ไซเบอร์เซ็กส์ เมื่อเรื่องเพศก้าวข้ามพรมแดน

เก็บประเด็นงานเสวนา “Cybersex เมื่อเรื่องเพศก้าวข้ามพรมแดน” อินเทอร์เน็ตเปิดมิติใหม่ วิจัยชี้ไม่พูดเรื่องเพศไม่แก้ปัญหา ด้านกฎหมายไทยยังไม่ครอบคลุม

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมาได้มีการจัดงานเสวนาเรื่อง “Cybersex เมื่อเรื่องเพศก้าวข้ามพรมแดน” ดำเนินการเสวนาโดย ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทยร่วมเสวนาโดย ผศ.ดร.โทมัส กวาดามูซ คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ม.มหิดล, กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ ม.กรุงเทพธนบุรี และ รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณะนิติศาสตร์ ม.เซนต์จอห์น

จอมพลให้ภาพกว้างเกี่ยวกับ cybersex ว่าคือการนำเทคโนโลยีมาตอบสนองความต้องการทางเพศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ในยุคโบราณมนุษย์ใช้ภาพวาดเป็นสื่อ วาดรูปโป๊บนผนังถ้ำ ต่อมาเกิดนวัตกรรมสิ่งพิมพ์ เกิดฟิล์มผลิตเป็นสื่อภาพเคลื่อนไหว เมื่อกลายเป็นวิดีโอ สื่อทางเพศมีราคาถูกลง เข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีเกมส์ที่มีลักษณะ interactiveสามารถโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศ มีการใช้โทรศัพท์ ที่เรียกกันว่า sexphone ซึ่งสามารถโต้ตอบกับเสียงคนจริงๆได้ นอกจากนี้ยังมี Cable TV สามารถเลือกดูสื่อทางเพศได้ตามความต้องการ อย่างไรก็ดี จอมพลกล่าวว่า อินเทอร์เน็ตทำให้กิจกรรมทางเพศมีลักษณะที่เฉพาะตัว และแตกต่างกับสื่ออื่นๆ

cybersex ก็คือกิจกรรมและประสบการณ์ทางเพศที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลาง มีลักษณะเป็นกิจกรรมทางเพศเสมือน (virtual sex) ที่ไม่ได้มีกิจกรรมทางเพศทางกายภาพกันจริงๆ อย่างไรก็ดี ยังมีความหมายที่เป็นที่ถกเถียงกันเช่นการสำเร็จความใคร่ทางกายภาพ ถือว่าเป็น cybersex หรือไม่ ซึ่งถ้าพิจาณาในกระบวนการ การใช้กระทำกิจกรรมทางเพศกับร่างกายตัวเองอาจไม่ใช่ แต่การสำเร็จความใคร่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ cybersex สมบูรณ์ เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศ แต่ลักษณะการใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลางนี้ไม่รวมการนัดพบเพื่อมีกิจกรรมทางเพศ เพราะนอกเหนือขอบเขตของการมีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง

นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตทำให้ cybersex มีความแตกต่างกับ sex ทางกายภาพ

·         มีราคาถูกลง เพราะผู้ใช้ (user) สามารถผลิตและเผยแพร่สื่อทางเพศได้เอง

·         มีเนื้อหาหลากหลายตอบสนองกับความต้องการทุกรูปแบบ ตั้งแต่ชายหญิงธรรมดาไปจนถึงแบบโลดโผนรุนแรง

·         การใช้คอมพิวเตอร์ ยังสามารถสร้างภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิคที่เป็นไปไม่ได้

·         มีความเป็นโลกเสมือน ผู้ใช้สามารถเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเพศที่สาม เพศที่สี่มนุษย์ต่างดาวสัตว์ประหลาด ฯลฯ

·         ในอินเทอร์เน็ตสามารถปกปิดตัวตนได้ มีความไร้ตัวตน anonymity ทำให้ผู้ใช้สามารถแสดงพฤติกรรมทางเพศได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ

·         ผู้ใช้สามารถเลือกระดับความเป็นส่วนตัวได้ เช่นเปิดเผยแค่ชื่อ เปิดเผยแค่บางส่วนของร่างกาย หรือไม่เปิดเผยเลยก็ได้

·         มีความ  realtime สำหรับโปรแกรมที่สามารถตอบสนองได้ทันที่เช่น แชท เว็บแคม

·         มีลักษณะ interactive ผู้ใช้สามารถตอบสนองกันได้

·         อินเทอร์เน็ตทำให้การสื่อสารทางเพศกลายเป็นเครือข่ายระดับโลก ไร้พรมแดน เป็น global network

·         สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา

สำหรับส่วนของประสบการณ์ทางเพศ จอมพลแบ่งประสบการณ์ออกเป็นสองแบบคือ ประสบการณ์ทางจิตวิทยา Psychological experience กับประสบการณ์ทางร่างกาย physical experience ผ่านตัวเองหรือเครื่องมือsex toy ซึ่งองค์ประกอบของสื่อทางเพศ (sexual materials) ก็มีหลายรูปแบบ อาทิ

·         Text cybersex ใช้โปรแกรมสนทนาพูดคุย อาจจะใช้ภาษาโจ๋งครึ่ม (explicit)หรือไม่ก็ได้ อาจมีการสวมบทบาท (roleplay)เปรียบเหมือนการเขียนนิยายอีโรติคร่วมกันถือเป็นประสบการณ์ทางจิตวิทยา นอกจากนี้ผลการศึกษาจาก The Handbook of the new Sexuality Studies โดย Steven Seidman พบว่าการที่เราไม่รู้จักคู่สนทนาอีกฝ่ายทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศมากขึ้น

·         webcam cybersex ใช้กล้อง webcam ถ่ายทอดร่างกายในฐานะ sex object อาจมีการพูดคุยผ่านไมโครโฟนหรือพิมพ์ข้อความเพื่อบอกให้ผู้ใช้แสดงกริยาทางเพศได้ ผู้ใช้สามารถเปิดเผยตัวตนได้ตามใจชอบ มีเว็บไซต์ที่มีการต้องจ่ายเงินเพื่อให้มืออาชีพแสดงให้ดู และแบบสมัครใจไม่เสียเงิน ผลการศึกษาบอกว่าคนที่เปิดเผยร่างกายจะเกิดความรู้สึกพึงพอใจกับตัวเองเมื่อมีคนพิมพ์หรือแสดงความชื่นชมสรีระของตน หรือเป็นคนปกติที่ชีวิตจริงจืดชืด

·         cyber sextoysเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นประสบการณ์ทางจิตวิทยาและกายภาพพร้อมๆกัน ผู้ใช้สามารถสั่งการ cyber sextoy ของอีกฝ่ายทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟนจอมพลกล่าวว่าเป็น “อารมณ์ทางเพศที่เปลี่ยนเป็นข้อมูลดิจิทัล"

โทมัสพูดถึง cybersex ในมิติทางสังคมวิทยาว่า sex เป็นการแสดงเพศสภาวะและเพศวิถี ซึ่งหมายถึงการเลือกเพศและวิถีชีวิตที่จะตอบสนองกับความสนใจทางเพศของตน ไม่ได้หมายความถึงกิจกรรมทางเพศอย่างเดียว ซึ่งในสังคมไทย sex เป็นเรื่องลับสังคมเป็นผู้กำหนดว่าอะไรถูกต้องไม่ถูกต้อง และเด็กไม่ใช่ sexual beings ไม่มีเพศ ไม่มีเพศสภาวะ เพศวิถี ทั้งโรงเรียนและบ้านไม่ยอมพูดถึงเรื่องเพศ เด็กจึงถูกผลักดันไปสู่ cyberspace

โทมัสกล่าวถึงการวิจัยในสหรัฐอเมริกา สมัยของอดีตประธานาธิบดีจอร์จบุชมีการทำวิจัยเพื่อลดอัตราการตั้งท้องในวัยรุ่นและการแพร่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยการปิดกั้นการพูดถึงเรื่องเพศทั้งหมด พบว่าการไม่พูดถึงเรื่องเพศเลยไม่สามารถลดการตั้งท้องในวัยรุ่นหรือการแพร่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ กลับเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

และจากการวิจัยของม.มหิดล มุ่งศึกษาว่า วัยรุ่นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะทำให้มีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นหรือไม่เปรียบเทียบกับการสื่อสารอื่นๆ พบว่าอัตราการการใช้อินเทอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางเพศ ผู้ที่มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตในปริมาณมากไม่ได้มีอัตราการมีเพศสัมพันธ์ที่มากขึ้นตาม ในทางกลับกัน ผู้ที่ใช้โทรศัพท์กับส่งข้อความมากพบว่ามีเพศสัมพันธ์ที่มากกว่า และเมื่อศึกษากลุ่มผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว พบว่าผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตมาก จะมีแนวโน้มใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้นอีกด้วย ส่วนประเด็นที่ว่าโลกออนไลน์เปิดให้มีการนำหลักฐานการมีเพศสัมพันธ์ไปใช้แบล็คเมล์ จากการศึกษาก็พบว่าในโลก offline ก็มีผู้ตกเป็นเหยื่อการแบล็คเมล์พอๆกัน

โทมัสสรุปโดยอ้างอิงจากหลักคิดขององค์กร UNESCO ว่าควรให้มีการศึกษาเรื่องเพศอย่างเข้าใจ (Comprehensive sexuality education) ลำพังเพียงการปิดกั้นและควบคุมไม่ช่วยแก้ปัญหาโทมัสกล่าวด้วยว่ากิจกรรมส่งเสริมศีลธรรมที่นิยมจัดกันนั้นไม่ใช่ว่าไม่ดี เพียงแต่ไม่มีการวัดผลแบบเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งถ้าไปลองวัดดูก็คงพบว่าไม่แตกต่างกัน

กฤษฎา กล่าวเสริมเรื่องมิติทางกฎหมาย ว่าในประมวลกฎหมายอาญาไม่มีการนิยามว่า ‘สิ่งอันลามก’ คืออะไร จึงขอยกคำกล่าวของจิตติ ติงศภัทิย์ ปรมาจารย์แห่งวงการกฎหมายไทย ที่เคยกล่าวเกี่ยวกับการแยกแยะว่าอะไรเป็นศิลปะอะไรสิ่งลามกว่า “พิจาณาตามความรู้สึกของวิญญูชน ไม่ใช่สายตาผู้เคร่งต่อประเพณีโดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามสมัยของโลก”

กฤษฎากล่าวว่าประเด็นเกี่ยวกับสื่อลามกที่มักเกิดเป็นปัญหาทางกฎหมายก็คือ สื่อลามกเด็ก ซึ่งก็แบ่งได้เป็นสองแบบคือ เด็กเป็นส่วนหนึ่งของสื่อกับเด็กเป็นผู้บริโภคสื่อนั้น ส่วนสื่อลามกผู้ใหญ่ก็มีประเภทที่ผู้บริโภคเป็นผู้ใหญ่และผู้บริโภคเป็นเด็ก ซึ่งต้องพิจารณาว่าถ้าจะมีกฎหมายออกมาเพื่อปกป้องต้องดูว่าเพื่อปกป้องใคร โดยส่วนตัวตนเห็นด้วยกับการควบคุมสื่อลามกเด็ก แต่ก็ตั้งคำถามว่าแล้วสื่อลามกผู้ใหญ่ควรจะถูกปิดกั้นไปด้วยหรือไม่ ในยุคก้าวข้ามพรมแดนเช่นนี้

กฤษฎานำเสนอข้อถกเถียงด้านอาชญากรรม ที่ว่าสื่อลามกทำให้มีการข่มขืน ว่าถ้าหากไม่มีสื่อลามกแล้วจะไม่มีการข่มขืนกันจริงหรือ เพราะอาชญากรรมประเภทนี้เป็นอาชญากรรมตามโอกาส และขึ้นอยู่กับจิตไร้สำนึกของปัจเจก จากทฤษฎี Id – Ego –Superego ของ ซิกมุนด์ฟรอยด์และเสนอว่าการบังคับโทษเป็นกลไกที่สำคัญกว่าการเซ็นเซอร์สื่อลามก

สำหรับข้อถกเถียงด้านศีลธรรม กฤษฎากล่าวว่า “พระพุทธเจ้าไม่เคยห้ามดูคนสังวาสกัน ต้องแยกระหว่างการดูกับการกระทำ แต่คุณดูไม่ได้แปลว่าคุณมีสิทธิกระทำ” พร้อมทั้งอ้างอิงคำกล่าวของจิตติในข้างต้น ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งลามกสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความรู้สึกของคนในสังคม ดังนั้นแล้ว การแก้ไขปัญหาเรื่อง Sex จึงต้องอาศัยทั้งมาตรการทางสังคม ต้องมีการศึกษาอย่างเข้าใจและปลูกจิตสำนึกสาธารณะในการบริโภคสื่อ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อของสื่อที่ยั่วยุทางเพศ และมาตรการทางกฎหมายก็ต้องมีกระบวนการบังคับโทษดังที่กล่าวไป

อย่างไรก็ดี กฤษฎายอมรับว่าในโลกอินเทอร์เน็ต ไม่สามารถควบคุมได้100เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นแล้วมาตรการต่างๆจึงกำจัดสื่อลามกไม่ได้จริง เพียงแค่ควบคุมให้เข้าถึงยากขึ้น

คณาธิปกล่าวถึงประเด็นความเป็นส่วนตัว ว่าสิทธิส่วนบุคคลนั้นครอบคลุมในการตัดสินใจเรื่องเพศ การเลือกใช้ชีวิตและพฤติกรรมทางเพศที่ตอบสนองกับความต้องการทางเพศของตน พร้อมนำเสนออีกระดับของสิทธิคือ asexual ไม่มีเพศ ไม่จำเป็นต้องบ่งบอกเพศสภาวะและเพศวิถีของตน

อย่างไรก็ดี สิทธิส่วนบุคคล ก็รวมถึงสิทธิในการเผยแพร่เรื่องราวทางเพศของตน เราประกอบกิจกรรมทางเพศและเผยแพร่ข้อมูลกิจกรรมทางเพศไปพร้อมๆกัน ซึ่งตามหลักก็ถือว่าเป็น สิทธิบุคคล เรามีสิทธิในการควบคุมว่าเป็นความลับหรือไม่ลับ เช่นเดียวกับการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ก็ควรจะเป็นสิทธิส่วนตัว สามารถกระทำได้

และเมื่อมาถึงในยุคก้าวข้ามพรมแดนนี้ กฎหมายจะควบคุมเรื่องเพศอย่างไรยังไง จะควบคุมไปถึงจินตนาการเลยหรือไม่ คณาธิปยกตัวอย่างกรณี sweetie เป็นภาพเด็กสาวที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์กราฟฟิค (virtual child) ไปปรากฏตัวให้ล่อซื้อบริการทางเพศในอินเทอร์เน็ต ในต่างประเทศเคยมีกฎหมายที่ควบคุม virtual child เนื่องจากเป็นการปลอมแปลงจนมีผู้ฟ้องร้องว่าเป็นการควบคุมจินตนาการ จนทำให้กฎหมายนี้ถูกยกเลิกไป

อีกประเด็นหนึ่งที่คณาธิปยกมาก็คือ cyber sextoy จะพัฒนาต่อไปเป็นอะไร เพราะกระแสของเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้คือ เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (wearable tech) ซึ่งถ้าอุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็น smart sextoy ที่สามารถเก็บข้อมูลร่างกายและพฤติกรรมทางเพศของเราได้ตลอดเวลา และกฎหมายไทยในปัจจุบันก็ยังไม่รองรับด้วย เป็นอีกประเด็นที่ทำให้ cybersex น่าจับตาดู

จอมพล สรุปว่า cybersex เป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตสีเทา เป็นเรื่องของธรรมชาติ และแรงขับเคลื่อนที่ผลักให้คนในสังคมไปสู่ cybersex มากขึ้นคือเสรีภาพในการจินตนาการและเข้าไปอยู่ในกิจกรรมทางเพศที่อาจอยู่นอกกรอบของบรรทัดฐานของสังคม

อนึ่ง งานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท