นักปั่นอังกฤษชี้ หมวกกันน็อคไม่ใช่เป้าหมายในการสร้างสังคมจักรยาน

บล็อกเกอร์ชาวอังกฤษระบุ การรณรงค์ให้ใส่หมวกกันน็อคเป็นความล้มเหลวเชิงนโยบายมากกว่าการสร้างสังคมการปั่นอย่างปลอดภัย ชี้ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านนักวิจัยพบใส่หมวกกันน็อคอันตรายมากขึ้น


ภาพโดย Poakpong (CC BY 2.0)

การปั่นจักรยานจำเป็นที่จะต้องมีหมวกกันน็อคเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ดี ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการปั่นจักรยาน กลับมีน้อยคนที่สวมใส่หมวกกันน็อค ขณะที่ประเทศอังกฤษซึ่งการใส่หมวกกันน็อคเป็นธรรมเนียมของนักปั่น การปั่นจักรยานกลับอันตรายกว่าถึงหกเท่า

บล็อกเกอร์ชาวอังกฤษ นามแฝงว่า The Alternative Department of Transport ได้เขียนบทความ Infrastructure vs Helmets ลงเว็บ http://www.fastcoexist.com/ ระบุว่า “การปั่นจักรยานอย่างปลอดภัยนั้นมีมากกว่าการใส่หมวกโฟมพลาสติก” แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และกล่าวด้วยว่าที่นักปั่นชาวอังกฤษสวมใส่หมวกกันน็อค ก็เพราะถนนอันตรายมาก ดังนั้นแล้วอัตราการใส่หมวกกันน็อคที่สูงควรถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวเชิงนโยบายมากกว่าจุดหมาย

ในประเทศเนเธอร์แลนด์และบางส่วนของประเทศเช่นเยอรมนี ระบบถนนได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับยานพาหนะหลายประเภท วงเวียนมีเลนพิเศษสำหรับจักรยาน และรถที่จะเลี้ยวเพื่อออกจากวงเวียนต้องหยุดให้จักรยานไปก่อน ไฟจราจรแบ่งตามความเร็วของการปั่นไม่ใช่ความเร็วรถ จักรยานมีพื้นที่ติดไฟแดงแยกอยู่บริเวณด้านหน้าของรถยนต์ บางแห่งมีไฟจราจรเฉพาะที่จะไฟเขียวก่อนเพื่อให้นักปั่นได้ออกตัวก่อน นอกจากนี้ยังมีเลนจักรยานเพียงพอ โดยเลนจักรยานมักจะแยกออกจากถนนในแยกที่ซับซ้อนวุ่นวาย และหากมีการก่อสร้างถนนก็มีทางเบี่ยงให้เช่นเดียวกับเลนรถยนต์

โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ทำให้จักรยานเป็นพาหนะที่ได้รับความนิยม แม้แต่กระทั่งในกลุ่มผู้ถือครองรถยนต์ ในประเทศเนเธอร์แลนด์มีสถิติระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเดินทางด้วยจักรยานเฉลี่ย 1 รอบต่อวัน และผู้สูงอายุกว่า 75 เดินทางด้วยจักรยานเฉลี่ย ครึ่งรอบต่อวัน ตัวเลขยังระบุอีกด้วยว่า การเดินทางภายในระยะ 4 กิโลเมตร (2.5 ไมล์) จะใช้จักรยานหรือการเดินเท้าเกือบทั้งหมด

นโยบายการขนส่งที่มุ่งไปที่การเคลื่อนย้ายผู้คนมากกว่าการเคลื่อนย้ายรถยนต์ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคน ยกเว้นเฉพาะผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์

อย่างไรก็ดี Randy Swart จากสถาบัน Bicycle Helmet Safety Institute ในรัฐเวอร์จิเนียกล่าวถึงความสำคัญของการสวมหมวกกันน็อคว่า “แม้ว่าอุบัติเหตุที่ถึงแก่ชีวิตส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับรถยนต์ แต่อุบัติเหตุที่ศีรษะไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับรถยนต์เสมอไป” นาย Swart กล่าวด้วยว่า “ในการปั่นจักรยานระยะทาง 1 ไมล์ มีรูปแบบที่รถล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ถึง 5,280 แบบ ดังนั้น หมวกกันน็อคจึงยังจำเป็นอยู่”

อย่างไรก็ดี Swart เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการปั่นจักรยาน เขากล่าวว่าในประเทศเนเธอร์แลนด์ ไม่มีใครที่เปิดประตูรถยนต์โดยไม่ดูก่อนว่าข้างหลังมีจักรยานผ่านมาหรือเปล่า ระบบกฎหมายออกแบบเพื่อปกป้องนักปั่นจากรถยนต์ มีวัฒนธรรมการปั่นจักรยานและเชื้อเพลิงมีราคาแพง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อการปั่นจักรยานเอื้อให้มีคนปั่นจักรยานเพิ่มมากขึ้น และทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องระวังกับนักปั่นที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความปลอดภัยก็ยิ่งเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจริง สวมหมวกไว้ย่อมดีกว่า
กระนั้น จากการศึกษากลับพบว่า การสวมใส่หมวกกันน็อคกลับทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้นจากสองส่วน ส่วนแรกคือ ปรากฏการณ์ชดเชยความเสี่ยง (Risk Compensation) และส่วนที่สองคือ รถยนต์จะขับใกล้นักปั่นที่สวมหมวกกันน็อคมากกว่า

บทความอธิบายปรากฏการณ์ชดเชยความเสี่ยง (Risk Compensation) ว่า เมื่อนักปั่นสวมหมวกกันน็อคจะปั่นอย่างระมัดระวังน้อยลง จากการวิจัยในปี 2011 ของนิตยสาร Risk Analysis พบว่า นักปั่นที่สวมหมวกกันน็อคเป็นประจำมีโอกาสประสบกับความเสี่ยงสูงกว่า และจะปั่นจักรยานช้าลงถ้าหากไม่ได้สวมหมวกกันน็อค

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการเว้นระยะห่างของรถยนต์ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Bath ในปี 2006 พบว่าผู้ที่ไม่สวมหมวกกันน็อคจะได้รับการเว้นระยะห่างเพิ่มถึง 3.3 นิ้ว และผู้ที่สวมวิกผมเหมือนผู้หญิงได้ระยะห่างเพิ่ม 5.5 นิ้ว อย่างไรก็ดี รถยนต์ปกติจะเว้นระยะห่างกับจักรยานราว 4.1 – 4.5 ฟุต ทำให้ระยะที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ไม่มีผลมากนัก

แต่ก็มีทฤษฎีที่กล่าวลึกไปกว่านั้นว่า ผู้ขับขี่รถยนต์จะเข้าใจว่านักปั่นที่สวมหมวกกันน็อคแสดงถึงประสบการณ์ที่มากกว่า และสามารถคาดเดาได้ง่ายกว่า เช่นเดียวกับนักปั่นที่มีเทคนิคว่า ถ้าได้ยินเสียงรถยนต์มาข้างหลัง ให้ทำตัวโอนเอนเล็กน้อย และรถที่ผ่านไปจะเว้นระยะห่างมากขึ้น

ประเด็นหมวกกันน็อคจักรยานนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกัน มีทั้งข้อดีและข้อเสียของการใส่และไม่ใส่หมวกกันน็อค อย่างไรก็ดี อีกประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนคือ การมุ่งเป้าไปที่หมวกกันน็อคโดยละเลยโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างความปลอดภัยที่ถาวรและเป็นสากลนั้นเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด

เรียบเรียงจาก : The case against bike helmets – And for better bike infrastructure http://www.fastcoexist.com/3048883/the-case-against-bike-helmets-and-for-better-bike-infrastructure

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท