“ทหารกล้าพระนเรศ” ผลผลิตซ้ำของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมภายในมหาวิทยาลัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ณ มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ผู้เขียนนั้นศึกษาอยู่ เริ่มเข้าสู่เทศกาลรับน้องใหม่อีกแล้ว วันเวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ จำได้ว่าช่วงนี้ของปีที่แล้วผู้เขียนยังเป็นน้องใหม่อยู่เลย และในตอนที่ผู้เขียนได้เข้ากิจกรรมปรับสภาพนิสิตใหม่ (Beginning Camp) ได้ยินวาทกรรมหนึ่งที่สะดุดหูและจำได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง นั้นคือ “ทหารกล้าพระนเรศ” ครั้งแรกที่ได้ยินในตอนนั้นรู้สึกได้เลยว่านี่เป็นผลผลิตซ้ำของ “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” ที่เราซึมซับมาตั้งแต่จำความได้และเราผ่านประวัติศาสตร์รูปแบบนี้จากแบบเรียน ประถมและมัธยม ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมคืออะไร อธิบายอย่างสั้นๆเลยก็คือเป็นประวัติศาสตร์ที่มีศูนย์กลางเรื่องอยู่ที่พระมหากษัตริย์ อยู่ที่ชนชั้นปกครอง และมีทัศนคติที่เหยียดหยามประเทศเพื่อนบ้าน มากกว่ามูลเหตุและปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น และการที่ใส่ “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม”  ลงในแบบเรียนก็เป็นเสมือน ”ยากล่อมประสาท” ที่กล่อมประสาทจนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น นี่แหละคือประวัติศาสตร์แบบไทยๆ ใครที่ตั้งข้อสงสัยมักจะถูกสังคมตีตราว่าไม่รักชาติ ไม่สำนึก ”บุญคุณ” ของบรรพบุรุษและบูรพกษัตริย์ ทั้งๆที่เราพูดถึงเรื่องให้เด็"คิดเป็น"กันอย่างกว้างขวาง แต่ในเรื่องนี้กลับแตะต้องไม่ได้เลย แสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งของสังคมไทยได้เป็นอย่างดีว่า อยากให้เด็กคิดเป็นหรืออยากให้เด็กเชื่องจะได้ปกครองง่าย

วาทกรรม “ทหารกล้าพระนเรศ” นั้นหลังจากที่ค้นคว้าและสอบถามรุ่นพี่ วาทกรรมนี่ใช้มาตั้งแต่การยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ (ปี 2533) และทางองค์การนิสิตก็ได้ใช้วาทกรรมนี่เพื่อปลุกใจเด็กเรื่อยมาก แต่มาเด่นชัดที่สุดในงาน Beginning Camp #13 ได้มีการนำบทเพลง ”กลับถิ่นแผ่นดินเดิม” ซึ่งเป็นนำมาใช้เป็นวงกว้างชัดเจนที่สุด ดั่งท่อนหนึ่งของเพลงที่ร้องว่า

“เคยคิดไหมว่าทำไม ณ วันนี้ เราจึงมาร่ำเรียนที่นเรศวร ฤ ดั่งว่าชาติก่อนเก่า เราได้ทบทวน จึงกลับหวนคืนถิ่นแผ่นดินเดิม” และอีกท่อนคือ “เราคงเป็นทหารกล้าพระนเรศ ที่ตั้งเจตจำนงจิตเป็นนิจสิน ขอเป็นข้าเบื้องยุคลตราบชีพนี้สิ้น เพื่อเพียงกลับมาเกิดถิ่นแผ่นดินเดิม” 

หลังจากที่ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกผู้เขียนรู้สึกว่ามันขัดกับสามัญสำนึกของตัวเอง เพราะไม่ใช่เราใช้ความสามารถของเราหรือที่สอบได้คะแนนถึงจนสามารถเข้าทำการศึกษาที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นรอบรับตรง หรือ Admission  ก็เป็นความสามารถพวกคุณทั้งนั้น และผู้เขียนมองว่า “มหาวิทยาลัย” เป็นธุรกิจรูปแบบหนึ่ง เพราะเราก็จ่ายเงินค่าเทอมเพื่อศึกษาเล่าเรียน ทางมหาลัยไม่จ้างเรามาเรียน แต่เรากลับไปเชื่อปกป้องและภาคภูมิใจในวาทกรรม “ทหารกล้าพระนเรศ” ที่ผู้เขียนสงสัยมากว่าเราจะไปรบกับใคร ทำให้เห็นได้ว่า “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” นั้นมีผลอย่างมากต่อการรับรู้ทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็น ”ยากล่อมประสาท” ที่ได้ผลอย่างร้ายกาจ ทำให้เรามองไม่เห็นแง่มุมอื่นทางประวัติศาสตร์เลย เราจะพบแต่บทเรียนที่เดิมๆ ที่ท่องเป็นสูตรสำเร็จ ดังเช่น ความสามัคคี ความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ ความสำนึกในบุญคุณของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น แต่เราไม่เคยมองเห็นว่าการนำเสนอเหล่านี้ เกิดขึ้นมาจากไหนและมีที่มาที่ไปอย่างไร มีจุดประสงค์อะไร เพราะเรานั้นถูกสอนให้เชื่อมากกว่าการสอนให้คิดวิเคราะห์ ทำให้โดน “ยากล่อมประสาท” นี่อย่างง่ายดายการนำเอา “พระนามของกษัตริย์” มาเป็นหลักเกาะยึดเพื่อความภาคภูมิใจในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ แล้วถ้าเกิดมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่ได้ชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวร จะเป็นอย่างไร จะเอาอะไรมาเป็นจุดขายแทน “ทหารกล้าพระนเรศ”

ผู้เขียนเชื่อว่ามีไม่น้อยคนที่คิดเรื่องนี้แต่ก็แสดงออกไม่ได้มากนักเพราะอาจเป็นเพราะสังคมไทยไม่เคยเปิดกว้างให้กับเรื่องแบบนี้ เราเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมคนในสังคมบ้างกลุ่มจึง “เหยียดหยามประเทศเพื่อนบ้าน” และมองว่าเขาด้อยกว่าเราและมองว่าเขาเป็นฝ่ายรุกรานเราในอดีตอย่างนั้นเหรอ เพราะเราไม่เคยรุกรานใครเราอยู่อย่างสงบสุขด้วยพระบารมีมากตลอด มีแต่ชาติอื่นๆมารุกรานเรา การรับรู้ประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียวทำให้เราขาดการมองบริบทของช่วงเวลานั้น และอีกอย่างอย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยของเรา มีนิสิตจากต่างประเทศที่เป็น พม่า ลาว และกัมพูชามาศึกษาอยู่ด้วย พวกเขานั้นจะมองเรื่องพวกนี้ว่าอย่างไร บ้างคนอาจมองเรื่องนี้ว่าเป็นการ “จาบจ้วงเบื้องสูง” เพราะพระองค์เป็นถึงพระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้ ”เอกราช” ให้กับประเทศชาติ  แต่เรานั้นเคยศึกษาบริบทของสังคม ความเชื่อในยุคนั้นเลยว่าในขณะนั้นมีความเป็น “รัฐชาติ” แล้วหรือไม่

ถึงแม้เราจะเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้วก็ตาม เพราะแทนที่จะเป็นสังคมแห่งการตั้งคำถามและแสวงหาความรู้ กลับเป็นที่ผลิต “เครื่องจักรที่มีชีวิต” ออกไปสู่ตลาดแรงงานมากกว่า และตอนที่ผู้เขียนยังไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยนั้นคิดและฝันไฝ่เสมอว่าสังคมมหาวิทยาลัยจะเปิดกว้างทางความคิดและการแสดงออกทางความคิด แต่พอได้มาเผชิญจริงแล้วกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น ยังมีการแบนและล่าแม่มดสำหรับที่ผู้เห็นต่าง จึงไม่แปลกที่วาทกรรม “ทหารกล้าพระนเรศ” จะคู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปอีกนาน

 

อ้างอิง
ธงชัย วินิจจะกูล.ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยมจากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฏมพีไทยในปัจจุบัน.ศิลปวัฒนธรรม:ปีที่ 23 ฉบับที่ 1.หน้า 56-65
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท