Skip to main content
sharethis

บูรณะบ้านและสุเหร่า “หะยีสุหลง” สร้างศูนย์เรียนรู้จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ปาตานียุคใหม่ ศอ.บต.ทุ่มงบ 7.7 ล้านซ่อมใหม่ให้เหมือนเดิมแต่ยังให้ครอบครัวโต๊ะมีนาดูแล ทายาทย้ำเป็นเจตนาเดิมของวงศ์ตระกูล เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่แต่ไม่หนุนความรุนแรง ถามกระบวนการพูดคุยจะหยิบยกบุคคลสำคัญนี้มาสร้างจุดเปลี่ยนให้กลายเป็นความหวังต่อสันติภาพได้อย่างไร


ภาพถ่ายหะยีสุหลงถ่ายรูปร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
หน้าโรงเรียนที่หะยีสุหลงสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2488 ต่อมากลายเป็นสุเหร่า



สภาพสุเหร่าหะยีสุหลงปัจจุบัน
 

7.7ล้าน บูรณะบ้าน-สุเหร่า“หะยีสุหลง โต๊ะมีนา”

ในซอยเล็กๆ ริมถนนรามโกมุทในตัวเมืองปัตตานีใกล้คิวรถบัสสายปัตตานี-นราธิวาส เป็นที่ตั้งบ้านพัก “ตระกูลโต๊ะมีนา” และเป็นที่พำนักของ “หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา” ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของปาตานี/ชายแดนใต้ ที่ถูกอุ้มหายไปจวนจะครบ 61 ปีเต็มในอีกไม่กี่วัน


สภาพบ้านพักหะยีสุหลงที่กำลังรื้อเพื่อบูรณะ

ปัจจุบันทั้งบ้านพักและสุเหร่าที่หะยีสุหลงเคยใช้สอนหนังสือมีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ขณะนี้กำลังได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเงิน 7,700,000 บาท

หลังจากบูรณะเสร็จ ทางทายาทตระกูลโต๊ะมีนาจะทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ของจังหวัดปัตตานี ให้เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์หะยีสุหลง โดยรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งตำราของหะยีสุหลงเท่าที่มีอยู่มาเก็บรวบรวมไว้ให้คนที่สนใจได้มาเรียนรู้ผลงานและประวัติหะยีสุหลง

การบูรณะเริ่มตั้งแต่ 31 มีนาคม 2558 กำหนดเสร็จ 31 กันยายน 2558 แต่อาจยืดเวลาออกไปอีกประมาณ 1 ปี เนื่องจากต้องใช้ความประณีตในการซ่อมแซมเพื่อให้ออกมาเหมือนเดิมมากที่สุด

บ้านพักหะยีสุหลงถูกทิ้งร้างมานานจนทรุดโทรมลงไปมาก ต่างอาคารสุเหร่าที่ยังไม่ทรุดโทรมมากนัก เพราะมีการใช้เป็นที่ละหมาดมาต่อเนื่องจนปัจจุบัน ทั้งบ้านพักและสุเหร่าเป็นอาคารไม้ 2 ชั้นมีเอกลักษณ์สวยงามตามรูปทรงบ้านมลายู

ทั้งบ้านพักและสุเหร่าสร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันราวปี พ.ศ.2470 โดยสุเหร่าหลังนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์หลายอย่าง โดยเฉพาะการจัดทำข้อเสนอ 7 ข้อเกี่ยวกับสิทธิในการปกครองและสิทธิทางศาสนาในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้


7 ข้อหะยีสุหลงจัดทำขึ้นที่นี่

เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร อดีตผู้ตรวจราชการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสตูล ได้เขียนในหนังสือชื่อ “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏ...หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ระบุว่า 7 ข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้นจากการที่หะยีสุหลงจัดประชุมผู้นำศาสนาในพื้นที่เพื่อทำข้อเสนอต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2490 เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากรัฐบาลใช้นโยบายรัฐไทยนิยม บังคับให้คนไทยแต่งกายเหมือนตะวันตก รวมถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการต่างๆต่อคนในพื้นที่จนเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง

แต่ข้อเสนอทั้งหมด ถูกรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นมีมติไม่รับเพราะมองว่าจะเป็นการแบ่งแยกดินแดน ทำให้ต่อมาหะยีสุหลงถูกเพ่งเล็งจากทางการมากขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่การถูกจับกุมข้อหากบฏ ถูกพิพากษาจำคุกหลายปี สุดท้ายเขาก็หายตัวไปพร้อมผู้ติดตามในวันที่ 13 สิงหาคม 2497 โดยเชื่อว่าถูกอุ้มหายไป


จุดเริ่มต้นบูรณะบ้าน-สุเหร่าหะยีสุหลง


จตุรนต์ เอี่ยมโสภา

“จตุรนต์ เอี่ยมโสภา” ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลโต๊ะมีนา ผู้ดูแลบ้านพักและสุเหร่าหะยีสุหลงได้เล่าถึงที่มาของการบูรณะบ้านพักและสุเหร่าหะยีสุหลงว่า เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วในงานแต่งงานของคุณซารฟาน โต๊ะมีนา ลูกชายนายอัศมี โต๊ะมีนา หลานคนหนึ่งของหะยีสุหลง ที่มีพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต.มาร่วมงานด้วย โดย พ.ต.อ.ทวีได้ถามถึงอาคารเก่าสองหลังนี้จนทราบเป็นของหะยีสุหลง


เด่น โต๊ะมีนา

ครั้งนั้นคุณเด่น โต๊ะมีนา ลูกชายหะยีสุหลง อธิบายว่า สุเหร่าหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2470 ใช้งบประมาณ 7,200 บาท โดยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นบริจาคให้ 3,200 บาท เอามารวมกับเงินบริจาคของประชาชนและเงินส่วนตัวของหะยีสุหลงอีก 4,200 บาท

สุเหร่าหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามให้คนในพื้นที่ ชื่อ มัดรอซะห์ดารุลมาอาเรฟอัล-ฟอตอนียะห์ เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกในประเทศไทย และยังใช้เป็นสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีด้วย ซึ่งเป็นสำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งแรกในประเทศไทยด้วยเช่นกัน


เจตนาเดิมของครอบครัวโต๊ะมีนา

“จากนั้น พ.ต.อ.ทวี จึงเชิญผมกับหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา ลูกสาวคุณเด่นไปร่วมประชุมโครงการเส้นทางอุลามะห์ปัตตานีที่ศาลากลางจังหวัด โดยที่ประชุมมีข้อสรุปว่า รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้โครงการนี้ 4 ส่วน คือ 1.มอบให้มัสยิดกลางปัตตานี 2.ซ่อมแซมบ้านพักและสุเหร่าหะยีสุหลง 3.บูรณะบ่อน้ำเชคดาวูดอัล-ฟาฏอนี อ.เมือง จ.ปัตตานี และ 4.ปรับปรุงภูมิทัศน์มัสยิดตะโละมาแนะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

แต่ที่ประชุมมีเงื่อนไขว่า เมื่อซ่อมแซมบ้านและสุเหร่าหะยีสุหลงเสร็จแล้วทางครอบครัวโต๊ะมีนาต้องมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล อาจจะเป็นเทศบาลเมืองปัตตานีหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี แต่ทางครอบครัวโต๊ะมีนาไม่ยินยอม เพราะในบริเวณบ้านพักและสุเหร่ายังมีคนอาศัยอยู่ จึงปฏิเสธที่จะให้ศอ.บต.ซ่อมแซมให้ แต่ต้องการจะซ่อมแซมเอง เพราะเป็นเจตนาเดิมของครอบครัวโต๊ะมีนาอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ทวีต้องการให้มีการซ่อมแซมให้ได้เพราะสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้ของจังหวัด จึงนัดประชุมอีกครั้งที่ห้องประชุมบริษัท ขนส่งปัตตานี จำกัด จนได้ข้อสรุปว่าทางศอ.บต.จะให้งบประมาณซ่อมแซมจนเสร็จ จากนั้นทางครอบครัวโต๊ะมีนาต้องดูแลรักษาเอง ทางครอบครัวโต๊ะมีนาจึงตอบตกลง

ตอนนั้น พ.ต.อ.ทวี กำหนดงบประมาณซ่อมแซม 11 ล้านบาท แต่หลังจาก พ.ต.อ.ทวีถูกย้ายไป นายภาณุ อุทัยรัตน์ มารับตำแหน่งนี้ต่อก็ได้สานต่อโครงการนี้แต่ปรับลดงบประมาณลงเหลือ 7,700,000 บาท หลังจากพิจารณาความเหมาะสมตามระเบียบของสำนักงบประมาณ


ตั้งศูนย์เรียนรู้ “หะยีสุหลง”

จตุรนณ์ พูดถึงการซ่อมแซมว่า ตัวบ้านพักจะต้องเปลี่ยนทั้งพื้น ฝ้า เพดาน กระเบื้องมุงหลังคาใหม่ทั้งหมด ส่วนอาหารสุเหร่าเปลี่ยนเฉพาะกระเบื้องมุงหลังคา หลังบูรณะเสร็จทางครอบครัวโต๊ะมีนาจะนำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของหะยีสุหลงมาตั้งไว้ให้เหมือนสมัยหะยีสุหลงยังอยู่ ส่วนสุเหร่าชั้นล่างจะทำเป็นห้องสมุดซึ่งจะมีหนังสือของคุณเด่น และเอกสารเก่าๆ ของหะยีสุหลงมาจัดแสดงด้วย

 
หนังสือ “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏ...หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้”

“เสียดายที่เอกสารของหะยีสุหลงเหลือน้อยมาก เพราะหลังจากหะยีสุหลงถูกอุ้มหายและคุณอามีน โต๊ะมีนา ลูกชายอีกคนถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ ทางเจ้าหน้าที่มาค้นบ้านแล้วยึดหนังสือดีๆไป บางส่วนทราบว่าเอาไปเผาทิ้ง จึงขอฝากหน่วยงานรัฐที่ยังเก็บหนังสือของหะยีสุหลงไว้ทางครอบครัวโต๊ะนาขอคืน เพราะเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ และมันล้าหลังไปแล้วที่จะบอกว่าเป็นเอกสารที่สามารถล้มล้างรัฐบาลได้”


จัดงานเปิดบ้านสร้างความเข้าใจใหม่

จตุรนณ์ บอกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยปิดบ้านและสุเหร่า เพียงแต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะทราบ เพราะกลัวคนที่มาเยี่ยมบ้านหะยีสุหลงจะถูกฝ่ายความมั่นคงเพ่งเล็งไปด้วย ส่วนครอบครัวโต๊ะมีนาไม่เป็นไร โดนมาเยอะแล้วตั้งแต่คุณปู่ คุณลุงและคนครอบครัวโต๊ะมีนา

ปีที่แล้ว เริ่มจัดงานเปิดบ้านหะยีสุหลงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557 จึงนัดรวมญาติกระกูลต่วนมีนาลย์ (Tuan Minal) กว่า 300 คน ใช้ชื่องานว่า “สานสัมพันธ์ลูกหลานต่วนมีนาลย์”

ต่วนมีนาลย์คือปู่ของหะยีสุหลง เป็นผู้รู้ศาสนาที่มีชื่อเสียงในอดีต ส่วนพ่อของหะยีสุหลงชื่อหะยีอับดุลกอเดร์ ดังนั้นต้นกระกูลของโต๊ะมีนาในปัจจุบันก็มาจากต่วนมีนาลย์นี้เอง

บางคนคิดว่า หะยีสุหลงเป็นลูกหลานของเต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารูดดีน อดีตเจ้าเมืองปัตตานี แต่ในความเป็นจริงหะยีสุหลงไม่เกี่ยวข้องใดๆกับเต็งกูอับดุลกอเดร์ และไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากอดีตเจ้าเมืองปัตตานี

“อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องการเปิดบ้านหะยีสุหลงเป็นศูนย์การเรียนรู้จังหวัดปัตตานี เพราะที่ผ่านมาครอบครัวโต๊ะมีนาถูกใส่ร้ายมาตลอดว่าต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือเป็นกบฏ การเปิดบ้านหะยีสุหลงก็เพื่อให้คนนอกที่ไม่เข้าใจ ได้มาดูบ้าน ดูเอกสารของหะยีสุหลง จะได้รู้ว่าเราอยู่กันอย่างไร มีข้อสงสัยก็ถามได้เลย”

คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ส่วนใหญ่รู้จักหะยีสุหลงกับคุณเด่น แต่ไม่รู้ว่าบ้านพักและสุเหร่าหะยีสุหลงยังอยู่ บางคนมาละหมาดที่สุเหร่านี้เป็นประจำแต่ไม่รู้ว่าเป็นของหะยีสุหลง

ปีที่แล้ว หลังจัดงาน “วันครบรอบ 60 ปี การสูญหายหะยีสุหลง” เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ทำให้มีคนมาเยี่ยมบ้านพักหะยีสุหลงมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศมาเลเซียและตุรกี


เพราะประวัติศาสตร์ปาตานียุคใหม่เริ่มที่นี่

จตุรนณ์ บอกว่า สุเหร่าหะยีสุหลงมีความสำคัญกว่าบ้านพัก เพราะข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลงเขียนและพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดที่สุเหร่านี้ ดังนั้นประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของปาตานีจึงเกิดขึ้นที่นี่ จึงอยากให้ประชาชนได้มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานีจากที่นี้ แต่ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อไปใช้ความรุนแรง แต่เพื่อเรียนรู้ปัจจุบันและอนาคตว่าจะไปอย่างไร

“อยากให้ทุกคนเข้ามา แล้วกลับไปด้วยความเข้าใจ”

จตุรนณ์ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งเป็นการทิ้งท้ายว่า มีนายทหารคนหนึ่งมารับราชการในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2547 ทหารคนนี้เกลียดคุณเด่นมาก แต่ด้วยความประสงค์ของพระเจ้าที่ให้เขาได้รู้จักผม เมื่อเขารู้ว่าผมเป็นหลานคุณเด่นจึงขอนัดเจอคุณเด่น หลังจากเขาได้คุยกับคุณเด่นไป 3 ชั่วโมง สุดท้ายก่อนกลับเขาได้กราบขอโทษคุณเด่น เพราะเข้าใจผิดคุณเด่นมาตลอด

“คุณเด่น พูดตลอดเวลาคนเราต้องมีการพูดคุยกัน เพราะจะทำให้เราเข้าใจกัน หากไม่พูดคุยกัน เราก็จะไม่วันเข้าใจกัน ความเข้าใจผิดเป็นชุดความคิดหนึ่งของฝ่ายความมั่นคงที่ยังมีอยู่ตลอด จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ครอบครัวโต๊ะมีนาต้องเปิดบ้านหะยีสุหลงให้สาธารณะได้รับรู้”


ย้อนรอยข้อเสนอ 7 ข้อหะยีสุหลง

เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร ได้เขียนในหนังสือ “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏ...หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้” ไว้ว่า หะยีสุหลง โต๊ะมีนา มีชีวิตระหว่าง ปีพ.ศ.2438 – 2497 เขามีบทบาทสำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะด้านศาสนา มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เป็นโต๊ะกอฎี (ผู้ตัดสินความทางศาสนาอิสลาม) เป็นคนที่ประชาชนในพื้นที่เคารพนับถือ

หะยีสุหลงตัดสินใจสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหลังจากกลับจากเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียที่เขาไปเรียนและอาศัยที่นั่นนานถึง 20 ปี เขาต้องการยกระดับการศึกษาศาสนาของคนปัตตานี โดยเชิญพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรีมาทำพิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้มาเยี่ยมโรงเรียนแห่งนี้ด้วย ซึ่งอาคารเรียนหลังนี้ก็คือสุเหร่าที่กำลังจะมีการบูรณะนั่นเอง

หะยีสุหลงกลับมาในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในช่วงนั้นก็มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมมลายูอย่างเข้มข้น ซึ่งรัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ใช้นโยบายการดูดกลืนด้วยการบีบบังคับ แต่รัฐบาลต่อมาก็พยายามใช้นโยบายประนีประนอมโดยตั้งคณะกรรมการสอบสวนความไม่สงบในภาคใต้ เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดทำข้อเสนอ 7 ข้อของหะยีสุหลงด้วย


กับสันติภาพที่ต้องเดินไปข้างหน้า

แม้การหายตัวไปของหะยีสุหลงพร้อมคณะรวม 4 คนจะล่วงเลยมานานแล้ว แต่ความขับข้องใจของชาวมลายูยังไม่ได้หายไป ช่วงหลังการหายตัวไปของเขาได้ก่อเกิดขบวนการปฏิวัติมลายูอิสลามปาตานีหลายกลุ่มทั้งที่คุ้นหูและไม่คุ้นหู โดยมีเป้าหมายที่ไกลกว่าของหะยีสุหลง นั่นคือเพื่อเอกราช เช่น ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani : BRN) ก่อตั้งเมื่อ 13 มีนาคม 2503, องค์กรปลดปล่อยสหปาตานี (Patani United Liberation Organization: PULO) ก่อตั้งเมื่อ 22 มกราคม 2511, ขบวนการแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติปาตานี (Barisan Nasional Pembebasan Patani: BNPP) ก่อตั้งระหว่างปี 2502 –2514 ต่อมาเปลี่ยนเป็น BIPP, ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปาตานี ก่อตั้งวันที่ 31 สิงหาคม 2503

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงหลังๆ มานี้ได้แก่ คณะทำงานเพื่อเอกราชปาตานี (Komiti Bertindak Kemerdekaan Patani: KBKP) ก่อตั้งเดือนกรกฎาคม 2538, ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปาตานี (Gorakan Mujahideen Islam Patani: GMIP) ก่อตั้งปี 2538, สมัชชาประชาชาติมลายูปาตานี (Majis Permesyunatan Rakyat MelayuPatani: MPRMP) ก่อตั้ง 15 มิถุนายน 2540, องค์กรเยาวชนกู้ชาติปาตานี (Penya Merdaka Patani) ก่อตั้งเมื่อปี 2544 เป็นต้น (ที่มา รายชื่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนปัตตานี)

แม้ว่าหลายองค์กรอาจหยุดความเคลื่อนไหวไปนานแล้ว และการเกิดขึ้นของขบวนการต่างๆ เหล่านั้นจะเป็นผลมาจากการหายตัวไปของหะยีสุหลงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็นับได้ว่าการหายตัวไปของหะยีสุหลงสามารถนับเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของสถานการณ์ในพื้นที่ที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ปาตานียุคใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันจะพบว่า หลายข้อเสนอใน 7 ข้อของหะยีสุหลงได้ถูกตอบรับหรือถูกปฏิบัติไปเกือบหมดแล้ว ถึงกระนั้นการส่งต่อข้อมูลและอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ถามว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่จะมีขึ้นต่อไปนั้นจะนำเรื่องราวของเขาไปใช้อย่างไร จะสามารถปรับเปลี่ยนการส่งต่ออารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจให้กลายเป็นความหวังต่อสันติภาพปาตานีต่อไปได้อย่างไร การบูรณะบ้านและสุเหร่าหะยีสุหลงครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความหวังนั้น 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net