Skip to main content
sharethis

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ปาฐกถา ‘การเมืองภาคประชาชน ประชาธิปไตยและทางเลือกของการพัฒนา: บทเรียนจากวิกฤตการเมืองไทยในห้วงหนึ่งทศวรรษ’ พบภาคประชาชนเอาอำนาจขึ้นไปสู่ข้างบน เสนอตื่นจากลัทธิฉวยโอกาส คืนสิทธิการพูดคิดเขียนชุมนุม ไม่สร้างประชาธิปไตยแบบจารีตนิยม

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 4 ที่ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยปาฐกถาในหัวข้อ "การเมืองภาคประชาชน ประชาธิปไตย และทางเลือกของการพัฒนา: บทเรียนจากวิกฤตการเมืองไทยในห้วงหนึ่งทศวรรษ" ซึ่งมี รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯเป็นผู้กล่าวปาฐกถา

โดย ประภาส ได้แบ่งประเด็นการปาฐกถาออกเป็น 4 ประเด็นด้วยกันคือ

1.     ภาพการก่อเกิดของการเมืองภาคประชาชนในบริบทของปัญหาประชาธิปไตยไทยโดยย่อๆ

2.     การเมืองภาคประชาชนในบริบทประชาธิปไตยสากลว่ามันมีตำแหน่งแห่งที่อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างหรือการจรรโลงประชาธิปไตยทีมันอยู่ในบริบทเดียวกับประชาธิปไตยสากล

3.     ทางแพร่งและความถดถอยของการเมืองภาคประชาชน โดนเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ก่อนที่จะเกิดการยึดอำนาจหรือการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549  

4.     มองในส่วนปัจจุบันการเมืองภาคประชาชนภายใต้เงื้อมเงาของอำนาจนิยม ซึ่งในปัจจุบันปีเศษๆได้ก่อให้เกิด ผลอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ของตนที่ได้ทำงานกับคนด้อยโอกา ด้อยอำนาจ และในช่วงท้ายประภาษได้ชวนลองพิจารณาถึงอนาคตของการเมืองภาคประชาชนของการสร้างและการจรรโลงประชาธิปไตยว่ายังมีความหวังอยู่หรือไม่อย่างไร

ภาพจากเว็บไซต์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นเรื่องยากที่เราจะกล่าวว่าอะไรคือการเมืองภาคประชาชน

ประเด็นแรก การก่อเกิดและพัฒนาการของการเมืองภาคประชาชนในบริบทของปัญหาประชาธิปไตยในสังคมไทย  ประภาส กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่เราจะกล่าวว่าอะไรคือการเมืองภาคประชาชน ไม่ว่าฝ่ายไหนก็เรียกตัวเองว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งหลายฝ่ายเข้าใจไม่ตรงกัน จึงอยากจะเริ่มต้นเพื่อเป็นกติกาว่าเราเข้าใจแนวคิดเรื่องการเมืองภาคประชาชน เมื่อเราต้องยอมรับว่ามันเป็นแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ หรือ strategic concept คือไม่ได้สามารถที่จะหาความจริงแท้แน่นอนได้เพราะว่ามีการนิยามจากผู้คนหายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การเมืองภาคประชาชนที่ตนจะพูดและตนเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นจะเป็นมองจากพัฒนาการของคนจนหรือคนไร้อำนาจที่ได้สร้างสิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชนในราวทศวรรษ 2530 ขึ้นมา

การเมืองภาคประชาชนนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็น “เสื้อเหลือง หรือ กลุ่มพันธมิตร” สืบเนื่องมาจนถึง กปปส. ก็พูดถึงการเมืองภาคประชาชนโดยใช้การเมืองภาคประชาชนในการอธิบายการเคลื่อนไหวของตัวเอง คนเสื้อแดง นปช. ก็พูดถึงว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนด้วย ซึ่งตนคิดว่าเวลาเข้าถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้ เราคงต้องเข้าใจว่ามันเกิดมันพัฒนาการขึ้นมาภายใต้เงื่อนไข บริบทอย่างไรของเศรษฐกิจการเมือง แล้วตนคิดว่าเราควรจะพิจารณาให้เห็นว่ามันผันแปรไปอย่างไรบ้าง

จาก คนจนคนด้อยอำนาจที่ได้รับผลกระทบจากโครงการการพัฒนาของรัฐ ต้นทศวรรษ 2530

วลี หรือ คำว่า ‘การเมืองภาคประชาชน’ เกิดขึ้น เพราะว่าผู้คนที่ตนจะขอเรียกว่าคนจน คนด้อยโอกาส คนด้อยอำนาจที่ได้รับผลกระทบจากโครงการการพัฒนาของรัฐ ในต้นทศวรรษ 2530 เป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นภาพต่างๆเหล่านี้อย่างชัดเจน เมื่อถามว่ามาจากไหน เราอาจจะเห็นภาพได้ชัดในเชิงบริบทโครงสร้างที่มีการพัฒนาของรัฐ เป็นยุทธศาสตร์ที่นำมาปรับเปลี่ยนในช่วงรัฐบาลของพลเอกเปรมในปี 2527 ที่เรียกว่าอุตสาหกรรมนำการส่งออก ได้นำไปสู่การปฏิบัติการหรือการนำนโยบายไปปฏิบัติชัดเจน ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ตั้งแต่รัฐบาลของพลเอกชาติชาย เป็นต้นมาโครงการขนาดใหญ่ได้ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนจน คนในชนบทต่างๆ อย่างไรก็ดี ในบริบทแบบนี้ตนอยากชี้ให้เห็นว่า การเมืองภาคประชาชนมันจึงเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือในช่วงรัฐบาลของพลเอกชาติชาย เป็นช่วงซึ่งเรามีประชาธิปไตยเต็มใบมีนายกที่มาจากการเลือกตั้ง มีโครงสร้างสถาบันทางการเมืองมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีการยอมรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขว้างกว่ารัฐบาลในยุคเผด็จการทหารหรือแม้กระทั้งยุคประชาธิปไตยครึ่งใบก่อนหน้านั้น เพาะฉะนั้นประเด็นนี้ ถึงแม้จะเป็นประเด็นเล็กก็น่าจะเป็นประเด็นต้องได้เห็นว่าการเมืองภาคประชาชนมันเกิดในบริบทที่เอื้อในเชิงโครงสร้างคือมันเกิดในบริบทของประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง

ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งมีความจำเป็นแต่ว่าไม่เพียงพอ

เพราะฉะนั้นอยากจะย้ำให้เห็นว่าประชาธิปไตย ประสบการณ์ของคนจนคนด้อยโอกาส ด้อยอำนาจ การเมืองภาคประชาชนไม่ได้มาแทนที่สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนการเลือกตั้ง แต่แน่นอนว่าประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ในประสบการณ์ของคนจน ตนคิดว่าเขาเข้าใจว่าประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งมีความจำเป็นแต่ว่าไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะเป็นกลไกในการกระจายทรัพยากร การเข้าถึงนโยบายการพัฒนาของรัฐผ่าน การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เลือกพรรคที่มีนโยบายที่ดีต่างๆ แต่ว่าในแง่นี้ ประสบการณ์ของคนจน คนด้อยโอกาส คนด้อยอำนาจ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งความไม่เพียงพอของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ก็คือข้อจำกัดของการมีส่วนร่วม ในเรื่องของการตัดสินใจ นโยบายสาธารณะเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เพราะฉะนั้นในแง่นี้ การเมืองภาคประชาชนในประสบการณ์ของคนจน คือ อาศัยการเมืองที่เรียกว่า การเมืองบนท้องถนน การเดินขบวนชุมนุมประท้วง เพื่อจะได้เป็นพื้นที่ทางการเมืองเป็นกลไกต่อรองต่อรัฐ รัฐบาล เพื่อที่จะให้สิ่งที่มันไปกระทบชีวิตของเขามีกลไกไต่อรองกับระบบการเมือง

เพราะฉะนั้นในแง่นี้ คำขวัญของสมัชชาคนจน ซึ่งอาศัย การเมืองบนท้องถนน การเดินขบวน ชุมนุมประท้วง เพื่อทำให้การเมืองที่มันจำกัดอยู่แค่การเลือกตั้งมันไม่เห็นหัวคนจนในความหมายว่า มันไม่ได้เข้าไปให้ผู้คนต่างๆ เหล่านี้ได้ตัดสินใจ ในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐในขบวนการนโยบายสาธารณะ การตัดสินใจผ่านการหย่อนบัตรเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่เพียงพอ เพราฉะนั้นการอาศัยการเมืองบนท้องถนน มันทำให้การเมืองมันเห็นหัวคนจนเท่านั้นเอง ดังคำขวัญของสมัชชาคนจนที่ว่า ประชาธิปไตยที่กินได้ และประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน เพราะฉะนั้นในแง่นี้ การสร้างการเมืองภาคประชาชนในบทเรียนของคนจน คนด้อยโอกาส คนด้อยอำนาจ จึงไม่ใช่เป็นการนำเอาการเมืองภาคประชาชน เข้ามาแทนที่ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง และไม่ได้เป็นการมองปัญหาประชาธิปไตย แบบเลือกตั้ง เหมือนดังในช่วงหลัง ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กปปส. ที่มอง เรื่องนักเลือกตั้ง หรือขบวนการเลือกตั้งเป็นเรื่องของอัปปรีย์ชน ที่มีประชาชนคนข้างล่างเป็นผู้ซึ่งอยู่ในระบบอุปถัมภ์ หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ การมองคนข้างล่างว่าเป็นพวกโง่งก ที่ส่งพวกอัปปรีย์ชนเหล่านี้เข้าไปสู่อำนาจทางการเมือง ด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง อะไรต่างๆ

ตนคิดว่าการเมืองภาคประชาชนของคนจน คนด้อยโอกาส คนด้อยอำนาจ ไม่ได้เป็นประสบการณ์แบบนี้ และก็ไม่ได้มองประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างเลวร้ายอะไรต่างๆ ในทางตรงกันข้ามตนยังมองการประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ยังคงเป็นกลไกสำคัญที่จะต่อรองในด้านของทรัพยากร ประโยชน์สาธารณะอะไรต่างๆ นี้คือสิ่งที่เราเห็น กันเรื้อยมในการเมืองภาคประชาชน ตังแต่ทศวรรษ 2530  เป็นต้นมา

รัฐธรรมนูญ 40 สร้างการเมืองภาคประชาชนในเชิงสถาบัน

เราคงเห็นภาพในช่วงต้นที่การต่อรองต้องอาศัยการเมืองบนท้องถนน แต่ในช่วงหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคปฏิรูปการเมือง การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ตนอยากจะเรียกว่ามันมีการสร้างการเมืองภาคประชาชนในอีกมิติหนึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นการสร้างการเมืองภาคประชาชนในเชิงสถาบัน นั้นก็คือการสร้างพื้นที่และช่องทางในการมีส่วนร่วมในกระบวนการการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะผ่านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกฎหมายต่างๆเราคงเห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 40 รวมทั้ง 50 เป็นต้นมา มีบทบัญญัติต่างๆที่พยายามจะถ่ายโอนอำนาจที่เป็นเชิงสถาบันมาสู่คนจน การทำการเมืองให้ไม่เห็นหัวคนจนในยุคต้นก็คือ การเดินขบวนชุมนุมประท้วง อย่างเช่นชาวบ้านจะบอกว่า เราต้องเอาเท้าหรือตีนไปให้ผู้นำอำนาจได้ดูว่าเรามีจำนวนเยอะๆ แต่ว่าไม่มีใครที่จะอยากไปเดินขบวนประท้วงไปทุกวัน

แม้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนจะไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่ใช่ไปทำลายล้างมัน

ในยุคการปฏิรูปการเมืองเราจะเห็นถึงการขยายของการเมืองภาคประชาชนในเชิงสถาบัน ผ่านบทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ซึ่งมีบทบัญญัติต่างๆที่คนจนในช่วงหลังก็นำมาใช้เยอะ เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย นี้เป็นการถ่ายโอนอำนาจที่เดิมผู้แทนตัวแทนเป็นคนออกกฎหมาย แต่ว่าได้ขยายมาสู้การเข้าชื่อ หมื่นชื่อต่างๆ รวมทั้งประเด็นเรื่องประชามติ ประชาพิจารณ์ เรื่องสิทธิชุมชนที่สำคัญก็คือเรื่องของ องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายหลังได้ขยายมาสู้เรื่องสุขภาพด้วย กระบวนการทำ EIA ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งตนคิดว่าประสบการณ์ของการเมืองภาคประชนของคนจนได้สร้างสถาปนาสิ่งเหล่านี้ แน่นอนว่าคงไม่ได้ลงหลักปักฐาน แต่ว่าก็สร้างไป ใช้ไปอะไรต่างๆ ตลอดเรื้อยมาต่างๆ เพราะฉะนั้นในแง่นี้ ตนก็อยากจะกล่าวอ้างถึง เสกสรร ประเสริฐกุล ซึ่งได้พยายามสรุปความหมายของการเมืองภาคประชาชนเอาไว้ว่า

“เมื่อเราได้มองถึงอย่างที่สุดแล้ว มันก็คือการเคลื่อนไหวแบบมีจิตสำนึกทางการเมืองของกลุ่มประชาชนเพื่อลดฐานะการครอบงำของรัฐ เพื่อถ่ายโอนอำนาจบางส่วนมาสู่ประชาชน เพื่อดูแลและจัดการชีวิตกันเองมากยิ่งขึ้น”

นี้คือภาพที่เราเห็นของการเมืองภาคประชาชนตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา มองในแง่นี้ เราอาจจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ อย่างที่พูดกันในปัจจุบันก็ได้ แต่ว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ได้ไปมีมิติในเรื่องของประชาธิปไตยแบบขนบประเพณี แต่ว่าเป็นบทเรียนของผู้คนที่มองถึงปัญหาการไม่พอเพียงของประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ไม่ได้ไปทำลายล้างประชาธิปไตยแบบตัวแทน หรือเอาอำนาจอื่นเข้ามาอะไรต่างๆ

การเมืองภาคประชาชนเป็นสิ่งเดียวในประชาธิปไตยบริบทสากล

ประเด็นที่สอง เมื่อมองการเมือภาคประชาชนในมิติสากลการเมืองภาคประชาชนเป็นสิ่งเดียวในประชาธิปไตยบริบทสากลเพราะว่าไม่ว่าประเทศไหนๆ ในตะวันตกจะเห็นภาพได้ชัดว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของการเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เรามักจะบ่นกันอยู่หรือมีการไปโจมตีว่าเราไปเอาของตะวันหรือประชาธิปไตยแบบตัวแทนแล้วมันไม่เหมาะสมต่อสังคมไทย

สิ่งที่ตนอยากจะชี้ให้เห็นก็คือว่า เราเอามาไม่หมดต่างหาก เพราะว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนของตะวันตก มันขยายมีการพูดถึงประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมซึ่งมันไม่ได้เป็นแนวคิดที่เอามาแทนประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่มันเป็นส่วนขยายของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งไม่ว่าที่ไหนๆ ก็มีแนวคิดแบบนี้ ซึ่งก็คือ กลไกต่างๆ ในสองระดับด้วยกัน เช่น ในเรื่องการถ่ายโอนอำนาจ ในเลือกการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ ในเชิงของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของตะวันตกจะขยายกลไกเรื่องการลงประชามติ การริเริ่มออกกฎหมายโดยประชาชนหรือการถอดถอน ผู้มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงพวกนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเต็มไปหมด เรื่องขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องของประชาพิจารณ์ ที่จะทำให้อำนาจในการตัดสินใจไม่ได้อยู่เพียงแค่ผู้แทนหรือตัวแทนที่เราหย่อนบัตรเลือกตั้ง เป็นการขยายอำนาจในการตัดสินใจของประชาชนมากขึ้น

เราไม่ค่อยได้ใช้ อาจจะเรียกว่า การมุ่งจัดการชีวิตสาธารณะของประชาชนโดยตรง ซึ่งมีบทเรียนประสบการณ์ของประเทศในละตินอเมริกา ที่เรียกว่ากระบวนการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม participatory budgeting ทั้งในประเทศบราซิล ในประเทศอินเดีย ในประเทศจีน เป็นต้น นี้คือการถ่ายโอนอำนาจมาสู้ประชาชนในการจัดการชีวิตสาธารณะกันเองมากขึ้น

ตนพยายามจะสรุปให้เห็นว่าการเมืองภาคประชาชนของคนจน คนด้อยอำนาจในสังคมได้สอดคล้องกับบริบทของการสร้างและการจรรโลงประชาธิปไตยในระดับสากลเพื่อมีพื้นให้การมีส่วนรวมให้มากไปกว่ากระบวนการการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ที่มากไปกว่านั้นคือให้ยึดมั่นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย อย่างยึดโยงอำนาจสูงของประชาชนในการตัดสินใจและยึดอำนาจเสียงในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเอาไว้อย่างมั่นคง ที่สำคัญก็คือ หลักสิทธิเสรีภาพที่เป็นทั้งเป้าหมายและขบวนการการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย ซึ่งตนคิดว่าเมื่อมองกลับมาที่สังคมไทย การเมืองภาคประชาชนในประสบการณ์ของคนจนได้พยายามทำสิ่งต่างๆเหล่านี้มาตลอดเวลาถึงแม้ยังจะมีอีกหลายเรื่องหลายที่ยังต้องทำ

ทางแพร่งและการถดถอยของการเมืองภาคประชาชนช่วง 2549

ในประเด็นที่สาม เรื่องทางแพร่งและการถดถอยของการเมืองภาคประชาชนช่วงปลายทศวรรษ 2549 ถ้าจะพูดอย่างดีที่สุดปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เต็มใบในช่วงปี 2531 ที่ประเทศไทยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง คือ รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ปัญหาในเรื่องของการใช้อำนาจรัฐการทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาของผู้แทนตัวแทนอะไรต่างๆ ก็ได้มีการถกเกียงกัน และนำมาสู่การเคลื่อนไหว อาจจะเรียกว่าการเมืองภาคประชาชนอีกมิติหนึ่งที่ให้ความสนใจในเรื่องการตรวจสอบหรือการใช้ อำนาจรัฐ

ส่วนนี้ตนคิดว่า ได้มีการผันแปรไปสู่การเมืองภาคประชาชนอีกแบบหนึ่งที่มองปัญหาของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่แตกต่างไปจากการเมือภาคประชาชนในประสบการณ์ของคนจน คนด้อยอำนาจ ตนจะอ้างอิงวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ อุเทน เชียงเสน เรื่องประวัติศาสตร์ ของการเมืองภาคประชาชน ความคิดและปฏิบัติของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งตนคิดว่าวิทยานิพนธ์ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงการพยายามสร้างตัวตนของการเมืองภาคประชาชนโดยเฉพาะในทางแพร่งว่าได้ผันแปรไปอย่างไร จากสิ่งที่ได้เกิดในช่วงต้น เพราะว่าเราคงเห็นภาพการก่อตัวขึ้นของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในช่วงต้นการปรากฏการชุมนุมของพันธมิตรเพื่อประชาชนและประชาธิปไตย และต่อมาก็ได้สืบทอดเจตนารมณ์โดย กปปส. ซึ่งตนโดยส่วนตัวคิดว่าเป็นฐานคิดที่มองปัญหาสังคมการเมืองที่เหมือนๆ กัน อย่างที่ตนได้พูดไปช่วงต้นแล้วว่าการภาคประชาชนเป็นแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่คนจะมองการเมืองภาคประชาชนแตกต่างกันออกไป รวมทั้งการพูดถึงการออกและข้อเสนอในการแก้ปัญหา และที่สำคัญก็คือสังคมการเมืองประชาธิปไตยในเชิงอุดมคติ ผู้คนก็มองแตกต่างกันออกไป ซึ่งในส่วนนี้ตนคิดว่าสิ่งที่มันได้เกิดขึ้นก็คือการเมืองภาคประชาชนอีกแนวทางได้เกิดขึ้นมา คือการเมืองภาคประชาชนที่มองปัญหาเรื่องของระบบเลือกตั้ง ที่เรียกว่าเลือกตั้งธิปไตย หรือการพูดถึงประชาธิปไตยว่าที่เป็นอยู่มันเป็นแค่รูปแบบไม่ได้เป็นเนื้อหา เนื้อหาที่ แท้จริงรวมทั้งการชุมนุมการเชื่อมโยงปัญหาของนักเลือกตั้ง โยงนักเลือกตั้งเข้ากับระบบที่เรียกว่า “ทุนนิยมสามานย์”

ภาพจากเว็บไซต์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปรากฏการณ์การเมืองภาคประชาชนอีกแบบ ที่ไม่สนใจเรื่องกระบวนที่เป็นประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้นในแง่นี้ตนคิดว่าเรากำลังเห็นถึงการเมืองภาคประชาชนอีกแบบหนึ่งชัดเจน ทั้งในแง่การเสนอถึงทางออก การจัดการถึงปัญหาประชาธิปไตยด้วย โดยการเดินชุมนุมประท้วง ที่เป็นสิ่งซึ่งเราได้ เห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมาก็คือการยกระดับเรื่องของการเคลื่อนไหว โดยไม่สนใจเรื่องกระบวนที่เป็นประชาธิปไตย สามารถยอมรับเรื่องอำนาจนอกระบบได้ รวมถึงในแง่ของข้อเสนอของสังคมประชาธิปไตยในเชิงอุดมคติ

การเมืองภาคประชาชนในแนวนี้จะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เป็นหลักสากลด้วยทั่วไป ซึ่งตนคิดว่ามันอาจจะสอดคล้องกับการเมืองภาคประชาชนที่อาจจะมองว่ามีความเฉพาะของสังคมไทย ที่เกี่ยวกับประวัตศาสตร์ จารีต การปกครองอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นการเมืองภาคประชาชนที่ไปได้กับกระแสเรื่องแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมชุมชน ข้อเสนอของ NGO เรื่องประชาธิปไตยแบบพุทธ หรือประชาธิปไตยแบบท้องถิ่นที่เสนอว่า “การพูดคุยของสมาชิกชุมชน อาจจะพูดคุยว่าใครเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้วหมู่คณะก็จะเข้าไปคุยว่าเราคิดว่าท่านเป็นคนดีมีคุณธรรมก็น่าจะเป็นผู้นำที่ดีของเรา” นี้คือวิธีการที่ไม่ได้ยึดโยงการเลือกตั้ง เป็นประเด็นคิดที่รองรับการเมืองภาคประชาชนอีกแบบ หรือข้อเสนอที่เรียกว่า ธรรมาธิปไตย

หรือแม้กระทั้ง รัฐบาลแห่งชาติที่เสนอมาถึงปัจจุบันนี้ ตนมองว่าแนวคิดแบบนี้มันก็สอดคล้องกับการยึดอำนาจของนายทหารบางท่านก็ยังบอกว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นระบอบประชาธิปไตยที่น่าจะดีกว่าระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คือระบอบที่ผ่านมา และตนมองว่านี้เป็นการเมืองภาคประชาชนอีกแบบหนึ่งที่ผลันแปรออกมาที่มันเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2549 

ถามว่าทำไมมันถึงมาตรงนี้ ตนคิดว่ามันอาจจะเป็นคำตอบที่เราจะต้องช่วยกันแสวงหา แต่ว่าในความเข้าใจของตนคือฐานคิดของผู้นำภาคประชาชนที่มีอยู่เดิมอาจจะไม่ได้ยึดถือบนหลักประชาธิปไตยที่ได้กล่าวไป แต่ว่ามองถึงการเมืองที่ดี การเมืองอุดมคติ ว่ามันเป็นระบอบซึ่งมาจากคนดี คนที่มีคุณธรรมอะไรต่างๆ พวกนี้เป็นสิ่งที่เราจะเห็นได้ชัดทั้งในแง่การมองถึงปัญหา สาเหตุ และสังคมการเมือในเชิงอุดมคติ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันได้ปรากฏขึ้นทุกวันๆ แม้กระทั้งวันนี้ที่ตนจะพูดทีหลัง การออกแบบสังคมการเมืองที่ไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจประชาชน คือสิ่งที่เกิดขึ้นมากมายได้เห็นชัดเจน การอาศัยองค์กรต่างๆ ทางการเมืองที่ได้สถาปนาขึ้นมา เป็นองค์กรที่เรียกว่าองค์กรส่วนน้อย ที่ไม่ได้ยึดโยงกับที่มาของประชาชนแต่ว่ามีอำนาจในการเข้าไปถอดถอนตรวจสอบผู้ที่ประชาชนไม่ได้แสดงฉันทาอนุมัติ นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยง่ายเพราะว่าเราไม่ได้มีฐานคิดที่จะยึดโยงประชาชนที่เป็นผู้ใช้อำนาจประชาธิปไตยตามหลักของประชาธิปไตยแบบสากล

นี้คือสิ่งที่ตนคิดว่ามีความคิดต่างๆ เหล่านี้หล่อเลี้ยงผู้คนโดยเฉพาะภาคเอกชนในสังคมไทยที่ได้ก่อตัวขึ้นและก็มีบทบาทอย่างยิ่งที่ช่วงปลายทศวรรษที่ 40 เป็นต้นมา และตัวอย่างการเมืองภาคประชาชนของสมัชชาคนจนที่คำขวัญว่าการเมืองที่กินได้ และประชาธิปไตยที่เห็นหัวประชาชนได้มีการชุมนุมของพันธมิตรในหลายการหนึ่งและนักพัฒนาท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า เราต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจก่อน ประชาธิปไตยกินได้หรือไม่ได้ไม่มีความหมาย ซึ่งหมายความว่าได้วิพากษ์วิจารณ์การเมืองภาคประชาชนของสมัชชาคนจนและคนจนว่าไม่ใช่การเมืองของแท้

ความสำคัญของระบบเลือกตั้งรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อต่อรองกับรัฐบาล

เราจะเห็นการปะทะของแนวคิดนี้โดยเฉพะอย่างยิ่งช่วงรัฐประหาร 19 กันยาน 2549 ตนอยากจะขอยกคำกล่าวของแกนนำสมัชชาคนจนท่านหนึ่ง ชื่อนันทโชติ ชัยรัตน์ ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้วต้องขยายความว่าสมัชชาคนจนไม่ได้เข้าร่วมชุมชุมกับพันธมิตรมาโดยตลอดและมีแนวทางที่แตกต่าง ซึ่ง นันทโชติ กล่าวไว้ว่า

“การปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยอย่างสุดขั้วและโน้มเอียงหารัฐบาลใหม่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งย่อมไม่ใช่วิถีทางที่จะคลี่คลายปัญหาบ้านเมืองที่หยั่งประโยชน์ให้ประชาชนอย่างแท้จริง และขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ข้อบกพร่องของระบบเลือกตั้งและระบบรัฐสภาเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ด้วยแนวทางประชาธิปไตย และต้องแก้ไขด้วยแนวทางประชาธิปไตยด้วย”

นี้คือสิ่งซึ่งเป็นจุดยืมของการเมืองภาคประชาชนในประสบการณ์ของการเมืองภาคประชาชนที่พยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันการเมือง ระบบเลือกตั้งรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่พยายามใช้เพื่อต่อรองกับรัฐบาลซึ่งก็ได้ปรากฏอย่างชัดแจ้งเรื่อยมา การไม่ร่วมเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนกับพันธมิตรก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้

นักฉวยโอกาส-นักปฏิบัตินิยม ไม่ได้ยึดหลักการ รับอำนาจนอกระบบ เพียงหวังว่าจะนำไปสู่เป้าหมาย

พอจะสรุปได้ว่า การเมืองภาคประชาชนที่เป็นทางแพร่งก็คือ การมองปัญหาสังคมการเมืองอยู่ที่นักเลือกตั้งและผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในชนบทอาจจะเรียกว่าผู้โง่งก เพราะฉะนั้นในแง่นี้ ทางออกของปัญหาเราคงเห็นได้ชัดว่าเป็นการเสนอวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ได้ยึดอยู่ในหลักการประชาธิปไตย อาจจะกล่าวว่า แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้ เป็นการเมืองภาคประชาชนอีกแบบที่เราได้เห็นที่ผ่านมา ไม่ได้ยึดหลักเรื่องอาระยะขัดขืนตามแบบสากล ถึงขั้นสูงสุดที่จะทำอะไรก็ได้ที่มันจะจัดการคนที่มันเลวที่สุด และสิ่งนี้มีการพูดกันมาก

ขอเรียกพฤติกรรมแบบนั้นว่านักฉวยโอกาสหรือนักปฏิบัตินิยมที่ไม่ได้ยึดหลักการที่จะสามารถยอมรับเรื่องอำนาจนอกระบบ การรัฐประหาร โดยหวังว่าจะนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างสังคมการเมืองที่ดี ตามอุดมคติของกลุ่มตน ซึ่งได้นำไปสู่การสร้างปัญหาของสังคมการเมือง ตามมามากมาย ผมคิดว่าสังคมการเมืองในอุดมคติของการเมืองภาคประชาชนแบบนี้มีลักษณะสนับสนุน ระบอบการเมืองหรือระบอบประชาธิปไตยซึ่งอาจจะเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบจารีตโดยพยายามที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยเฉพาะรูปแบบที่สอดคล้องกับสิ่งซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่คิดว่าจะมีคุณธรรม เป็นกลาง

การเมืองภาคประชาชนในแง่นี้จึงเป็นการเมืองภาคประชาชนที่มุ่งเอาอำนาจออกจากประชาชน ไม่ได้มุ่งถ่ายโอนอำนาจสู่ประชาชนในการจัดการชีวิตสาธารณะ ในการจัดการนโยบายสาธารณะแต่เรียกหาคนดี คนมีคุณธรรม สร้างระบอบเผด็จการเสียงข้างน้อย เพื่อที่จะรองรับสำหรับคนดีมีคุณธรรม แต่ปัญหาก็คือ สถาบันการเมืองแบบนี้ ไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน หรือในด้านกลับกัน มันกลับไปตรวจสอบ กำกับ หรือไปถอดถอน ผู้คนหรือตัวแทน หรือระบบการตัดสินใจ ที่ประชาชนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ ได้แสดงฉันทานุมัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

การเมืองภาคประชาชนของคนเสื้อแดง

ในส่วนการเมืองภาคประชาชนของคนเสื้อแดง เราคงเห็นภาพว่าการไม่เอาอำนาจนอกระบบ การรัฐประหาร คำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ มองคนเท่ากัน ซึ่งนี้คือหลักการพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวตนคิดว่าสิ่งที่อาจจะไม่เพียงพอจากการมองประสบการณ์ของคนจนคนด้อยโอกาส ประชาธิปไตยแบบตัวแทนในทรรศนะของคนเสื้อแดง อาจจะไม่ได้ถ่ายโอนหรือออกไปในเรื่องผู้แทนตัวแทนไปสู่ประชาชนคนชั้นล่าง เพราะเราคงเห็นได้ชัดว่าการถ่ายโอนอำนาจไปสู่คนข้างล่างไม่ว่าจะเป็นการเมืองภาคประชนในเชิงสถาบันซึ่งตนมองว่าการเมืองภาคประชาชนขอคนเสื้อแดงอย่างน้อยที่สุดก็ จะปกป้องหลักการพื้นฐาน ปกป้องอำนาจในการหย่อนบัตรเลือกตั้ง เอาไว้ ซึ่งในอีกฝั่งกลับตรงกันข้าม

การเมืองภาคประชาชนในปัจจุบันภายใต้เงื้อมเงาของอำนาจนิยม

ประเด็นสุดท้าย  การเมืองภาคประชาชนในปัจจุบัน ประภาสจะขอเรียกว่าการเมืองภาคประชาชนภายใต้เงื้อมเงาของอำนาจนิยมว่าได้สร้างปัญหาอะไรบ้าง ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ผ่าน การเมืองภาคประชาชนแบบลัทธิฉวยโอกาสและปฏิบัตินิยมได้ออกมาเคลื่อนไหว จนนำมาสู่การรัฐประหารถึง 2 ครั้ง เช่น ในมิติเรื่องสิทธิเสรีภาพ พื้นที่ของคนจนที่ใช้การเมืองบนท้องถนนเพื่อต่อรองกับรัฐบาล รัฐประหารทำให้พื้นที่ต่างๆเหล่านี้ หายไป มันก็คือการสูญเสียส่วนนี้ไป คือ การห้ามชุมนุมภายใต้กฎอัยการศึกพวกนี้ เพราะพื้นที่เหล่านี้จำเป็นในการตอรอง

ในสภาพการเมืองปัจจุบันคงยกตัวอย่างได้มากมาย เช่น การคืนพื้นป่าซึ่งกระทบกับชาวบ้านอย่างกว้างขว้าง นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นคือพื้นที่การต่อรองหายไป อย่างปัจจุบันที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ซึ่งถ้าเราอยู่ในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย การเดินประท้วงอะไรก็จะเกิดขึ้นอย่างกว้าขวาง  เพราะฉะนั้นตนคิดว่ามันสร้างผลกระทบอย่างกว้างใหญ่ที่มาจากการยึดอำนาจ

การเมืองภาคประชาชนที่เอาอำนาจขึ้นไปสู่ข้างบน

ในประเด็นการจรรโลงประชาธิปไตย การจำกัดเรื่องตัวแทนผู้แทนในสภาปฏิรูป กระบวนการปฏิรูปที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะนำมาสู่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญหรือการออกแบบสังคมการเมืองของประชาธิปไตยของไทย ตนมองว่าน่าจะออกมาในประชาธิปไตยค่อนใบ มันคงไม่น่าเกลียดเหมือนประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยพลเอกเปรม แต่เราคงเห็นภาพรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามจะนำอำนาจออกจากคนส่วนใหญ่ ตนคิดว่าอำนาจในการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะมันจะสลับซับซ้อนมากไปกว่าเดิม ซึ่งกลไกเหล่านี้อาจจะไประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจ ช้าราชการ ชนชั้นนำ แต่จะไม่มีชาวนา ชาวไร่ ที่จะเข้าไปต่อรอในกลไกต่างๆเหล่านี้ และเราควรจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมันจะสลับซับซ้อนมากไปกว่ายุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ในส่วนวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งสรรหา เป็นปัญหาในทางหลักการว่าเป็นการสร้างเผด็จการเสียงส่วนน้อย ไม่ยึดโยงกับประชาชน และเอาไปกำกับผู้แทนที่มาจากกรเลือกของประชาชน  ซึ่งอาจจะเรียกว่าการเมืองของชนชั้นนำ

กล่าวถึงที่สุดแล้ว นี้คือการเมือภาคประชาชนอะไรกัน เป็นการเมืองภาคประชาชนที่เอาอำนาจขึ้นไปสู่ข้างบน ไม่ได้ยึดโยงกับคนด้านล่างซึ่งตนมองว่านี้คงเป็นวาทะกรรมแบบหนึ่งที่สร้างการเมืองภาคประชาชนที่ไม่ถ่ายโอนอำนาจไปสู่คนข้างล่าง

ร่างรธน. สถาปนาเพิ่มอำนาจผู้ดี ลดอำนาจของประชาชน สู่ขัดแย้งอย่างกว้างขว้าง

รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างตอนนี้จะสถาปนาเพิ่มอำนาจของผู้ดี ลดอำนาจของประชาชน และจะนำไปสู่การขัดแย้งอย่างกว้างขว้าง อย่าหวังไปถึงการปรองดอง เพราะการสถาปนาอำนาจแบบนี้นำไปสู่การทำลายพื้นที่การเมืองของผู้คนข้างล่างที่พยายามสร้างมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ หรือการสร้างประชาธิปไตยที่อาศัยการเลือกตั้ง เพื่อจะมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือในการถึงทรัพยากรของสังคม

ในประเด็น อนาคตของการเมืองภาคประชาชน มองว่าบทเรียนที่สำคัญก็คือเราพากันสร้างวัฒนธรรมการแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมีลักษณะเป็นลัทธิฉวยโอกาส มุ่งสร้างสังคมการเมืองที่ไม่ยึดอยู่กับประชาธิปไตย มุ่งสร้างสังคมให้ยึดอยู่แบบเผด็จการเสียงข้างน้อยที่ไม่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชนสังคมการเมืองแบบนี้จะไปอย่างไรในเมื่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของสังคมที่ผู้คนมีความหลากหลาย

ลัทธิฉวยโอกาสมันได้ไม่คุ้มเสีย สำหรับคนจน

สังคมการเมืองแบบนี้จะไปรอดอย่างไรเมื่อไม่เปิดโอกาสให้ประชาชน คงไม่มีอัศวินม้าขาว คนดีมีคุณธรรมสูงจะเข้ามาสู่สังคมการเมืองที่ออกแบบ และตัดสินใจเลือกประโยชน์สาธารณะของคนทั้งชาติ แล้วอ้างว่ามีคนดีที่จะสามารถกระจายผลประโยชนให้คนทั้งชาติได้เท่ากัน สุดท้ายแล้วก็พิสูจน์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้คนบางฝ่ายเสมอ เมื่อพูดถึงการสรุปบทเรียนที่ผ่านมา ตนจะสรุปบทเรียนในส่วนของคนจนคนด้อยโอกาสว่าลัทธิฉวยโอกาสมันได้ไม่คุ้มเสีย ที่จะอันเชิญอำนาจนอกระบบอบมาจัดการปัญหา ซึ่งรวมทั้งรัฐบาลแห่งชาติจากราษรอาวุโสด้วย เราควรจะเลิกค่านิยมแบบนี้

เสนอตื่นจากลัทธิฉวยโอกาส คืนสิทธิการพูดคิดเขียนชุมนุม ไม่สร้างประชาธิปไตยแบบจารีตนิยม

และสุดท้ายอนาคตของการเมืองภาคประชาชน เสนอว่า

1. ตื่นจากการเป็นลัทธิฉวยโอกาสที่มีความยินดีและหลงใหลได้ปลื้มกับวิธีการใช้อำนาจนอกระบบและวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะมันได้สร้างผลกระทบอย่างกว้างขว้างต่อคนจนรวมทั้งภาคประชาชนที่ทำงานกับคนจนด้วย

2. เรียกร้องให้ช่วยกันรณรงค์ให้คืนพื้นที่ปกติให้ผู้คนในสังคมได้ใช้เรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานในการพูดคิดเขียนรวมทั้ง รวมทั้งการเดินขบวนชุมนุมประท้วงบนท้องถนนเพื่อเป็นการต่อรองให้เรื่อง ปากท้องหรือการดำรงชีพให้อยู่ได้ น่าจะเป็นสิ่งซึ่งทำร่วมกัน ในส่วนเกี่ยวกับการสร้างกติกาอะไรต่างๆ ในปัจจุบันการเขียนรัฐธรรมนูญ เราคงต้องเรียกร้องขยายขบวนการการมีส่วนร่วมในเรื่องประชาวิจารณ์ เรื่องรัฐธรรมนูญ สิ่งพวกนี้จะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่ยกเลิกประกาศของ คสช. ดังนั้นต้องคืนพื้นที่ปกติให้ได้

3. เราต้องไม่สร้างประชาธิปไตยแบบจารีตนิยม หรือระบบการเมืองเชิงสถาบันหรือองค์กรทางการเมืองที่มีลักษณะเป็นเผด็จการเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่กลับไปมีอำนาจมาก และนี้คือมรดกที่เราไม่ควรจะสร้างสิ่งเหล่านี้ไว้ เพระจะนำไปสู้ปัญหาระยะยาว

4.ควรจะสร้างการเมืองภาคประชาชนที่มุ่งถ่ายโอนไปสู่คนข้างล่าง ไม่ใช่มุ่งนำเอาอำนาจออกจากประชาชนและนำไปสู่ข้างบนไม่ว่าจะออกแบบอย่างไรก็ดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net