ก้าวพ้นวิกฤตบ้านเมืองโดยยึด "หลักความถูกต้อง"นำหน้าหลัก “คนดี-คนชั่ว"และ“ความดี-ความชั่ว”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในรอบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาวิกฤตการเมืองไทยตกอยู่ในกับดักแห่งวาทกรรม “คนดี – คนชั่ว”  ทั้งโดยเปิดเผยและแอบแฝง จนดูเหมือนประเทศนี้จะเป็นประชาธิปไตย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความหมายที่ให้คุณค่าแก่การตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่) ไม่ได้เสียแล้ว หากคนดีไม่สามารถมีอำนาจปกครองหรือเอาชนะคนชั่วให้ได้เสียก่อน และน่าประหวั่นพรั่นพรึงอย่างยิ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการเกลียดชังกันอย่างรุนแรงของคนในชาติและเกิดการฆ่ากันตายจำนวนหนึ่งเป็นระรอกๆไปแล้ว ทั้งอาจจะเกิดโศกนาฏกรรมอย่างร้ายแรงกว่าที่ผ่านมาได้อีกในเวลาอันใกล้ อันสืบเนื่องจากการที่คนไทยกำลังเผชิญหรือหลงอยู่กับวาทกรรมแห่ง “คนดี – คนชั่ว” ดังกล่าว อันโยงไปถึง “ความดี – ความชั่ว” ที่เป็นการกระทำหรือผลงานที่เกิดจากการแบ่งแยก “คนดี” และ “คนชั่ว” ในทางการเมืองออกจากกันนั้น

บทความชิ้นนี้จึงพยายามจะตอบคำถามเป็นการเบื้องต้นว่า “ในการแก้ไขวิกฤตบ้านเมืองและสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยใหม่ของไทย รวมทั้งการปฏิรูปประเทศ โดยก้าวพ้นจากกับดักหรืออนุสัยที่ว่าด้วย “คนดี -  คนชั่ว” และ “ความดี – ความชั่ว” ดังกล่าวข้างต้น อันทำให้ปัญหาใหญ่ที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งมิได้หมดไปนั้น เราจะใช้ “หลักความถูกต้อง” ที่สำคัญกว่านำหน้าได้อย่างไร และทำไมจึงควรเป็นเช่นนั้น” ขอความกรุณาท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาดังต่อไปนี้

ผู้คนในสังคมมีการให้นิยาม “ความดี” แตกต่างกันไป อาทิ หมายถึง การไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือไม่เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง การไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนบ้าง การปฏิบัติตามศีลธรรมบ้าง การมีคุณธรรมบ้าง การกระทำที่ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่บ้าง หากในทางพุทธศาสนาก็คือการครองตนตามมงคล 38 บ้าง การปฏิบัติตามกุศลธรรมบถสิบบ้าง การปฏิบัติตามทศบารมีบ้าง การปฏิบัติตามพรหมวิหารสี่บ้าง การกระทำตามบุญกิริยาวัตถุสิบบ้าง หรือเห็นกันว่า “ความดี” กับ “คุณธรรม” ก็คือสิ่งเดียวกันบ้าง ส่วนความชั่วนั้น ก็ไม่ต้องนิยามกันมาก เพราะโดยทั่วไปก็มักจะหมายถึงการกระทำที่ตรงข้ามกับความดีและเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ทั้งสองประการที่อยู่ตรงข้ามกันนี้จึงเป็นมโนทัศน์ในเชิงการให้คุณค่าหรือค่านิยม (Values) ที่เตือนมนุษย์เราว่าควรกระทำความดี และไม่ควรกระทำความชั่ว เพราะความดียังประโยชน์แก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์ ส่วนความชั่วนั้นกลับกัน

การที่ความดีและความชั่วเป็นเรื่องของการให้คุณค่า เราจึงสามารถจัดได้ว่าความดีและความชั่วเป็นค่านิยม อันเป็นวัฒนธรรมในเชิงระบบความคิดประเภทหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ต่างจากอุดมการณ์และความเชื่อต่างๆที่ตีกรอบความคิดและการกระทำของผู้คนในทุกสังคม ความดีและความชั่วจึงไม่จีรัง แต่กระนั้น ค่านิยมบางเรื่องก็เปลี่ยนแปลงช้า บางเรื่องก็เปลี่ยนแปลงเร็ว ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมนั้นๆและอิทธิพลจากภายนอก เช่น กติกาสากลจะทำให้ค่านิยมของสังคมที่ผูกพันกับกติกาสากลนั้นเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น

ความดีและความชั่วย่อมมีระดับความมาก-น้อยเสมอ มิใช่ดีก็เต็มร้อยหรือชั่วก็เต็มร้อยไปหมดแต่อย่างใด เพราะเป็นการประเมินคุณค่าต่อความคิดหรือการกระทำของผู้คนที่ต่างสถานภาพและต่างจิตต่างใจ ด้วยสถานะเช่นนี้ ความดีและความชั่วจึงไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน และมีการเมืองของมันให้ถูกคนนำมาใช้กล่าวหากันเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ดังที่พบว่าถ้าไม่ใช่คนที่เรารัก ผู้ทำผิดก็อาจชั่วอย่างหนักหนาสาหัส แต่หากพวกที่ตัวรักหรือมีแนวคิดเดียวกันทำผิดเสียเอง ผู้พบเห็นที่เข้าข้างก็ทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียหรือช่วยผ่อนหนักเป็นเบาในความผิดนั้น

ในสังคมที่มีชนชั้นหรือความเหลื่อมล้ำ กลุ่มชนชั้นสูงและชาวอนุรักษ์นิยม มีแนวโน้มให้คุณค่าต่อค่านิยมจารีตอันถือว่าเป็นระบบความคิดแห่งความดีพื้นฐานที่สืบทอดมาแต่อดีตของสังคมดั้งเดิม อาทิ ชาตินิยม ความมั่นคงแห่งรัฐตามแนวอำนาจนิยม และการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินในอดีต มากกว่าค่านิยมสากลร่วมสมัยที่เป็นระบบความคิดแห่งความดีที่ยังความก้าวหน้าแก่สังคมใหม่ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และการมีส่วนร่วมตัดสินใจ รวมถึงโอกาสแห่งความเป็นอิสระหรือกระจายอำนาจในการสร้างสรรค์สังคมในอนาคตที่คนรุ่นหลังยึดถือ การที่เป็นเช่นนั้นเพราะค่านิยมดั้งเดิมเหล่านั้น (และนิยามที่ตามมาของมัน) เป็นชุดของความดีหรือหลักศีลธรรมแบบหนึ่งที่ช่วยรักษาอำนาจและสถานภาพของชนชั้นบนและชาวอนุรักษ์นิยมให้คงทนต่อไปด้วย แต่ในภาวะวิสัยที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดนิ่ง ชนชั้นล่างและชนชั้นกลางใหม่พยายามพึ่งค่านิยมใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งที่ต่างไปจากชนชั้นบน ดังมาตรฐานสากลทางค่านิยมหรือจริยธรรมที่องค์การระหว่างประเทศรับรองเพื่อใช้หลีกหนีความต่ำต้อยและยกระดับสถานภาพตนเองในสังคมที่ไม่ยุติธรรมให้สูงขึ้น และยังพึ่งพานวัตกรรมหรือแบบแผนทางความคิดที่ให้ค่านิยมในความดีแบบใหม่ที่เหมาะสมหรือถูกต้องกว่า อันมิใช่การตอกย้ำสถานภาพของอดีตถูกนำมาใช้มากขึ้นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์หรือต่อรองกับอำนาจเดิมในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงแต่อาจกักขังผู้คนไม่ให้ไปยังจุดที่เหมาะสมกว่าอีกด้วย (ดังเช่นการเชือดเฉือนกันระหว่างคุณธรรมสามจากสังคมยุโรปคือ “ความศรัทธา ความหวัง และ ความรัก” ที่เยาวชนไทยส่วนหนึ่งที่รักประชาธิปไตยนำมาแสดงด้วยการชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารกับการเพิกเฉยต่อค่านิยม 12 ประการของหัวหน้า คสช.)

ในโลกแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์ ค่านิยมของบุคคล กลุ่ม องค์การ ชุมชน ขบวนการ และสังคม หรือกระทั่งประเทศชาติ ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องประกอบสร้างความจริงจากการตีความข้อเท็จจริงด้วยค่านิยมที่ผู้ตีความยึดถือดังที่ทราบกันดีแล้วนั้น ห่วงโซ่ทั้งห้า คือ “ค่านิยม ข้อเท็จจริง ความจริง ความรู้ และความถูกต้อง” จึงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แต่ในทางปรัชญาแห่งความรู้ ในการเข้าถึงความจริงหรือความรู้ต่างๆ อย่างน้อยมนุษย์เราก็ยังคงปรับปรนอยู่กับสามโลกความจริงว่าจะยึดถือมิติใดหรือจะอยู่กับมันอย่างไร ระหว่างโลกที่ 1 “ความจริงที่เป็นหนึ่งเดียว” (Absolutism) (ในทางประยุกต์คือ “ความเป็นสากล” = Universalism) หรือ โลกที่ 2 “ความจริงแบบทวินิยม” (Dualism) (ในทางประยุกต์คือ “ความจริงสองสถานหรือความจริงสองนัยตามการแบ่งแยกจิตและวัตถุ = Mind-Matter Realism (แต่บางครั้งก็รวมไปถึงความจริงสองระดับคือโลกุตระและสมมติ) ที่ความจริงตามวัตถุวิสัยคือความจริงตามสภาพของวัตถุที่มีอยู่อย่างเป็นอิสระ ตรงข้ามกับความจริงตามอัตวิสัย คือความจริงที่จิตกำหนดสภาพของวัตถุให้เป็นไปตามใจนึก หรือ โลกที่ 3 “ความจริงแบบสัมพัทธนิยม”  (Relativism) (ในทางประยุกต์คือพหุนิยม = Pluralism) ที่ความจริงมีอยู่อย่างหลากหลายในโลก อันไหนจะเป็นความจริงแท้หรือควรยึดถือมากกว่ากัน

คำตอบในเรื่องนี้ ท่ามกลางพัฒนาการอันยาวนานของมนุษย์ในสังคมโลกนั้น ดูเหมือนว่าในทางปฏิบัติทุกมิติของความจริงทั้งสามล้วนถูกนำไปใช้ทั้งอย่างแข่งขัน หักล้าง และเติมเต็มต่อกัน (ตามอำนาจในสังคมที่จะมีส่วนพาไป) โดยความจริงหรือความรู้ที่เป็นสากลอยู่ในฐานะเป้าหมายร่วม และการเดินสายกลางที่ไม่สุดโต่งของทวินิยม ในฐานะองค์ความรู้และความรู้เชิงเครื่องมือได้เชื่อมความเป็นอิสระในระดับหนึ่งตามพื้นที่อันหลากหลายให้เข้ากับหรือไม่ละทิ้งสาระสำคัญโดยพื้นฐานของความเป็นสากลร่วม ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกอย่างน้อยสามประการ กล่าวคือ ประการแรก ในทางศาสนา ทั้งสิทธัตถะ โคตม (แห่งพุทธศาสนา) นบี มูหมัด (แห่งศาสนาอิสลาม)  และเจซัส ไครซ์ (แห่งศาสนาคริสเตียน) ล้วนได้พยายามให้มนุษย์ยึดถือหลักคำสอนของศาสนาอันบรรจุไว้ด้วยค่านิยมที่ถือกันว่าดีงามจำนวนมากให้รวมเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุดและเป็นอุดมคติอย่างเป็นสากลตามแนวของแต่ละศาสนา ความจริงในมุมมองศาสนาจึงครอบครองใจมนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกว่าเป็นสิ่งสูงสุด (แม้ผู้นับถือศาสนาเหล่านี้จะทะเลาะกันอยู่บ้าง) ประการที่สอง การมีหลักการสากลที่ผลิตโดยความร่วมมือระหว่างรัฐโดยองค์การระหว่างประเทศ ทั้งที่ออกมาในนามรัฐบาลและประชาชน (ซึ่งย่อมรับอิทธิพลมาจากหลักศาสนาด้วย) เพื่อให้ประเทศต่างๆยึดถือและเอาไปปรับใช้กับประชาชนของตน อาทิ คำประกาศและปฏิญญาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ มาตรฐานสากลทางด้านอุตสาหกรรมขององค์การมาตรฐานสากล มาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆมากมายที่ประเทศส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคหากไม่ร่วมกันสร้างก็ได้ร่วมกันปรับปรุง และ ประการที่สาม การพัฒนาศาสตร์สาขาวิชาต่างๆที่เจาะลึกและเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น (Specialization) แต่มีจุดร่วมกันคือวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific methods) อันมีผลต่อการสร้างและยืนยันความจริงที่หลากหลาย และพยายามรับใช้คุณค่าร่วมของมนุษย์ทั้งในทางจิตใจและวัตถุ (คือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในส่วนตนและสร้างคุณประโยชน์แก่ส่วนรวมร่วมกัน เป็นต้น)  ปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงว่าหลักการร่วมสากลทำหน้าที่กำกับและเป็นที่พึ่งสำหรับพัฒนาศักยภาพแห่งมนุษย์ต่างสังคมในการได้มาซึ่งอารยธรรมหรือสิ่งสูงสุด

กล่าวโดยรูปธรรมประกอบก็คือ ในขณะที่ความเป็นนามธรรมสากลเพื่อความเป็นเอกภาพในความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษยชาติกำลังทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างครอบคลุมทั่วไปนั้น ในสังคมอริยะ การดำรงอยู่กับความถูกต้องระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติหรือระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ สมาชิกในสังคมย่อมจะยอมรับความแตกต่างในความรู้และความจริง และเป็นสังคมแห่งการสร้างสรรค์สัจธรรม หรือสัจจะนิยมเชิงสร้างสรรค์ (Constructive Realism) อย่างสมัครใจ โดยมิได้เป็นปฏิปักษ์กับความเป็นสากลของความรู้และความจริงอย่างสุดโต่ง ความจริงและความรู้ที่ถูกนำกลับไปใช้อธิบายความจริงต่างๆ จึงสามารถสร้างสรรค์กันขึ้นได้อย่างหลากหลาย (Strangification of truths) ไม่มีใครมีสิทธิหรือใช้อำนาจบังคับให้ใครมโน (นึกคิด) ว่าเรื่องใดเป็นความจริงหนึ่งๆที่จำกัดตามแบบที่ตนหรือผู้มีอำนาจต้องการได้ ดังที่มีการสร้างกฎหรือทฤษฎีและตรวจสอบทฤษฎีอย่างโต้ตอบต่อกันและกันมากมายและอย่างเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำใดๆ ทั้งภายในและระหว่างศาสตร์สาขาต่างๆ จนทำให้ทฤษฎีเพื่อการอธิบายความถูกต้องและความจริงแต่ผิดพลาดมาก่อนมีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความถูกต้องมากขึ้นๆ อันเป็นคุณแก่มนุษย์มากกว่าทฤษฎีเดิมที่ผิด แต่ในสังคมที่ด้อยอารยะก็จะมีการบังคับให้สมาชิกในสังคมเห็นตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมหรือโดยโฆษณาชวนเชื่อ และมักจะมีท่าทีปฏิเสธความเป็นสากลของความรู้และความจริง

นอกจากนี้ในโลกสมมติแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างปุถุชน และการที่มนุษย์อาศัยหลักการของศาสนา ความร่วมมือระหว่างรัฐหรือสังคม และความรู้จากศาสตร์ต่างๆมาใช้เพื่อเข้าถึงความจริงต่างๆและเพื่อชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้นนั้น ปัญหาสำคัญยิ่งก็คือความจริงนั้นสร้างขึ้นมาได้หรืออธิบายได้จากทัศนะที่ถูกต้องและนำไปสู่ความถูกต้องแม่นยำอย่างแท้จริงในการทำนายผลของปัจจัยต่างๆที่สัมพันธ์กันหรือไม่ เนื่องจากคุณค่าหรือค่านิยมที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงของการอธิบายว่าความจริง (Reality/Truth) คืออะไรนั้น กลับแฝงไว้ด้วยสุคติหรืออคติตามความยึดมั่นถือมั่นของบุคคล อันอาจช่วยหรือเป็นอุปสรรคในการบ่งชี้ความถูกต้องจากความจริงที่รับรู้ได้ในแต่ละยุคสมัยของสังคมหรือเหตุการณ์ต่างๆก็ได้ ดังที่พบกันว่าจริงเป็นเท็จและเท็จเป็นจริง เพราะการให้คุณค่าต่อความจริงยังมีการเลือกใช้ตรรกะเพื่ออธิบายความเป็นเหตุเป็นผลที่อาจตรงหรือบิดเบี้ยวไปจากครรลองคลองธรรม ผู้ที่สามารถใช้ตรรกะอย่างถูกต้องคือรู้เท่าทันการหลอกล่อต่างๆนานาที่จัดเป็นตรรกะวิบัติ (Fallacy) จึงนับว่ามีความเยี่ยมยอดในทางภูมิปัญญา และย่อมจะสามารถสร้างสรรค์ความรู้และใช้มันเพื่ออธิบายความจริงและความถูกต้องอันเป็นที่พึ่งของสังคมได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า ภายใต้ “สี่เหลี่ยมของการสร้างโลกแห่งความจริง” อันได้แก่การปฏิสัมพันธ์กันของ “ค่านิยม วิทยาศาสตร์ ศาสนา และ ตรรกะ” และต่อการพิจารณาความจริงแบบเอกนิยม แบบทวินิยม และ แบบพหุนิยม ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น “ความจริงแบบทวินิยมหรือสองนัย (ระหว่างสสารและจิต) อันแสดงถึงความจริงต่อวัตถุหรือปรากฏการณ์ที่ประสาทรับรู้ได้กับความไม่มีอยู่จริงหากรับรู้ไม่ได้ รวมถึงทัศนะแบบอัตวิสัยที่ว่าค่านิยมสำคัญยิ่ง แต่จะอยู่ลอยๆเพื่อทำหน้าที่เป็นความจริงในตัวมันเองโดยไม่มีข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติมาสนับสนุนไม่ได้ กับความจริงตามวัตถุวิสัยที่มองว่าความจริงใดสามารถเป็นอิสระจากค่านิยมได้ ย่อมจะเป็นจริงยิ่งกว่า” มีบทบาทมิใช่น้อย ในฐานะโลกทรรศน์ที่ช่วยบ่งบอกระดับของความจริงและยังมีผลชี้ถึงความถูกต้องชอบธรรมและตีความการกระทำต่างๆในมิติความดี-ความชั่วอันหลากหลาย การพิจารณาความจริงแบบทวินิยมที่มีบทบาทอย่างสำคัญในโลกวิชาการ  อันมีอิทธิพลต่อภาคส่วนอื่นๆในภาคปฏิบัติตามมาอย่างยิ่งนั้น ก็คือความจริงในมิติปริมาณ (อันสะท้อนวัตถุวิสัย) และมิติคุณภาพ (อันสะท้อนอัตวิสัย) ซึ่งในคนกลุ่มต่างๆก็อาจจะให้คุณค่าต่อมิติปริมาณและมิติคุณภาพอย่างไม่เกื้อกูลกัน หากฝักใฝ่อย่างสุดโต่งต่อทั้งสองอย่างก็ต้องเลือกข้างและกลายเป็นสงครามได้ ดังเช่น

การทะเลาะกันระหว่างนักวิชาการในเรื่องความเป็นศาสตร์ระหว่างวิทยาศาสตร์ธรรมชาติซึ่งเน้นวัตถุธรรม และสังคมศาสตร์ซึ่งเน้นจิตธรรม ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสงครามแห่งศาสตร์ (Science Wars) และการทะเลาะกันในเรื่องวิธีการสร้างองค์ความรู้ (Methodenstrike) ระหว่างวิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในวงวิชาการในโลกตะวันตกตั้งแต่หลายสิบปีมาแล้ว ก็นับเป็นสงครามแห่งสันติภาพที่ไม่มีใครยอมแพ้ใคร (แต่ละฝ่ายก็บอกว่าตัวเองเหนือกว่า) แต่หากเราอยู่เหนือมัน (จิตว่าง) ก็คือไม่ผูกมัดตนเองอย่างตายตัวกับวิธีการใดๆเท่านั้น โดยรู้จักใช้ทั้งสองวิธีในสัดส่วนที่เหมาะสม ความจริงก็จะกระจ่างชัดอย่างเป็นตรรกะที่ลงตัวหรือประโยชน์ส่วนรวมก็จะมีมากขึ้น โดยข้อมูลเชิงคุณภาพ (หรือคุณลักษณะ) และเชิงปริมาณ อันได้จากวิธีการที่แตกต่างกันย่อมจักถูกใช้ให้เกิดการถ่วงดุลกันของข้อมูลและได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งในเชิงตรวจสอบ โต้แย้ง หรือยืนยันต่อกันและกัน เพื่อบรรลุซึ่งความจริงที่ถูกต้องมากที่สุดหรืออาจถึงขั้นความจริงที่สมบูรณ์ (Ultimate truth)

ในโลกการเมืองที่เป็นจริงของเรื่องปริมาณและคุณภาพก็เคยมีการกระทำที่สุดโต่งต่อกัน จนกลายเป็นสงครามที่รบกันถึงขั้นนองเลือดมามากต่อมากแล้ว ดังเช่นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือฝ่ายสาธารณรัฐกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมกษัตริย์ในยุโรป รัสเซีย และ จีน ในรอบสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยข้ออ้างที่ว่าคนส่วนใหญ่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนส่วนน้อย และด้วยการโฆษณาเชิงคุณภาพของฝ่ายคนข้างน้อยที่ทำการปฏิวัติ (Revolution) ต่อผู้มีอำนาจเดิมและประชาชนผู้ต่ำต้อยถึงจินตภาพใหม่ในอนาคตของความสัมพันธ์ในสังคมแบบใหม่เพื่อแทนที่แบบเก่าที่คนส่วนใหญ่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงเสียที

พัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมเพื่อหลีกหนีจากความล้าหลังสามารถมาจากการกระทำเชิงคุณภาพ แล้วนำไปสู่ผลได้เชิงปริมาณ และจะเกิดสภาพการขยายตัวของปริมาณอย่างรวดเร็วแต่ขาดคุณภาพ จนต้องหวนกลับไปสู่การปรับปรุงในทางคุณภาพอีกครั้งเป็นวงจรไม่สิ้นสุด ดังตัวอย่างเมื่อกลับมาพิจารณาในประเทศของเรา ที่จะเห็นได้ว่าในสมัยการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายการเมืองที่มีคุณภาพคือตรงกับความต้องการของประชาชนและทำให้เป็นจริงได้ (ซึ่งถือเป็นความถูกต้องในทางการเมืองแบบประชาธิปไตย) หนีไปจากนโยบายการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของพรรคประชาธิปัตย์คู่แข่งที่ในอดีตมักจะเป็นไปตามหรือตรงกับความต้องการของข้าราชการที่มักจะอยู่เหนือประชาชนมากกว่า และนำไปสู่การขยายผลเชิงปริมาณในบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น เกิดคะแนนเสียงสนับสนุนจำนวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในทางการจัดการโครงการและกิจกรรมการบริการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Service, NPS) และต่อมาเริ่มมีปัญหาคุณภาพรัฐบาลไทยรักไทยในทางธรรมาภิบาล แต่ก็ยังไม่ทันที่สังคมจะเห็นการแก้ปัญหาของรัฐบาลและการบริการสาธารณะด้วยการรัฐาภิบาลแนวใหม่ (New Public Governance, NPG) ในเชิงคุณภาพที่ชัดเจน รัฐบาลและพรรคการเมืองนี้ก็มีอันพ้นจากอำนาจไปเสียก่อน โดยข้ออ้างเชิงปัญหาคุณภาพประชาธิปไตยแบบเก่าที่หวนคืนมาด้วยการรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ การทุจริต การละเมิดสถาบันกษัตริย์ของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล และล่าสุดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ที่ค่อยๆถูกขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น ก็ไม่ไกลจากข้ออ้างเดิมๆมากนัก เป็นต้น แต่ในเวลาต่อมา การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพก็มีขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน อันเป็นการปรับตัวใหม่จากปฏิกิริยาแห่งการลดน้อยถอยลงในปริมาณของผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองนี้มาก่อน ดังที่พบว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อๆมา พรรคประชาธิปัตย์ได้พัฒนาคุณภาพนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น แม้คะแนนเสียงจะยังไม่มากพอจัดตั้งรัฐบาลอย่างเด็ดขาดหรือเสียงข้างมากแบบพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย และต่อมาก็ได้รับการร่วมมือหรือสนับสนุนเชิงปริมาณจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และแนวร่วมจำนวนมากของ กปปส. ในการล้มล้างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจนสำเร็จ (ด้วยการรัฐประหารของทหาร) นับเป็นการสร้างวิบากกรรมต่อประชาธิปไตยของประชาชนผ่านการเล่นแร่แปรธาตุของการเมืองนอกระบบที่สุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายของรัฐและการไม่ลงตัวของประชาธิปไตยไทยไม่น้อยเลยทีเดียว

ดังนั้น ในการเข้าถึงความเป็นจริงในสังคม รวมทั้งในการทำความเข้าใจต่อวิกฤตการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบันว่ามีอะไรบ้างและมีคุณประโยชน์มหาศาลหรือผลเสียหายที่ร้ายแรงเพียงใดต่อประเทศก็เช่นกัน ปวงชนชาวไทย (ในความหมายที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยพันธุ์แท้อันมีภูมิปัญญาและความสามารถในการสร้างสรรค์สังคมผ่านกลไกต่างๆเพื่อการรักษาองค์รวมแห่งอำนาจอธิปไตยของตนเองให้คงอยู่อย่างรู้เท่าทันสิ่งแปลกปลอม มิใช่พลเมืองสายพันธุ์แปลกแยกที่จะถูกผู้ที่เข้าไม่ถึงหัวใจแห่งประชาธิปไตย แต่ทำตนเป็นนักประชาธิปไตยยิ่งกว่า ชักนำให้ตื่นรู้ที่จะเล่นแร่แปรธาตุในทางการเมืองเพื่อล้มล้างหรือสร้างความอ่อนแอต่ออำนาจอธิปไตยของตนเอง) พึงเดินสายกลางที่จะต้องเข้าถึงความถูกต้องที่ย่อมมาก่อนการเข้าถึงและเข้าใจความจริงที่ปรากฏ และสามารถประยุกต์ทั้งสองมิติเชิงปริมาณและคุณภาพเข้าด้วยกันอย่างเติมเต็มและชดเชยต่อกันและกัน (Corroboration) เพื่อช่วยอธิบายความถูกต้องและความจริงที่แม่นยำ และแสวงหาจินตนาการอย่างสร้างสรรค์ต่อไปสำหรับการปฏิรูปประเทศในมิติต่างๆ

ฉะนั้นในการจัดการกับความสุดโต่งที่เป็นเชื้อไฟแห่งการถดถอยในระบบการเมืองไทย ที่หากเราจะสามารถไปไกลกว่าอนุสัย (เครื่องบรรลุธรรมที่ยังเจือด้วยกิเลสและตัณหา) หรือหลักการ “คนดี” สู้กับ “คนชั่ว” และ“ความดี” สู้กับ “ความชั่ว” (ที่คนดีก็ไม่ลงตัวว่าใครกันบ้าง  “ความดี” และ “ความชั่ว” ก็ใส่สีตีไข่กันได้ ความดีจึงไม่ชัดว่าดีแท้หรือดีเทียม และความชั่วก็เกิดขึ้นในทุกฝ่ายที่แย่งชิงอำนาจกันอยู่ แม้แต่กับฝ่ายที่เคยเข้าใจกันว่าเป็นคนดี และที่อาจจะทำให้ผู้คนจะรบกันจนเลือดท่วมเป็นมหาสงครามกลางเมือง เพราะความยึดมั่นถือมั่นอันสุดโต่งของตน) แล้ว นั่นก็คือประชาชนจะต้องตั้งสติในระดับลึกจริงๆและใช้ปัญญาจัดการอย่างสร้างสรรค์ในความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันของทั้งสองขั้วที่สุดโต่งให้เป็น คือเราจำเป็นต้องหันมายึดถือสิ่งที่อยู่เหนือหลัก “คนดี-คนชั่ว” และ “ความดี-ความชั่ว” (ที่อยู่ในข่ายต้องถูกนิยามให้ถูกต้อง) ด้วย “หลักหรือกระบวนทัศน์แห่งความถูกต้อง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) เป็นธงนำในการคิดและกระทำการต่างๆต่อไป

ภายใต้โอกาสในอุดมคติที่ความดีและความถูกต้องอาจจะเป็นอันเดียวกันอย่างแท้จริงในสายตาของทุกผู้คน  แต่หาได้ยากยิ่งนั้น ในทางปฏิบัติ เราจึงต้องบริหารรัฐโลกิยะ (มิใช่รัฐโลกุตระ) ที่เป็นจริงของเหล่า “คนดี-คนชั่ว” และ“ความดี-ความชั่ว” ที่มีอยู่ปะปนกันในสังคมในทุกพื้นที่ ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่มหาชนโดยรวมให้ได้ เพราะหากอำนาจและเงื่อนไขอำนวยแล้ว คนดีก็สร้างกรรมดีและกรรมชั่วได้ คนชั่วก็สร้างกรรมชั่วและกรรมดีได้ คนผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อของศีลห้าที่ความดีในความเป็นมนุษย์ของเขามิได้หมดไปอย่างสิ้นเชิง ก็สร้างกรรมดีและกรรมชั่ว มาก-น้อยเพียงใดและในแง่มุมแบบใดตามแต่จะตีความก็ได้ กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าผู้เขียนส่งเสริมไม่ให้มีการแยกแยะ “ดี-ชั่ว” ค่านิยม “ดี-ชั่ว” นี้  ยังคงมีของมันต่อไป แต่เราจะต้องไม่ตกเป็นทาสมัน  เพราะในภาพแห่งความเป็นทั้งหมดของสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง “ความถูกต้อง” อันจะให้คุณประโยชน์ที่เกิดอย่างสูงสุดแก่ปวงชนจำนวนมาก จำเป็นต้องอยู่เหนือและมีความสำคัญที่สุด เพื่อกดทับและจัดระเบียบแถวความดีและความชั่วหรือความจอมปลอมต่างๆ อันไม่เป็นคุณประโยชน์ยิ่งกว่า เนื่องจากหากความคิดและความเห็นนั้นถูกต้องและยืนยันกันได้อย่างน้อยในสามมิติ (Triangulation) คือ ตามกฎวิทยาศาสตร์ สากลธรรมของศาสนา และตรรกะ เป็นปฐมฐานแล้ว ไม่ว่าผู้มีอำนาจกระทำการใดและจะถูกใครมองว่าเป็นคนดีหรือคนชั่ว การกระทำและผลที่เกิดขึ้นตามมานั้น ก็จะต้องถูกต้องและมีคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างแท้จริง – ไม่ช้าก็เร็ว

ฉะนั้น ความพยายามแก้วิกฤตการเมืองของชาวคณะผู้ยึดอำนาจและเครือข่ายในขณะนี้ก็จะไม่ไปถึงไหน หากจะรองรับไว้ด้วยร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเป็นฉบับวิตถารมากกว่านวัตสารทางประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น ซ้ำจะถอยหลังเข้าคลองพร้อมกับก่อรูปปัญหาใหม่ในอนาคตขึ้นมาเสียอีก เนื่องจากมัวย้ำอยู่ว่า “อย่าให้คนชั่วครองเมือง” จึงยังหลงทางไปเพรียกหา "ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี" แทนที่จะสร้างสรรค์ "มาตรฐานคุณภาพประชาธิปไตย" อันเป็นกรอบมาตรฐานเพื่อประกันความถูกต้องของระบบการเมืองที่ตัวบุคคลไม่ได้อยู่เหนือแต่อยู่ในนั้น และการปรองดองในบ้านเมืองเราก็จะไม่สำเร็จ หากไม่ยึดถือ “หลักความถูกต้อง” นำหน้าหลัก “คนดี-คนชั่ว” และ “ความดี-ความชั่ว” ที่ยึดมั่นกันตามวาทกรรมที่ว่า “ความดี” ปรองดองกับ “ความชั่ว” ไม่ได้ ราวกับทิฐิแบบโลกเที่ยง-ไม่เที่ยงที่ถกเถียงกันไปก็ไม่ได้ไปถึงอุดมคติที่ไกลกว่านั้น

ด้วยประการทั้งปวงที่นำเสนอมา การจะพบหรือได้มาซึ่งความถูกต้องในสังคมการเมือง การจัดการความขัดแย้ง และการปฏิรูปหรือพัฒนาสังคมว่าคืออะไร และจะรักษามันเอาไว้ให้ได้อย่างไรเพื่อนำพาสังคมไทยให้พ้นวิกฤตและพบกับความเจริญรุ่งเรืองนั้น ความถูกต้องที่สำคัญที่สุดอันเป็นองค์ประธานนำหน้าความดีและความชั่วนั้น ก็คือการเห็นหรือการมีทฤษฎีและฐานที่ตั้งของมันที่ถูกต้องอย่างสามประสานทั้งในทางศาสนาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งการสอดรับกับหลักตรรกะ ดังที่กล่าวแล้วทำนองนี้ อันจะส่งผลต่อเรื่องอื่นๆตามมาให้ถูกต้องไปด้วยนั่นเอง แต่ความยากก็คือ ทฤษฎีการเมืองและการจัดการความขัดแย้งในสังคมและการปฏิรูปสังคมอะไรบ้างที่ถูกต้อง (เพราะการเลือกทฤษฎีอาศัยการให้คุณค่า และการเมืองและความขัดแย้งที่เป็นเรื่องสังคมศาสตร์ก็มีปัญหามากกว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เนื่องจากทฤษฎีของฝ่ายวิทยาศาสตร์ธรรมชาติปลอดจากค่านิยม แม้บางครั้งจะถูกนำไปใช้อย่างมีอคติเพื่อเอาเปรียบกันในหมู่ชาวโลก ในขณะที่สังคมศาสตร์มีทั้งทฤษฎีที่ปลอดค่านิยมและที่มีค่านิยมอันควรแฝงอยู่ และบ่อยครั้งที่ถูกนำไปใช้อย่างมีอคติเพื่อเอาเปรียบกันในหมู่ชาวโลก) และจะสามารถอธิบายในเชิงศาสตร์ของความรู้อย่างเป็นระบบ พร้อมกับแสดงถึงว่าทฤษฎีถูกนำปฏิบัติได้อย่างเห็นผลจริง (Praxis) (ไม่ลองผิดลองถูกหรือสุ่มเสี่ยง) ได้อย่างไร

แต่แม้จะยากก็ย่อมจะหาพบโดยกระบวนการปฏิรูปและปฏิวัติทางปัญญาของมนุษย์ที่แสดงถึงการประจักษ์แจ้งภายในและกระทำออกไปภายนอกด้วยตนเอง หรือในนามหมู่คณะ องค์การ หรือขบวนการ  และที่จะก้าวต่อไปโดยทั้งสังคม  เพื่อตกลงกันให้ได้ถึงคุณลักษณะและคุณประโยชน์ของทฤษฎีดังกล่าว โดยการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญและจริงจังของทั้งฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายทฤษฎี (ในการสร้างหรือเลือกสรร ใช้ และปรับปรุงมัน) อาทิ ผู้แทนฝ่ายประชาธิปไตยแบบตัวแทน (ผู้แทนพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ผู้แทนกลุ่มประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม กับชุมชนทางปัญญากัลยาณมิตรรายรอบที่อยู่นอกเหนือความขัดแย้ง ทั้งในสังคมไทยและนอกสังคมไทย รวมทั้งผู้เดินสายกลาง (หากได้พหูสูตที่เดินสายกลางมาร่วมด้วยก็จะเกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง) ในการสร้างสรรค์สังคมนั่นเอง

การวัดและตรวจสอบความถูกต้องของเป้าหมาย วิธีการปฏิบัติ และผลของการกระทำที่ถูกต้องและยืนยันได้จากข้อเท็จจริงและความจริงในระดับต่างๆ ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ก็พึงแสดงออกมาให้เห็นเป็นเรื่องๆและโดยองค์รวม ทั้งในทางปริมาณและคุณภาพที่จำเป็นต้องนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างตรงไปตรงมา (อาทิ การประเมินคุณประโยชน์และความเสียหายในการบริหารงานของรัฐบาลต่อประเทศเชิงเทียบเคียงทุกรัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ซึ่งในที่สุดก็คงจะพบว่าในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทุกรัฐบาลต่างก็ทำในสิ่งที่ถูกต้องนำความรุ่งเรือง และสิ่งที่ผิดพลาดนำความเสียหายหรือเสื่อมถอยมาสู่ประเทศชาติและประชาชน ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาในภารกิจของรัฐในบริบทหรือพื้นที่ต่างๆแตกต่างกันไป) เนื่องจากความถูกต้องที่หมดจดและชนะความคลุมเครือที่แข่งขันกันระหว่างทฤษฎีหรือหลักการที่ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าของตนถูกต้องหรือถูกต้องกว่านั้น ก็คือความถูกต้องที่จะต้องใช่ทั้งในทางความเป็นนามธรรมแห่งทฤษฎีและผลงานในทางปฏิบัติที่ตรวจสอบได้อย่างเป็นรูปธรรมของการแก้ไขปัญหาโดยทฤษฎีนั้นๆนั่นเอง

นี่คือปรัชญาวิถีสำคัญหนึ่งของการมองและแก้วิกฤตของประเทศที่หากสังคมไทยจะได้พิจารณากันอย่างจริงจัง และหาทางออกแบบเป้าหมาย และวิธีการ (กระบวนการ) ใหม่ เพื่อบรรลุซึ่งความถูกต้องทางการเมือง  การจัดการความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ และการปฏิรูปประเทศอย่างมีอัจฉริยภาพและอัจริยธรรม (เสมือนการพบอุดมรัฐหรือนิพพานของรัฐในโลกสมมติ) แล้ว การกระทำใหม่ดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นและให้คุณประโยชน์ยิ่งกว่าการออกแบบและขับเคลื่อนอย่างลองผิดลองถูก ทั้งผูกขาดอำนาจที่กำลังทำกันอยู่ภายใต้เรือแป๊ะ คสช. ที่ดูจะเป็นเรือพายในแม่น้ำทั้งห้าสาย และมิได้สามารถออกไปไกลกว่านั้นเลย (ดังที่จะขยายความในโอกาสต่อไป)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท