแคลนส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทมีฝีมือ
 
สำหรับในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่า อุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 290,604 คน เมื่อพิจารณาด้านอายุของแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทย จะพบว่า แรงงานสูงอายุส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ สะท้อนให้เห็นว่า ในอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานประเภทดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ
 
สำหรับปัญหาแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน พบว่ามีการโยกย้ายแรงงานไปโรงงานอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันมากที่สุด รองลงมา คือปัญหาค่าจ้างแรงงานสูงส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิต แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานภาคอุตสาหกรรมโยกย้ายไปสู่ภาคบริการ อีกทั้งปัญหาอื่นๆ เช่น แรงงานลาออก เพื่อไปเรียนต่อ หรือทำกิจการส่วนตัว แรงงานไม่มีความอดทน แรงงานไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน แรงงานไม่มีความพร้อมในการทำงานไม่คุ้มค่ากับค่าจ้างที่ได้รับ และปัญหาการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
 
ด้านแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการนั้น สามารถสรุปได้ว่า ปัญหาค่าจ้างแรงงานสูง แก้ไขโดยปรับลดโอทีในการจ้างงาน และจัดงานให้รองรับกับเวลางานที่กำหนด จ้างงานแรงงานต่างด้าวมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการจ้างงาน ประกอบกับควบคุมรายจ่าย และลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ปัญหาแรงงานย้ายไปโรงงานอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน แก้ไขโดยการจ้างแรงงานเพิ่มทดแทนส่วนที่ลาออก ส่งเสริมสวัสดิการ เช่น ประกัน เบี้ยขยันต่างๆ และเน้นหาแรงงานที่มีความรับผิดชอบ ไม่เน้นแรงงานวัยรุ่น ส่วนปัญหาแรงงานย้ายไปภาคบริการ แก้ไขโดยเปิดรับสมัครพนักงานเพื่อทดแทนส่วนที่ลาออกอย่างต่อเนื่อง และปัญหาแรงงานไม่มีฝีมือ แก้ไขโดยการจัดอบรม เพื่อเสริมสร้างทักษะการทำงาน และเชื่อมโยงกับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยตรงเปิดรับพนักงานที่เกี่ยวกับสายวิชชาชีพเพิ่มมากขึ้น
 
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว เนื่องจากปัญหาแรงงานเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนทางโครงสร้าง การแก้ปัญหาข้างต้นเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ในระยะยาวจำเป็นต้องมีการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน และการใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) ในภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้นเพื่อแก้และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาคุณภาพแรงงานและปัญหาแรงงานมีคุณสมบัติไม่ตรงต้องการ
 
(สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, 20/7/2558)
 
ก.แรงงาน ยันลูกจ้าง “ซัมซุงโคราช” ได้สิทธิประโยชน์ครบ
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณี บริษัท ซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ นครราชสีมา จำกัด ประกาศปิดกิจการในเดือนธันวาคม 2558 และทยอยเลิกจ้างลูกจ้าง ว่า บริษัทดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตมอเตอร์ฮาร์ดดิสก์ คอมพิวเตอร์ ตั้งอยู่ภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีลูกจ้าง 2,471 คน ได้ยุติการผลิตและประชุมทำความเข้าใจลูกจ้างเกี่ยวกับการเลิกจ้างพร้อมการจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้ทยอยเลิกจ้างลูกจ้าง 1,365 คน และเดือนสิงหาคม 2558 จะเลิกจ้าง 800 คน และเลิกจ้างลูกจ้างที่เหลือทั้งหมดพร้อมปิดกิจการในเดือนธันวาคม 2558
 
นายอารักษ์ กล่าวต่อว่า บริษัทได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินช่วยเหลือพิเศษตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทุกคน สำหรับกระทรวงเตรียมมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างให้มีงานทำ มีรายได้ให้เร็วที่สุด จัดตำแหน่งงานว่างรองรับกว่า 2,000 ตำแหน่ง สามารถใช้บริการได้ที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) และหากลูกจ้างคนใดประสงค์เปลี่ยนอาชีพหรือประกอบอาชีพอิสระ ต้องการพัฒนาฝีมือหรือยกระดับทักษะฝีมือ แจ้งความประสงค์ใช้บริการได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 5 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ขณะที่สำนักงานประกันสังคมเตรียมความพร้อมจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียน กรณีว่างงาน ประมาณ 38.5 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ สำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมา รายงานข้อมูลว่า จังหวัดนครราชสีมายังเป็นจังหวัดที่มีนักลงทุนสนใจและมีกิจการบางประเภทขยายการผลิต ในภาพ รวมตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2558 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน รวม 42 โครงการ เงินลงทุน 5,400 ล้านบาท มีการจ้างงาน 3,016 คน มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการขยายอุตสาหกรรมการผลิตที่สามารถรองรับการจ้างงานเพิ่ม อย่างไรก็ตามกระทรวงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การเลิกจ้าง พบว่ากิจการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์อาจได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อที่ลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประเภท Hard disk drive (HDD) อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงขึ้น ทำให้ความต้องการของตลาดลดลง และมีผลกระทบต่อการผลิตและการจ้างงานในที่สุด
 
แต่หากดูข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เรื่อง การขยายตัวด้านการจ้างงาน เดือน มิถุนายน 2558 ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการส่งออกของประเทศแล้ว พบว่า อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 5.17 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัว ร้อยละ 4.46 อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ขยายตัวร้อยละ 4.77 ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดน ทำให้มีผู้สนใจมาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ทำให้ประเทศไทยยังมีความต้องการแรงงานเพื่อรองรับปัจจัยเหล่านี้อยู่อีกเป็นจำนวนมาก
 
(โลกวันนี้, 21/7/2558)
 
เปิดผลวิจัยพบค่าจ้างขั้นต่ำ ทีดีอาร์ไอเผยกระทบคนทักษะต่ำ
 
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ที่โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ มีเวทีสัมมนาวิชาการเรื่อง “ค่าจ้างขั้นต่ำ – ข้อเท็จจริงที่ควรและทิศทางที่ควรเป็นในอนาคต”โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (เอฟ อี เอส)
 
นางสติเนอร์ คลัพเพอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟริดริค กล่าวว่า ในการจัดการค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยมีการถกเถียงกันมานาน โดยที่ผ่านมาเราพบว่าประเทศไทยใช้มาตรฐานค่าจ้างจากภาคกลางกำหนดรายได้เดียวกันกับภาคอื่นนั้น ไม่เป็นผลดี ทำให้ประเทศไทยต้องมีประเด็นถกเถียงกันมาตลอด เราจำเป็นต้องประเมินผลดี-ผลเสียต่อนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้เชื่อว่าเริ่มแรกของประเทศไทยที่ใช้นโยบายนี้เพราะไทยต้องการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ต้องมีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดี ไม่ต่างกับเยอรมัน ที่มีการประกาศใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำเช่นกัน โดยเป้าประสงค์ส่วนใหญ่ คือหวังยกระดับคุณภาพชีวิตพลเมือง แต่หากมีการจัดการที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมก็พบว่าทำให้เกิดผลกระทบในทางลบได้เช่นกัน
 
นางสติเนอร์กล่าวว่า ในโอกาสที่ไทยประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำมานาน จึงถึงเวลาต้องประเมินผลสำเร็จให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ซึ่งมูลนิธิฯ ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากมีการประเมินจะส่งผลให้การใช้นโยบายมีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยให้เห็นช่องทางในการปรับปรุงวิธีการจัดการกับนโยบายขั้นต่ำด้วย
 
ด้าน ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ทีดีอาร์ไอเปิดเผยผลวิจัยการเปรียบเทียบช่วงการเปลี่ยนแปลงของผลการใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่เปลี่ยนแปลงระหว่างปี 2555-2556 โดยพิจารณาจำแนกประเภทตามกลุ่มอายุได้แก่ อายุ 15-24 ปี และอายุ 24-65 ปี และพิจารณาร่วมกับระดับการศึกษา 3 ประเภท คือ 1.ศึกษาระหว่างประถมศึกษาถึงกว่ามัธยมศึกษา 2.ตั้งแต่แต่ระดับมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษาชั้นปริญญาตรี 3.กลุ่มการศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรี โดยการศึกษาโดยรวมพบว่า อายุมากกว่า 24 ปีนั้น ทางบริษัทจะจ้างขั้นต่ำโดยดูจากประสบการณ์และทักษะทำงานอยู่แล้ว หากมีทักษะดี การศึกษาสูง ความสามารถมาก ทางบริษัทที่จัดจ้างจะมีการกำหนดนโยบายที่มีการจ้างสูงกว่าขั้นต่ำอยู่แล้ว และมีค่าตอบแทนด้านอื่นด้วย แต่ต่อมาพบกลุ่มที่ได้รับผลกระทบนั้นคือกลุ่มอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งกลุ่มนี้มีการทำงานกระจัดกระจาย ทั้งธุรกิจใหญ่ กลาง และขนาดเล็ก ซึ่งบริษัทจะจ้างด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างออกไป และภายหลังปรากฏเป็นข้อมูลชัดเจนว่า กลุ่มอายุดังกล่าวที่ไร้ทักษะนั้น ถูกปลดออกจำนวนมากกลายเป็นแรงงานนอกระบบที่ทำการเกษตรกับครอบครัว หรือรับจ้างทำอย่างอื่นแบบเหมา เป็นกรณีไป ซึ่งไม่สามารถใช้กฎหมายแรงงานขั้นต่ำไปบังคับใช้ได้
 
ดร.ดิลกะกล่าวว่า โดยภาพรวมพบว่าคนงานที่ถูกปลดออกและไปทำงานอย่างอื่นนั้นมีมากร้อยละ 1-2 ขณะที่บริษัทและผู้ลงทุน เมื่อรับกับค่าจ้างไม่ไหวก็กลับมาลงทุนกับเครื่องจักรที่ไม่ต้องดูแลกับสวัสดิการใดๆ แล้วเอาเงินค่าจ้างอีกส่วนหนึ่งไปจ้างคนมีทักษะดี จุดนี้น่ากังวลมากเพราะคนกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือจากนโยบายค่าจ้าง แต่แล้วกลับกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
 
“จากข้อมูลการวิจัยพบด้วยว่า ธุรกิจที่ประคองตัวได้ อีกทั้งเติบโตและพัฒนาต่อไปตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ นั้น มีการเพิ่มค่าแรงจากนโยบายอีกเพียงนิดเดียวประมาณ มีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นขณะที่ภาคธุรกิจระดับเล็กนั้นมีปัญหาเรื่องการจ้างค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าร้อยละ 60 และพบว่าในปีดังกล่าวธุรกิจขนาดเล็กที่ไปไม่รอดเพราะไม่สามารถรับกับค่าจ้างได้ปิดตัวลงรวมมีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านกว่าบาท” ดร.ดีลกะ กล่าว
 
นักวิชาการผู้นี้ยังกล่าวว่า จากผลการวิจัยอาจจะสำรวจกลุ่มคนทำงานที่ได้รับผลกระทบได้ชัดเจน แต่ไม่สามารถวิจัยและวิเคราะห์เชิงลึกในบริษัทต่างๆ ในกรุงเทพและปริมณฑลได้ว่า มีงบประมาณการลงทุนแต่ละภาคธุรกิจอย่างไรบ้าง ใช้แรงงานเท่าไหร่ และใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีเท่าไหร่ ซึ่งหากมีการวิจัยเพิ่มเติมอาจจะช่วยให้เห็นภาพกว้างของผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำได้มากขึ้น และแก้ปัญหาช่วยเหลือแรงงานชั้นล่างที่อายุน้อย การศึกษาจำกัดได้จริง สอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรได้จริง
 
ด้านนางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำจะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และเชื่อว่าสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจได้ อีกทั้งสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันเชิงการค้าระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้วย โดยปัจจุบันนี้คณะกรรมการการค่าจ้าง ได้เปิดขั้นตอนให้แต่ละจังหวัดเสนอตัวเลขและแผนการจ้างงานขั้นต่ำที่สอดคล้องต่อท้องถิ่นมาให้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในไม่ช้า กระทรวงแรงงานจะนำเสนอตัวเลขแต่ละพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้สำหรับเกณฑ์การพิจารณาค่าแรงนั้นจะพิจารณาจากความจำเป็นของค่าครองชีพของลูกจ้างและความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง รวมทั้งต้นทุนการผลิต รวมทั้งผลิตภาพของแรงงานด้วย โดยเชื่อว่าหากจะประเมินคุณภาพของการใช้นโยบายจริงๆ ก็ต้องสำรวจควบคู่กับความพึงพอใจของภาคแรงงานด้วย
 
(โลกวันนี้, 21/7/2558)
 
เร่งออก กม.ลูก 67 ฉบับ รองรับ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล
 
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณา เร่งรัดติดตามร่างกฎหมายลำดับรอง เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. .... 
 
ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. ...ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาแล้วครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีทั้งสิ้น 125 มาตรา และมีการแก้ไข 25 มาตราซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับแก้ไขถ้อยคำเพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะบรรจุร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเลฯ ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้วไว้เพื่อพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ วันที่ 23 กรกฎาคมนี้ จากนั้นเมื่อผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แล้วจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประมาณเดือนกันยายน 2558 คาดว่าจะมีผลใช้บังคับประมาณเดือนมีนาคม 2559 
 
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานยกร่างกฎกระทรวง ระเบียบ ซึ่งออกตามความในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว วิธีดำเนินการนั้นกฎกระทรวง ระเบียบที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีทั้งสิ้น 13 ฉบับ โดยจัดความสำคัญเร่งด่วนที่สามารถออกได้ทันทีเมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับจำนวน 7 ฉบับและภายหลังมีผลใช้บังคับอีกจำนวน 6 ฉบับ ส่วนกรอบระยะเวลายกร่างคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2558 จากนั้นจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดทำตารางกรอบเวลาการดำเนินการร่าง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. .... พร้อมออกกฎหมายลูกอีก 67 ฉบับและติดตามอย่างใกล้ชิด
 
“กฎหมายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ในอดีตที่เราคิด วันหนึ่งข้างหน้าเราต้องมองอนาคต ระเบียบกฎกระทรวงที่จำเป็นต้องแก้ก็ต้องแก้ ต้องปรับปรุง ทุกอย่างที่ทำเพื่อชาติบ้านเมือง ถ้าเราสามารถทำอะไรให้ดีแล้วมองไปข้างหน้าเสมอ เพื่อให้ลูกหลานอยู่ในประเทศที่มีแต่มาตรฐานและนำความเจริญรุ่งเรืองไปสู่อนาคต”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
(กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระทรวงแรงงาน, 22/7/2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท