รายงานค้ามนุษย์ปี 58 สหรัฐอเมริกาจัดอันดับไทยอยู่บัญชีรั้งท้ายปีที่ 2 ติดต่อกัน

กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาเผยสถานการณ์ค้ามนุษย์ปี 2558 - ไทยอยู่บัญชี 3 ร่วมกับเกาหลีเหนือ ซูดานใต้ ซีเรีย - ระบุไทยยังเป็นต้นทาง ปลายทาง ทางผ่านค้ามนุษย์-ค้าประเวณี บังคับใช้แรงงานประมง ละเมิดทั้งแรงงานไทย-แรงงานข้ามชาติ เจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นขบวนการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยยังไม่สามารถทำตามมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อขจัดการค้ามนุษย์ ขณะที่มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี เลื่อนจากบัญชี 3 ไปบัญชี 2

จอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา อ่านทบทวนรายงานประจำปี สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 (TIP Report 2015) ร่วมกับ ผู้อำนวยการโรงพิมพ์แห่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ดาวิตา วานซ์-คุกส์ ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้แถลงรายงานประจำปีเรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ที่วอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 (ที่มา: State Department photo/Public Domain)

แผนที่ในรายงานประจำปี สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา แสดงสถานการณ์ด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยสีเขียวหมายถึงอยู่ในบัญชีที่ 1 (Tier 1) สีเหลืองอยู่ในบัญชีที่ 2 (Tier 2) สีส้มอยู่ในบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) สีแดงหมายถึง บัญชีที่ 3 (Tier 3) สถานการณ์เลวร้าย โดยไทยและเกาหลีเหนืออยู่ในกลุ่มสีแดง หมายถึง บัญชีที่ 3 ขณะที่มาเลเซีย และปาปัว นิวกินี ซึ่งปี 2557 อยู่ในบัญชีที่ 3 ปีนี้ได้รับการเลื่อนไปอยู่ในบัญชีที่ 2

 

28 ก.ค. 2558 - เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นี้ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยนายจอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 (Trafficking in Persons Report 2015 หรือ TIP Report 2015) เป็นการสำรวจทุกประเทศ

โดยในปีนี้ประเทศไทยยังคงอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด โดยอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2557 โดยเมื่อปี 2557 ไทยถูกลดอันดับอัตโนมัติจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยในรายงานประจำปี 2558 ดังกล่าว มี 23 ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ได้แก่ แอลจีเรีย, เบลารุส, เบลิซ, บุรุนดี, แอฟริกากลาง, โคโมโรส, อิเควทอเรียล กินี, เอริเทรีย, แกมเบีย, กินี-บิซเซา, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, คูเวต, ลิเบีย, หมู่เกาะมาร์แชล, มอริเตเนีย, รัสเซีย, ซูดานใต้, ซีเรีย, ไทย, เยเมน, เวเนซุเอลา, ซิมบับเว

โดยในจำนวนนี้มีประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เคยอยู่ใน บัญชีกลุ่มที่ 3 ได้รับการเลื่อนอันดับขึ้นไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ได้แก่ มาเลเซีย และปาปัวนิวกินี ทำให้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค มีไทย และเกาหลีเหนือ ที่ในปีนี้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3

 

รายงานฉบับล่าสุด ระบุไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่าน การค้ามนุษย์

ในรายงานประจำปี 2015 (อ่านรายงาน) ระบุถึงประเทศไทยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับ ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กที่เป็นเป้าหมายของการบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณี ทั้งนี้ประมาณการว่ามีแรงงานข้ามชาติในประเทศราว 3-4 ล้านคน ส่วนมากมาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น พม่า ลาว และกัมพูชา นอกจากนี้ยังเชื่อว่า แรงงานข้ามชาติเหล่านี้บางส่วนถูกบังคับ ขู่เข็ญ หรือหลอกลวง ให้เข้าสู่กระบวนการค้าแรงงาน หรือการค้าแรงงานทางเพศ มีรายงานว่าแรงงานที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เหล่านี้จำนวนมากถูกกดขี่อยู่ใน กิจการประมงเพื่อการค้า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง โรงงาน และแรงงานในบ้าน

แรงงานข้ามชาติบางส่วนซึ่งเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ก็ถูกเนรเทศโดยไม่มีกระบวนการคัดกรองที่เหมาะสม เนื่องจากกระบวนการระบุเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ยังไม่มีความต่อเนื่อง เหยื่อการค้ามนุษย์บางรายถูกบังคับให้ไปขอทานตามถนน การค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณียังคงเป็นปัญหาสำคัญของธุรกิจทางเพศของไทย ซึ่งบ่อยครั้งการค้ามนุษย์เป็นไปเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมทางเพศ

ทั้งนี้เหยื่อการค้ามนุษย์มาจากทั้งพม่า กัมพูชา ลาว จีน เวียดนาม อุซเบกิซสถาน และอินเดีย ซึ่งต้องการเข้ามาในเมืองไทยเพื่อหางาน บ่อยครั้งได้รับความช่วยเหลือจากญาติ เพื่อนบ้าน หรือเครือข่ายจัดหางานที่ไม่เป็นทางการ และมีทั้งนายหน้าหางานทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้หางานทำและนายจ้าง บ้างก็ร่วมมือกับนายจ้าง รวมถึงเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งทุจริต

บางครั้งแรงงานข้ามชาติต้องเป็นหนี้ก้อนใหญ่ทั้งจากในประเทศไทยและประเทศต้นทาง เพื่อการได้มาซึ่งงานทำ และต้องตกอยู่ในภาวะแรงงานขัดหนี้ ผู้ค้ามนุษย์ รวมทั้งนายหน้าแรงงานชาวไทยและชาวต่างชาติ มักจะนำเหยื่อชาวต่างชาติมายังประเทศไทย มีรายงานว่านายหน้าและนายจ้างมักจะยึดเอกสารประจำตัวของแรงงาน แรงงานชายทั้งชาวไทย พม่า กัมพูชา และอินโดนีเซีย ตกเป็นเป้าหมายบังคับใช้แรงงานในเรือประมงไทย แรงงานชายบางคนต้องอยู่ในทะเลต่อเนื่องนับหลายปี และได้รับค่าจ้างน้อยมาก หรือได้รับค่าจ้างอย่างไม่สม่ำเสมอ ทำงาน 18 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน และทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ถูกขู่ว่าจะถูกทุบตีและถูกทุบตี

เหยื่อการค้ามนุษย์บางรายในภาคประมงไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ เนื่องจากอยู่ในสถานที่ทำงานที่อยู่ห่างไกล ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และขาดเอกสารประจำตัวที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย หรือไม่มีวิธีเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดที่ปลอดภัย

ผู้หญิง ผู้ชาย เด็กชายและเด็กหญิง จากประเทศไทย ลาว เวียดนาม และพม่า ตกเป็นเป้าหมายของการค้ามนุษย์ทางเพศในประเทศไทย ประเทศไทยเองก็เป็นประเทศทางผ่านของเหยื่อจากจีน เวียดนาม บังกลาเทศ และพม่า เพื่อการค้ามนุษย์ทางเพศ หรือแรงงานบังคับในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปตะวันตก

ผู้มีสัญชาติไทยมักตกเป็นเหยื่อแรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ทางเพศในประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง รวมทั้งอิสราเอล ทั้งชายและหญิงชาวไทยซึ่งเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำงานตามสัญญาจ้างงานแรงงานทักษะต่ำ หรือแรงงานด้านการเกษตร บางครั้งก็ตกอยู่ในเงื่อนไขของแรงงานบังคับ และแรงงานขัดหนี้ และมีนายหน้าชาวไทยร่วมในการดำเนินการด้วย

แรงงานไทยบางคนตกอยู่ในภาวะหนี้สินจำนวนมากเพราะต้องจ่ายค่านายหน้า และค่าหางาน บางครั้งพวกเขาต้องใช้ที่ดินของครอบครัวมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งทำให้พวกเขาอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ ชายไทยบางคนตกอยู่ในสภาพแรงงานบังคับในเรือประมงสัญชาติไทยซึ่งออกทำประมงทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเดินเรือไปไกลกว่านั้น

พ่อแม่บางราย หรือนายหน้าบังคับเด็กจากประเทศไทย รวมทั้งกัมพูชาและพม่า เพื่อขายดอกไม้ ขอทาน หรือทำงานในบ้านในพื้นที่เมือง เด็กหญิงจากไทย พม่า ลาว ซึ่งบางคนถือเอกสารอย่างไม่ถูกต้อง ตกเป็นเหยื่อของการค้าแรงงานทางเพศในสถานค้าประเวณี โรงนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และบ้านส่วนตัว ทั้งนี้เอ็นจีโอท้องถิ่นได้รายงานถึงการใช้โซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นในการจัดหาเด็กเข้าสู่การค้ามนุษย์ทางเพศ และจัดหาผู้หญิงซึ่งอาจตกอยู่ในการค้ามนุษย์ทางเพศ ทั้งนี้สมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย บุคคลไร้สัญชาติ บุคคลในพื้นที่สูงของไทย ต้องประสบกับการถูกละเมิดที่ถูกบ่งชี้ว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์ มีรายงานด้วยว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทยยังคงเกณฑ์และใช้เด็กในการร่วมก่อเหตุความไม่สงบ รวมทั้งทำงานสอดแนม

 

เจ้าหน้าที่รัฐบางรายสมรู้ร่วมคิดขบวนการค้ามนุษย์ กระทั่งมีส่วนร่วมกับนักค้ามนุษย์

เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลไทยบางรายสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ และการยังคงทุจริตเพื่อกร่อนเซาะความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ มีบางกรณีซึ่งเจ้าหน้าที่ทุจริตทั้งประเทศต้นทางและปลายทางที่ยอมรับการจ่ายเงินเพื่อการนำคนเข้าเมือง ระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านซึ่งรวมทั้งมาเลเซีย ลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งแรงงานข้ามชาติเหล่านี้บ่อยครั้งตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

แหล่งข้อมูลจากสื่อในปี 2556 รายงานถึงกรณีที่พลเรือนและเจ้าหน้าที่ในกองทัพชาวไทยที่ได้ผลประโยชน์จากการขายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจากพม่าและบังกลาเทศให้เข้าสู่แรงงานบังคับในเรือประมง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยบางรายที่เคลื่อนย้ายชาวโรฮิงญาจากสถานที่กักกันและขายพวกเขาให้กับนายหน้าเพื่อนำพาพวกเขาไปยังภาคใต้ของไทย ซึ่งบางรายถูกบังคับให้ทำงานเป็นพ่อครัว และยามในค่าย หรือถูกขายไปเป็นแรงงานบังคับในไร่นาหรือกิจการขนส่งทางเรือ

มีรายงานที่เชื่อถือได้บ่งชี้ว่ามีเจ้าหน้าที่ทุจริตบางรายช่วยปกป้องสถานค้าประเวณีหรือสถานที่เพื่อธุรกิจทางเพศอื่นๆ ไม่ให้ถูกบุกจับกุมหรือถูกสอบสวน แม้แต่สมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ หรือใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อทำให้คดีมีหลักฐานอ่อนลง หรือแม้แต่ค้าประเวณีเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากความไม่ไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ หรือขาดความตระหนักในสิทธิที่พวกเขามี ทำให้แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารประจำตัว มักจะกลัวที่จะรายงานต่อเจ้าหน้าที่ถึงคดีการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้น

 

รัฐบาลไทยยังไม่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

รายงานประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลไทยไม่สามารถทำตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ และไม่มีการแสดงให้เห็นความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยมีการสืบสวนและดำเนินคดีบางคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ แต่การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับค้ามนุษย์ยังคงดำเนินต่อไปซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปราบปรามการค้ามนุษย์

ในรายงานของสหรัฐอเมริการะบุต่อไปว่า วิธีในการเก็บข้อมูลเริ่มมีการปรับปรุงหลังจากมีการใช้ฐานข้อมูลระบบใหม่ รัฐบาลทำให้การสอบสวน การดำเนินคดี  การพิพากษา และเหยื่อการค้ามนุษย์ ลดจำนวนลงในปี 2014 รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการป้องกัน รวมไปถึงตั้งคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และผ่านกฎกระทรวงที่ให้เพิ่มอายุขั้นต่ำของแรงงานในภาคเกษตร และเรือประมง และกำหนดให้มีสัญญาจ้างงาน กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงในการพักผ่อน และวันหยุด

รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์เพื่อเพิ่มบทลงโทษต่อนักค้ามนุษย์ และคุ้มครองผู้ที่มาร้องเรียน รัฐบาลได้ผ่านพระราชบัญญัติประมงฉบับใหม่ แทนที่ฉบับเดิมเมื่อ ค.ศ. 1946 ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มเงื่อนไขที่มีการปรับปรุงในเรื่องการจดทะเบียนและการตรวจสอบเรือประมง รวมทั้งตรวจตราเอกสารอนุญาตทำงานของแรงงาน และดูแลสภาพการจ้างงาน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลตอบสนองอย่างแข็งขันในการมุ่งมั่นที่จะต่อต้านการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีต่อผู้สื่อข่าวและนักรณรงค์ที่ออกมาเปิดโปงนักค้ามนุษย์ และการออกแถลงการณ์ที่ทำให้สื่อมวลชนที่รายงานเรื่องการค้ามนุษย์เสียกำลังใจ นับเป็นการทำลายความพยายามที่จะสืบหาและช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ และจับกุมนักค้ามนุษย์

ในบางจังหวัดของไทย รัฐบาลได้พยายามที่จะคัดกรองผู้อพยพชาวโรฮิงญา เพื่อสืบหาว่าถูกค้ามนุษย์มาหรือไม่ และทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ทางเพศ อย่างไรก็ตามยังขาดแคลนล่ามแปลภาษาสำหรับเหยื่อการค้ามนุษย์เหล่านั้น รัฐบาลเองก็ยังไม่มั่นใจที่จะระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นแรงงานประมง หรือแรงงานในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ

สำหรับรายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) เป็นรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) เพื่อรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกา โดยเปรียบเทียบสถานการณ์การค้ามนุษย์ของทั่วโลก กับมาตรฐานของสหรัฐฯ และจัดลำดับประเทศต่างๆ ออกเป็น 4 ระดับ

ระดับที่ดีที่สุด คือ Tier 1 หมายถึง ประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ในการป้องกันละบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์

ระดับถัดมาคือ Tier 2 หมายถึง ประเทศที่มีการดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายของสหรัฐอเมริกา แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา

ระดับ Tier 2 Watch List หมายถึง ประเทศที่มีรายงานเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลได้พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์

และระดับต่ำสุด คือ ระดับ Tier 3 หมายถึงประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Trafficking in Persons Report 2015, http://www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/2015/index.htm

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท